บทที่ยี่สิบสอง อุบายพาคนมืดบอดออกจากสังสารวัฏ

 

สืบทอดความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส

            อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความกล้าหาญทางจริยธรรมของเราน่าจะเป็นเรื่องการนำพระเจ้ามาเคียงข้างพระนิพพาน ถึงแม้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พูดปูทางให้แล้วก็ตาม แต่เราก็รับความคิดนั้นมาโดยไม่ได้เข้าใจอย่างเต็มที่ เมื่อมาพิจารณาการสอนในเรื่องพระเจ้าของท่านอาจารย์ในภายหลัง ดูออกว่า การอธิบายของท่านอาจารย์ยังกำกวมอยู่ ยังมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครืออยู่ การมาใช้ชีวิตอยู่อังกฤษ ในท่ามกลางคนที่เป็นชาวคริสต์นั้น จึงเหมือนถูกบีบบังคับให้คิดสางเรื่องที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ปูทางไว้ให้ต่อไป ความชัดเจนในการเสนอความคิดของเราเพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริงก็หลังจากเกิดญาณแล้ว สภาวะที่เรียกว่า “รู้แจ้งแทงตลอด” ทำให้สามารถเห็นโครงสร้างชีวิตได้อย่างชัดเจน จึงเห็นข้อบกพร่องของคริสตศาสนา และเห็นทางออกว่า จะสามารถช่วยทำให้คำสอนของชาวคริสต์ชัดเจนมากขึ้นได้อย่างไร และจะปรับเรื่องวิปัสสนาหรือเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้แก่ชาวคริสต์ได้อย่างไร  

 

เรื่องพระเจ้าสร้างโลกต้องเป็นนิทานที่ดีที่สุด

สิ่งที่ทำให้ชาวคริสต์เสียเวลาในการค้นพบพระเจ้าที่แท้จริงคือ ไปตั้งคำถามผิดเสียแต่ต้น นั่นคือ ถามว่า ใครเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์ เมื่อตอบว่า พระเจ้าคือผู้สร้างโลกและทุกสิ่งแล้ว นั่นเป็นการเลี้ยวผิดทางจนทำให้หลงทิศ

 พระคัมภีร์ที่รับผิดชอบต่อความคิดเรื่องพระเจ้าสร้างโลกคือ คัมภีร์เจนีสีสอันเป็นคัมภีร์บทแรกในพระคัมภีร์เก่า The Old Testament ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าได้สร้างโลกและทุกสิ่งบนโลกรวมทั้งมนุษย์ชายหญิงคู่แรกภายใน ๗ วัน และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็สืบทอดมาจากมนุษย์ชายหญิงคู่แรกนี้

ตอนนี้ มานั่งพิจารณาคัมภีร์เจนีสีสแล้ว เราแน่ใจมากว่า ผู้เขียนคัมภีร์เล่มนี้ที่จริงแล้ว ต้องการเล่านิทานที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งให้คนฟังต่างหาก จำเป็นต้องเป็นนิทานที่ดีที่สุดที่คนจะไม่มีวันลืม และลืมไม่ได้ จะต้องให้แน่ใจว่ามีการเล่านิทานเรื่องนี้ต่อ ๆ กันมา เพราะว่า นิทานเรื่องนี้ต้องทำหน้าที่เป็นเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มตัวกุญแจที่จะไขความลับของแก่นธรรมไว้ แก่นธรรมนี้คือ เรื่องที่พระเจ้าทรงห้ามอาดัมกับอีวาไม่ให้กินผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ The tree of knowledge และสนับสนุนให้คนกินผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิต The tree of life ต้นไม้สองต้นนี้คือปุคลาทิษฐานอันเป็นตัวกุญแจที่สามารถไขเข้าไปสู่ปัญญาอันแท้จริง ทำให้เข้าใจเรื่องราวของชีวิตได้อย่างถ่องแท้ แต่เพราะต้นไม้ทั้งสองต้นนี้เป็นสภาวะธรรมที่เกิดในใจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่สามารถอธิบายกันได้ง่าย ๆ แม้จากผู้มีสภาวะธรรมก็ตามแต่ คนที่ไม่มีสภาวะธรรมในใจรองรับแล้ว ยิ่งฟังไม่รู้เรื่องใหญ่ แล้วจะอธิบายให้คนฟังได้อย่างไร

ต้องอาศัยวิปัสสนาจึงเข้าใจต้นไม้ทั้งสองนี้ได้

ถ้าเทียบเคียงกับคำศัพท์ของฝ่ายพุทธแล้ว ต้นไม้แห่งความรู้ก็คือ เรื่องของสังขาร หรือ สังขตธรรม ธรรมที่อยู่ในฝ่ายเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จึงเปรียบเป็นผลไม้ที่ต้องคายออก เป็นผลไม้ที่กินไม่ได้ ส่วนต้นไม้แห่งชีวิตก็คือเรื่องวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม ธรรมที่อยู่ในฝ่ายไม่เปลี่ยนแปลง หรือ พระนิพพานนั่นเอง จึงเป็นธรรมฝ่ายที่ควรโน้มเข้ามาใส่ตน เรื่องต้นไม้ทั้งสองต้นนี้ ชาวคริสต์ไม่สามารถเข้าใจความหมายอันเป็นแก่นแท้ของมันได้ ยังไม่เคยได้ยินบาทหลวงองค์ไหนอธิบายให้เข้าร่องได้จริง ๆ แต่เราสามารถอธิบายให้ลูกศิษย์ฟังได้ชัดเจนโดยใช้เรื่องขันธ์ ๕ เป็นตัวนำร่อง เรื่องต้นไม้ทั้งสองต้นนี้จะทำให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ก็โดยอาศัยการฝึกวิปัสสนาเท่านั้น ถ้าไม่ทำตามการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานสี่แล้ว จะเข้าใจความหมายของต้นไม้ทั้งสองต้นนี้ไม่ได้ แต่เราอธิบายได้ เพราะสอนการฝึกวิปัสสนาในชั้น  ลูกศิษย์ของเราจึงสามารถเห็นการเปรียบเทียบที่เป็นรูปธรรมอันเราอธิบายและเข้าใจตามได้ บวกกับการฝึกวิปัสสนาในชั้นและการชี้แนะให้เห็นว่าสภาวะไหนคืออะไร จึงสามารถเห็นสภาวะของต้นไม้ทั้งสองในใจตนเอง

 

ชาวคริสต์ไม่เข้าใจแก่นธรรมเพราะเอานิทานมาเป็นเรื่องจริง

แต่เพราะชาวคริสต์ไม่ได้ฝึกวิปัสสนา จึงไม่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของพระคัมภีร์เจนนีสิส ต้นไม้ทั้งสองต้นจึงไม่ถูกเอ่ยถึง กลับไปเอาส่วนของเปลือกซึ่งเป็นนิทานมาเป็นเรื่องจริง ที่พูดต่อกันอย่างเป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราว เรามั่นใจว่า แม้คนเขียนคัมภีร์เล่มนี้ก็ยังต้องการให้คนรู้ว่า นี่เป็นนิทานเฉย ๆ นะ อย่าเอามาทำเป็นเรื่องจริงจังไม่ได้นะ ฉะนั้น คนเล่านิทานจึงเล่าให้อาดัมกับอีวามีลูกชายสองคน หากคนคิดสักหน่อยว่า นี่เป็นพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา จะให้เริ่มต้นโดยการกระทำที่ผิดศีลธรรมได้อย่างไร เพราะถ้าเชื่อตามนั้นจริง ๆ แล้ว ก็หมายความว่า แม่กับลูกชายต้องสมสู่กันเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ต่อไป แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเริ่มต้นพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยการกระทำที่ผิดธรรมชาติและผิดศีลธรรมเช่นนั้น

เพราะศาสนาคริสต์ไม่มีเรื่องวิปัสสนา เขาจึงไม่มีกุญแจไขเข้าไปสู่ความลับของชีวิตอันคือเรื่องนิพพานหรือต้นไม้แห่งชีวิต  จึงเลี้ยวผิดทาง ไปเอาเรื่องพระเจ้าสร้างโลกมาเป็นจุดเริ่มต้น จึงหลงทิศชนิดกู่ไม่กลับอีกแล้ว  

 

เน้นคำถามอจินไตย จึงไม่มีคำตอบ

   ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าสร้างโลกจะไม่มีวันช่วยให้ชาวคริสต์ค้นพบพระเจ้าองค์จริงได้เลย ถึงจุดหนึ่งศรัทธาจะง่อนแง่นคลอนแคลนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมชาวคริสต์ในปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่เห็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกเป็นเรื่องเหลวไหลอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ด้วยแล้ว ยิ่งเน้นให้เห็นชัดว่า เรื่องพระเจ้าสร้างโลกนี่เหลวไหลมาก ชาวคริสต์ที่เคร่งครัดที่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกและทุกสิ่งนั้นจะยอมรับการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ไม่ได้ เพราะเท่ากับยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน เมื่อทฤษฎีนี้ออกมาใหม่ ๆ การต่อต้านจากฝ่ายคริสตจักรมีมาก ชาวคริสต์ยอมรับไม่ได้ ครูที่บูชาความจริงเอาเรื่องนี้มาสอนนักเรียนจะถูกไล่ออก มีเรื่องที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็เพราะการปะทะกันระหว่างความเชื่อทางศาสนากับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์ยิ่งพัฒนามากขึ้น ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็ยิ่งอ่อนตัวลง นี่จึงเป็นสาเหตุใหญ่ว่าทำไมสถาบันคริสตศาสนาจึงกำลังล้มอย่างระเนระนาดในทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้ โบสถ์บางแห่งต้องปิด เพราะขาดผู้มีศรัทธาสนับสนุน และเพราะศูนย์การค้าใหญ่ ๆ ได้กลายเป็นโบสถ์ของคนยุคใหม่ เช้าวันอาทิตย์ แทนที่จะเข้าโบสถ์ คนส่วนมากเลือกเข้าห้างสรรพสินค้าแทน

 เราได้บอกกับนักศึกษาว่า เรื่องพระเจ้าสร้างโลกของคริสตศาสนากับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน นั้นที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อยู่คนละขั้วกันเท่านั้น นั่นเป็นคำถามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามเด็ดขาด เป็นคำถามอจินไตยที่ไม่มีคำตอบ นี่เป็นสิ่งที่ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้ากับวิทยาศาสตร์พยายามปลุกปล้ำอย่างหัวปักหัวปำเพื่อให้ได้คำตอบ คนที่รู้แจ้งแทงตลอดแล้วจะสามารถดูออกว่านั่นเป็นการหลงทิศ เพราะไปถามคำถามที่ไม่ควรถาม นอกจากไม่มีคำตอบแล้ว ยังไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

โดยนิสัยของมนุษย์ที่ถนัดใช้สมองหรือปัญญาทางโลกนั้น เมื่อตั้งคำถามขึ้นมาแล้ว สมองถูกสร้างเงื่อนไขให้คิดไปตามร่องของคำถามนั้นเพื่อหาคำตอบ ในโลกแห่งความเป็นจริง ย่อมมีคำถามมากกว่าคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปถามเรื่องอจินไตยที่ไม่มีคำตอบรออยู่ข้างหน้าแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตจึงหมดไปกับการหมกมุ่นกับปัญหาที่ถามผิด เสียเวลา เสียชาติเกิด ลองไปดูชีวิตของนักดาราศาสตร์ที่พยายามจะค้นหาว่า ดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร มีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือ จักรวารรวมทั้งโลกนี้มีกำเนิดอย่างไร ทั้งชีวิตของคนเหล่านี้จะหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในประจำวันน้อยมาก  ช่วยคนได้น้อยมาก นี่ก็เป็นอาการของอวิชชา เป็นการหลงทิศทางจากเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตชนิดกู่กลับยาก ดูแล้วเหมือนเก่งและฉลาดมาก แต่ขาดสามัญสำนึก common sense อย่างน่าใจหาย เมื่อเปรียบเทียบขนาดและเวลาของดวงดาวบนท้องฟ้าและจักรวาลทั้งหมดกับชีวิตและอายุของมนุษย์ที่ผ่านเข้ามาในโลกนี้แล้ว มันเปรียบกันไม่ได้เลย ไม่รู้จะเปรียบอย่างไรว่าชีวิตมนุษย์มันสั้นและเล็กกระจิดริดมากเพียงไรในโลกนี้ แล้วทำไมจึงคิดว่าในช่วงเวลาที่สั้นมากนี้ จะสามารถเรียนรู้เพื่อเข้าใจจักรวาลได้  เสียเวลา  เสียชาติเกิด

 

สัมมาทิฏฐิเปรียบเหมือนเรือนำร่อง

พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักเรื่องการคิดไว้ก่อน การมีสัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นถูกต้องนั้นเหมือนเป็นเรือนำร่องของการคิด  คือ ต้องคิดตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ปูทางไว้ให้คิด คือ ต้องเห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์ เข้าใจสาเหตุของทุกข์ว่าเกิดจาการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ต้องรู้ว่าการดับทุกข์หรือสภาวะนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ และต้องรู้ว่าการทำตามองค์มรรคเพื่อไปสู่การดับทุกข์นั้นต้องทำอย่างไร เรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิแล้ว การคิด การพูด และการกระทำทุกอย่างจะเป็นเรื่องวนไปวนมาเหมือนพายเรืออยู่ในอ่างใหญ่ ออกไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า และไม่คิดตามท่านในแนวของอริยสัจสี่แล้วไซร้ หมดเรื่องพูดทันที ทุกอย่างที่นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องเสียเวลาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะดูฉลาด เก่ง ถูกต้องมากสักเพียงใด ก็ล้วนอยู่ภายใต้กะลาครอบทั้งสิ้น มืดมิด ปราศจากความสว่างแห่งปัญญา 

เรื่องวิปัสสนาจึงเป็นการหัดให้ผู้มอง มองทุกสิ่งอย่างมีสติเต็มเปี่ยม คือมองแล้วหยุดถามทันที ไม่ต้องพูดหรือถามอะไรทั้งสิ้นว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้มาจากไหนหรือจะไปไหน เช่น มองขึ้นไปในท้องฟ้า เห็นดาวระยิบระยับมากมายแล้ว ต้องมองเฉย ๆ มองแล้วหยุดถามคำถามอย่างเด็ดขาด ทันทีทันใด ต้องทำได้เช่นนี้ เมื่อทำได้ คำตอบของชีวิตก็จะออกมาเองจากการทำเช่นนั้นบ่อย ๆ จนชำนาญ การพูดเช่นนี้จะเข้าใจตามตัวหนังสือไม่ได้เด็ดขาด ต้องปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานเท่านั้นจึงจะเข้าใจได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่ถนัดใช้สมอง และบูชาปัญญาทางโลก (สุตตะมยปัญญา) จู่ ๆ จะให้เขาหยุดใช้ความคิด หยุดตั้งคำถามนั้น บางคนขอตายดีกว่า เพราะเขาคิดว่ากำลังเสาะหาความจริงหรือสัจธรรมอยู่ จึงยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อหาความจริง นี่คือความยากของการเข้าถึงธรรมหรือความจริงในขั้นสูงสุด ต้องเริ่มจากการฟังผู้รู้อย่างตั้งใจ มีศรัทธาในครูผู้สอน และทำตามคำแนะนำด้วยใจที่ซื่อ ๆ จึงจะพบธรรมที่แท้จริงได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ สมัยนี้จะไปหาครูที่รู้จริงก็ยาก คนอยากเรียนรู้หาความจริงอันสูงสุด ที่จริงมีมากมายในหมู่ปัญญาชน แต่พวกเขาไม่รู้จะไปเสาะหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงได้ที่ไหน แม้บางคนเจอครูบาอาจารย์ที่รู้จริงแล้ว ก็มาติดที่ความดื้อรั้นของใจตนเอง สงสัยอยู่ร่ำไป เดินหนีอีก ปัญหาจึงวน นี่เป็นสถานการณ์ที่ฝรั่งใช้สำนวนว่า A Catch 22 situation ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องบารมีอีกนั่นแหละ ใครพอมีบารมีมาก่อนก็โชคดีหน่อย แม้คนไม่มีบารมีติดตัวมามาก เมื่อมาอ่านหนังสือเช่นนี้แล้ว ไม่ควรปล่อยปละละเลย แม้ไม่เข้าใจมากก็ตาม ต้องพยายามอ่านหลาย ๆ เที่ยวจนเข้าใจ เป็นการสร้างบารมีใหม่ให้ตนเอง

