บทที่สิบห้า วิเคราะห์ความเป็นอริยะของตนเอง

 

รู้สึกธรรมดา ข้อพิสูจน์ว่าญาณได้เกิดแล้ว 

หลังจากเกิดญาณแล้วในวันนั้น แม้รู้ว่านั่นเป็นความรู้ที่น้อยคนจะรู้ได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น หวือหวา เหมือนความรู้สึกของคนทั่วไปที่เมื่อได้อะไรมาสักอย่างด้วยความยากเย็นแสนเข็ญแล้ว ย่อมกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ตื่นเต้นสุดขีด ทำนองนั้น ความรู้สึกของเรากลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เราตะลึงและอัศจรรย์ใจต่อความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็จริงอยู่ แต่วันรุ่งขึ้นก็คือวันธรรมดาอีกวันหนึ่งของเราที่ต้องทำหน้าที่ของภรรยา แม่ ครู และนักเขียนต่อไปเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่มันก็เหมือนเดิมไม่ได้เพราะทุกอย่างที่สัมผัสนั้น มีความรู้แจ้งว่านี่คือสภาวะนิพพานติดอยู่ด้วยเสมอ และสภาวะนั้นก็คือสภาวะธรรมดาอย่างถึงที่สุดนั่นเอง

ตรงนี้น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า ญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราจริง ได้พบความรู้จริง ได้พบสัจธรรมที่สูงสุดของธรรมชาติจริง มิเช่นนั้นแล้ว เราจะรู้สึกธรรมดาเช่นนี้ไม่ได้ ใครจะไปรู้ได้ว่าความธรรมดาอย่างสุด ๆ ที่แสนจะธรรมดานี้คือพระนิพพานที่ใครต่อใครก็อยากไปถึงกันนักหนา นี่เป็นสภาวะที่คน ๆ หนึ่งจะคิดหาคำตอบเองไม่ได้เด็ดขาด ต้องมีญาณมาบอกเท่านั้นจึงจะรู้ได้ เพราะคนที่ยังไปไม่ถึงล้วนต้องพูดถึงพระนิพพานและคนที่เข้าถึงพระนิพพานแล้วด้วยความรู้สึกที่หวือหวาและตื่นเต้นทั้งสิ้น

เราก็เคยพูดถึงพระนิพพานเช่นนั้น เคยมองความเป็นพระอรหันต์เหมือนของสูงสุดที่เอื้อมไม่ถึง ตื่นเต้นมากหากมีใครมาบอกว่าพระองค์นั้นหลวงตาองค์นี้อาจเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่คือปฏิกิริยาอันเป็นธรรมชาติมากของคนที่ยังไปไม่ถึง เหมือนชาวคริสต์หรือคนที่นับถือพระเจ้า พูดถึงพระเจ้าทีไร ต้องมองขึ้นฟ้าทุกที เหมือนเป็นของประเสริฐ์สุดประมาณ แต่ใครล่ะจะรู้ว่า พระนิพพานหรือพระเจ้านี้คือสภาวะที่แสนจะธรรมดาจนหาที่ติไม่ได้ ถ้าญาณไม่เกิดนี่ ไม่มีวันรู้ได้เลย ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นก็อยู่เบื้องหน้าของคนทุกคน นี่แหละคือความยากของการรู้จักพระนิพพานหรือพระเจ้า

 

อยากอยู่บ้านบนต้นไม้ tree house

ความรู้จริงนี่แหละกลับกลายเป็นสิ่งที่คุ้มครองผู้รู้นั้นไปในตัวด้วย เพราะถ้ารู้ไม่จริง ก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองธรรมดา จะคิดว่าตนเองเป็นคนวิเศษ ไม่เหมือนชาวบ้าน คนต้องมากราบไหว้บูชา เอาลาภสักการระมาให้ ใครที่อยากแอบอ้างว่าตนบรรลุธรรมแล้ว หรืออวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตนจริง ต้องระวังมาก จะเป็นบ้าเอาได้ง่าย ๆ เพราะไม่มีความรู้จริงคุ้มครองตนอยู่

ขอให้สังเกตเองว่า คนรู้จริงมักจะหนีสังคมมากกว่า เพราะดูออกว่าโลกสมมุติมันไม่ธรรมดาจริง คนที่เข้าถึงความธรรมดาย่อมไม่อยากอยู่กับสิ่งที่ไม่ธรรมดาอย่างโลกสมมุติ จะเบื่อสังคมของโลกสมมุติ  คนที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาอย่างสุด ๆ แล้วย่อมอยากปลีกตัวอยู่กับความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากยังต้องอยู่กับโลกสมมุติแสดงว่ายังไม่มีทางเลือกมากนัก

ถ้ามีคนถามว่า เราอยากอยู่ที่ไหน อย่างไร เราตอบได้เลยว่าสิ่งเดียวที่ยังต้องการทำให้เกิดจริง ๆ ในส่วนของตัวเองคือ การได้มีโอกาสอยู่บ้านที่สร้างบนต้นไม้ tree house เหมือนบ้านที่ทาร์ซานสร้างให้เจนอยู่ในป่า คิดเหมือนเด็ก ๆ แต่นี่คือสิ่งที่เราได้พร่ำบ่นกับสามีเสมอว่า เมื่อไหร่จะสร้างบ้านบนต้นไม้ให้เราอยู่สักทีล่ะ ขอมานานแล้วนะ สามีและลูก ๆ มักส่ายหน้า พูดเล่น ๆ ว่า เมื่อไหร่ผู้หญิงคนนี้จะโตกับเขาซักทีนะ 

 

ธรรมดาที่ต่างกันสุดขั้ว

ช่วงปีแรกก็ยังเหมือนกับต้องขยับแว่นตานิดหน่อยเพื่อดูสภาวะธรรมดาหรือนิพพานให้ชัด แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องขยับแว่นมันก็ชัดจนเป็นธรรมดาของมัน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่แตกต่างจากความรู้สึกธรรมดาของคนที่อยู่ในโลกที่มืดบอดเลยแม้แต่น้อย ต่างกันก็แต่ ธรรมดาแบบมืดกับธรรมดาแบบสว่างเท่านั้น จนมักลืมไปว่า ไอ้ความรู้สึกธรรมดาของเรานั้น ที่จริง มันไม่ธรรมดาสำหรับคนอื่น โดยเฉพาะเราอยู่ในท่ามกลางคนรอบข้างที่ยังอยู่ในโลกแห่งความมืดบอดทั้งสิ้น หนังสือของเราเขาก็ไม่เคยหยิบอ่าน พวกเขาจึงไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา จึงใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดาเหมือนพวกเขา แต่เป็นธรรมดาที่อยู่กันคนละขั้วเท่านั้น

