บทที่สี่ รู้เรื่องลึกซึ้งโดยไม่รู้ตัว

                  

ไม่รู้ว่ากำลังทำวิปัสสนา

หลังจากสภาวะแห่งความหลุดพ้นหายไปอย่างสิ้นเชิงแล้วก็ตาม เราสามารถรู้อย่างเป็นธรรมชาติว่าร่างกายของเราและสังคมโลกนั้นเป็นเรื่องไม่มีแก่นสารเลยแม้แต่น้อยนิด เพราะล้วนแต่เป็นผลผลิตของความคิดที่เป็นมายาทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา เป็นของไม่จริง จึงสามารถปล่อยวางและไม่แคร์ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่สังคมมักให้คุณค่าอย่างมากมาย เช่นเรื่องเงิน และสถานะทางสังคม แม้เรื่องการเรียนในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น เราก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ๆ เรียนไปทำไมก็ไม่รู้ เพราะเราเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่าไม่ได้เรียนรู้ของจริงเลย เรียนรู้แต่สมมุติอันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ รู้สึกท้อใจมาก ไม่อยากเรียนต่อ  รู้อย่างเดียวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ ต้องไปถึงจุดที่หลุดพ้นให้ได้อีก และรู้ด้วยว่า เราควรต้องทำอย่างไรที่จะให้หลุดพ้นเช่นนั้นอีก คือ รู้ว่าเราต้องเอาชนะความคิดให้ได้ ต้องพยายามกำหนดมันให้ทัน และหัดปล่อยมันให้ได้ ไม่ว่าความคิดนั้นจะเจ็บปวดหรือสวยงามประเสริฐเลิศเลออย่างไร เราก็ต้องปล่อยมันให้ได้โดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ต้องปล่อยอย่างเดียว ถ้าความคิดกลับมาอีกก็ต้องปล่อยอีก มันจะกลับมาอีกล้านครั้งภายในครึ่งชั่วโมงก็ต้องปล่อยให้หมดทั้งล้านครั้งภายในครึ่งชั่วโมงนั้น แม้ใจจะเหนื่อยแสนเหนื่อยอย่างไรก็ต้องทำ จะยอมแพ้มันไม่ได้ เรารู้ว่าทำเพียงเท่านี้ เราก็จะหลุดพ้นได้อีกในที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการฝึกจิตตานุปัสนาสติปัฏฐานโดยตรง แต่ตอนนั้น เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นคือการทำวิปัสสนา หรือ กำลังปฏิบัติสติปัฏฐานสี่อยู่

กำลังปฏิบัติเพื่ออรหัตผล

เพิ่งได้มีโอกาสมาฟังเทปธรรมะประวัติของพระอาจารย์มั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ นี่เอง จึงรู้ว่าการปฏิบัติเมื่อ ๒๕ ปีก่อนของเรานั้น พระอาจารย์มั่นได้จัดว่าเป็นการปฏิบัติเพื่ออรหัตผลอย่างแท้จริง ท่านอธิบายว่าเป็นการละเรื่องขันธ์ ๔ หรือละเรื่องนามล้วน ๆ เพราะไม่ได้สงสัยในเรื่องรูปขันธ์อีกแล้ว เรื่องรูปขันธ์ละได้แล้วในระดับพระอนาคามิผล จึงเพิ่งมารู้ว่าการพยายามดีดความคิดของเราเช่นนั้นเป็นการปฏิบัติที่นับว่าก้าวหน้ามากแล้ว เป็นการปฏิบัติเพื่ออรหัตผล ซึ่งเราก็ทำได้โดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องสูงหรือลึกซึ้ง 

 ตอนนั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่านั่นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้ปฏิบัติตาม ไม่เคยประสานคำอย่างพระอริยเจ้า เช่น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์มาเทียบเคียงกับประสบการณ์และสภาวะที่เรากำลังมีอยู่ เป็นอยู่ เห็นเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย  

 

