ภาคผนวก

 

บทที่หนึ่ง พระนิพพาน

 

นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ความเป็นอนิจจังให้พระพุทธเจ้า

คนที่คิดอย่างเป็นเหตุผลมักเชื่อว่าสิ่งลึกลับในธรรมชาติทุกอย่างสามารถหาคำตอบได้ด้วยกฏทางฟิสิกส์ The law of physics แต่นักฟิสิกส์ชื่อไฮเซนเบริก์ ได้ค้นพบว่า ไม่มีความแน่นอนอันติมะในธรรมชาติ  There is no final certainty in nature. ข้อเท็จจริงที่เรียกว่า Heisenberg Principle นี้ทำให้นักฟิสิกส์มากมายยอมรับไม่ได้ เพราะถ้าเขายอมรับก็หมายความว่าเขาพ่ายแพ้ต่อการหาคำตอบเพื่ออธิบายความลึกลับของธรรมชาติโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พูดง่าย ๆ คือ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์หมดหนทางทำมาหากิน

ที่จริงแล้ว กฏทางฟิสิกส์ของไฮเซนเบิรก์สรุปเรื่องเดียวกับเรื่องที่ไอน์สไตน์ได้ค้นพบเมื่อเขาหาจุดนิ่งในธรรมชาติไม่ได้ There is no absolute ruling point in nature. ผลจากการค้นพบข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ The Theory of Relativity โดยอธิบายว่าทุกอย่างในจักรวาลเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่สัมพัทธ์กัน จึงใช้หลักการสัมพัทธ์นี้วัดสิ่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะได้ค่าที่สัมพัทธ์เช่นกัน จะไม่มีวันรู้ค่าที่แท้จริงเพราะไม่รู้ว่าจุดนิ่งอยู่ที่ไหน

ที่จริงแล้ว ทั้งไฮเซนเบริก์และไอนสไตน์สรุปเรื่องเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้นานแล้วก่อนหน้านั้น ไม่มีความแน่นอนอย่างแท้จริงในธรรมชาติ หรือ ไม่มีจุดนิ่งในธรรมชาติ ถ้าเรียบเรียงคำพูดใหม่ก็คือ ทุกสิ่งเป็นอนิจจังนั่นเอง เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง ความแน่นอนอันติมะจึงไม่มี จุดนิ่งจึงไม่มี พูดไปแล้ว นักฟิสิกส์สองคนนี้ได้พิสูจน์และย้ำบทสรุปของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เมื่อ ๒๕๘๐ ปีก่อนนั้น ท่านตรัสโดยไม่มีการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่ทรงเห็นด้วยญาณปัญญา จึงตรัสเช่นนั้นได้ แต่นักฟิสิกส์สองคนนี้ได้พิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ก่อน จึงสรุปเช่นนั้นได้ เป็นการย้ำว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นเป็นข้อเท็จจริงของธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จริง

 

จุดที่วิทยาศาสตร์และศาสนายืนพิงกัน

การคิดของนักฟิสิกส์สองคนนี้จะเรียกว่าคิดมาจนสุดสายป่านของการคิดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าได้ เพราะเป้าหมายหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์คือการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ต้องการรู้ว่าอะไรที่มันจริง เป็นสัจธรรมที่พึ่งพาได้ การที่ไอน์สไตน์พยายามหาจุดนิ่งในธรรมชาตินี้ก็เพราะจะได้พึ่งพาจุดนิ่งนั้นเป็นสัจธรรม สามารถวัดสิ่งต่าง ๆ จากจุดนั้นได้ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ คือ ความแน่นอนของสิ่ง ๆ หนึ่งที่พึ่งพาหรืออ้างอิงได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น การที่ไฮเซนเบิกร์มาเน้นเรื่อง ไม่มีสภาวะที่แน่นอนอันติมะในธรรมชาติแล้ว จึงทำให้นักฟิสิกส์มากมายนอนไม่หลับ ยอมรับไม่ได้ เพราะถ้ายอมรับแล้ว ก็หมายความว่าตนเองหมดที่พึ่ง ไม่รู้จะพึ่งอะไร เป็นสภาวะที่น่ากลัวมากของนักวิทยาศาสตร์สาขานี้ จะเป็นบ้าเอา เมื่อวิทยาศาสตร์หาจุดนิ่งอันเป็นสัจธรรมของธรรมชาติไม่พบ จึงไปติดพันเรื่องพัฒนาเทคโนโลยี่ในสาขาต่าง ๆ  จนหลงทิศชนิดกู่ไม่กลับ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นจุดที่วิทยาศาสตร์กับศาสนากำลังยืนพิงกันอย่างแนบแน่น นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถคิดมาจนสุดสายป่านของการคิดเช่นนั้นแล้ว จะสามารถพบสัจธรรมได้เร็วมากหากโชคดีได้พบปะกัลยาณมิตรบอกทางให้ ที่จริงแล้ว สัจธรรมหรือจุดนิ่งในธรรมชาตินั้นมีอยู่ แต่มันไม่ได้อยู่ในสภาวะหยุดนิ่งชนิดที่ไม่เคลื่อนไหวเลยอย่างที่เขาคิด สภาวะหยุดนิ่งเช่นนั้นไม่มีอีกแล้วในจักรวาลนี้ เพราะนักฟิสิกส์สองคนนี้ได้พิสูจน์และย้ำแล้วว่ามันไม่มี ซึ่งก็ไม่มีจริง ไม่ต้องหาอีกแล้ว

ถ้าเช่นนั้น พระนิพพานที่ชาวพุทธเรารู้จักในฐานะที่เป็นนิจจัง เป็นสภาวะหยุดนิ่ง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอสังขตธรรม นี่หมายความว่าอย่างไร นี่คือความยากของการเข้าใจและเข้าถึงพระนิพพาน ที่จริงแล้ว แม้สภาวะนิพพานนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่เคลื่อนอย่างไร ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง สภาวะนิพพานในฐานะที่เป็นนิจจังนั้น ที่จริงมันซ้อนอยู่ในความเป็นอนิจจังนั่นเอง ถ้าไม่มีคนบอกและชี้ให้ดูแล้ว จะไม่มีวันมองออกเอง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทำให้ท่านมองสภาวะนิจจังที่ซ้อนทับอนิจจังได้อย่างชัดเจน จึงสามารถบอกทางให้คนมองตามได้ ใครที่ต้องการเห็นนิพพานในฐานะที่เป็นนิจจังนั้น จะใช้กระแสความคิดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การคิดได้มาถึงสุดสายป่านแล้ว ต้องหยุดคิด และเริ่มฝึกทักษะอย่างหนึ่ง จึงจะเห็นสัจธรรมที่เป็นนิจจัง (เที่ยง)ได้

 

 ต้องเข้าใจ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ให้ดี

สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) เป็นเรื่องสัมพันอย่างแน่นแฟ้นกับกาลเวลา เวลาเริ่มต้นเมื่อไร ไม่มีใครรู้ และไปจบที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ นี่เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบให้เสียเวลา ปล่อยไปเลย การเคลื่อนไปของกาลเวลากับอนิจจังจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้น ลองมาดูหน้าปัดนาฬิกาและดูไปที่เข็มวินาที นาฬิกาบางอย่างเช่น โรเล็กซ์ มีเข็มวินาทีที่เดินตลอดเวลา ไม่ได้หยุดเป็นท่อน ๆ เหมือนนาฬิกาส่วนมาก ทุกอย่างในธรรมชาติล้วนเป็นอนิจจัง เรียบเรียงคำพูดใหม่คือ ทุกอย่างเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่หยุดยั้ง เหมือนการเคลื่อนของเข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกาที่ไม่มีวันหยุดนั่นเอง

