บทที่สิบเอ็ด เริ่มต่อแสงเทียน ส่องธรรมให้ผู้อื่น

 

เริ่มเขียนหนังสือ

ได้เรียนรู้ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้วว่า การได้ใช้เวลาเงียบ ๆ กับการเขียนหนังสือนั้นเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเรา เพราะในขณะนั้นสามารถหลุดออกจากโลกภายนอก มาอยู่กับโลกภายในของความคิด ของการใช้เหตุผลอันเป็นการสร้างสรร ในช่วงปีแรก ๆ ที่มาอยู่อังกฤษนั้น แม้จะยุ่งกับการเลี้ยงลูกเล็ก แต่ก็ยังหาเวลาแปลหนังสือบ้าง ได้แปลบทความของกฤษณา มูรติ และส่งไปลงหนังสือ ชาวพุทธ อยู่พักหนึ่ง

ความคิดที่อยากเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนั้นได้เกิดขึ้นเสมอ แต่ในช่วงที่ลูกยังเล็กนั้น จิตใจของเราย่ำแย่มาก ทุกข์มาก เหตุผลหนึ่งมาจากสภาวะของร่างกายโดยตรง เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายปั่นป่วนมากอันเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรติดต่อกันถึง ๕ ปี การขึ้นลงของสารเคมีในร่างกายเหล่านี้ก็มีส่วนที่ทำให้จิตใจของหญิงระส่ำระสายมาก ไม่ว่าสภาวะจิตจะปั่นป่วนเพราะฮอร์โมนทางร่างกายหรือเพราะแมวจับหนูไม่ทันก็ตามแต่ ก้อนทุกข์ในใจก็คือก้อนทุกข์อยู่วันยังค่ำ คือสภาวะทุกข์ที่ทนยากและสร้างความเจ็บปวดให้แก่เจ้าของทุกข์ เพราะมองเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงในช่วง ๕ ปีแรกหลังแต่งงานซึ่งเป็นช่วงที่ทุกข์มากนั้น จึงคิดสรุปกับตัวเองว่าเป็นคนล้มเหลวในทางธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่เป็นนักศึกษาแล้ว เรายังมีประสบการณ์ทางธรรมที่น่าภูมิใจมากกว่า มีเวลาของความสงบมากกว่า จึงคิดว่าตนเองถดถอยและล้มเหลว

ความคิดที่อยากทำงานเขียนนั้น สาเหตุหนึ่งก็เพราะอยากปิดโลกภายนอกทิ้งเสีย อันเป็นโลกของสังคมอังกฤษที่เราไม่อยากรับรู้ การทำงานเขียนคือการนำตัวเองมาสู่โลกภายในของเรา อันเป็นเรื่องการกลับเข้าหาธรรม กลับไปหาโลกที่เราเคยมีประสบการณ์อันดีงาม กลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอนและวัฒนธรรมที่เราเติบโตขึ้นมา และคนที่เรารู้จักคุ้นเคย

คงจะเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเกิดประสบการณ์แมวจับหนูอย่างเป็นอัตโนมัตินั่นเอง ที่เราเริ่มจับงานเขียนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน โดยทำให้มันต่อเนื่องจากเรื่อง “เพื่อนที่แสนดี” ที่เริ่มเขียนเมื่อครั้งไปบวชชีพราหมณ์อยู่พะเยา โดยการเขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตที่อังกฤษให้เพื่อนรับรู้ วันแรกที่เริ่มเขียนนั้นคือวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐ อันเป็นวันเกิดครบสามขวบของลูกคนที่สองที่ชื่อเอ็นดู ตอนนั้นลูกคนเล็กอายุเพียง ๖ เดือนเท่านั้น และลูกคนโตอายุ ๕ ขวบ

