บทที่หนึ่ง ประสบการณ์พิสดารทางใจครั้งแรก

 

ทุกข์มาก

                   หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราเป็นนักศึกษาปีหนึ่งของธรรมศาสตร์ จำได้ว่า ทั้ง ๆ ที่ทรราษฎ์ก็ถูกขับไล่ออกนอกประเทศแล้ว นักศึกษาล้วนชื่นชมยินดีต่อบรรยากาศที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานอยู่ทั่วประเทศไทย แต่เรากลับรู้สึกว่า มีบางสิ่งที่รบกวนจิตใจอยู่ลึก ๆ

การอยู่ธรรมศาสตร์ในช่วงนั้นทำให้เราคิดได้กว้างขึ้น คิดเป็น นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสมองสำหรับผู้เพิ่งสลัดชุดนักเรียนออกหมาด ๆ  มีโอกาสไปออกค่าย สร้างโรงเรียนให้แก่เด็กชนบทที่โคราช ไปร่วมอบรมลูกเสือชาวบ้านที่นครปฐม ได้สัมผัสกับชีวิตของชาวบ้านในชนบท เริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างของชนชั้น เห็นความทุกข์ของคนจนที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงปากท้อง ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ รู้สึกทุกข์มากที่รู้ว่าคนจนมากมายต้องใช้ชีวิตที่ลำบากลำบนเช่นนั้นตลอดชั่วชีวิตเขา ประจวบกับการเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวตัวเองและเรื่องส่วนตัว การตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดของชีวิตจึงเกิดขึ้น คนเราเกิดมาทำไม? เพื่ออะไร? ความหมายที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่ไหน? นี่เป็นคำถามที่ใหญ่มากสำหรับหญิงสาววัย ๑๙ ปี เมื่อตอบให้ตนเองไม่ได้ เมฆหมอกแห่งความรู้สึกต่าง ๆ จึงโหมกระหน่ำใจเหมือนกำลังแบกศิลาก้อนมหึมาที่หนักหน่วงไว้ในอกตลอดเวลา ไม่รู้จะทำอะไร อย่างไร จึงจะทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นบ้าง 

                  

อยากรู้จักพระพุทธเจ้า

                   เมื่อความทุกข์เข้ามาเบียดเบียน รู้สึกมืดแปดด้าน ไม่สามารถคุยกับใครหรืออ่านหนังสือเล่มใดที่ช่วยคลายทุกข์ได้ วันหนึ่ง คงจะเป็นฤดูร้อนของปี ๒๕๑๗ ตั้งใจเดินไปวัดพระแก้ว รู้สึกอยากเข้าไปนั่งในโบสถ์ เพื่อหลบร้อนหนึ่งและคิดว่าความเงียบสงบของโบสถ์อาจจะช่วยทำให้จิตใจเบาขึ้นบ้าง ไปนั่งจ้องเพ่งมององค์พระแก้วมรกตอยู่นาน คุยกับท่านอยู่ในใจว่า เรารู้นะ ความทุกข์ของเรา พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ช่วยเราได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าท่านจะช่วยได้อย่างไร มากราบมาไหว้ท่านเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้เราคลายทุกข์ได้สักเท่าไร บอกกับท่านว่าอยากรู้จักท่านให้มากกว่านี้ มากกว่าเป็นเพียงรูปปั้นให้เรากราบไหว้บูชาเท่านั้น ขอให้ช่วยลูกได้รู้จักท่านจริง ๆ ด้วยเถิด ไม่รู้ว่านั่งนานเท่าไร จำได้แต่ว่า เมื่อเดินออกจากวัดพระแก้ว เราก็ยังแบกทุกข์ก้อนเดิมไว้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ รู้สึกอย่างรุนแรงว่าต้องรู้จักพระพุทธเจ้าองค์จริงให้ได้

 

พบหนังสือมองด้านใน

                   คิดว่า หากต้องการรู้จักพระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็ต้องอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่รู้ว่าควรอ่านหนังสืออะไรที่จะทำให้รู้จักท่านได้ เพราะอ่านหนังสือธรรมะทั่วไปแล้วไม่รู้เรื่อง คำพระที่ฟังมาตั้งแต่เด็ก ฟังแล้วก็ผ่านหูไป ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน มันไกลเกินตัว ไม่เข้าใจ แต่ก็รู้สึกรักพระพุทธเจ้า จำได้ว่า ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว ชอบวิชาศีลธรรมมากเพราะมีบทที่เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า ชอบอ่านประวัติของท่านมาก ทำให้มีความสุขและเกิดความรู้สึกว่าท่านเป็นบุคคลที่เราพึ่งได้แน่นอน จึงเข้าห้องสมุดหาหนังสือประวัติของพระพุทธเจ้าอ่านเพื่ออยากได้ความรู้สึกเก่า ๆ ในสมัยเด็ก ๆ กลับคืนมา หวังจะเอาความรู้สึกที่อบอุ่นนั้นมาเป็นที่พึ่งทางใจ จะได้คลายทุกข์บ้าง