นอกจากเข็มวินาทีสามารถบอกสภาวะอนิจจังได้แล้ว มันยังบ่งบอกสภาวะ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” here and now ด้วย คนส่วนมากคิดว่า “ปัจจุบันขณะ” หยุดนิ่งเป็นท่อน ๆ ให้เราหายใจให้คล่องอกก่อน ปัสสาวะให้เสร็จก่อน กินก๋วยเตี๋ยวน้ำสักชามให้อิ่มท้องก่อน ผูกเชือกรองเท้าให้เสร็จก่อน  แล้วค่อยเคลื่อนต่อไป คำว่า “วันนี้” today ที่ภาษาอังกฤษต้องใช้กิริยาของปัจจุบันนั้น ที่จริงผิดหลักไวยากรณ์ เพราะ “วันนี้” ไม่ได้นั่งนิ่งอยู่เฉย ๆ ๒๔ ชั่วโมงแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นวันพรุ่งนี้เสียที่ไหน ถ้าสำรวจให้ดีแล้ว จะพบแต่อดีตและอนาคตใน “วันนี้” แม้แต่อดีตที่เพิ่งผ่านไปหยก ๆ หมาด ๆ ก็ยังเป็นอดีตวันยังค่ำ และอนาคตที่อยู่แค่เอื้อม แม้ไม่ไกลโพ้น ก็เป็นอนาคตอยู่นั่นเอง สภาวะปัจจุบันจริง ๆ ที่อยู่ในวันนี้ แทบจะจับให้อยู่คามือไม่ได้เลย เพราะสภาวะ “ปัจจุบันขณะ” จริง ๆ นั้น มีธรรมชาติเหมือนเข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกาโรเล็กซ์คือ ไม่ได้หยุดนิ่งเลยสักขณะเดียว เป็นสภาวะต่อเนื่องที่เคลื่อนตลอดเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง continuum, continuation

“ที่นี่ เดี๋ยวนี้” จึงเป็นสภาวะที่พูดไม่ออก บอกไม่ได้ จะพูดย้ำให้คนรู้ว่า “เดี๋ยวนี้นะ” พอพูดเสร็จ สภาวะ “เดี๋ยวนี้” ได้กลายเป็น “เดี๋ยวนั้น” แล้ว กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” จึงเป็นสภาวะที่พูดไม่ได้ อย่าไปเสียเวลาพูดเชียว เพราะคำพูดทุกอย่างเป็นผลของความคิดที่เนื่องกับอดีตและอนาคตทั้งสิ้น คนที่กำลังคิดอะไรอยู่ก็ตาม จะต้องใช้ความทรงจำ (สัญญา memory) จึงคิดได้เป็นวรรคเป็นเวร เมื่อพูดถึงความจำแล้ว เป็นเรื่องอดีตทั้งสิ้น แม้เป็นความคิด ความจำในเรื่องธรรมะก็ตาม ก็ยังเป็นอดีตอยู่ คิดถึงพระพุทธเจ้า คือคิดถึงอดีต คนชอบฝันกลางวันคือ คนที่กำลังคิดเรื่องอนาคตทั้งสิ้น ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองไปสำรวจพิสูจน์ดูด้วยตนเอง 

สิ่งเดียวที่ปฏิบัติต่อ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้คือการอยู่หรือการเคลื่อนไปกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” โดยไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น การอยู่กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” คือ การหยุดพูด หยุดคิด ทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับผู้นั้นกำลังเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” เหมือนการเคลื่อนไปพร้อมกับเข็มวินาทีที่ไม่หยุดเลย

ชาวพุทธที่อ่านมากหน่อยจะรู้ดีว่า พระนิพพานในฐานะเป็นสัจธรรมอันสูงสุดมักถูกอ้างถึงในลักษณะที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้เช่นกัน   ฉะนั้น จึงได้สรุปไว้ในหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียว บทที่สามและที่สี่แล้วว่า  สภาวะ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” คือ สัจธรรมอันสูงสุด หรือ พระนิพพาน นั่นเอง แต่การเข้าถึง “ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ปัจจุบันขณะจริง ๆ ” จะฟังดูง่ายกว่าการเข้าถึงพระนิพพานมากมายนัก เป็นเรื่องที่ฟังแล้ว ไม่ไกลตัว ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย ซึ่งถูกแล้ว เพราะพระนิพพานไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมแต่อย่างใด เข้าใจ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้ ก็เข้าถึงพระนิพพานได้

 ฉะนั้น ลองดูสมการนี้

อดีต และ อนาคต =  ความคิด คำพูด 

ที่นี่ เดี๋ยวนี้ = พระนิพพาน = สัจธรรมสูงสุด = หยุดคิด หยุดพูด

      

คำตอบอยู่ระหว่างรถไฟสองขบวน

        จะพิสูจน์ความเป็นอมตะหรือความเที่ยง (นิจจัง) ของพระนิพพาน หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ต้องกลับมาพูดเรื่องรถไฟสองขบวนที่วิ่งขนานกันดังที่ไอน์สไตน์ได้อธิบายไว้ ถ้ารถไฟสองขบวนวิ่งขนานกันด้วยความเร็วที่เท่ากันแล้ว คนนั่งรถไฟจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังเคลื่อนที่อยู่ถ้าหากไม่มองต้นไม้ข้างทาง คนนั่งข้างหน้าต่างรถไฟที่หันเข้าหากันจะรู้สึกว่าตนเองกำลังนั่งนิ่ง ๆ เหมือนรถไฟยังไม่ได้เคลื่อนออกจากสถานีเลย สภาวะนิ่งในระหว่างรถไฟสองขบวนจะคงที่สม่ำเสมออยู่เช่นนั้น ตราบใดที่รถไฟสองขบวนสามารถวิ่งด้วยความเร็วที่เท่ากัน

นี่คือสภาวะนิ่งของพระนิพพาน เป็นสภาวะที่คน ๆ หนึ่งสามารถเคลื่อนที่พร้อมกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้”  การถึงพระนิพพานจึงถึงได้ในลักษณะเช่นนี้ เห็นได้ว่า ความยากของการหาจุดนิ่งที่เป็นอมตะดังกล่าวนี้เพราะมันซ่อนอยู่ในความไม่นิ่ง เป็นสภาวะนิจจังที่ซ้อนทับอยู่บนอนิจจัง จึงดูได้ยากมาก

อย่างไรก็ตาม สภาวะนิ่งอันคือนิพพานนั้นจะคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิจจัง เป็นอมตะ eternity เป็นอสังขตธรรม จึงถือเป็นสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติที่พึ่งพาได้ จุดนิ่งนี้แหละคือ จุดที่ไอน์สไตน์พยายามค้นหาอยู่เพื่อเอามาเป็นที่พึ่ง เป็นเกณฑ์หลักของการวัดทุกอย่างเพื่อหาผลที่คงที่ The absolute ruling point in nature. จึงเห็นได้ว่าการคิดของไอน์สไตน์ได้เข้าใกล้จุดที่จะพบพระนิพพานแล้ว แต่ไม่พบ เพราะขาดเครื่องมือสำคัญสองอย่าง ๑) ปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือ สัมมาทิฐิ ๒) วิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานสี่ หากนักฟิสิกส์ทั้งหลายได้เครื่องมือสองอย่างนี้เท่านั้น มนุษยชาติจะสามารถเข้าถึงสัจจธรรมอันสูงสุดได้โดยไม่ต้องผ่านศาสนพิธีเลยก็ได้ 

       ฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบให้รถไฟขบวนหนึ่งเป็น “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” here and now ที่เคลื่อนตลอดเวลาเหมือนเข็มวินาทีของนาฬิกาโรเล็กซ์ และอีกขบวนหนึ่งเป็นคน ๆ หนึ่งที่พยายามวิ่งให้ได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนแรก หรือ การเคลื่อนตามสภาวะ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพื่อบรรลุถึงจุดนิ่งอันเป็นอมตะนั้น

 คนที่ทำได้ดีที่สุด คือบุคคลที่หลุดพ้นจากความคิดอย่างสิ้นเชิง ไม่มียางเหนียวระหว่างจิตกับใจแล้ว บุคคลนั้นจะสามารถเคลื่อนไปในระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้โดยไม่มีการลักลั่น เหมือนรถไฟขบวนที่สองเคลื่อนด้วยความเร็วพร้อมกับรถไฟขบวนแรก  สภาวะนิ่งอันเป็นอมตะและนิจจังจึงเกิดขึ้น นี่คือ ลักษณะการเข้าถึงพระนิพพาน บรรลุถึงได้ในลักษณะเช่นนี้ โดยไม่จำเป็นต้องถกเถียงให้มากเรื่องว่า นิพพาน เป็นอัตตาหรืออนัตตาก็ได้ เป็นทางเข้าถึงพระนิพพานอีกทางหนึ่ง ใครที่เข้าถึง “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้ ก็จะรู้เอง เห็นเองว่า นิพพาน เป็นอัตตา หรือ อนัตตา ดูเอาเอง สรุปเอาเอง

ฉะนั้น การที่คน ๆ หนึ่งสามารถเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้นั้น บุคคลนั้นต้องหลุดออกจากความคิดเสียก่อน เพราะความคิดเปรียบเหมือนพาหนะเวลา time machine หรือ กล่องเวลา time capsule ที่สามารถพาผู้คิดไปสู่อดีตหรืออนาคต

เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ในอดีต จึงเหมือนผู้คิดกำลังนั่งอยู่ในกล่องเวลา time capsule ที่แช่นิ่ง ๆ อยู่ในอดีต  เปรียบเหมือนผู้คิดนั่งอยู่ในรถไฟขบวนที่สองที่เคลื่อนช้ากว่ารถไฟขบวนแรก ถ้าคิดถึงอนาคต ผู้คิดก็เหมือนนั่งรถไฟขบวนที่สองที่เคลื่อนเร็วกว่ารถไฟขบวนแรก จึงเกิดการลักลั่นกัน ไม่สมดุลกัน เพราะวิ่งด้วยความเร็วต่างกัน และเพราะ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ไม่คอยท่าคนที่รั้งท้ายอยู่ในอดีต และไม่รีบก้าวเร็วไปข้างหน้าเพื่อตามให้ทันคนที่วิ่งพุ่งไปสู่อนาคต “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” วิ่งด้วยความเร็วที่ราบเรียบ เสมอต้นเสมอปลาย  สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เคยทำอย่างไรมา ก็จะทำเช่นนั้นต่อไป ฉะนั้น คนที่ไม่สามารถเคลื่อนได้ระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” แล้วไซร้ สภาวะนิ่งอันเป็นอมตะจึงหายไป ไม่สามารถบรรลุพระนิพพานได้

 

ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ว่าวิปัสสนาคือคำตอบ

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร คน ๆ หนึ่งจึงสามารถทำตนเองให้เคลื่อนไปในระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” เพื่อการบรรลุถึงจุดนิ่งอันคือพระนิพพาน เพราะจู่ ๆ จะให้คนหยุดคิดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ที่จะหยุดคิดได้เอง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว มนุษย์จะหยุดคิด หยุดจำ ไม่ได้เลย

การเคลื่อนให้ได้ระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความคิดและการวิเคราะห์แต่อย่างใด ศิลปะที่ว่านั้นคือ การปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนา นั่นเอง เมื่อพูดถึงศิลปะแล้ว ย่อมครอบคลุมถึงการฝึกฝน ฝึกปรืองานศิลปะนั้นบ่อย ๆ จนมีความชำนาญ และเชี่ยวชาญในงานศิลปะของตน เช่น ใครอยากเป็นนักร้อง ก็ต้องร้องเพลงบ่อย ๆ จนมีความชำนาญในการใช้เสียงตนเอง ใครอยากเป็นนักแสดง ก็ต้องแสดงบ่อย ๆ ใครอยากขับรถ ก็ไม่ต้องไปอ่านมาก นั่งหลังพวงมาลัย และก็ขับบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ชำนาญเอง  

คนที่เริ่มฝึกวิปัสสนา คือ คนทีพยายามฝึกฝนทักษะเพื่อสามารถเคลื่อนไปให้ได้ระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” โดยไม่เกิดการลักลั่น ทำได้ โดยการนำใจกลับมาสู่ฐานของสติ เช่นมีสติเฝ้าดูลมหายใจ มีสติอยู่ที่การเดิน มีสติอยู่ที่การเคลื่อนไหวของมือในขณะที่ทำงานบ้าน เช่น ล้างชาม ถูบ้าน เป็นต้น เมื่อทำได้เช่นนั้น ใจจะหลุดจากจิตหรือความคิด และความจำ พอใจหลุดจากความคิด คำพูดจึงไม่เกิด ใจก็จะมาอยู่กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ทันที ก่อให้เกิดสภาวะนิ่งอันเป็นอมตะ เพราะบุคคลนั้นกำลังเคลื่อนไปในระดับเดียวกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” อันเป็นการบรรลุถึงสภาวะพระนิพพานแล้วในช่วงขณะนั้น ๆ  

วิปัสสนาหรือสติปัฎฐานจึงเป็นการฝึกทักษะที่จะบังคับตนเองให้เคลื่อนไปพร้อม ๆ กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ครูสอนวิปัสสนากรรมฐานจึงเน้นกับลูกศิษย์เสมอว่า “ต้องจับปัจจุบันขณะให้ได้นะ” ปัจจุบันขณะ คือ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ที่เคลื่อนไปกับตัวเราตลอดเวลานั่นเอง ถ้าไม่มีตัวเรา ก็ไม่มี “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ทุกคนมี “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ของตนเองทั้งสิ้น  ในขณะที่ผู้ฝึกกำลังเฝ้าดูลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวของเท้าโดยไม่มีความคิด และไม่ได้ท่องบ่นบริกรรมแต่อย่างใดนั้น ขณะนั้น ชีวิตทั้งหมดของผู้ปฏิบัติก็ได้บรรลุถึงจุดนิ่งอันเป็นอมตะของธรรมชาติแล้ว หรือ เข้าถึงพระนิพพานแล้ว แม้จะเป็นช่วงขณะสั้น ๆ ก็ตาม คำบริกรรมว่า ยุบหนอ พองหนอ ยก ย่าง เหยียบหนอ เหล่านี้ อาจจำเป็นในช่วงเริ่มต้น แต่จะเป็นอุปสรรคและยืดเวลาแห่งการเข้าถึงพระนิพพานออกไปโดยไม่จำเป็น พยายามจับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ให้ได้โดยไม่ต้องพูดอะไร จะถึงนิพพานเร็วกว่า