เนื่องจากยังเป็นช่วงเวลาที่ถูกความทุกข์กระหน่ำอยู่ไม่น้อย จึงเจียมเนื้อเจียมตัวมาก ไม่กล้าแสดงออกถึงความรู้ทางธรรมอย่างที่เคยทำในสมัยที่เป็นนักศึกษา พยายามพูดเฉพาะแต่ประสบการณ์ชีวิตประจำวันและโน้มเรื่องราวชีวิตเข้าหาธรรมะ การได้จับงานเขียนชิ้นนั้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น ไม่เสียเวลาเปล่า การได้ทำงานใช้สมองอย่างที่ตัวเองถนัดนั้นได้ก่อให้เกิดปีติ และความสงบทางใจก็เกิดได้ง่าย อย่างน้อยก็ในขณะที่กำลังทำงานเขียนอยู่ เป็นการหลบหนีจากโลกภายนอกได้ดียิ่ง  เราทำงานชิ้นนั้นอย่างต่อเนื่องอยู่ถึง ๗ ปีเห็นจะได้ ใช้เลาในขณะที่ลูกโตสองคนไปโรงเรียนและลูกเล็กกำลังนอน หรือไม่ก็เวลาเช้ามืด ยังไม่มีใครตื่น หรือไม่อีกทีก็เขียนเวลากลางดึกหลังจากที่ลูก ๆ นอนแล้ว มีบางคืน เขียนติดพันเพราะมีเรื่องให้พูดมาก จึงนั่งเขียนทั้งคืนโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว เป็นช่วงเวลาที่เราได้พบความสงบทางใจ จึงใช้วิธีการนี้เป็นที่พึ่งทางใจในช่วงนั้น จำได้ว่า สามีลงมาแต่เช้าวันหนึ่ง ไม่พอใจเรา เพราะเราใช้เวลาให้กับการเขียนมากจนลืมเขา ไม่ได้สนใจเขา 

มีเสียงมาบอกให้ไปสอนไท้เก็ก

เมื่อลูกคนโตอายุได้ ๒ ขวบ ได้ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่สามีมาอยู่บ้านของตนเอง จึงเริ่มการออกกำลังกายแบบไท้เก็กที่ฝึกมาบ้างนิดหน่อยจากเมืองไทย  ฝึกต่อท่ารำให้ตัวเองโดยการเปิดดูภาพจากหนังสือซึ่งไม่ใช่ง่าย แต่ด้วยความมานะพยายาม จึงเรียนรู้ด้วยตนเองจนพอรำได้ ถูกบ้างผิดบ้าง ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา เพราะไม่ต้องไปสอนใคร

         เช้าวันหนึ่งในปี ๒๕๓๐ นั่นเอง ปรากฏการณ์พิสดารทางใจหรือแมวจับหนูคงจะเกิดขึ้นแล้ว เช้าวันนั้น ได้ออกไปในสวนรำไท้เก็กเหมือนที่เคยทำอยู่ทุกวัน เมื่อรำมาถึงท่าหนึ่งที่กำลังหันหน้าเข้าหาต้นกุหลาบนั้น เหมือนได้ยินเสียงดังก้องอยู่ในหัวเป็นภาษาอังกฤษว่า “Go and teach Tai chi”  “ไปสอนไท้เก็กสิ” พอได้ยินครั้งแรก ก็ไม่ได้ไปสนใจ เพราะความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวมีมากมาย หลายอย่างก็เป็นขยะมูลฝอยที่ไม่มีสาระอะไร คิดไถลไปว่า นั่นก็เป็นความคิดขยะอันหนึ่ง ไม่เคยคิดว่าจะเอาความสามารถอะไรไปสอนใครได้ แม้ท่ารำไท้เก็กของตนเอง ก็ยังทำไปอย่างถูก ๆ ผิด ๆ จะไปสอนคนได้อย่างไร แต่ก็แปลกมากว่า เดี๋ยว ๆ เสียงนั้นก็กลับมาก้องอยู่ในหัวอีก พูดซ้ำซากอยู่เช่นนั้น ไม่ยอมถดถอย ทั้ง ๆ ที่พยายามผลักมันออกไป ก็ไม่ได้ผล ยิ่งกว่านั้น เสียงนั้นมาพร้อมกับพลังอะไรบางอย่างที่ทำให้เราต้องสนใจ รับฟังมัน

ครู่ใหญ่ผ่านไป ประโยคนั้นก็ยังส่งเสียงก้องรังควานอยู่ในหัว จึงคิดสนุก คิดว่าจะลองทดสอบดูสักหน่อยว่ามันจะจริงจังสักแค่ไหน จึงถามเสียงนั้นว่า   

“จะให้ไปสอนที่ไหนล่ะ” Where do you want me to teach?

