บทที่สิบ ประสบการณ์พิสดารทางใจครั้งที่สาม: เห็นแมวจับหนูได้เอง

 

อุดมคติกับของจริงไม่เหมือนกัน

การคิดอย่างมีอุดมคติกับการใช้ชีวิตจริงเพื่อให้บรรลุอุดมคตินั้นเป็นคนละเรื่องกันราวฟ้ากับดิน อุดมคติเป็นเรื่องการคิดอย่างสวยหรู คิดเพื่อให้ตัวตนรู้สึกดีขึ้น เป็นเรื่องที่มีแต่ลม แต่การใช้ชีวิตตามอุดมคติที่สวยหรูนั้นเป็นความจริงที่รู้สึกได้จริง ๆ เป็นของจริงที่ทุก ๆ เซลในร่างกายและจิตใจจะต้องเข้าไปรับรู้ถึงความรู้สึกทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในทุกลมหายใจของชีวิตไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรือสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยากกว่าการคิดอย่างลม ๆ แล้ง ๆ หลายล้านเท่าตัวนัก

ไม่เคยมีใครบอกว่าชีวิตแต่งงานเป็นเรื่องง่าย มันจะง่ายไม่ได้ เพราะแม้อยู่ตัวคนเดียวก็ยังทะเลาะกับความคิดและความรู้สึกของตัวเองอย่างนับครั้งไม่ถ้วนจนต้องเข้าวัดโน้นออกวัดนี้เพื่อหาความสงบใจมาแล้ว ฉะนั้น การมาใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนกับคนอีกคนหนึ่งจะง่ายขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เลือกมาอยู่ไกลบ้านกับคนที่พูดต่างภาษาและต่างวัฒนธรรมกัน การปรับตัวเข้าหากันและกันย่อมยากมากขึ้นเป็นธรรมดา ยิ่งกว่านั้น ภายใน ๕ ปีแรกของชีวิตแต่งงาน เราก็มีลูกเล็กเข้าไปถึงสามคน ถึงตอนนั้น เราจึงมองออกว่า การพร่ำบ่นถึงความทุกข์ในอดีตที่ยังเป็นโสดอยู่นั้นช่างเป็นเรื่องเล็กน้อยเสียจริง เพราะการเป็นแม่คนนั้นมันหนักกว่ามากนัก

การคิดตามอุดมคติที่จะเลือกคนจนและอยู่อย่างจน ๆ นั้น ในชีวิตแห่งความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นไปอย่างสวยหรูดังที่คิดไว้เลย เป็นเรื่องที่ต้องอดทนและต่อสู้อย่างมากมาย 

เฝ้าดูก้อนทุกข์อยู่ ๕ ปี    

ในช่วง ๕ ปีแรกของชีวิตแต่งงาน เมื่อถูกความทุกข์กระหน่ำแล้ว จิตใจมักอ่อนปวกเปียก หมดเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ ประสบการณ์ทางธรรมในอดีตที่เคยดื่มด่ำกับความสงบกลายเป็นความฝันที่ไกลสุดเอื้อม ความทุกข์ในช่วงนั้นได้สรุปให้ตัวเองว่า เรานั้นยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส จึงถูกความทุกข์คุมคามมากมายเช่นนั้น  รอให้เวลาเยียวยา สิ่งที่ทำได้คือ การพยายามเอาปัญญามาบอกตัวเองว่า หน้าตาความทุกข์มันเป็นอย่างนี้หนอ เห็นจัง ๆ เข้าแล้ว หากไม่เกาะธรรมให้แน่น ต้องถูกความทุกข์ถล่มตายแน่ คิดได้เช่นนั้น จึงพยายามหาเวลาทำสมาธิแบบหลับตาบ้าง เพราะเหมือนกับรู้ว่ามันจะช่วยเสริมพลังใจ ทำให้มีแรงต้านทานความทุกข์ได้ดีขึ้นหลังจากลืมตาขึ้นแล้ว แต่พอหลับตาทำสมาธิ ก็มักเห็นก้อนทุกข์ในใจที่หนักอึ้งอย่างชัดเจน มีบางครั้งที่สามารถเห็นก้อนทุกข์คลายตัวจนเห็นความโล่ง เบา และสงบอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แม้จะเป็นขณะหนึ่งที่สั้นมาก ก็ทำให้เห็นทางออกของชีวิตและมีกำลังใจที่จะต่อสู้ขึ้นมาบ้าง ฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่ยังทุกข์มากในขณะที่ลืมตาและใช้ชีวิตประจำวันอยู่นั้น ก็ยังพยายามโน้มเอาปัญญาเข้ามาพูดกับตัวเองเสมอว่า เอานะ เฝ้าดูความก้อนทุกข์ในใจอยู่อย่างนี้แหละ ต้องอดทนดู จนมันคลายตัวหายไปเอง เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า ความทุกข์อยู่ที่ไหน ความดับทุกข์ก็อยู่ที่นั่น พยายามบอกกับตัวเองว่า เราได้เปรียบคนอื่นที่เห็นก้อนทุกข์อยู่ตำตาเช่นนี้ แม้จะเจ็บปวดยังไงก็ต้องทน เพราะความหมดทุกข์มันต้องอยู่แถวนี้ จะอยู่ไกลไม่ได้

