บทที่สิบสอง มรรคกับผลเกิดแล้ว แต่นิพพานยังไม่เกิด

 

แมวเริ่มตะปบหนูได้เก่งขึ้น

สภาวะแมวจับหนูซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรานั้นได้ค่อย ๆ พัฒนาความชำนาญของตนเองโดยที่เราไม่มีส่วนเข้าไปยุ่งด้วยเลย มันเกิดของมันเอง หลังจากที่เราเริ่มเห็นสภาวะแมวจับหนูเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๐ นั้น ในช่วง ๔ หรือ ๕ ปีแรกนั้น เป็นสภาวะที่แมวต้องจับทั้งแม่หนู (ความคิด) และลูกหนู (ความรู้สึก) ตัวใหญ่ ๆ  หมายความว่าใจยังถูกจิตข่วนอย่างรุนแรงบ้าง ยังมีความทุกข์ที่เข้ามาคุกคามใจ หลังจากนั้น เราก็เริ่มสังเกตเห็นว่าแมว (สติ) ตัวนี้มีความไวในการจับหนู (ความคิด) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

มันเริ่มจากการที่ลูกคนเล็กชอบถามแม่ว่า

แม่คิดอะไรไม่ดีหรือจึงพูด “อย่าลูก” What was your bad mind, mummy?

เราจึงต้องสำรวจย้อนหลัง ถึงความคิดที่เพิ่งหายไปนั้น และบอกลูกว่า แม่กำลังคิดอะไรอยู่ บางครั้งก็บอกลูกได้อย่างชัดเจนว่าคิดอะไรอยู่ แต่บางครั้งก็บอกลูกไม่ได้ เพราะแม้เราเองก็ไม่เห็นความคิดอันนั้นซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ สติหรือแมวตัวนี้เริ่มมีฝีเท้าเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากมันสามารถจับแม่หนู (ความคิด) ก่อนที่มันจะคลอดลูกหนู (ความรู้สึก) ได้แล้ว มันยังวิ่งขึ้นหน้าไปไกลกว่านั้นอีก คือ ไปดักที่ขั้นตอนก่อนแม่หนูจะถูกคลอดออกมาจากท้องของแม่มันอีกทีหนึ่งด้วยซ้ำไป เราจึงไม่เห็นแม้แต่แม่หนู(ความคิด)ที่แมวเข้าไปตะปบ นับว่าเป็นความอัศจรรย์ทางใจอีกขั้นตอนหนึ่งก็ได้ 

 

สังขาร เจตสิก จิต

ปรากฏการณ์อันพิสดารนี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจการทำงานของจิตและเจตสิกได้อย่างชัดเจน ที่จริงแล้ว เรื่องรูป จิต เจตสิก และนิพพาน เป็นข้อธรรมที่เราไม่เคยให้ความสนใจมาก่อนเลย ไม่เคยพูดถึง เพิ่งจะมาพูดอย่างเข้าใจเมื่อต้นปี ๒๕๔๔ นี่เอง  เพราะมันสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางใจที่เกิดกับเราได้

ถ้าจะอธิบายให้คนเข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็ต้องบอกให้เขาดูจิตว่าเป็นความคิด จิตกับความคิดคือสิ่งเดียวกัน ซึ่งเราเปรียบเทียบให้เป็นแม่หนูมาตลอด แม่หนูตัวนี้มันก็ต้องคลอดออกจากท้องของแม่ของมันอีกที แม่ของแม่หนูตัวนี้ก็คือ เจตสิกนั้นเอง นักอภิธรรมมักเรียกเจตสิกว่าเป็นดวง ๆ เราก็ไม่รู้ละว่ามันเป็นดวงหรือเปล่า เจตสิกก็คือชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เมื่อรวมตัวกันเข้าแล้วก็กลายเป็นจิตหรือความคิดนั่นเอง จะเปรียบเทียบตัวเจตสิกให้เป็นโมเลกุลอันเป็นส่วนย่อยที่ประกอบขึ้นมาเป็นเซลหรือความคิดก็ได้