 

มีสติเต็มเปี่ยมอย่างเป็นธรรมชาติ

ความแตกต่างที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นหลังเกิดญาณแล้วคือ สติค่อย ๆ มีความเต็มเปี่ยมมากขึ้นโดยไม่ต้องตั้งใจไปทำมัน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมนั้นช้าหรือเร็ว หรือในสายตาคนอื่นอาจดูเหมือนเป็นการกระทำที่ขาดสติ แม้กระนั้น สติก็กำกับอยู่เสมออย่างเป็นอัตโนมัติ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำงานเขียนซึ่งเป็นงานใช้สมองอย่างมากนั้น ใจจำเป็นต้องเข้าสู่กระแสความคิดอย่างลึก ซึ่งสมัยก่อนญาณเกิดนั้น ถึงแม้จะเปลี่ยนอิริยาบทแล้วก็ตาม ใจก็มักคิดติดพันอยู่กับงานเขียนนั้นสักครู่ใหญ่ทีเดียว แต่หลังจากที่ญาณเกิดแล้ว ค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของสติ พอลุกขึ้นจากเก้าอี้หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อไปห้องน้ำ ไม่ทันถึงก้าวที่สาม ใจก็สามารถหลุดจากความคิดและมาอยู่ที่การก้าวเท้าทันที หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

จำได้ว่า มีบางคืน นอนหลับแล้วรู้สึกตัวกลางดึก จึงลืมตาขึ้นมาในท่ามกลางความมืดมิดของห้องนอน ทันใดนั้น ได้พบว่าตัวเองกำลังกำหนดสติอยู่ที่ลมหายใจแล้วเหมือนกับได้กำหนดอยู่ก่อนหน้าที่จะรู้สึกตัวตื่นด้วยซ้ำไป และทุกครั้งที่ลุกขึ้นจากเตียงเข้าห้องน้ำ แม้จะเป็นช่วงกลางดึกและงัวเงียมากเพียงใดก็ตาม สติก็ยังสามารถกำหนดอยู่ที่การก้าวเท้าได้เสมอ ทำได้เองอย่างเป็นธรรมชาติของมันจริง ๆ 

แมวยังจับหนูอยู่ แต่น้อยลงทุกวัน

สภาวะแมวจับหนูซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระอย่างสิ้นเชิงก็ยังเกิดอยู่ แต่แมวตัวนี้ก็ได้เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับแมวตัวที่เริ่มจับหนูอย่างเป็นอัตโนมัติที่บ้านป้าทวดเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๐ หลังจากวันที่เกิดญาณแล้ว การดูใจตลอดเวลาตั้งแต่รู้สึกตัวจนกระทั่งหลับสนิทก็ค่อย ๆ เกิดขึ้น และเกิดในระดับที่แม้เราเองยังรู้สึกทึ่งในความสามารถของสติหรือแมวตัวนั้น นั่นคือ เมื่อใจตื่น แม้จะยังไม่ลืมตา เพียงแค่รู้สึกตัวเท่านั้น การดูใจอย่างเป็นธรรมชาติก็เกิดทันที ขบวนการแมวจับหนูก็เกิดทันทีเช่นกันแม้ร่างกายจะยังไม่ได้ตื่นเต็มที่ก็ตาม คือยังอยู่ในสภาวะที่หลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่ เราก็เห็นแมวเริ่มจับหนูกินเสียแล้ว บางครั้งอุทาน “อย่าลูก” ออกมาทั้ง ๆ ที่ยังหลับตานอนอยู่ และก็เป็นเช่นนี้อีกเมื่อตอนที่กำลังจะผลอยหลับ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลียและง่วงนอนมาก แม้ได้ล้มตัวลงนอนหลับตาแล้ว แต่เมื่อยังหลับไม่สนิท แมวตัวนั้นก็ยังจับหนูอยู่ ยังมีการเห็นความคิดที่โผล่เข้ามาในหัว และการทำลายความคิดก็ยังเกิดอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นสภาวะที่แปลกมาก 

ก่อนสภาวะอัตโนมัตินี้จะเกิด จำได้ว่า ความง่วงนอนเป็นปัญหาที่กวนใจเรามาก อยากทำสมาธิก็ทำไม่ได้ พอง่วงนอน สติสะตังก็หดหายหมด อยากนอนลูกเดียว ไม่อยากเฝ้าดูจิตดูใจอีกแล้ว ขอนอนให้เต็มอิ่มก่อน ตื่นแล้ว ค่อยมาว่ากันใหม่ เมื่อแมวสามารถจับหนูได้เองในช่วงต้น ๆ นั้น แมวก็ยังอยากนอนอยู่ เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย แมวหรือสติก็มักนอนตาม คิดว่าคงต้องเป็นก่อนหน้าเกิดญาณไม่นาน หรือไม่ก็ช่วงหลังเกิดญาณแล้ว ที่สติหรือแมวตัวนี้มีความสามารถมากขึ้น แม้จะง่วงมากเท่าใดหรือจะยังงัวเงียอยู่มากเท่าใดก็ตาม ก็ไม่รู้สึกว่าสติสะตังได้หดหายไปไหนเลย แมวหรือสติก็ยังทำงานตามปกติอยู่เหมือนเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกายนี้เลย แถมยังมีความไวที่ไม่แพ้กับช่วงตื่นเต็มที่ด้วย ยังจับหนูกินได้เก่งเหมือนเดิม จนกระทั่งหลับสนิทเท่านั้นแหละ จึงไม่เห็นสภาวะของแมวจับหนู พูดได้อย่างเดียวว่าแปลกมาก เห็นได้ชัดว่ารูปกับนามทำงานแยกจากกัน  

นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนของแมวตัวนี้คือ แทนที่จะไล่จับทั้งแม่หนู (ความคิด) และลูกหนู (ความรู้สึก) เหมือนสมัยแรก ๆ ที่แมวเริ่มจับหนูกินเอง เดี๋ยวนี้ มันจับแต่แม่หนู (ความคิด) และแม่ของมันอีกที (เจตสิก) เป็นส่วนมาก เพราะสติสามารถไล่ทันตัวเจตสิกที่กำลังจะก่อตัวเป็นความคิดนี่เอง สายโซ่แห่งปฏิจสมุปบาทจึงไม่มีโอกาสได้ทำงานเต็มที่ ลูกหนู หรือ ความรู้สึก จึงไม่ปรากฏให้เห็น การต่อสู้ในสนามรบแบบหมัดต่อหมัด แผลต่อแผลที่เจ็บปวดมากเหมือนสมัยก่อนก็ได้หายไปแล้ว ไม่มีการต่อสู้อย่างเจ็บปวดเช่นนั้นอีกแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว คำว่า อย่าลูก แทบจะไม่เกิดอีกแล้ว นาน ๆ คือ หลาย ๆ วันผ่านไป บางครั้งเป็นอาทิตย์ผ่านไปก็มี อาจจะหลุดออกมาสักครั้งหนึ่งอย่างเบา ๆ จนไม่มีใครได้ยิน ยิ่งเวลาผ่านไป เวลาที่อยู่กับธรรมชาติธรรมดาก็มีมากขึ้นตามลำดับ คิดว่าถ้าได้มีโอกาสอยู่ป่าและไม่ต้องยุ่งกับโลกสมมุติเลยแล้ว ความคิดอาจจะไม่เข้ามาเลย นอกจากจะโน้มใจเข้าไปคิดเท่านั้น 

 

ตั้งจิตอธิษฐาน ปลุกเร้าตนเองให้ช่วยเหลือผู้อื่น

                    หลังเกิดญาณแล้ว สภาวะใจมีความสงบราบเรียบอยู่กับสภาวะธรรมดาเป็นส่วนมาก จำได้ว่ามีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่กินเวลาหลายเดือนทีเดียว ความรู้สึกธรรมดาได้แผ่ซ่านไปทั่วทุกส่วนของชีวิตทั้งภายในและภายนอก ทุกความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวนั้นหลุดออกไปอย่างง่ายดายของมันเอง จึงเริ่มเห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดาไป เห็นปัญหาของโลกที่ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังกลายเป็นเรื่องธรรมดา เห็นปัญหาทุกอย่างเป็นความธรรมดาของโลก โลกมนุษย์ก็ต้องเป็นทุกข์เช่นนี้ จะเอาอะไรกับมัน ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องช่วยเหลืออะไรใครอีก ไม่อยากเขียนหนังสือ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรต้องพูดต้องเขียนอีกต่อไป

จำได้ว่าพยายามบอกตัวเองว่านี่เป็นการคิดอย่างเห็นแก่ตัว แต่แม้ความคิดนั้นก็หลุดลุ่ยออกจากใจ ไม่มีอะไรติดข้องใจที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้ทำอะไรอีก 

ถึงแม้ความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่ถูกต้องกับตัวเราเอง แต่เราก็มองออกว่ามันไม่น่าจะถูกต้องกับคนอื่น คนที่ยังอยู่ในโลกของความมืดบอด ถ้าเราไม่พูด ไม่สอนแล้ว คนตาบอดจะหาความสว่างได้อย่างไร คงจะเป็นช่วงเวลานั้นเอง ที่เราเริ่มตั้งจิตอธิษฐานทุกเช้าหลังจากไหว้พระและแผ่เมตตาต่อหน้าหิ้งบูชาพระโดยพูดว่า

“ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานว่าจะพยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อไปให้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานในภพชาตินี้ ขอให้การเกิดในภพชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้าด้วยเถิด และในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพยายามว่ายเข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานนี้ ข้าพเจ้าก็จะขอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีดวงตาเห็นธรรม ข้าพเจ้าจึงขอพรจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณของพระอริยเจ้าทั้งหลาย คุณของพระอรหันต์ขีนาสวเจ้าทั้งหลาย คุณของบิดามารดา อินทร์ พรหม ท้าวจตุโลกบาล รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั่วสากลจักรวาล หากท่านทั้งหลายรับทราบความปรารถนาของข้าพเจ้าแล้วไซร้ ขอได้โปรดประทานพรให้ข้าพเจ้าสามารถทำงานนี้ให้ได้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์และความสุขของสัตว์ทั้งหลายด้วยเถิด”

 ค่อยมาอ่านพบทีหลังว่า ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ถ้าพระอรหันต์สาวกของท่านไม่ขวนขวายที่จะสอนแล้ว คนที่พอจะรู้ธรรมได้ก็จะพลาดโอกาสไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้ทั้งหลายที่ต้องขวนขวายประกาศสัจธรรม

พูดทำไม? ถึงแล้วไม่ใช่หรือ?

จำไม่ได้แน่ชัดว่า เริ่มตั้งจิตอธิษฐานเช่นนี้เมื่อไรแน่นอน รู้แต่ว่าเป็นช่วงที่ต้องปลุกตัวเองไม่ให้ท้อถอยต่องานที่ต้องทำเพื่อผู้อื่น และคิดว่าต้องเป็นช่วงหลังจากที่เกิดญาณแล้ว ซึ่งในสามปีแรก เรายังไม่กล้าสรุปอะไรให้ตนเองทั้งสิ้น ยังพูดเขียนอะไรอย่างอ้อม ๆ ผลุ่บ ๆ โผล่ ๆ เสมอ

สิ่งที่จำได้แม่นยำคือ ได้อธิษฐานจิตเช่นนั้นอยู่นานหลายเดือนหรืออาจจะร่วมปีก็ได้ จู่ ๆ ก็มีวันหนึ่งเมื่อพูดถึงประโยคที่ว่า

“และในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพยายามว่ายเข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานนี้”

ทันใดนั้น ก็มีความคิดเข้ามาบอกว่า

“เอ้า…ก็ถึงแล้วนี่ ทำไมยังต้องพูดว่ากำลังพยายามอยู่ล่ะ”

ด้วยความเคยชินต่อการถ่อมตนแม้ในใจของตัวเอง จึงสลัดความคิดว่า “เราได้ถึงฝั่งแล้ว” ทิ้งไปเสีย เหมือนกับไม่กล้าอาจเอื้อมของที่สูงเกินไป เหมือนยังกลัวขี้กลากจะขึ้นหัวอยู่ เพราะตนเองยังไม่สมฐานะที่สูงส่งนั้น และเพราะความรู้สึกที่แสนจะธรรมดาของเราบอกเราว่า นิพพงนิพพานอะไรกัน เพราะความทรงจำเก่า ๆ ยังอยากคิดว่า นิพพานต้องสุดแสนวิเศษ เลอเลิศ และมหัศจรรย์มากกว่าเป็นเพียงความธรรมดาที่เรากำลังสัมผัสอยู่เป็นแน่แท้  แต่ความคิดนั้นก็กลับมาฟ้องเราอยู่เสมอว่า