วันหนึ่ง เดินสวนกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่ประตูด้านท่าพระจันทร์ พี่เห็นเราหอบหนังสือประวัติพระพุทธเจ้าอยู่ จึงถามว่า “น้องศุภวรรณสนใจศาสนาพุทธหรือ” เราตอบไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรสนใจหรือไม่ ในช่วงนั้น ยังรู้สึกว่าศาสนาพุทธเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของพระที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา รู้อยู่อย่างเดียวว่า อยากรู้จักพระพุทธเจ้าเท่านั้น รุ่นพี่คนนั้นจึงยื่นหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ ให้สองเล่ม เป็นชุด มองด้านใน ของท่านอาจารย์พุทธทาส เราไม่เคยได้ยินชื่อของพระรูปนี้ แต่พอเอาไปอ่านแล้วก็ชอบใจมาก เพราะท่านบอกว่า ที่สวนโมกข์นั้นท่านพยายามทำบรรยากาศให้เหมือนกับครั้งพุทธกาล เพราะพระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ สั่งสอนสาวกใต้ต้นไม้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ใต้ต้นไม้เช่นกัน ฉะนั้น การมาอยู่ในบรรยากาศป่าของสวนโมกข์นั้นก็เท่ากับการได้เข้าใกล้ชีวิตของครั้งพุทธกาล แม้จะยังไม่เข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสเลย แต่การที่ท่านพูดเช่นนั้นทำให้รู้สึกว่าเราสามารถเข้าใกล้พระพุทธเจ้าได้หากมีโอกาสได้ไปเห็นและอยู่ในบรรยากาศของสวนโมกข์ จึงมีความฝันตั้งแต่นั้นมาว่าจะต้องไปสวนโมกข์ให้ได้

พบอาจารย์ไสว แก้วสม

ช่วงที่รอโอกาสอยู่นั้น ก็เริ่มสนใจอ่านหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสมากขึ้น พอเริ่มรู้จักพระองค์นี้ จึงรู้ว่าท่านเป็นพระที่ดังมาก ก่อนหน้านั้น ได้เห็นชายวัยสี่สิบคนหนึ่ง มักจะมาพูดปาว ๆ  อยู่ข้างหอประชุมเล็ก ใกล้ตึกคณะสังคมวิทยาที่เราเรียนอยู่ แต่ก็ไม่เคยสนใจฟัง เพราะจากท่าพระจันทร์ จนถึงสนามหลวงในยุคนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของเสรีภาพทางการเมือง ใครอยากพูด อยากอภิปราย หรือวิจารณ์ใคร ในเรื่องอะไร ก็ทำได้อย่างเสรี จะมีคนฟังหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง

บ่ายของเสาร์วันหนึ่ง เราเดินผ่านหอเล็กเพื่อไปที่คณะ เห็นชายคนนี้กำลังพูดอยู่เหมือนที่เห็นมาทุกอาทิตย์ พูดอย่างกระตือรือร้น ถึงพริกถึงขิงดี คนฟังก็มีพอสมควร ไม่ได้ตั้งใจจะหยุดฟัง เพราะคิดว่าคงเป็นเรื่องด่านักการเมือง แต่พอดีได้ยินคำว่า จิตว่าง จึงหยุดเดินทันที หันไปฟังสักหน่อยว่าเขาพูดอะไร พอมานั่งฟังเข้าจริง ๆ จึงรู้ว่า ชายคนนี้ชื่อ อาจารย์ไสว แก้วสม กำลังอธิบายธรรมเรื่องจิตว่างของท่านอาจารย์พุทธทาสนั่นเอง จะว่าเป็นโฆษกของสวนโมกข์ในยุคนั้นก็น่าจะได้ และเพราะท่านอาจารย์พุทธทาสในช่วงนั้น ก็ได้พูดเรื่องธรรมิกสังคมนิยม อันเป็นระบบการปกครองประเทศที่เอาธรรมเข้ามาบริหาร การบรรยายธรรมของอาจารย์ไสวจึงเป็นเรื่องธรรมะปนการเมืองที่ท่านสามารถพูดได้อย่างถึงพริกถึงขิง เข้ากับบรรยากาศของธรรมศาสตร์ที่มีเสรีภาพอยู่ทุกหย่อมหญ้าได้ดีทีเดียว 

