อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน

 

บทนำ

 

โดยธรรมชาติของนักเขียนนั้น เมื่อต้องการเขียนหนังสืออะไรสักเล่มหนึ่ง จำเป็นต้องเห็นโครงสร้างทั้งหมดของหนังสือที่ต้องการเขียนนั้น รู้ชัดว่าต้องการถ่ายทอดอะไรให้แก่ผู้อ่าน มีเป้าหมายอะไร เมื่อรู้โครงสร้างทั้งหมดแล้ว จึงค่อยมาเรียบเรียงรายละเอียดในขณะที่เขียนและต้องให้อยู่ในโครงสร้างนั้น ๆ 

ก่อนเขียนใบไม้กำมือเดียวและคู่มือชีวิตนั้น ดิฉันสามารถเห็นโครงสร้างทั้งหมดของหนังสือได้อย่างชัดเจน รู้ชัดว่าต้องการถ่ายทอดอะไรให้แก่ผู้อ่าน และต้องการให้ผู้อ่านบรรลุเป้าหมายอะไร สำหรับหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องที่กลับกันอย่างสิ้นเชิง เป็นหนังสือที่เริ่มเขียนจากรายละเอียดก่อน แล้วค่อยมาเห็นโครงสร้างของหนังสือในภายหลังเมื่อการเขียนได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว

 

ดิฉันกลับมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน ๒๕๔๔ เพื่อเขียนคู่มือชีวิตภาคภาษาไทยจนเสร็จ กลับมาอังกฤษคิดว่าจะแปลหนังสือภาษาอังกฤษของดิฉันที่มีชื่อเรื่องว่า Can a Caterpillar be Perfect? เป็นภาษาไทยตามคำขอร้องของเพื่อนคนหนึ่ง เพราะเห็นว่า มีเนื้อหาที่สามารถช่วยให้นักปฏิบัติธรรมเข้าใจการทำงานของจิตใจได้ดีขึ้น และแล้ว ยังมีคู่มือชีวิตภาคสองที่ยังรอให้เขียนอยู่

แต่เมื่อกลับมาอังกฤษในปลายเดือนมิถุนายน ในขณะที่กำลังอ่านตรวจทานแก้ไขหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียวอยู่นั้น เนื่องจากเพิ่งกลับจากเมืองไทยใหม่ ๆ และมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่น้อยในช่วงสามเดือนนั้น จึงมีความคิดว่า น่าจะบันทึกเหตุการณ์เด่น ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นในขณะที่ความรู้สึกและความทรงจำยังสด ๆ อยู่ มิเช่นนั้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านพ้นไป อาจจะลืม หรือ เมื่อความรู้สึกเปลี่ยนและจางไปตามกฎแห่งอนิจจังแล้ว จะไม่สามารถพูดถึงมันได้อย่างถึงพริกถึงขิงเหมือนตอนที่ความทรงจำยังสดใหม่อยู่  คิดว่าเป็นการบันทึกเอาไว้เล่น ๆ และอาจจะนำมาใช้ได้บ้างเมื่อมีการเขียนหนังสือเล่มต่อไปในอนาคต

การเริ่มบันทึกเหตุการณ์บางอย่างจึงเกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังอ่านแก้ไขใบไม้กำมือเดียวอยู่ เมื่อเริ่มเขียนบันทึกเช่นนั้น การเอ่ยพาดพิงถึงเหตุการณ์ในอดีตจึงเกิดตามมา มีความรู้สึกว่าควรบันทึกเหตุการณ์ในอดีตนั้น ๆ ลงไปด้วย ตอนแรกก็เขียนเพียงพอให้ตนเองเข้าใจเท่านั้น เหมือนเป็นบันทึกย้อนหลังคุยกับตัวเอง จึงใช้สรรพนามว่า “เรา” และใช้วลี “จำได้ว่า” เขียนไปแล้ว รู้สึกเรื่องชักบานปลายมากขึ้นทุกที ถึงจุดนั้นพบว่ากำลังเล่าเหตุการณ์ชีวิตของตนเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ดิฉันเริ่มถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ ในช่วงนั้นยังเหมือนตนเองกำลังเขียนบันทึกย้อนหลังสลับกับมีความคิดอะไรเข้ามาในหัวอันเนื่องกับเหตุการณ์ในขณะนั้น ๆ ก็เขียนไป ไม่ได้คิดว่าจะจับเป็นงานเขียนที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด แต่จำนวนหน้าที่เขียนลงไปก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และบางสิ่งก็มีประโยชน์ต่อผู้อื่นไม่น้อยหากเขามีโอกาสได้อ่าน จึงเริ่มถามตัวเองว่า ถ้าจะให้สิ่งที่เขียนไปทั้งหมดในช่วงนั้นเป็นหนังสือเล่มหนึ่งละก็ ควรจะตั้งชื่อหนังสือเล่มนั้นว่าอะไร ทันทีที่ป้อนคำถามนี้เข้าไปในหัวเท่านั้น คำตอบที่ชัดเจนก็สวนออกมาว่า “อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน”