“พูดทำไม ประโยคนั้น ก็ถึงแล้วไม่ใช่หรือ ก็ทุกวันนี้หายใจเข้าออกอยู่กับนิพพานแล้วไม่ใช่หรือ แล้วยังพูดทำไมอีก พูดอยู่ได้”

จำได้ว่าปลุกปล้ำอยู่กับสิ่งนี้อยู่ร่วมเดือนเห็นจะได้ ในที่สุด จึงต้องตัดประโยคนั้นทิ้งไป และพูดว่า

“ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานว่าจะพยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อไปให้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานในภพชาตินี้ ขอให้การเกิดในภพชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้าด้วยเถิด และข้าพเจ้าขอตั้งความปรารถนาด้วยว่าจะขอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีดวงตาเห็นธรรม………ขอได้โปรดประทานพรให้ข้าพเจ้าสามารถทำงานนี้ให้ได้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์และความสุขของสัตว์ทั้งหลายด้วยเถิด”  แม้ทุกวันนี้ เราก็ยังคงอธิษฐานจิตเช่นนี้อยู่

 

ขอให้รู้ว่า เราไม่ใช่เป็นปุถุชนก็พอแล้ว

ประมาณปลายปี ๒๕๔๓ น้อยซึ่งเป็นเพื่อนเรียนชั้นมัธยมจนจบธรรมศาสตร์ด้วยกันได้อ่าน ใบไม้กำมือเดียว เมื่อเธออ่านจบ จึงเขียนจดหมายมาถามเราตรง ๆ ว่า

“เธอเป็นพระอรหันต์แล้วใช่ไม๊?”

เราอ่านแล้วก็หัวเราะก๊ากออกมา เป็นปฏิกิริยาที่ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเมื่อมีคนมาถามคำถามบ๊อง ๆ กับตนเอง แต่ความรู้สึกต่อคำถามนั้นแตกต่างแน่นอนในแง่ที่ว่า หัวใจเราควรต้องสั่นไหวด้วยความตื่นเต้น และภาคภูมิใจอย่างมากว่ามีคนให้เกียรติสูงถึงขนาดคิดว่าเราอาจจะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย แม้ได้หัวเราะก๊ากออกมา แต่ใจไม่ไหวติงเลยแม้แต่น้อย กลับนิ่งเฉยเป็นปกติธรรมดา 

คำถามของน้อยทำให้เราต้องถามตัวเองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกว่าเราเป็นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีใครถาม ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ ก็อยู่อย่างธรรมดา ๆ เหมือนทุกวัน ในที่สุด บอกน้อยได้แต่เพียงว่า

“ขอให้รู้ว่า เราไม่ใช่เป็นปุถุชนก็พอแล้ว”

ความรู้สึกว่าตนเองได้เป็นพระอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่งหรือไม่นั้น ไม่ได้เข้ามาในใจเลยแม้แต่น้อยแม้หลังจากวันที่เกิดญาณแล้วก็ตาม ถ้าน้อยไม่ถามคำถามที่ตรง ๆ เช่นนั้น เราก็คงไม่คิดเลย เพราะสภาวะจริงของพระอริยบุคคลทั้งสี่ระดับนี้ไม่ได้มีเส้นแบ่งเขตแดนเหมือนกับที่บันทึกไว้เป็นตัวหนังสือ เราแน่ใจด้วยว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนั้นไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าตนเองได้ถึงสภาวะแล้ว ต้องอาศัยผู้มีภูมิธรรมสูงกว่ารับประกันให้จึงจะรู้ แม้กระนั้นก็ตาม ตนเองก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นพระอริยเจ้า ถ้าใครรู้สึกเช่นนั้น แสดงว่ายังเดินไม่ถูกทางจริง ๆ คนที่เดินถูกทางแล้ว ตัวตนจะค่อย ๆ เล็กลงและหายไปเรื่อย ๆ  และถ้าสูงขึ้นไปถึงระดับพระอนาคามีกับพระอรหันต์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องหาตัวเองไม่พบใหญ่ แล้วจะไปรู้สึกว่าเป็นโน่นเป็นนี่ได้อย่างไร

ในช่วง ๒ - ๓ ปีแรกหลังเกิดญาณ เมื่อมีใครพูดถึงพระอรหันต์นั้น เรายังมีความทรงจำเก่า ๆ ว่า พระอรหันต์ต้องเป็นบุคคลที่นอกจากหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังต้องเป็นผู้วิเศษ สมบูรณ์ เพรียบพร้อมไปด้วยคุณงามความดีนานับประการ และต้องมีอภิญญาอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ยังอดไม่ได้ที่จะวาดรูปของพระสงฆ์องค์เจ้าที่อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยอันงดงาม เพราะนี่เป็นอุดมคติและเป็นภาพพจน์ของพระอรหันต์ที่ติดตรึงใจเรามานาน แต่พอมาสำรวจตัวเองแล้ว ทั้งสถานะทางกายคือความเป็นหญิงและสถานะทางสังคมที่เป็นทั้งฆราวาสและเป็นแม่บ้านด้วย ทำให้แม้แต่เราก็ยังไม่อยากยอมรับว่าเราอาจจะเป็นพระอริยบุคคลในระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ ยิ่งมาสำรวจความรู้สึกของตนเองแล้ว ก็ยิ่งห่างไกลจากอุดมคติของพระอรหันต์ตามความทรงจำที่มีในอดีต เพราะเห็นแต่ความเป็นธรรมดา ไม่ได้คิดว่าตนเองมีอะไรที่วิเศษ ประหลาด มหัศจรรย์เลยแม้แต่น้อยนิด ถ้าไม่ได้มีประสบการณ์แห่งความเป็นธรรมดาจริง ๆ ก็คงไม่มีวันรู้ เพราะของคิดกับของจริงมันคนละเรื่องกันเลย

การบรรยายถึงความเป็นอรหันต์ในลักษณะธรรมดาเช่นนี้น่าจะช่วยให้คนทั่วไปเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดขึ้นกับตนเอง ไม่ได้เป็นเรื่องเกินเอื้อมแต่อย่างใด คนมีบารมีสามารถไปถึงได้แน่นอน

 

หลวงปู่หล้าพบทางตันในการตอบปัญหา

เหตุที่ทำให้เรายังไม่กล้าสรุปอะไรอย่างเด็ดขาด เพราะแม้ทุกวันนี้ สภาวะที่ใจถูกสะกิดสะเกาบ้างก็ยังมีอยู่ แม้จะน้อยลงไปมากก็ตาม ใจยังไม่ใช่เป็นเส้นตรงเหมือนไม้บรรทัด เราคิดว่านี่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่หลวงปู่หล้าได้พูดหลุดปากออกมา แต่ท่านอธิบายต่อไม่ได้ 

