บทที่สี่ ธรรมชาติสอนอนิจจังได้แต่สอนนิพพานไม่ได้

 

ไม่ต้องเข้าวัดก็เข้าใจธรรม(ชาติ)ได้

       เคยเข้าใจว่า คนที่เข้าใจศาสนาพุทธได้ ต้องศึกษาศาสนาพุทธก่อน ก็จริงในแง่หนึ่ง ยิ่งรู้มากและรู้ลึก ก็ยิ่งทำให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องตื้นและเป็นสิ่งที่แม้คนไม่เข้าวัดก็ทำความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง หลักของศาสนาพุทธจริง ๆ นั้น ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าให้คนรู้ว่าทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้น อย่าไปยึดถือมันมากเกินไป ปล่อยวางเสีย

ข้อเท็จจริงนี้ แม้คนไม่ได้เข้าวัดและไม่ได้เป็นชาวพุทธก็สามารถเห็นได้เอง โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของตนเอง คนยิ่งมีอายุมาก ก็ยิ่งเห็นข้อเท็จจริงนี้ได้มาก เพราะเขาได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกขึ้นลงในจิตใจที่เกิดอย่างนับครั้งไม่ถ้วน คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตโลดโผน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องได้เรื่องเสียมากเกินไป แต่ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเพราะเป็นธรรมชาตินิสัยของตัวเองแล้ว คนอย่างนี้จะมีปัญญาเห็นเองว่า ชีวิตมันก็ขึ้น ๆ ลง ๆ และไร้แก่นสาร ฉะนั้น คนแก่มักจะเยือกเย็นลงเองโดยธรรมชาติเพราะความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ส่วนคนแก่ที่ยังทำตัวรักสนุกไม่ยอมแก่นั้น เรียกว่าเป็นคนน่าสงสาร น่าสมเพชอย่างแท้จริง เพราะแก่แล้ว แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของชีวิตเลย

ตัวอนิจจังนี่อาจทำให้คนผิดหวัง เป็นทุกข์ก็ไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้แม้คนไม่รู้ธรรมะก็อยู่รอดได้ คนที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนา ไม่ได้ฝึกสมาธิ แต่อยู่รอดได้เพราะความรู้สึกในใจที่เขาผ่านพ้นมาก็ล้วนเป็นอนิจจัง เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ของชีวิต เขาจึงรู้ว่า วันนี้ไม่สบายใจ แต่พรุ่งนี้ความคิด ความรู้สึกจะเปลี่ยนจะรู้สึกแตกต่างออกไป และอาจจะดีขึ้นกว่าวันนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ ทำให้มีความหวัง และความหวังนี้ทำให้เขาอยู่รอด เมื่อพ่อแม่เห็นลูกวัยหนุ่มสาวเสียใจเพราะความผิดหวัง ตีโพยตีพาย หรือ รีบร้อนตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ควรนั้น พ่อแม่ทั่วโลกไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตามมักปลอบใจลูก และบอกลูกให้อดทนเข้าไว้เหมือนกันหมด บอกลูกว่า ความคิด ความรู้สึกของลูกจะเปลี่ยนอีกแน่นอน อีกไม่กี่วันหรือสักเดือนหรือปีหนึ่งผ่านไปลูกจะเห็นเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้เป็นเรื่องน้อยนิดเดียว ขอให้อดทน รอเวลาให้ผ่านพ้นไป 

พ่อแม่สอนลูกเช่นนี้ได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตได้สอนตัวเองมาแล้ว จึงรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ถ้าคนที่ไม่ได้เข้าวัดและไม่เห็นอนิจจังตัวนี้ละก็ คนไม่มีธรรมะและไม่ได้ฝึกสมาธิเห็นจะต้องตายกันหมดด้วยโรคประสาทเป็นแน่แท้ ชีวิตจะหมดหวังทันที ปุถุชนคนธรรมดาอยู่ได้เพราะความหวัง หวังว่าอนาคตจะดีขึ้น ไม่มีใครจะทนความทุกข์ในใจได้หากคิดว่าความทุกข์ก้อนนี้จะอยู่อย่างนั้นตลอดไป คนฆ่าตัวตายมักจะถูกอวิชชาหลอกให้คิดเช่นนั้น ถ้าเขามีโอกาสได้คุยกับคนที่ทำให้เขาดูออกว่าความทุกข์ของเขาจะคลายตัวได้หากเขาอดทนรอ เขาก็จะรอดตัวไปได้ 