 

ต้องใช้วิธีการที่เขาสัมพันและสัมผัสได้

เพราะความมั่นใจในสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานที่เห็นอยู่เบื้องหน้านี่เอง ประจวบกับการมาใช้ชีวิตอยู่อังกฤษ ในสังคมของชาวคริสต์ จึงรู้ปัญหาว่าคนของเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อศาสนาของเขา เห็นได้ชัดว่าเขาไม่รู้เรื่องราวของชีวิตเอาเสียเลย ยังนอนแช่อยู่ในเงื้อมมืออันใหญ่โตมหาศาลของอวิชชา และศาสนาเขาก็ไม่ได้ช่วยให้เขาตาสว่างขึ้นแม้แต่น้อย จึงอยากช่วยเหลือฝรั่งเหล่านี้

แต่การจะช่วยเขาอย่างไรนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดอย่างรอบคอบไม่น้อย วิธีการของเราไม่ใช่โดยการเอาศาสนาพุทธทั้งดุ้นมาหยิบยื่นให้เขา จะทำเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็ต้องมีเครื่องแบบเช่นพระและต้องพูดกับคนที่สนใจศาสนาพุทธเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นก็ยังเป็นส่วนน้อยมากของสังคม คนส่วนใหญ่ของสังคมตะวันตกในยุคนี้ไม่สนใจศาสนาเอาเลย ไม่ว่าศาสนาอะไรก็ตาม เพราะเห็นเป็นเรื่องยุ่งที่สร้างความแตกแยกมากกว่าสร้างความสงบและสันติภาพ และเพราะสงครามที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าก็ล้วนเนื่องมาจากความแตกต่างของความเชื่อทางศาสนาทั้งสิ้น จึงทำให้ศาสนาสูญเสียคะแนนนิยมในคนหมู่ใหญ่ของสังคมตะวันตกในยุคนี้

ฉะนั้น วิธีการช่วยเหลือชาวตะวันตกหมู่มากที่ไม่สนใจศาสนาเลยนี้ จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาสัมพันและสัมผัสได้เสียก่อน ฉะนั้น เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้จึงเป็นขั้นตอนที่เราได้ใช้และกำลังใช้อยู่ในชั้นสอนไท้เก็กของเรา เป็นวิธีการปูทางของเราจากเรื่องง่ายที่เขาสัมพันและสัมผัสได้ ไปสู่เรื่องยากและคำใหญ่ ๆ อย่างเช่นพระเจ้า และ พระนิพพาน วิธีการสอนเช่นนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้จนกระทั่งมีเวลามานั่งสำรวจเมื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

สางขยะทิ้ง ทำแก่นให้ชัด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคัมภีร์ศาสนาในขณะนี้คือ ทั้งเปลือกทั้งกระพี้ทั้งแก่นได้คละกันจนยุ่งไปหมด จำเป็นต้องอาศัยคนรู้จริงมาสางเอาส่วนที่เป็นขยะทิ้งไปเสีย เหลือแต่ส่วนที่เป็นความรู้กำมือเดียวที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ส่วนที่เป็นใบไม้กำมือเดียวนี้คือ ต้องทำให้คนรู้เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรู้เป้าหมายของชีวิตแล้ว ก็ต้องรู้วิธีเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แค่นี้เอง เรื่องก็จบ

แต่แค่นี้เอง ก็เป็นความรู้ที่ครอบคลุมเรื่องอริยสัจสี่ไว้หมด โดยมีพระเจ้าหรือพระนิพพานเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุ และต้องอาศัยองค์มรรคหรือเรื่องวิปัสสนาหรือเรื่องการฝึกสติให้อยู่กับฐานเป็นวิธีการเดินเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น องค์มรรคนี้เองเป็นส่วนที่คริสตศาสนาไม่มี และเป็นส่วนที่เราต้องหยิบยื่นให้เขาโดยใช้กุศโลบาย  เรื่องเป้าหมายของชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องเน้นมากในการสอนของเราทุกครั้ง ถ้าเรื่องเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตไม่ชัดเจนแล้ว ทุกอย่างจะคลุมเครือไปหมด แต่ถ้าเป้าหมายชัดแล้ว การสอนวิปัสสนาแก่เขาก็ทำได้ง่ายขึ้น

 

เริ่มต้นที่ไท้เก็กก่อน

 การจะช่วยให้ชาวตะวันตกเข้าใจโครงสร้างของชีวิตโดยมีพระเจ้าเป็นเป้าหมายและวิปัสสนาเป็นวิธีการเดินทางนั้น ในภาคการกระทำจริง ๆ ในส่วนของเราแล้ว ต้องมาเริ่มที่การออกกำลังกายแบบไท้เก็ก เพราะเป็นสิ่งเดียวที่นำให้นักศึกษามาหาเรา

เมื่อราว ๑๔ ปีก่อนที่มีเสียงมากระซิบอยู่ในหัวให้เราไปสอนไท้เก็กนั้น เราเชื่อแน่ว่า “เบื้องบน” ต้องรู้ว่าเราจะเดินมาถึงจุดนี้แน่นอน จุดที่เราสามารถสร้างไท้เก็กให้เป็นเรื่องวิปัสสนาเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากที่ไม่ใช่เป็นชาวพุทธเท่านั้น 

ในช่วงเวลาสี่ปีเศษหลังจากที่ได้เกิดญาณแล้วนั้น เรามีโอกาสได้ซักซ้อมความคิดและการหาอุบายวิธีการที่จะช่วยให้หนุ่มสาวเหล่านี้ค้นพบพระเจ้าในตนเอง ความชัดเจนจึงมีมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป เพราะรู้แก่ใจดีว่าหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สนใจในศาสนาของตนแล้ว จึงจำเป็นต้องหาอุบายที่แยบคาย เรื่องไท้เก็กจึงกลายเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่สนใจศาสนธรรม การออกกำลังกายแบบไท้เก็กจึงกลายเป็นอุบายที่แยบยลมากที่สุดเพราะเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่เขาสัมพันและสัมผัสได้ ย่อมหมายความว่า เราจำเป็นต้องตีความหมายของไท้เก็กเสียใหม่หมด ต้องเริ่มเอง ทำเอง พึ่งพาหนังสือของคนอื่นไม่ได้ ต้องพยายามลากเรื่องไท้เก็กมาสู่เรื่องสติปัฏฐานสี่ให้ได้ 

ฉะนั้น การสอนไท้เก็กในชั่วโมงแรกสำหรับนักศึกษาในชั้นเริ่มต้นของเรานั้น เราจะบอกเขาว่า ก่อนที่เขาจะทำอะไรในชั้นของเรานั้น เขาจำเป็นต้องเข้าใจปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังไท้เก็กก่อน เพื่อจะได้เจาะเข้าถึงแก่นของศิลปะการออกกำลังกายชนิดนี้ และสิ่งที่จะทำให้เขาเข้าใจไท้เก็กได้ดีถึงแก่นคือ

) ต้องรู้ความหมายของคำว่าไท้เก็กคุ้ง Tai chi chuan

) ต้องรู้จักศาสนาของประเทศที่เป็นเจ้าของศิลปะการรำไท้เก็ก

พูดเพียงเท่านี้ นักศึกษาทุกคนจะฟังอย่างตั้งใจเพราะทุกคนที่มาเรียนกับเราล้วนอยากรู้เรื่องไท้เก็กทั้งนั้น

 

สภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่คือไท้เก็ก

และแล้ว เราก็เข้าสู่ขบวนการปูทางให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องโครงสร้างของชีวิตทันที โดยเริ่มที่ความหมายของคำว่า ไท้เก็กคุ้ง Tai chi chuan แก่พวกเขาก่อน โดยแปลความหมายตามตัวหนังสือจีนทีละคำ คำว่า ไท้ ถ้าออกเสียงภาษาจีนกลาง หรือ ไต๋ ภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ายิ่งใหญ่ คำว่า เก็ก แปลว่า สภาวะอันติมะ หรือสภาวะอันเป็นที่สุดที่ไม่มีอะไรไปเหนือกว่านั้นได้แล้ว (ได้เรียนคำนี้จากแม่ซึ่งจะเล่าภายหลัง) เมื่อรวมคำสองคำนี้เข้ากัน ไท้เก็ก ก็จะได้ความหมายว่า สภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่ หรือ The grand ultimate ซึ่งเป็นคำแปลที่มีอยู่ในหนังสือภาษาอังกฤษทุกเล่มที่พูดเรื่องไท้เก็ก แต่คนเขียนจะเจาะเข้าสู่ความหมายนี้หรือเปล่านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง คำว่า คุ้ง แปลว่า มวย ท่ามวยหรือท่ารำต่าง ๆ นี่เอง เมื่อรวมคำภาษาจีนสามคำนี้เข้าด้วยกัน ก็จะได้ความหมายที่ลึกซึ้งว่า ท่ารำที่ช่วยให้ถึงสภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่ 

 ที่จริง คำว่า อันติมะที่ยิ่งใหญ่นี้ถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์อี้ชิง I- ching อันเก่าแก่ของชาวจีน เคยเปิดคัมภีร์อี้ชิงดูอย่างคร่าว ๆ ว่าเขาพูดถึงอะไรบ้าง แต่ไม่เคยอ่านจริง ๆ จัง ๆ เสียที หลังเกิดญาณแล้ว จึงรู้และมั่นใจว่า ไม่จำเป็นต้องรู้คัมภีร์อี้ชิงก็สามารถเข้าถึงธรรมได้ จึงไม่เอ่ยคัมภีร์นี้เลย เพราะถ้าเข้าเรื่องคัมภีร์อี้ชิงแล้ว มันจะมากเรื่อง ทำให้ความรู้แตกซ่านได้ จำเป็นต้องสร้างครรลองการคิดให้นักศึกษาใหม่ โดยการหักมุมให้ไท้เก็กเข้าสู่เรื่องพระนิพพานให้ได้ เพื่อจะได้เข้าสู่เรื่องเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต และเพื่อให้นักศึกษาเริ่มฝึกสติปัฏฐานสี่ให้เร็วที่สุด

ฉะนั้น การบอกความหมายคำว่าไท้เก็กคุ้งในชั่วโมงแรกของการสอนนักศึกษาชั้นเริ่มต้นนั้น จุดประสงค์เพื่อว่าในอีก ๗ หรือ ๘ อาทิตย์ต่อมาเมื่อการปฏิบัติวิปัสสนาของพวกเขาได้ก้าวหน้าบ้างแล้ว เราจะแทนคำว่าอันติมะอันยิ่งใหญ่ด้วยคำว่า พระเจ้า, ต้นไม้แห่งชีวิต กับ พระนิพพาน โดยจะบอกเขาว่า คำเหล่านี้ชี้ไปที่สภาวะอันเดียวกันหมด แต่ในชั่วโมงแรก เราจะไม่พูดคำใหญ่ ๆ ของศาสนาเหล่านั้นเลย ถ้าพูดแล้ว เขาต้องวิ่งหนีแน่ ต้องการให้นักศึกษารู้เพียงว่า การที่เขามาออกกำลังกายแบบไท้เก็กนี้ โดยแก่นแท้ของศิลปะนี้แล้ว เป็นเรื่องการเดินทางของจิตวิญญาณ spirituality การบอกความหมายของไท้เก็กเช่นนี้ นักศึกษาคิดตามได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำให้เขาเริ่มสนใจสิ่งที่เราต้องพูดต่อไป  

 เราก็ไม่รู้ว่า อันติมะอันยิ่งใหญ่ที่เจ้าของคำได้บันทึกไว้แต่แรกในคัมภีร์อี้ชิงนั้นมีความหมายอะไร จะว่าอะไรก็ตาม เราไม่สนใจ เพราะคำศัพท์ของมันบ่งบอกชัดเจนมากแล้วว่าต้องพูดถึงสภาวะหนึ่งที่ไม่มีอะไรเหนือกว่านั้นอีกแล้ว ฉะนั้น จะเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกจากพระนิพพานเท่านั้น โดยหลักแห่งตรรกะแล้ว สภาวะอันติมะ หรือ สัจธรรมสูงสุดต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น จะมีสองหรือสามไม่ได้

ฉะนั้น การที่เราแปลคำภาษาจีนสามตัว ไท้เก็กคุ้ง ว่า ท่ารำที่จะช่วยให้เข้าถึงสภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่นั้น ท่ารำนั้นจะเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องสมาธิวิปัสสนาเท่านั้น ซึ่งเป็นความหมายที่ครอบคลุมเรื่องโครงสร้างของชีวิตไว้ทั้งหมดทันที 

 

หักมุมพาเข้าสู่พระพุทธศาสนา

เมื่อนักศึกษาเข้าใจความหมายของคำว่าไท้เก็กคุ้งแล้ว เราก็พาเข้าสู่ข้อที่สอง คือศาสนาของเจ้าของประเทศ ต้องรู้ว่าศาสนาอะไรที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวจีนที่เป็นเจ้าของศิลปะการรำไท้เก็ก ที่จริง ผู้เชี่ยวชาญไท้เก็กมักจะเอาศิลปะนี้ผูกเนื่องกับลัทธิเต๋ามากกว่า แต่เต๋าไม่ใช่เป็นคำตอบที่เราต้องการ เพราะเต๋าเต็กเก็งไม่ได้บันทึกเรื่องวิปัสสนาอย่างชัดเจนเหมือนพระไตรปิฎก เราจึงถามในเชิงว่าศาสนาอะไรที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวตะวันออกโดยทั่วไป จุดนี้ เราจะจี้เอาคำตอบจากนักศึกษา มีน้อยคนมากที่ตอบได้ว่าคือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นคำตอบที่เราต้องการ เพราะจะเปิดโอกาสให้เราแนะนำพระพุทธเจ้าให้คนเหล่านี้ได้รู้จัก ประมาณ ๙๘% ของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนไท้เก็กกับเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธเลย ๙๐% ที่มาได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า หรือ Buddha จากเราเป็นครั้งแรกในชีวิตเขา เคยถามนักศึกษากลุ่มหนึ่งราว ๒๕ คนว่าศาสนาพุทธเกิดที่ประเทศไหน มีคนยกมือคนเดียวและตอบว่าศาสนาพุทธเกิดที่ธิเบต ชาวพุทธที่คนตะวันตกรู้จักดีคือ ท่านดาไลลามะ

 เมื่อได้คำว่า ศาสนาพุทธ จากนักศึกษาแล้ว เราก็จะสรุปว่า ศาสนาพุทธมีอิทธิพลที่แทรกซึมเข้าไปสู่การดำเนินชีวิตของคนตะวันออก ตั้งแต่เรื่องการเดิน การนั่ง การสร้างบ้าน การเขียนภาพ ตลอดไปจนถึงศิลปะการต่อสู้รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างไท้เก็ก เน้นให้เขาฟังว่า การออกกำลังกายชนิดนี้เป็นผลโดยตรงของอิทธิพลของพระพุทธศาสนา คนอื่นจะพูดเรื่องเป็นอิทธิพลของลัทธิเต๋า แต่เราไม่พูดให้เสียเวลา สับสนเปล่า ๆ นี่เป็นขั้นตอนที่พยายามจะสางเอาขยะทิ้งไป สิ่งไหนที่รู้ว่าไม่จำเป็นแล้ว ก็จะไม่พูดให้เขานำมาคิดให้ยุ่ง เป็นการสร้างคลองแห่งการคิดที่จะนำให้เขาเข้าใจโครงสร้างของชีวิตอันเปรียบเสมือนความรู้กำมือเดียวเท่านั้น

 

ศาสนาพุทธเริ่มต้นที่วลีว่า “ฉันรู้แล้ว”

