บทที่สิบสาม ญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา

 

วันที่เกิดญาณ

                    แม่เสียเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ คงจะราวเดือนตุลาคม ของปีเดียวกันนั้นเอง  ปรากฏการณ์พิสดารทางใจก็เกิดกับเราอีกครั้งหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ใหม่เอี่ยม ที่ไม่เคยประสบมาก่อน

                    จำได้แต่เพียงว่า วันนั้นเป็นวันอังคาร สอนนักศึกษาชั้นก้าวหน้า advanced class ซึ่งมีนักศึกษาชายหญิงราว ๗ ถึง ๘ คน ทุกครั้งที่เริ่มสอน จะเน้นให้นักศึกษาเริ่มมีสติอยู่กับลมหายใจและการเคลื่อนไหวของปัจจุบันขณะทันที โดยมีท่าต่าง ๆ ให้เขาทำอย่างช้า ๆ พร้อมการหายใจอย่างลึก ๆ จะทำอยู่นาน ๑๕ นาที เป็นวิธีการนำใจที่ยุ่งเหยิงของพวกเขาให้ทำงานช้าลง ช่วงนี้นักศึกษามักจะทำท่าเหล่านั้นในขณะที่หลับตา เมื่อ ๑๕ นาทีผ่านไป ใบหน้าของพวกเขาก็จะเริ่มมีแววแห่งความสงบ และแล้ว เราก็จะเน้นหัวข้อธรรมหรือข้อคิดอะไรสักอย่างเสมอเพื่อพาให้นักศึกษาได้โน้มใจที่สงบนั้นคิดตามไปด้วย ซึ่งส่วนมากก็เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตอันเนื่องกับ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เพียงแต่ต้องสื่อด้วยภาษาที่เขาเข้าใจและยอมรับได้ 

เนื่องจากเป็นชั้นก้าวหน้าที่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนาทั้งจากการรำไท้เก็กและวิธีการอื่น ๆ กับเรามาพอสมควรแล้ว จึงเห็นว่าควรพาเขาเข้ามาสู่ข้อธรรมทางศาสนาพุทธบ้าง จึงคิดว่าจะพูดเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้นักศึกษาชินกับคำศัพท์บาลี เผื่อว่าเขาไปอ่านหนังสือภายหลัง จะได้คุ้นเคยกับคำเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้ปฏิบัติมาแล้ว เพียงไม่รู้ว่าสิ่งที่เขากำลังปฏิบัติอยู่นั้น พระพุทธเจ้าได้แจกแจงไว้แล้ว

                    เราจึงเดินไปที่กระดานเขียนหัวข้อสติปัฏฐานทั้งสี่ เมื่อเขียนมาถึงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น เห็นจิตบอกตัวเองว่า เรายังไม่เข้าใจฐานนี้ดีพอ ฉะนั้น จะยอมรับตรง ๆ กับนักศึกษาว่าไม่รู้ เมื่อเขียนเสร็จ จึงเดินออกจากกระดานประมาณ ๕ ถึง ๖ ก้าวเพื่อมายืนตรงกลางห้อง ในขณะที่หันกลับไปมองกระดานนั้นเอง ใจก็สว่างโพล่งขึ้นมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นมาในใจ ทันใดนั้น  เกิดความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานสี่ขึ้นมาเอง จนต้องอุทานออกมาอย่างเบา ๆ ว่า

“Oh…my god, I know!!!”  “พระเจ้าช่วย ฉันรู้แล้ว”

ใบหน้าเราคงต้องแสดงออกถึงความตะลึงกับสิ่งที่รู้นั้นแน่นอน จำได้ว่า หลังจากที่อุทานกับตัวเองเบา ๆ แล้ว เนื่องจากนักศึกษากำลังคอยเราพูดอะไรกับเขาอยู่ แต่คงเห็นอาการที่คาดไม่ถึงของเรา สายตาทุกคู่จึงจ้องมาที่เราเพื่อรอคำพูดอะไรบางอย่าง จึงพูดกับพวกเขาตรง ๆ ว่า

บางสิ่งบางอย่างเพิ่งจะเกิดขึ้นในใจเราหยก ๆ และเรากำลังพยายามซึมซาบกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ Something extraordinary has just happened to me and I am trying to digest it.

                    ทันใดนั้นเอง เราสามารถอธิบายให้นักศึกษารู้ว่า ขั้นตอนของสติปัฏฐานสี่เป็นการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ มันจะเกิดของมันเอง และบอกนักศึกษาตรง ๆ ว่า ตอนที่กำลังเขียนฐานที่สี่อยู่นั้น กำลังจะยอมรับกับพวกเขาว่าเราไม่รู้ แต่เพิ่งมารู้เมื่อกี้นี้เอง บอกพวกเขาว่า เรารู้ชัดแล้วว่าฐานที่สี่คืออะไร

                    เวลาที่เหลือของชั่วโมงนั้น เราได้พานักศึกษารำไท้เก็กขี่กง ๑๘ ท่าอย่างที่เคยทำด้วยใจที่สว่างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในชีวิต ความรู้ต่าง ๆ ที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนหลั่งไหลมาจากไหนก็ไม่รู้ สว่างโพล่งไปหมด เข้าใจของมันเอง แปลกมาก อัศจรรย์มาก อัศจรรย์จริง ๆ นี่เองที่หลวงตามหาบัวรำพึงว่า เลิศก็เลยเลิศ อัศจรรย์ก็เลยอัศจรรย์

 