เพราะเห็นนิโรธจึงรู้มรรค

แต่ความรู้ที่เหมือนเกิดเองโดยธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นได้เพราะเราเห็นสภาวะหลุดพ้นมาก่อน คือเห็นนิโรธ จึงรู้ว่าต้องเดินอย่างนี้ คือ รู้มรรค รู้ว่าต้องปล่อยความคิด จึงจะถึงจุดนั้นได้ ฉะนั้น จะปล่อยได้อย่างไร เราได้สรุปให้กับตัวเองอีกว่า ก็ต้องฝึกสมาธิแบบหลับตาให้มาก ๆ พอใจมีพลังมาก มันก็จะดีดออกไปเอง หลุดไปเองเหมือนที่เคยทำได้มาก่อน ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าใจคำว่าวิปัสสนาด้วยซ้ำไป ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ฝึกวิปัสสนาอยู่ เรียกการหลับตากำหนดลมหายใจของเราเป็นเรื่องการฝึกสมาธิเท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว เรายังรู้ว่าต้องพยายามจับความคิดให้ทันทุกครั้ง ต้องไม่ปล่อยให้ความคิดแล่นไปเป็นลูกโซ่นาน ๆ และต้องดีดความคิดออกไป ต้องไม่ปล่อยให้จิตหรือความคิดอยู่แนบกับใจ เพราะจะเกิดความหลง เรารู้อีกว่า การจะจับความคิดให้ทันได้ เราต้องฝึกสติในชีวิตประจำวัน ต้องมีสติกำหนดอยู่ที่การเดินทุกฝีก้าว และการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ตลอดเวลา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องวิปัสสนาทั้งสิ้น แต่เราก็ไม่รู้ว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่

การปฏิบัติเหล่านี้ ที่จริงเป็นธรรมะภาคปฏิบัติที่พระดัง ๆ สอนให้คนทำตามทั้งสิ้น แต่เรากลับรู้เองโดยธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครมาเน้นให้ฟังเลย แถมยังเหมาเอาว่าคนอื่นก็รู้เหมือนเรา ตอนนี้จึงมาเข้าใจว่านี่เป็นธรรมะระดับสูงที่แม้จะรู้กันในหมู่คนปฏิบัติธรรมไม่น้อยก็ตาม แต่คนที่ทำได้จริง ๆ คือดีดความคิดออกได้จริง ๆ นั้นมีไม่มากเลย แต่เรารู้ได้และทำได้เพราะเหมือนกับเราเคยเดินทางสายนี้จนเข้าไปพบสระน้ำอมฤตในป่าลึกมาแล้ว คือพบนิโรธหรือพระนิพพานแล้ว ตอนนี้ แม้ไม่เห็นสระน้ำอมฤตอีกแล้ว คือไม่ได้อยู่ในโลกของพระนิพพานอีกแล้ว คงเหลืออยู่ในความทรงจำเท่านั้น จึงรู้คร่าว ๆ ว่าเดินทางนี้จะไปถึงอีกได้ จึงพยายามจะเดินตามทางที่เคยเดินนั้นเพื่อไปให้ถึงสระน้ำอมฤตที่อยู่ในป่าลึกนั่นอีก

 

แม้อยากเปรียบเทียบ ก็ทำไม่ได้

ในช่วงนั้น สังเกตได้ว่าเพื่อน ๆ ที่ไปวัดด้วยกันยังไม่เข้าใจไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่เรารู้เลย เป็นสิ่งที่เราเข้าใจและเห็นอยู่คนเดียวจนรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายมากในบางครั้ง เมื่อฟังคนอื่นพูดสนทนาธรรมกัน เราสามารถรู้ระดับจิตของคนพูดทันทีว่าเขารู้น้อยกว่าเรา มักสงสัยว่าทำไมคนอื่นจึงไม่เข้าใจเหมือนเราทั้ง ๆ ที่มันชัดมากในใจเรา ไม่รู้เลยว่าเรื่องที่เรารู้นั้นมันลึกซึ้งมากเกินไปสำหรับคนอื่น เคยโน้มคิดไปว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเรารู้เรื่องเหล่านี้คนเดียว แต่ก็ไม่เคยคิดว่าเราไปไกลนักหนาในทางธรรม เพราะเมื่อคิดเปรียบเทียบเช่นนั้นทีไร ก็รู้ว่าต้องดีดความคิดนั้นออกทุกที จะไปเปรียบเทียบว่าเราดีและเก่งกว่าคนอื่นไม่ได้ ใจไม่ยอมให้ทำ ความคิดเช่นนั้นมันดีดออกไปเอง หลุดไปเองทุกครั้ง  จึงไม่ค่อยได้เปรียบเทียบว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ประจวบกับมีลักษณะนิสัยที่ชอบประเมินค่าตัวเองต่ำไว้ก่อนเสมอ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว จึงถนัดที่จะมองคนอื่นว่าเก่งกว่า เหนือกว่าตนเองเสมอ ในที่สุด สิ่งที่เรารู้ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งและก้าวหน้ามากจึงค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป ไม่ได้คิดว่าวิเศษวิโสอะไร