 

ปฏิบัติจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยไม่รู้ตัว

เราทำเช่นนั้นอยู่ ๕ ปีซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ให้กำเนิดลูก ๓ คนสาละวนวุ่นอยู่กับการเลี้ยงลูกเล็กและทำงานบ้าน ในช่วง ๕ ปีนั้นเหมือนกับไม่มีความก้าวหน้าทางธรรมเลย ชีวิตก็เหมือนกับปุถุชนธรรมดาทั่วไป ทุกข์บ้าง สุขบ้าง แต่เพราะมีพื้นฐานทางธรรมมา จึงเห็นทุกข์มากกว่าสุข  เมื่อเห็นทุกข์แล้ว ก็เอาปัญญาเข้าสู้อดทนพยายามดูความทุกข์ สามารถผ่อนคลายความทุกข์ได้บ้างจากการทำสมาธิแบบหลับตา

ตอนนี้ มาย้อนดูสถานการณ์ในช่วง ๕ ปีนั้น ในขณะที่เราคิดว่าไม่มีความก้าวหน้าในทางธรรมเลยนั้น ที่จริง มันก็เป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สามารถโน้มเอาปัญญามาคุยกับตัวเองว่า นี่คือก้อนทุกข์ และมีความอดทนเฝ้าดูมันจนกว่ามันจะคลายตัวไปเอง แม้ไม่คลาย ก็จ้องมองความทุกข์อยู่อย่างนั้น ตอนนี้ถึงรู้ว่านั่นเป็นการปลุกปล้ำอยู่ในฐานที่สาม คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานชนิดที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดมาก ซึ่งถ้าไม่ผ่านขั้นตอนที่เจ็บปวดเช่นนี้แล้ว การก้าวไปข้างหน้าจะไม่เกิด

 

เริ่มเห็นความเป็นอัตโนมัติของจิตใจ

         เมื่อลูกคนเล็กอายุได้ ๘ เดือน ปี ๒๕๓๐ เราเริ่มไปทำความสะอาดบ้านอาทิตย์ละครั้งให้คุณป้าทวดของลูกซึ่งมีอายุ ๘๐ ปี เธออยู่กับสามีอายุ ๘๒ ปี วันหนึ่งเรากำลังดูดฝุ่นอยู่ที่ห้องนั่งเล่น ในขณะที่ลุงกับป้ากำลังนั่งอยู่ห้องครัว จู่ ๆ เราก็สังเกตเห็นความคิดหนึ่งโผล่เข้ามาในหัว ทันใดนั้นเอง เราก็ได้ยินตัวเองตะโกนออกมาอย่างดังว่า “Oh…no” และเห็นตัวสติเข้าไปจัดการกับความคิดที่กำลังจะปรุงนั้นอย่างเป็นอัตโนมัติ และแล้ว สภาวะจิตที่กำลังจะฟูขึ้นมาก็ดับวูบหายไปทันทีต่อหน้าต่อตาเรา เสียงตะโกนของเราดังมากจนคุณลุงรีบเดินมาดูว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา จำได้ว่าต้องหาคำแก้ตัวเพราะไม่รู้จะอธิบายให้คุณลุงฟังอย่างไร และในช่วงนั้น เราก็กำลังตะลึงอยู่กับปรากฏการณ์ทางใจที่เพิ่งเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นไปหยก ๆ มันไม่ใช่เป็นประสบการณ์ที่อัศจรรย์เหมือนที่เราเคยมีเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา แต่ก็มีความประหลาดและวิเศษอยู่ในตัวมันไม่น้อยเลย

ไม่มี “ตัวเรา” มีแต่แมวจับหนู

ตอนนั้น เรารู้ทันทีว่าประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเรามาก่อน นี่เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เป็นการกระโดดก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวใหญ่ทีเดียว ถ้าเปรียบความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวเหมือนกับหนู และสติที่เข้าไปรู้ความคิดนั้นเป็นแมว พอหนูเข้ามา แมวก็วิ่งเข้าไปจัดการกับหนูเองทันทีอย่างเป็นอัตโนมัติ โดยที่ไม่มี “ตัวเรา” เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบงการเลย ซึ่งมันก็ถูกแล้ว เพราะในที่สุด “ตัวเรา” จริง ๆ มันไม่มี มีแต่สภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเท่านั้น