ญาณปัญญามาย้ำตัวเพ่งของฐานที่สี่

หลังเกิดญาณในวันนั้น เราจึงมองออกว่า ที่จริง เราได้แนะนำตัวเพ่งของฐานที่สี่ให้แก่นักศึกษาประมาณ ๒ ถึง ๓ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว มันเป็นสภาวะก่อนเกิดญาณที่รู้อะไรวั๊บ ๆ แวม ๆ เหมือนมีม่านบาง ๆ กั้นอยู่ ยังจำได้ชัดเจนถึงวันที่บอกให้นักศึกษาเริ่มสังเกตประสบการณ์ของสิ่งที่เขาเห็นเบื้องหน้าเมื่อเขาเริ่มลืมตาขึ้นมาหลังจากที่หลับตาทำสมาธิ ได้บอกเขาว่า เขายังเห็นทุกอย่างอยู่ แต่เป็นการเห็นที่ดูเหมือนว่าง ๆ ซึ่งเป็นการฝึกให้เขาดูทุกอย่างให้เป็นตถตา หรือความเป็นอย่างนั้นเอง  สามารถอธิบายได้ชัดเจนถึงสภาวะนั้น เพราะเป็นสภาวะที่เราเห็นอยู่นานหลายปีมากแล้ว เหมือนกับรู้ว่านั่นเป็นคำตอบอะไรสักอย่าง แต่ก็รู้ไม่ชัดว่าคืออะไรแน่นอน

ยังจำได้ชัดเจนว่า ได้พูดกับตนเองว่า เอ…ทำไมจึงบอกให้นักศึกษาเริ่มสังเกตประสบการณ์นั้น เพราะเรายังไม่ชัด จึงไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลประสานเรื่องราวให้เขาเข้าใจได้ แต่ก็รู้ว่า พวกเขาต้องรู้เห็นประสบการณ์นี้ไว้ก่อน ภายในเทอมนั้นเอง ก็ได้สร้างศัพท์ใหม่ขึ้นมาหลายคำ เรียกใจที่สงบว่า ใจบริสุทธิ์ innocent mind จากใจที่บริสุทธิ์ก็สามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ innocent perception และทำให้เห็นโลกที่บริสุทธิ์ innocent world

วันที่เกิดญาณคือวันที่เราได้คำตอบออกมาอย่างชัดเจนว่า การมองทุกอย่างด้วยความเป็นเช่นนั้นเองหรือมองทุกอย่างอย่างบริสุทธิ์นั้น ที่จริงมันคือ ตัวเพ่งของฐานที่สี่ หรือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ สภาวะพระนิพพานนั่นเอง นี่เป็นสิ่งที่เรารู้อย่างชัดเจนใสแจ๋วในขณะนั้น จึงสามารถอธิบายให้นักศึกษาฟังได้

จากวันนั้นเป็นต้นมา การสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่ของเราได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว สามารถใช้ข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เมื่อมาถึงการย้ำตัวเพ่งของแต่ละฐานโดยเฉพาะฐานที่สี่แล้ว เราก็สามารถทำได้อย่างมั่นใจ ความชัดเจนและความมั่นใจก็มีมากขึ้นทุกวัน ผลที่ออกมานั้นคือ นักศึกษาสามารถเห็นตามประสบการณ์ที่เราแนะให้ดูได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เขามาเรียนกับเรา

                    การเกิดญาณในวันนั้นเหมือนกับได้ทำให้เรากลายเป็นคนท้องถิ่นของเมืองนิพพานซึ่งเป็นเมืองสำคัญแต่ไม่มีป้ายบอกชื่อเมืองเขียนติดไว้เหมือนเมืองที่ทำด้วยอิฐด้วยปูน คนที่รู้ว่านี่คือเมืองนิพพานคือคนท้องถิ่นเท่านั้น ฉะนั้น หากใครอยากไปเมืองนิพพานและได้มีโอกาสถามคนท้องถิ่นบอกทางให้แล้ว คน ๆ นั้นก็จะรู้ทางไปเมืองนิพพานได้เร็วกว่าการไปถามคนที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น ฉะนั้น การได้เรียนรู้กับคนท้องถิ่นของเมืองนิพพานย่อมทำให้ผู้เรียนรู้สามารถเดินถึงเมืองนิพพานได้เร็วขึ้น

 

เจโตวิมุติ เหมือนเนื้อร่อนออกจากกระดูก

ประสบการณ์พิสดารทางใจที่เกิดเมื่อวันอังคาร เดือนตุลาคม ๒๕๔๐ ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดที่บ้านพรานนกเมื่อ ๒๒ ปีก่อน ในขณะที่เราเอามือยันเตียงเพื่อลุกขึ้นมาอยู่ในท่านั่งนั้น มีความรู้สึกว่า ใจถูกผลักออกจากจิตอย่างรุนแรง เหมือนเนื้อกับกระดูกที่อยู่ติดกันอย่างแนบแน่นมาก่อน จู่ ๆ เนื้อนั้นก็ร่อนออกจากกระดูกได้อย่างง่ายดาย เหมือนใครเอาเนื้อนั้นไปต้มจนเปื่อยฉะนั้น ใจเราในขณะนั้นก็เป็นเช่นนั้น ความคิดความรู้สึกหรือจิตที่เคยเป็นส่วนหนึ่งติดสนิทแนบแน่นกับใจนั้น ถึงบัดนั้น มันก็หลุดร่อนออกไปเฉย ๆ หรือเหมือนแม่เหล็กต่างขั้วที่ดูดติดกันแน่นจนเหมือนเป็นเหล็กท่อนเดียวกัน จู่ ๆ พลังแม่เหล็กหายไปเฉย ๆ เหล็กสองท่อนจึงหลุดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีพลังเกาะเกี่ยวอีกต่อไป

ก่อนหน้านั้น ความคิด ความรู้สึกกับใจมันเกาะกันแนบแน่นเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน แต่พอพลังสมาธิพร้อมและแก่กล้าพอ มันก็มาแยกให้ธรรมชาติสองอย่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เห็นความคิดหรือจิตว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างจากใจ สามารถเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของใจว่ามันเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง มีความรู้สึกอย่างรุนแรงว่า นี่คือความหลุดพ้น เพราะรู้สึกจริง ๆ ว่านี่มันหลุดแล้ว พ้นแล้ว และหลุดมาอยู่อีกโลกหนึ่ง