ฉะนั้น เนื้อหาของการฝึกวิปัสสนาจริง ๆ แล้วคือการทำใจให้หยุดนิ่งโดยไม่เตลิดไปกับความคิดซึ่งเป็นทักษะที่ฝึกบ่อย ๆ แล้วจะชำนาญมากขึ้น เหมือนการพยายามวิ่งให้อยู่ในระดับเดียวกับรถไฟอีกขบวนหนึ่งจนให้ได้ระดับเดียวกันอย่างแท้จริง ไม่มีการเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด

 

สร้างนิสัยใหม่ - ปล่อยวาง

ฉะนั้น การยึดติดในความคิดของอดีตและอนาคตจึงเปรียบเหมือนบางครั้งวิ่งเร็วไปบ้าง วิ่งช้าไปบ้าง ไม่ได้ระดับความเร็วเท่ากับรถไฟที่อยู่ข้างเคียงสักที จึงไม่สามารถเอาความนิ่งหรือสภาวะอมตะนั้นเป็นที่พึ่งพาได้ พุทธศาสนาจึงสอนเน้นให้คนปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ติดยึดในอะไรทั้งสิ้น การสอนเช่นนี้ ก็คือ การฝึกคนให้ปล่อยวางในความคิดนั่นเอง คนที่ประสบปัญหาอะไรแล้ว ปล่อยวางเก่ง ไม่ติดยึด คนนั้นจัดว่ามีแนวโน้มที่จะปฎิบัติสติปัฎฐานได้ดีกว่าคนที่ไม่ยอมปล่อยวาง เพราะนี่เป็นเรื่องนิสัยของใจ 

การฝึกวิปัสสนาคือ การมาฝึกนิสัยใหม่ ๆ ให้ใจตนเอง นั่นคือนิสัยแห่งการไม่ติดยึดในความคิดและความรู้สึกของตนเอง คนฝึกวิปัสสนาใหม่ ๆ จะรู้สึกว่ายากมาก เพราะแม้การเปลี่ยนนิสัยของกาย เช่น กัดเล็บ กระตุกหน้า สั่นเท้า สูบบุหรี่ กินเหล้า ยังจัดว่ายากมากแล้ว การดัดนิสัยของใจจึงย่อมยากมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก เพราะเป็นต้นตอปัญหาของนิสัยกาย ฉะนั้น เมื่อฝึกสติปัฏฐานใหม่ ๆ  เวลาที่ใจหลุดจากความคิดย่อมสั้นหรือน้อยกว่าเวลาที่ติดอยู่ในความคิดและความรู้สึก จึงมีเวลานั่งแช่อยู่ในกล่องเวลาของอดีตและอนาคตมากกว่า คนที่ชอบฝันถึงอนาคตอันสวยหรูของตนเองว่าจะร่ำรวยบ้าง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนมีชื่อเสียงบ้าง หรือ หวังถูกล๊อตเตอรรี่บ้างอะไรสารพัดจะฝันนั้น แสดงว่ายังมีนิสัยที่ชอบนั่งอยู่ในกล่องเวลาของอนาคต ไม่สามารถเคลื่อนไปกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้อย่างแท้จริง จึงต้องพยายามปล่อยวางความคิด หรือ ความหวังที่เนื่องกับอนาคตเหล่านั้น แม้เป็นเพียงความหวังเดียวที่ก่อให้เกิดพลังในการดำรงชีวิตในปัจจุบันก็ตามแต่ ผู้ที่มุ่งพระนิพพานแล้ว จำเป็นต้องปล่อย และปล่อยอย่างไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น ต้องไม่หวังพึ่งอะไรทั้งสิ้น นอกจากพึ่งพระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น ต้องมีความกล้าหาญชาญชัยมาก ต้องไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น ต้องไม่กลัวจน ไม่กลัวว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ ไม่กลัวว่าจะถูกโรคร้ายคุกคาม ไม่กลัวแม้ความตาย จึงทำได้ คนทำได้เช่นนี้จึงมีน้อยมาก ผู้ถึงพระนิพพานจึงมีมากเท่าเขาวัวเท่านั้น

 

พ่อช่วยดึงลูกขึ้นจากหน้าผา

ตรงนี้ เปรียบเหมือนพ่อที่มีร่างกายกำยันแข็งแรงพาลูกชายวัยสิบขวบไปเดินเล่นชมวิวอยู่บนหน้าผาที่สูงชัน ลูกชายเดินพลาด ตกหน้าผา แต่สามารถคว้าเกาะแง่งหินไว้ได้ สองมือจึงเกาะแง่งหินไว้แน่น เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ตนอยู่ได้ พ่อเห็นเช่นนั้น จึงรีบนอนราบลงบนริมผา ยื่นมือที่แข็งแกร่งลงไปเพื่อจะดึงลูกขึ้นมา แต่มือของพ่อไม่ถึงตัวลูก ขาดเพียงไม่กี่นิ้วเท่านั้น จึงบอกลูกว่า ลูกต้องทำใจกล้า ปล่อยมือหนึ่งที่เกาะแง่งหินอยู่ และยื่นมือให้พ่อ และพ่อจะคว้าลูกขึ้นมาให้ได้ พ่อรู้ดีว่า กำลังของตนมีมากพอที่จะดึงลูกขึ้นมาจากหน้าผาได้หากลูกสามารถปล่อยมือหนึ่งจากแง่งหินนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ลูกจะมีความกล้าหาญชาญชัยพอที่จะปล่อยมือจากแง่งหินนั้นได้หรือไม่ ถ้าลูกคิดว่า หากพ่อคว้ามือตนเองไม่ทัน ก็จะต้องตกหน้าผาตายแน่ แง่งหินนั้นจึงเป็นทางรอดทางเดียวของตน จึงเกาะแน่น ไม่ยอมปล่อย  ถ้าไม่ปล่อย ก็จะไม่พบทางรอดที่แท้จริง แต่ถ้าลูกคิดได้ว่า พ่อแข็งแรงกว่าตนมาก และพ่อก็รักลูกมาก พ่อจะไม่มีวันปล่อยให้ลูกตกหน้าผาแน่ จึงยอมทำตามที่พ่อบอก ทำใจกล้า รีบปล่อยมือหนึ่งจากแง่งหิน พอปล่อยเท่านั้น พ่อก็คว้ามือลูกได้ทันที ดึงลูกขึ้นมาจากหน้าผา พบทางรอดอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ใครที่มุ่งเอาพระนิพพานแล้วละก็ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติเหมือนลูกในนิทานเรื่องนี้ แม้การเกาะแน่นอยู่กับความคิดอันเป็นความหวังอันสูงสุดว่า

“วันหนึ่งตนจะเข้าถึงพระนิพพานอย่างถาวร จะได้หมดทุกข์ หมดโศรกเสียที”

ความคิดเช่นนี้แหละคือแง่งหินที่หลงคิดว่าพึ่งพาได้ แต่ที่จริงแล้ว พึ่งไม่ได้ ต้องปล่อย และปล่อยอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า หรือเชื่อในตัวผู้กำลังพูดเช่นนี้อยู่ และทำตามอย่างว่าง่าย พอปล่อยได้เท่านั้น พระนิพพานก็อยู่ตรงหน้าทันที