เริ่มข้าใจว่าเพราะเราได้สร้างปัจจัยต่าง ๆ โดยการปฏิบัติสมาธิภาวนามาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาจนกระทั่งถึงก่อนหน้านั้น เหตุปัจจัยเหล่านั้นจึงส่งให้เกิดผลทางธรรมที่นำให้เรามาถึงขั้นตอนที่เป็นอัตโนมัตินั้น ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นคือ สองสภาวะล้วน ๆ ที่จัดการกันเองอย่างเป็นธรรมชาติของมัน คำอุทานของเราที่ว่า Oh…no หรือ อย่านะ ก็คือสติหรือแมวนั่นเอง เป็นคำอุทานที่ออกมาเองโดยไม่มีการบังคับ เกิดขึ้นเองอย่างเป็นอัตโนมัติ มันเป็นสิ่งเดียวกับสติที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็ไม่รู้ว่าทำไมเราจึงต้องอุทานเช่นนั้น ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนเราหรือไม่ รู้แต่ว่านี่เป็นการบังคับไม่ได้ เหมือนตากระพริบเอง หรือ การสะอึก ที่ร่างกายทำของมันเองเพื่อการปรับตัวของร่างกายบางอย่าง บังคับมันไม่ได้ คำอุทานของเราก็คือตัวสติที่มันเกิดเองเพราะต้องไปปรับอะไรบางอย่างในใจ นั่นคือ ความคิดหรือสังขารที่เปรียบเหมือนกับหนู ฉะนั้น เมื่อแมวเห็นหนู แมวก็วิ่งเข้าจัดการกับหนูทันที แต่กว่าแมว(สติ)ตัวนี้จะวิ่งได้เองเช่นนั้น มันก็ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี คือตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ เริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ฝึกสติเป็น จนถึงวันแรกที่เกิดปรากฏการณ์อัตโนมัติทางใจซึ่งเกิดในปี ๒๕๓๐ 

 

 เหมือนธรรมชาติที่แม่ปกป้องลูก

 การทำงานของใจ เมื่อมาถึงจุดที่สติทำงานเป็นอัตโนมัตินั้น จิตหรือความคิดหรือหนูก็เหมือนกับเด็กเล็กที่มีธรรมชาติซุกซนมาก เล่นโน่น จับนี่อยู่ตลอดเวลา แม่ที่ดูแลลูกอยู่ใกล้ ๆ เห็นว่าลูกกำลังจะทำอะไรผิดพลาด จึงรีบเตือนลูกก่อน บอกลูกว่า อย่าทำนะลูก ถ้าทำแล้วลูกจะเป็นอันตราย เจ็บตัวได้  การทำผิดของใจ คือ การปล่อยให้สภาวะของสังขารปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความคิดนั่นเอง การสร้างภพสร้างชาติจนเกิดก้อนทุกข์ในใจนั้นมันเกิดที่จุดนี้เอง จุดที่ตัวสังขารเริ่มปรุงเป็นความคิดหรือหนู เมื่อสังขารปรุงเป็นความคิดหรือหนูแล้ว หากปล่อยให้มันปรุงต่ออีกตามลูกโซ่ของปฏิจจสมุปบาทแล้วไซร้ หนูตัวนั้นก็จะคลอดลูกหนูออกมาเป็นเวทนาหรือความรู้สึกที่ข่วนใจและกลายเป็นภพ เป็นชาติ เป็นทุกข์ ร่ำไรรำพันอันเป็นห่วงสุดท้ายของสายโซ่แห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น แม่ก็คือตัวสติหรือแมวในที่นี้ เมื่อแม่เห็นลูกคือสังขารเริ่มปรุง แม่ก็จะรีบวิ่งเข้ามาหาลูกและบอกลูกว่าอย่าทำ หรืออย่าปรุงต่อไป อย่างไรก็อย่างนั้น

 