จากวันนั้นเอง เราก็ได้กลายเป็นลูกค้าประจำของ อาจารย์ไสว แก้วสม เหมือนคนแถวนั้นอีกมากมาย ก่อนหน้านั้น เราคิดว่า แนวคิดสังคมนิยมเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางเดียวของสังคมจนตั้งความปรารถนาไว้ในใจว่าจะทุ่มเทชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียเปรียบของสังคม แต่พอมาฟังเรื่องธรรมะปนการเมืองของอาจารย์ไสวแล้ว จึงค่อย ๆ เรียนรู้ว่าที่จริงยังมีทางออกอีกทางหนึ่ง และรู้สึกได้อีกว่า สิ่งนี้น่าจะมีคุณค่าสำหรับชีวิตมากกว่า นอกจากนั้น จากการฟังการบรรยายของอาจารย์ไสวทุกอาทิตย์นั้นทำให้สามารถเข้าใจธรรมเรื่องจิตว่างของท่านอาจารย์พุทธทาสได้ดีขึ้น เริ่มเรียนรู้ว่าศาสนาพุทธสอนให้คนพ้นทุกข์นี่เอง ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ ก็ต้องพยายามเรียนรู้เรื่องจิตว่าง จึงเริ่มมองออกว่าที่จริงแล้ว ศาสนาพุทธเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เริ่มเห็นทางออกที่รำไรให้แก่ชีวิตแล้ว

 

ไปสวนโมกข์ครั้งแรก

พอดีเป็นช่วงเวลาที่ได้เขียนสมุดบันทึกไว้ จึงรู้ได้ชัดเจนว่า หลังจากที่ได้ไปร่วมงานเผาศพวีรชน ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ แล้ว ก็เตรียมตัวสอบ เมื่อสอบเสร็จก็ยุ่งอยู่กับการเตรียมงานไปสงขลาของชุมนุมปาฐกถาโต้วาที เพื่อไปโต้วาที เล่นลิเกการเมือง และการแสดงอื่น ๆ ตามวิทยาลัยต่าง ๆ ในจังหวัดภาคใต้ ออกจากกรุงเทพหกโมงครึ่ง ของวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ สวนโมกข์เป็นจุดแรกที่จะจอดพักค้างคืน พอดีรถเสียถึงสองครั้งแถวชุมพร กว่าจะถึงสวนโมกข์ก็สี่ทุ่มครึ่งแล้ว บันทึกไว้ว่า เส้นทางที่จะเข้าถึงสวนโมกข์นั้นลึกมาก จำได้ว่า แม้จะมืดมาก แต่เมื่อได้เดินเข้าไปในบรรยากาศของป่า ได้สูดอากาศที่เยือกเย็นและเป็นธรรมชาติของป่าในบริเวณลานหินโค้งครั้งแรกนั้น จิตใจเราปริ่มด้วยปีติอย่างบอกไม่ถูก อยากจะให้สว่างเร็ว ๆ จะได้เห็นสวนโมกข์อย่างเต็มตา พระท่านพาพวกเราผู้หญิงไปพักอยู่ที่เรือนชั้นล่างของบ้านอุไรวรรณ บอกพวกเราว่า จะมีการตีระฆังตอนตีสี่ ใครตื่นไหวก็ลุกขึ้นมาทำวัตรเช้า พวกเราต้องเข้านอนทันทีเพราะดึกมากแล้ว

เรานอนเพ่งสายตาเข้าไปในความมืด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตาก็มืดเท่ากัน ไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนั้นมาก่อน หัวใจเต้นแรงเป็นบางครั้งด้วยความตื่นเต้น นอนรอเสียงระฆัง ไม่ได้หลับนานเลย ในบันทึกบอกว่า ตื่นตีสามครึ่ง เพื่อเตรียมตัวไปทำวัตรเช้า เราตื่นเป็นคนแรก รอเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ตื่นกัน แล้วพวกเราก็หาทางไปที่ลานหินโค้งตามที่พระท่านบอก มีแต่ไฟฉาย เดินหาทางไปในความมืด ปรากฏว่าหลงทาง เดินมาถึงบริเวณที่มีคนงานทำงานขุดถนนอยู่ (ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างถนนสายเอเซียผ่านหน้าสวนโมกข์) ในที่สุด ก็มีชาวบ้านพาพวกเราเดินไปถึงบริเวณลานหินโค้ง กว่าจะเดินถึงพระท่านก็เริ่มสวดมนต์กันแล้ว