 เมื่อมีความพยายามฝึกสติอยู่กับฐานอย่างไม่ลดละ ฝึกบ่อย ๆ ความสามารถในการอยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ปัจจุบันขณะก็จะยืดยาวออกไป เวลาที่หลุดจากความคิดมีมากขึ้นตามลำดับ จนถึงวันแห่งการหลุดพ้นจากความคิดอย่างสิ้นเชิง จะด้วยพลังแห่งสมาธิ (เจโตวิมุตติ) หรือ พลังแห่งปัญญา (ปัญญาวิมุติ) ก็แล้วแต่ พอความคิดหลุดหรือ จิตหลุดจากใจ อย่างสิ้นเชิง บุคคลนั้นก็เคลื่อนไปพร้อม ๆ กับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ในระดับเดียวกันตลอดเวลา ก่อให้เกิดสภาวะนิ่งอันมีค่าถาวร เป็นอมตะ หรือ บรรลุถึงพระนิพพานอย่างถาวรนั่นเอง 

 

พระอรหันต์ไม่คิดเช่นนั้น

       ฉะนั้น ความคิดว่า “ฉันเป็นพระอรหันต์แล้ว” จะไม่เกิดแก่ผู้เป็นพระอรหันต์จริง เพราะความเป็นพระอรหันต์ไม่ใช่เรื่องการคิด การพูด การวิเคราะห์อย่างเป็นศาสตร์ แต่เป็นสภาวะของใจที่หลุดจากจิตหรือความคิดอย่างสิ้นเชิง ทำให้สามารถเคลื่อนพร้อมกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน คนที่เข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง เมื่อประสบปัญหาอะไรแล้ว จะไม่พูดปลอบใจตนเองในทำนองว่า

“ ไม่เป็นไร เราปลอดภัยแล้ว เพราะเราได้ปฏิบัติธรรม ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว อันตรายกร้ำกรายเราไม่ได้อีกแล้ว…”

คนบรรลุธรรมในขั้นอันติมะหรือถึงพระนิพพานจริงจะไม่ปลอบใจตนเองเช่นนั้นเป็นอันขาด เพราะนั่นเป็นความคิดทั้งสิ้น การคิดเช่นนั้นเท่ากับการนั่งแช่อยู่ในกล่องความคิดของอดีต ความคิดเหล่านี้จะไม่เกิดกับพระอรหันต์ เพราะงานถาวรของพระอรหันต์คือ ความสามารถเคลื่อนไปพร้อมกับเข็มวินาทีหรือ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้ตลอดเวลา  ไม่มีโอกาสมานั่งคิดเช่นนั้นได้ เป็นอฐานะ สถานะของพระอรหันต์มักเป็นสิ่งที่คนยังไม่ได้เป็นยกให้ท่านมากกว่าที่เจ้าตัวให้ตนเอง เพราะสภาวะ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” เป็นความธรรมดาอย่างถึงที่สุดด้วย จึงไม่มีอะไรเหลือให้คิดมากอีกแล้ว  

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พระอรหันต์ไม่มีความคิดเลย ก็ยังใช้ความคิดเหมือนคนทั่วไปอยู่ โดยเฉพาะถ้ายังต้องสอนคนให้เห็นพระนิพพานตามท่าน  แต่เมื่อคิดเสร็จแล้ว ก็ปล่อยได้อย่างง่ายดาย เพราะยางเหนียวหรือสนามแม่เหล็กระหว่างใจกับจิตหรือความคิดถูกทำลายหมดแล้ว พระอรหันต์จึงอยู่ในสภาวะที่จะคิดก็ได้ หรือ ไม่คิดก็ได้ ขึ้นกับงานที่ท่านกำลังทำอยู่ 

 

ทำธุระเสร็จแล้ว ต้องกลับบ้าน

ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความคิด ความคิด ความทรงจำ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้ามนุษย์ไม่ใช้ความคิดและข้อมูลที่เก็บอยู่ในความทรงจำแล้ว ก็อยู่ในสังคมโลกไม่ได้ จะนั่งเฉย ๆ เหมือนคนสมองฝ่อ ไม่มีคุณค่า เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตามแต่ ตั้งแต่คิดจะทอดไข่เจียวสักฟอง ไปเดินเล่นออกกำลังกายที่สวนลุม จนถึงคิดอยากสร้างตึกสูงร้อยชั้น กิจกรรมเหล่านั้นจะสำเร็จได้ก็ต้องคิดก่อน ต้องใช้ความทรงจำว่า ไข่เจียวเขาทอดกันอย่างไร จะไปสวนลุมต้องไปอย่างไร จะสร้างตึกสูงร้อยชั้น ต้องคิดอะไรบ้าง งานเหล่านี้ต้องอาศัยความคิด ความทรงจำและข้อมูลมากมาย จึงทำได้สำเร็จ เรื่องความคิดเป็นจุดที่ผู้ฝึกวิปัสสนามักสับสนมากเวลาทำสมาธิ เพราะถูกสอนว่าอย่าคิด อย่าตามความคิด เช่นนี้เสมอ

ที่จริงแล้ว การคิดได้ จำได้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อคิดเสร็จแล้ว มีความสามารถในการปล่อยความคิด และกลับสู่ฐานของสติได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน ถ้าเปรียบเทียบฐานของสติ เช่น ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย เป็นบ้าน การใช้ความคิด ใช้ความจำ ก็คือ การออกจากบ้านไปทำธุระนั่นเอง เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ก็ต้องกลับบ้าน คือ คิดเสร็จ ต้องปล่อยความคิดและกลับสู่ฐานของสติทันที ฉะนั้น ในขณะที่กำลังทำสมาธิวิปัสสนาอยู่ เช่น หลับตากำหนดลมหายใจ หรือ กำลังเดินจงกรมอยู่นั้น เป็นช่วงขณะที่กำลังฝึกพาใจกลับสู่ฐานหรือบ้าน และฝึกใจให้อยู่ติดบ้านนาน ๆ โดยยังไม่ต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน (คิด) ฉะนั้น นักวิปัสสนาจึงถูกสอนให้ปล่อยความคิด อย่าคิด และอยู่กับฐานของสติเฉย ๆ (ใจอยู่ติดบ้าน) เมื่อทำเช่นนั้นได้เก่งในขณะที่ฝึกสมาธิวิปัสสนาอยู่นั้น เมื่อออกจากสมาธิ นิสัยแห่งใจจะดีขึ้น แม้มีการคิดเพื่อทำงานอะไรให้สำเร็จ พอคิดเสร็จ ก็พาใจกลับบ้านหรือกลับสู่ฐานของสติได้เร็วขึ้น เมื่อพาใจกลับบ้านได้เร็ว ความรู้ตัวจะเกิดเร็วขึ้นตามลำดับ ฉะนั้น ในขณะที่ฝึกสมาธินั้น อย่าไปคิดมากไม่ได้ ต้องหัดปล่อย หัดดีดความคิดออกอย่างเดียวเท่านั้น