ประจวบกับการกลับมาถูกความทุกข์ข่วนใจเอาได้เหมือนกับคนอื่น จิตใจหวั่นไหวเป็น จึงไม่กล้าคิดไกลจนเลยเถิดว่าเรารู้ธรรมะมากกว่าเพื่อน กลับคิดว่าเราก็เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความทุกข์เหมือนคนอื่น ๆ แต่ก็สามารถฟังอาจารย์โกวิทได้รู้เรื่องมากกว่าคนอื่น อาจารย์มักพูดเรื่องความคิดในฐานะผู้ถูกมองบ่อย เราเข้าใจดีว่าอาจารย์หมายถึงอะไร และรู้สึกติดฟังเทปของอาจารย์มาก 

 

อยากเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า

พอเรียนจบปีสี่ซึ่งเป็นเพียง ๕ เดือนเศษหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๑๙  สถานการณ์ทางการเมืองในเมืองไทยยังหดหู่และตึงเครียดมาก รัฐบาลยังไล่จับนักศึกษาที่สงสัยว่าเป็นคอมมูนิสต์กันอย่างไม่ลดละ นักศึกษาหัวซ้ายหนีเข้าป่ามากมาย เรารู้ว่าออกไปทำงานหาเงินไม่ได้แน่นอน เพราะไม่มีความศรัทธาเชื่อถือในรัฐบาลและสังคมอีกต่อไป เป็นทุกข์มาก ในหัวใจลึก ๆ นั้น อยากหลุดพ้นอีก อยากพ้นจากความทุกข์อย่างที่เคยชิมลองมาแล้วอีก อยากมาก แต่ก็ไม่กล้าปริปากบอกให้ใครรู้

วันหนึ่ง เกิดถกเถียงกับแม่ขึ้นมา เพราะแม่ก็ห่วงอนาคตของเรา เห็นเรียนจบแล้ว แต่ทำไมไม่ยอมหางานทำเสียที ถามว่า เราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ที่จริงท่านพูดเรื่องงาน แต่เพราะมีความปรารถนาอยากหลุดพ้นอย่างมากมายจนบอกไม่ถูกนั่นเอง จึงหลุดปากตอบแม่ออกมาว่า

“อยากเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า”

เราคงพูดจากจิตใต้สำนึกจริง ๆ อยากพ้นทุกข์เหมือนพระพุทธเจ้า แม่ก็ไม่เข้าใจ หาว่าเราบ้า ขี้กลากจะขึ้นหัว กล้าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบและอยากเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า แต่เราก็คงบ้าจริง ๆ ในแง่ที่ว่าไม่เหมือนคนอื่น ตอนนั้น จึงหาแต่ทางที่จะไปอยู่วัดทำสมาธิด้วยความปรารถนาอยากหลุดพ้นอีก

วันหนึ่ง บอกลาแม่ว่าจะไปอยู่จำพรรษาที่พะเยา ๓ เดือน เพราะได้รู้จักสามเณรองค์หนึ่งที่พะเยา จึงจะไปอยู่วัดนั้นทำสมาธิ แม่ก็รู้ว่ารั้งเราไว้ไม่อยู่ เพราะเรารั้นมาก จึงยอมให้ไป แต่ขอให้เราสัญญาว่า ต้องไม่บวชชีโกนหัว เราก็ให้สัญญากับแม่ บอกว่าจะเป็นแค่ชีพราหมณ์ ถือศีล ๘ ไม่ต้องโกนหัว เห็นหน้าแม่แล้ว ก็สงสารแม่อย่างจับใจ ท่านต้องมาทุกข์มากเพราะเราแท้ ๆ นึกไม่ถึงว่า ความอยากหลุดพ้นของเราต้องทำให้แม่เจ็บปวดเช่นนั้น ครั้นจะให้อยู่บ้าน เราก็รู้ว่าอยู่ไม่ได้ อกแตกแน่ 