เรานั่งพนมมือฟังพระท่านสวดมนต์แปลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อนในชีวิต ฟังแล้วรู้สึกดื่มด่ำ ไพเราะมาก หัวใจเปี่ยมด้วยปีติ มีความรู้สึกว่า นี่แหละ เราได้เข้ามาสัมผัสพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าก็เคยอยู่อย่างนี้แหละ นี่คือป่าของสวนโมกข์ที่เราได้ฝันว่าอยากจะมาให้ได้มาหลายเดือนแล้ว หลังจากพระท่านสวดมนต์แปลเสร็จ ท่านก็ปิดไฟ ลานหินโค้งจึงมืดสนิทอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีเสียงจากผู้คนที่นั่งอยู่แถวนั้นเลย นอกจากเสียงป่าและดอกไม้ป่าที่ส่งกลิ่นหอมตลบอยู่ในบริเวณนั้น

ในช่วงนั้น เราไม่เข้าใจว่าการทำสมาธิต้องทำอย่างไรจริง ๆ แต่ก็รู้สึกได้ว่าในขณะที่นั่งอยู่ในความมืดสงัดของป่าในลานหินโค้งนั้น ใจของเราเงียบสงบอย่างประหลาด เป็นความสงบเงียบอย่างรุนแรง ไม่เคยสัมผัสความรู้สึกที่สูงส่งเช่นนี้มาก่อน เห็นได้ชัดเองว่ามันประเสริฐ์และต่างจากก้อนทุกข์ที่เคยแบกไว้อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จึงรู้เองว่าประสบการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่เราต้องการ นี่คือสิ่งที่เราได้แสวงหาอยู่และอยากเรียนรู้มากขึ้น เหมือนกับหาคำตอบให้แก่ชีวิตได้แล้วทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รู้อะไรมากเลย

  เราสามารถนั่งหลับตาโดยไม่กระดิกกระเดี้ยได้นานพอสมควร จนนกเริ่มออกเสียงคุยกันจุ๊กจิ๊กเจี๊ยวจ๊าว เมื่อลืมตาอีกครั้งหนึ่ง ก็สามารถเห็นต้นไม้ เมื่อมองลอดต้นไม้สูง ๆ ในบางช่วงก็เห็นแสงรำไรบนท้องฟ้า ในที่สุด ภาพของลานหินโค้งก็ชัดเจนขึ้น เห็นพระท่านอยู่ด้านบนของลานหินโค้ง มองท่านแล้วรู้สึกท่านเล็กลงมากอย่างถนัดใจเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งรอบข้างของลานหินโค้งนั้น ใจเปี่ยมด้วยปีติ เป็นสุขอย่างยิ่ง

บันทึกของเราบอกว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสออกมาเทศน์ให้พวกเราฟังในหัวข้อ “ภาษาการเมือง” ท่านเทศน์นานพอสมควรแล้วบอกว่า “เวียนศรีษะ” จึงเลิกเทศน์ ได้พบผู้หญิงสองคนมาบวชแก้บนที่สวนโมกข์ ได้บรรยายความรู้สึกของตนเองว่าจะต้องกลับมาสวนโมกข์อีกให้ได้

 จำได้ว่า หลังจากออกจากสวนโมกข์ในสายของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน นั้น เราเงียบลงเป็นช่วง ๆ ไม่ค่อยอยากพูดอะไรกับใครนัก ในหัวเต็มไปด้วยความคิดแห่งการแสวงหา อยากได้ความเงียบสงบของใจที่ดื่มด่ำอย่างลึกซึ้งของเช้าวันนั้นกลับมาอีก จำได้ว่า มีวันหนึ่งใกล้จะสิ้นสุดการทัวร์ภาคใต้แล้ว พวกเราเดินทางมาถึงหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นบ้านของอู๊ด (จุรินทร์) พระเอกลิเกจันทรโครพที่เราเล่นประกบมาตลอดในระหว่างทัวร์ภาคใต้นั้น อู๊ดบอกว่าคุณแม่เขาจะทำอาหารเลี้ยงพวกเราในคืนนั้น ในขณะที่คนอื่นสาละวนอยู่กับการช่วยเตรียมอาหารอยู่นั้น เราปลีกตัวไปเดินที่หาดท้ายเหมืองคนเดียว