ความคิด ความจำ มีหลายประเภท ประเภทที่คิดแล้วทำให้ปวดหัวใจ เป็นอกุศลนั้น ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเลย ปล่อยอย่างเดียว ความคิดประเภทที่เป็นกุศล จะคิดนานหน่อยก็ได้ ใช้เป็นพาหนะเพื่อกระตุ้นให้ตนเองปล่อยวาง คิดได้ แต่ในทีสุดก็ต้องปล่อยอยู่ดีและกลับสู่ฐาน (ทำธุระเสร็จแล้วต้องกลับบ้าน) ความคิดบางประเภทเป็นกลาง ๆ เช่น ความคิดที่ใช้ในการเรียนหนังสือเพื่อหาความรู้ทางโลกทั้งหลาย คิดวางแผนเพื่อทำกิจกรรมงานต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นความคิดกลาง ๆ ต้องคิด เพื่อทำงานให้ลุล่วง แต่พอคิดเสร็จแล้ว ต้องปล่อยและกลับสู่ฐาน (ทำธุระเสร็จแล้วต้องกลับบ้าน)  

  ฉะนั้น ไม่ว่าความคิดอะไรก็ตามแต่ ในที่สุด ต้องปล่อยและกลับสู่ฐานให้ได้ คือ ทำธุระเสร็จแล้วต้องกลับบ้าน คนที่รู้ตัวเร็วว่ากำลังติดพันอยู่ในความคิด ก็จะปล่อยความคิดได้เร็วกว่าคนที่รู้ตัวช้า 

 

ต้องรู้จักหน้าตาบ้าน จึงเข้าบ้านถูก   

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า เจ้าของบ้านรู้จักหน้าตาของบ้านตนเองหรือไม่ ถ้ายังไม่รู้จักหน้าตาของบ้านตนเองแล้ว เมื่อออกจากบ้านไปทำธุระ ทำเสร็จแล้ว กลับบ้านไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่า บ้านไหนคือบ้านของเรา ไม่รู้จะเข้าบ้านไหน การฝึกสมาธิวิปัสสนา หรือ การนำใจกลับมาสู่ฐานของสติ คือ การมาฝึกให้รู้จักหน้าตาของบ้านตนเอง บ้านของใจมีสี่บ้าน (สติปัฎฐานสี่) เช่น การรู้ลมหายใจ หรือ การเคลื่อนไหวของกาย คือ การพาใจกลับบ้านที่หนึ่ง การรู้ความรู้สึกของกาย คือ การพาใจกลับบ้านที่สอง การรู้เห็นการทำงานของความคิด ความรู้สึก จนทำลายความคิดให้ล่องหนได้อย่างคาหนังคาเขาและเห็นความสงบของใจ หรือ เห็นบ้านที่ว่างเปล่า คือ การพาใจกลับบ้านที่สาม การกำหนด “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้ คือ การพาใจกลับบ้านที่สี่

บ้านทั้งสี่เรียงเป็นวงกลมเดินทะลุถึงกันหมด โดยบ้านที่หนึ่งกับบ้านที่สี่จะชนกัน ฉะนั้น ถ้าใครยังไม่รู้จักหน้าตาของบ้านที่สี่แล้ว ก็จะเกิดช่องว่างระหว่างบ้านที่สามกับบ้านที่หนึ่ง เดินทะลุไม่ได้ ไม่ถึง เพราะช่องว่างใหญ่เกินไป การรู้จักบ้านที่สี่ หรือ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” จึงสำคัญมาก เป็นตัวต่อตัวสุดท้ายที่จะทำให้บ้านทั้งสี่ทะลุถึงกันอย่างแท้จริง พอรู้จักบ้านที่สี่ และ เข้าบ้านได้แล้ว ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น เข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ได้เสมอ ไม่หลงทางอีกแล้ว คนที่ยังไม่เห็นบ้านที่สี่ แต่รู้จักสามบ้านแรกได้ ก็เรียกว่า ดีมากแล้ว การหลงทางจะน้อยลงมาก เพราะยังสามารถพาใจกลับได้ถึงสามบ้าน บ้านที่สี่ จะเร่งสร้างก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้มันสร้างของมันเอง เกิดเอง

       ฉะนั้น คนที่ฝึกสมาธิวิปัสสนา คือ ฝึกการพาใจกลับบ้าน บ้านของใจไม่ได้เป็นหลัง ๆ ที่มีเลขบ้านและถนนให้สังเกต บ้านของใจไม่มีรูปร่าง จึงต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ก่อน การพาใจกลับบ้านจึงเป็นทักษะที่ต้องฝึกบ่อยเพื่อความชำนาญ ฝึกจนสามารถเข้าออกจากบ้านได้ชำนาญ   

       คนที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนาเลย จึงเรียกว่ายังหลงทางอยู่ เพราะหาบ้านตนเองไม่พบ ไม่สามารถพาใจกลับบ้าน ใจจึงวิ่งว่อนไปกับความคิด ความรู้สึกเสมอ คนที่ไม่พร้อมฝึกวิปัสสนานั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ คิดอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมตามที่ได้แนะนำไว้แล้วในคู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฏแห่งกรรม

 

ความยากอยู่ที่ “ความคิดสุดท้าย”

ปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งอันเนื่องกับการฝึกสมาธิวิปัสสนาคือ เมื่อหลุดจากความคิดหนึ่งแล้ว มักมาติดที่ความคิดใหม่เสมอ “ความคิดสุดท้าย” จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่คนผู้ขาดความชำนาญมักจับไม่ทัน ฉะนั้น คนที่สามารถจับความคิดสุดท้ายได้เร็วและปล่อยได้ทันทีจึงเรียกว่ามีทักษะ มีความชำนาญที่จะเคลื่อนไปกับ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้เก่งขึ้น 

ผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ต้องการถามพระอาจารย์ว่า “ปฏิบัติธรรม” ทำกันอย่างไร ถ้าผู้คิดจะถามสามารถเห็นทันความคิดอันเป็นคำถามเหล่านั้น และปล่อยความคิดอันเป็นคำถามเหล่านั้นทันทีเหมือนกับดีดความคิดอื่น ๆ และอยู่กับปัจจุบันขณะจริง ๆ  เขาก็จะได้คำตอบของคำถามด้วยตนเอง นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมจริง ๆ  ทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือเคลื่อนให้ทันปัจจุบันจริง ๆ เท่านั้น

คนปฏิบัติธรรมที่ชอบถามปัญหาทางธรรมนั้น เขามัวคิดยุ่งอยู่กับคำถามที่คิดว่าตนเองไม่รู้และคิดว่าเมื่อได้คำตอบแล้ว จะทำตามได้ ในขณะที่คิดยุ่งหาคำถามอยู่นั้นก็ถูกตัวความหลงครอบงำเข้าแล้ว ไม่ทันปัจจุบันจริง ๆ ถ้าชำนาญและไวพอที่จะสลัดคำถามเหล่านั้นได้อย่างไม่ปราณีปราสัย ไม่โลเล เหมือนเห็นรถไฟขบวนอื่น ๆ ที่เคลื่อนออกจากสถานีไป ไม่มีรถไฟขบวนไหนสำคัญกว่าขบวนไหนเลย หรือไม่มีความคิดไหนสำคัญกว่าความคิดไหนเลย มันเท่าเทียมกันหมดภายใต้ความเป็นอนิจจัง จึงต้องปล่อยมันไปเสมอเหมือนกันหมด ทำเช่นนั้นได้ ก็จะเห็นและอยู่กับพระนิพพานได้ทันที นี่คือความยากของการปฏิบัติ แต่ถ้าจับจุดให้ได้ว่า ทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือ จับความคิดล่าสุดให้ทันเสมอและปล่อยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการต่อล้อต่อเถียง นั่นคือการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

