บทที่ ๘ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

 

เรื่องตื้นที่ลึกซึ้งมาก

สมัยก่อน แม้ได้มีประสบการณ์การหลุดพ้นอยู่กับตัวแล้วถึงสองครั้ง แต่ก็ยังคิดว่าเรื่องศีลและบุญกิริยาวัตถุเป็นเรื่องตื้น ๆ ไม่ลึกซึ้งอะไร คิดว่า พระพุทธเจ้าก็สอนให้คนเป็นคนดี เหมือนกับการสอนของศาสนาอื่นที่ล้วนแต่สอนให้คนทำดี แต่เมื่อได้ผ่านประสบการณ์การหลุดพ้นครั้งที่สามมาแล้ว ตอนนี้ สามารถเข้าใจหัวข้อธรรมที่ดูง่าย ๆ ไม่ลึกซึ้งว่าที่จริงมันมีความลึกซึ้งอยู่มากทีเดียว ในแง่ที่เป็นข้อธรรมที่สามารถพาคนไปให้ถึงพระนิพพานอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เพราะเห็นผลมาแล้ว จึงเข้าใจเหตุได้ถึงแก่น ทุกข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็คือเหตุที่จะพาไปสู่ผลคือพระนิพพานโดยตรง แต่คนที่ยังไม่เห็นผลนั้น จะมองเหตุในลักษณะตื้น ๆ อย่างที่เราเคยคิดในทำนองว่าทุกศาสนาก็สอนให้คนทำดี ซึ่งไม่ใช่ความหมายนั้นเลย สอนให้คนทำดี กับ สอนให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นหรือพระนิพพานเป็นคนละเรื่องกัน สอนให้คนหลุดพ้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่ามากและเป็นเรื่องเหนือดี

 

บุญสำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

อย่างเช่นในบุญกิริยาวัตถุ ท่านสอนว่าบุญสำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ฟังดูแล้วเหมือนตื้น ๆ เราไม่เคยนำมาคิดมากเลย เมื่อวานนี้มาอ่านพบอีกกลับเห็นว่านี่เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก เด็ก ๆ ที่สามารถแสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ได้จริง ๆ  ไม่หัวแข็ง ไม่เถียง ยอมลงให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อบิดามารดา ลูกที่เป็นผู้ใหญ่และหาเงินเองได้แล้วต้องไม่ขี้เหนียวไม่คิดเล็กคิดน้อยกับพ่อแม่ ต้องใจกว้าง ถ้ายังเป็นเด็กอยู่ ต้องพยายามเกื้อกูลพ่อแม่ด้วยวิธีอื่น เช่น ช่วยทำงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เด็กคนไหนทำได้เช่นนี้  เด็กคนนั้นจะสามารถสร้างฐานที่แข็งแกร่งมาก อันจะพาตนเองไปนิพพานได้เร็วทีเดียวหากมีองค์ประกอบอื่นช่วย เช่นฝึกสมาธิเป็น เขาจะสามารถเดินตามทางแห่งองค์มรรคได้เร็วมาก

สมัยนี้ เพราะสถาบันสงฆ์เสื่อม ศีลธรรมสอนกันน้อยมากในโรงเรียน ข้อธรรมเหล่านี้ไม่ได้ถูกเน้นอย่างจริงจัง คนฟังแล้วส่วนมากก็ผ่านหูไปโดยไม่ได้เอามาคิดทบทวนอีก ผู้ใหญ่เองก็ทำตัวไม่ให้เด็กเคารพ เด็ก ๆ จึงหัวแข็งขึ้น ไม่อ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนสมัยก่อน จึงไม่มีการสร้างฐานไปนิพพาน น่าเสียดายมาก เพราะนี่เป็นข้อธรรมของฆราวาสอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องเป็นพระหรือเป็นชาววัด ใคร ๆ ก็ทำได้ ทำได้ตั้งแต่เด็ก ๆ   ทำได้เท่านั้น ก็เท่ากับปฏิบัติธรรมที่จะช่วยเกื้อกูลให้คนไปนิพพานอย่างตรงไปตรงมา  

 

บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ

       อีกข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรลึกซึ้ง แต่นี่เป็นข้อธรรมที่ฆราวาสสามารถเอามาปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพานได้ดีทีเดียว คือ เมื่อรู้ว่าตัวเองได้ประกอบอาชีพที่สุจริตแล้ว หรือ ทำงานอะไรก็ได้ที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษแม้จะไม่มีสิ่งตอบแทน แต่ถ้าเอาจริงเอาจัง ไม่เกียจคร้าน ไม่เอาแต่นอน พยายามขวนขวายที่จะทำงานนั้นให้ดีขึ้น เพียงแค่นั้น ก็เท่ากับได้สร้างฐานอันหนักแน่นที่จะพาตนเองไปนิพพานได้เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องการสร้างอุปนิสัยที่อดทน ทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่เหลาะแหละ นิสัยเหล่านี้ หากใครมีแล้ว ก็เป็นบุญกับตัวเองแม้จะยังไม่เคยฝึกเรื่องการทำสมาธิภาวนาก็ตามแต่ หากทีหลังมาเข้าใจเรื่องการฝึกสติปัฏฐานแล้ว คนที่มีนิสัยขวนขวายในกิจที่ชอบนี่แหละจะสามารถไปได้ลิ่วในทางแห่งองค์มรรค ไม่จำเป็นต้องเป็นพระหรือชาววัดเท่านั้นที่ฝึกธรรมข้อนี้ได้ ใคร ๆ ก็ทำได้ เมื่อทำได้ก็เท่ากับสร้างฐานที่หนักแน่นให้ตัวเองที่จะหลุดพ้นได้ในอนาคต

คนขี้เกียจและเอาแต่นอนซึ่งดูแล้วก็ไม่เห็นจะเลวร้ายอะไร โดยเฉพาะคนที่มีฐานะการเงินดี ถ้าเขาจะนอนทั้งชาติ เขาก็ไม่อดตาย เขาจะถามว่าทำไมเขาจะขี้เกียจและนอนมากสักหน่อยไม่ได้หรือ เพราะเขาไม่ต้องขวนขวายก็อยู่ได้กินได้อย่างสบายแล้ว มันก็ถูก ถ้าเขาเล็งไปที่เป้าหมายอันเป็นตัวเงิน เมื่อเขามีเงินแล้ว เขาก็ขี้เกียจและนอนได้ แต่นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดเรื่องเงินเป็นเป้าหมาย ท่านเล็งเอาการหลุดพ้นหรือพระนิพพานเป็นเป้าหมายต่างหาก ฉะนั้น แม้คนจะมีเงินแล้ว หากยังกิน ๆ นอน ๆ ไม่รู้จักหางานที่มีประโยชน์ทำ แม้จะเป็นงานอดิเรกอะไรสักอย่างก็ตาม เมื่อไม่ทำ เขาก็ไม่สามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้ตนเอง คน ๆ นั้นก็ได้แต่เงิน แต่ไม่มีการสร้างบุญเพิ่ม เมื่อบุญเก่าหมด เงินหมด เขาก็ลำบากอีกเพราะความที่ไม่เคยขวนขวายในกิจที่ชอบ

 

ปัญหาของคนทำงานในยุคนี้

ปัญหาของสังคมยุคนี้อยู่ที่ว่า คนส่วนมากที่ออกจากบ้านไปทำงานเลี้ยงชีพทุกวันนั้นมักไม่มีความสุขด้วยเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อ คือ

๑)  ไม่ชอบลักษณะงานของตน อาจจะเป็นงานที่ตนไม่ถนัด ไม่ชอบ หรือไม่รักเลยก็ได้ เมื่อยังหางานที่ชอบ ที่ถูกอุปนิสัยใจคอจริง ๆ ไม่ได้ ก็ต้องทู่ซี้ทำไปก่อน ไม่มีความพอใจในงาน จึงทำอย่างซังกะตาย ไม่ขวนขวาย ไม่กระตือรือร้น  ทำเพราะต้องหารายได้มาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว 

๒) ไม่ชอบคนรอบข้างที่ทำงานด้วย ไม่ชอบสภาพแวดล้อมของที่ทำงานที่มีแต่บรรยากาศของการแข่งขันชิงดีชิงเด่น เลียแข้งเลียขาเจ้านาย ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ แม้งานจะดี แม้ตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ตราบใดที่ยังไม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงนัก ก็อาจจะทนความกดดันจากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไม่ได้ เพราะเลียแข้งเลียขาเจ้านายไม่เป็น จึงอาจจะไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ทำให้หมดกำลังใจ ไม่อยากขวนขวาย ไม่กระตือรือร้น ทำให้ไม่มีความพอใจในงาน

ใครพบปัญหาข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อแล้ว ก็อาจทำให้ชีวิตอับเฉาได้ เพราะคนส่วนมากต้องใช้เวลาครึ่งหนึ่งของช่วงตื่นนอนแต่ละวันอยู่ที่ทำงาน เมื่อไม่มีความสุขกับงานแล้ว ก็น่าเห็นใจมาก ธรรมที่ควรจะปฏิบัติได้อย่างง่ายดายกลับทำไม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะมีอารมณ์ขุ่นมัวขวางกั้นอยู่