ถามสวนไปเล่น ๆ เท่านั้น คำตอบก็วิ่งพุ่งเข้ามาในหัวอย่างชัดเจนว่า

“The University of Birmingham” มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม

พอได้ยินเท่านั้น เรารีบสรุปว่าตัวเองต้องบ้าแน่ คิดอะไรเพ้อฝันถึงเพียงนั้น เออ…ถ้าคำตอบบอกให้เราไปเช่าที่สอนในโบสถ์ใกล้บ้าน หรือ เช่าที่ตามโรงเรียนแถวบ้าน ซึ่งคนส่วนมากก็ทำเช่นนั้น ก็ยังว่าไปอย่าง แต่จู่ ๆ มาบอกให้ไปสอนในมหาวิทยาลัย เหมือนกับเพิ่งจะเดินเตาะแตะเป็น แล้วจะให้วิ่งเสียแล้ว จะไปเอาความมั่นใจที่ไหนมาสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ นอกจากภาษาอังกฤษของเราไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ดีพอจะไปพูดคุยกับปัญญาชนได้แล้ว ความรู้ในการรำท่าไท้เก็กของเราก็ยังไม่ได้เรียกว่ารู้จริง รำเองแบบถูกบ้างผิดบ้าง กระท่อนกระแท่น จึงพยายามไม่สนใจต่อความคิดเหล่านั้น พยายามเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ คิดอะไรเพ้อเจ้อ แต่ก็แปลกมากว่าหลังจากที่เกิดเสียงเหล่านี้ในหัวแล้ว มันก็ไม่ยอมลดละ เช้าวันนั้น หลังจากที่รำไท้เก็กเสร็จแล้ว ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ตามแต่ เสียงนั้นยังก้องอยู่ในหัว บอกให้เราไปสอนไท้เก็กที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม  พร้อมกับมีพลังบางอย่างที่ทำให้เราต้องแปรความคิดนั้นเป็นการกระทำ

พลังที่รุนแรงนั้นทำให้เราต้องโทรไปที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮมในช่วงบ่ายของวันนั้น  เพื่อสอบถามว่าเขามีชั้นสอนไท้เก็กหรือไม่ รู้สึกประหม่ามาก พยายามเรียบเรียงคำพูดอย่างระมัดระวัง ปรากฏว่าเขายังไม่มีคนสอน เขาจึงแนะนำให้เขียนจดหมายไปหาเขา และส่งไปที่ศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัย ในจดหมาย เราแนะนำตัวเองว่ามีความสามารถสอนไท้เก็กได้ รู้สึกตะขิดตะขวงใจมาก เพราะรู้ว่าไม่ได้รู้จริง แต่ก็แปลกมาก พอได้ทำสิ่งเหล่านั้นในบ่ายของวันนั้นแล้ว เสียงก้องในหัวก็หายไปเหมือนปลิดทิ้ง ไม่ได้มารบกวนเราอีกเหมือนในช่วงเช้า เราก็ไม่ได้ไปสนใจมันอีก คิดว่า เป็นไปไม่ได้ ใครจะมาจ้างเรา

หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้รับจดหมายตอบจากคนรับผิดชอบ เขียนสั้น ๆ ว่าเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่จะขอพบเมื่อเขากลับมา แล้วเราก็ไม่ได้ข่าวอะไรอีกเลยเป็นเวลาหลายเดือน คิดว่า เขาคงหาคนอื่นได้แล้ว