คนที่จับหลักการนี้ได้แล้ว จะไม่มีคำถามทางธรรมอีกต่อไป เพราะคำถามก็คือความคิดนั่นเอง ถ้าเห็นทันว่าคำถามที่อยากถามเป็นความคิดแล้ว รีบปล่อย ก็จะเห็นพระนิพพานอยู่ตรงหน้าเสมอ แล้วจะถามอะไรอีก หมดเรื่องถามทันที  ปฏิบัติจนสามารถพบสภาวะนี้ได้คือ การพบเนื้อหาแท้จริงของศาสนาพุทธแล้ว 

 

พระอริยเจ้าสี่ระดับ

พระอริยเจ้าทั้งสี่ระดับคือ บุคคลผู้สามารถปล่อยความคิดและความรู้สึกได้เร็วมากน้อยต่างกัน

พระโสดาบันคือ ผู้เริ่มคิดอย่างถูกต้องตามครรลองธรรม จึงเริ่มปล่อยความคิดที่ไม่ควรคิด (ความคิดที่เป็นอกุศล) ออกไป และคิดวุ่นกับสิ่งที่ควรคิด (ความคิดที่เป็นกุศล) จึงยังหมกมุ่นกับความคิดมากโขอยู่ ยังติดในอดีตและอนาคต จึงยังมีความทุกข์มากอยู่ ยังไม่รู้จักหน้าตาของบ้านที่หนึ่ง เพราะเริ่มเห็นทุกข์ จึงปรารถนาความดับทุกข์ เริ่มคิดว่าต้องฝึกวิปัสสนาแล้ว จะได้มีความสุขสงบมากขึ้น 

พระสกิทาคามีคือ ผู้เริ่มต้นการฝึกฐานที่หนึ่งและสองแล้ว รู้จักหน้าตาของสองบ้านแรกแล้ว และเพิ่งเริ่มสังเกตบ้านที่สาม คือ การฝึกหัดดูความคิดของตนเอง แต่ยังจับ “ความคิดสุดท้าย” ไม่ได้ ยังถูก “ความคิดสุดท้าย” ลากพาไปนานกว่าจะหลุดออกมาได้ จึงยังใช้เวลาอยู่ในอดีตและอนาคต แต่ก็สั้นกว่าพระโสดาบัน เพราะรู้จักพาใจกลับบ้านที่หนึ่งและสองแล้ว หาบ้านให้ใจอยู่ได้แล้ว

 พระอนาคามีคือ ผู้กำลังฝึกฐานที่สามและห้ำหั่นความคิด ความรู้สึกอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นสภาวะที่แมวกับหนูกำลังสู้กันอย่างหมัดต่อหมัด ยืนอยู่ท่ามกลางสนามรบคนเดียวที่มีศัตรูมากมายเข้ามารอบข้าง จึงต้องสู้ไม่ถอย สติค่อย ๆ มีอย่างถี่ยิบ เพราะรู้ว่าถ้าสติอ่อนเมื่อใด เมื่อนั้นศัตรูก็จะทิ่มแทงทันที แทบไม่มีเวลาหยุดหายใจ เจ็บปวดมาก เพราะจำเป็นต้องสู้เช่นนั้น ความชำนาญจึงเกิด จะเริ่มจับ “ความคิดสุดท้าย” ได้เร็วขึ้น จะมีสภาวะที่กำหนด “ความคิดสุดท้าย” ย้อนหลัง แต่มองไม่เห็นว่า ในขณะที่กำลังกำหนด “ความคิดสุดท้าย” อยู่นั้น ตนเองกำลังถูกอีก “ความคิดสุดท้าย” ครอบอยู่ จึงต้องฝึกอยู่เช่นนั้นจนสามารถจับ “ความคิดสุดท้าย” ได้จริง ๆ    จึงปล่อยความคิดได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งจับและปล่อยความคิดบางอย่างได้อย่างเป็นอัตโนมัติ เริ่มเห็นบ้านที่สี่อยู่รำไร แต่ยังไม่แน่ใจเต็มที่

พระอรหันต์ คือผู้รู้จักบ้านที่สี่ หรือ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงสามารถเข้าออกบ้านทั้งสี่ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเข้าบ้านไหน ก็สามารถเดินทะลุถึงกันหมด ไม่จำเป็นต้องจับ “ความคิดสุดท้าย” แล้ว เพราะความคิดหลุดร่อนอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว จิตหลุดออกจากใจอย่างสิ้นเชิงแล้ว  จึงสามารถกลับมาใช้ความคิดเหมือนคนทั่วไปอีก แต่เป็นการใช้ความคิดเพื่อช่วยเหลือและยังประโยชน์ให้คนหมู่มาก เมื่อคิดเสร็จก็ปล่อยได้ทันที ทำธุระเสร็จ ก็กลับเข้าบ้านทันที

การวางขั้นตอนของพระอริยเจ้าสี่ระดับนั้น ก็ต้องวางไว้ตามการเรียนรู้ของสมมุติ เป็นแนวทาง แต่ถ้าใครอยากบรรลุธรรมจริง อยากรู้สภาวะจริงของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะในระดับสูงแล้ว ไม่ต้องอยากรู้ว่าคนนั้นคนนี้เป็นหรือไม่เป็นพระอริยเจ้าในระดับไหนดีกว่า และไม่ต้องพยายามตัดสินว่าตัวเองเป็นพระอริยเจ้าหรือเปล่าด้วย ทิ้งความคิดนั้นไปเลย จับเอาแต่สภาวะปัจจุบันจริง ๆ ของตัวเองให้ได้ก็พอแล้ว ถึงจุดนี้แล้วก็ไม่มีอะไรจะพูดอีกต่อไป หมดปัญหา

 

ข้อเปรียบเทียบของตัวต่อ

 ทีนี้ ลองมาดูการเปรียบเทียบของตัวต่อ jigsaw puzzle พระนิพพานคือสภาวะที่เข้าใจชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ หรือ การสามารถเห็นภาพทั้งหมดของธรรมชาติที่มี “ตัวเรา” เป็นส่วนน้อยนิดอยู่ข้างใน หรือ พูดศัพท์ใหม่ว่า คือ การเห็น “ภาพชีวิต” ที่ชัดเจนนั่นเอง ตราบใดที่ยังมีการใช้ความคิดอยู่ ตราบนั้นเหมือนมีตัวเรายืนขึ้นมาอยู่โดด ๆ ท่ามกลางชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมายของตัวต่อที่ประกอบขึ้นมาเป็นธรรมชาติทั้งหมด ตราบใดที่เรายืนอยู่หรือใช้ความคิดอยู่ ภาพชีวิตจะชัดเจนไม่ได้ เพราะ “ตัวเรา” หรือ รูปนามนี้เป็นตัวต่อชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้ “ภาพชีวิต” สมบูรณ์ชัดเจนได้ ภาพชีวิตจะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อเรานั่งหรือนอนลง (คือสภาวะหยุดคิด หรือ ใจว่างจากจิตหรือความคิด) และกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพทั้งหมดเท่านั้น ถ้าเราไม่นั่งและยืนอยู่ (ไม่หยุดคิด หรือ ใจไม่ว่าง) ก็จะมีเราที่มองสิ่งอื่นตลอดเวลา จึงเห็นแต่ความเป็นอนิจจัง เห็นทุกสิ่งเคลื่อนไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรแน่นอน เป็นสภาวะที่ถูกกำหนดอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาเสมอ แต่ถ้าสามารถหลุดจากความคิดได้แล้ว ในขณะนั้น ความคิดว่ามีตัวเราหายไป (เหลือแต่รูปนามที่บริสุทธิ์) จึงเหมือนการนั่งลงหรือนอนลงและยอมเป็นส่วนหนึ่งอันน้อยนิดของธรรมชาติทั้งหมด เมื่อนั้นภาพทั้งหมดของชีวิตก็จะชัดเจน เหมือนรถไฟขบวนที่สองสามารถเคลื่อนที่ในระดับความเร็วพร้อมกับรถไฟขบวนแรก ก่อให้เกิดสภาวะนิ่งระหว่างกลาง สภาวะนั้นแหละคือ นิพพาน เป็นสภาวะนิจจังที่เคลื่อนไปพร้อมกับอนิจจังนั่นเอง นิพพานจึงเป็นสภาวะที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลา หรือเป็นอกาลิโก