แต่โลกนั้นคืออะไรเป็นสิ่งที่เราไม่กล้าพอที่จะสรุปลงไปอย่างแน่ชัด เพราะมัวพยายามคิดว่า เรายังอ่อนหัดในทางธรรมเกินไป เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงในระดับนั้นได้ แม้ความรู้สึกฟ้องอยู่ชัดเจนว่าหลุดแล้ว พ้นแล้ว ก็ตามแต่

คำว่า “หลุดพ้น” ที่อธิบายสภาวะของพระอรหันต์นั้นเป็นคำที่เกิดจากสภาวะธรรมของคนที่มีแล้วอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในใจของมนุษย์จริง ๆ แล้ว คำ ๆ นี้จะไม่เกิด จะพูดอธิบายออกมาไม่ได้ เป็นคำที่ภาษาไทยเรามีคำให้ใช้อย่างถูกต้อง ตรงกับสภาวะมากที่สุด

ตอนนี้อธิบายได้อย่างเดียวว่า การหลุดพ้นในคราวนั้นต้องเกิดจากพลังของสมาธิถ่ายเดียว หรือ เจโตวิมุติ แต่ปัญญาของเรายังไม่แก่กล้าพอที่จะจับต้นชนปลายได้ เพราะสภาวะของเราในตอนนั้นเหมือนมีแต่ต้นกับปลายเท่านั้น ซึ่งมันอยู่ไกลกันสุดขั้ว สิ่งที่อยู่ตรงกลาง เราไม่รู้ คือ เพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมไม่นาน พรวดเดียวก็มาเห็นโลกที่ความคิดไม่มีบทบาทเลย จึงต่อไม่ติด สภาวะจึงค่อย ๆ หายไปในที่สุด

 

ปัญญาวิมุติ เหมือนความสว่างของดวงอาทิตย์สิบดวง

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารนั้น เราไม่มีความรู้สึกว่าใจถูกผลักออกเหมือนเมื่อ ๒๒ ปีก่อน ใจก็ยังคงสงบแบบธรรมดาอย่างที่เคยสงบมาหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว (โดยเฉพาะในขณะที่สอนอยู่ในชั้นนั้น ใจของเราต้องอิงอยู่กับฐานหนึ่งฐานใดเสมอ ถ้าใจไม่อิงกับฐานแล้ว ก็ไม่มีอะไรสอน เพราะต้องเอาความรู้ของขณะนั้น ๆ ไปสอน)  สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับใครเอาความสว่างของพระอาทิตย์ทั้งดวงมาใส่ไว้ในใจ แต่นี่มันเป็นความสว่างของปัญญา ซึ่งมีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์มากมายหลายเท่าจนไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไร เพราะพระอาทิตย์ก็สามารถให้ความสว่างเพียงการเห็นวัตถุหรือรูปเท่านั้น แต่ความสว่างของปัญญาทำให้เห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตซึ่งความสว่างของพระอาทิตย์ไม่สามารถช่วยให้เห็นได้

สิ่งต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้และเราไม่เคยเข้าใจมาก่อนเพราะมันยังซ่อนอยู่ในมุมมืดของอวิชชานั้น ถึงบัดนั้น มันสว่างไปหมด ทำให้เราเห็นและเข้าใจ ภาพทั้งหมดของชีวิต เข้าใจข้อธรรมที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ความสงสัยในเรื่องราวต่าง ๆ หายไปเหมือนปลิดทิ้ง

 

เหมือนการได้สำรวจเมืองใหม่ที่เพิ่งมาถึง

ความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ครั้งนี้กับครั้งก่อนคือ ในปี ๒๕๑๘ สภาวะที่เราเข้าใจว่าหลุดพ้นนั้นค่อย ๆ จางหายไปหลังจากเวลาผ่านไปราว ๖ ถึง ๗ เดือน เหลือแต่ความทรงจำของโลกที่เราเคยหลุดเข้าไป และปัญญาที่รู้ว่า เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การไปให้ถึงโลกที่บริสุทธิ์นั้นอีกให้ได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ตรงกันข้ามกับคราวก่อน ความสว่างของใจไม่ได้ค่อย ๆ หายไป มีแต่จะสว่างมากยิ่งขึ้น และเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หากจะเปรียบเทียบความพิสดารทางใจที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารนั้น เป็นการเพิ่งเดินทางมาถึงเมืองใหม่เมืองหนึ่งที่เรายังไม่เคยเห็นละก็ พอเห็นครั้งแรก ก็รู้สึกตะลึง การเห็นหน้าตาของเมืองใหม่ในครั้งแรกนั้นล้วนเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมทั้งสิ้น หลังจากการเห็นครั้งแรกนั้น เราก็ใช้เวลาค่อย ๆ สำรวจเมืองใหม่ให้ชัดขึ้นโดยเดินเข้าไปทุกซอกทุกมุมถนน ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งชำนาญทางและรู้แผนผังของเมืองใหม่นี้ดียิ่งขึ้น

ความรู้ที่เราได้รับหลังจากเหตุการณ์พิสดารทางใจในวันอังคารนั้นก็เช่นกัน  สิ่งที่เราคิดว่าสว่างมากแล้วในขณะนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป ความสว่างกลับเพิ่มมากขึ้น ๆ  สิ่งที่เราคิดว่าชัดเจนมากแล้วในตอนนั้น มาถึงตอนนี้ก็ยิ่งชัดมากขึ้นอีก 

 