“อย่าลูก” เกิดเพราะเหตุนี้

ฉะนั้น คำว่า Oh…no หรือ อย่านะที่เราพูดอุทานในครั้งแรกสุดที่บ้านป้าทวดนั้นก็คือ คำดุของแม่(สติ)ที่มีต่อลูก(สังขาร)นั่นเอง จำได้ว่าเราอุทานคำนี้อยู่นานพอสมควร พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรามีลูกเล็กตั้งแต่ ๑ ถึง ๖ ขวบอยู่ถึงสามคน การดุลูก บอกลูกว่าอย่าทำโน่นทำนี่จึงเกิดขึ้นเสมอ พอเวลาผ่านไป คำว่า “อย่าลูก” นอกจากจะเป็นคำที่เราบอกลูกเล็กของเราแล้ว คำ ๆ นี้ยังเป็นคำที่โพล่งออกมาเมื่อเกิดสภาวะของแมวจับหนูในใจของเราด้วย บางครั้ง หนูที่เข้ามาตัวใหญ่มาก แมวเห็นแล้วต้องวิ่งไล่ตะครุบหนูอย่างสุดแรง ฉะนั้น ทันทีที่แมวเห็นหนูตัวใหญ่ คำอุทาน “อย่าลูก” ของเราจึงออกมาดังมากจนกลายเป็นการตะโกน เหมือนเห็นลูกกำลังเอื้อมมือจับเตารีดที่ยังร้อนอยู่ แม่ต้องรีบตะโกนออกมาอย่างดังมากว่า “อย่าลูก” ฉันนั้น

 

อธิบายให้ลูกฟัง ง่ายมาก

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นแล้ว ความสับสนเริ่มเกิดในหมู่ลูก ๆ ที่ยังเล็กอยู่ทั้งสามคน เมื่อลูกเล็กอยู่ เราพยายามพูดภาษาไทยกับลูก ฉะนั้น “อย่าลูก” จึงกลายเป็นคำที่เราใช้ดุลูกจริงกับลูกหนูในใจเราด้วย ความสับสนเริ่มเกิดเมื่อเราตะโกนดุลูกหนูในใจด้วยเสียงอันดังซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ บางครั้ง กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว ล้างจาน ดูดฝุ่น อาบน้ำ นั่งบนโถส้วม กินข้าว เดินซื้อของ หรือแม้แต่กำลังนั่งดูโทรทัศน์อยู่กับครอบครัว คำว่า “อย่าลูก” จะออกมาเมื่อไรก็ได้ ยกเว้นตอนที่กำลังแปรงฟันอยู่ พูด “อย่าลูก” ไม่ได้ ก็จะอุทานเป็น “เออ” ออกมาเท่านั้น บางครั้ง ถ้าเป็นหนูตัวเล็กที่เข้ามาในใจ แมวจะวิ่งไปแตะหนูเบา ๆ และหนูก็หายไป คำอุทานของเราก็ออกมาแบบค่อย ๆ เหมือนกระซิบกับตัวเอง ไม่มีใครได้ยิน บางครั้งก็ดังออกมาแบบเรียบ ๆ  แต่บางครั้งที่เห็นหนูตัวใหญ่ เราก็เห็นตัวเองตะโกนคำว่า “อย่าลูก” ออกมาดังมากจนทุกคนรอบข้างตกใจ

ในช่วง ๓ ปีแรกที่เกิดเหตุการพิสดารทางใจนี้ ก็มีลูก ๆ เท่านั้นที่สังเกตเห็นแม่พูดกับตัวเองเช่นนั้น หลายครั้งที่คำว่า “อย่าลูก” ออกมาเพื่อดุลูกหนูในใจ ตัดสายโซ่ของปฏิจจสมุปบาทเพื่อไม่ให้มันปรุงต่อ แต่เพราะมันดังมาก ลูกโตสองคนมักจะวิ่งเข้าไปในครัวด้วยหน้าตาตกใจ ถามแม่ว่า what have we done wrong, mummy? เขาทำอะไรผิดหรือ แม่ถึงดุเขา ช่วงนั้น จึงต้องอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรกับลูก โดยพูดกับลูกตรง ๆ ว่า ที่แม่พูด “อย่าลูก” กับตัวเองนั้นเป็นเพราะแม่กำลังมีความคิดที่ไม่ดี bad mind แม่จึงต้องดุใจตัวเองเพื่อแม่จะได้ไม่คิดต่อ คุยกับเด็กมันก็ง่ายไปอย่าง ไม่ซักมาก ยอมรับคำอธิบายของแม่อย่างง่ายดาย รับรู้ว่าถ้าแม่พูด “อย่าลูก” กับตัวเองแล้ว แม่ต้องมีความคิดไม่ดี bad mind ดังนั้น แม่ต้องดุ bad mind ให้มันหยุดทำงาน หลังจากที่ลูกเข้าใจได้เช่นนั้นแล้ว จึงกลายเป็นข้อเท็จจริงของครอบครัวที่เรากับลูกเท่านั้นที่รู้เรื่องกัน แม้สามีก็ยังไม่รู้ในช่วงสามปีแรก เพราะทำแต่งาน กลับบ้านมืดค่ำ ถ้าครั้งไหนที่ลูก ๆ เห็นเราพูด “อย่าลูก” อยู่ในครัวหรือห้องน้ำอย่างเงียบ ๆ เขาก็ไม่สนใจ รู้ว่าแม่กำลังดุใจตัวเอง นอกจากครั้งไหนที่นั่งด้วยกัน เช่น ดูโทรทัศน์อยู่ และแม่อุทานออกมาดัง ๆ เท่านั้น สายตาทั้งสามคู่จะหันขวับมาที่แม่ทันทีเพื่อดูว่าแม่ดุใครกันแน่ ถ้าแม่ยิ้ม พวกเขาจะรู้ทันทีว่าแม่ดุใจตัวเอง เขาก็จะสั่นหัวเล็กน้อยอย่างโล่งอกและหันกลับไปดูโทรทัศน์อีกโดยไม่สนใจแม่   