เพียงได้ยินเสียงในหัวเท่านั้น ดิฉันถึงกับผงะ ตอนนั้นกำลังนั่งบนเก้าอี้เอนใต้ต้นจำปีที่ปลายสวน จึงอดเหลียวซ้ายแลขวาไม่ได้ว่า อาจจะมีใครมาทำเสียงแว่วให้ฟังผิดไปก็ได้ จึงถามอีก คำตอบออกมาเหมือนเดิมทุกประการ ชัดเจนมาก จึงบอกกับตัวเองว่า “บ้าอีกแล้วเรา” ใครจะเขียนหนังสืออย่างนั้นได้ คนจะหมั่นไส้เอา หาว่าเราบ้าแน่ จะเอาอะไรมาอวดให้เขาฟัง ถามตัวเองว่า

“เอ…หรือว่าเราบ้าจริง ๆ ถามใครก็ไม่ได้ด้วย”

หลังจากวันนั้นแล้ว ดิฉันก็ไม่ได้ไปสนใจชื่อเรื่องหนังสือนั้นอีก เพราะรู้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนตามกฎอนิจจัง อีกสามเดือนมาถามใหม่ คงมีชื่อเรื่องใหม่ ๆ มากมายให้เลือกอีก แน่ใจว่าต้องเป็นเช่นนั้น

จากต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงปลายเดือนกันยายนนั้น เป็นช่วงที่ต้องยอมรับว่า ไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งมิใช่เป็นลักษณะนิสัยของดิฉันเลย หากดิฉันจะทำอะไร ก็ต้องรู้ให้ชัดว่า ทำทำไม ทำอย่างไร เมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้เสร็จ แต่ในช่วงสามเดือนนั้น ดิฉันไม่รู้เลยว่าเป้าหมายของสิ่งที่เขียน ๆ ไปควรเป็นอะไร เขียนไปทำไม เป็นภาวะที่สับสนมาก รู้แต่ว่าในหัวถูกกระหน่ำด้วยความทรงจำของอดีตมากมายที่รู้อีกว่าต้องบันทึกเอาไว้ ในช่วงสามเดือนแรกนั้น จึงเป็นการเขียนแบบสลับไปสลับมา จับหัวข้อโน้นบ้าง นี้บ้าง ยุ่งไปหมด วันหนึ่งอาจจะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๕ ปีก่อน สามวันต่อมามีเหตุการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้น เช่นเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายเอาเครื่องบินชนตึกในวันที่ ๑๑ กันยายน จึงละทิ้งเรื่องของอดีต มานั่งเขียนเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นวรรคเป็นเวร พอเขียนเสร็จแล้ว ก็ย้อนกลับไปเขียนเรื่องในอดีตอีก

เพราะไม่มีชื่อเรื่องหนังสือที่ต้องการ เป้าหมายจึงไม่ชัด เขียนไปแล้วก็ไม่รู้ว่าควรไปสรุปอะไรที่ตรงไหน อย่างไร ถ้ามีชื่อเรื่องที่แน่ชัดและตกลงปลงใจด้วย ดิฉันก็จะสามารถเห็นโครงสร้างและวางเป้าหมายอย่างถูกต้อง จะได้เรียบเรียงเนื้อหาในส่วนรายละเอียดให้โน้มไปสู่เป้าหมายนั้น เข้าต้นเดือนตุลาคม ดิฉันยังไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังทำอะไรจริง ๆ มีความรู้สึกเหมือนเหยียบเรือสองแคม อยากไปข้างหน้าก็ไม่รู้เป้าหมายที่ชัดเจน ครั้นจะเดินถอยหลัง ก็เห็นจำนวนหน้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อคนไม่น้อย   และรู้ด้วยว่ามีพลังสิ่งหนึ่งที่ทำให้ต้องเขียนสิ่งเหล่านี้