สรุปว่าเป็นคนท้องถิ่นได้แล้ว

ตอนแรกไม่กล้าสรุปให้ตัวเองว่านั่นเป็นการหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุติ เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งหลังนี้ เราไม่ได้รู้สึกว่ามีระดับของพลังสมาธิมากเท่าคราวก่อน ใจจึงไม่รู้สึกว่าถูกผลักออกไปอย่างรุนแรง ไม่รู้สึกว่ามันเป็นสภาวะหลุดพ้นอย่างคราวที่เกิดที่บ้านพรานนก ซึ่งจู่ ๆ ก็รู้สึกเหมือนเนื้อร่อนออกจากกระดูกอย่างทันทีทันใด ทำให้รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่านี่คือ การหลุดพ้น เพราะสภาวะมันฟ้องอยู่โต้ง ๆ

แต่เหตุการณ์เมื่อวันอังคารไม่มีความรู้สึกว่าใจถูกผลักออกแต่อย่างใด ใจก็ราบเรียบตามธรรมดาของมัน นอกจากความสว่างของปัญญาเท่านั้นที่เด่นออกมามาก ฉะนั้น ในช่วงสองสามปีแรกหลังจากที่เกิดเหตุการณ์พิสดารนั้น เราจึงไม่กล้าสรุปว่านั่นคือ การหลุดพ้นด้วยปัญญา หรือ ปัญญาวิมุติ แต่เพราะความรู้มันชัดมากขึ้นทุกวัน มีเพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งที่เราไม่รู้และไม่กล้าสรุปเมื่อสองสามปีก่อนนั้น มาบัดนี้ เวลาก็ได้ผ่านเข้าปีที่ห้าแล้ว ความชัดเจนต่าง ๆ ก็ยังเกิดขึ้นตามลำดับ จนมีความห้าวหาญพอเพียงและกล้าสรุปให้ตนเองว่า เราได้เป็นคนท้องถิ่นของเมืองใหม่ที่มาถึงนี้อย่างแน่นอน

 

วิเคราะห์เหตุการณ์ย้อนหลัง เหมือนการหลุดของกลีบหัวหอม

มาถึงตอนนี้ เราจึงมองออกว่า ที่จริง สภาวะแมวจับหนูอย่างเป็นอัตโนมัติซึ่งได้เกิดขึ้นอย่างถี่ ๆ ตลอดเวลา ๑๐ ปี ก็คือ สภาวะน้อย ๆ ของการหลุดพ้นนั่นเอง เป็นสภาวะที่หลุดเข้าไปสู่พระนิพพานแล้ว เปรียบเทียบได้กับการแกะหัวหอมใหญ่ ประสบการณ์หลุดพ้นที่เกิดที่บ้านพรานนกเมื่อ ๒๒ ปีก่อนนั้น เหมือนกับว่า จู่ ๆ หัวหอมทั้งลูกที่ห่อตัวอยู่อย่างแน่นหนาก็บานและหลุดออกมาเป็นกลีบ ๆ พร้อมกันหมดทันที หลุดจนถึงขั้วในของมันซึ่งไม่มีอะไร ขั้วในของหัวหอมที่ไม่มีอะไรนั้นคือสภาวะพระนิพพาน เราจึงรู้สึกชัดมากว่า ใจถูกผลักออกอย่างรุนแรงจนเห็นสภาวะที่ไม่มีอะไรอย่างทันทีทันใด เป็นสภาวะที่อัศจรรย์และตะลึงงันอย่างที่อธิบายให้ใครรู้ไม่ได้เลย หลวงตามหาบัวอธิบายว่า เป็นความอัศจรรย์ที่เหนืออัศจรรย์ เลิศก็เลยเลิศ  

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อวันอังคารนั้น เราไม่ได้รู้สึกเหมือนเมื่อ ๒๒ ปีก่อน เหตุผลคือ นับตั้งแต่สภาวะแมวจับหนูเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัตินั้น เปรียบเหมือนกลีบหัวหอมใหญ่ที่ห่ออย่างแน่นหนานั้นค่อย ๆ หลุดออกมาทีละกลีบอย่างช้า ๆ เป็นเวลาถึง ๑๐ ปี  หมายความว่า ใจของเราได้ค่อย ๆ หลุดออกจากจิตเข้าไปสู่สภาวะสงบนิ่งของพระนิพพานแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในช่วง ๓ ถึง ๔ ปีก่อนเกิดญาณนั้น สติของเรามักจะจับเข้าไปถึงตัวเจตสิกอยู่เสมอ สามารถทำลายการปรุงแต่งของสังขารซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่สองของปฏิจสมุปบาทได้เป็นส่วนมาก สายโซ่ของปฏิจสมุปบาทที่ครบวงจรอันมีถึง ๑๒ ห่วงนั้น ถูกเราตัดสั้นลงจนเหลือแค่สองห่วงเป็นส่วนมากเป็นเวลาถึง ๔ ปีก่อนเกิดญาณ ใจจึงอยู่ในระดับที่ปกติ ธรรมดา เป็นส่วนใหญ่ หมายความว่ากลีบของหัวหอมใหญ่นี้ได้ค่อย ๆ หลุดออกไปจนถึงขั้วในของมันแล้ว เราจึงอยู่กับสภาวะปกติธรรมดานั้นจนชินแล้ว จะเรียกสภาวะในช่วงสี่ปีนั้นว่าเป็นสภาวะใจของพระอนาคามีก็ไม่ผิด รออยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ ญาณปัญญาที่จะมาย้ำให้เรารู้ว่า สภาวะปกติธรรมดาที่เราได้อยู่มานานหลายปีก่อนหน้านั้นคือพระนิพพานเท่านั้นเอง

พอญาณเกิดในวันนั้น จึงมีแต่ความรู้ที่แรงกล้ามาตอกย้ำสภาวะพระนิพพานจนทำให้ใจสว่างโพล่งไปหมด แต่ไม่รู้สึกว่าใจถูกผลักออกไปอย่างแรงเหมือนเมื่อ ๒๒ ปีก่อน เพราะใจได้ถึงสภาวะนั้นแล้วนั่นเอง

