บทที่สิบแปด การแสดงออกถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม

 

เผชิญหน้ากับโลกธรรม

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ความแข็งแกร่งของใจเราได้ดีคือ เมื่อจำเป็นต้องเผชิญหน้าหรือกระทบกับเหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งกับผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว และเราได้กลายเป็นหัวข้อที่คนทั่วไปพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ ติฉินนินทา จนกระทั่งถูกด่าและหัวเราะเยาะ เมื่อเจอเหตุการณ์และสถานการณ์เช่นนั้นแล้ว เราได้ทำใจอย่างไร และพาตัวรอดได้อย่างไร การเผชิญหน้ากับโลกธรรม ๘ ในฝ่ายลบ เป็นปัญหาที่มนุษย์เดินดินอันเป็นสัตว์สังคมทั่วไปล้วนต้องประสบด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย คิดว่าน่าจะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เพื่อให้คนรู้ว่าเราต้องพาตัวเองให้รอดออกมาได้อย่างไรโดยไม่ถูกเขี้ยวเล็บของโลกธรรมขบกัดและบดขยี้เอา เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดียิ่งว่า รอดมาได้เพราะได้สวมกอดความรู้ที่แท้จริงในระดับพระนิพพานเท่านั้น ถ้าไม่มีความรู้ในระดับสูงสุดนี้แล้ว คงไม่มีเรื่องให้คุยหรือเขียนหนังสือให้คนอ่านอย่างทุกวันนี้แน่นอน

 

ไม่รู้ตัวว่ามีความกล้าหาญทางจริยธรรม

          เพราะอิทธิพลของสวนโมกข์หรือพระพุทธศาสนาและความเป็นผลผลิตของยุคสมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อันเป็นยุคสมัยที่มิใช่เมืองไทยเท่านั้น หนุ่มสาวทั่วโลกล้วนตื่นตัวด้วยความคิดสังคมนิยม ปัจจัยสองอย่างนี้ได้สร้างลักษณะนิสัยส่วนตัวให้เราอย่างหนึ่งที่เราเองก็มองไม่ออกและไม่รู้ว่าตัวเองมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ นั่นคือ ความกล้าหาญทางจริยธรรม

ความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นศัพท์ที่อาจารย์โกวิทใช้ หมายความว่า ความกล้าหาญที่จะแสดงออกถึงความถูกต้อง  หรือ ความแข็งแกร่งของใจที่กล้าคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพิ่งมาเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่า คนที่สามารถแสดงออกถึงความถูกต้องได้นั้น คนนั้นต้องมีความถูกต้องในตนเองเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ว จะเอาความถูกต้องที่ไหนมาแสดงให้คนอื่นเห็น และสาเหตุที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีคุณสมบัตินี้อยู่เพราะ สิ่งใดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว คนนั้นจะไม่รู้ตัว

ความแข็งแกร่งทางใจก็เหมือนกับความแข็งแรงทางกาย ชายอกสามศอกที่มีร่างกายแข็งแรง บึกบึนนั้น ย่อมสามารถยกของหนักได้อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา ในขณะที่ยกของหนักนั้น เขาไม่ต้องฝืนตนเองเลย เขาก็ยกขึ้นมาได้อย่างเป็นธรรมชาติของเขา ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเก่งกาจสามารถหรือแปลกอะไร คนที่ร่างกายอ่อนแอกว่าและยกของหนักไม่ได้ ย่อมเห็นคนทำได้ว่าเก่ง มีความสามารถและไม่ธรรมดาเมื่อเปรียบเทีนบกับตนเองที่อ่อนแอกว่า

คนที่มีความแข็งแกร่งทางใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องแล้ว จะมีความกล้าในการแสดงออกโดยไม่หวั่นเกรงใครหรืออำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น จะพูดไปตามเนื้อผ้าที่มีความหยาบหรือละเอียด ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าผิด สำหรับเราแล้ว รู้สึกว่าการพูดไปตามความจริงเป็นเรื่องที่ควรทำ รู้สึกว่าเป็นธรรมชาติธรรมดามาก บางครั้งมีคนทักจึงรู้ว่า คนอื่นไม่ได้มองเราอย่างเป็นธรรมดาเหมือนชายอ่อนแอมองชายอกสามศอกที่กำยันล่ำสัน