เมื่อพูดคำว่าเจตสิกแล้ว ก็ควรพูดถึงสังขารด้วย เพราะสังขารกับเจตสิกทำงานร่วมกันเสมอ สังขารเปรียบเทียบเหมือน บริษัทก่อสร้างที่มีทั้งนักสถาปัตยกร นักวิศวกร และนายช่างก่อสร้างพร้อม ส่วนเจตสิก คือ วัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ หิน อิฐ กรวด ทราย ซีเมนต์ น้ำ ที่สังขารหรือบริษัทก่อสร้างต้องนำมาเพื่อสร้างบ้าน ถ้าไม่มีวัสดุก่อสร้างแล้ว บ้านก็สร้างไม่ได้ บ้านที่สร้างเสร็จออกมาก็คือตัวจิตหรือตัวความคิดนี่เอง ฉะนั้น จึงเรียงออกมาเป็น สังขาร เจตสิก จิต คือ มีบริษัทก่อสร้าง (สังขาร) ที่นำเอาวัสดุก่อสร้างมารวมกัน (เจตสิก) จนสร้างออกมาเป็นบ้าน (จิตหรือความคิด) ได้  

ฉะนั้น ก่อนที่แต่ละความคิด (แม่หนู) จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีการรวมตัวของเจตสิกเสียก่อน เป็นช่วงที่สังขารกำลังก่อตัว หรืออยู่ในภาวะที่กำลังสร้างบ้านนั่นเอง พอเจตสิกรวมตัวกันได้เมื่อใด จิต หรือ ความคิด หรือ แม่หนู ก็จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ฉะนั้น เมื่อแมวหรือสติมีความไวมากขึ้นแล้ว แทนที่จะจับตัวความคิด (แม่หนู) ที่ก่อร่างสร้างตัวเสร็จแล้ว มันกลับสามารถวิ่งไปตะปบเอาตอนที่เจตสิกทั้งหลายกำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่ ตัวความคิดหรือแม่หนูจึงยังไม่ได้สำเร็จออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ เพราะบ้านยังสร้างไม่เสร็จดีนั่นเอง กำลังถูกสร้างอยู่ สติก็เข้าไปทำลายมันเสียแล้ว สิ่งที่เห็นได้มีแต่เพียงสภาวะวั๊บ ๆ แวม ๆ เหมือนมีอะไรกำลังจะเกิด แต่ยังไม่ทันได้เกิดเต็มที่ แมว (สติ) ก็วิ่งไปตะปบและเขมือบมันเสียก่อนแล้ว แสดงให้เห็นถึงความชำนาญอย่างยิ่งยวดของสติหรือแมวตัวนี้ ที่สามารถเข้าไปจัดการกับเรื่องที่ละเอียดละออมากอย่างตัวเจตสิก หรือ สภาวะสังขารที่กำลังปรุงแต่งอยู่  สังขารซึ่งเป็นลูกโซ่ที่สองของปฏิจสมุปบาท คนที่จะเข้าใจการอธิบายนี้ได้ดี คือ ผู้ที่กำลังฝึกวิปัสสนาอยู่

 

ทำลายสายโซ่ที่สองของปฏิจจสมุปบาท ไม่ธรรมดาแล้ว

 

ฉะนั้น ราวปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา สภาวะใจของเราก็ได้ดำเนินมาอยู่ในขั้นตอนที่สติต่อสู้กับตัวสังขารมาตลอด สายโซ่ปฏิจสมุปบาทในจิตใจของเราถูกตัดเหลือเพียงสองห่วงเป็นส่วนมาก คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารเท่านั้น พอสังขารกำลังเกิดอยู่ สติก็ไล่ทันเสียแล้ว ทำลายทั้งสังขารและอวิชชาทันที อีก ๑๐ ห่วงที่เหลือของสายโซ่จึงไม่มีโอกาสก่อตัวได้ ทุกข์จึงไม่มี

เมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่า ได้อยู่กับความว่างหรือความสงบมากขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่เพราะยังอยู่กับโลกสมมุติโดยเฉพาะครอบครัวและสังคมที่มีแต่คนมืดบอด บางครั้งก็ต้องเจอผัสสะบางชนิดที่สกปรกมากจนน่าใจหาย จึงมีบ้างเหมือนกันที่สายโซ่แห่งปฏิจสมุปบาทวิ่งตลอดสายของมัน ใจถูกข่วนเข้าไปอย่างจังบ้าง แต่ก้อนทุกข์ก็อยู่ไม่นาน การปรับตัวของใจจะเกิดทันที ก้อนทุกข์คลายตัวทันที

ทุกครั้งที่สายโซ่แห่งปฏิจจสมุปบาทได้วิ่งเต็มที่นั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกความโง่หัวเราะเยาะเอาถ่ายเดียวก็ไม่เชิง เพราะปัญญามักเข้ามาผสมโรงแปรเหตุการณ์นั้นเป็นอีกบทเรียนหนึ่งให้เรียนรู้เสมอ ทำให้สามารถเทียบเคียงความหยาบและความละเอียดของจิตใจได้ดีขึ้น

เมื่อใจเข้าสู่สภาวะที่ละเอียดอยู่นาน มันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาของเราไป ไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งวิเศษวิโสอะไร ซึ่งที่จริง การทำลายห่วงโซ่ที่สองของปฏิจสมุปบาทได้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาแล้ว เพราะกำลังยืนอยู่หน้าประตูพระนิพพานแล้ว แต่เพราะนี่คือความรู้ที่เกิดขึ้นจริงในหัวจิตหัวใจของเรา เราจึงไม่รู้สึกอะไรนอกจากเห็นเป็นเรื่องการทำงานที่เป็นธรรมดาของจิตใจเท่านั้น เพราะมันเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นความรู้ที่แท้จริง เป็นองค์มรรคที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ดีแล้ว จึงไม่มีการแอบอ้างความเป็นเจ้าของความรู้ที่วิเศษและมหัศจรรย์อย่างยิ่งยวดนั้น

 

 

เหลือแต่ผัสสะบริสุทธิ์เป็นส่วนมาก

ฉะนั้น การที่ได้เจอก้อนทุกข์บ้างเป็นครั้งคราวจึงกลายเป็นประโยชน์แก่เราในแง่การเปรียบเทียบสภาวะของใจที่หยาบและละเอียด  ทำให้สามารถเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ในโลกอันมืดบอดได้ชัดขึ้น เพราะการอยู่ในโลกแห่งความว่างนาน ๆ นั้น เริ่มจะลืมความรู้สึกทุกข์ของคนหมู่มาก ลืมไปว่าความเจ็บปวดเมื่อใจถูกบดขยี้นั้นมันเป็นอย่างไร มันควรรู้สึกอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อแมวหรือสติสามารถจัดการกับตัวสังขารได้ในปี ๒๕๓๕ แล้ว การวิ่งของสายโซ่แห่งปฏิจสมุปบาทเต็มสาย หรือ สภาวะที่ใจถูกข่วนเต็มที่นั้นก็มีน้อยลงตามลำดับ

ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ความคิดที่เข้ามาในหัวจะหลุดและร่อนออกไปง่ายมาก มันหลุดร่อนของมันเอง เมื่อใจว่างจากจิตหรือความคิดแล้ว มันก็ย่อมว่างจากความรู้สึกที่มีอัตตาตัวตนด้วย สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีแต่ผัสสะที่บริสุทธิ์ innocent perception เท่านั้น

 

เล่นไปตามบทบาทของโลกสมมุติ    

         เราได้เห็นความสงบของใจและรู้ว่ามันมีหน้าตาอย่างไรมาตั้งแต่เริ่มฝึกสมาธิในสมัยที่เป็นนักศึกษาแล้ว จึงรู้แน่ชัดว่า ความสงบของใจเป็นสรณะที่พึ่งพาได้อย่างแท้จริง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้คนพึ่งตัวเองก็คือพึ่งสภาวะใจที่สงบนี้เอง และเราก็รู้ด้วยว่า ความสงบตัวนี้จะมีให้ครองได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา หรือ พูดให้แคบกว่านั้นคือ การปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนานั่นเอง