                   ตอนนี้เข้าใจได้ชัดเจนว่าทำไมในช่วงนั้นจึงมีความปรารถนาอยากพ้นทุกข์อย่างรุนแรง เพราะได้เข้าไปรู้จักความสว่างของชีวิตแล้ว แต่ต้องพลัดออกมาอยู่ในความมืดมิดอีก คนที่รู้จักหน้าตาของความสว่างแล้ว จะให้กลับมาอยู่ในความมืดมนของชีวิตได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องกลับไปหาความสว่างอีกให้ได้ ความปรารถนาการหลุดพ้นของเราจึงรุนแรงมาก แม้รู้ว่ากำลังทำให้แม่เจ็บปวด ก็ต้องทำ มิเช่นนั้น เราก็เป็นที่พึ่งให้แม่ไม่ได้

 

คนทักว่าไม่ต้องมีอาจารย์หรือ?

กรกฎาคม ๒๕๒๐ เราไปอยู่วัดแห่งหนึ่งที่บ้านหนองหวี พะเยา วัดนี้มีตุ๊เจ้าในวัย ๗๐ เศษหนึ่งรูป พระหนุ่มวัยยี่สิบเศษ ๑ รูป และสามเณรอีก ๓ รูป เรารู้จักเณรดาวเทียมจากถ้ำโพธิสัตว์ พอเณรรู้ว่าเราจะไป จึงพากันปลูกกระต๊อบให้เราอยู่หลังหนึ่งไม่ไกลจากศาลามากนัก เพราะเห็นเราเป็นผู้หญิง ไปปลูกไว้ไกลก็กลัวอันตราย แต่เพราะเป็นวัดเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน อีกด้านหนึ่งของกระต๊อบจึงติดชายป่าสักแล้ว เราถือศีลแปด ใส่ชุดขาว ทำสมาธิ เดินจงกรม เป็นกิจวัตร สลับกับการอ่านหนังสือธรรมะ และทำงานขีดเขียน พอมีโอกาสได้ทำสมาธิเป็นกิจวัตรและฝึกสติอย่างต่อเนื่อง ใจก็เริ่มสงบอีก แต่ก็รู้ว่ายังเป็นความสงบจากพลังสมาธิเฉย ๆ ไม่ใช่เป็นความสงบแบบที่ใจหลุดพ้นจากจิตอย่างที่เคยสัมผัสมาก่อน แม้จะมีความสงบมากเพียงใดในช่วงสามเดือน ก็รู้ว่า ใจยังไม่ได้หลุดพ้นอีก

ราวเดือนเศษผ่านไป มีทหารมาตั้งค่ายไม่ไกลจากวัด ทหารหนุ่มยศร้อยเอกคนหนึ่งมาคุยกับแม่ชีที่วัด พอรู้ว่าเราเพิ่งจบธรรมศาสตร์มา และมาอยู่ปฏิบัติธรรมในวัดบ้านนอกเช่นนี้ จึงถามเราว่า

“ไม่ต้องแสวงหาอาจารย์สอนหรือ แล้วจะรู้หรือว่ากำลังเดินถูกทางหรือผิดทาง”

ฟังคำถามของทหารนายร้อยแล้วถึงรู้ว่าเราก็ไม่เคยคิดว่าการไม่มีอาจารย์เป็นปัญหาสำหรับเราในตอนนั้น เพราะเหมือนกับรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไรกับตนเอง ต้องเดินอย่างไร และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุคืออะไร

ตอนนี้จึงมาเข้าใจแล้วว่า  เป็นเพราะเรามีปัญญาในส่วนสูงสุด คือได้รู้ถึงเป้าหมายหรือความหลุดพ้นแล้วนี่เอง จึงทำให้เกิดความกล้าหาญไปอยู่ปฏิบัติธรรมคนเดียวโดยไม่ได้คิดว่าต้องพึ่งพาครูบาอาจารย์มากนัก ถ้าเราไม่มีประสบการณ์แห่งความหลุดพ้นมาก่อน เราก็คงไม่กล้าไปอยู่ไกลครูบาอาจารย์เช่นนั้น

 

ปฏิเสธการรับปริญญา

                   วันหนึ่งประมาณปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๒๐ อันเป็นวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารับปริญญากัน จำได้แต่ว่า เช้าวันหนึ่งได้รับโทรเลขสองฉบับพร้อมกัน ใบหนึ่งส่งมาจากลพบุรี พ่อบอกให้ลงไปกรุงเทพเพื่อเตรียมตัวรับปริญญา อีกใบส่งจากกรุงเทพ แม่และพี่ ๆ บอกให้ลงไปกรุงเทพเพื่อรับปริญญา เราอ่านแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้คิดว่าการรับปริญญาจะมีความสำคัญอะไรต่อชีวิตเรา มันก็กระดาษแผ่นเดียวที่สังคมสมมุติคุณค่าให้เพราะความไม่รู้ และเราก็ยังอยู่ในพรรษา จึงไม่ได้ไปรับ ไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรเลย ที่จริงปีนั้นคนไม่ได้รับปริญญามีไม่น้อยเหมือนกัน

                   แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี รู้สึกสงสารพ่อแม่มากว่า อุตส่าห์ส่งเสียเราให้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นคนเดียวในพี่น้อง ๗ คนที่ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา ย่อมภูมิใจและอยากได้รูปรับปริญญาของลูกมาติดฝาหนังบ้านเหมือนคนอื่น ๆ บ้าง แต่เพียงแค่นี้เราก็ให้พ่อแม่ไม่ได้ มาเสียใจเอาตอนหลังว่าเราน่าจะให้ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ กับพ่อแม่บ้าง ท่านก็ไม่ได้ขออะไรเรามากมายเลย  

 

เพื่อนที่แสนดี

                   ช่วงที่จำพรรษาอยู่พะเยานั้น ใช้เวลาทำงานเขียนมาก เอาเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วไปด้วย มักเขียนจดหมายไปให้กำลังใจเพื่อน ๆ รุ่นน้องที่ชุมนุมพุทธ จำได้ว่า ทุกครั้งที่อ่านหนังสือธรรมะ ตอนนั้น เริ่มอ่านหนังสือธรรมะของพระรูปอื่นที่ไม่ใช่อาจารย์พุทธทาสบ้างแล้ว มีหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าใครเขียน ซึ่งถ้าเราได้อ่านก่อนหน้านั้น ๓ ปี เราคงอ่านไม่รู้เรื่องเลย แต่ตอนที่อยู่พะเยานั้น นอกจากเราสามารถอ่านได้เข้าใจดีแล้ว เรายังสามารถคิดต่อได้อีกอย่างทะลุปรุโปร่งจนเกิดความปีติในธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในหัวเต็มไปด้วยความคิดทบทวนในข้อธรรมต่าง ๆ ไม่ค่อยมีอะไรติดขัดเลย เมื่อจิตโน้มไปคิดธรรมข้อไหน ก็สามารถคิดต่อได้อย่างทะลุปรุโปร่งเสมอ