 เมื่อหักมุมเข้าเรื่องศาสนาพุทธแล้ว เราจึงถือโอกาสนี้ให้ข้อมูลการก่อกำเนิดของพระพุทธศาสนาที่ลัดสั้นแต่รัดกุมที่สุด โดยพูดว่า พุทธศาสนาเริ่มจากเจ้าชายองค์หนึ่งเบื่อหน่ายต่อชีวิตที่จำเจในวัง จึงแสวงหาคำตอบให้แก่ชีวิต ไปฝึกสมาธิจนกระทั่งคืนหนึ่งได้ตรัสรู้ หรือ ได้อุทานออกมาว่า “ฉันรู้แล้ว” I know! เกิดสภาวะรู้แจ้ง enlightenment อธิบายต่อว่าสภาวะรู้แจ้งนี้คือ การรู้ประสบการณ์หนึ่ง Knowing an experience สรุปให้เขาว่า คำอุทานว่า “ฉันรู้แล้ว” นี้แหละคือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีการตรัสรู้ก็ไม่มีพระพุทธศาสนา

และแล้ว เราจะกากบาทบนกระดานแทนสภาวะนั้น และพูดต่อว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะสอนคนดีหรือไม่ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้น (ชี้ไปที่กากบาทบนกระดาน) เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต้องรู้ แต่ที่ไม่แน่ใจเพราะรู้ว่าประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนมาก คนไม่สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ  จึงใช้เวลา ๔๙ วันคิดพิจารณาว่าควรจะสอนคนดีหรือไม่ ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าควรสอนเพราะคนเรามีความสามารถทางภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเข้าใจได้

 

เข้าเรื่องโครงสร้างชีวิตทันที

 บอกนักศึกษาต่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตัดสินใจที่จะสอนแล้ว วิธีการที่ท่านบอกคนคือ

)  คนทุกคนต้องรู้ว่า ชีวิตนั้นมีเป้าหมาย คนเราไม่ได้เกิดมาในโลกนี้เพียงเพื่ออยู่ไปวัน ๆ เผชิญปัญหาโน่นนี่ เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็แก่ตายกลายเป็นเลขศูนย์ที่ไม่มีอะไร มนุษย์ต้องรู้ว่าการเกิดมาของแต่ละชีวิตนั้นมีเป้าหมาย และเป้าหมายอันสูงสุดก็คือการบรรลุหรือไปให้ถึงประสบการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบหรือถึงแล้วในคืนที่ท่านตรัสรู้ ในขณะที่พูดเรื่องนี้ เราก็จะเขียนคำว่า wisdom หรือ ปัญญา ให้อยู่แนวดิ่งลงมาจากกากบาท แล้วก็ลากเส้นตรงจากคำว่าปัญญาขึ้นข้างบนไปสู่กากบาทนั้น 

การพูดเพียงไม่กี่ประโยคนี้ของเราเท่ากับเป็นการจี้ถึงขั้วหัวใจของนักศึกษาในชั้นเริ่มต้นที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต่อชีวิต ส่วนมากก็เป็นหนุ่มสาวที่เพิ่งออกจากบ้านเป็นครั้งแรกเพื่อมาเข้ามหาวิทยาลัย อาจจะมีนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกรวมอยู่บ้าง เพราะรู้ว่าฝรั่งปัญญาชนเหล่านี้มักเชื่อว่าชีวิตก็คือการอยู่ไปวัน ๆ แก้ปัญหาไปเท่าที่ทำได้ เมื่อตายแล้วก็กลายเป็นเลขศูนย์ หมดเรื่องหมดราว ฉะนั้น การพูดว่าชีวิตทุกชีวิตมีเป้าหมาย ไม่ใช่เกิดมาเพื่ออยู่ไปวัน ๆ แล้วตายกลายเป็นศูนย์ จึงมีผลแก่นักศึกษาทันที นี่เป็นคำพูดที่เขาไม่เคยรับฟังมาก่อน ส่วนมากจะเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจโดยเฉพาะนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกที่ได้ผ่านชีวิตที่ตื่นเต้นหวือหวาในระดับปริญญาตรีมาแล้ว พวกเขาจะรู้สึกว่าเป็นคำพูดที่แทงถูกใจดำ เพราะเป็นเรื่องที่เขาไม่แน่ใจ และไม่กล้าสรุปอะไรมากนัก ฉะนั้น เมื่อมีใครมาพูดเช่นนี้ เขาต้องเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ

) เมื่อจับความสนใจของนักศึกษาได้แล้ว เราพูดต่อว่า เมื่อรู้ว่าชีวิตมีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงประสบการณ์หรือกากบาทนี้แล้ว หากใครต้องการเดินทางเพื่อให้ถึงประสบการณ์หรือกากบาทนั้น ทุกคนก็ต้องรักษาศีล แล้วเราก็เชื่อมเส้นในส่วนฐานจากคำว่าปัญญาไปด้านซ้ายมือและเขียนคำว่า ศีล morality แล้วก็ลากเส้นจากคำว่าศีลขึ้นข้างบนไปสู่กากบาทนั้นอีก และอธิบายว่า หากใครต้องการไปให้ถึงประสบการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้ถึงแล้ว (ชี้ไปที่กากบาท) ทุกคนต้องทำแต่ความดีและละสิ่งชั่วช้าทั้งหลาย อะไรที่ดี ๆ ทำไปให้หมด อะไรที่ไม่ดี ไม่ต้องทำ เรื่องศีลนี่เราจะไม่พูดมากเลย เพราะรู้ว่ามันเป็นจุดอ่อนของทุกคน จึงยังไม่พูดให้เขารู้สึกกินแหนงแคลงใจในตนเอง ยังไม่ถึงเวลา จึงพูดออกตัวให้เขารู้ว่า เราจะไม่เทศน์เรื่องศีล เพราะเราไม่ได้เป็นพระ บอกว่านี่เป็นหน้าที่ของพระ เราไม่ได้เป็นพระ จึงไม่เทศน์ แต่ขอให้รู้เท่านั้นว่า การรักษาศีลเท่ากับเป็นการเดินอย่างช้า ๆ เตาะแตะไปสู่เป้าหมายของชีวิต แล้วก็เน้นโดยการลากเส้นจากมุมซ้ายขึ้นบนไปยังกากบาท ให้เขามองเห็นว่า การรักษาศีลเป็นการเดินทางของจิตวิญญาณ

)  พูดต่อว่า หากใครต้องการบรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้เร็วขึ้นอีกหน่อยละก็ ทุกคนต้องฝึกสมาธิซึ่งเป็นวิธีการฝึกนิสัยแห่งใจของชาวพุทธ แล้วเราก็ลากเส้นเชื่อมจากปัญญามาสู่ฐานด้านมุมขวามือ แล้วก็เขียนคำว่าสมาธิ meditation เสร็จแล้วก็ลากเส้นจากคำว่าสมาธิขึ้นไปสู่กากบาทข้างบน และสรุปว่า ไท้เก็ก เป็นวิธีการหนึ่งของการทำสมาธิของชาวพุทธ

เมื่อพูดสามข้อนั้นเสร็จ นักศึกษาก็จะเห็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าบนกระดานที่เป็นโครงสร้างชีวิตอันเป็นความรู้กำมือเดียวที่เขาต้องรู้ และสามเหลี่ยมด้านเท่านี้ก็จะอยู่บนกระดานตลอดเทอมที่สอน ไม่ว่าเราจะพูดอะไรให้เขาฟัง เรามักจะกลับมาชี้ให้เขาเห็นว่ามันเนื่องกับสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือโครงสร้างชีวิตนี้อย่างไร 

 

อธิบายให้เขารู้ว่าทำไมผลจึงมาก่อนเหตุ

เรื่องการลากเส้นให้นักศึกษาเห็นอย่างชัดเจนนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เขาจะเห็นภาพได้ชัดเจนทันทีว่า เป้าหมาย end or goal หรือกากบาท มาก่อนมรรค means หรือนิโรธมาก่อนมรรคที่ประกอบด้วย ปัญญา ศีล และสมาธิ เพราะเขาเห็นอย่างชัดเจนว่า เราเขียนกากบาทอันเป็นส่วนบนสุดของสามเหลี่ยมก่อน แล้วจึงเกิดฐานของสามเหลี่ยมทีหลัง การอธิบายเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาอ่านเรื่องใบไม้กำมือเดียวได้ง่ายขึ้น คนที่ไม่ได้เรียนกับเราโดยตรง จะอ่านเข้าใจยากมาก

เราจึงพูดสรุปได้ว่า ปรัชญาการครองชีวิตของชาวตะวันออกโดยเฉพาะชาวพุทธนั้นล้วนต้องเชื่อมประสานกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น เป็นเรื่องของคน ๆ หนึ่งที่รู้เป้าหมายชีวิตอย่างชัดเจนมาก่อน จากเป้าหมายที่ชัดเจนนั้นจึงก่อให้เกิดวิธีการที่ชัดเจน คือ ปัญญา ศีล สมาธิ The end justifies the means.

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเหมือนการค้นพบเมือง ๆ หนึ่งซึ่งคนไม่เคยไปมาก่อน คนแรกที่ค้นพบจึงออกมาบอกทางให้คนเข้าไปถึงเมืองนั้น  พูดเพียงเท่านี้ก็ครอบคลุมหัวใจของพระพุทธศาสนาได้ทันที เรามักสังเกตเห็นว่า เมื่อพูดถึงจุดนี้แล้ว นักศึกษาทั้งชั้นจะเหมือนถูกตรึง รับฟังอย่างตั้งใจ เพราะนี่เป็นความรู้ใหม่มากสำหรับเขา และส่วนมากก็นึกไม่ถึงว่าจะมาได้ยินในชั้นไท้เก็กของเรา

หลังจากนั้นเราสรุปให้เขาเห็นว่า เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงก่อให้เกิดการรู้เรื่องโครงสร้างของชีวิต โดยชี้ไปที่รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่เราได้วาดให้เขาเห็นเมื่อกี้นี้อีก คือรู้เรื่องเป้าหมายชีวิตว่ามันคือประสบการณ์หนึ่งซึ่งอยู่ส่วนบนสุดของสามเหลี่ยม และวิธีการที่จะช่วยให้คนบรรลุเป้าหมายชีวิต นั่นคือ โดยการรักษาศีลและฝึกสมาธิอันเป็นฐานที่อยู่ซ้ายมือและขวามือของสามเหลี่ยมด้านเท่านั้น บอกต่อว่าเรื่องปัญญา ศีล สมาธิ ได้ถักเกลียวกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวตะวันออกหรือของชาวพุทธ จากนั้น เราก็หักมุมให้เขาเห็นทันทีว่า การรำไท้เก็กเป็นเรื่องเดียวกับการฝึกสมาธิของชาวพุทธนั่นเอง ถึงจุดนี้ ก็เท่ากับเข้าเรื่องวิปัสสนาแล้ว

แล้วเราก็บอกเขาว่า เราได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างชีวิตนี้ไว้แล้วในหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียว A Handful of Leaves  ขอให้ไปอ่านเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เอาเอง และจะใช้เวลาในชั้นที่เหลืออยู่เน้นเรื่องการทำสมาธิแบบชาวพุทธเท่านั้น 

 

ทำสมาธิโดยการเคลื่อนไหว Meditation with movements

และแล้ว เราก็โยงให้เขาเห็นชัดว่าเรื่องสมาธิของชาวพุทธซึ่งเป็นของคนอินเดียเข้าไปเมืองจีนและไปสู่เรื่องไท้เก็กได้อย่างไร จึงเล่าเรื่องราวของพระโพธิธรรม ที่เดินทางจากอินเดียไปเมืองจีนและพยายามปักหลักพระพุทธศาสนาที่นั่น มีหลักฐานบางแห่งบอกว่า ในขณะที่กำลังสอนพระให้ทำสมาธิแบบนั่งหลับตานั้น ปรากฏว่าถูกความง่วงรบกวนเอา พากันสัปะหงกไปตาม ๆ กัน จึงเริ่มขบวนการคิดหาวิธีการอื่นที่จะทำสมาธิโดยไม่ให้ง่วงหลับ ในที่สุดก็ได้คำตอบว่า ต้องทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว meditation with movements จึงมีการหยิบยืมท่าต่าง ๆ ของนักต่อสู้ที่ใช้กำลังภายใน martial artist ทั้งหลายมา แล้วก็มาดัดแปลงให้มันช้าลง เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นสมาธิอันมีเป้าหมายเพื่อการหลุดพ้น เพื่อพระนิพพาน หรือเพื่อประสบการณ์นั้น ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้พบเห็นในคืนที่ท่านตรัสรู้ (นักศึกษายังคงเห็นพระนิพพานเป็นรูปกากบาทบนกระดานอยู่)

.จุดนี้เอง เราจึงสามารถหักมุมโดยการเอาคำว่า อันติมะอันยิ่งใหญ่ กับ พระนิพพาน มาอยู่เคียงข้างกัน โดยสรุปดื้อ ๆ ให้นักศึกษาเห็นว่า คำสองคำนี้มีความหมายที่ชี้ไปสู่ประสบการณ์อันเดียวกัน และเราก็วกกลับมาอธิบายคำว่า ไท้เก็กคุ้ง Tai chi chuan อีกทีหนึ่งว่า หมายถึงท่ารำที่ช่วยให้ถึงสภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้น เวลาที่เขารำไท้เก็กกับเรา ที่จริงแล้ว เขากำลังทำสมาธิแบบชาวพุทธเพื่อบรรลุเป้าหมายอันคือพระนิพพานหรืออันติมะอันยิ่งใหญ่นั่นเอง ตรงนี้ นักศึกษาก็จะเห็นชัดเจนขึ้นว่า การรำไท้เก็กก็คือ การทำสมาธิแบบชาวพุทธนี่เอง เป็นการหลอกล่อให้เขาปฏิบัติวิปัสสนาได้ทันที

 

ไท้เก็กเป็นสมาธิที่ไม่อิงศาสนพิธี

และแล้ว ก็มาถึงช่วงสุดท้ายของการพูด เพื่อให้นักศึกษาที่ไม่มีความสนใจในศาสนา และไม่มีความต้องการที่จะเป็นชาวพุทธมากกว่าการเข้ามาฝึกไท้เก็กเพราะเห็นเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่าพระนิพพานและอันติมะอันยิ่งใหญ่แล้ว เขาต้องอดคิดไม่ได้ว่ามันไกลตัวมากเกินไปและไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขาเลย เราจึงต้องหักมุมอีกครั้งหนึ่งโดยให้นักศึกษาทราบว่า หากเขาอยากฝึกไท้เก็กเพราะเห็นเป็นการผ่อนคลายสมอง mental relaxation แล้ว เขาก็มาถูกที่แล้ว

เรื่องการทำอะไรก็ได้เพื่อผ่อนคลายความเครียดของสมองนั้น เป็นเรื่องที่เห่อกันมากในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เพราะความกดดันและการบีบคั้นของสังคม ชาวตะวันตกจึงถนัดสรรหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อการผ่อนคลายจิตใจ เพื่อหาความสงบทางใจ เพราะเป็นเรื่องทำกันตามแฟชั่น จึงมีวิธีการมากมายหลากหลายผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด บางอย่างก็เป็นการหลอกลวงคน ไม่ว่าวิธีการไหน ก็ทำกันอย่างตื้น ๆ เป็นการค้าขายเท่านั้น

เราจึงเห็นช่องทางที่จะหักมุมเพื่อทำเรื่องการผ่อนคลายความตึงเครียดของสมองและจิตใจให้ชัดเจนมากขึ้น โดยบอกว่า ขอให้รู้ว่า ความสงบทางใจ mental stillness เป็นสภาวะที่เด่นสุดของพระนิพพานหรือสภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่ และขอให้เขารู้ว่า การมาฝึกไท้เก็กกับเรานั้น เป็นการทำสมาธิชาวพุทธแบบไม่ต้องอิงกับศาสนพิธีแต่อย่างใด Tai chi is a non-religious approach to mental relaxation. ซึ่งเป็นประโยคที่ทำให้นักศึกษาสบายใจขึ้น ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่ากำลังเข้ามายุ่งเรื่องศาสนา เพราะหนุ่มสาวเหล่านี้ส่วนมากไม่อยากยุ่งกับศาสนาเลย