ที่เราคิดว่าพลังสมาธิมีไม่มากเท่าคราวก่อนนั้น ที่จริงแล้วพลังสมาธิของเรามีพร้อมเต็มเปี่ยมโดยธรรมชาติธรรมดาอยู่แล้วแม้ก่อนหน้านั้น เราได้สะสมพลังสมาธิมาหลายปีจนเป็นธรรมชาติของมันแล้ว จึงไม่รู้สึกว่าสภาวะใจเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับคราวก่อนที่จู่ ๆ ใจก็ถูกผลักออกไปอย่างรุนแรง เพราะกลีบของหัวหอมใหญ่ได้ค่อย ๆ หลุดออกไปหมดจนถึงขั้วในสุดของมันแล้ว นั่นคือ ความไม่มีอะไร

 

ต้องเป็นเมืองเดียวกันแน่นอน

การหลุดพ้นด้วยพลังสมาธิหรือเจโตวิมุติของเราเมื่อ ๒๒ ปีก่อนนั้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดและสามารถเปรียบเทียบได้คือ การยิงหนังสติ๊ก พลังสมาธิของเราได้ส่งแรงดีดพุ่งเราไปข้างหน้าอย่างรุนแรง จนหลุดเข้าสู่สภาวะพระนิพพานอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พอพลังสมาธิอ่อนตัว สภาวะนั้นก็หายไป

แต่ประสบการณ์ทางใจของเราเมื่อ ๒๒ ปีก่อนนั้น ญาณปัญญาของเราไม่ชัดพอที่จะมาย้ำสภาวะพระนิพพาน เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า “ญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา”

จึงไม่กล้าสรุปอะไรทั้งสิ้น  แต่ตอนนั้นก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า โลกใหม่ที่เราพลัดเข้าไปเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องไปถึงให้ได้ รู้ว่าสภาวะนี้แหละคือเป้าหมายชีวิตของคนทุกคน เราต้องปฏิบัติไปจนถึงจุดนั้นอีกให้ได้ เราต้องกลับไปถึงสภาวะนั้นอีกให้ได้ ความรู้นั้นมันก็อยู่กับเรามาตลอดจนวันที่เกิดญาณ ปัญญา อันเปรียบเหมือนความสว่างของพระอาทิตย์ ๑๐ ดวงโผล่ขึ้นมาภายในใจอย่างทันทีทันใด ได้ตอกย้ำความรู้ขั้นเด็ดขาดนั้น ทำให้รู้แน่ชัดว่า โลกใหม่ที่เราพลัดเข้าไปเมื่อ ๒๒ ปีก่อนที่บ้านพรานนกกับเมืองใหม่ที่เราเพิ่งมาถึงเมื่อวันอังคาร ของเดือนตุลาคม ปี ๒๕๔๐ นั้นต้องเป็นที่เดียวกันแน่นอน สถานที่นั้นจะเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกจากพระนิพพาน

  ตอนนี้ เรารู้แล้วว่า การหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติเป็นอย่างไร และปัญญาวิมุติเป็นอย่างไร ในกรณีของเรานั้นทำให้เรารู้ว่า เป็นไปได้ทีเดียวว่าการหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติหรือด้วยพลังของสมาธิเพียงอย่างเดียว สภาวะนั้นสามารถหายไปได้เหมือนที่ได้เกิดขึ้นกับเรามาแล้ว คนที่สามารถหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติพร้อมกันแล้ว สภาวะนั้นก็ไม่น่าหายไปได้ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยของสถานะภาพทางสังคมอีก คนเป็นพระอยู่ป่า หากหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติก็น่าจะอยู่ได้นานกว่าคนหลุดพ้นในเมืองอย่างเราซึ่งมีวิถีชีวิตของคนเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะการหลุดพ้นของปัจเจกชนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ไม่คิดว่าจะมีกฏอะไรตายตัว แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่คนมุ่งนิพพานควรต้องรับรู้ไว้ ถ้าเกิดขึ้นกับตนเองแล้วจะได้เข้าใจ และรักษาสภาวะให้ดีที่สุด 

 

เปรียบเทียบปัญญาวิมุติอีก

ปัญญาวิมุตินี่เหมือนการว่ายน้ำหรือขี่จักรยานเป็นแล้ว ก็เป็นเลย กลับไม่ได้อีกแล้ว จะแกล้งทำไม่เป็นก็ไม่ได้ เมื่อรู้ว่านี่คือนิพพานแล้ว จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ก็ไม่ได้

หรือเหมือนเรื่องการหายใจ คนส่วนมากจะไม่ค่อยให้ความสนใจว่าตนเองหายใจอยู่หรืออยู่กับลมหายใจเพราะเป็นเรื่องเกิดเองตามธรรมชาติจนชินกับมัน สภาวะที่ไม่รู้ไม่เห็นไม่สังเกตการหายใจของตัวเองก็เหมือนกับอวิชชา พอเกิดญาณแล้ว รู้ว่านิพพานเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับเพิ่งสังเกตเห็นชัดว่า อ๋อ… ที่จริงเราก็หายใจอยู่แล้วตลอดเวลา และได้รับประโยชน์จากการหายใจนั้นด้วย ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ฉะนั้น การรู้พระนิพพานก็เหมือนรู้ว่าตัวเองกำลังหายใจอยู่ และรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว  จะแกล้งบอกว่าตัวเองไม่ได้หายใจและไม่รู้เห็นกับการหายใจนั้นก็ทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่จริง นิพพานเป็นสิ่งที่อยู่แนบเนื่องกับชีวิตทุกชีวิตแล้วเหมือนลมหายใจ เพียงแต่คนไม่รู้ ไม่สังเกตเห็นเท่านั้น แต่แม้ไม่รู้ คนก็ได้รับประโยชน์จากนิพพานแล้วเหมือนได้รับประโยชน์จากการหายใจของตนเองอยู่ ถ้าคนมืดบอดไม่ได้รับประโยชน์จากพระนิพพานแล้วไซร้ ทุกคนต้องเข้าโรงพยาบาลบ้ากันหมด แต่คนส่วนมากของสังคมสามารถรักษาความบ้าระดับสามัญได้ก็เพราะการอยู่แนบเนื่องกับพระนิพพานนั่นเอง หรือเพราะตนเองหายใจอยู่นั่นเอง เพียงแต่ไม่รู้ชัดเท่านั้น

