จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียดของการฝึกฐานที่สามนั้น ดิฉันอยากจะบอกเสียก่อนว่า
ขั้นตอนการฝึกสติปัฏฐานสี่นั้นเป็นความก้าวหน้าอย่างเป็นธรรมชาติตราบใดที่มีความเพียรอย่างคงที่
ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจแต่ละฐานได้ชัดมากขึ้นก็ต่อเมื่อได้ผ่านพ้นฐานนั้น ๆ ไปแล้ว
นี่คือประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉัน
หลายสิ่งหลายอย่างที่ดิฉันไม่สามารถเข้าใจได้ในช่วงที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัตินั้นก็สามารถเข้าใจได้เมื่อผ่านพ้นข้นตอนนั้นไปแล้ว
เช่นเคยคิดว่าตนเองเป็นผู้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
และไม่สมควรเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมเลย
ความคิดเช่นนั้นที่จริงแล้วอยู่ในขั้นตอนที่ตนเองกำลังปลุกปล้ำอยู่กับการปฏิบัติฐานที่สามอยู่
ยิ่งเห็นความคิดที่ผุดขึ้นในหัวมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นความเลวทรามของตนเอง
สิ่งเหล่านี้เป็นหลุมพราง (pitfall) ที่ผู้ปฏิบัติสามารถตกลงไปได้ง่าย
ครูที่มีความชำนาญและผ่านขั้นตอนแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถฉุดดึงเอาผู้ฝึกขึ้นมาจากหลุมพรางได้เร็วขึ้น
มิเช่นนั้น
ผู้ฝึกต้องมีความอดทนมากและฝึกต่อไปอย่างไม่ท้อถอยจนกระทั่งสามารถผ่านขั้นตอนนั้นไป
สิ่งที่ดิฉันเคยคิดว่าตนเองล้มเหลวนั้น ที่จริงแล้วเป็นความก้าวหน้า
แต่ไม่สามารถรู้ได้จนกระทั่งได้ผ่านออกมาแล้วซึ่งกินเวลาหลายปีอยู่
และมองย้อนกลับจึงจะเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร
ดิฉันเห็นว่าควรกล่าวถึงเพราะจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติ
ฉะนั้น สิ่งที่ดิฉันกำลังจะพูดอันเกี่ยวเนื่องกับสติปัฏฐานที่สามนั้น
ขอให้เข้าใจว่า
เป็นการพูดจากประสบการณ์ที่ดิฉันได้ผ่านมาแล้วและกำลังมองย้อนกลับไปเพื่ออธิบายภาพพจน์ที่ชัดเจนของการเดินทางทางจิตใจ
ฉะนั้น
ผู้ปฏิบัติที่กำลังอยู่ในท่ามกลางของการฝึกฐานนี้อาจจะไม่เห็นแลไม่รู้สึกอย่างที่ดิฉันพูดถึง
ดิฉันแนะนำได้อย่างเดียวว่าขอให้มีความอดทนและปฏิบัติต่อไปอย่างไม่ลดละ
แล้วจะผ่านพ้นขั้นตอนนั้นจนได้
การฝึกฐานที่สามนั้นคือขั้นตอนของการจับความคิดที่วิ่งเข้ามาในหัว ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่เห็นพูดเรื่องการไล่จับกิเลส
ที่จริงแล้ว กิเลสก็ติดมากับความคิดนั้นเอง ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มโลภ โกรธ หรือ หลง
มันก็มากับความคิดทั้งสิ้น แต่เมื่อใช้คำว่า กิเลส
อาจจะเป็นภาษาพระที่ฟังกันจนเฝือและคนที่ยังไม่อยากละกิเลสก็ไม่อยากฟัง
เมื่อใช้คำว่า ความคิด นั้นนอกจากจะเป็นคำกลาง ๆ แล้ว
ยังอาจจะเรียกความสนใจจากปัญญาชนก็ได้
เพราะความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่เขาต้องใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
และจะเป็นประโยชน์ต่อปัญญาชนมากหากเขาเรียนรู้วิธีที่จะใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