นี่เป็นการพูดอย่างเป็นกุศโลบายเพื่อดึงให้นักศึกษาที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในเรื่องราวของชีวิตเลยนั้นมามองโครงสร้างของชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ถึงจุดนี้ เราสามารถเน้นให้เขาอย่างเด่นชัดว่า เป้าหมายที่เขาต้องการบรรลุอย่างทันทีทันใดจากการเรียนไท้เก็กกับเราคือ ความสงบทางใจ mental calmness, mental stillness, mental stability and tranquility หรือ mental relaxation ซึ่งเป็นคำที่เขาเข้าใจ สัมพัน และสัมผัสได้ทันที บอกเขาว่าคำภาษาอังกฤษเหล่านี้ชี้ไปที่ประสบการณ์เดียวกันทั้งนั้น และวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นคือ ทุกอย่างที่เขากำลังจะเรียนรู้ในชั้นของเรา

ฉะนั้น จากสามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีพระนิพพานอยู่เบื้องบนและสมาธิภาวนาอยู่มุมด้านขวาของฐานสามเหลี่ยมนั้น เราก็เพียงเปลี่ยนคำว่าพระนิพพานให้เป็น mental relaxation  หรือ mental stillness, mental calmness หรือ inner peace ซึ่งล้วนแต่เป็นคำกลาง ๆ ที่ชาวตะวันตกสามารถรับได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ไม่ทำให้คนคิดว่าต้องมีเรื่องศาสนพิธีเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนคำว่าสมาธิภาวนาหรือวิปัสสนาในมุมขวานั้น เราก็แทนมันด้วยคำว่า ไท้เก็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้เมื่อมาสมัครเรียนกับเรา

นั่นเป็นการพูดในชั้นแรกของนักศึกษากลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเรียนกับเรา ซึ่งใช้เวลาเพียง ๒๐ นาที เพียงเท่านี้ นักศึกษาก็จะเห็นโครงสร้างชีวิตที่เขาสามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน และไม่เห็นเป็นเรื่องที่ไกลตัวจนเกินไป กลับกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการทำ เพราะล้วนต้องการหาความสงบทางใจกันทั้งสิ้น อีกครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น เราก็สามารถพานักศึกษาทั้งชั้นเข้าสู่การฝึกสติปัฏฐานที่หนึ่งได้ทันที แต่เราไม่บอกเขาโดยตรง เพียงสอนให้เขาเริ่มเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ไปตามท่ารำของไท้เก็กขี่กงทั้ง ๑๘ ท่า ซึ่งเราได้นำมาดัดแปลงอีกทีหนึ่ง และคอยเตือนให้เขาอย่าคิดออกไปไกลจากท่ารำ 

 

(ต้องวาดภาพสามเหลี่ยมด้านเท่าสองรูป ฝ่ายศิลป์ กรุณาดูโน๊ตที่แนบมากับแผ่นดิสค์ต้นฉบับด้วยค่ะ…??????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????………..)

 

อุบายพาคนมืดบอดออกจากสังสารวัฏ

ฉะนั้น ในขณะที่นักศึกษาคิดว่า เขากำลังรำไท้เก็กเพื่อมีเป้าหมายผ่อนคลายความเครียดของสมองและจิตใจนั้น ในส่วนของเรากลับเห็นว่า คนเหล่านี้กำลังทำวิปัสสนาเพื่อเตรียมตัวไปนิพพาน นี่เป็นอุบายของเราที่จะพาคนมืดบอดเหล่านี้ออกจากสังสารวัฏโดยที่เขาเองไม่รู้ตัวเลย เป็นการลากเรื่องไท้เก็กเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาอย่างดื้อ ๆ  เป็นเรื่องที่เราคิดขึ้นมาเองทั้งหมด โดยการจับเอาข้อมูลเด่น ๆ มาเชื่อมประสานกันอย่างต่อเนื่อง

ที่จริงแล้ว ประวัติของไท้เก็กไม่ได้เป็นมาเช่นนี้เลย เป็นเรื่องการเดินพลังภายในเสียมากกว่า เป็นเรื่องการสืบทอดท่ารำของแต่ละครอบครัวอย่างลึกลับ ไม่มีใครพูดให้เป็นเรื่องสติปัฏฐานเลย แต่กว่าที่จะสามารถดึงข้อมูลเด่น ๆ เหล่านี้มาประสานกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจนปัญญาชนเหล่านี้ยอมรับได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นความคิดที่เราต้องปลุกปล้ำอยู่หลายปีมากทีเดียว

 ก่อนสภาวะเกิดญาณนั้น เราไม่มีความมั่นใจมากพอที่จะใช้คำอื่น ๆ แทนพระนิพพาน แม้จะเห็นพระนิพพานแต่ก็เห็นแบบไม่ชัดเหมือนคนตามัว เห็นอะไรพล่า ๆ มักจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่สามารถสรุปอะไรได้ชัดเจนจริง ๆ   จึงเกิดสภาวะที่ต้องเกาะพระคัมภีร์และครูบาอาจารย์อย่างแน่นแฟ้น ไม่กล้าขยับเขยื้อนมากนักเพราะกลัวผิด จะพูดจะเขียนอะไรก็มักต้องอ้างพระคัมภีร์หรือครูบาอาจารย์ แต่เมื่อเกิดญาณแล้ว และรู้แน่ชัดว่าสภาวะพระนิพพานมีหน้าตาอย่างนี้ ทุกอย่างจึงชัดแจ๋วของมันเอง จึงสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  สามารถเอาข้อมูลที่แตกซ่านมาจัดเรียงใหม่เพื่อฟังให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงเกิดความกล้าหาญชาญชัยที่จะเอาคำว่า ไท้เก็ก ซึ่งแปลว่า อันติมะอันยิ่งใหญ่ the grand ultimate มาอยู่เคียงข้างพระนิพพานโดยไม่กลัวว่าใครจะมาคัดค้านให้เสียหน้า ทำได้โดยไม่กลัวผิด ความเสียหน้าเป็นสิ่งที่ปัญญาชนทั้งหลายกลัวมากที่สุด นี่เป็นความสามารถที่เราทำไม่ได้ก่อนเกิดญาณ

 เราเชื่อแน่ว่า ในสังคมตะวันตก ยังไม่มีครูสอนไท้เก็กคนไหนที่กล้าหักมุมเรื่องไท้เก็กเข้ามาสู่ศาสนาพุทธอย่างดื้อ ๆ เช่นนี้ และไม่มีหนังสือเล่มไหนที่พูดเรื่องไท้เก็กให้เป็นเรื่องสติปัฏฐานอย่างรัดกุมดังที่เราได้พูดไว้เช่นนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมสติปัฏฐานใหม่ ๆ เพื่อให้คนหมู่มากได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องอาศัยศาสนพิธีแต่อย่างใด เป็นวิธีการที่เราเห็นว่าน่าจะใช้ได้ในสังคมที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธและในยุคที่พระพุทธศาสนาได้เดินมาถึงค่อนกึ่งพุทธกาลแล้ว จึงเห็นว่าจำเป็นต้องทำ หากต้องการช่วยเหลือให้คนไปนิพพาน

 

คุณแม่สอนให้รู้จักคำว่า เก็ก

 ที่จริง เราได้ยินคำว่า เก็ก (ภาษาจีน) มาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว เพราะคุณแม่นับถือลัทธิเทียงเต๋า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) เป็นลัทธิที่เตรียมการมาประสูติของพระศรีอริยเมตไตร ในห้องพระของวัดที่นับถือเทียงเต๋าซึ่งเป็นบ้านธรรมดานั้น จะมีตัวหนังสือภาษาจีนสองตัวใหญ่ ๆ ติดอยู่บนฝาผนังเหนือหิ้งบูชาที่มีองค์พระศรีอารย์อยู่ตรงกลาง พระอรหันต์จี้กงอยู่ด้านขวา และเจ้าแม่กวนอิมอยู่ด้านซ้าย หนังสือจีนใหญ่สองตัวนั้นอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า บ่อเก็ก (ภาษาจีน) คุณแม่มักจะบอกเราว่าคำสองคำนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและสูงที่สุด คำว่า บ่อ หรือ บ้อ แปลว่า ไม่มี, สูญ คำว่า เก็ก คุณแม่บอกว่านั่นเป็นสภาวะที่สูงที่สุดของธรรมชาติ ไม่มีสภาวะใดจะเหนือสภาวะเก็กนี้อีกแล้ว เราไม่ได้ให้ความสนใจคำสองคำนี้มากนักจนกระทั่งหลังจากเกิดสภาวะหลุดพ้นครั้งแรกที่บ้านพรานนกแล้ว เป็นนักศึกษาปลายปีสามหรือต้นปีสี่ จำได้ว่ามีวันหนึ่งไปหาคุณแม่ที่วัดและขึ้นไปไหว้พระกับคุณแม่ที่ห้องพระเสร็จ จึงขอให้คุณแม่อธิบายตัวหนังสือใหญ่สองตัวและบทกลอนสี่บทที่อยู่สองข้างตัวหนังสือใหญ่นั้นอีก คุณแม่ก็อธิบายทันที คุณแม่ชอบมากและมักอธิบายอย่างกระตือรือร้น เมื่อลูกแสดงออกถึงความสนใจในธรรมะของคุณแม่ ในขณะที่คุณแม่อธิบายตัวหนังสือเหล่านั้นซึ่งเราได้ฟังมาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ครั้งนั้น เหมือนเกิดสภาวะรู้แจ้งขึ้นมาในใจ สามารถเข้าใจความหมายของคำว่าบ่อเก็กทันทีว่า สภาวะสูงสุดหรืออันติมะนั้นเป็นสูญญตา ก็คือสภาวะพระนิพพานนั่นเอง เราจึงเคยชินกับคำว่า เก็ก นี่มาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว จึงรู้ความหมายที่ลึกซึ้งของมัน

ยังวนเวียนอยู่กับคำว่าเก็ก

เมื่อมีโอกาสมาสอนไท้เก็ก จึงรู้ว่าเราก็ยังวนเวียนอยู่กับสภาวะอันสูงสุดนี้อีก จนถึงจุดที่กล้าเอาคำ ๆ นี้มาอยู่เทียบเคียงเสมอพระนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นการหักมุมและสร้างสรรค์ที่สำคัญที่สุดในงานสอนไท้เก็กของเรา ยังไม่มีนักศึกษาคนไหนที่กล้ายืนขึ้นมาคัดค้านเราว่าไม่ใช่ คนที่กล้ามาคัดค้านเราในเรื่องนี้จะต้องเป็นคนที่ศึกษาคัมภีร์อี้ชิงมาก่อนอย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าหากเขาไม่รู้สภาวะพระนิพพานว่ามีหน้าตาอย่างไรแล้ว ก็จะไม่รู้สภาวะอันติมะอันยิ่งใหญ่เช่นกัน จะไม่กล้าค้านเราแน่นอน เป็นตรรกะที่เราสร้างขึ้นมาได้เพราะมีประสบการณ์ของสัจธรรมอันสูงสุด  เรากล้าพูดเช่นนี้โดยที่ตนเองก็ไม่เคยศึกษาคัมภีร์อี้ชิงเลย เพียงเปิดผ่าน ๆ เท่านั้น เมื่อเห็นสภาวะนิพพานแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้สิ่งเหล่านั้นในคัมภีร์อี้ชิงก็ได้ คนที่วางหนังสือประเภทนี้ไม่ลงละก็ จะเห็นพระนิพานยาก เพราะพอรู้มากแล้ว ความรู้จะแตกซ่าน และหลงทิศ ฉะนั้น ความได้เปรียบของเราจึงมาอยู่ที่การเห็นสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดนี่เอง 

 

สติปัฏฐานสี่คือการพาใจกลับบ้าน

หลังจากการสอนในชั่วโมงแรกที่ลากเอาไท้เก็กเข้าสู่เรื่องวิปัสสนาของศาสนาพุทธแล้ว อีก ๘ ชั่วโมงหลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องการฝึกวิปัสสนาล้วน ๆ โดยใช้ท่ารำไท้เก็กขี่กง ๑๘ ท่าเป็นสื่อ ในช่วงแปดอาทิตย์นั้น เราจะนำนักศึกษาเข้าสู่การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ จะอธิบายให้เขารู้อย่างชัดเจนว่าแต่ละฐานนั้นควรจะต้องกำหนดที่ไหน อย่างไร

ความชัดเจนและสมบูรณ์ในการสอนวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานสี่ของเรานั้นค่อย ๆ เกิดหลังจากที่เกิดญาณในปี ๒๕๔๐ มาถึงบัดนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๔๕) เข้าสู่ปีที่ห้าแล้ว จึงสามารถเห็นขั้นตอนการพัฒนาทั้งวิธีการสอนและความมั่นใจของตนเอง แม้คำว่าสติปัฏฐานสี่ เราก็สามารถหาคำแทนที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ดีขึ้น โดยใช้วลีว่า “พาใจกลับบ้าน Bring your mental self back home.” อธิบายว่า โดยส่วนร่างกายแล้ว ทุกคนล้วนมีบ้านให้กลับ ใครหาบ้านตัวเองไม่พบ ก็แสดงว่าหลงทาง โดยส่วนของใจแล้ว ใจก็ต้องมีบ้านกลับเช่นกัน การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทำให้พวกเรารู้ว่า บ้านของใจมีสี่บ้าน จะพาใจตนเองกลับบ้านไหนก็ได้ แต่ขอให้กลับบ้านหนึ่งบ้านใดทั้งสี่บ้านให้ได้ ถ้าไม่พาใจกลับบ้านแล้ว ใจก็จะหลงทาง คือ หลงอยู่ในป่าของความคิดและความรู้สึก Being lost in the mental jungle of thoughts and emotions. ออกไม่ได้ เป็นชีวิตที่หลงทาง และน่ากลัวมาก

ฉะนั้น การมารำไท้เก็กกับเราคือ การมาพาใจที่กำลังหลงทางกลับบ้าน และเราก็อธิบายหน้าตาของแต่ละบ้านที่จะพาใจกลับได้  ซึ่งล้วนเป็นเรื่องนามธรรม และเป็นสภาวะที่อยู่ในกายอันยาววาหนาศอกนี้ทั้งสิ้น ที่จริงเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่เพราะนักศึกษาเหล่านี้กำลังทำวิปัสสนาอยู่ จึงสามารถพูดเรื่องสภาวะกับพวกเขาได้ ในขณะที่เราพูดอธิบายสภาวะภายในใจอยู่นั้น พวกเขาก็จะตรวจสอบกับสภาวะในขณะนั้นทันที คนที่มีบารมีติดตัวมาบ้าง จะเข้าใจเร็วมาก

เราได้พูดเรื่องพาใจกลับบ้านมาสองปีแล้ว สังเกตเห็นว่า นักศึกษาสามารถเข้าใจได้ดีกว่าการใช้คำว่าสติปัฏฐานสี่ นี่เป็นวิธีการพูดที่ใช้ได้ผลมากสำหรับฝรั่งทั่วไปที่ไม่ได้สนใจศาสนาพุทธเลย แต่มีบุญมากพอที่พลัดเข้ามาทำวิปัสสนาได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าวัด นักศึกษาจะรู้ทีหลังว่าการปฏิบัติเรื่องพาใจกลับบ้านมีความสำคัญมากอย่างไรก็เมื่อเริ่มอ่านหนังสือของเรา

สิ่งที่เรามั่นใจมากขึ้นทุกวันจนบัดนี้ไม่มีความลังเลสงสัยอีกต่อไปแล้วนั้น คือ ประสบการณ์ของฐานที่สี่หรือหน้าตาของบ้านที่สี่จะเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกจากสภาวะพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติ อันเป็นสภาวะเดียวกับความเป็นอย่างนั้นเองหรือตถตา พอรู้เช่นนี้แล้ว จึงสามารถพานักศึกษาสำรวจสภาวะของบ้านที่สี่ได้อย่างมั่นใจ และนักศึกษาก็เห็นตามได้ไม่ยากเลย