 

อธิบายให้สามีฟัง ยากมาก

เหตุการณ์ได้เป็นไปเช่นนั้นถึงสามปี เย็นวันหนึ่ง ในขณะที่พวกเรา ๕ คนนั่งดูโทรทัศน์อยู่ด้วยกันในห้องนั่งเล่นนั้น ถึงแม้สายตาเราจะดูโทรทัศน์ แต่สติในส่วนที่เป็นอัตโนมัตินี้ก็ยังทำงานอย่างขมักเข้มนเหมือนที่ทำมาแล้วเป็นเวลาสามปี จู่ ๆ หนูตัวใหญ่คงจะโผล่เข้ามาในหัว จำไม่ได้ว่ามันคือความคิดอะไร แมววิ่งตะครุบหนูตัวใหญ่นั้นทันที คำอุทาน “อย่าลูก” ออกมาดังมากชนิดตะโกนสุดเสียง ทุกคนในห้องตกใจ ลูก ๆ ที่กำลังนอนเกยคางดูโทรทัศน์หันขวับมามองแม่แล้วก็สั่นหัว ลูกคนหัวปีบ่นว่า “Mummy has bad mind again.” แล้วพวกเขาก็ไม่สนใจ หันกลับไปดูโทรทัศน์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์ในครอบครัวที่ลูก ๆ ชินและโตมากับมันแล้ว

แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่สามีเห็นความไม่ปกติของเราอย่างชัดเจน เพราะเขาตกใจกับคำอุทานของเราที่ตะโกนออกมาอย่างดังมาก จึงเค้นเอาคำอธิบายจากเรา อธิบายให้เด็กนั้นง่ายกว่าอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังมากมายนัก เราจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า นี่เป็นเรื่องการทำสมาธิของเรา เพราะนอกจากทำสมาธิแบบหลับตาอย่างที่เขาเคยเห็นเราทำแล้ว พอลืมตา เรายังต้องทำสมาธิอยู่โดยการดูใจตัวเองตลอดเวลา ถ้าเห็นความคิดไม่ดีเข้ามา เราต้องหยุดมันทันที จึงต้องดุใจตัวเองโดยใช้คำว่า “อย่าลูก”

พยายามพูดให้สามีเข้าใจว่า ทุกครั้งที่คำว่า “อย่าลูก” หลุดออกมา มันเป็นสัญญาณที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ ใจเราจะปลอดภัย สามีฟังแล้วงงมาก ไม่รู้เรื่องเลยว่าเราพูดถึงอะไร แต่ก็พยักหน้าทำเหมือนเข้าใจ เมื่อเขาเริ่มสังเกตเห็นครั้งแรกแล้ว ก็เห็นเรื่อยมาจนถึงบัดนี้

 

จาก “อย่าลูก” ถึง “papa”

