เครื่องเก่าเล่าใหม่ ตอนที่1

November 9, 2014   1001

เครื่องเก่าเล่าใหม่ ตอนที่1ทศวรรษธิงค์แพด – 1001

ความที่เป็นคนตามติดเทคโนโลยีแต่ไม่ค่อยมีกะตังค์ ก็เลยมีโอกาสซื้อของใหม่ ๆ ไม่บ่อยนัก กระนั้นที่บ้านก็ยังรกไปด้วยของตกเทคมากมาย ไม่ว่าจะกล้องปัญญาอ่อนที่ใช้ฟิล์ม โมเด็มเก่า ๆ มือถือรุ่นเก่า ๆ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์เก่า ๆ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก ไม่นับรวมอุปกรณ์เสริมและข้างเคียงอย่างแบตเตอรี ที่ชาร์จไฟ กล่องที่ใส่มา คู่มือ ใบเสร็จ

ตอนรื้อห้องทำงานก่อนเกษียณเมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาก็ให้รู้ตัวว่าอาตมานั้นหอบสมบัติบ้าไว้มากมหาศาล จึงเกิดความรู้สึกว่า “หยุดได้แล้ว” และเริ่มรื้อ ขุด ปัดฝุ่น และทิ้งของนอกกายไปจมหู

เมื่อขุดไปก็พบอะไรหลาย ๆ อย่างที่ลืมไปแล้วว่ามี หลังจากลุยกับโน้ตบุ๊กมาหลายเครื่องหลายรุ่น สองวันก่อนก็เห็นกระเป๋าโน้ตบุ๊กใบเก่าที่ใส่ IBM Thinkpad X40 ที่ซื้อมาสมัยรุ่งเรืองเพราะเครื่องละหกหมื่นทีเดียว เป็นรุ่นก่อนที่บริษัทไอบีเอ็มจะโละกิจการโน้ตบุ๊กไปให้บริษัทเลอโนโวของประเทศจีน ซึ่งเอาไปทำต่อจนสร้างแบรนด์ของตนเองได้เป็นล่ำเป็นสัน

ตอนนั้นไม่รู้ว่าอะไรดลใจ เห็นของเห็นสเปกแล้วให้อยากได้มาก คงเพราะลูกยุจากพรรคพวกและประกอบกับมีสตางค์ด้วย แต่แม้จะแพงดับก็คุ้มราคามากเพราะเครื่องนี้ซื้อตั้งแต่ปี 2547 สิบปีที่แล้วพอดี ซื้อตอนที่ออกมาใหม่ ๆ แต่ก็ยังใช้ได้อยู่ (ตามรูป) แม้จะบอบช้ำยับเยินไปมากก็ตาม เปลี่ยนถ่าน เปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ เปลี่ยนโอเอส (OS หรือ Operating Sys- tems) ไปหลายรอบ จากวินโดวส์ไปเป็นลีนุกซ์ (อูบันตุ) กลับมาเป็นวินโดว์สผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจากเครื่องนี้มากมหาศาล ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ใช้ทำมาหากินมาได้จนถึงปัจจุบัน