ประมาณ ๑๐ เดือนหลังจากที่เราได้รับจดหมายจากคนรับผิดชอบนั้น และราวสามวันก่อนที่เราจะเดินทางกลับเมืองไทยกับลูกคนเล็กซึ่งตอนนั้นอายุ ๒๐ เดือน วันนั้น มีความคิดเข้ามารังควานเราอีก บอกย้ำให้เราโทรไปที่มหาวิทยาลัยให้ได้ จึงตัดสินใจโทรไปถาม มีโอกาสได้คุยกับคนที่เขียนจดหมายถึงเราเมื่อ ๑๐ เดือนก่อน เขาขอโทษขอโพยใหญ่ว่าไม่ได้ติดต่อ เพราะเขาก็ลืมไป จึงบอกให้เราไปพบเขาในวันรุ่งขึ้น Mr. Keith Bonser เป็นหัวหน้าศูนย์กีฬาซึ่งเราคิดว่า การไปพบเขาวันนั้นจะเป็นการถูกสัมภาษณ์ เขาต้องถามเราว่ามีคุณวุฒิอะไรบ้าง จึงจะไปสอนได้ เราก็เตรียมพร้อมที่จะพูดความจริงว่าเรารู้เท่าที่รู้ แต่พอไปถึง เขากลับพาไปดูห้องที่เราจะใช้สอน ห้องก็ใหญ่โตมโหฬาร ถามเราว่าพอใจหรือไม่ และกำหนดวันที่เราจะเริ่มสอนทันที เราตะลึงมาก ไม่เข้าใจสถานการณ์ว่าทำไมจึงง่ายเช่นนั้น เขารู้ได้อย่างไรว่าเราจะสอนไท้เก็กได้

กลับถึงเมืองไทยในปีนั้น จึงรีบตรงไปเรียนไท้เก็กอย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่สวนลุม เรียนอยู่ ๗ อาทิตย์เต็ม จึงเกิดความมั่นใจขึ้นมาบ้าง ในที่สุด เดือนเมษายน ๒๕๓๑ เริ่มสอนไท้เก็กที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮมโดยเริ่มอาทิตย์ละ ๑ ครั้งก่อน จนบัดนี้สอน ๗ ชั้นต่ออาทิตย์

 

 ควรสอนสมาธิด้วย

         ห้าปีแรกของการสอนที่มหาวิทยาลัยนั้น ได้ผ่านประสบการณ์เจ็บปวดที่คนอื่นไม่รู้นอกจากเราเท่านั้น เป็นความเจ็บปวดที่เนื่องกับการต่อสู้กับอัตตาตัวตนซึ่งเป็นกิเลสที่ละได้ยากมากที่สุด เป็นตัวสุดท้ายของสังโยชน์ ๑๐ แม้ว่าเราได้ถูกจ้างเข้าไปสอนไท้เก็กในฐานะการออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่ช่วยการผ่อนคลายทั้งร่างกายและสมองก็ตาม แต่มักจะมีสิ่งหนึ่งที่อยู่ในส่วนลึกของหัวใจบอกว่า เราต้องให้ความรู้เรื่องศาสนาพุทธด้วยเพื่อช่วยเหลือให้เขาพึ่งพาตนเองได้ ฉะนั้น แทนที่จะสอนแต่ท่ารำไท้เก็กอย่างเดียว สมองเรากลับพยายามโยงเรื่องไท้เก็กเข้าสู่เรื่องราวของสมาธิอยู่เสมอเหมือนกับมีอะไรมานำเราอยู่ในหัว

แต่ตอนนั้น การคิดของเรายังไม่ชัดเจนเท่าตอนนี้ จึงรู้สึกยากมากในการที่จะโยงทั้งสองสิ่งเข้าหากันอย่างมีเหตุผล ยังพูดอะไรคลุมเครือมาก แต่ทั้ง ๆ ที่ไม่ชัดเจนนัก เพียงเทอมที่สองเท่านั้น เราก็ฝึกให้นักศึกษาเดินจงกรมก่อนการรำไท้เก็กจนกลายเป็นประเพณีในชั้นเรียนของเรา ฤดูหนาวของปีแรกนั้นเอง เราก็พานักศึกษา ๑๒ คนไปนอนค้างที่วัดป่าแห่งหนึ่ง เพื่อเขาจะได้มีโอกาสฝึกสมาธิมากขึ้น หลังจากนั้นทุกปี เราก็พานักศึกษาไปปฏิบัติสมาธิภาวนาที่วัดใดวัดหนึ่งมาตลอด แนะนำให้เขารู้จักและมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของชาวพุทธซึ่งต่างจากวัฒนธรรมของเขามาก เช่น การกราบพระ การใส่บาตร ทำสมาธิ และสวดมนต์

 