ปัญหาอยู่ที่ว่า สังคมเมืองได้สร้างวัฒนธรรมที่รัดตัวคนมากเกินไป เพราะไปสร้างคุณค่าให้คนเสพสุขจากวัตถุอย่างเต็มที่ คนเมืองจึงคิดอยู่แต่ในแวดวงของการหาเงิน หาวัตถุ และเสพสุขจากวัตถุแห่งกามนั้น คิดแต่เรื่องได้เรื่องเสีย จึงเกิดการแข่งขันอย่างไม่ลืมหูลืมตา จึงไปสร้างความคิด ความรู้สึกที่โหมกระหน่ำตนเองมากเกินไป ยิ่งโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว โอกาสที่คนจะเห็นความเป็นอนิจจังของความคิดและความรู้สึกย่อมมีน้อยลงไปมาก วิถีชีวิตของคนเมืองที่เห็นความจำเป็นต้องพูดคุยกับคนแม้กำลังเดินข้ามถนน ขับรถ ลงจากรถเมล์ เปิดประตู ทำกับข้าว เข้าห้องน้ำ เช่นนี้ จะไปมีโอกาสเห็นการทำงานอันละเอียดอ่อนของจิตใจตนเองได้อย่างไร

ในขณะที่คนส่วนมากภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี่ในฐานะผู้สร้างและผู้ใช้ก็ตาม แต่เขาไม่รู้ว่านี่เป็นวิถีชีวิตที่กำลังถลำลึกเข้าสู่ความมืดมิดของอวิชชามากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เหมือนคนขับรถที่ต้องการไปภูกระดึง แต่กำลังขับรถอยู่บนถนนที่พาไปสงขลา หลงทิศแล้ว แต่ไม่รู้ตัว เพราะเห็นว่ายังมีถนนอยู่ เมื่อขับได้ก็ขับไปเรื่อย ยิ่งขับไปไกล ก็ยิ่งหลงไกลจนอาจกู่ไม่กลับเลยก็ได้ เสียเวลา เสียทรัพยากร นี่แหละคือธรรมชาติของสังคมเมืองทั่วไป ผู้คนกำลังหลงทิศทางของชีวิตเป็นอย่างมาก ฟังเรื่องเข้าวัด รักษาศีล ทำสมาธิ ทำกรรมดี สั่งสมบารมี เพื่อมุ่งไปนิพพานไม่เข้าใจเสียแล้ว

 

แต่คนที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ อยู่บ้านนอกคอกนา หรืออยู่ป่าที่ไม่ถูกคุณค่าของสังคมเมืองกระทบเอามากนัก คนที่มีโอกาสนั่งเพ่งมองความมืดและความสว่างของท้องฟ้า มองหิ่งห้อยอยู่ในความมืด อย่างในหนังคาวบอยที่พ่อบ้านหรือคนเฒ่าคนชราของบ้านนั่งนอกชานเหลาไม้และมองไปในความเงียบของกลางวันและความมืดของกลางคืน หรือแม่บ้านที่ทำงานจับเจ่าอยู่ในครัว พร้อมกับมีโอกาสปะชุนเสื้อผ้าอย่างเงียบ ๆ นั่งมองความมืดและความสว่างอยู่นานนับปี คนเหล่านี้จะสังเกตุเห็นความเป็นอนิจจังของความรู้สึกภายในได้อย่างชัดเจน เขาจะเห็นการโหมกระหน่ำของความคิดและความรู้สึก พร้อมกับเห็นการจางคลายของความรู้สึกที่ทำให้เขาทุกข์มาก่อน เมื่อเขาได้สังเกตภาพพจน์ในใจมานานนับปีแล้ว เขาจะเห็นภาพพจน์ทั้งหมดของชีวิตว่า ไม่มีสาระอะไรมากนัก จะเริ่มปล่อยวางเป็น และสามารถประคับประคองชีวิตโดยพยายามปล่อยวาง อดทน รักษาระดับจิตไม่ให้มันขึ้นลงมากเกินไป และมีปัญญาพอที่จะสอนลูกหลานได้ ถ้าเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ เขาก็เห็นธรรมะ หรือเห็นธรรมชาติของชีวิตนั่นเองโดยที่ไม่ต้องมาเรียนศาสนาพุทธก็ได้ เพราะธรรมะที่แท้จริงก็คือการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง แน่นอน ส่วนมากต้องเป็นคนแก่หน่อย  

 

ผู้รู้เท่านั้นที่ชี้ให้เห็นนิพพานได้

แต่การมารู้จักศาสนาพุทธย่อมได้เปรียบกว่าในแง่ที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงชี้ ย้ำ ขีดเส้นใต้ให้คนสังเกตเห็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้เร็วขึ้น ได้ชัดขึ้น เป็นการมาบอกทางลัดให้คนเดิน จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาเรียนรู้เอง ซึ่งกว่าจะรู้ก็มักจะแก่เกินไป