ครั้งที่เราได้พาตัวเองเข้าไปพัวพันกับปัญหาของพระฝรั่งรูปหนึ่ง ก็คิดว่าทำไปเพื่อความถูกต้องด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองกล้าหาญชาญชัยแต่อย่างใด จนกระทั่งได้คุยกับน้องคนไทยคนหนึ่งที่รู้ปัญหามาตั้งแต่ต้นจนจบ ในการสนทนานั้น เขาพูดว่า

“แหม…ก็ใครจะกล้าสู้กับพี่ล่ะ พี่เล่นพูดอะไรตรง ๆ อย่างนี้ คนได้ยินชื่อพี่ก็กลัวแล้ว”

ตอนนั้น ฟังแล้วยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาหมายถึงอะไร ทำไมคนต้องมากลัวเรา ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ แค่นี้ กลัวทำไม กลัวอะไร ตอนนี้ จึงเข้าใจได้ว่า คนไม่ได้กลัว “เราในฐานะผู้หญิงตัวเล็ก ๆ” หรอก แต่กลัว “สิ่งถูกต้องที่มีอยู่ในตัวเรา” ต่างหาก คนที่มีความไม่ถูกต้องในตนเองย่อมกลัวคนที่มีความถูกต้องมากกว่า เหมือนความมืดย่อมกลัวความสว่าง คนเลวย่อมกลัวคนที่ดีกว่า

เคยรู้สึกกลัวชาวอโศก

              เราเคยรู้สึกกลัวชาวอโศกในสมัยที่เป็นนักศึกษา พอเข้าใกล้เพื่อน ๆ ที่เป็นชาวอโศกแล้ว มีความรู้สึกว่าเราด้อยกว่าเขาเสมอ เราไม่สะอาดเท่าเขา เพราะเขาทานอาหารมังสะวิรัติได้เก่งกว่าเรา เขาทานมื้อเดียวหรือสองมื้อได้ เรายังทำไม่ได้ เขากล้าคิดที่จะไม่ยุ่งกับเมถุนธรรมอีกต่อไป เราไม่กล้าคิดเช่นนั้น จึงพลอยทำให้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยและไม่ดีเท่าชาวอโศกอยู่ร่ำไป

ตอนนี้ เราก็ยังไม่ได้ทานอาหารมังสะวิรัติ ยังทานอาหารสองมื้อบ้าง สามมื้อบ้าง ยังใช้ชีวิตคู่อยู่ แต่ไม่ได้รู้สึกต่ำต้อยอีกแล้ว เพราะมีความถูกต้องอยู่ในตัวเองแล้ว 

 

ความถูกต้องในระดับสูงสุดคือพระนิพพาน

ถึงแม้เราได้มีคุณสมบัติเหล่านี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วก็ตาม แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าความถูกต้องที่แท้จริงคืออะไร ความกล้าหาญนั้นจึงเจือปนด้วยความโง่เขลาอยู่บ้าง แต่ก็ยังทำด้วยเจตนาที่ดี เมื่อใจสามารถอิงกับความถูกต้องได้มากขึ้น การแสดงออกซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ความรู้อันเนื่องกับความถูกต้องอย่างสูงสุดก็คือความรู้ในระดับพระนิพพานนั่นเอง พระนิพพานคือความถูกต้องอันสูงสุด

ฉะนั้น เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์เด่น ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต ซึ่งมีระดับแห่งความกล้าหาญในการแสดงออกถึงความถูกต้องที่แตกต่างกัน จากน้อยไปหามาก ยิ่งมีความถูกต้องในตนเองมากขึ้นเท่าไร ความกล้าหาญที่จะแสดงออกถึงความถูกต้องนั้นย่อมมีมากขึ้นตามลำดับ 

 

ต้องตกลงกับผู้อ่านให้ดีก่อน[1]