จึงเห็นได้ว่า ความคิดของมนุษย์เป็น “ตัวต่อที่หายไป” the missing link อันเปรียบเหมือนกุญแจไขความลับของชีวิตและจักรวาลที่นักวิทนาศาสตร์พยายามค้นหาอยู่ แต่หาอย่างไร ก็ไม่พบ เพราะ ความคิดมนุษย์เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ต้องใช้เพื่อหาความรู้ทางโลก Thoughts or the thinking faculty is the fundamental tool for acquiring intellectual knowledge. นักวิทยาศาสตร์จึงหมดหนทาง เพราะไม่ว่าจะทำอะไร อย่างไร จำเป็นต้องใช้ความคิดเสมอ จะให้หยุดใช้ความคิดได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการศึกษาทั้งหลายเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ และกลัวด้วยซ้ำไป เห็นว่า หากไม่ใช้ความคิดแล้ว ก็เหมือนคนสมองฝ่อเหมือนหัวกะหล่ำปรี นั่งเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์ ตรงนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์เดินมาถึงทางตัน หากไม่ยอมรับฟังปัญญาของพระพุทธเจ้าหรือผู้กำลังพูดเช่นนี้อยู่ ก็ต้องโง่ดักดานไปอีกนาน เพราะเขาจะไม่มีวันรู้ว่า เครื่องมืออันคือ สติปัฎฐานหรือวิปัสสนานี่แหละสามารถทำให้คนหยุดคิดได้ชั่วขณะ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเฝ้าดูลมหายใจ หรือ เดินจงกรมเฉย ๆ โดยไม่ต้องคิดนั้นแหละ ตัวต่อชิ้นสุดท้ายก็จะเคลื่อนไปอยู่ในที่เหมาะเจาะของมันเอง เมื่อนั้น ภาพชีวิตก็ชัดเจนขึ้นมาทันที      

 

ชีวิตอมตะเป็นอย่างนี้เอง

ไม่เพียงแต่ชาวคริสต์เท่านั้น คนทั่วไปส่วนมากเมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตอมตะ eternal life หรือ eternity แล้ว มักสร้างจินตนาการต่าง ๆ ว่าชีวิตอมตะควรเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ชาวคริสต์ส่วนมากคิดว่า การใช้ชีวิตอมตะเกิดได้ก็เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว และไปอยู่ในสรวงสวรรค์อันเป็นอาณาจักรของพระเจ้า จินตนาการที่คนสร้างมากที่สุดคือ การที่ร่างกายสามารถอยู่อย่างอมตะโดยไม่แก่ ไม่บุบสลายหรือไม่ตาย immortality สามารถอยู่ยงคงกระพันตราบนานเท่านาน บางคนคิดออกว่าชีวิตอมตะเช่นนั้นไม่มีจริง จึงพลันคิดเลยเถิดไปว่าชีวิตอมตะเป็นเพียงอุดมคติเพ้อฝันเท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงๆได้ คำศัพท์เหล่านี้มักทำให้คนสร้างจินตนาการที่ผิด ๆ อยู่เสมอ

 ที่จริงแล้ว ชีวิตอมตะคือเรื่องเดียวกับการเข้าถึงพระนิพพานนี่เอง คนที่เข้าถึงพระนิพพานคือคนที่เข้าถึงชีวิตอมตะนั่นเอง ฉะนั้น เรื่องชีวิตอมตะจึงไม่ใช่เรื่องการอยู่ยงคงกระพันของร่างกายอย่างที่คนมักเข้าใจผิด แต่เป็นชีวิตที่สามารถเคลื่อนไปพร้อมกับสภาวะ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ได้ในขณะที่มีสติอยู่กับฐาน  สภาวะนั้นแหละคือสภาวะแห่งการใช้ชีวิตอมตะซึ่งคนที่ฝึกวิปัสสนาภาวนาสามารถทำได้อย่างง่ายดาย การใช้ชีวิตอมตะในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากทีเดียว ไม่ได้เป็นสภาวะที่ห่างไกลจนเอื้อมไม่ถึงแต่อย่างใด ใคร ๆ ก็ทำได้ถ้าเอาจริงเอาจังกับเรื่องวิปัสสนาสักหน่อย นี่เป็นสภาวะที่เราสามารถนำนักศึกษาไปถึงได้ในชั้นสอนไท้เก็กของเรา ถึงจุดหนึ่งซึ่งมักเป็นปลายเทอมแล้ว เรามักนำคำศัพท์ที่ท้าทายนี้ขึ้นมาพูดและอธิบายให้นักศึกษาฟังอย่างชัดเจนว่าเป็นไปได้ หากใครต้องการใช้ชีวิตอมตะแล้ว ต้องฝึกสติอย่างที่เขาได้เรียนรู้จากเราไป 

 เรื่องการเข้าถึงจุดนิ่งของพระนิพพานหรือการใช้ชีวิตอมตะ eternity หรือความไม่ตาย immortality เป็นเรื่องเข้าใจยากมากเพราะความใหญ่โตของสิ่งที่ต้องเห็นนั่นเอง เหมือนขนาดของคนที่เล็กนิดเดียว จะไม่สามารถเห็นขนาดของโลกได้ทั้งหมด เพราะขนาดมันต่างกันมากเกินไป เรื่องนิพพานหรือการใช้ชีวิตอมตะเป็นเรื่องการเห็นธรรมชาติทั้งหมดซึ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งอย่างเหลือคณานับ เรื่องวิปัสสนาจึงเป็นเรื่องการเดินออกจากลูกโลกนี้ จนไกลพอที่จะเห็นโลกกลมทั้งลูกได้ การดีดความคิดออกโดยการฝึกวิปัสสนานั้นก็คือ การเดินออกมาจนไกลพอที่จะเห็นธรรมชาติทั้งหมดได้ 

นี่เป็นเรื่องที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา จนสามารถอธิบายเรื่องการใช้ชีวิตอมตะได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยการเปรียบเทียบกับเข็มนาฬิกา การเคลื่อนของรถไฟและการแสดงภาพอื่น ๆ ให้นักศึกษาฟังเข้าใจได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นไม่ชัดและทำไม่ได้มาก่อน นี่เป็นรายละเอียดของคู่มือชีวิตภาคสอง