คำอุทานของเราได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะเป็นสภาวะที่เหมือนกับดุใครสักคนหนึ่ง คำอุทานจึงเหมือนกับคำดุคน ๆ นั้น ในช่วง ๑๐ ปีแรกนั้น มีคำอุทานอื่น ๆ ออกมาอีกมากมาย คำอุทานนั้นก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของความคิดที่เข้ามาในหัวด้วย ถ้าเป็นคำขู่ คำดุ ที่เด่น ๆ และใช้อยู่นานหลายปี คือ “อย่าลูก” บางครั้งก็ใช้คำว่า “ไม่เอา” บ่อยครั้งที่อุทาน “อย่าลูก” แล้วก็ต่อด้วยประโยคภาษาอังกฤษ เช่น I hate you. (ฉันเกลียดเธอ) Please don’t do that to me. (อย่าทำอย่างนั้นกับฉันอีก)  บางครั้งก็เป็น I hate you และต่อด้วยประโยคว่า I don’t like you.หรือ I never like you. บางครั้งก็เป็นคำรับรู้ เช่น OK…I know มีช่วงหนึ่งจะทำเสียงจุ๊ ๆ เหมือนกับคนทำอะไรเสียงดัง และจุ๊ ๆให้เขาเงียบ ๆ หน่อย บ่อยครั้งมักต่อท้ายด้วยคำว่า sorry เป็นเชิงขอโทษขอโพยคนรอบข้างที่ทำเสียงดัง มีอีกหลายคำที่จำไม่ได้ ทุกวันนี้ คำที่ใช้อยู่คือคำว่า Papa ซึ่งเกิดเมื่อเราเพิ่งกลับจากเมืองไทยครั้งล่าสุดนี้ ๒๕๔๔ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมาได้อย่างไร การอุทานว่า I hate you. ก็ยังเกิดอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน แต่น้อยลงมากแล้ว บางทีห่างออกไปเป็นวัน ๆ กว่าจะได้ยินสักครั้งหนึ่ง

หญิงเพี้ยนคนนี้มาจากเมืองไทย

เมื่อคำอุทานเหล่านี้เกิดในบ้านก็ไม่มีปัญหา เพราะทุกคนชินกับมันแล้วหลังจากที่ได้ยินมา ๑๔ ปีเต็ม ทั้งสามีและลูกล้วนสรุปว่าเราเป็นคนเพี้ยน ไม่เหมือนชาวบ้าน ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อมีแขกมาบ้านโดยเฉพาะแขกมาพักที่บ้าน สามีและลูก ๆ เป็นห่วงมากว่าถ้าเราหลุดคำว่า I hate you ออกมาต่อหน้าแขกแล้ว เขาจะอธิบายอย่างไร ที่จริง เราได้หลุดคำว่า “อย่าลูก” แบบธรรมดาออกมานับครั้งไม่ถ้วนต่อหน้าแม่สามี แต่ท่านก็ไม่ได้สังเกตเห็น บางครั้งที่มันออกมาดังหน่อย ลูก ๆ หรือสามีก็จะพยายามกลบเกลื่อนให้เรา จึงไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น

วันหนึ่งเพื่อนคนไทยมาพักที่บ้าน เราล้างชามอยู่ในครัวในขณะที่เพื่อนนั่งคุยกับสามีและลูกอยู่ คำว่า “อย่าลูก” ของเราออกมาดังมากจนเพื่อนได้ยิน ทำเอาเธอตกใจ ถามสามีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา ก็ไม่รู้ว่าเขาอธิบายให้เพื่อนฟังอย่างไร เพียงได้ยินเพื่อนพูดแว่ว ๆ ว่า “แปลกมาก เคยเห็นคนคุยกับตัวเอง แต่คุยดัง ๆ อย่างนี้ ไม่เคยเห็น” ครั้งหนึ่ง เราขับรถพาลูกชายคนโตกับเพื่อนของเขาไปมหาวิทยาลัยด้วย ขับไป เราก็อุทาน “อย่าลูก” ออกมาบ้าง ได้ยินลูกชายตอนนั้นอายุ ๑๑ ขวบ อธิบายให้เพื่อนฟังอย่างเป็นวรรคเป็นเวรว่า แม่กำลังดูใจตัวเองแม้ขับรถอยู่ ถ้าแม่เห็นความคิดไม่ดี bad mind แล้ว แม่ต้องพูด “อย่าลูก” เพื่อหยุดมัน เรานั่งฟังลูกแล้วก็ขำ

เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความขายหน้ามากคือเมื่อต้องออกไปข้างนอกกับครอบครัว บางครั้งคำว่า “อย่าลูก” และ I hate you ออกมาดังพอสมควร พอที่คนรอบข้างได้ยิน สามีกับลูก ๆ กลัวที่สุด พวกเขาจึงตกลงกันว่า หากแม่ตะโกน “อย่าลูก” ออกมา เขาจะเดินออกห่างทันที และแสร้งทำเป็นว่าเขาไม่รู้จักผู้หญิงต่างด้าวคนนี้ ถ้ามีใครถามว่าทำไมผู้หญิงคนนี้จึงเพี้ยน พวกเขาก็จะบอกว่า She comes from Thailand!!! (เป็นเพราะเขามาจากเมืองไทย)

 

เห็นแม่หนูคลอดลูกหนู เห็นปฏิจสมุปบาทฝ่ายเกิด             

 จากเหตุการณ์ครั้งแรกที่สังเกตเห็นสภาวะแมวจับหนูเองที่บ้านป้าทวดในวันนั้น มันก็เกิดขึ้นอีกทุกวัน และหลาย ๆ ครั้งต่อวัน ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน ตอนช่วงปีแรก ๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในใจเรา แต่พอเห็นสภาวะบ่อยขึ้น  จึงเกิดการเรียนรู้มากขึ้น