สอนตัวเอง

หลายครั้งที่เราไม่ต้องการสอนสมาธิ เพราะไม่คิดว่าตัวเองมีความรู้เรื่องสมาธิพอที่จะสอนคนได้ ตอนนั้น ความชัดเจนทางธรรมยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ประติดประต่อกัน ยังคิดข้อธรรมต่าง ๆ อย่างแตกแยกกระจัดกระจายอยู่มาก ซึ่งเราเองมองไม่ออก สิ่งที่มีอยู่คือ ประสบการณ์ทางธรรมในอดีตจนถึงบัดนั้น บางครั้งก็มั่นใจในสิ่งที่ตนเองพูด แต่บางครั้งก็ไม่มั่นใจเอาเสียเลย โดยเฉพาะเมื่อเห็นนักศึกษาหดหายไป จึงอดตำหนิตัวเองไม่ได้ คิดว่าเป็นความล้มเหลว อัตตาตัวตนถูกข่วน จิตใจเจ็บปวด ทุกครั้งที่ความมั่นใจในตัวเองถดถอย ความหวาดกลัวก็ตามมา ไม่อยากเดินเข้าไปในสถาบันที่เต็มไปด้วยปัญญาชนเช่นนั้น อยากจะลาออก ไม่อยากสอนนักศึกษาอีกต่อไป คิดว่าไปทำงานร้านอาหาร หาเงินโดยใช้แรงงานดีกว่า การต่อสู้อย่างหมัดต่อหมัดจึงเกิดขึ้นบ่อยมาก

แต่ทุกครั้งที่ขาดความมั่นใจในตนเองจนหวาดกลัวเช่นนั้น มักมีเสียงมากระซิบให้เรามีเมตตาต่อปัญญาชนเหล่านั้น เพราะมนุษย์ล้วนมีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเรามีทุกข์เช่นนี้ คนอื่นก็มีทุกข์เช่นเดียวกับเรา ฉะนั้น ต้องพยายามเดินเข้าไปสอนคนเหล่านี้ให้ได้ พยายามปลอบใจตัวเองเสมอว่า หากมีคนมา ๑๐ คน ก็สอน ๑๐ คน มีมาคนเดียวก็สอนคนเดียว ถ้าไม่มีใครมาให้สอนเลย ก็ต้องสอนตัวเองให้ได้ ต้องพยายามอยู่เหนือความอับอายและความเจ็บปวดให้ได้ สามารถมองเห็นสภาวะ “หลงว่ามีตัวเอง” ได้อย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านั่นเป็นความหลง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะมันอย่างทันใดได้ทุกครั้งไป และเห็นว่าความเจ็บปวดของกายแม้จะมากมายอย่างไรก็ไม่เท่ากับความเจ็บปวดของ “ตัวตน” เมื่อมันถูกข่วนเอา เข้าใจได้ว่า การทำลายอัสมิมานะ อัตตาตัวตนของคนเรานั้นเป็นเรื่องยากมากที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องพยายามเอาปัญญาเข้าสู้ นี่เป็นความรู้สึกที่ต้องปลุกปล้ำอยู่นานหลายปี 

สามีและลูกเอือมระอาไปตาม ๆ กัน

เป็นช่วงหลายปีที่แมวต้องจับทั้งแม่หนูและลูกหนูตัวใหญ่ ๆ และต้องพยายามฆ่าให้มันตายคามือ รู้แต่ว่าถ้าหนูไม่ตายแล้ว เราต้องตายแน่ เป็นการต่อสู้ที่เราเรียกว่า หมัดต่อหมัด เหนื่อยมากบางวัน กลับจากทำงาน เข้าครัวทำกับข้าวให้ลูก เสียงที่ลอดออกจากครัวมีแต่คำว่า “อย่าลูก”  “ไม่เอา” I hate you. (ฉันเกลียดเธอ) Don’t you dare do that to me. (อย่าทำอย่างนั้นกับฉันนะ) Please don’t do that to me. (ขอร้องเถอะ อย่าทำเช่นนั้นกับฉันเลย) คำพูดเหล่านี้จะถูกยิงออกมาเป็นชุด ๆ บางครั้งก็ดังมาก ในระยะเวลาเพียงหนึ่งนาที คำว่า อย่าลูก และประโยคพ่วงท้ายทั้งหลายอาจจะออกมาร่วมร้อยครั้งเห็นจะได้ในบางครั้ง บางวัน ทำเอาเจ็บคอ เกิดเอง ไม่มีตัวเราเข้าไปบังคับได้เลย เป็นสภาวะธรรมล้วน ๆ ที่จัดการกันเอง ปัญญากำลังห้ำหั่นกิเลสอันคืออัสมิมานะหรืออัตตาตัวตนอย่างจัง ๆ ชนิดจับให้มั่นคั้นให้ตายคามือทันที ซึ่งเป็นการปฏิบัติการหรือเข้าสนามรบทางใจ ที่ทำให้เหนื่อยกายมากพอสมควรเนื่องจากต้องตะโกน เราเท่านั้นที่รู้ว่านี่เป็นวิธีการเดียวที่รักษาใจให้ปลอดภัยได้อย่างแท้จริง

