Program overview
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์
ชื่อปริญญา: วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมซอฟต์แวร์) / วท.ม. (วิศวกรรมซอฟต์แวร์)
รหัสหลักสูตร แผน ก(2): 0072
รหัสหลักสูตร แผน ข: 0073
ระยะเวลาการศึกษา: 2 ปี
ปีที่ก่อตั้งหลักสูตร: พ.ศ. 2545
ปีที่ปรับปรุงหลักสูตร: พ.ศ. 2550, พ.ศ. 2555
ความสำคัญของหลักสูตร
ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีศักยภาพในการช่วยพัฒนาองค์กรและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาบุคลากรที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเป็นระบบ เป็นหัวใจสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ระบุว่าประเทศไทยจะมีผู้มีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก แต่กลุ่มอาชีพที่เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) มีจำนวนเพียง 1.31 เปอร์เซ็นต์ของบุคลากรด้าน ICT ดังนั้นบุคลากรด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ต้องได้รับการพัฒนาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้สามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เล็งเห็นในความสำคัญดังกล่าว และเห็นว่าหลักสูตรด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เน้นด้านกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์อย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรม จะช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพไว้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้ ในฐานะที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ริเริ่มและรับผิดชอบหลักสูตรสำคัญๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา และมีบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เพื่อรองรับความต้องการนี้ของประเทศ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศชาติได้อีกด้วย รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เปิดรับสมัครนิสิตเข้าเรียน ทั้งในภาคปกติ (เรียนวันจันทร์ – วันศุกร์) และภาคนอกเวลาราชการ (เรียนเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์) โดยรายวิชาที่เปิดสอนจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งระบบ การทำวิจัย สัมมนา ทฤษฎีพื้นฐาน และวิชาเฉพาะทั้งทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การเรียนการสอน จะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
สำหรับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรมีดังนี้
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์และบริหารจัดการโครงการซอฟต์แวร์ได้อย่างมีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างงานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
- วิศวกรซอฟต์แวร์
- นักวิเคราะห์และออกแบบซอฟต์แวร์
- นักพัฒนาซอฟต์แวร์
- นักทดสอบซอฟต์แวร์
- นักดูแลและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์
- ผู้จัดการโครงการซอฟต์แวร์
- นักวิชาการวิศวกรรมซอฟต์แวร์
- นักวิจัยด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์
หลักสูตรการเรียนการสอน
หลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 2 แผนการเรียน คือ แผนการเรียน ก(2) และ แผนการเรียน ข โดยทั้งสองแผนการเรียน ไม่ว่าจะเป็นภาคปกติ หรือภาคนอกเวลาราชการ จะต้องมีคุณสมบัติตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด ซึ่งจะประกาศให้ทราบเป็นปีๆไป หรือคณะกรรมการบริหารหลักสูตรพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มีสิทธิสมัครเข้าศึกษาได้ (สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าศึกษาต่อ และการสมัครเข้าเรียน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของบัณฑิตวิทยาลัย www.grad.chula.ac.th)
ดูรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่นี่
โครงสร้างหลักสูตรของแต่ละแผนการเรียน มีดังนี้
แผนการเรียนแบบ ก(2)
นิสิตที่เลือกเรียนแผนการเรียนนี้ต้องทำวิทยานิพนธ์และต้องศึกษาวิชาเลือกเพิ่มเติม
โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากคณะต่อไปนี้
- วิศวกรรมศาสตร์
- สถิติศาสตร์
- วิทยาศาสตร์
ภาคการศึกษาที่ 1
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110623 | วิศวกรรมความต้องการซอฟต์แวร์ | 3 |
2110701 | สัมมนาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 1 | - |
2110724 | การทดสอบและการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ | 3 |
- | วิชาบังคับเลือก | 3 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่ 2
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110634 | การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ | 3 |
2110721 | การวัดซอฟต์แวร์ | 3 |
- | วิชาบังคับเลือก | 3 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่ 3
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110606 | วิธีวิจัยทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ | - |
2110811 | วิทยานิพนธ์ | 6 |
- | วิชาบังคับเลือก | 3 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่ 4
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110811 | วิทยานิพนธ์ | 6 |
- | วิชาบังคับเลือก | 3 |
รวม | 9 |
แผนการเรียนแบบ ข
นิสิตที่เลือกเรียนแผนการเรียนนี้ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องทำโครงงานมหาบัณฑิตและมีการสอบประมวลความรู้แทน
โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะต่อไปนี้
- วิศวกรรมศาสตร์
- สถิติศาสตร์
- วิทยาศาสตร์
- ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา, คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์)
- บริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ, เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ, สารสนเทศทางคอมพิวเตอร์, ระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์-การพัฒนาซอฟต์แวร์)
หรือสำเร็จระดับปริญญาตรีนอกเหนือจากที่กำหนด แต่ต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
ภาคการศึกษาที่ 1
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110623 | วิศวกรรมความต้องการซอฟต์แวร์ | 3 |
2110701 | สัมมนาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ | - |
2110722 | การจัดการโครงการทางซอฟต์แวร์ | 3 |
2110724 | การทดสอบและการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ | 3 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่2
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110634 | การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ | 3 |
2110721 | การวัดซอฟต์แวร์ | 3 |
2110725 | กระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์และการปรับปรุง | 3 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่ 3
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110606 | วิธีวิจัยทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ | - |
2110797 | โครงงานเตรียมมหาบัณฑิตทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ | 3 |
- | วิชาบังคับเลือก | 6 |
รวม | 9 |
ภาคการศึกษาที่ 4
รหัสวิชา | ชื่อวิชา | หน่วยกิต |
2110798 | โครงงานมหาบัณฑิตทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ | 3 |
2110896 | การสอบประมวลความรู้ | - |
2110722 | วิชาบังคับเลือก | 6 |
รวม | 9 |
รวมจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต (ทุกแผนการเรียน)