เริ่มรู้ว่าใจสามารถเข้าไปรับรู้เรื่องที่ละเอียดมากขึ้นจนสามารถเห็นช่วงต่อระหว่างความคิดกับความรู้สึกอย่างชัดเจน  เห็นได้ว่า หนูนั้นคือความคิดที่เหมือนเป็นแม่ และคลอดลูกหนูคือความรู้สึกออกมา ถ้าพูดภาษาพระคือสังขารก่อให้เกิดเวทนาซึ่งเป็นลูกโซ่ของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด สามารถเห็นสภาวะต่อเนื่องได้ชัดมาก ทันทีที่ความคิดเข้ามา ความรู้สึกก็จะก่อตัวขึ้นทันที สิ่งที่แปลกมากคือ แมวซึ่งเราสามารถมองออกว่าเป็นทั้งตัวสติและปัญญาควบคู่ไปพร้อมกันจะเลือกสรรของมันเองว่า เมื่อหนูก่อตัวขึ้นมาแล้ว หนูตัวไหนให้ผ่านเข้ามาในใจได้ และหนูตัวไหนผ่านไม่ได้ ไม่ใช่หนูทุกตัวที่แมวจะเข้าไปเขมือบกิน แมวจะรู้เองว่าต้องจัดการกับหนูตัวไหน เป็นการเลือกสรรไปในตัวเสร็จสรรพโดยไม่มีความรู้สึกว่ามีเราที่เป็นเจ้าของผู้บงการ พูดได้อย่างเดียวว่าแปลกมาก

แมวจับหนูในขั้นตอนต่าง ๆ

ตอนแรก ๆ สังเกตเห็นว่า บางครั้งแมวตัวนี้ก็เก่งและว่องไวมาก สามารถจับหนู(ความคิด)ได้อย่างทันทีทันใดที่มันโผล่เข้ามาในหัว ทำให้ลูกหนูหรือความรู้สึกไม่สามารถก่อตัวได้เลย แต่บางครั้งความไวของมันก็น้อยลง แมวจับหนูได้ตอนที่มันกำลังคลอดลูกหนูอยู่ คือความรู้สึกกำลังก่อตัวอยู่ แมวก็จับหนูตัวที่กำลังคลอดลูกอยู่ทำให้ทั้งแม่และลูกอ่อนตายคาตีนแมว ก็เหมือนกับว่าใจเราถูกข่วนเข้าไปเพียงนิดเดียวเท่านั้น แล้วความรู้สึกก็หายไปทันทีที่แมวหรือสติมาทัน ถ้าน้อยกว่านั้นคือ แมวจะวิ่งจับหนูได้ตอนที่มันคลอดลูกหนูแล้ว คือความรู้สึกได้ก่อตัวเต็มที่และข่วนที่ใจเราแล้ว แต่แม้กระนั้น ถ้าแมวจับทั้งแม่หนูและลูกหนูและเขมือบมันได้หมดทันที เราก็ยังพอรอดตัวได้ นั่นคือ ใจของเราจะถูกข่วนเข้าไปนานหน่อย แต่นานอันนี้หมายถึงแค่เสี้ยวของวินาทีเท่านั้นเอง หลังจากนั้นใจก็โล่งและเป็นอิสระทันที เป็นการเห็นการต่อสู้ระหว่างความมืดกับความสว่างอย่างชัดเจนในใจ เป็นการเฝ้าดูเรื่องราวภายในใจเหมือนนั่งดูหนังอยู่ห่าง ๆ และเกิดความสนุกสนานไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเมื่อเห็นแมวสามารถเขมือบหนูได้ทุกครั้งไป

 

ต่อสู้แบบหมัดต่อหมัดอยู่ ๙ ปี        

จากวันนั้นเป็นต้นมา สภาวะของแมวจับหนูเองก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็เป็นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงปีแรก ๆ นั้น แม้แมวจะจับหนูทัน แต่บ่อยครั้งก็มาจับเอาได้ตอนที่ลูกหนู(ความรู้สึก)ได้คลอดออกมาเต็มตัวแล้ว ต้องเขมือบกินทั้งแม่หนูและลูกหนู ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าการกินแม่หนูตัวเดียว ช่วงนั้น เวลาที่ใจถูกหนูข่วนอย่างเต็มที่นับว่ามีไม่น้อยทีเดียว เป็นการต่อสู้แบบหมัดต่อหมัดอยู่ตลอดเวลาที่หนูเข้ามาในสนามรบของใจ บางครั้งในช่วงเวลาเพียง ๑ นาที สามารถนับคำว่า “อย่าลูก” ได้ถึง ๘๐ ครั้ง พูดออกมาทีก็ขีดใส่กระดาษทีหนึ่ง เหมือนการยิงปืนกลที่มีกระสุนออกมาเป็นตับ ๆ ติดต่อกัน  เป็นการต่อสู้ที่เหนื่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีวันไหนที่ไปประสบเหตุการณ์อันไม่น่าพอใจ มีปัญหาเข้ามาให้คิดมากแล้ว การต่อสู้ทางใจเช่นนี้จะเป็นมากและรุนแรง คำว่า “อย่าลูก” จะออกมาดังมาก

