บทที่สิบสี่ เกิดความสามารถใหม่ ๆ

 

พูดเรื่องโครงสร้างชีวิตได้ชัดเจนขึ้น

หลังจากที่เกิดความรู้ในวันนั้นแล้ว ความชัดเจนของปัญญาก็ค่อย ๆ เกิดตามมาโดยตลอดจนบัดนี้ก็เข้าปีที่ ๕ แล้ว เริ่มสังเกตเห็นความสามารถใหม่ ๆ ในขณะที่สอนนักศึกษา สิ่งที่เคยพูดอย่างกำกวมมาก่อน มาบัดนี้ก็สามารถพูดได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจโครงสร้างของชีวิต ทำให้เขารู้ว่าชีวิตคือการเดินทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอันสูงสุด แม้เขาจะยังไม่ยอมรับเรื่องพระนิพพาน ก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา สามารถหาคำอื่น ๆ มาทดแทนคำว่า นิพพาน ได้ เช่นคำง่าย ๆ อย่าง ความสงบ inner peace ซึ่งเป็นความรู้สึกครอบจักรวาลที่ทุกคนสามารถคิดตามได้ เมื่อเขาสามารถเห็นเป้าหมายที่ต้องการบรรลุแล้ว เราก็สามารถพานักศึกษาเข้าสู่การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่โดยใช้การออกกำลังกายแบบไท้เก็กเป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อ แม้รายละเอียดของการฝึกฝนแต่ละฐานนั้น เราก็สามารถอธิบายให้นักศึกษาฟังได้ชัดเจนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

เทอมที่กำลังสอนอยู่นี้ (มีนาคม ๒๕๔๕) เราได้เปลี่ยนคำพูดของสติปัฏฐานสี่เป็นเรื่องการพาใจกลับบ้าน เป็นการพูดใหม่ที่ทำมาได้หกเดือนแล้ว ทำให้นักศึกษาเข้าใจการปฏิบัติสติปัฏฐานได้ดีขึ้น

แม้ตัวเพ่งของฐานที่สี่ ก็สอนได้ชัดเจนมาก

แม้ตัวเพ่งของสติปัฏฐานที่สี่ ซึ่งเป็นสภาวะนิพพาน หรือ ตถตา หรือ สัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติอันเป็นฐานที่เราไม่สามารถสอนอย่างชัดเจนมาก่อนนั้น เมื่อญาณเกิดขึ้นกับเราแล้ว และเวลาผ่านพ้นไป  เราก็ค่อย ๆ สามารถอธิบายสภาวะอย่างชัดเจนให้นักศึกษาเห็นตามเราได้ เหมือนกับพยายามฝึกทักษะให้เขาเห็นภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิตินั่นเอง ซึ่งสามารถฝึกให้แก่กันได้ดีขึ้นถ้าครูรู้แน่ชัดว่าภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

ถ้าไม่รู้ ก็สอนได้อย่างกำกวม ไม่ชัดเจน สอนตามที่คนอื่นพูด ฉะนั้น เมื่อรู้ว่าพระนิพพานหน้าตาเป็นอย่างไร เราก็สอนได้ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องอาศัยคำพูดของครูบาอาจารย์อีกต่อไป หรือจะพูดได้ว่า นักศึกษาเหล่านี้ได้คนท้องถิ่นมาบอกทางให้ไปเมืองนิพพานอันเป็นเมืองที่ไม่มีป้ายชื่อติดไว้เหมือนเมืองที่ทำด้วยอิฐปูน เมื่อได้คนท้องถิ่นมาบอกทางให้  ย่อมมีโอกาสถึงเมืองนิพพานได้เร็วกว่าการไปเรียนกับคนที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น

 

สิ่งที่เคยกำกวม ก็ชัดเจนแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับ ยังจำช่วงปีที่สอนนักศึกษาให้ดูสภาวะนิพพานอย่างกำกวมได้  ที่จริง เป็นสภาวะที่เราได้สอนให้นักศึกษาหัดดูหัดสัมผัสแล้วประมาณ ๔ ถึง ๕ ปีเห็นจะได้ก่อนญาณจะเกิดด้วยซ้ำไป คงราวปี ๒๕๓๕  เราได้เห็นสภาวะนิพพานชัดแล้ว และเหมือนรู้ว่ามันต้องมีความสำคัญอะไรสักอย่างมากกว่าเป็นเพียงความสงบเท่านั้น แต่สำคัญอย่างไร เราไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ ก็ยังตัดสินใจสอนนักศึกษาสังเกตสภาวะนั้นตามเรา  จนถึงกับตั้งศัพท์ภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่เพื่อเรียกสภาวะนั้น โดยมีคำว่า การรับรู้อย่างบริสุทธิ์ innocent perception การเห็นโลกที่บริสุทธิ์ innocent world ใจที่บริสุทธิ์ innocent mind คำศัพท์เหล่านี้ ค่อย ๆ มา ไม่ได้เกิดพร้อมกันหมด