ในบันทึกบรรยายไว้ว่า “ไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนในชีวิต สวยมาก ตอนนั้นพระอาทิตย์จะตกดินแล้ว หาดก็ยาวสุดลูกหูลูกตา เป็นทรายตลอด หาก้อนหินสักก้อนเดียวก็ไม่มี น้ำที่ซัดเข้ามาเป็นระลอกคลื่นก็ดูมีระเบียบและแรงมากด้วย ท้องฟ้าขณะนั้น เป็นสีทอง ส้ม เรานอนลงบนหาดทรายนั้นคนเดียว แหงนหน้ามองท้องฟ้าซึ่งเป็นสีฟ้าเข้มมาก พระจันทร์ครึ่งเสี้ยวกำลังจะขึ้น ดูแล้วช่างมีความสุขเหลือเกิน เห็นพระอาทิตย์ค่อย ๆ ลับหายไปในทะเลจนหมดดวง ท้องฟ้าแถบนั้นจึงมีสีส้มเป็นชั้น ๆ สวยมาก เสียงคลื่นจากทะเลก็พัดอยู่ตลอดเวลา แล้วอี้ก็ตะโกนจากไกล ๆ เรียกเราไปกินข้าว ไม่อยากลุก เสียดายภาพที่เห็นอยู่ข้างหน้า แต่ก็ต้องลุกขึ้น มนตรีเดินเข้ามาหาถามว่า พี่เหง็งเป็นอะไรหรือเปล่า เห็นเงียบไป ….

 

 กลับไปสวนโมกข์อีก

กลับจากทัวร์ภาคใต้ครั้งนั้น เราได้สมัครเป็นสมาชิกของชุมนุมพุทธ เพราะเห็นป้ายติดประกาศในมหาวิทยาลัยว่า ชุมนุมพุทธจะพาสมาชิกไปสวนโมกข์เพื่อฉลองสิ้นปี ๒๕๑๗ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๑๘ เราจึงสมัครไปทันที ครั้งนี้ ไม่ชวนเพื่อนสนิทคนไหนไปเลย อยากไปคนเดียว พี่ละเอียดเป็นประทานชุมนุมพุทธและเป็นหัวหน้าพาสมาชิกไปสวนโมกข์ในครั้งนั้น ในขณะที่นั่งรถไฟลงสวนโมกข์นั้นเอง ไม่รู้จักใคร จึงนั่งฟังรุ่นพี่คุยธรรมะและสวนโมกข์ ได้ฟังเขาเอ่ยชื่ออาจารย์โกวิทบ่อยมาก มีรุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่ง คุยธรรมะได้เก่งมาก เราฟังอย่างตั้งใจ รู้สึกทึ่งในตัวพี่คนนี้มาก คิดในใจว่าพี่คนนี้ต้องปฏิบัติไปได้ไกลมากแล้ว จึงพูดเช่นนั้นได้ ฟังไปก็มองออกนอกหน้าต่างรถไฟ เห็นแต่ความมืดสนิทของท้องฟ้า แต่ข้างหน้าต่างรถไฟมีตัวหิ่งห้อยบินเกาะกันเป็นกลุ่ม ส่งแสงระยิบระยับ สวยมาก จึงยืนข้างหน้าต่างรถไฟ ดูแสงหิ่งห้อยเพลินสลับกับการมองท้องฟ้าที่มืดมิดถูกประดับประดาด้วยดวงดาวนับไม่ถ้วน อันเป็นภาพที่คนเมืองมักไม่ค่อยได้เห็น ใจหวั่นไหวด้วยปีติ รู้สึกเป็นสุขมากที่ได้อยู่ท่ามกลางคนที่พูดธรรมะและได้ดมกลิ่นอายของชนบทและธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง

 การมาสวนโมกข์ครั้งนี้ เรามีเวลาเป็นตัวของตัวเองมาก เดินป่าคนเดียว ใช้เวลาไม่น้อยในโรงมหรศพทางวิญญาณ ฟังพระท่านอธิบายภาพ ฟังแล้วฟังอีก มีพระรูปหนึ่งชื่อท่านพยอม อธิบายภาพต่าง ๆ ได้เก่งมาก ฟังแล้วสนุก ไม่เบื่อเลย