หรือจะเปรียบนิพพานกับการกินข้าวก็ได้ ทุกคนอยู่รอดได้เพราะมีข้าวสุกให้กิน เพียงแต่ไม่รู้ว่าสิ่งขาว ๆ ที่เอาเข้าปากทุกวันคือข้าวสุกเท่านั้น แต่ก็ได้รับประโยชน์จากการกินข้าวอยู่แล้ว ทุกคนได้รับประโยชน์จากนิพพานแล้วทุกวัน เพียงไม่รู้ว่าสภาวะนี้นี้เรียกว่านิพพานเท่านั้นเอง การเกิดญาณของเราจึงเหมือนกับการรู้ว่าตัวเองหายใจอยู่แล้ว หรือกินข้าวสุกอยู่แล้วเหมือนคนอื่น ๆ ฉะนั้น สภาวะนิพพานก็อยู่กับเราเหมือนกับที่อยู่กับคนอื่น ๆ เพียงแต่ว่าเรารู้เพราะญาณได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว มาบอกให้เรารู้แล้ว แต่คนอื่น ๆ มากมายยังไม่รู้ ยังมืดบอดอยู่ เพราะญาณของเขายังไม่เกิด

ฉะนั้น สภาวะของปัญญาวิมุติจะไม่มีวันหายไปได้เหมือนเจโตวิมุติ เราจึงรู้สึกว่า ตอนนี้รู้มากกว่าเมื่อ ๔ ปีก่อน เหมือนกับสามารถคว้าเอาคบไฟมาถือไว้ในมือแล้ว ก็ใช้คบไฟนี้ส่องไปที่มุมมืดได้เสมอ ตรงไหนที่ยังมืดอยู่ ยังสงสัยอยู่ ก็เอาคบไฟนี้ส่องเข้าไป ความสว่างก็เข้ามาแทนที่ ความรู้จึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งแก่ตัว ความรู้ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ความหนักแน่นและมั่นใจในธรรมอันสูงสุดยิ่งมีมากขึ้น

เราก็ไม่รู้ว่าทำไม เจโตวิมุติกับปัญญาวิมุติของเราจึงเกิดห่างกันถึง ๒๒ ปี ฉะนั้น ถ้าใครสามารถหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติพร้อม ๆ กันได้ ก็เป็นเรื่องวิเศษมากทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่เราต้องรีบเขียนบันทึกไว้ก่อน ประสบการณ์เหล่านี้ยังสดใหม่พอที่จะพูดละเอียดอย่างนี้ได้ เพราะความทรงจำก็เป็นอนิจจัง ทิ้งไว้นานก็จะไม่มีเรื่องให้พูดมาก คนอื่นจะเสียประโยชน์  

 

กะลาคว่ำได้หงายขึ้นแล้ว

สภาวะที่เรารู้สึกเหมือนมีม่านบาง ๆ ผืนหนึ่งกั้นระหว่างเรากับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เมื่อญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ม่านบาง ๆ ผืนนั้นก็ถูกฉีกขาดไป เราจึงมองทุกอย่างได้ชัด ถ้าเปรียบเทียบกับการดูภาพแล้ว สภาวะก่อนเกิดญาณเหมือนกำลังจ้องภาพสองมิติอยู่ แต่เหมือนกับรู้ว่าในภาพสองมิตินั้นมีอีกสิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เหมือนกับเห็นภาพสามมิติแต่เห็นไม่ชัด กำลังจะเห็นแล้วมันก็หายไป เมื่อญาณเกิดแล้ว จึงเห็นชัดว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิติคือภาพสามมิติที่สวยงามมากนั่นเอง ภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิตินั้นคือ พระนิพพานนั่นเอง

ก่อนญาณเกิด ถึงแม้เราจะมองทุกอย่างด้วยใจที่สงบก็ตาม แต่เราไม่มีญาณมาเน้นบอกว่า ทุกอย่างที่เราเห็นและสัมผัสได้ข้างหน้านี้คือ พระนิพพาน เหมือนการมองโลกอยู่ในกะลาครอบ อยู่ในความมืด เมื่อญาณเกิดแล้ว เราก็ยังเห็นและสัมผัสทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะกะลาที่คว่ำอยู่นั้นได้หงายขึ้นแล้วในวันที่เกิดญาณ ทำให้สามารถมองทุกอย่างด้วยความสว่างไสว

ในเรื่องใบไม้กำมือเดียว เราจึงสามารถอธิบายสภาวะพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดได้อย่างชัดเจนชนิดที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในชีวิต แต่แม้คนเขียนจะเขียนได้อย่างชัดเจนอย่างไร คนอ่านก็จะมองไม่เห็นความชัดเจนอยู่ดี แต่สิ่งที่ได้คือ ความรู้ในระดับคิดนึก คือ คิดตามได้ แต่เห็นตามที่ผู้เขียนเห็นไม่ได้ จนกว่าญาณปัญญาจะเกิดแก่เขาเอง นี่จึงเป็นเรื่องยากของการไปถึงนิพพาน มันสอนกันไม่ได้ทั้งหมด ได้แต่ชี้ทางให้เดินเท่านั้น แต่ถ้าใครสามารถปฏิบัติจนถึงขั้นที่ใจสงบได้เป็นส่วนใหญ่ของชีวิตแล้ว ก็ควรพอใจ เพราะญาณขั้นสุดท้ายเป็นเรื่องที่จะเร่งหรือจะรั้งไม่ได้ เป็นเรื่องเกิดเองเมื่อปัจจัยพร้อม ขอให้รู้ว่ามันต้องเกิดแน่นอนเท่านั้นก็พอแล้ว 