ในหนังสือตอบปัญหาของหลวงปู่หล้า หน้า ๕๙ ท่านพูดว่า “ถ้าเราติดอยู่ในสังขารก็ดี ติดอยู่ในนิพพานก็ดี ก็เท่ากับว่าไม่รู้สังขาร ไม่รู้พระนิพพาน นกบินในอากาศวันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีดเฉือนน้ำในที่ใด ๆ วันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีปัญหาว่าท่านผู้พ้นไปแล้ว ท่านรักษาจิตหรือไม่ ท่านเกรงความผิดหรือไม่ ขอตอบว่า ถ้าพระอรหันต์ยังรักษาจิตอยู่ พระอรหันต์ก็ต้องเป็นทุกข์ใช่ไหม เพราะเกรงว่ามันจะผิด ก็ต้องระวังจิตอยู่เหมือนคนคุมนักโทษ หลวงปู่ก็ต้องตอบบ้า ๆ บอ ๆ ให้ฟังดังนี้แหละ เพราะหมดหนทางที่จะตอบ”

อ่านการตอบปัญหาของหลวงปู่หล้าแล้ว ดูออกว่าท่านพบทางตันในการตอบปัญหาอันเนื่องกับสภาวะอันละเอียดอ่อนของพระอรหันต์ ได้ย้ำประสบการณ์ที่เราเองก็ประสบ อยากอธิบายให้คนเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร คนส่วนมากคิดว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นลงเลย เหมือนหุ่นยนต์ มีสภาวะใจราบเรียบเป็นเส้นตรงเหมือนไม้บรรทัด หรือว่ามันยังมีการขึ้นลงบ้างตามกฎแห่งอนิจจังของทุกอย่าง นี่คือ ข้อเท็จจริงที่คนยังไม่บรรลุธรรมจะไม่รู้ และสรุปเอาเองจากตำรับตำราบ้าง ตามการคาดคะเนของตนเองบ้าง แต่คนที่เข้าถึงธรรมแล้วจะไม่พูดสรุปเช่นนั้นเด็ดขาด  คนที่เข้าถึงธรรมในขั้นนี้ก็น้อยมาก แม้คนเข้าถึงแล้วก็มีน้อยคนอีกที่จะออกมาพูดประสบการณ์อย่างละเอียดและเปิดเผย เพราะหลายอย่างพูดไม่ได้ ไม่มีทางจะพูดได้เลย โดยเฉพาะสภาวะพระนิพพาน พูดไม่ได้เด็ดขาด

มาอ่านคำพูดของหลวงปู่หล้าเบื้องต้นจึงรู้ว่าท่านก็มีปัญหาในการอธิบายเหมือนกัน สิ่งที่หลวงปู่หล้าได้หลวมตัวพูดออกมาว่าพระอรหันต์ยังต้องคุมจิตเหมือนการคุมนักโทษ และ พระพุทธเจ้ายังคงบอกให้พระอรหันต์เจริญอานาปานสติเพื่อความมีสติและความสุขในปัจจุบันนั้น แสดงว่าท่านต้องทรงทราบว่าพระอรหันต์แม้โดยทฤษฎีเรียกว่าพ้นจากทุกข์แล้วก็ตาม แต่ภาคปฏิบัติก็ไม่ได้หมายความว่าจิตใจของท่านจะเป็นเส้นตรงราบเรียบตลอดเวลา มันก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว[1]

ที่จริงแล้ว การที่สภาวะหลุดพ้นในครั้งที่เกิดที่บ้านพรานนกหายไปภายใน ๖ เดือน มันก็น่าจะชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการดูแลใจให้ดีแล้ว สภาวะนั้นหายไปได้ แต่นั่นก็เป็นกรณีการหลุดพ้นแบบเจโตวิมุตติเท่านั้น 

 

จานเล็กที่หมุนอยู่บนจานใหญ่  

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องอธิบายโดยการมองเรื่อง รูป จิต เจตสิก และนิพพาน สามธาตุแรก รูป จิต เจตสิก ก็คือขันธ์ ๕ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นมนุษย์อันมีกายและใจ หรือ รูป-นาม นี่เอง   ถ้าสมมุติให้ รูป จิต เจตสิก ซึ่งเป็นฝ่ายสังขารธรรมคือไม่เที่ยง ให้เป็นจานเล็กที่หมุนตลอดเวลาและหมุนอยู่บนจานใหญ่อันคือนิพพานซึ่งเป็นวิสังขารธรรมคือเที่ยง โดยธรรมชาติแท้ ๆ แล้ว จานเล็กที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้นกำลังเคลื่อนอยู่บนจานใหญ่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย  ผู้ยังไม่เกิดญาณและไม่รู้จักพระนิพพานอย่างถ่องแท้ จะไม่สามารถเห็นการทำงานของภาพใหญ่ได้ คือจานเล็กที่หมุนอยู่ตลอดเวลาและตั้งอยู่บนจานใหญ่ที่ไม่เคลื่อนที่ ผู้รู้ที่ยังไม่ได้ดับขันธ์ คือยังมีชีวิตอยู่ หมายความว่าท่านยังมีรูป จิต และ เจตสิกอยู่ ชีวิตของท่านเป็นจานเล็กที่ยังอยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจัง แต่ท่านมารู้เสียแล้วว่า จานเล็กนี้กำลังเคลื่อนซ้อนอยู่บนจานใหญ่ที่ไม่เคลื่อนเลย เพราะท่านเห็นนิพพาน ตรงนี้เอง อธิบายได้ว่า แม้ใจของพระอรหันต์ก็ยังมีการเคลื่อนอยู่บ้าง เพราะตราบใดที่ยังมีรูป จิต เจตสิก ตราบนั้นก็ยังอยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจัง แต่ท่านแตกต่างจากผู้ไม่รู้คือ ท่านรู้ว่าจานเล็กนี้กำลังเคลื่อนอยู่บนจานใหญ่ที่ไม่เคลื่อน ฉะนั้น แม้ใจของพระอรหันต์จะแปรเปลี่ยนไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่ก็เป็นการรู้ล้วน ๆ เท่านั้น ไม่มีการติดยึดแต่อย่างใดแล้ว