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจเจกชนแต่ละคนว่าเข้าใจธรรมะได้มากแค่ไหน ใครที่เข้าใจได้มากก็อาจจจะสามารถแปรเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นในใจตนเอง เช่น อาจเป็นงานที่ไม่ถนัด แต่ก็เปลี่ยนวิถีการมองเสียใหม่ พยายามทำใจให้ชอบ ในกรณีนี้ หากใครฝึกวิปัสสนามาแล้วก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก คนที่ทำงานใช้แรงงานจะฝึกได้ง่าย ตราบใดที่มีการเคลื่อนไหว ที่ต้องใช้มือยกนั่นหยิบนี่ ก็พอแล้ว กำหนดให้ทันปัจจุบันขณะไปเท่านั้น ก็พอแล้ว คนทำงานใช้สมองอาจจะทำยากหน่อย แต่ก็ยังทำได้ ถ้ารู้จักจัดเวลาตนเองให้มีช่วงหยุดคิดบ้าง และมาอยู่กับลมหายใจ หรือ กำหนดอะไรสักอย่าง  

แต่เรื่องการเอาชนะสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายของคนนั้นอาจจะยากกว่ามาก จะต้องใช้ความอดทนและเอาความดีชนะความชั่วเสมอ จะต้องไม่ลดตัวเองไปทำชั่วเหมือนคนอื่น แต่ถ้าหากถึงคราวที่จิตไม่เข้มแข็งพอแล้ว ต้องพิจารณาตัวเองให้ดี หากจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อรักษาสุขภาพจิตและคุณธรรมของตนเองแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การสามารถให้ความเคารพในตัวเองได้ ถ้าเคารพตัวเองไม่ได้แล้ว คน ๆ นั้นก็ไม่มีคุณค่า แม้คนอื่นไม่รู้ แต่ตนเองก็รู้ตัวเองเสมอ หนีตัวเองไม่พ้น 

 

ถ้ารักพระพุทธเจ้าแล้ว เรื่องก็ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องบุญกิริยาวัตถุที่กล่าวมาทั้งสองข้อนี้ เราเพิ่งมาเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้ตอนหลังนี่เอง ใครที่เข้าใจเช่นนี้ได้ ก็ฝึกได้ทันทีแม้จะไม่สามารถเข้าใจศาสนาพุทธในแง่ลึกซึ้งก็ตาม ไม่เป็นปัญหา ทำเช่นนั้นก็ได้บุญแล้ว แต่สังเกตได้ว่า ข้อธรรมส่วนมากของพระพุทธเจ้านั้นมักต้องมีเรื่องปัญญาหรือเรื่องสัมมาทิฏฐิกำกับไว้เสมอ อย่างในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้ ข้อสุดท้ายคือ เรื่องทิฏฐุชุกัมมะ การทำความเห็นให้ตรง คือ ต้องเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อเรื่องมรรค ผล นิพพาน เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อว่านรกมี สวรรค์มี บาปบุญมี เป็นต้น

ฉะนั้น ฆราวาสคนไหนที่แม้จะไม่มีเวลาเข้าวัดบ่อย แต่มีสัมมาทิฏฐิคือเชื่อพระพุทธเจ้า และสามารถปฎิบัติเพียงแค่สองข้อที่เราพูดถึงเมื่อกี้อย่างจริงจังแล้ว เขาสามารถเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้ไม่ยากเลย พูดอย่างนี้แล้ว คนต้องค้านเราแน่ แต่ที่จริง หากใครรักและเชื่อพระพุทธเจ้า และเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมแล้วไซร้ คน ๆ นั้นจะเป็นคนมีศีลมีธรรมอย่างเป็นธรรมชาติมาก ไม่ต้องไปบังคับให้เขารักษาศีลเลย เขาจะกลัวการทำบาปเอง เขาจะมีศีล ๕ อย่างเป็นธรรมชาติและมีอย่างหนักแน่นกว่าคนเข้าวัดบางคนเสียอีก

ศีล ๕ นี่หลวงตามหาบัว หลวงปู่หล้า ท่านบอกเหมือนกันว่า เป็นศีลของพระโสดาบัน ถ้าพูดตามโครงสร้างชีวิตในหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียวของเราแล้ว ใครที่รักษาศีล ๕ ได้ก็เท่ากับเดินไปได้ครึ่งทางของพระนิพพานแล้ว คนที่ยังไม่เห็นพระนิพพาน ถ้าไม่คิดขาดก็มักจะคิดเกิน จะคิดได้อย่างพอดิบพอดีนั้นยาก

 