บางครั้ง สัญญาหรือความทรงจำเก่า ๆ ก็กำเริบได้โดยไม่มีประสบการณ์สด ๆ เลย เรื่องอาจจะเกิดในอดีตนานแล้ว จู่ ๆ ก็คิดถึงเรื่องนั้น หรือคำพูดที่เจ็บปวดของคน ๆ นั้น และภาพพจน์ต่างๆ ก็ทะลักเข้ามาในหัว ใจก็กำเริบ ก่อให้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงเช่นกัน

ปรากฏการณ์ทางใจเช่นนี้ เราเรียกว่าเป็นการต่อสู้แบบหมัดต่อหมัด เป็นช่วงเวลาแห่งการห้ำหั่นกับกิเลสแบบซึ่ง ๆ หน้า เจ็บปวดมาก ถ้าไม่มีผัสสะมาก หรือ สัญญาเก่าไม่กำเริบแล้ว การต่อสู้ก็จะอยู่ในขั้นตอนของแมวจับหนูเฉย ๆ คำว่า อย่าลูก ก็เป็นเพียงการกระซิบกับตัวเอง คนอื่นไม่ได้ยิน เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่ ๑๐ ปี คือตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ถึง ๒๕๔๐

 

เริ่มอยู่ในโลกอันโดดเดี่ยวของตนเอง

         หลังจากที่สภาวะอัตโนมัติในใจได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันนั้น เริ่มสังเกตเห็นว่าตนเองกำลังอยู่ในโลกที่โดดเดี่ยวที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ เพราะโลกภายในของเราคือ การเห็นการก่อตัวและล้มสลายของโลกสมมุติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ความคิดก่อตัวขึ้นมา โลกสมมุติก็จะติดมากับความคิดและความรู้สึกนั้น สภาวะแมวจับหนูของเราก็คือ การสามารถหยุดโลกสมมุติอย่างทันทีทันใด จึงเห็นความไร้สาระและความเป็นมายาของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่นอกกาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างถี่ ๆ อยู่ตลอดเวลา  ในขณะที่เราเห็นความไร้สาระของทุกอย่างนั้น คนทั้งโลกกลับให้ความสำคัญอย่างเอาเป็นเอาตาย และโลกทั้งโลกก็หมุนเหวี่ยงไปตามแรงของสมมุตินั้น

ช่องว่างเริ่มเกิดเมื่อมีการพูดคุยสนทนากัน บางครั้งเหมือนต้องพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจ ใจไม่ได้เห็นด้วยกับคุณค่าที่โลกสมมุติให้ แต่เมื่อคุยกับคนที่อยู่ในโลกสมมุติแล้ว ก็ต้องเออออห่อหมกไปกับเขา ทำให้รู้สึกอึดอัดมากในบางครั้ง เพราะเหมือนตนเองกำลังพูดเพ้อเจ้อ พูดเรื่องไร้สาระ ถ้าพูดเหมือนคนในโลกพูด ๆ กัน นั่นเป็นครั้งแรกที่เริ่มเข้าใจคำว่า พูดเพ้อเจ้อ อย่างลึกซึ้ง แม้คนที่ชาวโลกเห็นว่าฉลาด มีการศึกษาสูง คนเหล่านี้เราก็ดูออกว่าเขาพูดเพ้อเจ้อเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องดูยากขึ้น แต่เราก็เริ่มดูออกได้ชัดเจน คนที่พูดเรื่องสมมุติอย่างเป็นตุเป็นตะนี่เป็นเรื่องเพ้อเจ้อทั้งนั้น ทำให้เข้ากับคนได้ยาก เพราะความที่ไม่อยากพูดเหมือนคนอื่น ไม่อยากพูดเพ้อเจ้อเหมือนคนอื่น จึงไม่ค่อยสนิทสนมกับใครมากเป็นพิเศษ คุยเท่าที่จำเป็นกับคนรอบข้างในครอบครัวเท่านั้น