และแล้ว พวกเราก็ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ลานหินโค้งทั้งคืน โดยท่านจะออกมาเทศน์เป็นช่วง ๆ ในระหว่างนั้น ก็มีคุณหมอประยูรเป็นโฆษก เรียกคนต่าง ๆ ขึ้นไปพูดธรรมะกัน เราจำไม่ได้ว่าถูกเรียกขึ้นไปพูดในครั้งแรกนั้นหรือเปล่า จำได้แต่ว่า ครั้งแรกที่ขึ้นไปพูดบนลานหินโค้งนั้น เราพูดว่า ธรรมะของท่านอาจารย์ควรได้รับการเผยแผ่ให้มากที่สุด ให้คนได้ยินบ่อยขึ้น เหมือนการยิงกระสุนกราดคน ยังไงกระสุนบางลูกก็ต้องถูกคนแน่ เป็นการพูดประสบการณ์ของตนเองว่า เป็นเพราะได้อ่านหนังสือมองด้านในและได้ยินธรรมะของอาจารย์ไสว แก้วสม ฟังแล้วก็ค่อย ๆ เข้าใจ การพูดครั้งนั้นของเรา ที่จริงเราก็ลืมไปแล้ว แต่หลายปีต่อมา พี่เนียรซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของสวนโมกข์เป็นคนพูดขึ้นมาอีก และเตือนความทรงจำของเรา บอกว่า “นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้พี่รู้จักน้องศุภวรรณ” 

การไปสวนโมกข์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเราไปในทางที่ดีขึ้น รู้สึกชีวิตเริ่มมีเป้าหมาย จึงเริ่มตีตัวห่างจากชุมนุมปาฐกถาโต้วาทีที่มีคนพูดเก่งแต่ใช้ชีวิตที่เราเห็นว่าไร้จุดหมายอย่างแท้จริง สนุกไปวัน ๆ และมาใกล้ชิดคนที่สนใจธรรมะ พี่ละเอียดได้พาเราไปวัดชลประทาน แนะนำให้รู้จักกับอาจารย์โกวิท หลังจากนั้น เราก็ไปวัดชลประทานเองทุกวันอาทิตย์ เมื่อฟังหลวงพ่อปัญญาเทศน์เสร็จแล้ว ก็ไปคุยกับอาจารย์โกวิทต่อ จนรู้จักสนิทสนมกับผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เป็นชาววัด มีคุณอาวิโรจน์ เจ้าของร้านหนังสือธรรมบูชา คุณน้าสะอาดและคุณน้าสมปอง กองสุวรรณ ได้พาเราไปดูวัดสนามในซึ่งตอนนั้นยังเป็นวัดร้างอยู่ ต่อมามีการบุกเบิก โดยมีหลวงพ่อเทียนและท่านอาจารย์ทองล้วนเป็นพระรุ่นแรกที่ไปอยู่ เราจึงเริ่มฝึกสมาธิอย่างจริงจังกับหลวงพ่อเทียน ทำบ่อยมาก และเริ่มอ่านหนังสือของกฤษณามูรติด้วย เพราะอาจารย์โกวิทได้พูดถึงบ่อย ได้เข้ามาช่วยกิจการของชุมนุมพุทธ ช่วยพี่ละเอียดจัดงานนิทรรศการของชุมนุมที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ มีอาจารย์โกวิทเป็นที่ปรึกษา ได้ตั้งกลุ่มศึกษาชีวิต เปิดโอกาสให้คนเขียนจดหมายมาปรึกษาปัญหาชีวิต บางวันจึงต้องไปหาอาจารย์ที่วัดชลประทาน และนั่งฟังอาจารย์อยู่นานหลายชั่วโมง เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องวัฒนธรรมย่าทวดของไทยเรา ก็ยังไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งทีเดียว  แต่ฟังแล้วรู้สึกทึ่งมาก ภูมิใจที่เกิดมาในวัฒนธรรมไทย และอยากมีประสบการณ์ของวิถีชีวิตเก่า ๆ เช่นนั้นบ้าง

 

ประสบการณ์พิสดารทางใจครั้งแรก

คงจะเป็นวันหนึ่งในปี ๒๕๑๘ นั้นเอง จำไม่ได้ว่าเป็นเดือนไหน อาจจะกำลังเรียนอยู่ปลายปีสองหรือต้นปีสาม  วันนั้น กำลังยืนรอเรืออยู่ที่ท่าน้ำพรานนกเพื่อข้ามไปท่าพระจันทร์ ในขณะที่รอเรืออยู่นั้น ก็คงมองไปที่แม่น้ำ จำไม่ได้แน่ว่าใจกำลังคิดอะไรอยู่ ที่รู้แน่ชัดคือ มีขณะหนึ่งที่ใจของเราถูกผลักออกจากจิต หรือ ความคิด คือ ใจในฐานะผู้รู้อยู่ฟากหนึ่ง และจิตหรือตัวความคิดอยู่อีกฟากหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าใจกับจิตหรือความคิดเป็นธรรมชาติสองสิ่งที่ไม่เหมือนกันเลย และทั้งสองอย่างไม่ได้อยู่แนบเนื่องสนิทกันอย่างที่เคยเป็น เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นจิตกับใจหลุดลุ่ยออกจากกันเช่นนั้น  