กลางเดือนตุลาคม ดิฉันถามตัวเองถึงชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง คำตอบออกมาเหมือนกันทุกครั้งว่า “อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน” เป็นความคิดที่ใสแจ๋ว ไม่มีความลังเลสงสัยติดค้างอยู่เลย เหมือนมีคนอื่นเอามาใส่ไว้ในหัวให้ และบอกให้ทำไป ไม่ต้องคิดมาก เถียงมาก แม้ขณะนี้ดิฉันก็ยังยืนยันได้ว่าชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นความต้องการของดิฉันเลย สามารถเลี่ยงไปใช้วลีอื่นที่ลดความรุนแรงและความห้าวหาญในธรรม แต่ไม่ว่าจะพยายามป้อนความลังเลสงสัยให้ตนเองมากเท่าใดก็ตาม ไม่สำเร็จ หนังสือเล่มนี้จะต้องมีชื่อนี้ชื่อเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากจุดนั้นเอง ดิฉันจึงค่อย ๆ ยอมรับชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้ 

หลังจากที่ยอมรับชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้แล้ว ดิฉันเริ่มรู้ว่าจะต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง การเรียบเรียงรายละเอียดของเนื้อเรื่องและหัวข้อต่าง ๆ จึงค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเขียนกระโดดหัวข้ออีกต่อไป ความชัดเจนในเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งเขียนมากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมจึงต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ หรือให้ถูก ควรพูดว่าทำไมจึงถูกดลบันดาลใจให้เขียนหนังสือเล่มนี้มากกว่า จนในที่สุด ดิฉันได้คำตอบออกมาเองว่าทำไมจึงต้องอวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตนอันเป็นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายที่เขียนในระหว่างช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ นี่เอง ส่วนภาคผนวกคือ หัวข้อต่าง ๆ ที่เขียนในช่วงสามสี่เดือนแรกเมื่อมีเหตุการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้น และมีเรื่องที่คิดว่าน่าจะคุยบันทึกเอาไว้

บัดนี้ ดิฉันสามารถมองย้อนกลับและเห็นภาพทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเก้าเดือนนี้ได้อย่างชัดเจน จึงสามารถพูดเรื่องโครงสร้างและเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ได้ 

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การอธิบายสภาวะพระนิพพาน หรือให้ถูกต้อง น่าจะพูดว่า ผู้ที่ดลบันดาลใจให้ดิฉันเขียนหนังสือเล่มนี้ ต้องการให้ดิฉันพูดอธิบายสภาวะพระนิพพานเสียมากกว่า ไม่ต้องถามว่าใครดลบันดาล ดิฉันเองก็ไม่ทราบว่าใคร

 ผู้ที่ยังไปไม่ถึงพระนิพพานนั้น จำเป็นต้องพูดถึงพระนิพพานโดยการอ้างอิงจากตำรับตำราและครูบาอาจารย์ ย่อมไม่รู้สภาวะของพระนิพพานอย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่ถึงนิพพานแล้วเล่า จะพูดถึงพระนิพพานจากประสบการณ์ของตนเองโดยไม่ต้องอ้างอิงตำรับตำราและครูบาอาจารย์อีกต่อไป และตัวหนังสือกับประสบการณ์จริง ๆ นั้นก็เป็นคนละเรื่องกันอีก เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย

แต่ปัญหาใหญ่คือ พระนิพพานเป็นสภาวะที่พูดไม่ออก บอกไม่ได้ ประสบการณ์ของผู้เดินทางที่ไปถึงนิพพานแล้วนั้น เป็นสิ่งที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ยากที่สุด หลายสิ่งหลายอย่างพูดไม่ได้เลย ไม่รู้จะพูดอย่างไร  ฉะนั้น ผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูง หากไม่มีทักษะในการพูด การอธิบาย และการสอนคนมาก่อนแล้ว จะอธิบายและสอนไม่เป็น ดังที่ชาวพุทธที่สนใจธรรมะมากหน่อยจะรู้ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น มีพระอรหันต์มากมายที่สอนคนไม่เป็น เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ส่วนมากก็หายเงียบไปเลย ไม่มีการพูดถึงอีก ส่วนพระอรหันต์ที่สอนคนได้เก่ง คือผู้ที่มีจริตนิสัยหนักไปด้านปัญญา เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น

ยิ่งมาถึงยุคนี้ซึ่งเลยค่อนกึ่งพุทธกาลมาแล้วนั้น คนที่มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังย่อมน้อยลงมาก และคนที่ปฏิบัติจนบรรลุธรรมขั้นสูงสุดย่อมมีน้อยลงไปอีกแทบจะเรียกว่างมเข็มในมหาสมุทรก็ได้ แต่ในส่วนตัวของดิฉันยังอยากคิดว่า คนที่บรรลุธรรมขั้นสูงในหมู่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทน่าจะมีไม่น้อย คำว่า “ไม่น้อย” นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเข็มในมหาสมุทรที่คนส่วนมากคิดว่าอาจจะมีเพียงคนสองคนเท่านั้นโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรากำลังอยู่นี้ น่าจะหมายถึง ๑๐  ๒๐, ๓๐ คนอย่างนี้มากกว่า ส่วนพระอริยเจ้าในระดับต้น ๆ นั้นต้องมีมากกว่าแน่ แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในระดับไหน พระโสดาบันนี่รู้สถานะตนเองไม่ได้ เพราะยังทุกข์มากอยู่ เพราะตราบใดที่ยังมีคนเดินตามทางแห่งองค์มรรคอยู่ มีคนปฏิบัติสติปัฏฐานสี่แล้วไซร้ ย่อมมีคนที่เดินถึงฝั่งพระนิพพานอย่างแน่นอน แต่คนส่วนมากไม่รู้เพราะคนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้นเท่าเทียมกันแล้ว ย่อมตัดสินคนที่มีภูมิธรรมเหนือกว่าไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้ที่เข้าถึงความเป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างถึงที่สุดหรือพระนิพพานแล้วนั้น ย่อมไม่อยากคลุกคลีอยู่กับความสกปรกโสมมของโลกสมมุติ ถ้าเป็นพระสงฆ์องค์เจ้าแล้ว ก็อาจจะปลีกตัวไปอยู่ป่าหรือไม่ก็ใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาจนกระทั่งดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานไปโดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็ได้ ถ้าเป็นฆราวาสก็อาจจะใช้ชีวิตธรรมดาอย่างง่าย ๆ ยุ่งกับคนน้อยที่สุด โดยที่ไม่มีใครรู้ถึงภูมิธรรมที่แท้จริงของท่านเลยก็ได้ ผู้รู้ที่ใช้ชีวิตอย่างซ่อนเร้นเช่นนี้ส่วนมากจะไม่มีทักษะในการสอนคนให้เดินตาม เพราะอย่างที่พูดแล้วว่า พระนิพพานเป็นเรื่องที่พูดไม่ออก บอกไม่ได้ คนที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาแล้ว จะเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาไปหมด แล้วจะมีเรื่องอะไรให้พูดอีก สอนอีก  การสอนคนก็ยังต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ได้สร้างเมตตาบารมีมาพอสมควร คนที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาของชีวิตนั้นจะเห็นแม้ความทุกข์ของมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะตนเองหมดทุกข์แล้ว ถ้าไม่ได้สร้างเมตตาบารมีมาแล้ว ก็โน้มไปสู่การไม่สอนคน ก็ไม่ผิดอะไร เพราะได้ทำหน้าที่ต่อตนเองสำเร็จลุล่วงแล้ว