         แม้ได้รู้จักความสงบของใจมาเนิ่นนานก็จริงอยู่ โดยเฉพาะหลังจากที่สภาวะแมวจับหนูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราจนสติสามารถจับเข้าไปถึงตัวเจตสิก ทำลายการปรุงแต่งของสังขารได้แล้วก็ตาม การปฏิบัติของเราในช่วงนั้นเหมือนไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว แมวยังต้องจับหนูอยู่ แต่มันก็เกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ ทำของมันเอง ไม่รู้สึกว่ามีตัวเราที่ต้องเข้าไปยุ่งกับการทำงานอันเป็นอัตโนมัตินั้น ความรู้สึกแห่งความมีตัวตนจึงน้อยลงไปมาก ทำให้ความดิ้นรนกระสับกระส่ายที่อยากได้โน่นได้นี่ เป็นโน่นเป็นนี่ก็น้อยมากตามไปด้วย

ชีวิตในแต่ละวันก็คือ การเล่นบทบาทและทำสิ่งต่าง ๆ ตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยโลกของสมมุติ คือ เล่นบทบาทของภรรยา แม่ และครูสอนไท้เก็ก แต่โลกภายในของเรามันก็อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นส่วนตัว ไม่มีใครรู้เห็น เป็นโลกที่อิงอยู่กับความสงบ มีใจที่ไม่ซัดส่ายไปตามคลื่นลมของโลกธรรม แต่แม้จะทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายก็ตาม เรารู้ว่า เหมือนมีอะไรบางอย่างที่ยังรู้ไม่ชัดเจนนัก และรู้ด้วยว่า ความสงบนั้นยังไม่เหมือนกับสภาวะพิสดารทางใจที่เกิดขึ้นที่บ้านพรานนก แต่ก็ยังนำมาประสานกันไม่ได้

ม่านบังตาบาง ๆ สภาวะก่อนเกิดญาณขั้นสุดท้าย

จำได้แม่นยำถึงวัน ๆ หนึ่ง เรานั่งอยู่ริมหน้าต่างในห้องนอน กำลังเขียนงานภาษาอังกฤษเล่มแรกอยู่ ราวปี ๒๕๓๔ มีช่วงขณะหนึ่งที่หยุดเขียนและทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่างเห็นภาพวิวของสวนหลังบ้านที่มีต้นไม้และสนามหญ้าเขียวสด เรามองภาพเหล่านั้นด้วยสภาวะใจที่สงบ ราบเรียบ เหมือนทะเลสาปที่ปราศจากคลื่นลม ทั้งสายตาและใจตรึงอยู่กับภาพนั้นอยู่ครู่หนึ่ง ครู่นั้นเอง เหมือนกับรู้ว่า มีม่านบาง ๆ ผืนหนึ่งกำลังกั้นระหว่างใจของเรากับสิ่งที่เรามองเห็นอยู่เบื้องหน้า คือ เหมือนกับรู้ว่า คำตอบที่สำคัญของทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ในภาพที่เราเห็นเบื้องหน้าแน่นอน แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

พอไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงต้องโน้มเอาปัญญาของพระพุทธเจ้ามาคิดเทียบเคียงว่า ภาพของสวนที่เห็นเบื้องหน้ามันก็เป็นอย่างนั้นเอง หรือ ตถตา ซึ่งมันก็มองได้ มองออก แต่ก็ยังเป็นการมองชนิดที่มองตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะไว้ ยังไม่ใช่เป็นการมองที่เกิดจากญาณรู้ของตนเองอย่างแท้จริง

ถ้าจะเปรียบเทียบเหมือนที่ได้เปรียบไว้ในใบไม้กำมือเดียวคือ เรื่องการเห็นภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิตินั่นเอง ภาพของสวนหลังบ้านที่เรามองจากริมหน้าต่างห้องนอนตอนนั้นเหมือนกำลังเห็นภาพสองมิติอยู่ และในขณะที่เรากำลังมองภาพสองมิตินั้น เหมือนกับรู้ว่า ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในภาพสองมิตินั้นอย่างแน่นอน แต่ตอนนั้น ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงมองภาพของสองมิติโดยการคิดเทียบเคียงตามไปด้วยว่านี่คือภาพสามมิติหรือพระนิพพาน แต่เป็นเพราะยังรู้ไม่จริงว่าภาพสามมิติหรือพระนิพพาน หรือสภาวะตถตาจริง ๆ นั้นมันมีหน้าตาอย่างไร จึงเกิดความรู้สึกเหมือนกับรู้ว่า ยังไม่รู้อะไรบางอย่าง ยังมีสิ่งหนึ่งที่ขาดด้วนอยู่ 