นี่อธิบายได้ว่าแม้หลังการตรัสรู้แล้ว ความคิดของพระพุทธเจ้าก็ยังเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เช่น ตอนแรกดำริที่จะไม่สอน แต่ก็เปลี่ยนใจในภายหลังว่าสอนดีกว่า เพราะเรื่องความคิดเป็นเรื่องของสังขาร ความรู้สึก หรือเวทนา ก็เช่นกัน ฉะนั้น แม้พระอรหันต์ก็ยังมีวันที่จิตรู้สึกสดใส โปร่งเบา สบาย มีกำลังใจในการทำงานเพื่อเผยแผ่สัจธรรม แต่ก็มีบางวันที่จิตใจห่อเหี่ยว ท้อถอย หมดกำลังใจ ไม่อยากประกาศสัจธรรม เพราะนี่เป็นเรื่องของจิตที่ยังเปลี่ยนแปลงได้อยู่ ความรู้สึกเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นกับเรา บางวันก็มีกำลังใจมาก อยากจะโอบอุ้มโลกทั้งโลกไว้ แต่บางวัน ก็อยากใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านแม่เรือน อยู่เงียบ ๆ  ไม่อยากทำอะไร และไม่อยากยุ่งกับใครทั้งสิ้น สิ่งที่แตกต่างกันคือ แม้จิตจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่จิตนั้นไม่เกาะติดใจอีกแล้ว เป็นอิสระจากกันอย่างสิ้นเชิง จึงมีแต่การเห็นเท่านั้น    

 

ผู้รู้กลับสู่อมตะธรรมได้อย่างง่ายดาย

หรือจะอธิบายว่า เพราะรูป จิต เจตสิก ก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่สำหรับผู้รู้แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาวะจิตนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าคนธรรมดามากนัก เหมือนกับทะเลสาปที่มีน้ำนิ่งสนิทแล้ว ใบไม้เล็ก ๆ เบา ๆ ตกลงไปเพียงใบเดียว เกิดคลื่นแม้เพียงเล็กน้อยเพียงใดก็เห็นแล้ว ใจของผู้รู้ก็เป็นเช่นนั้น สิ่งที่มากระทบใจแม้จะละเอียดอ่อนยังไงก็เห็นหมด มันเกิดขึ้น เป็นไป และหมดไปอย่างรู้เท่าทันว่ามันก็เป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีการยึดมั่นอีกต่อไป จึงปล่อยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทันทีทันใด ไม่มีการรั้งรอ

และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใจ ผู้รู้จะสามารถกลับไปสู่สภาวะอมตะธรรมหรือพระนิพพานได้เสมออย่างง่ายดาย ซึ่งผู้ที่ยังไม่เกิดญาณ ไม่รู้จักพระนิพพานอย่างแน่ชัดจะกลับไปหาพระนิพพานไม่ได้ทันที เพราะยังมีความลังเลสงสัยอยู่ ไม่รู้แน่ชัดว่าพระนิพพานคืออะไร อยู่ที่ไหน เหมือนยังไม่รู้ว่าบ้านเดิมอยู่ที่ไหน จึงยังกลับบ้านไม่ถูก พระอรหันต์กลับบ้านได้ทันที เพราะรู้แล้วว่าบ้านอยู่ที่ไหน นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับผู้ยังไม่รู้            

 

ทำไมพระอรหันต์ยังเจริญอานาปานสติอยู่?

นี่คงเป็นสาเหตุใหญ่ที่พระพุทธเจ้ายังคงทรงสนับสนุนให้พระอรหันต์เจริญอานาปานสติอยู่ โดยที่ท่านให้เหตุผลว่าเพื่อความมีสติและความสุขในปัจจุบัน การทำอานาปานสติภาวนาของพระอรหันต์โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในเมืองและยังมีภาระหน้าที่การงานนั้น ทำแล้ว พลังสมาธิจะสามารถทำให้ไม่เพียงแต่ใจสบายขึ้นเท่านั้น แม้แต่กายก็สบายขึ้นด้วย เหมือนที่เราบอกว่า กินวิตามินนั้นไม่ผิด วิตามินไม่ได้เป็นยาแก้โรค แต่เป็นยาเสริมสุขภาพที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีกว่าเก่าหน่อย และป้องกันโรคที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด ใจของพระอรหันต์หมดปัญหาแล้ว ในแง่ที่ว่าท่านรู้แล้วว่าพระนิพพานคืออะไรและอยู่ที่ไหน ท่านสามารถกลับสู่บ้านที่ชื่อนิพพานได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว แต่เพราะยังอยู่กับโลกของสมมุติและภายใต้กฎอนิจจัง  และท่านไม่ใช่เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ ฉะนั้นวิตามินอันคืออานาปานสติภาวนาจะช่วยเสริมให้สภาวะใจที่สมบูรณ์แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สำหรับผู้รู้ที่หลุดพ้นด้วยพลังของเจโตวิมุติ มีพลังสมาธินำหน้า ซึ่งมักจะมีลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ ชอบปลีกตัว และมีโอกาสได้อยู่ป่า ไม่ต้องพูดคุยกับโลกสมมุติอีกแล้ว ท่านก็อาจจะมีใจที่ราบเรียบเหมือนไม้บรรทัดได้ตลอดเวลา นี่เป็นไปได้มากเพราะพลังสมาธิ แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ใจท่านไม่ราบเรียบได้หรือไม่ ต้องให้ท่านผู้รู้มาพูดเองถึงจะรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมาก จะรู้เฉพาะก็แต่ผู้มีสภาวะแท้จริงเท่านั้น เป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ควรเอามาวิเคราะห์ให้มากเกินไป

 

ความโดดเดี่ยวของผู้บรรลุธรรมขั้นสูง

สิ่งเหล่านี้ยังเป็นความลึกลับของผู้บรรลุธรรมขั้นสูงที่เจ้าตัวจะต้องเรียนรู้เอาเองเมื่อไปถึงขั้นนั้นแล้ว เพราะในสมัยนี้ไม่มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกให้ปรึกษาได้ นี่เป็นความโดดเดี่ยวอย่างมหันต์ของผู้บรรลุธรรมขั้นสูงในสมัยนี้ เพราะไม่สามารถวิ่งไปหาใครให้รับประกันตนเองได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประกันตัวเองให้ได้ ในแง่หนึ่ง ท่านมีความรู้เพียงพอที่จะพาคนตาบอดไปให้ถึงฝั่งพระนิพพาน แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ยังมีความลึกลับอีกมากมายที่เจ้าตัวก็ยังไม่รู้และยังต้องเรียนรู้ไปตามขั้นตอนของมัน เปรียบเทียบได้ว่า เมืองนิพพานเป็นเมืองใหญ่โตครอบจักรวาล มีถนน ตรอก ซอก ซอยมากเหลือเกิน ผู้เดินทางที่มาถึงใหม่ ๆ ก็รู้เห็นแต่ส่วนใจกลางเมืองเท่านั้น อย่างที่บอกแล้วว่า ผู้รู้ทุกท่านก็ล้วนมีความรู้ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีถนน ตรอก ซอก ซอย อีกมากมายที่ยังไม่ได้เข้าไปสำรวจหมด จึงยังไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกบ้าง เราเองก็รู้สึกเหมือนเดินมาถึงจุดนี้