และบทนี้ก็เป็นเรื่องโดยตรงว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้ความคิดอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงต้องพูดเรื่องการไล่จับความคิด ฉะนั้น หากใครไล่จับความคิดได้ทันเท่านั้น
มันก็เท่ากับทันกิเลส เมื่อไล่ทันกิเลสได้แล้ว ก็สามารถปราบมันได้
แรงเสียดทานในการคิดอย่างสร้างสรรค์ก็จะน้อยลง
ความคิดที่เหลือก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจะจับความคิดได้อย่างไรนั้น
จะต้องกลับมาสู่การสมมุติเรื่องรถไฟอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้รถไฟจะเป็นความคิดแทนที่จะเป็นความรู้สึกดังที่สมมุติไปแล้วในฐานที่สอง
ซึ่งหมายความว่ารถไฟขบวนนี้จะสามารถวิ่งด้วยอัตราความเร็วที่สูงมากยิ่งขึ้น
ผู้ฝึกจะเริ่มออกจากความคิดหรือรถไฟและมานั่งบนชานชาลาเพื่อสังเกตดูการเข้าออกของรถไฟแต่ละขบวนที่ผ่านสถานี ที่จริงแล้ว
การฝึกฐานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการฝึกฐานที่หนึ่งและสอง
เพราะเป็นขั้นตอนที่ก้าวหน้าตามธรรมชาติดังได้กล่าวแล้ว การที่จู่ ๆ
จะมาฝึกดูความคิดเลยนั้นเป็นไปได้ยากมาก ที่จริง
ผู้ฝึกได้เริ่มสังเกตเห็นความคิดตั้งแต่เริ่มฝึกฐานแรกแล้ว จึงรู้ว่าเผลอบ่อย
แต่ช่วงนั้นความไวของสติยังไม่เพียงพอจึงไม่ทราบชัดว่า
การเริ่มเห็นความคิดเป็นขั้นตอนของฐานที่สาม
จะเริ่มรู้ก็ต่อเมื่อสติมีความไวขึ้นเพราะความหมั่นเพียรจากการฝึกฐานที่หนึ่ง
และมีความสามารถที่จะสังเกตได้เร็วมากขึ้น
เพราะความคิดเข้าออกเร็วเหลือเกินดังที่กล่าวแล้ว
การฝึกฐานที่สามนี้เป็นขั้นตอนที่ยากและเจ็บปวดมาก
ผู้ฝึกจะเผชิญกับความคิดและความรู้สึกของตนเองชนิดที่จะหนีไม่ได้อีกต่อไป
ความสับสนยังคงมีอยู่สำหรับผู้ฝึกดูความคิดใหม่ ๆ
และไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเองทำถูกหรือไม่
เพราะนี่มิใช่เป็นการดูวัตถุชิ้นหนึ่งด้วยตาเนื้อ
ในกรณีนี้ทั้งผู้มองและผู้ถูกมองเป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่าง
และยังอยู่ภายในกายอันยาววาหนาศอกนี้ ณ.จุดนี้เอง การสอนไท้เก็กของดิฉันนั้น
ดิฉันจึงพานักศึกษาเข้าสู่ภาคปฏิบัติโดยพยายามฝึกให้เขารู้จักกับธาตุรู้ หรือ
วิญญานธาตุ (knowing nature or consciousness) ซึ่งมีธรรมชาติที่แตกต่างจากตัวความคิด
(thought) และเป็นขั้นตอนที่เตรียมตัวให้เขาสามารถนั่งบนชานชาลาและเฝ้าดูรถไฟเข้าออกจากสถานี
นักศึกษาที่ฝึกกับดิฉันในเทอมหนึ่งซึ่งมีสิบชั่วโมงและมาอย่างไม่ขาดเลนั้นสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างธาตุรู้กับตัวความคิดได้
หากเขาไม่ละทิ้งการฝึกฐานที่หนึ่งแล้วไซร้
คนเหล่านี้จะสามารถจับการเกิดดับของความคิดได้เอง และปัญญาก็จะเกิดกับเขา
อย่างไรก็ตาม การสอนเช่นนั้นสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสอนกันแบบเห็นหน้ากันเท่านั้น
แต่ไม่สามารถเขียนให้ชัดเจนออกมาได้เหมือนกับการพูดและสอนกันตัวต่อตัว
การมีครูที่ถูกจริตกับความต้องการของศิษย์จึงสำคัญในแง่ที่ว่าจะได้ทางลัดและไม่เสียเวลามาก
หากจะเขียนแล้วต้องอธิบายกันอีกแบบหนึ่งเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ จึงใคร่ขอแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ฝึกกับผู้ไม่ได้ฝึก
สำหรับผู้ไม่ได้ฝึกสติปัฏฐานนั้น
เมื่อเห็นความคิดหรือความรู้สึกที่เจ็บปวดของตนเองแล้ว
จะกลบเกลื่อนโดยการหาเรื่องใหม่คิด หรือไปทำอะไรใหม่ ๆ
ที่เบนความสนใจและตื่นเต้นเพื่อให้ความคิดและความรู้สึกที่เราไม่ชอบหายไป หรือลืมไปเอง
ซึ่งถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตและพอลืมได้แล้ว มันก็จะหายไปเองในที่สุด
แต่มันก็จะกลับมาใหม่ซึ่งคนก็จะหนีต่อไปอีก หากเป็นเรื่องใหญ่แล้วไซร้
การกลบเกลื่อนจะยากมากขึ้น และความคิดที่เจ็บปวดจะไม่ยอมหายง่าย ๆ
จะคิดซ้ำซากย้ำเตือนให้เจ็บปวดอยู่ร่ำไป จุดนี้แหละที่คนจะเป็นโรคประสาทและพึ่งยาระงับประสาทกันมากขึ้น
แต่ถ้าทำอย่างไรก็ไม่หายแล้วละก็
อาจจะต้องปลิดชีวิตตนเองเพื่อทำลายความเจ็บปวดของจิตใจ
คนที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเขาไม่มีที่พึ่งทางธรรม เขาไม่ได้พึ่งพระพุทธเจ้า
ส่วนคนที่พึ่งพระรัตนตรัยและอยู่ในขั้นตอนของการฝึกสติปัฏฐานที่สามนั้น
ผู้ฝึกจะไม่หนีจากความคิดและความรู้สึกที่เจ็บปวดแบบคนไม่รู้อีกต่อไป
คือจะไม่หาทางกลบเกลื่อน
แต่จะมองความคิดและความรู้สึกอย่างอดทนและเข้าใจตามปัญญาที่ได้ถูกแผ้วถางมาคือรู้ว่ามันจะทนอยู่ได้ไม่นาน(ทุกขัง อนิจจัง) เหมือนกับเป็นการเผชิญกับศัตรูอย่างซึ่ง
ๆ หน้าและดวลกันด้วยเพลงดาบ ใครมีความสามารถกว่าก็ชนะไป ใครอ่อนแอกว่าก็ยอมแพ้ไป
บางครั้งความคิดจะเป็นฝ่ายชนะและลากเราขึ้นรถไฟไปกับมันจนได้ แต่บางครั้งเรา (ธาตุรู้)
ก็ชนะคือฝืนและไม่ยอมขึ้นรถไฟของความคิด
แต่ถึงแม้จะถูกความคิดฉุดให้ขึ้นรถไฟไปกับมัน ก็ไปได้ไม่ไกลเท่าไร
จะมีสักป้ายหนึ่งที่เรา (ธาตุรู้) รีบกระโดดลงจนได้ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของผู้ฝึกฐานที่สามนี้ คือการดีดตนเองออกจากความคิด
หรือพยายามหยุดความคิดทุกครั้งที่รู้ว่าเหม่อลอย
นี่คือลักษณะที่เปรียบเหมือนกับการถอนหญ้าออกทั้งราก และไม่กลบเกลื่อนมันโดยการหันเหไปคิดเรื่องอื่นซึ่งเหมือนกับการเอาศิลามาทับหญ้าอีกต่อไป
การฝึกดูความคิดเช่นนี้จะทำให้ธาตุรู้หรือวิญญานธาตุแข็งแกร่งขึ้น
เพราะธาตุรู้นี่แหละจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการฝ่าฟันกิเลสที่ติดมากับความคิด
เมื่อธาตุนี้เด่นขึ้นมา ความคิดก็จะแพ้ แต่ถ้าธาตุนี้อ่อน ความคิดก็จะลากเรา (ธาตุรู้)
ไปกับมัน หากผู้ฝึกไม่ทิ้งฐานที่หนึ่งแล้ว ธาตุรู้นี้จะค่อย ๆ
เด่นมากขึ้นจนในที่สุดมันจะทำงานของมันเองตามอัตโนมัติ
คือจะไล่จับความคิดของมันเองโดยปราศจากผู้จับหรือผู้ไล่ การทำให้ธาตุรู้หรือวิญญานธาตุเด่นขึ้นมานี่ ความรู้สึกว่ามีตัวมีตนก็หายไปเอง
พอธาตุนี้เด่นขึ้นมา
จึงสามารถรู้ด้วยปัญญาว่าเป็นการเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นว่ามีตัวมีตนเป็นของเรา
ที่จริงแล้วทุกอย่างที่ประกอบเป็นตัวตนของเรานั้นเป็นธรรมชาติห้ากอง(ขันธ์ห้า)ที่มารวมตัวกันเท่านั้น
แต่ส่วนที่ทำให้รู้สึกว่ามีตัวเรามากที่สุดคือธาตุรู้หรือวิญญานธาตุที่ปรุงไปกับธาตุอื่น
ๆ เช่น ความคิด (สังขาร) และ ความรู้สึก (เวทนา) ฉะนั้น
จุดสำคัญของการฝึกฐานที่สามนี้คือ ต้องทำให้ธาตุรู้เด่นขึ้นมา
ปัญญาที่แท้จริงอันไม่ใช่เกิดจากการอ่านหรือคิดใคร่ครวญก็จะตามมาเอง
จากเจนีสิสสู่มหาภารตะ
ดิฉันไม่สงสัยอีกแล้วว่าการเฝ้าดูการเกิดดับของความคิดหรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นคือการกระทำที่ไม่กินผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้
(the tree of knowledge) นี่คือคำเตือนของพระเจ้าในวันแรกที่ท่านได้สร้างมนุษย์คู่แรกขึ้นมาในโลก
หรือหากจะพูดให้ถูกคือ นี่คือคำเตือนของผู้รู้ในอดีตคนหนึ่งที่รู้กลไกการทำงานของจิตดีพอที่จะสอนให้คนเดินถูกทาง
โดยที่ท่านผู้นั้นได้ซ่อนแผนที่การเดินทางของชีวิตไว้ในปุคคลาทิษฐานของต้นไม้สองชนิด
คือ ต้นไม้แห่งชีวิต (วิมุติสุข)
นั้นกินได้ แต่ต้นไม้แห่งความรู้ (ความคิดที่มีกิเลส) นั้นกินไม่ได้
ความหมายของต้นไม้ทั้งสองนี้ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างถูกต้องในแวดวงของชาวคริสต์
เพราะเหตุผลข้อเดียวคือ ขาดการปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่ สติปัฏฐานที่สามนี้เป็นวิธีการของการอาเจียนเอาผลไม้แห่งความรู้(the
tree of knowledge) ออกมาให้หมด
โดยไม่ให้เหลือซาก ซึ่งเป็นจุดที่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกวิธีการคายความรู้ออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับการบอกทางของพระพุทธเจ้า
หรือจะพูดง่าย ๆว่านี่เป็นขั้นตอนของการหยุดนิสัยคิดมากโดยตรง
ถ้าไม่อยากคิดมากก็ต้องจับความคิดให้ได้และทิ้งมันไป
การต่อสู้กับความคิดและความรู้สึกที่เจ็บปวดของตนเองนี่แหละ
นักปราชญ์ได้เอาขั้นตอนนี้ไปสร้างเป็นมหากาพย์มหาภารตะ
ซึ่งเป็นสงครามขับเคี่ยวกันระหว่างพี่น้องสองตระกูล จนกระทั่งเกิดการเข่นฆ่ากันในหมู่เครือญาติของตนเอง
อันเป็นปุคลาธิษฐานแสดงให้เห็นถึงสงครามที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์นั้นเอง
เป็นสงครามระหว่างความคิดฝ่ายธรรมและความคิดฝ่ายอธรรม คนที่ฝึกฐานที่สามนี้จะรู้สึกว่าทุ่งกุรุเกษตรอันเป็นสนามรบของพี่น้องสองตระกูลนี้ช่างเหมือนกับจิตใจของคนเราเหลือเกิน
การรับรู้ความคิดทุกความคิดเพื่อสามารถปลดปล่อยมันได้นั้นเป็นการทำงานทางจิตที่เหนื่อยมาก
และต้องมีการต่อสู้กันอย่างเอาจริงเอาจัง ความคิดความรู้สึกต่าง ๆ
ที่ผูกพันกับผู้ที่เรารักก็จำเป็นต้องปล่อยมันไปในขณะที่ฝึกฐานที่สามนี้
ซึ่งเหมือนกับการเข่นฆ่าญาติพี่น้องของเราเอง
ผู้ฝึกฐานนี้แล้วจะรู้เองว่าสงครามภายในจิตใจของตนเองนั้นใหญ่หลวงนัก
ความคิดทุกอย่างที่เข้ามาในหัวจะต้องมีการรับรู้จากผู้มอง
ผู้ที่ฝึกขั้นนี้จะรู้ถึงความยากลำบากในช่วงหนึ่ง
ซึ่งจะกินช่วงนานสักแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างของแต่ละบุคคล
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่ประมาท
ตอนแรกผู้ฝึกจะรำคาญมากเพราะดูไม่ทันความคิด เผลออยู่บ่อย แต่ผู้ฝึกก็ไม่ควรท้อใจ
ตราบใดที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ทิ้งสองฐานแรกแล้วไซร้
การฝึกฐานที่สามจะมาถึงจุดหนึ่งที่เริ่มเป็นอัตโนมัติ
จุดนี้เองที่ผู้ฝึกจะเริ่มรู้ชัดว่าตนเองได้มาถึงการฝึกในฐานที่สามแล้วซึ่งก่อนหน้านั้นจะไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร
ถึงตอนนี้ผู้ฝึกจะสามารถนั่งบนชานชาลาสถานีได้
ค่อนข้างสบายและสามารถเห็นรถไฟทุกขบวนที่ผ่านเข้าออกได้โดยไม่ถูกลากขึ้นรถไฟไปด้วยเหมือนกับการฝึกในตอนต้น
ๆ การคิดฟุ้งและเหม่อลอยจะน้อยลงมาก
ผู้ฝึกที่มาถึงจุดนี้ทุกคนจะพูดเรื่องความเป็นอัตโนมัติของจิตเหมือนกันหมด คือ
จะมีผู้มองความคิดและผู้ถูกมอง ผู้ฝึกถึงขั้นนี้แต่ละคนจะมีวิธีการอันเป็นสัญญานของตนเองที่เรียกสติคืนมาอย่างเป็นอัตโนมัติ
คือ ทุกครั้งที่เห็นความคิดเกิด ก็อาจจะใช้คำ ๆ หนึ่งเช่น เออ เป็นต้น และ ความคิดนั้นก็จะหายไปทันที
ที่ทราบนั้นเพราะเคยอ่านหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ที่พูดถึงการปฏิบัติของท่านเอง
ขั้นตอนอัตโนมัตินี้ได้เกิดขึ้นกับดิฉันเมื่อราว ๑๓ ปีมาแล้ว
ดิฉันเริ่มสังเกตเห็นความเป็นอัตโนมัติของสติในตนเอง ดิฉันได้มาอยู่อังกฤษแล้ว จู่
ๆ ก็ได้ยินตัวเองพูดว่า oh no ทุกครั้งที่เห็นความคิดบางอย่าง มันไม่ได้เกิดกับทุกความคิด ทันทีที่มีสติอันควบคู่ไปกับคำรำพึงว่า oh no ความคิดที่กำลังจะปรุงก็ขาดหายไปทันที
ในช่วงนั้นดิฉันเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าเกิดอะไรขึ้น
รู้แต่ว่านี่คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น
และสิ่งนี้มีความสำคัญด้วยเพราะทำให้เข้าใจอะไรต่ออะไรได้มากขึ้น
และรู้ด้วยว่าหากสิ่งนี้อยู่กับดิฉันได้ตลอดไป
ดิฉันก็จะปลอดภัยในแง่ที่ว่าจะไม่ถูกความคิดตนเองขบกัดเอา แต่ทั้ง ๆ
ที่รู้ว่าสำคัญ ดิฉันก็ยังรู้สึกอีกด้วยว่ามันธรรมดามากเหลือเกิน ตอนนั้น
ดิฉันกำลังมีลูกเล็กคนโต ๖ ขวบ คนกลาง ๓ ขวบและลูกคนสุดท้องอายุยังไม่ถึงขวบดี
การที่ดิฉันต้องพูดห้ามลูกไม่ให้ทำโน่นทำนี่ จึงใช้คำว่า อย่าลูก
บ่อยมากตามประสาแม่ ๆ ทั้งหลาย ไป ๆ มา ๆ คำว่า อย่าลูก ได้เข้ามาแทนคำว่า oh
no ทุกครั้งที่สติจับความคิดทัน
ดิฉันจึงใช้คำว่า อย่าลูก กับลูกของดิฉันจริง ๆ เมื่อลูกทำอะไรที่ไม่ควร
นอกจากนั้น ระบบสติอัตโนมัติของดิฉันก็ใช้คำว่า อย่าลูก ต่อความคิดที่จะปรุงต่อไป
แต่ในกรณีหลังนี้จะออกมาโดยที่ดิฉันไม่ได้ตั้งใจ
เหมือนกับว่ามีกลไกอย่างหนึ่งทำหน้าที่ของมันโดยอัตโนมัติและไม่มีตัวดิฉันเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
เหมือนกับการกระพริบตาหรืออาการสะอึกซึ่งเป็น physical reflex คำว่า อย่าลูก ของดิฉันนั้นเปรียบเหมือนกับ mental
reflex ที่ทำงานเหมือนกับอาการสะอึกหรือกระพริบตา
คือเกิดขึ้นเองเมื่อมีเหตุมากระทบ
ความสับสนจึงเริ่มเกิดขึ้น บางครั้งที่ดิฉันกำลังทำกับข้าวอยู่ในครัวนั้น
การดูความคิดจะเกิดของมันเอง หากมีความคิดอะไรที่ต้องหยุดอย่างกระทันหันแล้วไซร้
ระบบอัตโนมัติจะทำงาน
ความดังค่อยของเสียงนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความคิดและการพยายามหยุดมันของปุ่มอัตโนมัติ
บางครั้งดิฉันจะพูด อย่าลูก อย่างเบา ๆ และไม่มีใครได้ยินนอกจากตนเอง
แต่บางครั้งดิฉันจะตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า อย่าลูก จนลูก ๆ งงว่าเขาทำอะไรผิดหรือ
จนลูกโตสองคนต้องวิ่งเข้าไปในครัวถามแม่ว่า ดุเขาทำไมหรือ เขาทำอะไรผิด
ดิฉันจำเป็นต้องอธิบายตรง ๆ กับลูกว่า แม่ไม่ได้ดุลูก
แต่กำลังดุความคิดที่ไม่ดีในหัวของแม่ต่างหาก เพื่อให้ความคิดไม่ดีออกจากหัวแม่
ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เด็ก ๆ สามารถรับเอาเหตุผลง่าย
ๆเช่นนี้โดยไม่ถามอะไรซอกแซกอีกต่อไป
แต่ตัวดิฉันเองทราบดีว่านี่มิใช่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย ๆ
จึงไม่เคยปริปากพูดเรื่องนี้กับใครแม้แต่สามีของดิฉันเอง
วันที่ดิฉันมีปัญหาและจิตว้าวุ่น คำว่า อย่าลูก จะถูกยิงออกมาเป็นชุด ๆ ต่อ ๆ
กันเหมือนกับยิงกระสุน หาก อย่าลูก ทันกับความคิดแล้ว ดิฉันก็ไม่เจ็บปวด
บางครั้งไม่ทันแบบทันทีทันใด ก็เปิดโอกาสให้ความรู้สึกกัดหัวใจเข้าไปนิดหนึ่ง
ดิฉันก็เจ็บปวดอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายไป
นี่คือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างเอาจริงเอาจังและเอาเป็นเอาตายในช่วงสิบปีเศษที่ผ่านมาในขณะที่ดิฉันกำลังเลี้ยงลูกและพยายามประคับประคองครอบครัวนี้ให้อยู่รอด
ถึงแม้จะอยู่ด้วยกันทุกวัน
สามีของดิฉันก็ไม่สังเกตเห็นความผิดปกตินี้จนกระทั่งเวลาผ่านไปแล้วเกือบสามปี
ในขณะที่ครอบครัวของดิฉันกำลังดูโทรทัศน์ด้วยกันนั้น
ดิฉันก็โพล่งออกมาอย่างดังมากว่า อย่าลูก จนสามีและลูก ๆ
ตกใจหันมามองดิฉันพร้อมกันหมด เด็ก ๆ
นั้นหันมามองดิฉันแล้วก็สั่นหัวแบบรู้ทันแม่ว่าแม่กำลังดุความคิดที่ไม่ดีและเขาก็หันกลับไปสนใจโทรทัศน์อีกตามเดิม
นั่นเป็นครั้งแรกที่สามีต้องถามดิฉันอย่างเอาจริงเอาจังว่าทำไมจึงต้องตะโกนเช่นนั้น
ดิฉันจนมุมและไม่ทราบจะตอบสามีอย่างเป็นเหตุผลได้อย่างไร
เพียงแต่บอกเขาอย่างทีเล่นทีจริงเหมือนกับที่บอกกับลูก ๆ ตั้งแต่นั้นมา
ก็มีครอบครัวของดิฉันเท่านั้นที่ทราบว่าดิฉันมีอาการประหลาดเช่นนี้
มีหลายครั้งทีเดียวที่ดิฉันทำให้ลูกต้องขายหน้าเพราะคำว่า อย่าลูก ออกมาดังในขณะที่กำลังเดินอยู่หรือกำลังซื้อของอยู่ในร้าน
มีครั้งหนึ่งที่ลูกคนโตตอนนั้นอายุราว ๑๑ ขวบต้องอธิบายให้เพื่อนเขาฟังว่าทำไมแม่ต้องพูดอย่าลูกออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในขณะขับรถ
เขาก็อธิบายได้ดีว่าแม่ทำสมาธิและพยายามจะหยุดความคิดที่ไม่ดี
ขณะนี้ลูกคนเล็กของดิฉันอายุ ๑๓ ปีแล้ว ดิฉันก็ยังใช้คำว่า อย่าลูก
อยู่พร้อมกับคำอื่น ๆ อีก เช่น ไม่เอา ออกไป
และที่เป็นภาษาอังกฤษก็มีเสียส่วนมาก เช่น I hate you. I
dont like you. Dont
do that to me. เป็นต้น ลูก ๆ และสามีรู้สึกมีความอับอายเป็นกำลังและไม่อยากเอาดิฉันไปไหนด้วยเพราะไม่รู้ว่าคำเหล่านี้จะออกมาเมื่อไหร่
ต่อหน้าใคร และหากเป็นประโยคว่า I hate you เขาตกลงกันว่าจะแสร้งทำเป็นไม่รู้จักดิฉัน
ปล่อยให้คนคิดว่านี่เป็นผู้หญิงบ้าจากต่างแดนจะง่ายกว่า
ดิฉันเองไม่เคยพูดหรืออธิบายเรื่องนี้อย่างจริงจังกับใครจนกระทั่งบัดนี้ คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำปฏิเสธและผลักไสทั้งสิ้น
ดิฉันเพิ่งมาเข้าใจในช่วงหลังนี่เองว่า
ปุ่มอัตโนมัตินี้เป็นตัวสัมมาสติที่พยายามจะหยุดการปรุงแต่งของสังขารทั้งปวงนั่นเอง
ขั้นตอนที่เป็นอัตโนมัตินี้มีภาพพนจ์อันเป็นนามธรรมที่สามารถเปรียบเทียบได้กับอาวุธที่ใช้ในสงครามอ่าว
Gulf war ทุกครั้งที่ฝ่ายพันธมิตรยิงขีปนาวุธ missile
ขึ้นไปในอากาศ
ฝ่ายอิรัคก็จะยิงขีปนาวุธต้าน anti-missile ขึ้นไป
หากขีปนาวุธทั้งสองพบกันบนอากาศ ก็จะระเบิดทำลายขีปนาวุธของฝ่ายพันธมิตรไป การทำงานของจิตระหว่างความคิดกับการมีสติที่จะจับความคิดนั้นเมื่อมาถึงจุดอัตโนมัติแล้วจะเหมือนกับการทำงานของขีปนาวุธทั้งสองอย่างไรก็อย่างนั้น
หากทุ่งกุรุเกษตรคือจิตใจของเราที่เราต้องป้องกัน ขีปนาวุธคือความคิด และ ขีปนาวุธต้าน anti-missile คือสติ หากเราต้องการปกป้องจิตใจของเราอย่างสุดชีวิตเพื่อไม่ให้ข้าศึกมารุกรานแล้วละก็ หมายความว่า
ทุกครั้งที่ความคิดเกิด
สติของเราต้องไวและสามารถพุ่งไปทำลายความคิดนั้นในอากาศเพื่อไม่ให้มันตกลงมาที่จิตใจของเราได้
เพราะถ้ามันตกเมื่อไหร่แล้วจะเจ็บเมื่อนั้น เมื่อฝึกมาถึงจุดที่เกิดความเป็นอัตโนมัติแล้ว
ทุกครั้งที่ความคิดเกิด
สติจะวิ่งไปทำลายความคิดนั้นในอากาศเหมือนกับที่ขีปนาวุธต้านวิ่งขึ้นไปทำลายขีปนาวุธของพันมิตรในอากาศเพื่อไม่ให้มันตกลงมาที่สนามรบและทำให้คนตาย
ผู้ชำนาญการฝึกฐานนี้มาก สติจะไวมากถึงขนาดที่สามารถจับแรงสะเทือนของความคิดที่กำลังจะก่อเป็นรูปร่างขึ้น
เปรียบเสมือนกับ ขีปนาวุธต้านสามารถจับแรงสั่นสะเทือนของบรรยากาศทั้ง ๆ
ที่ไม่เห็นตัวขีปนาวุธเลยและบุกเข้าไปทำลายมันก่อนที่จะแสดงตัวออกมาให้เห็น
ผู้ฝึกจะรู้ว่าตนเองได้ทำลายความคิดหนึ่งไปแล้วทั้ง ๆ
ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความคิดนั้นคืออะไร
นี่เป็นความไวของสติที่ทุกคนสามารถฝึกได้จนถึงขั้นอัตโนมัตินี้
ถ้าใช้คำศัพท์อภิธรรมแล้ว ก็พูดได้ว่า
สติมีความไวถึงขนาดที่สามารถจะจับตัวเจตสิกที่กำลังจะปรุงเป็นความคิดหนึ่ง ๆ
ขึ้นมา เพราะสามารถทำลายการเกาะตัวของเจตสิกนั่นเอง ความคิดจึงไม่ทันถูกปรุงขึ้นมาอย่างเต็มรูปร่าง
จึงรู้แต่เพียงว่ามีความคิดหนึ่งถูกทำลายไป แต่ไม่รู้ว่ามันคือความคิดอะไร
นี่คือสิ่งที่ดิฉันสังเกตเห็นหลังจากที่ใช้คำว่า อย่าลูก
ไปแล้วราวสามถึงสี่ปีเห็นจะได้ บางครั้งลูกจะถามว่า
แม่คิดอะไรที่ไม่ดีหรือจึงต้องพูด อย่าลูก พอดิฉันสำรวจจริง ๆ แล้วกลับพบว่า
แม้ตัวดิฉันเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ความคิดอะไรที่ได้ถูกทำลายไป
เพราะตนเองไม่เห็น เห็นแต่เพียงคลื่นเท่านั้น แต่ตัวสติก็ไวมากพอที่จะรู้ว่า
หากเจตสิกกลุ่มนั้นก่อตัวขึ้นมาเป็นความคิดละก็
มันต้องพาเอากิเลสอะไรสักอย่างมาด้วยแน่ มันจึงวิ่งไปทำลายเสียตั้งแต่ต้นตอ
ดิฉันจึงไม่มีทางทราบว่าเป็นความคิดเรื่องอะไรกันแน่
เรื่องการดูความคิดนั้นที่จริงมีรายละเอียดมากสำหรับผู้ปฏิบัติ
แต่ไม่สามารถนำมาเขียนบรรยายให้หมดได้ พูดได้แต่เฉพาะเรื่องเด่น ๆ เท่านั้น
จุดที่สำคัญคือ ต้องการให้นักปฏิบติที่อยู่ในฐานะเหมือนดิฉันคือเป็นฆราวาสที่ต้องมีภาระเลี้ยงดูครอบครัวรู้ว่า
เขาก็ปฏิบัติธรรมได้เหมือนกับพระเช่นกัน แน่นอน มันต้องยากกว่า
เพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวยเหมือนกับอยู่วัด และไม่มีศีล๒๒๗ข้อเป็นเหมือนเกราะคุ้มครอง
ดิฉันจึงเข้าใจได้อย่างดีว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสร้างระเบียบวินัยและวิถีชีวิตของพระ
เพราะมันเป็นทางลัดอย่างแท้จริงที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้เร็ว