          เนื่องจากเรื่องต่าง ๆ ที่จะเล่าต่อไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบถึงบุคคลที่สามทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่คนอยู่ในเหตุการณ์หรือพัวพันกับเหตุการณ์เท่านั้นจึงจะรู้ว่าใครเป็นใครถึงแม้จะไม่มีการระบุชื่อก็ตาม คนที่ถูกระบุชื่อ คือคนที่เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์จนทุกคนก็รู้ ๆ กันอยู่ จึงไม่ได้เป็นปัญหาแม้จะเอ่ยชื่อก็ตาม

 การเขียนเรื่องราวต่อไปนี้ ขอให้รู้ว่ามิใช่ต้องการประจานใครทั้งสิ้น เป็นการแสดงออกถึงความถูกต้องของตนเองที่มีต่อผู้อื่น เป็นการพูดไปตามเนื้อผ้าอย่างที่อธิบายแล้ว ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น  การพูดหรือการกระทำสิ่งที่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นจริงในโลกสมมุติ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดบ้างกับคนทุกคน ไม่มากก็น้อย นอกจากคน ๆ นั้นจะอยู่ป่าคนเดียว ไม่ยุ่งกับใครเลยก็อีกเรื่องหนึ่ง และสิ่งเหล่านี้ก็ได้เกิดกับเราแล้ว จนพาลให้คนอื่นเกลียดเรา

แม้กระนั้นก็ตาม เรายังถนัดมองทุกคนและทุกอย่างเป็นอนิจจัง แม้คนที่เรามีปัญหาด้วยเหล่านี้ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บางคนอาจจะดีขึ้น บางคนอาจจะเลวลง ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่แต่ละคนได้สร้างกับตนเอง คนเหล่านั้นบางคน เราก็ไม่เคยได้พบปะอีกเลยตั้งแต่เกิดเรื่อง จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาเปลี่ยนไปในทางดีขึ้นหรือเลวลง แต่นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนอ่านไม่ควรสรุปอะไรง่าย ๆ ไม่ควรรีบด่วนตัดสินว่าคนนั้นดีหรือไม่ดี คนบางคนเหล่านั้นเช่น ชาววัด โดยเฉพาะพระสงฆ์องค์เจ้าที่อ้างถึงในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้ มาบัดนี้อาจจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าระดับหนึ่งระดับใดแล้วก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่แม้เราเองก็ไม่รู้ หากไม่ได้สัมผัสบุคคลนั้นด้วยตนเอง

ฉะนั้น จึงใคร่ขอร้องให้ผู้อ่านต้องวางใจเป็นกลางให้มากที่สุด นอกจากไม่รีบด่วนตัดสินคนเหล่านั้นแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บโดยพยายามอยากรู้ว่าคนนั้นคนนี้ที่พูดถึงคือใคร มาจากไหน อยู่ที่ไหน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ปุถุชนเห็นเป็นเรื่องอร่อย จึงขอพูดเตือนไว้ก่อนว่า อย่าทำ ไม่จำเป็นเลย เพราะสิ่งที่พูดถึงในที่นี้ล้วนเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้วทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นจริงอีกแล้ว จึงต้องอย่าลืมว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้น จะเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตมาตัดสินสภาวะในปัจจุบันของเขาก็ไม่ได้ เพราะทุกคนย่อมทำสิ่งผิดพลาดได้เท่าเทียมกันหมด เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป เขาอาจจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง และทำตนเองให้ดีขึ้นก็ได้ ฉะนั้น ไม่ควรเอาเรื่องอดีตเหล่านี้มาติดสินสภาวะในปัจจุบันของเขา ถ้าตัดสินหรือสรุปอะไร ผิด ๆ แล้ว จะเป็นบาปแก่ตนเอง จึงขอพูดอธิบายอย่างชัดเจนไว้ในที่นี้ก่อน

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องพูดเรื่องเหล่านี้เพราะ ต้องการให้คนอ่านรู้ว่า เราได้พาใจของเราฝ่าฟันเหตุการณ์และรอดออกมาได้อย่างไร โดยไม่ถูกเขี้ยวเล็บของโลกธรรมข่วนเอามากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่คนอ่านสามารถเรียนรู้ได้ไม่น้อย 