ผู้รู้ที่กล้าประกาศตนเองว่ารู้ธรรมขั้นสูงนั้น จึงเหลือน้อยมาก และในจำนวนน้อยมากนั้น คนที่สามารถพูดอธิบายถึงสภาวะพระนิพพาน หรือถ่ายทอดประสบการณ์ของพระนิพพานอย่างชัดเจนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก พระสงฆ์องค์เจ้าที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาทางโลกเลย เมื่อได้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้วและมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างมหันต์นั้น เมื่อถึงเวลาสอนคน ท่านยังถนัดที่จะพูดหรือเทศน์ไปตามประเพณีที่สืบทอดกันมา คือใช้ภาษาพระที่ตนถนัด สำหรับผู้รับนั้น การพูดสอนตามประเพณีนั้นอาจจะเหมาะสมกับคนกลุ่มหนึ่งที่มีจริตนิสัยคล้ายคลึงกับผู้ให้ แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับคนที่จริตนิสัยต่างออกไป จึงเข้าใจไม่ได้ โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่ห่างไกลศาสนาด้วยแล้ว จะฟังภาษาพระไม่รู้เรื่องเอาเลยแม้คำง่าย ๆ ก็ตาม ไม่มีผู้รู้คนไหนที่สามารถสอนคนให้เห็นธรรมด้วยวิธีเดียวกันหมด แม้พระพุทธเจ้าเอง ทุกครั้งที่ท่านจะสอน ท่านยังต้องสอนเล็งไปคนที่พร้อมจะบรรลุธรรมแล้ว

 แต่สิ่งที่เด่นออกมาในตัวท่านผู้รู้คือ ท่านจะมีความห้าวหาญในธรรมที่ท่านได้รู้เห็นประสบมาแล้ว แม้จะไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกหรืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ท่านก็ยังสามารถพูดธรรมะขั้นสูงได้ ความห้าวหาญในธรรมที่พูดนั้นเป็นคุณสมบัติที่มีในท่านผู้รู้เท่านั้น คนที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมอย่างแท้จริงจะไม่มีความกล้าหาญเช่นนั้น

ฉะนั้น คนที่เข้าถึงธรรมขั้นสูงด้วย ประกอบกับการมีพื้นฐานการศึกษาทางโลกมาก่อนด้วย และมีความสามารถในการเขียนอย่างเป็นระบบด้วย เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกันได้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดคุณสมบัติเด่นขึ้นมาในแง่ที่ว่า ผู้รู้นั้นจะสามารถพูดเรื่องเป้าหมายของชีวิต หรือเรื่องนิพพานที่พูดได้ยากมากให้คนเข้าใจได้ดีขึ้น ชัดขึ้น จะสามารถบอกทางไปสู่พระนิพพานได้ชัดเจนขึ้น  นอกจากนั้น ผู้รู้เช่นนี้ ยังสามารถวางระบบการสอนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่เด่นชัดให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินตามเพื่อไปถึงพระนิพพาน อย่างน้อยก็แก่กลุ่มคนที่มีจริตนิสัยคล้ายคลึงกัน การสามารถเข้าใจข้อธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะสภาวะพระนิพพานนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับผู้ปรารถนาพระนิพพาน เหมือนกับบอกให้คนรู้จักหน้าตาบ้านของตนเอง จึงกลับเข้าบ้านตัวเองถูก ไม่เช่นนั้นก็เข้าบ้านของตัวเองไม่ได้สักที

  ถ้าเปรียบพระนิพพานเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งที่คนไม่รู้จักเลยนอกจากคนท้องถิ่นเท่านั้น และเมืองนี้ไม่มีป้ายเขียนประกาศให้คนเดินทางได้รู้เหมือนกับเมืองที่ทำด้วยอิฐปูนทั่วไป  คนเดินทางอาจจะไปยืนอยู่กลางใจเมืองนั้นแล้ว แต่เพราะไม่มีป้ายเขียนบอก คนเดินทางจึงไม่รู้ว่าถึงแล้ว ยังเอี้ยวคอหาอยู่ว่าเมืองนั้นอยู่ที่ไหนหนอ จะรู้ได้ก็โดยการถามคนท้องถิ่นเท่านั้น คนท้องถิ่นของเมืองนิพพานก็คือผู้รู้นั่นเอง ฉะนั้น สำหรับคนเดินทางที่ต้องการไปให้ถึงเมืองนิพพานนั้น หากได้คนท้องถิ่นมาบอกทางให้ย่อมได้เปรียบกว่าการไปนั่งงมทางเองหรือไปฟังคนที่ไม่ใช่เป็นคนของท้องถิ่น เพราะนอกจากคนท้องถิ่นแล้ว คนภายนอกจะรู้ไม่ได้เลยว่าเมืองนิพพานมีหน้าตาอย่างไร   