คนสวนกลัวบาป

       พูดเรื่องการรักษาศีลอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ทำให้นึกถึงคนสวนที่สำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร วันนั้น น้อยให้วันชัยไปรับหมอนวดตาบอดมานวดแผนโบราณให้เราที่บ้าน วันชัยติดงาน มารับหมอนวดกลับไม่ได้ จึงให้คนสวนที่สำนักงานอัยการมารับแทน หมอนวดก็นวดเกินเวลาตั้ง ๑๕ นาทีเห็นจะได้ คนสวนก็มาคอยก่อนตั้ง ๑๕ นาที รวมเวลาเบ็ดเสร็จที่เขาต้องคอยราวกว่าครึ่งชั่วโมง เรารู้สึกเกรงใจมาก และใจจริงก็อยากช่วยเหลือคนจนที่ได้เกี่ยวข้องพบปะด้วยในเมืองไทย เช่น ซื้อของจากแม่ค้า ก็มักต่อขึ้น ไม่ต่อลง หรือ ซื้อของเสร็จ เอาแบ้งค์ใหญ่ให้แล้วก็เดินหนี ไม่เอาเงินทอน นั่งตุ๊ก ๆ นั่งแท็กซี่ ทำผม ให้หมอนวดเหล่านี้ นอกจากจะช่วยอุดหนุนให้เขามีรายได้แล้ว ยังมีโอกาสให้เงินเขาเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เขาควรได้รับ จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะเอาเงินทิปให้คนสวนสักหน่อยที่อุตส่าห์มารับหมอนวดและมานั่งคอยตั้งนาน เสียเวลาเขา ด้วยความตั้งใจที่อยากช่วยคนจนไทยเราจริง ๆ 

คนสวนซึ่งเราก็ไม่รู้จักชื่ออยู่ในวัยเพียง ๓๐ เศษ ๆ เท่านั้น พอเห็นเรายื่นเงินให้ เขาเอี้ยวตัวหนีทันที ไม่ยอมรับ และพูดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากว่า “ผมรับไม่ได้ครับ มันบาป”

        ฟังเพียงเท่านั้น หัวใจรู้สึกอ่อนปวกเปียกไปหมด ซาบซึ้งในศีลในธรรมที่คนแสนจะธรรมดาคนนี้มีในตน นี่คือตัวอย่างของคนไทยเราที่ยังมีความเป็นพุทธอยู่อย่างเต็มภาคภูมิ และยังไม่ถูกลัทธิบริโภคนิยมสะกิดเอา ในขณะที่คนเมืองอาจคิดว่าเงินนิดหน่อยที่เราหยิบยื่นให้เขานั้นเป็นสิทธิที่เขาควรได้ ถ้าเป็นฝรั่ง เขาจะยืนคอยจนกว่าจะได้ทิป จึงยอมไป เพราะมาเสียเวลานั่งคอย แต่คนสวนคนนี้กลับคิดตรงกันข้าม เขาคิดว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบที่เขามีต่อหัวหน้าของเขาโดยตรง เราถึงแม้จะเป็นเพียงเพื่อนของหัวหน้าเขา เขาก็ยังคิดที่จะปฏิบัติต่อเราเหมือนที่เขาต้องทำกับหัวหน้าเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องทำอยู่แล้วโดยไม่เคยคิดว่าจะต้องเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม ฉะนั้น นอกจากจะไม่ได้คิดว่าเป็นสิทธิของเขาที่ควรจะได้เงินนั้นแล้ว ยังคิดไกลกว่านั้นว่า ถ้ารับเงินนั้นแล้วจะเป็นบาปแก่ตัวเอง ความรู้สึกที่กลัวบาปนี้เป็นผลพวงของความเป็นชาวพุทธอย่างเป็นธรรมชาติของเขาโดยตรง

จุดนี้เองที่เราเรียกว่าเป็นศีลธรรมตามธรรมชาติที่เราพูดถึง เป็นศีลธรรมที่เกิดเองโดยไม่ต้องบังคับใจตัวเองเลย คนกลัวบาปเพราะเขาเชื่อเรื่องทำดีได้ไปสวรรค์ ทำชั่วต้องตกนรก เขาเชื่อได้เช่นนี้เพราะเขาเชื่อและรักพระพุทธเจ้านั่นเอง เราจึงบอกว่า ถ้าใครรักและเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจได้เท่านั้นแหละ คน ๆ นั้นได้สร้างฐานที่มั่นคง แข็งแรง เพื่อเตรียมตัวไปนิพพานได้อย่างไกลโขทีเดียว และคนเช่นนี้มักจะอยู่ในหมู่คนจนพื้น ๆ ในเมืองไทยเรา ซึ่งแน่นอน นับวันมีแต่จะน้อยลง แต่เมื่อได้มาสัมผัสด้วยตนเองสักคนเช่นนี้ ก็ทำให้หัวใจอ่อนปวกเปียกด้วยความปีติ ยินดีในบุญกุศลที่เขามีในตัว จึงขออนุโมทนากับคนสวนคนนั้นด้วย ขอให้รักษาและพัฒนาความดีนั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป