คำอนุโมทนา

 

เราเคยรับฟังคำเทศนาบนธรรมาสน์จากพระกันมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราจะฟังแม่บ้านธรรมดาพูดธรรมะกันแล้วหรือยัง ธรรมจากประสบการณ์เฝ้าดูความเป็นไปในโลกภายในและภายนอกที่กว้างกว่าเสียงพึมพำอ้อนวอนในโบสถ์ แต่เป็นจากชีวิตท่ามกลางการงาน โดยเฉพาะจากอ่างล้างจาน เตาหุงต้ม และการซักผ้าอ้อมลูก

 

แม้ว่าข้ออรรถาธิบายของศุภวรรณจะหละหลวมบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว หนังสือนี้มีค่าไม่น้อยในทางชี้แจงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เขียน ทำนอง “เล่าสู่กันฟัง” อิงอัตตประวัติ

 

หนังสือนี้มุ่งโฆษณา “สติปัฏฐานสี่” อย่างหนักแน่น ราวกับว่าเป็นการแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพุทธธรรมกับคำสอนของพระศาสดาอื่น แต่โดยเนื้อหาของคำอธิบายกลับเน้นว่าเป็นสิ่งประสานกันและนำไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกันของสภาวะเหนือทีถ้อย ( the unspeakable, the beyond)

 

สภาวะเหนือทีถ้อยนั้น จะถือเป็นจุดหมายปลายทางได้หรือ? Destiny ของมนุษย์เราจะกลายเป็นไปเพื่อความดับ (นิโรธ) ความดับเป็นเป้าหมายที่ไม่เป็นไปในแง่ลบ negative ไปหรือ แม้จะแก้ต่างว่าเป็นเพียงความดับของอวิชชาซึ่งเป็นเหตุแห่งกิเลสตัณหาก็ตาม มนุษย์เราเลือกที่จะไปสู่สภาวะหมดสิ้นกิเลสตัณหากันจริง ๆ หรือ?

 

ข้าพเจ้าคิดว่าที่ศุภวรรณอธิบายว่า นิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของมนุษย์นั้น ถูกต้องในความหมายกว้าง ๆ และเร้าใจผู้ทุกข์เพื่อใฝ่หาภาวะแห่งความสิ้นทุกข์ มีผู้เดือดร้อนด้วยไฟกิเลส และมีภาพของการสิ้นทุกข์รออยู่เป็นจุดหมายปลายทาง คำอธิบายเช่นนี้เป็นโวหารโลก เพื่อดึงดูดความใส่ใจให้พยายามเดินไปสู่จุดหมายอันไกลโพ้น ว่าโดยหลักแล้ว พระนิพพานไม่ได้เป็นภาวะหรือเทศะที่พอจะเรียกว่า เป็นเป้าหมายหรือสาระใดได้ สาระใด ๆ ยังข้องอยู่กับความมีความเป็น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเรียกพระนิพพานว่า โอทตา อันหมายถึงความหยั่งลง ไม่ใช่เป็นจุดหมายที่ต้องเลือกเดิน แต่กลับอยู่เหนือการเลือก การหยั่งลงนั้นเป็นไปเอง ดุจ downhill ของก้อนหินที่ถูกโยนขึ้น สิ้นแรงฝืนก็หยั่งลงเอง ส่วนที่พอจะเรียกได้ว่า เป็นแก่นของการภาวนานั้นท่านเล็งเอา วิมุติ (สภาพหลุดพ้น) อันหมายถึงอิสรภาพว่าเป็นโอสาระ

 

อิสรภาพและความรื่นรมย์ดูจะไม่ทำให้เราท้อแท้เลยในการรับฟังคำอรรถาธิบายด้วยภาษาใด ๆ ก็ตาม ต่างจาก “ความดับ” อิสรภาพและความรื่นรมย์ไม่ใช่เป็นสิ่งอธิบายไม่ได้ แต่เป็นสิ่งเข้าใจได้ทั้งต่อนักบวชและแม่บ้าน ตลอดจนเด็กน้อย และเป็นศักดิ์และศรีของความเป็นมนุษย์แท้ และทั้งอาจมีหุ้นส่วนแก่กันได้ มันไม่ใช่สิ่งลึกลับและชวนท้อแท้เกินไป

 

พระพุทธภาษิตที่ว่า “วิจิตร ชมพุทวีป มโนรม ชีวิต มนุษยณาม” โลกช่างแสนงาม ชีวิตเยี่ยงมนุษย์(แท้)น่ารื่นรมย์ใจ คงบอกเราได้ดีถึงรางวัลใหญ่ในชีวิต จากชีวิต

 

โลกเลวร้ายนักต่อผู้ทุรนทุรายด้วยพิษร้ายแห่งอามิส กินเหยื่อและตกเป็นเหยื่อ แต่โลกอันนี้แหละไม่ใช่อันอื่นที่ด้วยวิทรรศนญาณอันถ่องแท้ ปรากฏเป็นความวิจิตรงดงาม และชีวิตเป็นมโนรมอยู่ในตัวเองได้

 

แม้คำอธิบายขยายอรรถในแต่ละบทจะคลุมเครือบ้าง เนื่องแต่เป็นการโยงประสบการณ์เข้ากับอุดมการณ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะดูเหมือนยังแยกเป็นท่อน ๆ แต่เจตนาดีที่เธอมีต่อเพื่อนมนุษย์เพื่อให้ได้รับข่าวสารประเสริฐในสิ่งที่เธอรู้สึกและเชื่อนั้นน่านิยมยิ่ง เธอต้องการจะลดช่องว่าง(gap)ทางศาสนา เพื่อให้มันกลายเป็นช่องว่าง(space)เพื่อเติมความเข้าใจต่อกัน และหายใจในบรรยากาศที่เชื่อมประสานและแผ่ขยายกว้างกว่าเดิม แม้เธอจะใช้โวหารอิงข้างพุทธ แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ตัวนั้นก็หามีอยู่ในทำเนียบภาษาและวัฒนธรรมใดไม่ ข้อนี้เองที่ดูเหมือนศุภวรรณผู้เป็นแม่บ้านธรรมดา มั่นใจในการเล่าสู่กันฟังถึงความน่ามหัศจรรย์ของชีวิต ไม่ใช่ความอลังการของศาสนพิธีจากโบสถ์หรือทฤษฎีใด ๆ

 

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในการงานสุจริตและเป็นกุศลนี้

 

เขมานันทะ

กันยายน ๒๕๔๒

มีนบุรี กรุงเทพ