เรื่องหน้าตาของทั้งสี่ฐานนี้ เราต้องสอนเองจึงอธิบายได้ ไม่สามารถเขียนทุกอย่างเป็นตัวหนังสือได้

 

เริ่มเห็นฐานที่สี่ก็จะเห็นพระเจ้า

            การเริ่มประสานเรื่องพระเจ้ากับพระนิพานจะเกิดในช่วงสามอาทิตย์สุดท้ายของเทอมแรก เมื่อการปฏิบัติของนักศึกษาเริ่มเคลื่อนสู่ฐานที่สี่ ฐานที่สามกับฐานที่สี่นั้นเป็นเรื่องอิงกัน ฐานที่สามคือสภาวะของใจประภัสสร หรือความสงบนิ่งของใจ the stillness of the mind เมื่อใจสงบแล้ว ก็จะเห็นฐานที่สี่ คือ การเห็นทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง หรือ ตถตา อันเป็นสภาวะเดียวกับพระนิพพาน นี่เป็นสภาวะที่เราได้อธิบายไว้ในบทที่สามของใบไม้กำมือเดียว ที่พูดถึงการมองภาพสามมิติที่สวยงามอันซ่อนอยู่ในภาพสองมิติ  เพราะรู้ว่าพระนิพพานมีหน้าตาเช่นนี้ ๆ เราจึงสามารถพานักศึกษาให้เห็นประสบการณ์สูงสุดของชีวิตตามเราได้ บางคนก็เห็นเป็นช่วงสั้น ๆ แค่เสี้ยวหนึ่งของวินาที แต่บางคนก็เห็นได้นานเป็นนาทีก็มี บางคน(ยังมีน้อยคนอยู่)ก็ได้พัฒนาจนถึงขั้นที่ เมื่อมีสติ ก็เห็นได้ทันที เรารู้ได้เพราะมีวิธีการสอบอารมณ์นักศึกษาแต่ละคนในชั้น นี่เป็นเรื่องการสอนความชำนาญในการมองสัจธรรมให้ออกเท่านั้นเหมือนการมองภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากเมื่อเราสอนเอง

เคยสงสัยว่า ในครั้งพุทธกาล ทำไมคนจึงบรรลุพระโสดาบันได้อย่างง่ายดายหลังจากที่พระบรมศาสดาทรงเทศนาเสร็จ มาบัดนี้ เรารู้แล้วว่า คนที่ได้สร้างบารมีมาแล้วนั้น การบรรลุโสดาบันไม่ใช่เป็นเรื่องยากจนเกินไป แต่เจ้าตัวไม่รู้เพราะแม้พระโสดาบันก็ยังมีความทุกข์อยู่มาก และเราก็ไม่เคยบอกให้ใครรู้สถานะแห่งความเป็นอริยะของตน เพราะรู้ว่า งานที่ต้องทำต่อตนเองเพื่อการหลุดพ้นอย่างแท้จริงยังมีอีกมากมายนัก

     อย่างไรก็ตาม เมื่อนักศึกษาเริ่มมีประสบการณ์พระนิพพานหรือสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดในชั้นแล้ว แม้จะเห็นนานแค่เสี้ยวหนึ่งของวินาทีก็ตาม ก็เหมือนถูกเราต้อนเข้ามุมแล้ว ที่จริงไม่ใช่เราต้อนเขาเข้ามุมหรอก ความสว่างจ้าแห่งธรรมอันสูงสุดที่เขาเห็นเองนั่นแหละที่ต้อนเขาเข้ามุม ถึงจุดนั้น นักศึกษาจะมีแต่การรับฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น

จุดนี้เอง จึงเริ่มบอกเขาว่า เราแน่ใจมากว่า สภาวะที่เขากำลังเห็นอยู่นั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากสภาวะของพระเจ้า หรือ ต้นไม้แห่งชีวิต หรือ เต๋า เราจะเสริมคำพูดของเราด้วยตรรกะง่าย ๆ ว่า หากมีสัจธรรมอันสูงสุดในขั้นอันติมะแล้ว จะต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น จะมีสองหรือสามไม่ได้ If there is any ultimate truth at all, there has to be one, not two or three. การมีประสบการณ์ในระดับสูงสุดในช่วงสั้น ๆ นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจในสิ่งที่เราพูดได้ไม่ยากนัก

    

ตีความคำว่าพระเจ้าให้ชาวคริสต์

ตรงนี้เองที่เราต้องตีความคำว่า พระเจ้า ให้แก่ชาวคริสต์เสียใหม่ เพราะคำว่าพระเจ้ามีความหมายหลายอย่างเหลือเกิน ตั้งแต่เป็นพระผู้สร้าง ผู้ทำลาย ความสว่าง.…เป็นการตีความอย่างกำกวมโดยไม่มีประสบการณ์แห่งพระเจ้าที่แท้จริง ไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชาวคริสต์อ้างถึงพระเจ้าคราใด มักติดนิสัยมองขึ้นฟ้า คนส่วนมากโดยเฉพาะเด็ก ๆ คงนึกภาพของชายแก่ที่มีผมและหนวดเคราสีขาวและมีอำนาจถึงขนาดสร้างโลกนี้ให้เสร็จภายใน ๗ วัน นั่นเป็นเพียงพระเจ้าในจินตนาการของคนส่วนมาก เราบอกกับนักศึกษาตรง ๆ เลยว่า หากชาวคริสต์ยังมองขึ้นฟ้าทุกครั้งที่อ้างถึงพระเจ้าแล้วละก็ แสดงว่าชาวคริสต์ยังไม่รู้จักพระเจ้าองค์จริง พระเจ้าองค์จริงไม่ต้องมองขึ้นฟ้า มองไปตรง ๆ ข้างหน้านี่ก็พอแล้ว เพราะพระเจ้าองค์จริงอยู่แค่ปลายจมูกของทุกคนนั่นเอง

ตรงนี้ เราจึงต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างสูงพยายามตีวงแคบให้เขารู้ว่า ประสบการณ์ของฐานที่สี่ที่เราเรียกว่า การมองอย่างบริสุทธิ์ the innocent perception คือพระเจ้าองค์จริง เป็นการสร้างคำจัดกัดความที่ไม่ใช่ภาษา แต่เป็นประสบการณ์ที่พวกเขาสามารถประสานและสัมผัสได้ เพราะได้เห็นแล้ว นอกจากคำว่าพระเจ้าแล้ว ยังสามารถใช้คำอื่นที่ล้วนชี้ไปสู่ประสบการณ์เดียวกันเช่น ต้นไม้แห่งชีวิต The Tree of Life อันเป็นคำสำคัญที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์เจนนีสีส ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มแรกของพระคัมภีร์เก่า หรือจะใช้คำว่า อาณาจักรแห่งพระเจ้า Kingdom of God ก็ได้ หรือจะใช้คำว่า ชีวิตอมตะ eternal life, eternity ก็ได้ 

ถึงจุดนี้ เราจะชี้มาที่สามเหลี่ยมด้านเท่าบนกระดานอีก ซึ่งบัดนี้ เราสามารถเขียนคำต่าง ๆ มากมายที่มีความหมายอันชี้ไปถึงประสบการณ์อันสูงสุดของชีวิตที่ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด คำเหล่านั้นได้เริ่มต้นจาก ความนิ่งของใจ mental stillness หรือ ความสงบแห่งใจ inner peace อันเป็นคำที่เขารู้จักในชั่วโมงแรกในชั้นเรา ซึ่งเราได้พูดเชื่อมโยงไปสู่คำว่า อันติมะอันยิ่งใหญ่ the grand ultimate และ พระนิพพาน Nirvana อย่างคร่าว ๆ มาบัดนี้ซึ่งเป็นปลายเทอมแล้ว เราสามารถแนะนำคำใหญ่ ๆ ที่พวกเขาเคยชินในวัฒนธรรมคริสตศาสนาของเขา เช่น พระเจ้า God, ต้นไม้แห่งชีวิต The Tree of Life, อาณาจักรของพระเจ้า Kingdom of God, ชีวิตอมตะ Eternal Life ในที่สุดไปถึงคำว่า เต๋า Tao อันเป็นการแนะนำให้นักศึกษารู้จักท่านเหลาจื้อ ผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่และลึกลับอีกท่านหนึ่งของโลก

 นักศึกษาชาวตะวันตกเหล่านี้จะสามารถเข้าใจโครงสร้างของชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้นโดยมองจากวัฒนธรรมของชาวคริสต์กันเอง เขาจะรู้สึกว่า สิ่งที่เขากำลังเรียนรู้กับเราในชั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวมาก นั่นคือ หากนักศึกษาที่เป็นชาวคริสต์อย่างเคร่งครัดต้องการดำเนินชีวิตเพื่อให้ถึงอุดมคติแห่งพระเจ้าของตนโดยการใช้ชีวิตอมตะอันเป็นส่วนบนสุดของสามเหลี่ยมด้านเท่าแล้วไซร้ สิ่งที่เขาต้องทำคือ ต้องรักษาศีล และ ฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ ฝึกไท้เก็ก ตามแนวทางที่เราสอนนั่นเอง เพียงเท่านี้ นักศึกษาที่เป็นชาวคริสต์ก็จะเห็นโครงสร้างของศาสนาคริสต์ได้ชัดเจนขึ้นทันที เพราะเราได้ตีกรอบชีวิตให้พวกเขารู้เป้าหมายอันสูงสุดคือการถึงพระเจ้าและการเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตนั้น แต่ครั้งนี้ เขาสามารถเห็นพระเจ้าโดยการมองตรงไปข้างหน้า ไม่ใช่การมองขึ้นฟ้าอีกต่อไป

อย่างที่เราพูดไว้ในใบไม้กำมือเดียวแล้วว่า หากนักการศาสนาเห็นด้วยกับการตีความพระเจ้าของเราเท่านั้น เรื่องวิธีการไม่เป็นปัญหาเลย สามารถปรับเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้เข้ากับวัฒนธรรมโบสถ์ของชาวคริสต์ได้อย่างง่ายดาย หากเราสามารถสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่โดยไม่อิงกับศาสนพิธีได้แล้ว การปรับเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้เข้ากับวิถีชีวิตของโบสถ์ย่อมง่ายขึ้น เพราะหลายสิ่งเขาได้ทำอยู่แล้ว เช่น การนั่งเงียบ Sitting in silence ของชาวคริสต์กลุ่มเควกเกอร์ The Quaker การสวดบริกรรมถึงพระเจ้า pray เป็นต้น

จริงอยู่ เราอาจจะมองเป็นเรื่องง่ายหากมีการพูด และการกระทำกันอย่างกว้างขวางและจริงจัง แต่ที่จริงมันยากตรงจุดเริ่มต้น ใครจะมารับฟังเรา  ถ้าคนไม่ยอมฟัง ความคิดและการกระทำง่าย ๆ นี้ก็แผ่ขยายออกไปในวงกว้างไม่ได้ ฟังหรือไม่ฟัง ก็คิดว่าต้องพูดไว้ก่อน อีกร้อยหรือสองร้อยปีอาจจะมีคนเห็นความสำคัญของความคิดนี้ก็ได้ 

    

ความรู้สึกที่น่ากลัวของปัญญาชน

ปรัชญาการศึกษาตะวันตกโดยเฉพาะระบบการศึกษาของอังกฤษได้เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับมานานแล้ว นักศึกษาต่างชาติมากมายล้วนต้องการสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาในสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่ของเมืองอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการหางานทำในอนาคต ชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนเอเซียเราที่จะเข้ามาเป็นผู้สอนในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีน้อยมาก คนที่จะสอนได้ก็หมายความว่านอกจากต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาเอกแล้ว ยังต้องพูดภาษาอังกฤษได้เป็นน้ำโดยเฉพาะภาษาเทคนิคในวิชาการที่ตนเชี่ยวชาญ และต้องเป็นคนที่เก่งจริง ถ้าเก่งไม่จริงแล้วก็ไม่มีทางเข้ามาได้ แม้เข้ามาได้ก็อยู่ไม่รอด

ปัญญาชนด้วยกันเองรู้ดีว่า ความรู้สึกที่น่ากลัวที่สุดในสังคมของปัญญาชนคือ การขาดความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระดับอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ความมั่นใจนั้นย่อมเป็นผลจากภูมิความรู้ที่ตนมีอยู่ ใครมีภูมิรู้มากและแข็ง สามารถโต้ตอบคนได้โดยไม่จนมุม ความมั่นใจในตนเองก็มีมาก ใครที่มีภูมิรู้ไม่แข็งพอ คนนั้นก็เริ่มมีปัญหาในตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเข้าสังคมของปัญญาชนที่มักมีบรรยากาศของการแข่งขันและการอวดความสามารถของตนเอง คนที่มีภูมิความรู้ไม่แข็งหรือความสามารถน้อยกว่าย่อมถูกเหยียดและถูกข่มเป็นธรรมดา สำหรับปัญญาชนแล้ว ไม่มีความรู้สึกอะไรที่จะเจ็บปวดเท่ากับการต้องเสียหน้าให้กับคนที่เก่งกว่าตน  

 

คิดว่าตัวเองต้องบ้าแน่

ยังจำวันที่รำไท้เก็กอยู่ในสวนหลังบ้านเมื่อราว ๑๕ ปีก่อนได้ดี จำได้ชัดว่ามีเสียงมาบอกในหัวว่า “ไปสอนไท้เก็กที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม” ตอนนั้น คิดว่าตัวเองบ้า ต้องบ้าแน่ เราเฝ้าบอกตัวเอง จะไปเอาความสามารถอะไรไปสอนฝรั่งในระดับมหาวิทยาลัยได้ แม้จะเป็นการสอนให้คนรำไท้เก็กที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงวิชาการเลยก็ตาม หากตัวเองรำได้ ก็น่าจะสอนได้ แต่นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเสียงนั้นมาบอกในหัวเรานั้น เรายังไม่ได้เรียนจบกระบวนท่ารำของไท้เก็กเลย ยังต้องเปิดหนังสือ ปลุกปล้ำท่ารำอยู่ในสวนหลังบ้านจนบางครั้งก็อ่อนใจเพราะทำท่าไม่ถูก อยากมีครูสอนให้ แล้วจะเอาอะไรไปสอนเขา ยังขำตัวเองว่า ความคิดที่ชัดเจนเช่นนั้นเข้ามาในหัวเราได้อย่างไร จะถูกเขาหัวเราะเยาะเอาละซี พยายามปัดออกและไม่ยอมคิดต่อ แต่ปัดเท่าไรก็ปัดไม่ออก เหมือนกับชื่อเรื่องของหนังสือเล่มที่กำลังเขียนอยู่นี้  ประมาณ ๖ เดือนก่อน มีเสียงเข้ามาในหัวบอกว่า หนังสือเล่มต่อไปของเราจะมีชื่อเรื่องว่า “อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน” ฟังแค่นั้นก็บอกตัวเองว่า บ้าอีกแล้ว ใครจะมานั่งเขียนหนังสืออย่างนี้ได้ จะถูกคนหัวเราะฟันหลุดละซี คิดว่า เดี๋ยวมันก็หายไปตามกฎอนิจจังแน่นอน ต้องเปลี่ยนใจแน่ แต่นี่ก็เข้าเดือนที่เจ็ดแล้ว (๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕) มันก็ยังไม่ยอมถอย ไม่ยอมลังเล ถามเข้าไปทีไร ก็มีคำตอบเดิมกลับมาทุกที  เหมือนกับเสียงที่มาบอกให้เราไปสอนไท้เก็ก มันมีพลังมากจนทำให้เราต้องยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาติดต่อคนจนกระทั่งได้งานสอนไท้เก็กในอีกราวหนึ่งปีต่อมา

 