จึงเกิดความคิดที่จะเขียนบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันว่า ได้ทำ พบ และพูดคุยกับใครบ้าง จะได้ถือโอกาสแทรกข้อธรรมต่าง ๆ เข้าไปด้วย บันทึกนั้นเราเลือกเขียนในรูปแบบของจดหมายเล่าให้เพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อดิน และใช้ชื่อตัวเองว่า เส้าหลิน เราให้ชื่องานเขียนชุดนั้นว่า “เพื่อนที่แสนดี” ซึ่งที่จริงเป็นประโยคที่เขาใช้โฆษณารถยนต์ในยุคนั้น แต่เราเอามาใช้เพื่ออ้างถึงสิ่ง ๆ หนึ่งที่เราสามารถพึ่งพาได้เสมอ นั่นคือความสงบในใจ หรือ วิมุตติสุข เพราะช่วงที่อยู่พะเยานั้นเป็นช่วงเวลาที่เรามีความสงบทางใจมากที่สุดหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๑๙ ที่หัวใจเราเหมือนถูกบดขยี้ เจ็บปวด ทรมานมาก และความสงบนั้นแหละคือเพื่อนที่แสนดีของเรา เป็นเพื่อนที่เราพึ่งพาได้เสมอ แต่ตอนนั้นก็รู้ดีว่า นั่นเป็นเพียงความสงบเฉย ๆ เป็นสภาวะที่ยังไกลจากความหลุดพ้นที่เคยประสบมาก่อน เราเขียนไว้มากเป็นร้อยหน้าเห็นจะได้ และพยายามจะเขียนต่อหลังจากที่กลับจากพะเยาแล้ว แต่หลังจากที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง และคิดว่าคงจะไม่มีใครมาสนใจงานเขียนของเราหรอก  จึงตัดสินใจทิ้งมันไปในที่สุดโดยไม่ใยดีและเสียดาย

 เมื่อมาอยู่อังกฤษ เรามีความรู้สึกว่าต้องทำงานอะไรสักอย่างที่ทำให้เรากลับไปสู่สภาวะที่ปัญญาเบิกบานและปราดเปรียวอีก เพราะจำได้แม่นยำว่า เมื่อมีโอกาสได้เขียนหนังสือ เราจะมีความสุขมาก จึงเอารูปแบบการเขียนวิธีนั้นมาใช้อีก โดยเล่าเรื่องราวชีวิตในอังกฤษพร้อมกับแทรกธรรมะให้เพื่อนที่ชื่อดินฟังอีก  เราเริ่มเขียนหลังจากที่คลอดลูกเอ็นดู และเขียนอยู่นานถึง ๘ ปีเห็นจะได้ 

 

เขียนจดหมายให้อาจารย์พุทธทาส

                   ในช่วงที่อยู่พะเยา ปัญญาของเราปราดเปรียวมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่อ่านหนังสือธรรมะแล้ว มีความรู้สึกว่าเราสามารถเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานสี่ได้ดีพอสมควรจนอยากเขียนในส่วนที่ตนเองเข้าใจออกมาให้คนอื่นอ่าน จำได้ดีว่า เราสามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับสามฐานแรกด้วยความเข้าใจที่เรามีอยู่ในตอนนั้น แต่พอจะเขียนฐานที่สี่ เรารู้ว่าเรายังไม่สามารถเข้าใจความหมายของฐานที่สี่ได้ดีนัก จึงเขียนไปตามที่เข้าใจจากหนังสือธรรมะที่อ่าน เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เราตัดสินใจส่งไปให้ท่านอาจารย์พุทธทาสอ่าน เพื่อขอคำแนะนำหากเราเขียนอะไรที่ผิดพลาดไป

                   วันหนึ่ง ได้รับจดหมายจากสวนโมกข์เขียนโดยท่านวิสุทธิ์ ท่านเขียนมาสั้น ๆ บอกเราว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อ่านข้อเขียนของเราแล้ว ชมว่าเราเขียนได้ดี และจะมีอนาคตที่ดีในทางธรรม จำตัวหนังสือไม่ได้แน่ชัด แต่ก็อยู่ในความหมายนั้น เราอ่านแล้วดีใจมาก รู้สึกได้กำลังใจอย่างมหันต์ที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปอย่างไม่ลดละ แต่ก็ไม่กล้าบอกใครถึงจดหมายฉบับนั้น เพราะกลัวคนหาว่าเราอวด เมื่อออกพรรษาแล้ว เราทิ้งหนังสือมากมายไว้ที่ห้องสมุดของวัด จำได้ว่า เราสอดจดหมายฉบับนั้นไว้ในพจนานุกรมเล่มหนึ่งที่เราฝากไว้ให้กับครูท่านหนึ่งที่สอนอยู่ในหมู่บ้านหนองหวี เพราะคิดว่า หากเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้กับตัวละก็ เท่ากับเป็นการส่งเสริมอัตตาตัวตนให้ใหญ่เปล่า ๆ ลืมมันเสียดีกว่า จะฉีกจดหมายทิ้ง ก็ไม่กล้าทำ