  หนังสือเล่มนี้คือ การใช้ความสามารถที่ได้รับจากระบบการศึกษาทางโลก การรู้จักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ประกอบกับมีนิสัยที่รักการขีดเขียน รู้จักการใช้ภาษาและการเปรียบเทียบของคนร่วมสมัย จึงสามารถอธิบายสิ่งที่ฟังยากอย่างเรื่องนิพพานให้เป็นเรื่องง่าย ประจวบกับการได้กลายมาเป็นคนท้องถิ่นเสียเอง คุณสมบัติเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ดิฉันสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยบอกทางให้คนเดินทางไปถึงเมืองนิพพาน

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง เริ่มจากการเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่ได้มาถึงเมืองนิพพานในสองครั้งแรกของชีวิตเมื่อสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่เพราะเป็นเมืองที่ไม่มีป้ายชื่อบอกไว้ จึงไม่รู้ กลับออกมาเป็นคนเดินทางที่งมหาทางเพื่อไปให้ถึงเมืองนิพพานอีก จนกระทั่งมาถึงเมืองเดียวกันนั้นอีกในครั้งที่สามอีก ๒๑ ปีต่อมา ครั้งนี้ จึงมีการสำรวจเมืองอย่างถี่ถ้วนเหมือนการเดินเข้าไปในทุกถนน ตรอก ซอก ซอย ของเมืองใหม่ที่มาถึงนี้ เพื่อดูให้ชัดว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คงจะอยู่ที่การสำรวจประสบการณ์พิสดารทางใจของตนเองในครั้งที่สามซึ่งมาถึงบัดนี้ก็เข้าปีที่ ๕ แล้ว เป็นการสำรวจสภาวะพระนิพพานอย่างถี่ถ้วน โดยพูดถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ๙ เดือนที่เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่นั้น การเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อนมากได้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีโอกาสได้เขียนหนังสือเล่มนี้ การสังเกตตนเองอย่างจริงจังจึงเกิด  จนถึงบัดนี้มีความแน่ใจว่านี่ต้องเป็นเมืองนิพพานอย่างแน่นอน  จนเกิดความกล้าหาญชาญชัยที่จะเป็นไก๊ดรับอาสาพาคนออกจากสังสารวัฏเพื่อไปให้ถึงเมืองนิพพาน  

  หนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านในหลายระดับ ผู้ที่จะรับประโยชน์อย่างสูงสุดจากหนังสือเล่มนี้เห็นจะเป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานสี่อยู่ และถ้าเป็นปัญญาชนที่ถนัดฟังการเปรียบเทียบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้าใจสภาวะและข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ ที่ได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ได้ดีที่สุด 

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาแต่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของหญิงแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่งผู้ปรารถนาพระนิพพานอย่างแรงกล้า จึงพยายามใช้ชีวิตให้อยู่ในร่องแห่งธรรมจนบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต แม้ผู้อ่านจะยังไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็ยังอาจได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ อาจจะอยากเจริญรอยตามชีวิตของผู้เขียนบ้าง สิ่งที่ดิฉันได้บอกนักศึกษาของดิฉันอยู่เสมอคือ ถ้าหากดิฉันทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทุกคนต้องทำได้เช่นกัน เพราะดิฉันไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย การไปให้ถึงเมืองนิพพานมิใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัยของมนุษย์ ต้องมองให้ออกว่านี่คือหน้าที่โดยตรงของมนุษย์ คนทุกคนล้วนมีหน้าที่ต่อตนเอง ที่จะต้องพาตนเองไปให้ถึงเมืองนิพพานให้ได้ในที่สุด จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม คนที่รู้เร็วหน่อยก็เรียกว่ามีบุญบารมี โชคดีมาก ก็สามารถเริ่มเดินทางได้เลย คนที่รู้ช้า ก็เริ่มการเดินทางได้ช้า ถ้าไม่รู้เลย การเดินทางก็ไม่เกิด

ดิฉันไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำได้ แต่ก็ทำได้แล้ว ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตั้งความปรารถนาพุทธภูมินั้น ท่านก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรา การตั้งความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์นั้นเป็นก้าวแรกของการเดินทางออกจากสังสารวัฏอย่างถาวรนั่นเอง ต้องอย่าลืมว่า ถนนวงแหวนแห่งสังสารวัฏนั้นไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ มันจึงเป็นถนนที่ยาวมาก คนที่ไม่รู้เรื่องนิพพาน ไม่ประสีประสาต่อธรรมเลยนั้น จึงต้องท่องเที่ยวอยู่ในถนนวงแหวนของสังสารวัฏอีกนานมาก จนกว่าจะมีบุญบารมีมากพอที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาอีก ซึ่งบัดนี้ คุณก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วและพบพระพุทธศาสนาแล้ว การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เท่ากับได้พบคนบอกทางไปนิพพานให้แล้ว จะต้องไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้พลาดไปอีก และเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราจึงควรตั้งความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า ถ้าหนังสือเล่มนี้สามารถทำให้ผู้อ่านตั้งความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์แล้วไซร้ แม้คุณจะคิดว่าตนเองเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีความสามารถอะไรเลยก็ตาม ความปรารถนาที่คุณได้ตั้งนั้นจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะพาคุณไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ได้ในที่สุดอย่างแน่นอน

หากคุณไม่สามารถเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้อย่างถ่องแท้ ก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำตามสิ่งที่ดิฉันได้แนะนำไว้ในคู่มือชีวิตเท่านั้น จะมีสักวันหนึ่ง ที่คุณต้องออกจากสังสารวัฏนี้ได้อย่างถาวร อันนี้ดิฉันรับประกันให้ได้    

 สำหรับผู้ที่ยินดีจัดตนเองอยู่ในประเภทบัวใต้น้ำ ไม่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเพราะเห็นเป็นเรื่องงมงาย จัดตนเองเป็นปัญญาชนที่บูชาการคิดนึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เห็นอุดมคติในเรื่องนิพพานเป็นเรื่องไกลเกินตัวหรือไม่ก็เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตนเลย หนังสือเล่มนี้ก็ยังมีเนื้อหาที่ท้าทายปัญญาชนประเภทบัวใต้น้ำให้เริ่มมองพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน การใช้คำพูดที่รุนแรงและเฉียบขาดในหนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยให้คนกลุ่มนี้เริ่มคิดแสวงหาตนเอง เริ่มถามคำถามที่ควรถาม และขยับฐานะจากบัวใต้น้ำมาเป็นบัวปริ่มน้ำในอนาคตก็ได้ จึงควรให้โอกาสแก่ตนเองอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างถี่ถ้วนเสียก่อนโดยเฉพาะหัวข้อที่อธิบายสภาวะพระนิพพานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ส่วนผู้ที่เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้แล้วเกิดความหมั่นไส้ คิดว่าผู้เขียนเป็นประเภทหลงตัวเอง ไม่หยิบอ่านเลย หรือคนที่หยิบอ่านแล้ว แต่อ่านเท่าไรก็ไม่รู้เรื่อง ก็คงไม่มีอะไรให้พูดมาก เป็นเรื่องบุญบารมีของแต่ละคนที่ได้ร่วมสร้างกันมา คนที่ไม่ได้ร่วมสร้างบารมีกับดิฉันมา แม้อยากช่วย ก็คงช่วยไม่ได้ แต่คนอื่นอาจจะช่วยได้หากได้สร้างบารมีร่วมกันมา จึงขออวยพรให้คนกลุ่มนี้สามารถหาครูบาอาจารย์ที่เหมาะสมกับจริตนิสัยของตนเอง

ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้คงจะทำประโยชน์แก่กลุ่มคนดังกล่าวข้างต้นได้ไม่มากก็น้อย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ต่อตนเองให้ดีที่สุด

 

ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน

๒๕ มีนาคม ๒๕๔๕

เบอร์มิ่งแฮม อังกฤษ