เราเท่านั้นที่รู้ว่าทุกข์แค่ไหน

เมื่อเข้าไปสอนแล้ว ในช่วงสามสี่ปีแรกนั้น ก่อนเปิดเทอมใหม่ในภาคฤดูใบไม้ร่วงราวหนึ่งเดือนนั้น ทุกครั้งที่คิดว่าจะต้องกลับไปสอน ใจจะตกฮวบ ความประหม่าจะเข้ามาในใจและลงไปถึงท้องทันที ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงที่แมวจับหนูได้เองอย่างเป็นอัตโนมัติแล้วก็ตาม มาถึงเรื่องนี้ แมวจับไม่ทัน จนแม่หนูมักคลอดลูกหนูออกมาเสียก่อน (ความคิดก่อให้เกิดความรู้สึก) ใจมักถูกข่วนอย่างย่อยยับก่อน แมวจึงค่อยมาจับหนูให้ ยิ่งเมื่อเห็นนักศึกษาเริ่มหายหน้าหายตาด้วยแล้วละก็ ความมั่นใจในตนเองแทบไม่เหลือเลย อันเป็นสภาวะที่น่ากลัวมากที่สุด เสือสิงห์และสัตว์ร้ายในป่า แม้จะน่ากลัวอย่างไร ก็ไม่น่ากลัวเท่ามารร้ายที่มาในรูปของความคิดและความรู้สึกที่ไม่ต้องการและทนยาก จึงอยากลาออกหลายต่อหลายครั้ง เราเท่านั้นที่รู้ว่ามีความทุกข์มากแค่ไหน เพราะโดยภายนอกแล้ว มันก็ไม่มีอะไร ไม่มีใครดูออกว่าเราทุกข์ แต่ภายในนั้น  เป็นช่วงเวลาที่เกิดการต่อสู้ชนิดหมัดต่อหมัดจริง ๆ ถ้าไม่มีการต่อสู้ในใจเช่นนั้นแล้ว เราไม่มีวันรอดมาถึงทุกวันนี้ได้ คิดว่า การต่อสู้อย่างหมัดต่อหมัดเช่นนั้นเป็นขั้นตอนที่ผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดต้องผ่าน

การอยู่รอดของเราในช่วงปีที่เจ็บปวดเหล่านั้น อยากคิดว่า เป็นการช่วยเหลือของ “เบื้องบน” มากกว่า ไม่รู้ละว่าเป็นใคร รู้แต่ว่า ในช่วงที่ใจตกต่ำมากที่สุดนั้น มักมีเสียงมากระซิบในหัวให้เราลุกขึ้นและสู้ต่อไปแม้เพื่อคน ๆ เดียวก็ต้องทำ เหมือนกับมีคนมาหยอดกำลังใจให้สักหยดสองหยด เมื่อใจตก เพียงแค่นั่งรถผ่านสถาบันการศึกษานั้น ก็รู้สึกประหม่ากลัวเสียแล้ว  เสียงที่มากระซิบในหัวจึงเหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง เพียงพอที่จะให้เราลุกขึ้นและเดินเข้าไปในสถาบันการศึกษานั้นอีกในวันรุ่งขึ้น เสียงนั้นบอกอีกว่า หากไม่มีใครมาให้สอนเลย เราก็ต้องสอนตัวเองให้ได้ ต้องอยู่เหนือความเจ็บปวดให้ได้ เป็นความคิดที่สูงส่ง แต่ทำยากมาก แต่เราก็พยายามทำตามคำบอกของเสียงนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่า นับครั้งไม่ถ้วน

กำลังใจอีกหยดหนึ่งก็ได้มาจากนักศึกษาเอง แม้จะมีคนหายหน้าหายตาไปก็ตาม แต่ทุกเทอมมักจะมีนักศึกษาคนหนึ่งบ้าง สอง สามหรือสี่ ห้าคนบ้างที่แสดงออกให้เราเห็นว่า เขายินดีที่มีโอกาสได้มาเรียนรู้สิ่งที่เราสอนอย่างแท้จริง ซึ่งเราคิดว่า ส่วนหนึ่งคงมาจากการเห็นบุคลิกที่ไม่เสแสร้ง พูดทุกอย่างด้วยความจริงใจ และความไม่ถือตัวของเรา นักศึกษาที่กล้าเข้ามาคุยกับเรานั้นมักจะได้รับความเป็นกันเองจากเราเสมอ ใครมีปัญหาชีวิต อยากคุยด้วย เราก็ให้เวลาและรับฟังเสมอ การพาพวกเขาไปวัดก็เท่ากับเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใกล้ชิดเราและรู้จักเรามากขึ้น ฉะนั้นทุกปี จึงมีนักศึกษาที่เราสามารถคุยได้ด้วยอย่างสนิทเสมอจนบางคนที่มีอายุรุ่นเดียวกันก็คบกันเป็นเพื่อนก็มี นี่นับเป็นกำลังใจขุมใหญ่ที่ทำให้เราสามารถลุกขึ้นได้ทุกครั้งที่ใจตกมาก   

แม้หลังเกิดญาณแล้ว ก็ยังถูกโหมหนักด้วยความรู้สึกกลัวอย่างมากมายอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เผชิญกับความรู้สึกที่น่ากลัวเช่นนั้น  เรามั่นใจว่าประสบการณ์นั้นเป็นจุดประสงค์ของ “เบื้องบน” มากกว่า หากไม่มีประสบการณ์นั้นก็คงไม่มีหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียวแน่นอน

 

เป็นความต้องการของเบื้องบน

ถึงแม้เสียงนั้นมาบอกให้เราไปสอนไท้เก็กที่มหาวิทยาลัยก็ตาม แต่เสียงนั้น หรือ สิ่งนั้นรู้ด้วยว่า เราจะไม่สอนไท้เก็กเหมือนอย่างที่คนอื่นสอนกัน นี่คือสิ่งที่เราเองก็สับสนมากในช่วงปีต้น ๆ ของการสอนไท้เก็กที่มหาวิทยาลัย เพราะถ้าเราสอนท่ารำไท้เก็กอย่างเดียวเหมือนที่ใครต่อใครเขาทำกันนั้น เราจะไม่มีปัญหามากนัก ตราบใดที่รู้กระบวนท่ารำทั้งหมด เราก็สอนได้ แต่เรายังจำวันก่อนที่จะไปสอนครั้งแรกได้ดี เราเตรียมการพูดเรื่องศาสนาพุทธไปเต็มที่ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ใจมันโน้มไปเอง เหมือนกับถูกสั่งให้มาทำงานอย่างหนึ่ง แต่ทำอะไร เพื่ออะไรจริง ๆ และทำอย่างไรนั้นเราไม่รู้ ตอนนั้นภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดีพอ การปฏิบัติของตัวเองอยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ สิ่งที่เตรียมไปพูดก็พูดไม่ได้ดี จับต้นชนปลายไม่ถูกเลย ตัวเองก็ยังสับสนอยู่ แล้วจะไปพูดให้คนเข้าใจชัดเจนได้อย่างไร โดยเฉพาะไปพูดกับปัญญาชนฝรั่งด้วย นี่ต้องเรียกว่าเป็นการปฏิบัติการที่ฆ่าตัวตาย suicidal mission อย่างแท้จริง นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหนีไปในปีแรก ๆ เพราะเขาฟังเราไม่รู้เรื่อง

 ตอนนี้มามองย้อนกลับ จึงเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเริ่มเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น จะต้องมีสิ่งหนึ่งที่ตอนนี้เราเริ่มกล้าเรียกว่า “เบื้องบน”  สิ่งนั้นต้องการให้เราเข้าไปสอนพระพุทธศาสนาแก่คนเหล่านี้ ไม่ใช่สอนไท้เก็ก แต่เราไม่รู้ว่าหน้าที่ของเราคือการไปสอนพระพุทธศาสนาโดยผ่านไท้เก็ก  จึงรู้แต่ว่า แทนที่จะเน้นแต่ท่ารำเพียงอย่างเดียว ใจมักโน้มไปสู่การพูดคุยเรื่องราวของชีวิตกับนักศึกษาเสมอ และอยากสอนให้เขาทำสมาธิอยู่เรื่อย ในหัวมีแต่เรื่องพยายามคิดโยงไท้เก็กให้เข้าสู่เรื่องสมาธิเสมอ แต่ก็ไม่สามารถประสานได้ชัดเจน ยังพูดอย่างขยักขย่อน กำกวม ไม่ชัดเจน แม้อยากสอนสมาธิ ก็ยังกลัวเลยว่า หากนักศึกษามีประสบการณ์ทางสมาธิบางอย่างเหมือนที่เกิดขึ้นกับเราในสมัยที่อยู่ถ้ำแล้ว จะสามารถแก้ไขให้เขาได้หรือไม่ จะรู้หรือว่าต้องแก้ไขให้เขาอย่างไร และถ้าคนเกิดบ้าขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไร และเหตุการณ์เช่นนั้นก็มีจริง มีนักศึกษาชาวคามารูนคนหนึ่งสมาธิล้น เราก็ดูออกทันทีและแก้ให้เขาได้เช่นกัน ก็แปลกอยู่ 

ไม่มีครูสอนไท้เก็กคนไหนที่เมืองอังกฤษพาลูกศิษย์ไปรำไท้เก็กในวัด เพราะมันคนละเรื่องกัน เราก็รู้ แต่เมื่อเข้าไปสอนปีแรก ก็มีความคิดที่จะพานักศึกษาไปวัดเสียแล้ว  เฝ้าหาเหตุผลต่าง ๆ สนับสนุนเพื่อจะพาพวกเขาไปวัดให้ได้ เมื่อพาไปแล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสอนอะไรเขา ยังรู้สึกประหม่าอยู่ แต่ก็พยายามสอนสมาธิแก่พวกเขา สอนเท่าที่ตัวเองรู้ แต่ก็รู้จุดอ่อนของตนเองเสมอว่าจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก ใจหนึ่งก็ไม่อยากพานักศึกษาไปวัดเลย เพราะการเตรียมงานทุกอย่างต้องผ่านมือเราทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงเวลา ก็มีเสียงมาบอกให้พานักศึกษาไปวัดอีก เป็นเช่นนี้ทุกปี เคยนั่งคุยกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นบนรถในขณะที่พานักศึกษากลุ่มนั้นกลับจากวัดประมาณ ๕-๖ ปีก่อน เปิดเผยความในใจเช่นนี้ให้เขาฟังว่า รู้สึกมีอะไรบางอย่างมาบอกให้เราทำโน่นทำนี่เสมอทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่อยากทำ พอดีเป็นนักศึกษาที่มาทำปริญญาเอก และเป็นชาวพุทธด้วย จึงเข้าใจเราได้มาก นั่นเป็นครั้งแรกที่เราพูดเรื่อง “เบื้องบน” กับคนอื่น แต่ตกลงกันว่าจะต้องไม่เปิดเผยความในใจนี้ให้ใครรู้ เดี๋ยวคนจะเข้าใจผิด ก็ไม่เคยบอกใครจนกระทั่งบัดนี้จึงกล้ามาเขียนอย่างเปิดเผยเช่นนี้ 

เราเชื่อว่า สิ่งที่เราเริ่มเรียกว่า “เบื้องบน” นั้นจะต้องรู้ว่า ต้องมีวันหนึ่งในอนาคตที่ญาณของเราจะเกิด และสามารถทำงานนี้ได้อย่างเต็มเปี่ยม คือทำสุดความสามารถของตนเองจริง ๆ นี่เป็นสิ่งที่เรามองไม่ออกในช่วงก่อนเกิดญาณ เพิ่งมามองสิ่งเหล่านี้อย่างพินิจพิเคราะห์ก็เพราะมานั่งเขียนหนังสือเล่มนี้เอง ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่ความต้องการของเราอยู่ดี เหมือนถูกมัดมือเขียนมากกว่า

 

แหย่เสือในถ้ำเสือ

การมาสอนปัญญาชนในสถาบันอันสูงส่งเช่นนี้ ก็เท่ากับการมาอยู่ในถ้ำเสือที่ทำให้เราประหม่าไม่น้อยอยู่แล้ว สิ่งที่เราไม่เข้าใจตัวเองในช่วงก่อนเกิดญาณคือ ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองจึงชอบแหย่เสือให้โกรธในถ้ำเสือนัก

จากอิทธิพลการฟังเทปของอาจารย์โกวิทติดต่อกันมาหลายปีนั้น เรามักเอาความคิดของอาจารย์มาเรียบเรียงและวิเคราะห์ในหัวจนเข้าใจ และแสดงออกถึงความคิดนั้นให้แก่นักศึกษาเสมอ แต่เมื่อพูดออกมาแล้ว มันก็เหมือนกับไปแหย่เสือให้โกรธในขณะที่อยู่ในถ้ำเสือเสียเอง มายืนอยู่ท่ามกลางปัญญาชนชาวอังกฤษ แต่กลับมาวิจารณ์ให้เขาเห็นข้อบกพร่องในระบบการศึกษาของเขาที่คนยกย่องกันทั่วโลก หรือไม่ก็ปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เขากำลังประสบอยู่ หนังสือภาษาอังกฤษทุกเล่มของเราจะเขียนวิจารณ์สังคมตะวันตกและระบบการศึกษาของเขาอย่างรุนแรงว่า เป็นเรื่องมืดบอด ตีบตัน ขาดภูมิปัญญาในเรื่องความอิสระของชีวิตอย่างแท้จริง ก็ไม่รู้ว่าไปเอาความกล้าหาญชาญชัยมาจากไหน ถึงกล้าพูดวิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ออกไปเช่นนั้น

 

หลวงปู่เจี๊ยะถาม: เคยถูกเขาทุบตีหรือเปล่า

พูดถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงสิ่งที่หลวงปู่เจี๊ยะได้พูดกับเราไว้เมื่อตอนกลับเมืองไทยในเดือนเมษายน ๒๕๔๔ น้อยเพื่อนที่เป็นอัยการอยากให้เราไปกราบหลวงปู่เจี๊ยะมาก บอกว่าท่านเป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่นและเป็นพระอริยเจ้าด้วย อยากให้เราไปฝากเนื้อฝากตัวกับท่านไว้ ก็ได้ยินชื่อท่านเป็นครั้งแรก ไม่อยากให้เพื่อนเสียกำลังใจ ไปก็ไป ไปครั้งที่สองจึงได้มีโอกาสพบท่าน และท่านเพิ่งกลับมาพักฟื้นที่วัดหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว วัดของท่านอยู่ที่ปทุมธานี ท่านก็เมตตาเรามาก ท่านกำลังนอนอยู่บนเตียงแบบของโรงพยาบาล เราก็นั่งพับเพียบอยู่ใกล้เตียงท่าน ท่านคุยและซักถามเราอยู่ยี่สิบนาทีเศษ มารู้ทีหลังว่า ท่านไม่เคยคุยกับใครเช่นนี้  ทั้ง ๆ ที่ท่านกำลังเป็นโรคความจำเสื่อม Alzheimer แต่ก็เหมือนกับว่าท่านคุยกับเรารู้เรื่อง โดยเริ่มต้นให้เราบอกเรื่องของเรากับท่านก่อน เน้นอยู่หลายครั้งว่า มีเรื่องอะไรจะบอกไม๊ เราไม่ชินกับคำพูดของท่าน พระเลขาที่กำลังดูแลท่านจึงต้องพูดย้ำให้เราฟังในบางครั้ง เมื่อท่านถามเช่นนั้น เราจึงเล่าเรื่องการสอนวิปัสสนาของเราที่อังกฤษให้ท่านทราบ ท่านจึงถามต่อว่า แล้วเคยถูกคนเขาทุบตีหรือเปล่า เราก็บอกว่าถึงขนาดทุบตีนั้นยังไม่เคย รู้แต่ว่าใครไม่ชอบใจ ก็หนีหายไปเฉย ๆ เรามีความรู้สึกในตอนที่คุยในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นว่า ท่านเข้าใจเราได้ดีทีเดียว ท่านรู้ตัวปัญหาที่เราต้องประสบอย่างแท้จริง เหมือนกับรู้ว่า เรากำลังแหย่เสืออยู่ในถ้ำเสือ ฉะนั้น พึงหวังเรื่องการถูกทุบตีจากคนเหล่านั้นนะ หรือว่าเรื่องนี้จะมาถึงตัวเราในอนาคตก็ไม่รู้นะ เหมือนกับซาลมาน รัชดี ที่เขียนหนังสือเรื่อง The Satanic พูดกระทบถึงพระอัลเลาะห์ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเอาตายจนแทบจะไม่มีแผ่นดินบนโลกนี้ให้หลบซ่อน