จำความรู้สึกของวันนั้นได้ชัดมาก และมันก็เกิดอีกเป็นครั้งคราวบ่อยขึ้นหลังจากนั้น ทำให้เราต้องถามตัวเองเสมอว่า อะไร คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อะไรคือ ธรรม ตัวนั้นที่จะเป็นฐานของการเพ่ง นี่ก็เป็นสภาวะที่แปลกมาก จะเรียกว่าเป็นสภาวะก่อนการเกิดญาณขั้นสุดท้ายก็ได้ เหมือนกับดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นที่ขอบฟ้าแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มทอออกมาให้เห็น รออยู่อย่างเดียวคือ ดวงอาทิตย์นั่นเอง   

 

มีแต่มรรคกับผล ยังไม่มีนิพพาน

  ม่านบาง ๆ ผืนนี้ได้อยู่กับเราหลายปีนับตั้งแต่เกิดสภาวะแมวจับหนู ตอนนี้จึงมองออกว่า สิ่งที่ขาดไปคือ ความสามารถในการมองเห็นภาพใหญ่ของชีวิตและจักรวาลนั่นเอง หรือถ้าจะพูดในแง่ มรรค ผล นิพพาน สภาวะใจของเราในช่วงนั้นมีทั้งมรรคและผลแล้ว แต่ยังไม่มีนิพพาน จึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องทำอีก เพราะทั้งมรรคและผลได้เกิดแล้ว แต่นิพพานคืออะไรล่ะ เราไม่รู้ รู้แต่ว่า นิพพานเป็นสิ่งที่เร่งไม่ได้ นักปฏิบัติธรรมทุกคนรู้เหมือนกันหมดว่า นิพพานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง จะไปฉุดรั้งหรือเร่งมันไม่ได้ทั้งนั้น  แต่หน้าตามันเป็นอย่างไร มีใครรู้ไม๊ เราก็ไม่รู้ แต่เพราะมันยังไม่เกิดนี่แหละ ความรู้สิ่งหนึ่งจึงขาดไป

หนังสือภาษาอังกฤษเรื่อง Can a Caterpillar be perfect? ของเราเป็นงานเขียนที่เกิดขึ้นในช่วงปีเหล่านั้น คือ ก่อนปี ๒๕๔๐ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนั้นแล้ว จะเห็นว่า เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิตประภัสสร ความเป็นมายา เรื่องสติวิ่งไล่ความคิด หรือ แมวจับหนู ได้ชัดเจนพอสมควร แต่เนื้อหาเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นภาพเล็กที่อยู่ในภาพใหญ่อีกทีหนึ่งเท่านั้นเอง หรือพูดในเรื่องรายละเอียดที่ซ่อนตามจุดต่าง ๆ ของโครงสร้างใหญ่ของชีวิตเท่านั้น เป็นวิธีการเขียนที่ยังแตกแยกอยู่ ปราศจากโครงสร้างใหญ่ เพราะเรายังไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอด การเน้นถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตจึงยังไม่เกิด ไม่สามารถบอกคนด้วยคำพูดที่ออกจากหัวใจว่า นิพพานเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของชีวิต ขาดน้ำหนักในคำพูดทุกครั้งที่พูดถึงนิพพาน จึงยังต้องพูดตามพระพุทธเจ้าอยู่ ที่จริง งานเขียนของเราด้วยวิธีการเขียนเช่นนั้นยังมีมากพอที่จะพิมพ์เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง แต่เราตัดสินใจลบออกจากคอมพิวเตอร์หมดเมื่อต้นปี ๒๕๔๔ นี่เอง เพราะอ่านแล้ว เห็นชัดว่าขาดสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตไป

 

แม่เสีย จิตกำเริบ

         ถ้าจะถามว่าในโลกนี้ เรารักใครมากที่สุด ต้องตอบว่ารักแม่มากที่สุด ตอนที่ตัดสินใจแต่งงานมาอยู่อังกฤษนั้น รู้ว่าต้องจากแม่ไปไกล แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา เพราะก่อนแต่งงานก็ตะลอนไปโน่นนี่อยู่เสมอ คิดอย่างเพ้อฝันว่า ยังไม่ต้องรีบมีลูก ทำงานเก็บเงินได้แล้ว ก็กลับมาหาแม่ มาอยู่กับแม่ ไม่เคยรู้ว่า ภายใน ๕ ปีหลังแต่งงาน นอกจากจะถูกมัดมือมัดเท้าแล้ว ยังมีบ่วงแขวนคออยู่อีกถึงสามบ่วง เงินทองในกระเป๋าก็มีน้อย ความอยากจะกลับมาใช้เวลาอยู่กับแม่นาน ๆ จึงเป็นเพียงความฝันที่เกิดจริงได้ยาก ได้กลับเมืองไทยมาเยี่ยมพ่อแม่ทั้งหมด ๘ ครั้งในช่วงเวลา ๑๕ ปีของชีวิตแต่งงาน กลับมาอยู่ได้ก็เพียงไม่กี่อาทิตย์แล้วก็ต้องรีบกลับไปดูแลครอบครัวตัวเอง จึงฝันต่อว่า เมื่อลูกโต จะขอกลับมาอยู่กับแม่นาน ๆ ใช้เวลาคุยกับแม่และดูแลแม่บ้าง บางครั้งก็ลืมไปว่า เมื่อลูกเราโต มันหมายความว่าแม่เราก็แก่เฒ่าชราตามไปด้วย ท่านจะจากเราไปเมื่อไรก็ได้

เมื่อได้ข่าวว่าพ่อเสียในเดือนธันวาคม ๒๕๓๘ นั้น เรารับข่าวนั้นได้อย่างสงบ เพราะความผูกพันกับพ่อนั้นมีน้อย ตอนกลับมางานศพพ่อ เห็นแม่ซึ่งบัดนั้นอายุใกล้ ๘๐ และไม่ได้เป็นแม่คนเดิมที่แข็งแรง ชอบหิ้วของหนัก ๆ ขึ้นรถเมล์แล้ว รู้สึกใจหายว๊าบ กลับมาเมืองไทยแล้ว ไม่เห็นพ่อนั้น รู้สึกธรรมดามาก พ่ออยู่ต่างจังหวัด และเราก็ไม่เคยอยู่กับพ่อ แต่มาคิดว่า หากกลับมาเมืองไทยแล้วไม่มีใบหน้าที่คุ้นเคยมากที่สุด ที่ยิ้มแย้มและอบอุ่นของแม่ให้เราเห็นแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เราไม่กล้าคิด กลัวมาก

ประมาณ ๓ หรือ ๔ ปี ก่อนหน้าที่พ่อแม่จะเสียชีวิตนั้น สิ่งที่เราพอทำได้คือ การภาวนาให้พ่อแม่ชราสามารถละสังขารได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคำภาวนาของเราก็เป็นจริง ทั้งพ่อกับแม่สิ้นชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเลย

         ๑๐ เดือนหลังจากที่ได้กลับมางานศพพ่อ เราก็พาลูกคนเล็กตอนนั้นอายุ ๑๐ ขวบกลับมาหายาย เหมือนมีความรู้สึกว่าจะได้อยู่กับแม่เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว พอกลับไปอังกฤษได้เพียง ๗ อาทิตย์เท่านั้น แม่ก็เสียชีวิตในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๐ ประมาณ ๕ วันก่อนแม่เสีย เราได้คุยกับแม่ทางโทรศัพท์ เล่าให้แม่ฟังเรื่องที่เราพานักศึกษาราว ๓๐ คนมารำไท้เก็กที่สวนสาธารณะแถวบ้าน และพาพวกเขากลับมาบ้านกินข้าวราดแกง แม่ฟังแล้วก็อนุโมทนากับงานที่เราทำกับนักศึกษา อดห่วงลูกสาวไม่ได้ว่าคงเหนื่อยมาก เมื่อรู้ว่าเรารับผิดชอบงานทั้งหมดคนเดียวตั้งแต่การสอนตลอดจนการทำกับข้าวเลี้ยงลูกศิษย์    