นุ่งผ้าถุง-พบถนอม

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้พบสวนโมกข์และเริ่มปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น ได้สังเกตเห็นว่ามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกถึงความคิดและการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตนเองคิดและทำเป็นเรื่องถูกต้อง เหตุการณ์เด่น ๆ ที่ได้ทำในช่วงที่อยู่ธรรมศาสตร์คือ การนำนักศึกษาหญิงแต่งกายตามประเพณีของคนไทย โดยการนุ่งผ้าถุงไปมหาวิทยาลัย เพราะช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม นั้น ธรรมศาสตร์ได้กลายเป็นสังคมที่เน้นเรื่องการมีสิทธิเสรีภาพทุกตารางนิ้ว นักศึกษาจึงละทิ้งเครื่องแบบนักศึกษาและเริ่มแต่งกายเสรี เสื้อม่อฮ่อม กางเกงยีน ฮิตมาก เราจึงคิดว่า ถ้าเช่นนั้น ก็แต่งแบบไทย ๆ ไม่ดีหรือ นุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่นธรรมดา ๆ ไปเลย พอคิดแล้วก็ทำทันที

 

ชาวธรรมศาสตร์ได้สนุกสนานอยู่กับบรรยากาศที่มีเสรีภาพอยู่เพียงไม่ถึงสามปีดี ถนอมก็กลับเมืองไทยในเพศนักบวช และไปอยู่วัดบวร ฯ ตอนนั้น เราเป็นนักศึกษาปี ๔ ในขณะที่การประท้วงเกิดขึ้นโดยทั่วไป และบรรยากาศทางการเมืองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตนั้น เรารวมกลุ่มน้อง ๆ ที่ชุมนุมพุทธ ปรึกษากันว่า ชุมนุมพุทธควรจะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ครั้งนี้ จะลองเสี่ยงเดินเข้าไปขอร้องให้พระถนอมออกนอกประเทศเพื่อยุติเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เมื่อตกลงกันแล้ว จึงนำน้อง ๆ ผู้หญิงอีก ๕ คน ทุกคนนุ่งผ้าถุงหมด และเดินไปวัดบวรฯ เพื่อต้องการขอพบพระถนอม วัดบวร ฯ ในช่วงนั้นเต็มไปด้วยทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบโดบเฉพาะกลุ่มกระทิงแดงที่เป็นเครื่องมือสังหารของถนอม ใครจะยอมให้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เหล่านี้พบ เขาไม่แอบยิงพวกเราทิ้งก็บุญแล้ว นี่ก็เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่เพราะขาดประสบการณ์ชีวิต จึงกลายเป็นการกระทำที่ซื่อจนดูโง่เขลาไป

         

ไม่จงรักภักดีต่อเจ้านาย

ตอนที่ทำงานอยู่ค่ายอพยพผู้ลี้ภัยเขมรนั้น ได้เกิดความคิดแตกแยกในหมู่ฝรั่งที่ทำงานอยู่ในค่าย ในเรื่องที่ว่าควรให้ประเทศที่สามรับเด็กกำพร้าเขมรไปเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ กลุ่มหนึ่งเห็นควรเพราะคิดว่าควรให้โอกาสแก่เด็กไปใช้ชีวิตที่ดีกว่า อีกกลุ่มเห็นไม่ควรเพราะคนเขมรตายไปเกือบครึ่งค่อนประเทศแล้ว เด็ก ๆ เหล่านี้คืออนาคตของเขมร ควรจะให้เขาอยู่กับคนเขมร เราเห็นด้วยกับกลุ่มหลังซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายองค์การสหประชาชาติที่เราทำงานให้

เมื่อการประชุมในเรื่องนี้มาถึง เรากลับยืนขึ้นมาพูดในที่ประชุมและคัดค้านความเห็นขององค์กรที่เป็นเจ้านายของเราเอง เป็นการแสดงออกถึงความไม่จงรักภักดีต่อเจ้านายตัวเอง ทำให้กลายเป็นเป้าสายตาของทุกฝ่าย

คงจะมีคนเห็นแววแห่งความกล้าหาญในตัวเรา ภายหลัง ในขณะที่เราทำงานอยู่กับผู้อพยพชาวเวียดนามที่สงขลานั้น องค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งมาจีบทาบทามให้เราไปทำงานให้เขา แต่เราตัดสินใจแต่งงานเสียก่อน