ตอนนี้ซึ่งเข้าปีที่ ๕ ตั้งแต่วันเกิดญาณ ก็สามารถพูดได้เท่าที่รู้ สิ่งที่ยังไม่รู้ ก็พูดไม่ได้ และยังมีอะไรอยู่ข้างหน้าอีก เราก็ไม่รู้ เมื่อเวลาผ่านไป ได้สำรวจเมืองใหม่มากขึ้น อาจจะรู้มากขึ้นก็ได้

 

ใจกำเริบ ๑๘ ชั่วโมง ใบไม้กำมือเดียวจึงคลอดออกมา

ช่วงเวลาก่อนและหลังวันเกิดญาณในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น จำได้ว่า ช่วงนั้น กำลังเขียนงานภาษาอังกฤษเล่มที่ควรต่อเนื่องจาก Can a Caterpillar be Perfect? อยู่ ซึ่งได้ใช้เวลาเป็นร้อยชั่วโมงในการทำงานชิ้นนั้นและได้ลบมันทิ้งไปหมดแล้วเมื่อต้นปี ๒๕๔๔ นี้เอง ตอนนั้น ไม่มีความคิดและความตั้งใจที่จะเขียนหนังสืออะไรอีกนอกจากงานเขียนที่กำลังทำอยู่ชิ้นนั้น

จู่ ๆ ก็มีวันหนึ่ง คงจะเป็นต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ไปสอนตามปกติ จำได้ว่าเป็นวันพุทธ นักศึกษาก็คงจะมาอย่างตก ๆ หล่น ๆ เหมือนที่เคยเป็นมาในช่วง ๑๐ ปีเศษ ซึ่งที่จริงได้ยอมรับและได้ชินกับปรากฏการณ์เช่นนั้นแล้ว เพราะมันไม่ได้เกิดกับชั้นของเราเท่านั้น ชั้นอื่น ๆ ด้วย การสูญหายของนักศึกษาในช่วงนั้นจึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เลย จำไม่ได้ว่านักศึกษาหายไปมากสักแค่ไหน รู้แต่ว่า พอเรากลับจากงานสอนในตอนบ่ายของวันนั้น ใจกำเริบอย่างผิดปกติ ความรู้สึกสารพัดอย่างโหมใจอย่างรุนแรง และแรงมากจนชนิดที่เราตั้งตัวแทบไม่ติด ทำทุกอย่างที่เคยทำเพื่อระงับความกำเริบนั้น ก็เอาไม่อยู่ สภาวะแมวจับหนูหายเข้ากลีบเมฆอันดำสนิท ใช้แต่ความอดทนและรอให้มันหายไปเท่านั้น

ช่วงที่รอให้กฎแห่งอนิจจังจัดการอยู่นั้น ความกลัวได้เข้ามาหลอกหลอนใจมาก ได้คุยกับสามี ซึ่งเขาก็พยายามหาคำปลอบใจที่ดีที่สุดให้แก่เราแล้ว มันก็ไม่หาย รู้ว่า ถ้าใจตกเช่นนี้ ต้องคุยกับพระเพื่อให้ท่านพูดยกใจให้ จึงโทรไปคุยกับพระรูปหนึ่งที่วัดสังฆทาน ท่านก็ดี ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งแม้ตัวเราเองก็ยังไม่รู้จริง ๆ ว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้ใจเราตกมากถึงเพียงนั้น ท่านก็ยังอุตสาห์หาธรรมะมาพูดให้เราฟังอยู่ตั้งเกือบชั่วโมง คุยกับพระแล้วก็ดีขึ้น แต่รู้ว่ายังใจยังไม่ได้กลับคืนสู่ระดับปกติเสียทีเดียว คืนนั้น สามีทำงานกะกลางคืน ต้องนอนคนเดียว พยายามทำสมาธิเพื่อระงับความกลัวสารพัดหน้าตาที่เดินเข้ามากระหน่ำใจ ปรากฏว่าทำไม่ได้เลย แต่ละนาทีช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าเมื่อใจเป็นทุกข์ จึงนั่งบ้าง นอนบ้างอย่างอดทนและดูพายุที่กระหน่ำใจอยู่ พยายามจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา ทำไมใจจึงกำเริบได้เช่นนี้ นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดกับเรามานานมากตั้งแต่แมวจับหนูได้เก่งขึ้น จึงเข้าใจไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวปัญหาจริง ๆ อยู่ที่ไหน พยายามสำรวจ ก็หาตัวปัญหาไม่พบ

คืนนั้น นอนไม่หลับทั้งคืน วันรุ่งขึ้นเป็นวันพฤหัสซึ่งเป็นวันเดียวที่ไม่ได้สอน บอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่สามารถทำใจให้กลับคืนสู่ความเป็นปกติภายในวันนี้แล้วละก็  คงไปสอนไม่ได้ในวันรุ่งขึ้น เพราะสิ่งที่เราสอนคือการบอกนักศึกษาว่าจะรักษาใจเขาให้เป็นปกติได้อย่างไร และถ้าเราเองยังทำไม่ได้แล้ว จะเอาข้อมูลอะไรไปสอน ในช่วงนั้นเอง จึงตระหนักชัดว่าการที่เราสามารถไปยืนต่อหน้านักศึกษาด้วยใจที่เป็นปกติ และโน้มเอาความรู้และภูมิปัญญาในปัจจุบันขณะนั้น ๆ ออกมาสอนพวกเขาได้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายและธรรมดาเลย เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันไม่ธรรมดา เพราะสิ่งไหนที่ทำได้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันธรรมดามาก มาเห็นชัดเอาก็เมื่อสามารถเปรียบเทียบกับความสั่นไหวของใจในคืนนั้น จึงมองย้อนกลับได้ว่ามันไม่ธรรมดา