ใครที่มีสตางค์ตอนนี้ก็มักหันไปเล่นโน้ตบุ๊กค่ายผลไม้กันมาก แต่ผมอยากจะแนะนำ (ไม่ได้ค่าสปอนเซอร์อะไรหรอกนะครับ) เครื่องประเภทอมตะพวกนี้ ธิงค์แพดของผมนี่ในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งในวงการเพราะเป็น ultra portable รุ่นแรก ๆ เบาหวิวเพียง 1.3 กิโลเท่านั้น จอใหญ่เป็นพิเศษ สว่างคมชัด ละเอียดและนิ่ง เป็นจอด้านไม่มันวาวสะท้อนแสงแบบโน้ตบุ๊กสมัยใหม่ (อย่าว่าผมนะครับว่าไม่ไฮเทค ไม่ระบุตัวเลข เพราะผมไม่ค่อยได้ใส่ใจและท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ก็ไปถามอากู๋กันเอาเองครับ) ที่สำคัญคือแป้นพิมพ์ครับ ดีที่สุดในบรรดาเครื่องโน้ตบุ๊กทั้งหลาย และจนบัดนี้ก็ยังหาใครมาทาบรัศมีได้ยากครับ ผมเป็นคนพิมพ์สัมผัสทั้งไทยและอังกฤษก็ต้องไวต่อเรื่องแป้นพิมพ์นี้เป็นธรรมดา ผมนั้นแบกสะพายกระเป๋าโน้ตบุ๊กหนัก ๆ ทั้งเครื่องและอุปกรณ์เสริมจนไหล่ลู่มากหลายพักแล้ว จึงโน้มเอียงไปทางเครื่องเบา ๆ อย่างในรูปจะเห็นกระเป๋าใบใหญ่นั่นคือที่มากับตัวโน้ตบุ๊ก แต่เนื่องจากเครื่องเล็กผมจึงถ่ายไปใส่กระเป๋าใบเล็ก พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก แถมขโมยขโจรก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นโน้ตบุ๊ก

สมัยนั้นควักเครื่องนี้ออกมาใคร ๆ เขาก็มองกันครับ เดี๋ยวนี้ควักออกมาเขาก็ยังมอง ว่า เอ๋อ ของดึกดำบรรพ์ แต่แม้จะวิ่งแค่ Windows XP Pro 2002 ก็ยังแจ๋ว ยังใช้โปรแกรมต่าง ๆ ได้เพียงแต่ช้าได้ใจ (หรือเสียใจ) เท่านั้นแหละครับ ก็ไม่เป็นไร แก่แล้วรอได้ ใจเย็นลงเยอะ โปรแกรมใหม่ ๆ อย่างพวกคลาวด์ เช่น ดรอปบ็อกซ์ ก็ยังวิ่งครับ อันนี้ต้องชมคนเขียนโปรแกรมที่อยากให้ผลิตภัณฑ์ของตนใช้ได้ทั่วไปไม่ว่าเครื่องใด โอเอสรุ่นไหน

ก็เสียดายครับ เครื่องดี ๆ อย่างนี้ ราคาแพงไม่เบาแต่ใช้ทนทาน มีอย่างเดียวที่ไม่ทนก็คือ bloatware หมายถึงตัวโปรแกรม software ที่ bloat คือบวม บวมตั้งแต่วินโดวส์ไปจนถึงโปรแกรมใช้งานต่าง ๆ จนเครื่องที่ว่าแน่ ๆ ต้องตกยุคตกสมัยไปเรื่อย ๆ ทั้งที่เครื่องเครายังทนทานใช้งานได้ดีอยู่ อะไหล่ (อย่างแบตเตอรี่) ก็หาไม่ได้ครับ เสียคือทิ้ง เห็นของเก่า ๆ โลว์เทค ที่ทิ้งเพราะตกยุคก็อดเสียดายไม่ได้ครับ รู้สึกว่าทำโลกร้อนนะเรา ขยะท่วม แต่ความที่เป็นคนในวงการไฮเทคก็เข้าใจ ความก้าวหน้า การแข่งขัน การคิดประดิษฐ์ เวลาจังหวะชีวิตที่เร่งรีบ ตอนนี้กาต้มน้ำไฟฟ้ามีตะกรันจับ รู้ว่าต้องหยอดน้ำส้มสายชูลงไปขูดตะกรัน แต่รูดบัตรซื้อกาตัวใหม่ที่ห้างน่าจะง่ายกว่าเยอะ ก็ เฮ้อ

เรื่องของไฮเทคโบราณ พวกนี้มีเล่าให้ฟังได้อีกมากครับ ก็ค่อย ๆ รื้อชีวิตผมขึ้นมาจาระไนไปเรื่อย ๆ ถ้าท่านผู้อ่านไม่เบื่อนะ.

ดร.ยรรยง เต็งอำนวย
(อดีต) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล Yunyong.T@gmail.com