         

ถูกไล่ออกจากร้านอาหาร

ความเป็นคนที่กล้าพูดและกล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้องนั้นจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เมื่อมาอยู่อังกฤษ ได้ไปทำงานร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งเพื่อช่วยสามีหาเงินจุนเจือครอบครัวตอนที่ลูกอยู่ในวัยเรียนชั้นประถมมัธยมอยู่ ทำอยู่ร้านนี้หลายเดือนแล้ว เราก็กลับเมืองไทย พอกลับมาอังกฤษอีก ก็คิดว่าจะได้ทำต่อตามที่เจ้าของร้านได้สัญญาเอาไว้ แต่ปรากฏว่าเขาไม่ทำตามสัญญา แต่ไม่กล้าบอกเราตรง ๆ หลีกเลี่ยงที่จะพบและพูดกับเราแม้ทางโทรศัพท์

ส่วนเรานั้น เนื่องจากเป็นคนที่ชอบใช้เหตุผล เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดปัญหา ต้องการรู้เหตุผล วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเจอเจ้าของร้านอาหารที่วัด จึงเดินตรงไปถามว่าทำไมจึงกลับคำพูด ปรากฏว่าเจ้าของร้านหน้าซีด วิ่งหนี พูดไม่ออก ไม่กล้าเผชิญหน้าเราเลย ตอนนั้น ยอมรับว่ามีความพอใจอยู่ลึก ๆ ว่าเขากลัวเรา แต่ยังไม่เข้าใจชัดว่าทำไมเขาจึงกลัว ตอนนี้ จึงอธิบายได้ว่า คนที่รู้ว่าตนเองทำผิดนั้น มักจะกลัวความตรงไปตรงมาของอีกฝ่ายหนึ่ง กลัวการเผชิญหน้ากับความจริง

เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้น ๑๐ ปีเศษมาแล้วเห็นจะได้ หญิงเจ้าของร้านอาหารนั้นได้หลบหน้าเราอยู่หลายปี ในที่สุด เราเองเป็นฝ่ายที่พยายามทำให้เขารู้สึกดีขึ้นโดยเป็นฝ่ายพูดดี ๆ กับเขาก่อน ไม่ขุดคุ้ยเรื่องเก่า พูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบตามธรรมดาเหมือนคนรู้จักกันมาก่อน จนบัดนี้ เธอก็สามารถทักทายและคุยกับเราได้เป็นปกติ เรื่องก็จบลงด้วยดี

          หลังจากที่ออกจากร้านอาหารนั้นแล้ว ก็ได้งานในร้านอาหารไทยอีกแห่งหนึ่ง คราวนี้ เจ้าของร้านเป็นผู้ชายไทย ก็ทำงานเป็นพนักงานเสริฟอาหารเหมือนร้านก่อน พอดีมีนักศึกษาไทยทำอยู่ก่อนสองคน ก็เหมือนกับสังคมร้านอาหารทั่วไป เมื่อมีการอยู่ด้วยกัน มีลูกจ้างกับนายจ้าง การพูดคุย นินทา ลับหลังคนนั้นย่อมมีเป็นธรรมดา การจะทำตัวไม่ยุ่งกับใครนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย หลังจากที่ทำอยู่หลายเดือน ก็รู้ว่า มีลูกจ้างกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจนายจ้างด้วยเหตุผลบางอย่างที่เราเองก็ยังไม่รู้ชัด วันที่เกิดเรื่องนั้น ที่จริงเราไม่ได้เข้าไปทำงาน เพราะมีเพื่อนมาเยี่ยมจากเมืองไทย แต่ก็ถูกลากเข้าไปพัวพันจนได้ เพราะลูกจ้างที่ทำวันนั้นรวมทั้งนักศึกษาสองคนได้ตัดสินใจว่าจะประท้วงนายจ้างโดยไม่เปิดร้านอาหารให้เขา และโทรบอกให้เราต้องเข้าไปร่วมการประท้วงนี้ให้ได้ ทั้ง ๆ ที่เราเองก็ไม่รู้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่ก็ไปติดพันกับสถานการณ์จนถูกเจ้าของร้านไล่ออกเหมือนหมูเหมือนหมาด้วยความโกรธจัดในคืนนั้น  ต่อมา มีข่าวมาเข้าหูว่า เจ้าของร้านนี้ได้บอกกับร้านอาหารไทยในแถบนี้ว่า หากมีคนชื่อศุภวรรณมาสมัครงานละก็ อย่ารับเป็นอันขาด เพราะชอบก่อเรื่องวุ่นวาย 