 

ตัวต่อตัวสุดท้ายถูกวางลงแล้ว

หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับการวางตัวต่อ jigsaw puzzles ก่อนที่เราจะรู้จักพุทธศาสนา การมีความรู้สึกทุกข์ วุ่นวาย สับสน หาความหมายที่แท้จริงของชีวิตไม่ได้ ความรู้สึกในขณะนั้นเปรียบเหมือนการยืนอยู่ท่ามกลางชิ้นส่วนของตัวต่อภาพชีวิต ภาพชีวิตนี้ก็คือ ภาพของจักรวาลทั้งหมดที่มีเราเป็นชิ้นส่วนย่อยชิ้นหนึ่งเท่านั้น ตัวต่อเหล่านี้ก็กองอย่างระเกะระกะไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก เหมือนเรายืนอยู่ท่ามกลางจักรวาลนี้ และเราก็มองไปรอบ ๆ ตั้งแต่ปัญหาส่วนตัว ครอบครัว สังคม โลก และจักรวาล แล้วก็ตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า นี่มันอะไรกัน ทำไม ทำไม ทำไม ความรู้สึกเหล่านี้เป็นผลของการไม่เข้าใจชีวิต ไม่สามารถเห็นภาพทั้งหมดของชีวิตว่ามีหน้าตาอย่างไร ไม่สามารถต่อตัวต่อของภาพชีวิตได้สมบูรณ์ จึงต่อเท่าที่ต่อได้ คือ หลับหูหลับตาใช้ชีวิตไปวัน ๆ ทำมาหารับประทาน รับผิดชอบต่อคนและงานเท่าที่บทบาทชีวิตให้มา หาความสุขใส่ตัว ไม่ต้องถามคำถามอะไร ถึงเวลาตายก็ตายไป การใช้ชีวิตอย่างนี้คือ การพยายามต่อตัวต่อภาพชีวิตอย่างเป็นกระจุกเล็ก ๆ เท่านั้น

พอมารู้จักศาสนาพุทธแล้ว จึงอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้าที่สอนเราว่า ชีวิตนั้นมีเป้าหมายอยู่ที่พระนิพพาน ฉะนั้น ต้องพยายามรักษาศีล และ ฝึกสมาธิวิปัสสนา พอมีความรู้เรื่องปัญญา ศีล สมาธิ เช่นนั้นแล้ว ก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนให้เราต่อภาพของชีวิตอย่างผู้ชำนาญ โดยเริ่มต่อภาพจากขอบทั้งสี่ก่อน แล้วค่อย ๆ ไล่เข้ามาตรงกลาง ฉะนั้น ใครที่เดินตามทางแห่งองค์มรรคแล้ว คนพวกนี้จะเข้าใจชีวิตได้ดีกว่าคนที่ยังไม่รู้ไม่ชี้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร คนที่ปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนานั้น คนพวกนี้จะต่อตัวต่อภาพชีวิตได้เร็วมาก จะเห็นภาพของชีวิตชัดมากกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา

ตอนนี้มามองย้อนกลับ สภาวะแมวจับหนูที่เกิดเองอย่างเป็นอัตโนมัติของเรานั้น ก็เหมือนกับการที่เราสามารถต่อภาพต่อชีวิตได้จนเหลือกระจุกเล็ก ๆ สุดท้ายตรงกลางเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น พอใจสามารถดีดความคิดออกไปอย่างง่ายดายเช่นนั้น ถึงมองออกชัดมากว่า คนเรานั้นติดอยู่ในโลกสมมุติที่มืดบอดอย่างแนบสนิท 

ในที่สุดก็เหลือเพียงตัวต่อชิ้นสุดท้ายชิ้นเดียวที่เรายังถืออยู่ในมือ นั่นคือ สภาวะก่อนเกิดญาณที่เรารู้สึกเหมือนมีม่านบาง ๆ มากั้นเรากับอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่รู้ชัดว่ามันคืออะไร ตัวต่อชิ้นสุดท้ายนี้ก็คือ การที่เราสามารถมองทุกอย่างที่อยู่เบื้องหน้าด้วยใจที่สงบราบเรียบ เหมือนกับรู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ หรือ เหมือนกับรู้ว่ามันต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวต่อตัวนี้แน่นอน ฉะนั้น วันที่เกิดญาณคือวันที่เราสามารถหาที่ลงให้กับตัวต่อชิ้นสุดท้ายนั้นได้นั่นเอง ตัวต่อชิ้นสุดท้ายของภาพชีวิตก็คือตัวเราเองหรือ รูป นาม นี้ที่กำลังยืนอยู่ในท่ามกลางตัวต่ออื่น ๆ ที่ถูกวางเข้าที่แล้ว

วันที่เกิดญาณคือ วันที่รูปนามสลายตัว สามารถทำตัวเองให้ละลายกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด พอวางตัวต่อชิ้นสุดท้ายนั้นลงได้ ภาพชีวิตทั้งหมดก็สมบูรณ์ชัดเจน ความเป็นเจ้าของชีวิตก็ไม่มีอีกแล้ว นี่คือสภาวะพระนิพพาน หรือสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาล

ทุกคนที่มาถึงจุดนี้ได้ต้องตะลึงกับความอัศจรรย์อย่างยิ่งยวดของสภาวะที่เห็นทั้งนั้นว่ามีสิ่งนี้อยู่จริง ๆ หรือ และต้องระลึกถึงพระคุณอันล้นพ้นหาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้ของพระพุทธเจ้าว่าท่านสามารถบอกทางให้คนตาบอดมาเห็นตามสิ่งที่ท่านเห็นได้ถึงปานฉะนี้ สมกับเป็นจอมปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกที่ยังหามนุษย์คนไหนมาเสมอเหมือนไม่ได้

 

รู้แจ้งแทงตลอดแค่ไหน

เพราะสามารถเห็นภาพทั้งหมดของชีวิต ตรงนี้เองจึงเกิดสภาวะที่เรียกว่า รู้แจ้งแทงตลอด   เหมือนการมองภาพวิวที่มีภูเขา ต้นไม้ ลำธาร กระท่อม ถ้าต่อตัวต่อได้หมด ภาพมันก็ชัด คนที่ต่อภาพของชีวิตได้หมดนั้นก็เรียกว่าผู้รู้ได้แล้ว คือ รู้เรื่องอริยสัจสี่ รู้หน้าตาของความทุกข์ รู้สาเหตุของทุกข์ รู้หน้าตาของการดับทุกข์ และรู้ว่าจะดับทุกข์ได้อย่างไร รู้ในใจ ไม่ใช่รู้ตามตัวหนังสือ หรือ รู้แน่ชัดว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร รู้ตำแหน่งแห่งหนของตนเองที่เกี่ยวเนื่องกับจักรวาลและสังสารวัฏอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ไม่มีจุดจบ รู้ว่ากฎแห่งกรรมนั้นมีจริง และสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนถูกเหวี่ยงไปตามแรงกรรมของตนเอง แรงกรรมนั้นก็ส่งผลให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปตามภพภูมิต่าง ๆ ของสังสารวัฏนี้ พระอรหันต์ก็คือผู้หมดกรรมแล้ว หยุดการท่องเที่ยวแล้ว และการทำให้ตนเองหมดกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สูงสุดของชีวิตนั้นก็ต้องเดินตามทางแห่งองค์มรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ให้แคบกว่านั้นคือ ปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้งสี่อย่างเคร่งครัด

ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้คือความรู้ขั้นพื้นฐานของผู้รู้ทั้งหลาย นี่คือภาพทั้งหมดของชีวิตเหมือนกับภาพวิวของภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้า ที่เราเห็นอยู่ในกรอบรูปนั่นเอง ความรู้ในส่วนนี้ คือ อาสวักขยญาณ นั่นเอง คือ ความรู้ที่สามารถกำจัดอาสวะกิเลส หรือกำจัดขยะออกจากใจนั่นเอง อันเป็นญาณสุดท้ายในจำนวนสามญาณที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้

 

อาสวักขยญาณต้องเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของพระอรหันต์

เราแน่ใจว่า ความรู้ในการกำจัดกิเลสหรืออาสวักขยญาณต้องเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของผู้ที่เกิดญาณแล้ว ถ้าจะเปรียบเทียบอีกก็คือ การรู้แจ้งแทงตลอดในระนาบแบนเท่านั้น คือ เห็นรูปภาพทั้งหมดในกรอบทั้งสี่ด้านอย่างแบน ๆ จะรู้ส่วนลึกหรือไม่นี่คงเป็นความแตกต่างของแต่ละบุคคล

ถ้าเอาพระพุทธเจ้าเป็นเกณฑ์แล้ว ท่านมีความรู้ถึงสิบอย่างเรียกว่า ทศพลญาณ หรือ ตถาคตพลญาณ คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง ในจำนวน ๑๐ ญาณนั้น อาสวักขยญาณ เป็นญาณที่ ๑๐ ซึ่งเป็นเพียงญาณหนึ่งเท่านั้น    

ฉะนั้น การรู้แจ้งแทงตลอดของพระพุทธเจ้านั้น นอกจากจะแทงตลอดในระนาบแบนแล้ว ท่านยังแทงตลอดในส่วนลึกด้วย เพราะมีญาณครบทั้ง ๑๐ อย่าง แต่จะลึกเท่าไรนั้น ไม่มีใครรู้  ท่านบอกแล้วว่าความรู้ของท่านมีมากเท่าใบไม้ทั้งป่า แต่ที่ทรงนำมาถ่ายทอดให้สัตว์โลกนั้นก็เป็นเพียงใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งคือ ไม่มีใครรู้ว่าความรู้ทั้งหมดของจักรวาลและสังสารวัฏมีแค่ไหน พระพุทธเจ้าก็ยังทรงถูกจำกัดเมื่อมาถึงจุดหนึ่งเช่นกัน จึงทรงตรัสว่า คำถามอจินไตยนั้นอย่าไปยุ่งกับมัน อย่างไรก็ตาม ความรู้ทั้งป่าหรือทั้งหมดของจักรวาลจะมีมากแค่ไหนก็ตาม อันนี้ไม่สำคัญเลย ที่สำคัญคือ  ต้องรู้ส่วนที่จำเป็นต้องรู้จริง ๆ คือสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติหรือพระนิพพาน เท่านี้ก็พอแล้ว

ฉะนั้น การรู้แจ้งแทงตลอด ของพุทธสาวกที่เกิดญาณแล้วนั้น เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดทุกท่านต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานคือเห็นอริยสัจสี่ในใจ หรือ รู้เรื่องการกำจัดขยะออกจากใจ อาสวักขยญาณ  หรือ จะเรียกว่าเป็นพระอรหันต์แบบแห้ง ๆ ก็ได้ รู้เท่าที่ต้องรู้ ส่วนใครจะมีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือ มีความรู้มากกว่าความรู้ขั้นพื้นฐานนั้น อย่างนี้ก็เหมือนการแต่งหน้าขนมเค๊กแล้ว ย่อมทำให้พระอรหันต์ท่านนั้นมีความเด่นมากขึ้น