เท่าที่เราจำได้นั้น ถึงแม้จะมีวันที่มีปัญหามารบกวนใจก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีวันไหนที่เมื่อไปยืนต่อหน้านักศึกษาแล้ว เราคุมใจไม่อยู่ วันเช่นนั้น ไม่ปรากฏในช่วง ๑๒ ปีที่สอนนักศึกษา 

เช้าวันพฤหัส ใจของเราก็ยังไม่เป็นปกติในระดับที่เรายอมรับได้ จึงโทรไปคุยกับพระอีกรูปหนึ่ง ท่านอยู่ในสายสวนโมกข์ เคยร่วมทำงานกับพระและฆราวาสที่เราเคยรู้จัก จึงบอกกับท่านว่าใจเราตกมาก ขอให้ท่านช่วยพูดยกสภาวะใจขึ้นมาให้หน่อย ท่านจึงเล่าเรื่องอุปสรรคการทำงานของท่านให้เราฟัง มีตอนหนึ่ง ท่านพูดถึงท่านอาจารย์พุทธทาสว่า การเทศน์ในวันเสาร์ของท่านอาจารย์นั้น บางครั้งก็มีคนฟังน้อยมาก ลานหินโค้งแทบจะไม่ค่อยมีคนเลย แต่ท่านอาจารย์ก็ยังคงเทศน์เฉย ไม่มีความสะทกสะท้านอะไรเลย

เราฟังถึงจุดนั้นแล้วก็ได้กำลังใจขึ้นมาเยอะ ถ้าขนาดท่านอาจารย์พุทธทาสเทศน์แล้ว คนฟังน้อย แล้วเราเป็นใครมาจากไหน จึงพยายามสอนตัวเอง หลังจากที่ได้คุยกับพระท่านแล้ว บวกกับการพยายามทำสมาธิ เมฆดำและพายุฝนที่ได้เข้ามากระหน่ำใจนั้นก็ค่อย ๆ คลายตัวออก พอถึงจุดหนึ่ง มันก็หายไปเหมือนปลิดทิ้ง บรรลุถึงระดับความเป็นปกติที่เรายอมรับได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นเป็นปัญหาอย่างร้ายแรงกลับไม่เป็นปัญหาแม้แต่น้อยนิด นับเวลาเบ็ดเสร็จที่อยู่เบื้องหลังเมฆดำแล้วก็ประมาณ ๑๘ ชั่วโมง ซึ่งนับว่านานมาก นานเกินไปสำหรับเรา 

เมื่อใจเป็นปกติแล้ว  จึงมองกลับไปสำรวจสภาวะนั้น และพยายามหาข้ออธิบายให้ตนเองว่าทำไมใจจึงกำเริบเช่นนั้นได้ และแล้ว  เหมือนมีสิ่งหนึ่งมาพูดก้องในหัวว่า

“มนุษย์ที่ยังต้องใช้ชีวิตอย่างสะดุ้งกลัวนั้นมีรสชาดเหมือนที่เราเพิ่งชิมรสมาหยก ๆ  ฉะนั้น อย่าลืมความทุกข์ของพวกเขานะ” 

สิ้นเสียงนั้น เราก็ถูกโหมกระหน่ำด้วยความรู้สึกเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างรุนแรง เกิดกำลังใจอย่างมหาศาลที่จะทำงานเพื่อความสุขของคนที่ยังทุกข์อยู่ แม้จะสามารถช่วยได้เพียงคนเดียวก็ยังต้องทำอย่างเต็มที่เพื่อคน ๆ นั้น

อยากคิดว่า นี่คือจุดประสงค์ของประสบการณ์ที่อยู่หลังเมฆดำถึง ๑๘ ชั่วโมงของเรา คงจะเป็นกลางดึกของคืนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์นั้นเองที่จู่ ๆ หัวของเราก็มีโครงสร้างทั้งหมดของหนังสือเล่มใหม่ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน รู้ว่าจะต้องบอกคนเรื่องโครงสร้างของชีวิตว่ามีเป้าหมายอะไรและสัมพันกับศาสนาพุทธและพระนิพพานอย่างไร จะต้องเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร และ จะต้องสร้างวัฒนธรรมอะไรอย่างไรเพื่อช่วยคนหมู่มากให้เข้าถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตนั้น เป็นความคิดที่ชัดเจนมาก ซึ่งเราไม่เคยสามารถคิดได้กว้างขวางเช่นนี้มาก่อน งานเขียนก่อนหน้านั้น เป็นการจับหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดขึ้นมาแล้วก็พยายามกระจายเนื้อหาออกไปเท่านั้น แต่จะไม่มีภาพของโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด

ตอนนี้จึงรู้ชัดว่า การคิดอย่างกว้างขวางเช่นนั้นได้ เป็นผลโดยตรงของญาณที่เกิด เป็นผลโดยตรงของการรู้แจ้งแทงตลอด จึงสามารถพูดเรื่องโครงสร้างของชีวิตได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนั้น ไม่ได้คิดว่ามันเป็นความคิดที่วิเศษวิโสอะไร เพราะสิ่งที่คิดออกได้ อยู่ในหัวแล้ว มันก็รู้สึกว่าธรรมดามาก ยังคิดว่าคนอื่นก็เขียนไว้แล้ว

ในที่สุด จึงต้องวางงานเขียนที่ทำค้างอยู่ก่อนหน้านั้นไว้ และเริ่มจับงานชิ้นใหม่ทันที พอโน้มใจเข้าไปเท่านั้น ความคิดต่าง ๆ ก็ไหลออกมาเหมือนเปิดน้ำก๊อก โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากนัก ภายในสามเดือนนั้นเอง เราก็เขียนต้นฉบับของใบไม้กำมือเดียวเสร็จทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และใช้เวลาอีกหลายเดือนแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนรายละเอียด เราไม่ได้คิดว่างานชิ้นนี้มีอะไรเด่นเป็นพิเศษเลย จนกระทั่งมาอ่านคำนำที่พระท่านเขียนให้ แต่เมื่อถึงตอนนั้น ความรู้สึกของเราก็เฉยมากแล้ว ไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อคำติชมแต่อย่างใด อ่านแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ เพียงรับรู้เท่านั้น    



[1] ดิฉันกลับมาอ่านต้นฉบับนี้ประมาณ ๑๘ เดือนหลังจากที่เขียนหัวข้อนั้น สภาวะที่ดิฉันอธิบายว่า สภาวะใจยังถูกสะกิดสะเกาอยู่บ้าง นั้นได้หายไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ไม่เกิดอีกแล้ว