 

สมเพชตัวเอง

                   ในช่วงที่อยู่พะเยานั้น การจับนักศึกษาหัวซ้ายยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รวมถึงข่าวการจับนักศึกษาหญิงคอมมูนิสต์ที่ปลอมแปลงตัวเป็นแม่ชีด้วย เพราะมีทหารมาตั้งค่ายอยู่ไม่ไกลจากวัด มีทหารนายร้อยที่แวะมาคุยกับแม่ชีบ้างเป็นครั้งคราว เรารู้ตัวว่าต้องถูกสงสัยเป็นธรรมดา เพราะเรายุ่งอยู่กับการเขียนเสมอ บางครั้งก็หอบเอาเครื่องพิมพ์ดีดเข้าไปในป่าสัก อ่านเขียนอะไรทั้งวัน เมื่อออกพรรษาแล้ว เราจึงรู้ว่ามันไม่ปลอดภัยที่จะอยู่บ้านหนองหวีต่อไปอีก จึงตัดสินใจกลับกรุงเทพ มีเพื่อน ๆ รุ่นน้องไปรับสามสี่คน ไปแวะพักที่วัดผาลาดเชียงใหม่อยู่สามคืนก่อนกลับกรุงเทพ

พอออกจากสภาพแวดล้อมของวัดในชนบทและวิถีชีวิตของนักบวชและมาพบกับความวุ่นวายและสับสนของกรุงเทพแล้ว มีความรู้สึกเหมือนกลับมาอยู่นรกบนดิน รู้สึกทันทีว่าจิตใจเริ่มซัดส่าย มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองเลย จะให้กลับบ้านและหางานทำก็รู้ว่ายังทำไม่ได้ ไม่พร้อมที่จะกลับเข้าบ้าน ไม่พร้อมที่จะไปเผชิญปัญหาครอบครัว เมื่อถึงกรุงเทพแล้วจึงตัดสินใจเดินทางต่อไปยังสวนโมกข์คนเดียวในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง หลังจากอยู่สวนโมกข์ได้อาทิตย์หนึ่ง ก็เดินทางต่อไปยังเกาะหาดทรายแก้วเพื่อหาอาจารย์โกวิท แต่การมาหาอาจารย์ในครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้จิตใจเราเบาขึ้นเลย

จำได้ว่าจิตใจยิ่งปั่นป่วนมากเมื่อตอนที่นั่งรถไฟจากสงขลากลับกรุงเทพ ใจที่เคยสงบและบังคับได้ง่ายเมื่อตอนอยู่พะเยานั้นหายไปหมด เหลือแต่ความสับสนวุ่นวายและซัดส่ายไปตามความคิด เริ่มห่วงอนาคตตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี เป็นลูกผู้หญิง จะบวชเป็นพระให้คนอนุโมทนาก็ทำไม่ได้ทั้ง ๆ หัวใจอยากอยู่อย่างพระอยู่เต็มภาคภูมิ ครั้นจะไปบวชเป็นชีก็จะทำให้แม่ทุกข์หนักชนิดรับไม่ได้เลย ครั้นจะอยู่เป็นฆราวาสอย่างนี้ ก็ต้องมีเงินบ้างแม้จะไปอยู่วัดก็ตาม และเมื่อไม่ไปทำงานแล้ว จะหาเงินได้อย่างไร รู้สึกสมเพชตัวเองอย่างบอกไม่ถูก น้อยใจมากว่าวัฒนธรรมไทยเราไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงอย่างเราสามารถเชิดหน้าชูตาในทางธรรมเลย มันเป็นโลกของผู้ชายล้วน ๆ  รู้สึกมืดแปดด้าน ไม่รู้จะเดินทางไหนดี ยิ่งเป็นทุกข์และสับสนเช่นนั้นก็ทำให้ยิ่งอยากกลับไปสู่สภาวะหลุดพ้นนั้นให้ได้อีก แต่จะให้มันถึงได้อย่างไรเล่า เพราะไม่มีที่จะอยู่ปฏิบัติธรรม