ในขณะนั้น สามารถเห็นความคิดเป็นเส้นสายของคำพูด เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่พูด ๆ ออกมาเป็นคำพูดนั้น มันเป็นความคิดก่อน และเราก็เห็นคำพูดที่ยังไม่ได้พูดออกมานั้นไหลไปเรื่อย ๆ เหมือนกับน้ำในเจ้าพระยากำลังไหลอยู่อย่างต่อเนื่องฉันใด ก็ฉันนั้น ตะลึงต่อสิ่งที่กำลังเห็นในใจ รู้ว่าไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นมาก่อนในชีวิต แปลกมาก ถ้าไม่เห็นตำตาใจเช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่ามีประสบการณ์ที่อัศจรรย์เช่นนี้อยู่ในโลกด้วย

เรายืนนิ่งเหมือนถูกตรึงอยู่บนท่าน้ำ ไม่ได้สนใจว่าเรือมาแล้วไปแล้ว เพราะคิดว่าถ้าเคลื่อนไหวกายแม้เพียงนิดเดียวแล้ว  สิ่งอัศจรรย์ทางใจอาจจะเลือนหายไปก็ได้ ประสบการณ์นั้นอยู่กับเรานานถึง ๕ นาทีเห็นจะได้ และใน ๕ นาทีนั้น เราเห็นเส้นสายของความคิดหรือคำพูดในหัววิ่งผ่านไปเป็นเส้น ๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับกำลังมองน้ำในเจ้าพระยา ในช่วงนั้นเอง ทำให้เข้าใจคำศัพท์สองคำของกฤษณามูรติ คือ ผู้มอง observer กับ ผู้ถูกมอง observed เป็นคำที่อาจารย์โกวิทก็เอามาใช้บ่อยมาก ประสบการณ์ที่ท่าน้ำนั้นทำให้เราเข้าใจคำสองคำนี้ได้ชัดเจนทันที ใจคือผู้มอง และ ความคิด หรือ จิต คือผู้ถูกมอง ซึ่งก่อนหน้านั้น เป็นศัพท์สองคำที่เราอ่านแล้วเข้าใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าผู้เขียนหมายถึงอะไรแน่นอน 

จำได้ว่า ตะลึงในสิ่งที่ตนเองกำลังเห็นอยู่ในใจ ไม่นึกไม่ฝันว่าสิ่งอัศจรรย์เช่นนี้มีให้เห็นได้จริง ๆ  รำพึงกับตัวเองว่า อัศจรรย์จริง แปลกจริง ที่สามารถเห็นความคิดไหลไปเป็นเส้น ๆ เช่นนั้น ทำให้ดูออกว่าความคิดเป็นอนิจจัง เป็นมายา ไร้สาระและแก่นสาร เป็นสิ่งที่ไม่ควรข้องเกี่ยวและติดยึด จึงทำให้รู้ปัญหาของมนุษย์ทันทีว่า อยู่ที่การติดยึดอยู่กับความคิด และไม่ยอมปล่อยความคิดนั่นเอง

และแล้ว ความอัศจรรย์ของใจก็ค่อย ๆ เลือนหายไป จิตหรือความคิดที่เห็นเมื่อกี้ว่ามันไหลไปเป็นเส้น ๆ เหมือนน้ำในเจ้าพระยานั้นกลับมารวมตัวกับใจอย่างแนบเนื่องอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเนื้อกับเล็บอันเป็นธรรมชาติสองสิ่งที่แตกต่างกันแต่ก็อิงแนบเนื่องกันอย่างสนิท จะไปแยกมันออก หรือเลาะออกจากกันไม่ได้ง่าย ๆ  จิตกับใจไม่หลุดออกจากกันอีกแล้ว และแล้ว สิ่งที่ได้เห็นใน ๕ นาทีสั้น ๆ นั้นก็เหลืออยู่แต่ในความทรงจำของเราเท่านั้น ไม่ได้เป็นจริงอีกต่อไป

เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น

                   การเห็นความอัศจรรย์ของใจแม้ไม่เพียงกี่นาทีก็ตามนั้น รู้สึกว่า ชีวิตทางจิตวิญญาณของเราได้เติบโตขึ้นมาอย่างฮวบฮาบ เหมือนกับว่า นาทีนี้ยังเป็นเด็กกินนมแม่อยู่ อีกนาทีต่อมาก็เป็นผู้ใหญ่วัย ๓๐ หรือ ๔๐ แล้ว สามารถเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น และรู้ถึงแก่นด้วย รู้ว่าปัญหาของมนุษย์อยู่ที่การยึดติดความคิดมากเกินไป และปล่อยมันไม่ได้ ถ้าอยากแก้ปัญหาได้ ก็ต้องหัดปล่อยความคิด