สามีกับลูก ๆ เห็นเราเช่นนั้นแล้ว ก็สั่นหัวด้วยความอิดหนาระอาใจไปตาม ๆ กัน  เพราะทุกครั้งที่เราตะโกนคำอุทานออกมาดัง ๆ คนที่อยู่ใกล้มักสะดุ้งโหยงแทบจะตกเก้าอี้ทุกที นั่งไม่เป็นสุขในบ้านของตนเอง  ไม่เข้าใจว่ามันมีอะไรนักหนาในหัวเราถึงต้องตะโกนลั่นบ้านเช่นนั้น ตอนแรก ๆ พวกเขามักคิดว่าเราตะโกนไปที่เขา ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะค่อย ๆ ชินกับความผิดปกติและความเพี้ยนของเรา

เวลาที่เราตะโกนคำอุทานออกมาดัง ๆ นั้น อธิบายให้พวกเขาฟังได้แต่เพียงว่า หนูมันตัวใหญ่มากเท่านั้นเอง พอเราพูดเรื่องแมวจับหนู ก็ยิ่งทำให้พวกเขาปลงตกในตัวเรามากขึ้น สรุปว่าเราบ้า เพี้ยน ไม่เหมือนชาวบ้าน ซึ่งเป็นคำตอบที่ง่ายที่สุดสำหรับเขา มีเราเท่านั้นที่รู้ว่า ตราบใดที่แมวยังจับหนูให้เราอยู่เช่นนี้ ก็น่าพอใจแล้ว เรายังพออยู่ได้ ถ้าแมวไม่จับหนูให้ เราต้องตายแน่      

 

ถามเอง ตอบเอง

         นอกจากสภาวะของแมวจับหนูซึ่งเป็นปรากฏการณ์พิสดารทางใจที่ทำงานอย่างต่อเนื่องในใจของเราในช่วงนั้นแล้ว เราเริ่มสังเกตเห็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ การถามเอง ตอบเอง ซึ่งมันคงเกิดก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มองไม่ชัด ที่จริงทุกอย่างมันมาชัดในช่วงหลังนี่เอง นี่จึงเป็นการเล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง 

          ภายในสองปีหลังจากที่เริ่มสอนนั้น เราก็เริ่มจับงานเขียนภาษาอังกฤษ โดยเริ่มถอดเทปม้วนหนึ่งของหลวงพ่อเทียน ซึ่งมีพระฝรั่งรูปหนึ่งแปลคำสอนของท่านออกเป็นภาษาอังกฤษ เราฟังแล้ว มีความรู้สึกว่าฝรั่งน่าจะเข้าใจคำสอนเหล่านี้ได้ เมื่อถอดเทปเรียบเรียงคำสอนของหลวงพ่อเทียนออกมาได้ประมาณ ๔ ถึง ๕ หน้าเท่านั้น ค่อย ๆ เห็นตัวเองใส่คำพูดของเราเข้าไปแทน คำว่า I ซึ่งตอนแรกแทนตัวของหลวงพ่อเทียนนั้น ค่อย ๆ กลายเป็นตัวเราพูดเอง มีความรู้สึกว่า เราพูดได้ เขียนได้ และมีสิ่งต่าง ๆ มากมายในหัวที่สามารถถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านได้ สมองเริ่มปราดเปรียว การเขียนงานภาษาอังกฤษจึงเริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น ตอนแรกก็รู้สึกว่ามันยากมาก เพราะไม่ใช่เป็นภาษาของตัวเอง แต่ก็ไม่ละความพยายาม ต่อมาจึงค่อย ๆ รู้สึกง่ายขึ้น และทำมาจนถึงบัดนี้ 