          ปรากฏว่าเราก็ไม่ได้พบเจ้าของร้านนี้อีกเลย คงจะเป็นอีกราวหนึ่งหรือสองปีต่อมา ได้พบชายคนนี้ที่วัด ตอนแรกเห็นแล้ว ก็นึกไม่ออกว่าเป็นใคร รู้แต่ว่า หน้านี้เคยรู้จัก ด้วยความที่เป็นคนมืออ่อน เห็นหน้าคุ้น ๆ ก็ยกมือไหว้ทักทายไปก่อนก็แล้วกัน แต่ก็สังเกตเห็นหน้าเฝื่อน ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร จะยกมือรับไหว้เราก็ไม่เชิง เก้อ ๆ เขิน ๆ ยังไงชอบกล  เป็นการเห็นหน้าแล้วไหว้แล้วก็เดินสวนผ่านกันไป สักครู่ให้หลังจึงนึกออกว่า ทำไมเขาจึงเก้อเมื่อเราไหว้เขาก่อน คน ๆ นี้เคยไล่เราออกจากร้านอาหารเขาเหมือนหมูเหมือนหมานี่เอง  เราสำรวจดูใจทันทีว่า รู้สึกเสียดายมือที่ยกไหว้เขาหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีความรู้สึกเสียดายหรือตะขิดตะขวงใจเลย จิตใจกลับโล่ง ปลอดโปร่งและดีใจเสียอีกว่า ได้ทำเช่นนั้นไป และคิดว่า ถ้าเจอเขาอีกทีก็จะทักทายเขาอีก แต่หลังจากครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่เคยพบอีกเลย[2]



[1] เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีต้นตอที่แปลกประหลาดดังที่อธิบายไว้ในบทนำแล้ว การเล่าเรื่องต่าง ๆ ในบทก่อน ๆ ยังมีความรู้สึกว่ากำลังคุยกับตนเอง จึงใช้สรรพนามว่า “เรา” มาตลอด เมื่อเขียนมาถึงบทนี้ เวลาได้ผ่านไปประมาณ ๗ เดือนหลังจากที่เริ่มเขียนและเริ่มยอมรับชื่อเรื่องของหนังสือแล้ว เมื่อยอมรับชื่อเรื่องของหนังสือ การเดินเรื่องและจัดหัวข้อต่าง ๆ จึงค่อย ๆ ชัดเจนมากขึ้น  จึงเห็นว่า ควรพูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้พูดกับตนเองอีกแล้ว แต่กำลังพูดกับผู้อ่าน และควรใช้สรรพนามว่า “ดิฉัน” มากกว่า แต่เนื่องจากได้ใช้สรรพนามว่า “รา” มาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีทางอื่นนอกจากคงคำว่า “เรา” ต่อไป เพื่อความเสมอต้นเสมอปลายของการเขียน 

[2] เมื่อต้นปี ๒๕๔๖ ได้ไปเรียนนวดไทยแผนโบราณที่วัดไทยแห่งหนึ่งในเบอร์มิ่งแฮม วันหนึ่งมีคนมาทักเราก่อน ถามว่า นั่นคือศุภวรรณใช่ไม๊ ปรากฏว่าเราจำไม่ได้ว่าคนทักคือใคร จนเจ้าตัวต้องบอกชื่อตนเองจึงจำได้ว่า คือบุคคลที่เป็นเจ้าของร้านอาหารนั่นเอง จำไม่ได้ เพราะทุกคนก็แก่ตัวลงไปมาก หลังจากที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมากกว่าสิบปี คราวนี้ก็พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบเหมือนไม่เคยมีปัญหาต่อกันมาก่อน