ฉะนั้น คนเข้าวัดตั้งแต่ยังเด็กและหนุ่มสาว ฝึกสมาธิเป็น เขาจะฝึกเรียนรู้เรื่องอนิจจังได้เร็ว แม้อายุทางกาย physical age จะน้อย แต่อายุทางด้านจิตวิญญาณ spiritual age จะแก่กว่าคนแก่หลาย ๆ คนที่ยังหลงเรื่องกามวัตถุอยู่ 

แต่ถ้าถามว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาสามารถเห็นสัจธรรมอันสูงสุดได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ นี่เป็นคนละเรื่องกันแล้ว คนที่ไม่ได้เข้าวัดแต่สามารถปล่อยวางได้เพราะเห็นธรรมชาติของอนิจจังด้วยตนเองนั้น ก็ยังเป็นการเห็นที่อยู่ในแวดวงของความมืดหรืออวิชชาอยู่ ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ถึงแม้จะปล่อยวางได้ แต่เขาก็ยังไม่รู้เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตอยู่นั่นเอง ยังไม่ได้เดินตามทางแห่งองค์มรรค ฉะนั้น จึงยังไม่สามารถออกจากสังสารวัฏได้ ซึ่งเป็นแก่นของศาสนาพุทธอย่างแท้จริง

เรื่องการบรรลุธรรมและเห็นสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานนั้น ส่วนนี้จำเป็นต้องเข้าหาผู้รู้สอนให้ ถึงจะรู้ได้ จะต้องเริ่มจากการมีสัมมาทิฏฐิในระดับความคิดก่อน คือเชื่อว่ามีมรรค ผล นิพพาน มีบาปบุญคุณโทษ พ่อแม่มีบุญคุณ มีพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น แล้วค่อยมาปฏิบัติจริงจัง แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเหล่านี้เมื่อมีโอกาสได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็จะบรรลุธรรมเร็วเพราะอยู่ใกล้ประตูพระนิพพานแล้ว ถ้าเขามีโอกาสพบผู้รู้บอกทางนิดเดียว เขาก็จะเกิดปัญญาได้เร็วกว่าคนเมือง

 

วัฒนธรรมสติปัฏฐานช่วยดูแลคนหมู่มาก

แต่ถึงแม้เขาจะไม่ได้รับรู้เรื่องเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตหรือการเข้าถึงพระนิพพานก็ตาม การรู้จักปล่อยวางเองและประคับประคองชีวิตของเขาให้มีความทุกข์น้อยที่สุดก็เท่ากับใช้ชีวิตที่ดีที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาทั่วไป เป็นสิ่งที่น่าพอใจมากแล้ว 

ฉะนั้น เหตุผลที่เราพูดเรื่องการสร้างสรรวัฒนธรรมสติปัฏฐานนั้น เพราะรู้ว่า หากสร้างสังคมเช่นนั้นได้จริง ๆ ก็เท่ากับเป็นการดูแลปุถุชนคนธรรมดาเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมากเท่าขนโคเพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตอย่างน้อยก็ชาตินี้ให้เป็นทุกข์น้อยที่สุด แบกแต่ทุกข์ที่จำเป็นต้องแบกจริง ๆ อย่างเรื่องทำมาหากิน เจ็บไข้ได้ป่วย และแก่เฒ่าเท่านั้น ไม่ต้องไปโบกทับความทุกข์ที่ไม่จำเป็นให้เขาอีก อย่างเรื่องสงคราม เป็นการสร้างความทุกข์อย่างมหันต์ให้คนหมู่มากโดยไม่จำเป็น เป็นเรื่องที่ผู้นำจะต้องเลี่ยง

หากชาวโลกซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้นสามารถทำได้เท่านี้ก็น่าพอใจแล้ว เป็นแนวความคิดที่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำรัฐ แต่แม้เพียงเท่านี้ก็เถอะ มันก็ยากแสนยากแล้ว แค่เอามาพูดมาเขียนก็ยังรู้สึกว่าเป็นบ้าอยู่คนเดียว อย่าว่าแต่เอามาทำเลย เพียงเข้าใจความคิดนี้ได้ก็ยากแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่านี่เป็นยุคค่อนกึ่งพุทธกาล จิตใจของคนหยาบมากขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นทุกวัน  เรื่องเข้าถึงพระนิพพานยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะเป็นเรื่องของคนมีบารมีมากจริง ๆ เท่านั้นซึ่งมีจำนวนเท่าเขาโค