งานเขียนนั้น คราใดที่ความคิดติดขัด ไม่สามารถคิดต่อได้ เราก็จะทิ้งไว้ก่อน ไปทำอย่างอื่นก่อน ในช่วงขณะที่เราคาดไม่ถึงนั้น ก็มีเสียงพูดเข้ามาในหัวอันเป็นคำตอบที่ต้องการ และสิ่งที่ติดขัดก็หายไปอย่างฉับพลันทันใด มีข้อมูลที่จะเขียนต่ออีก  ตอนนั้น เป็นช่วงที่เราฟังเทปธรรมะของอาจารย์โกวิทบ่อยมาก ถ้าทำงานอะไรอยู่ในครัว ก็จะต้องฟังเทปของอาจารย์เสมอ จะฟังแต่ละม้วนอย่างซ้ำซาก แต่มักจะจับอะไรใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ คำพูดของอาจารย์เผอิญมาถูกกับปัญญาจริตของเราด้วย ฉะนั้น อาจารย์อาจจะพูดถึงคำหนึ่ง เรื่องหนึ่งอย่างผ่าน ๆ แต่เมื่อเราได้ยินและโน้มจิตเข้าไปแล้ว สมองเราจะกระจายคำ ๆ นั้นหรือความคิดนั้นออกไปอีกไกลมาก จนบางครั้งกลายเป็นบทหนึ่งของหนังสือไป

สิ่งที่แปลกมากคือ ในขณะที่สมองของเราปราดเปรียวมากเช่นนั้นก็ตาม เรากลับไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้คิดค้นคำพูดและคำตอบเหล่านั้น กลับเห็นปรากฏการณ์ที่เป็นอิสระในจิตใจของตนเอง คือการถามเอง ตอบเอง ทั้งคนถามและคนตอบไม่ใช่ตัวเรา เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ห่างออกไป มีความรู้สึกว่า มือของเราเป็นเพียงทาสรับใช้ให้ปรากฏการณ์อิสระนี้เท่านั้น การเห็นเช่นนั้น ทำให้จิตใจสามารถคงความเป็นธรรมดา ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งแต่อย่างใด

ตอนนี้จึงมองออกว่านั่นเป็นความรู้สึกที่ถูกต้องแล้ว เป็นขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ เพราะในที่สุดแล้ว ตัวตน ฉัน ของฉัน ไม่มีมาแต่ต้นแล้ว สภาวะแมวจับหนูในช่วงนั้นของเราได้ค่อย ๆ ทำลายความรู้สึกแห่งตัวตนให้หายไป สิ่งที่เหลืออยู่คือ สภาวะของจิตที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยกันเท่านั้น

ตอนนี้สามารถเห็นชัดว่า สภาวะถามเองตอบเองนี้ ที่จริงแล้วก็เกิดขึ้นแม้กับคนธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา แต่คนส่วนมากไม่รู้ และหากไม่มีสัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐานในระดับความคิดแล้ว คนที่มีความสามารถในการใช้สมอง สามารถคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ได้ มักอดไม่ได้ที่จะคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเป็นเจ้าของความคิดที่เก่งกาจนั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะขาดความรู้ขั้นพื้นฐานเรื่องไม่มีตัวตน ที่จริงแล้ว จิตของแต่ละคนล้วนทำงานไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเท่านั้น ปัจจัยหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ว่าใครป้อนข้อมูลเข้าไปในสมองมากน้อยต่างกันอย่างไร และยังมีปัจจัยในเรื่องของจริตและกรรมที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไรอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจัยต่าง ๆ พร้อม สมองหรือจิตของคน ๆ นั้นก็จะเริ่มขบวนการจับต้นชนปลายของมันเอง ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติวิปัสสนาจึงจะสามารถเห็นสภาวะการถามเอง ตอบเอง หรือการจับต้นชนปลายของจิตที่เกิดขึ้นอย่างอิสระได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของจิตที่พิสดารไม่น้อยเช่นกัน