จำได้ชัดมากว่า สามารถสอนให้นักศึกษาเห็นสภาวะนั้นตามเราได้ แต่ที่ยังกำกวมอยู่คือ ไม่สามารถเชื่อมโยงให้เขาได้ว่า สภาวะนี้คือ จุดเพ่งของสติปัฏฐานที่สี่ หรือ พระนิพพาน ไม่สามารถบอกเขาได้ว่า นี่คือเป้าหมายที่เขาควรบรรลุให้ได้ในทุก ๆ ขณะของชีวิต ในทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป  แต่เมื่อญาณเกิดแล้ว เราสามารถเชื่อมโยงคำอธิบายเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน สามารถนำให้เขาปฏิบัติได้อย่างครบวงจร สติปัฏฐานสี่เป็นการปฏิบัติที่ครบวงจรซึ่งเรารู้ชัดในวันเกิดญาณ 

 

สอนปัญญาชนฝรั่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมานี้ จึงรู้สึกว่า มีความมั่นใจในการสอนนักศึกษามากขึ้น การสอนปัญญาชนฝรั่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเหตุผลไม่หนักแน่นจริง ๆ เขาจะไม่รับฟังเลย เพราะเขาเติบโตขึ้นมากับการคิดนึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น จึงต้องรู้ว่าสิ่งไหนของศาสนาพุทธพูดได้ สิ่งไหนยังพูดไม่ได้ เช่นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องภพภูมิต่าง ๆ นั้น ต้องเก็บไว้ก่อน เอามาพูดก่อนไม่ได้เด็ดขาด ฉะนั้น การเทศน์ตามประเพณีของชาวพุทธจึงเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้สำหรับปัญญาชนฝรั่ง ถ้าไปพูดสิ่งที่ยังไม่ควรพูดก่อนแล้ว จะทำให้เขาหมดศรัทธาไปเลย นี่เป็นสิ่งที่พระสงฆ์องค์เจ้าที่มาสอนในต่างประเทศต้องระวังให้ดี

การเห็นภาพทั้งหมดของชีวิตทำให้การสอนง่ายขึ้นมาก ไม่ว่าจะพูดจากแง่มุมไหนก็ตาม ไม่มีการหลงทาง ฉะนั้น จึงสามารถขุดหาเหตุผลที่หนักแน่นมายันเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อให้ปัญญาชนฝรั่งยอมรับให้ได้ และเริ่มเห็นแล้วว่า คนที่มีธุลีในดวงตาแต่น้อยในหมู่ฝรั่งก็มี 

 

ได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการหลุดพ้นให้นักศึกษาแล้ว

พอสอนมาถึงขั้นตอนนี้ เห็นได้ชัดว่านักศึกษาแต่ละคนมีบารมีมากน้อยต่างกัน คนที่พอมีบารมีนั้นจะสามารถทำตามสิ่งที่เราแนะนำได้ดี  และเห็นสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดได้เร็ว ในขณะที่คนมีบารมีน้อยจะมองไม่เห็น ถึงแม้นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้เป็นชาวพุทธ แต่เราก็ได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการหลุดพ้นให้เขาแล้ว ถ้าเขาไม่ละทิ้งสิ่งที่เราสอน และพยายามฝึกฝนต่อไปแม้ได้จากชั้นของเราไปแล้ว และถึงแม้จะละทิ้งการปฏิบัติไปพักหนึ่งก็ตาม เขาจะถูกข้อเท็จจริงของชีวิตสอนเองหรือถูกธรรมชาติสอน เพราะไม่มีใครในโลกนี้จะมีความสุขได้อย่างแท้จริงตราบใดที่ยังไม่พบวิมุติสุข คือ สุขอันเกิดจากการออกจากวัตถุกาม เมื่อถูกความทุกข์รังควาญเอาหนัก ๆ  คนเหล่านี้จะไม่มีทางเลือก เขาจะระลึกถึงคำพูดต่าง ๆ ที่เราได้ปลูกฝังให้เขาในชั้นไท้เก็กของเรา และจะพยายามหาทางกลับมาสู่ร่องแห่งธรรมเอง จะเดินตามทางแห่งองค์มรรคได้ในภายหลัง

ตรงนี้ เราจึงเห็นความสำคัญที่ต้องทิ้งงานเขียนภาษาอังกฤษของเราไว้ให้แก่ลูกศิษย์เหล่านี้ คนที่เรียนกับเราโดยตรงจะสามารถเข้าใจงานเขียนของเราได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยผ่านชั้นเรียนของเราเลย หนังสือเรื่อง ใบไม้กำมือเดียว ก็เป็นผลโดยตรงของการเกิดญาณของเรา คือสามารถย้ำให้คนรู้ว่าพระนิพพานเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต และอธิบายสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดได้ ซึ่งเป็นวิธีการเขียนที่เราทำไม่ได้มาก่อน เป็นการพูดเรื่องโครงสร้างใหญ่ของชีวิตและของพระพุทธศาสนาอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพาคำพูดของครูบาอาจารย์อีกต่อไป ส่วน คู่มือชีวิต หรือ The User Guide to Life ก็เป็นส่วนรายละเอียดของการเดินทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมายอันสูงสุดนั้น