         เมื่อได้ยินว่าแม่ของคนอื่นเสีย ดูออกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่พอแม่ตัวเองเสีย ใจที่เคยราบเรียบกลับกำเริบเหมือนกำลังเดินฝ่ามรสุมที่เต็มไปด้วยเมฆดำก้อนใหญ่ มองอะไรไม่เห็นนอกจากความเจ็บปวดอันเกิดจากความพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหนอย่างสูงสุด ความรู้สึกสูญเสียแม่ผู้มีพระคุณและที่รักยิ่งอย่างไม่มีวันกลับเป็นอย่างนี้เองหรือ เหมือนมีรูโหว่อยู่ในหัวใจ ที่จริง การจากแม่มาอยู่เมืองไกล ทุกครั้งที่คิดถึงแม่มาก แต่ไม่สามารถอยู่ใกล้แม่ได้ ทำให้เคยหัดคิดว่ามันก็เหมือนกับการคิดว่าแม่ตายแล้ว เพราะมันคือการไม่ได้เห็นหน้าแม่เท่าเทียมกันหมด แต่มันจะเหมือนกันไม่ได้ เพราะอยู่ไกลแม่นั้น เรายังสามารถยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาคุยกับแม่ได้ แต่แม่ตายนั้น เราคุยด้วยไม่ได้แม้ทางโทรศัพท์ เมื่อแม่ตายไปจริง ๆ จึงรู้รสชาดของการสูญเสียของสุดที่รักอย่างแท้จริงในชีวิตเป็นครั้งแรก เจ็บปวดถึงขั้วหัวใจ ยิ่งเจ็บมากขึ้นเมื่อหวนคิดถึงความเพ้อฝันเมื่อหลาย ๆ ปีก่อนหน้านั้นว่า เมื่อลูกโต จะมาอยู่ใกล้แม่ นอนคุยกับแม่ให้นาน ๆ จะอยู่ซะ ๖ เดือนหรือปีหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์อย่างที่เคยทำ แล้วก็ต้องตะลอนกลับอังกฤษอีก ที่เจ็บปวดมากเพราะรู้ว่าความฝันของเราไม่เคยเกิดและไม่มีวันได้เกิดอีกแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า เมืองไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีก หากกลับมาแล้วไม่เห็นหน้าแม่ จึงร้องไห้มากในงานศพของแม่ แม้ทุกวันนี้ เมื่อจะพูดถึงแม่แล้ว ยังเรียกน้ำตาได้เสมอ

         เมื่อความโศกเศร้าจากการสูญเสียแม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะรู้สึกคือ ความรู้สึกหมดห่วงอย่างสิ้นเชิง เมื่อตอนที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่ามีพี่น้องอีกถึง ๖ คนดูแลท่านอยู่ แต่ในฐานะที่เป็นลูก ก็อดห่วงพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไม่ได้ จึงได้แต่แผ่เมตตาและภาวนาให้ท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ หากท่านถึงวาระของอายุขัยแล้วไซร้ ก็ขอให้ท่านละสังขารอย่างง่ายดาย ไม่ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นความห่วงใยอันเป็นความรู้สึกที่ห้อยอยู่ในใจเรานานนับปี แต่เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว และหลังจากความโศกเศร้าได้คลายตัวไปตามกฎแห่งอนิจจังแล้ว ความรู้สึกห่วงใยเหล่านั้นก็อันตรธานหายไปเป็นปลิดทิ้ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่มีพ่อกับแม่ให้เราห่วงใยอีกแล้ว จิตใจจึงเหลือแต่ความโล่ง โปร่งเบา ปราศจากน้ำหนักอะไรถ่วงอยู่