จากจุดนั้นเอง ทุกครั้งที่มีการเขียนงานปรัชญาและพุทธศาสนา เราจะต้องพูดเรื่องความเป็นอนิจจังของความคิด การไม่ยึดติดในความคิด และการพยายามปล่อยวางจากความคิดเสมอ

เริ่มมีความสามารถในการคุยธรรมะให้รุ่นน้อง ๆ ฟังโดยใช้สถานที่ของคณะสังคมวิทยา การพูดในเรื่องการปล่อยความคิดมาชัดมากที่สุดก็คือบทที่ ๑๐ และ ๑๑ ของใบไม้กำมือเดียวที่เขียนเมื่อปี ๒๕๔๒ นี่เอง

                  

หลุดพ้นด้วยพลังสมาธิ

ตอนนี้ มามองย้อนหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อ ๒๖ ปีก่อน จึงเข้าใจได้ว่า ที่จริง เราได้ชิมรสชาดแห่งการหลุดพ้นอย่างฉับพลันถึง ๕ นาที น่าจะเรียกว่าเป็นการหลุดพ้นด้วยพลังของสมาธิหรือเจโตวิมุตติได้ เพราะช่วงนั้นทำสมาธิมาก พอใจรวบ มีพลังมาก ใจจึงผลักตัวเองออกจากจิตหรือความคิดได้ จึงเป็นการกระโดดข้ามขั้นตอนการปฏิบัติธรรม เหมือนกับว่า กำลังยืนอยู่บนชั้นที่หนึ่งของตึก สามารถเห็นวิวของกรุงเทพแบบยุ่ง ๆ ไม่ชัด จู่ ๆ ก็เกิดพลังที่สามารถกระโดดพรวดเดียวก็ถึงชั้นแปด และสามารถเห็นวิวของกรุงเทพชัดมากขึ้นอย่างทันทีทันใด รู้ว่าถนนไหนเชื่อมกับถนนไหน อะไรอยู่จุดไหน และแล้ว พอพลังการทรงตัวหมดลง ก็ตกลงมายืนแกล่วบนชั้นหนึ่งใหม่ แต่อย่างน้อยก็ได้ภาพวิวของกรุงเทพที่ดูจากชั้นแปดอยู่ในหัวเสมอ และรู้ว่า หากเดินขึ้นไปถึงชั้นแปดได้อีก ก็จะเห็นวิวนั้นอีก

 

จับต้นชนปลายไม่ถูก

ถึงแม้จะมีความรู้ที่รู้ถึงรากเง่าของปัญหาชีวิตมนุษย์ เราก็ยังจับต้นชนปลายอะไรไม่ถูก ยังรู้สึกงงมาก เหมือนรู้จักแต่เพียงต้นกับปลายเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าตรงกลางมันเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้คิดว่าตนเองศึกษาธรรมะมากพอ คือ รู้แต่เพียงว่าในโลกแห่งความหลุดพ้นนั้น ความคิดเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพราะมันเปลี่ยนแปลงและไหลเรื่อยตลอดเวลา แต่ในอีกโลกหนึ่งที่คนส่วนมากรู้จักนั้น ความคิดเป็นเรื่องมีสาระ มีแก่นสาร เป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวที่คนรู้จัก และคนก็ได้สร้างโลกสมมุติขึ้นมาจากความคิดทั้งสิ้น ได้แปลงความคิดออกมาเป็นการกระทำ  คนจึงเป็นผลผลิตของโลกแห่งความคิด ห่างไกลจากโลกแห่งความหลุดพ้นจากความคิดอย่างลิบลับ กู่กันไม่ถึง คนละเรื่องกันอย่างสุดขั้ว จึงรู้สึกงงมาก ไม่สามารถประสานสิ่งที่ได้เห็นใน ๕ นาทีนั้นกับโลกแห่งความเป็นจริงของสมมุติได้ 

แต่อย่างน้อยประสบการณ์ที่อัศจรรย์ยิ่งเพียง ๕ นาทีนั้นได้ทำให้เรารู้เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือจะเรียกว่ารู้เป้าหมายของชีวิตก็ได้ คือ รู้ว่าต้องทำตัวเองหลุดจากความคิดอีกให้ได้ ต้องพยายามกลับไปสู่ประสบการณ์นั้นอีกให้ได้ รู้ชัดว่านั่นคือเป้าหมายที่ต้องบรรลุ รู้เองโดยไม่รู้สึกว่าต้องถามอาจารย์