 

รู้จักตัวเองคือรู้จักขันธ์ ๕ 

ขบวนการแหย่เสือในถ้ำเสือของเรานั้นได้เดินมาถึงจุดสูงสุดของมันก็ช่วงสองปีที่ผ่านมา เพราะญาณได้เกิดแล้ว เกิดสภาวะที่เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอด จึงสามารถประสานเรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิตได้ดีขึ้น เมื่อนักศึกษาได้ผ่านการฝึกฝนวิปัสสนากับเรามาหนึ่งเทอมจนเริ่มเห็นสภาวะของฐานที่สี่คือการรับรู้อย่างบริสุทธิ์ the innocent perception อันเป็นสภาวะเดียวกับพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุด แล้ว เราก็จะเริ่มอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ โดยชี้ให้เขาดูรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่อธิบายโครงสร้างชีวิตอีก ชี้ไปที่มุมส่วนบน และพูดว่า เป้าหมายของชีวิตก็คือการรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงและทะลุปรุโปร่ง หรือ การค้นพบตัวเอง คำพูดประโยคนั้นเพื่อต้องการเชื่อมโยงให้เขามารับฟังเรื่องขันธ์ ๕ อย่างตั้งใจ การรู้จักตัวเองก็คือการรู้จักขันธ์ ๕ หรือ รูปนาม

 

ขันธ์ ๕ คือจักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายใน

.จุดนี้ เราเน้นบอกนักศึกษาให้แกล้งลืมความรู้ทางโลกที่เขาเรียนมาเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของสมองทั้งหมด ต้องลบความรู้เหล่านั้นทิ้งให้หมด และรับฟังว่าพระพุทธเจ้ามองร่างกายและจิตใจของมนุษย์อย่างไร เรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ผัสสะ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันหมด คำพระเหล่านี้ที่ชาวพุทธไทยเราฟังจนเฝือนั้น เมื่อมาพูดเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ล้วนเป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่ได้อิงศาสนาเลย นอกจากนั้น เรายังสามารถหาวิธีการพูดและการเปรียบเทียบกับสิ่งร่วมสมัยที่คนสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย เพราะการรู้แจ้งแทงตลอด จึงดูออกว่า เรื่องขันธ์ ๕ เป็นเรื่องของจักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายในเท่านั้น

จักรวาลภายนอกแทนด้วยคำว่า รูป rupa ซึ่งเป็นขันธ์แรกขันธ์เดียวเท่านั้น คำว่า รูป ของพระพุทธเจ้านั้นหมายถึงร่างกายนี้ตลอดจนถึงทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย อันคือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สิ่งเหล่านี้คือจักรวาลภายนอกทั้งหมด ส่วนจักรวาลภายในก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ความคิด กับ ความรู้สึก thoughts and feelings นั่นเอง โดยมีวิญญาณเป็นอายตนะรับผัสสะ และมี ความคิดกับความรู้สึกเป็นตัวผัสสะเสียเอง

 

ไม่เข้าใจ “รูป” ความรู้ทางโลกก็เลี้ยวผิดทาง

การพูดเรื่องขันธ์ ๕ เช่นนี้ จะกระทบความรู้ทางโลกที่นักศึกษาแต่ละคนกำลังเรียนตามคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยอย่างถึงแก่นของมันทีเดียว การพูดเรื่องรูปเรื่องเดียวอย่างพิสดารของเรานั้น เท่ากับเอาจักรวาลทั้งหมดมากำไว้ในมือ เรื่องราวของจักรวาลนี้คือสิ่งที่นักการศึกษาทางโลกได้ศึกษามันอย่างแตกแยกออกเป็นแขนงต่าง ๆ มากมายจนเรียนรู้เท่าไรก็ไม่หมด เราพูดตรง ๆ เลยว่า การมาทำปริญญาของพวกเขาแต่ละคนก็คือการไล่กวดความรู้ที่แตกซ่านเหล่านี้ ยิ่งรู้เข้าไปมากเท่าไร ก็รู้ว่าไม่รู้มากเท่านั้น The more you know, the more you know that you don’t know. ซึ่งเป็นคำพูดที่แทงถูกใจดำของพวกเขามาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ เพราะเขารู้แก่ใจว่า มันจริงตามสิ่งที่เราพูด แต่ไม่มีทางออก เมื่อมานั่งฟังเราพูดเรื่อง รูป Rupa ของขันธ์ ๕ ซึ่งเราอธิบายคำ ๆ นี้อย่างครอบจักรวาล ทำให้เขาเห็นชัดเจนว่า ความรู้ทางวิชาการในแต่ละสาขาที่เขากำลังเรียนอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเพียงใด เพราะเป็นการเลี้ยวผิดทาง

จุดประสงค์ของการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในจุดเริ่มต้นคือ การหาความจริง Truth แต่เมื่อไม่เข้าใจเรื่องรูป อายตนะ และผัสสะ แล้ว ก็เลี้ยวผิดทาง แทนที่จะเห็นสัจจะที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว กลับมองข้ามและดำดิ่งลึกเข้าไปในตัวรูปที่แตกแขนงเป็นความรู้ของแต่ละสาขา ยิ่งศึกษาเข้าไปลึกเท่าไร ก็ยิ่งเดินห่างจากสัจธรรมมากเท่านั้น จนหลงทางแบบกู่ไม่กลับ ตรงนี้ เรามีวิธีการเปรียบเทียบให้นักศึกษามองเห็นอย่างชัดเจน ถ้าได้สอนเองจะทำให้เห็นได้ชัดเจนและง่ายมาก หรือไม่จะต้องแสดงข้อเปรียบเทียบนี้ด้วยภาพจึงจะเห็นได้ชัด ถ้าเขียนอธิบายมันจะยาวไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ก่อน (๑๕ มีนาคม ๒๕๔๕) เนื่องจากเป็นคืนสุดท้ายของการสอนของเทอมฤดูใบไม้ผลิ จึงชวนนักศึกษามาทานของว่างด้วยกัน ในจำนวนนั้นก็มีนักศึกษาระดับหลังปริญญาเอก Post doc. อยู่สามสี่คน เห็นพวกเขาคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน จึงเข้าไปฟังเขาเสียหน่อย ปรากฏว่าพวกเขากำลังพูดเรื่องข้อเปรียบเทียบดังกล่าวอยู่ ที่หัวเราะกันเพราะทุกคนยอมรับว่ามันจริงจนไม่รู้จะจริงอย่างไร และเพราะพวกเขาสามารถเห็นเพื่อนร่วมงานของเขาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คือ ยิ่งรู้ลึก และรู้มาก ก็ยิ่งไม่สังเกตสิ่งอื่นนอกจากความรู้ของเขาเท่านั้น ทั้งชีวิตถูกห่อหุ้มด้วยความรู้แคบ ๆ ที่เขามีอยู่ นักศึกษาของเราจะได้เปรียบเพราะแม้เขารู้เรื่องทางโลกมาก แต่เขาก็เริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างความรู้ทางโลกกับทางธรรมแล้ว

ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้เรื่องจักรวาลของพระพุทธเจ้าแล้ว  นักศึกษาจะเห็นได้ว่า วิชาการทางโลกกับทางธรรมนั้นมันต่างกันตรงไหน และทางโลกไปเลี้ยวผิดตรงไหน พอเลี้ยวผิดทางแล้ว มันจึงยุ่ง และหลงทางชนิดที่กู่ไม่กลับเช่นนี้ โลกจึงยุ่ง วุ่นวายอย่างไม่จบไม่สิ้น 

 

หาจิตใจที่สมอง จึงเกาไม่ถูกที่คัน

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังสามารถพูดเรื่องจักรวาลภายในได้อย่างพิสดารให้เขาฟังกัน บอกเขาว่า หากไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว นักสมองศาสตร์ นักจิตวิทยา จะไม่มีทางรู้จักที่ตั้งของจิตใจ Mind อันเป็นส่วนนามของมนุษย์ได้อย่างแท้จริงเลย เพราะเมื่อพูดถึงจิตใจ mind แล้ว นักการศึกษาทางโลกหรือการศึกษาของโลกตะวันตกที่เรียนแบบอิงวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้น มักเริ่มต้นการศึกษาจิตใจของมนุษย์ที่สมอง เพราะเป็นสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๕ แต่นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ผิดพลาดมาก

สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว สมองเป็นเรื่องของรูป ไม่ใช่เรื่องของนาม หรือ จิตใจ เมื่อนักการศึกษาอยากศึกษาเรื่องจิตใจหรือนาม แต่มัวไปยุ่งมองแต่เรื่องสมองหรือรูป จึงเกาไม่ถูกที่คัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า ส่งทหารไปสู้ผิดสนามรบ Fighting in the wrong battlefield. สนามรบที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์จริง ๆ คือ จิตใจที่เป็นทุกข์ อันเป็นส่วนนาม แต่ดันส่งทหารไปสู้กับศัตรูที่สมองหรือรูป แล้วจะไปสู้กับผีที่ไหนล่ะ เพราะศัตรูจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่นั่นสักหน่อย  หมดเงินหมดทองหมดทรัพยากรของโลกไปเท่าไร เพื่อต้องการทำความเข้าใจเรื่องจิตใจมนุษย์ ตั้งแต่ยุคเรอเนสซองที่การศึกษาต่าง ๆ เริ่มเจริญนั้น มาถึงบัดนี้กี่ร้อยปีแล้ว นักการศึกษาตะวันตกก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องจิตใจของมนุษย์อยู่นั่นเอง นอกจากไม่เข้าใจแล้ว สิ่งที่นักการศึกษาทางโลกคิดว่าเป็นเรื่องแตกฉานนั้น ที่จริงเป็นเรื่องแตกซ่าน fragmented และทำลายตนเองอย่างไม่รู้ตัว

ความแตกซ่านและหลงทางของการศึกษาทางโลกนั้นได้เดินมาถึงจุดแห่งการสร้างสรรค์วิทยาการต่าง ๆ เพื่อสร้างมนุษย์ให้มีร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ในความเห็นของเขา เช่น โครงการที่เรียกว่าวิศวกรรมพันธุศาสตร์ The Human Genome Project เราบอกนักศึกษาเลยว่า ในขณะที่ชาวโลกกำลังตื่นเต้นกับวิทยาการใหม่ที่สามารถเอายีนมนุษย์มาดัดแปลงนี้ เรากลับเห็นเป็นเรื่องความมืดบอดและการหลงทางของมนุษย์ชนิดกู่ไม่กลับอีกแล้ว นี่เป็นเรื่องการพามนุษยชาติไปตกเหวลึกอย่างไม่รู้ตัว

 

ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ก็ไม่รู้ว่าอายตนะที่ ๖ คือคำตอบ

เราอธิบายให้นักศึกษาฟังต่อว่า ในส่วนของนามที่มี ๔ ธาตุนั้น มีธาตุหนึ่งที่เรียกว่า ธาตุรู้ วิญญาณขันธ์ Human consciousness ธาตุนี้เป็นอายตนะที่ ๖ the 6th sense organ ทำหน้าที่ในการรับผัสสะ ส่วนอีก ๓ ธาตุ สัญญา (ความทรงจำ memory) สังขาร (ความคิด thoughts) เวทนา (ความรู้สึก feelings) เป็นตัวผัสสะ sense object เสียเอง อธิบายต่อว่า ความคิดและความรู้สึกนี้คือ หน้าตาของศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์ และทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้อยู่ที่สมอง มันคือส่วนของนามหรือจิตที่มีการทำงานเหมือนกับสายรุ้งและถนนที่ดูเปียกน้ำในท่ามกลางแสงแดดจัดที่เรียกว่ามิราจ Mirage อันเป็นภาพลวง Illusion หรือ มายา และสิ่งที่จะฆ่าศัตรูนี้ได้คือ ธาตุรู้ หรือ วิญญาณขันธ์ หรือ อายตนะที่ ๖ นี่เอง

บอกเขาว่า สาเหตุที่นักการศึกษาเข้าใจเรื่องจิตใจมนุษย์ไม่ได้ เพราะตัวศัตรูที่แท้จริง (ความคิด กับ ความรู้สึก) เป็นเรื่องมายา ที่จับตัวมันได้ยากมากที่สุด ถ้าจับมายาไม่ได้อย่างคาหนังคาเขาแล้ว จะไม่มีวันเข้าใจมันได้เลย

เราจึงอธิบายต่อว่า หากไม่มีความรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วไซร้ มนุษย์จะไม่มีเครื่องมือ tool, means หรือ method ที่จะศึกษามายาและจับตัวมายาได้อย่างคาหนังคาเขา และมนุษย์จะไม่มีทางรู้ว่า ขันธ์ที่ ๕ วิญญาณขันธ์ หรือ human consciousness ที่ปะปนอยู่ในส่วนของนามนี้คือเครื่องมืออันสำคัญที่จะจับตัวความคิดและความรู้สึกอันเป็นมายา ความยากยิ่งของเรื่องนี้คือ เครื่องมือที่จะจับตัวมายานี้เกาะติดตัวความคิดและความรู้สึกอย่างเหนียวแน่น (จิตเกาะใจ พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้วิธีการแยกจิตออกจากใจ)

การสอนของเราในตอนนี้จะใช้ของเล่นเด็กคือ ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ  ๕ ตัวเป็นเป็นอุปกรณ์แทนขันธ์ ๕ ทำให้เขาสามารถเห็นเรื่องที่เราอธิบายได้อย่างชัดเจน

 

ทอมกับเจอรี่ การเปรียบเทียบร่วมสมัย

นอกจากนั้นเรายังแทนวิญญาณขันธ์เป็นแมวที่ชื่อทอม Tom และ ความคิดกับความรู้สึกเป็นหนูที่ชื่อเจอรรี่ Jerry อันเป็นข้อเปรียบเทียบที่ฝรั่งเข้าใจได้ง่าย เพราะทุกคนเคยดูการ์ตูนเรื่องทอมกับเจอรี่มาแล้วทั้งนั้น เมื่อแทนขันธ์ทั้ง ๔ อันเป็นส่วนนามด้วยทอมกับเจอรรี่แล้ว นักศึกษาจะเห็นได้ชัดว่า การศึกษาในส่วนจิตใจของทางโลกนั้น นอกจากจะเอาทอมกับเจอรรี่ไปประสานกับเรื่องของรูปหรือสมองซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ผิดแล้วนั้น การศึกษาฝ่ายโลกยังไม่สามารถแยกทอมออกจากเจอรี่ได้

(ในขณะที่อธิบายเรื่องนี้ ทุกคนจะมองมาที่การเคลื่อนย้ายตุ๊กตา ๕ ตัวอันเป็นตัวแทนขันธ์ ๕ ของเรา ฉะนั้น นักศึกษาที่ฟังเราพูดจะเห็นภาพและเข้าใจได้ดีกว่าการอ่านหนังสือ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะเป็นเนื้อหาของหนังสือเล่มต่อไปของเรา คือ คู่มือชีวิตภาคสาม ซึ่งจะเป็นเรื่องวิปัสสนาที่เราสอนในห้องล้วน ๆ) 

เขาจึงเห็นได้ชัดว่า การศึกษาเรื่องจิตใจที่พวกเขากำลังเรียนอยู่อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อได้ปริญญานั้น ที่จริงเป็นเรื่องเอาเขาวัวมาใส่บนหัวหมู เป็นเรื่องจับแพะชนแกะ เอาสิ่งต่าง ๆ มาชนกันอย่างอีนุงตุงนังจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ยุ่งไปหมด เขาเห็นอีกว่า การอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้านั้น ทำให้เขามองออกอย่างชัดเจนว่า ทอมหรือธาตุรู้นี้คือ ตัวเครื่องมือที่จะจับตัวศัตรู (ความคิด ความรู้สึก หรือ จิต) อันเป็นมายาที่สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ได้

เราประสานต่อว่า ปัญหาของมนุษย์คือ ทอมหรือธาตุรู้นี้ยังหลับอยู่ ยังไม่ตื่น เจอรี่ ( จิต หรือ ความคิด ความรู้สึก) จึงเข้ามาในบ้าน (ใจ) ลื้อตู้เย็นและทำให้บ้านรก คือทำให้จิตใจวุ่นวายเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นตัวปัญหาที่แท้จริงของมนุษย์ อันเป็นส่วนของนามทั้งสิ้น ฉะนั้น การแก้ปัญหาของมนุษย์ก็ต้องทำอย่างเดียวเท่านั้น คือ การปลุกทอมให้ตื่นจากการหลับไหล (ปลุกธาตุรู้ให้ตื่น) เมื่อทอมตื่นแล้ว เจอรี่ (ความคิด ความรู้สึก) ก็จะอยู่ในบ้าน (ของใจ) ไม่ได้ เพราะหนูย่อมกลัวแมว สิ่งเหล่านี้ ถ้าได้สอนเองแล้วจึงเข้าใจได้ชัด

 

การรำไท้เก็กคือการปลุกทอมให้ตื่น

แล้วเราก็หักมุมให้เขารู้ว่า ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาในชั้นเรานั้น เราก็เริ่มขบวนการให้เขารู้จักทอม หรือ ธาตุรู้ human consciousness การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือ การมารำไท้เก็กกับเรานั้น ก็คือ วิธีการปลุกให้ทอมตื่นจากการหลับไหลและยังทำให้เป็นแมวที่แข็งแรง สามารถวิ่งได้เร็วมาก เมื่อทอมวิ่งเก่งแล้ว ทอมจะจับหนูเจอรี่มากินเล่นเอง เมื่อธาตุรู้แข็งแกร่งและมีความไวแล้ว ก็จะจับตัวความคิดและความรู้สึกอันเป็นมายาได้อย่างคาหนังคาเขา หรือจะเปรียบเทียบว่า ทอมเป็นความสว่าง เจอรี่เป็นความมืดก็ได้ เมื่อความสว่างฉายแสง ความมืดย่อมหายไป ธาตุรู้เป็นความสว่าง ความคิดและความรู้สึกเป็นฝ่ายมืด เมื่อความสว่างมีพลังการฉายแสงมากเท่าไร ก็สามารถกินความมืดได้มากเท่านั้น ฉะนั้น การมารำไท้เก็ก (ทำวิปัสสนา)กับเราคือ การปลุกธาตุรู้ให้ตื่นและเพิ่มพลังแห่งความสว่างให้มากขึ้นทุกที แล้วมันจะกินความมืดที่มากับความคิดและความรู้สึกเอง ทำวิปัสสนาเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ความทุกข์ก็น้อยลงเอง         

            ไม่ว่าเราจะพูดจากมุมไหน เรามักสรุปให้ประสานกับเรื่องการรำไท้เก็กเสมอ เพราะไท้เก็กเป็นรูปธรรม และเป็นสิ่งที่เขาสัมพันและสัมผัสได้ ฉะนั้น การพูดของเราจึงเป็นการไต่เต้าจากสิ่งที่เขาสัมผัสได้จริง ๆ อย่างท่ารำไท้เก็กไปสู่เรื่องนามธรรมที่เข้าใจยากตลอดจนถึงเรื่องสูงสุดคือพระนิพพาน แล้วโยงกลับมาสู่ไท้เก็กอันเป็นรูปธรรมอีก นักศึกษาจึงสามารถเชื่อมโยงขบวนการทั้งหมดได้

     ได้คุยกับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสในคืนดังกล่าว เขาพูดความในใจให้ฟังว่า หลายครั้งที่เขาอยากบอกเพื่อนว่าเขามาเรียนอะไรกับเรา แต่เขาพูดไม่ได้เลย เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บอกอีกว่า การเริ่มต้นของเราก็ดูง่าย ๆ แต่ไม่กี่อาทิตย์ผ่านไปเท่านั้น การพูดของเรากลายเป็นเรื่องลึกซึ้งเกินกว่าที่เขาจะอธิบายให้คนอื่นได้ ได้แต่เก็บความเข้าใจกับตนเองเท่านั้น

เราบอกเขาว่านั่นเป็นปฏิกิริยาที่ถูกต้องแล้ว เขาจะอธิบายอะไรให้คนอื่นฟังไม่ได้มาก เพราะญาณของพวกเขายังไม่เกิด ความสามารถในการอธิบายเช่นนั้นเป็นผลของการเกิดญาณโดยตรง แต่เราไม่ได้บอกเขาเช่นนั้นนะ

 

ทำลายความฝันอันสูงสุด

การพูดเรื่องขันธ์ ๕ ของเราเท่ากับการเอาวิชาการทางโลกสาขาต่าง ๆ ทั้งหมดมากำไว้ในมือเหมือนก้อนดินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง และบดขยี้มันทิ้งอย่างไม่ใยดีต่อหน้านักศึกษาเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องน่ากลัวมากสำหรับคนที่กำลังเรียนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อไขว่คว้าปริญญา เป็นเรื่องการแหย่เสือให้โกรธในขณะที่กำลังอยู่ในถ้ำเสือเสียเอง ทุกวันนี้ เราทำได้อย่างห้าวหาญโดยไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ เหลืออยู่ เพราะพูดอย่างไม่กลัวใคร จึงไม่มีเสือตัวไหนโกรธพอที่จะเขมือบเราทั้ง ๆ ที่เราเอาไม้ไปแหย่อยู่ตรงหน้ามัน

ถึงจุดนี้ นักศึกษาที่ทนการพูดของเราไม่ได้ก็หนีหายไปเรียบร้อยแล้ว  คนที่เหลืออยู่ส่วนมากจะอยู่ในระดับปริญญาโทและเอกในวิชาสาขาต่าง ๆ หากเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีก็มักอยู่ปีสุดท้าย ผ่านวัยที่ตื่นเต้นหวือหวามาแล้ว นักศึกษาปีหนึ่งมักฟังเราไม่ค่อยรู้เรื่อง ส่วนคนที่ฟังรู้เรื่องและอยู่รอดนั้นดูออกว่ามีบุญบารมี ความแตกต่างของอายุที่มีมากขึ้นเพียงไม่กี่ปีนั้นได้ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้เห็นปัญหาของโลกมากขึ้น จึงสามารถเปิดใจให้กว้างและรับฟังสิ่งที่เราอธิบายอย่างตั้งอกตั้งใจโดยไม่มีการถกเถียงเลย ส่วนมากจะพยักหน้าด้วยความเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูด

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่า พวกเขาต้องมีความกลัวพอ ๆ กับความดีใจที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ดีใจที่ได้มาเจอความรู้ที่เหนือกว่าสิ่งที่เขารู้อยู่ ความกลัวย่อมเป็นผลของข้อเท็จจริงที่ว่า ปริญญาทางโลกเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของโลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดของปากท้อง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่นั้น กำลังใช้ชีวิตที่เครียดมากและเต็มไปด้วยความกดดันจากรอบข้าง บางคนก็เป็นนักศึกษาต่างชาติถึงขนาดข้ามน้ำข้ามทะเลเสียเงินเสียทองมากมาย มาเรียนที่นี่เพื่อให้ได้ปริญญา เขายอมลำบากเช่นนี้ก็เพื่อหวังว่า วันหนึ่งจะเรียนสำเร็จจบเป็นด๊อกเตอร์ สามารถทำงานที่สังคมยอมรับ มีหน้ามีตาในสังคม และเริ่มโกยเงินกับเขาเสียที ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดของปัญญาชนเหล่านี้ แล้วจู่ ๆ เรากลับเอาสิ่งที่ชาวโลกให้คุณค่ามากมายมาบดขยี้ทิ้งอย่างไม่ใยดี  เท่ากับทำลายความฝันอันสูงสุดของเขาอย่างทารุณ นี่เป็นความน่ากลัวยิ่ง

คนเหล่านี้มีทางเลือกที่จะไม่ฟังเรา แต่หากเขายอมฟังอย่างตั้งใจ แสดงว่าเป็นคนที่ได้สร้างบุญบารมีมาไม่น้อย แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าเขาไม่เกาะอิงความรู้เรื่องวิปัสสนาอย่างแน่นแฟ้นแล้ว ก็จะไปไม่รอด นี่เป็นขั้นตอนที่ยากมาก จะเดินหน้าก็รู้ว่ายาก เห็นแต่ทางขรุขระที่ขึ้นเขาอย่างเดียว จะถอยหลังกลับก็เจอเหวลึกที่มืดมิดเต็มไปด้วยความโง่แห่งอวิชชา เราจึงบอกพวกเขาเสมอว่า สิ่งที่เราหยิบยื่นให้เหมือนการซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียว ต้องเดินหน้า กลับไม่ได้อีกแล้ว  

เราเป็นนักศึกษามาก่อน ย่อมเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ดีว่ากำลังสับสนมากเพียงใด ความรู้ของพระพุทธเจ้าและการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเรื่องความสว่าง ความรู้ทางโลกเป็นเรื่องความมืดมิด พอคนเหล่านี้มารู้จักความสว่างแล้ว ครั้นจะมาเสแสร้งว่าไม่รู้ก็ทำไม่ได้ เหมือนคนว่ายน้ำเป็นแล้ว ตกน้ำก็ว่ายเป็นเอง จะแกล้งว่ายไม่เป็นก็ไม่ได้ ครั้นมารู้เรื่องความสว่างแล้ว แต่ชีวิตจริง ๆ ยังต้องวนเวียนอยู่กับความรู้อันเป็นฝ่ายมืด แล้วชีวิตมันจะไปสนุกอะไร นี่คือสิ่งที่เราได้ประสบมาตอนเป็นนักศึกษา พอรู้จักสวนโมกข์และความสงบแล้ว เห็นวิชาการที่ตนเรียนอยู่เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่เป็นสัปปะรดเอาเลย ไม่มีรสชาด รู้สึกว่ายิ่งเรียนก็ยิ่งโง่ นักศึกษาฝรั่งพวกนี้ไม่ต้องบอกเรา เพียงดูหน้าพวกเขาเท่านั้น เราก็อ่านความรู้สึกออกหมดว่าเขาต้องสับสน ว้าวุ่นใจ แน่นอน

 

พูดอย่างเมตตา

ตรงนี้ เราจึงต้องมีเมตตาอย่างมากต่อคนเหล่านี้ ต้องหาคำพูดปลอบประโลมที่จะช่วยให้เขาไม่เจ็บปวดจนเกินไป จึงต้องพูดเชียร์เขาเรียนจบปริญญาให้ได้ และหางานทำ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว นี่คือบทบาทที่เขาต้องทำในโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกสมมุติ แต่ในขณะเดียวกัน ขอให้เขารู้ว่า พวกเขาโชคดีมากที่ได้รู้จักโลกสองโลก คือ โลกสมมุติที่เขาจำเป็นต้องเล่นละครไปตามบทบาทที่ได้ถูกกำหนดมา คือ เรียนให้จบและทำงาน ซึ่งเขาต้องพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ต้องไม่ลืมอีกโลกหนึ่ง อันเป็นโลกแห่งความบริสุทธิ์ โลกของพระเจ้า โลกของสัจธรรมอันสูงสุด หรือประสบการณ์แห่งชีวิตอมตะ eternal life ที่พวกเขาได้รู้จักแล้วจากการมาเรียนไท้เก็กกับเรา ขอให้ยืดประสบการณ์ที่รับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ the innocent perception ที่พวกเขาได้เห็นเพียงเสี้ยววินาทีนั้นให้ยืดยาวออกไปจนกระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิตทั้งหมด

นั่นเป็นการปลูกฝังอุดมคติแห่งความเป็นพระอรหันต์ให้แก่พวกเขาทุกคน การพูดอย่างมีเมตตาเช่นนี้ก็จะช่วยให้นักศึกษาเหล่านี้มีกำลังใจมากขึ้นที่จะใช้ชีวิตในโลกสมมุติอย่างเข้าใจและปฏิบัติวิปัสสนาต่อไปแม้จะจากชั้นของเราไปแล้วก็ตาม

เรารู้ว่า หน้าที่ที่คนเหล่านี้ต้องทำกับตนเองยังมีอีกมากมาย การได้มาพบเราเท่ากับการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการหลุดพ้นให้แก่เขาในอนาคต ตราบใดที่เขาพยายามทำตามสิ่งที่เราบอกเขาไว้ในคู่มือชีวิต The User guide to Life ทั้งสองภาคได้ คนเหล่านี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในภพชาตินี้ และเตรียมตัวเองให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏในอนาคตด้วย 

 

เดินคร่อมโลก

 บัดนี้ เราสามารถเห็นสภาวะแตกต่างของสองขั้วได้อย่างชัดเจนแล้ว ในอดีต เคยเดินเข้าไปในสถาบันการศึกษาอันสูงส่งและเห็นหน้าของปัญญาชนฝรั่งเหล่านั้นแล้ว ใจมักจะซัดส่ายด้วยความประหม่า หวาดกลัว เกิดการเปรียบเทียบ เห็นทุกคนเก่งกว่าเราหมด เสือสิงห์ที่อยู่ในป่าในถ้ำ แม้จะมีความน่าสะพึงกลัวอย่างไรก็ตาม ยังไม่น่ากลัวเท่าการเผชิญหน้ากับเสือสิงห์ในคราบของปัญญาชน โดยเฉพาะปัญญาชนชาวตะวันตก เพราะสัตว์สังคมเหล่านี้สามารถกัดคนได้เก่งกว่าสัตว์ที่ดุร้ายในป่ามากมายนัก นี่เป็นสภาวะของการเดินแบกโลกอันหนักหน่วงนี้ไว้ จนถูกบังคับให้เกิดการต่อสู้แบบหมัดต่อหมัดในภายใน

มาบัดนี้ การต่อสู้ภายในได้เสร็จสิ้นแล้ว การแบกโลกได้สิ้นสุดแล้ว เราสามารถเดินเข้าไปในสถาบันการศึกษาแห่งนั้นด้วยใจที่โปร่ง เบา เหมือนการเดินคร่อมโลก ไม่มีน้ำหนักเหลืออยู่ในใจอีกแล้ว เพราะทุกก้าวที่ย่างเหยียบไปนั้น เป็นการเหยียบไปบนสัจจะที่ได้ค้นพบและจับมันไว้อยู่มือแล้ว แม้จะเป็นฝ่าเท้าเล็ก ๆ ของหญิงธรรมดาคนหนึ่ง แต่บัดนี้ ก็เป็นฝ่าเท้าที่มีน้ำหนักอย่างมหาศาล ที่สามารถเดินเหยียบโลกนี้ให้อยู่ใต้ฝ่าเท้าเล็ก ๆ นี้ได้

บัดนี้การมองไปที่ใบหน้าของปัญญาชนฝรั่งเหล่านี้ แทนที่จะเกิดการเปรียบเทียบเหมือนสมัยก่อน กลับมีแต่ความรู้สึกที่เมตตาสงสารอย่างล้นพ้น แม้คนเหล่านี้จะคิดว่าตัวเองฉลาดมากมายอย่างไรก็ตาม สำหรับเราแล้ว กลับเห็นเป็นใบหน้าที่แสดงออกถึงความมืดมนของอวิชชาอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งมืดมาก  ทุกคน ล้วนกำลังแบกโลกที่หนักหน่วงนี้ไว้ทั้งสิ้นเหมือนที่เราเคยแบกอย่างไรก็อย่างนั้น เพราะจิตใจของมนุษย์ไม่ว่าจะมีหน้าตา สีผิว และความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ล้วนมีการทำงานเหมือนกันหมด ความทุกข์ของเราเคยเป็นอย่างไร ความทุกข์ของคนอื่นก็เป็นเช่นนั้น การปฏิบัติเพื่อความหมดทุกข์ของเราต้องทำอย่างไร การปฏิบัติเพื่อความหมดทุกข์ของคนอื่นก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน ตอนนี้กลับคิดเป็นว่า คนที่โชคดีจริง ๆ เท่านั้นจึงมีโอกาสได้มาพบและเรียนรู้กับเรา