ฆราวาสที่อยากได้ดีในทางธรรมนั้นเหมือนกับเป็นคนรักความสะอาดอย่างมาก
แต่ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรกมาก ฉะนั้น
การจะพยายามรักษาตนเองให้สะอาดอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่สกปรกโสมมนั้นย่อมยากกว่า
ในขณะที่วิถีชีวิตของพระอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม
ฆราวาสที่จะให้ได้ดีทางธรรมก็มิใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียเลย
ดิฉันจึงอยากจะให้กำลังใจแก่ผู้ที่อยากมีความก้าวหน้าทางธรรมแต่ไม่สามารถทิ้งความรับผิดชอบไว้เบื้องหลัง
ผู้ที่ยังมาไม่ถึงขั้นนี้เมื่อฟังแล้วอาจจะคิดว่า
หากใครทำได้ถึงขั้นอัตโนมัติก็น่าจะหมดปัญหาแล้ว
ไม่มีใครจะหมดปัญหาได้อย่างแท้จริงหากยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
หากคนที่ถูกสาปเป็นเสือตัวนี้ยังไม่สามารถกลายร่างเป็นมนุษย์จนหมดจะเรียกว่าหมดปัญหาไม่ได้
จะมายอมรับว่าเป็นมนุษย์ครึ่งตัวเป็นเสืออีกครึ่งตัวก็พอแล้ว จะเอาอะไรมากมาย
อย่างนี้ไม่ได้ ชีวิตของมนุษย์นั้นมีทางออกทางเดียวเท่านั้น
คือเข้าถึงพระนิพพานอย่างถาวร
จะมาพอใจแค่การปฏิบัติโลกียธรรมและไม่สนใจเรื่องโลกุตตระนั้นไม่ได้[1] คนที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็แล้วไป
แต่คนที่รู้แล้วและไม่ทำให้ก้าวหน้าต้องเรียกว่าเสียดายมากหรือเสียชาติเกิดจะถูกกว่า
ฉะนั้น แม้ผู้ที่ฝึกมาจนถึงขั้นอัตโนมัติแต่ยังเป็นเสขะบุคคลแล้วไซร้
และหากมีความประมาทเป็นที่ตั้ง ความเป็นอัตโนมัติก็จะหายไปได้ตามกฏแห่งอนิจจัง
ถึงแม้ผู้ฝึกจะไม่ประมาทก็ตามแต่ ความเป็นอัตโนมัติก็ยังหายไปได้เช่นกัน
วันดีคืนดี
ความคิดก็โหมกระหน่ำเหมือนกับคลื่นยักษ์ซูนามิจนทำเอาตั้งตัวไม่ติดได้เช่นกัน
และเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ความเป็นอัตโนมัติจะเหมือนกับอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง คำเตือนสุดท้ายของพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายลึกและสำคัญมากที่สุด
มิเช่นนั้น ท่านจะไม่ย้ำเรื่องความไม่ประมาทจนถึงวินาทีสุดท้าย ฉะนั้น
แม้ผู้ฝึกจะถึงขั้นอัตโนมัติแล้วก็ตาม
ผู้มีปัญญาจะไม่ยอมทิ้งการฝึกสองฐานแรกอย่างเด็ดขาด จะคิดว่า
สามารถนั่งดูความคิดได้อย่างสบาย และไม่ต้องมานั่งหลับตาดูลมหายใจแล้ว
นี่เป็นความคิดที่ประมาทมาก
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนเก่งที่สามารถเห็นการเกิดดับของความคิดที่แสนจะรวดเร็วนั้นเริ่มหายไป
แต่จะเข้าใจว่าจิตนั้นมีกลไกอย่างหนึ่งของมันเอง ที่เมื่อสร้างปัจจัยอันถูกต้อง(คือความมีสติ)ให้แก่มันแล้วไซร้
มันก็จะทำงานของมันเองโดยไม่ต้องมีการสั่งการซึ่งเจ้าของชีวิตก็จะเห็นกลไกนั้นตามธรรมชาติของมันอยู่ตลอดเวลา
การเห็นสภาวะอนัตตาหรือความไม่มีตัวตนจะชัดมากขึ้นตามลำดับ
ทุกคนที่สนใจศาสนาพุทธจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอริยสัจสี่
แต่การรู้เช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า
เพราะเรื่องอริยสัจสี่ไม่ใช่เป็นเรื่องการคิดตามเหมือนความรู้ที่เรียนตามโรงเรียนเพื่อออกมาทำมาหากิน
อริยสัจสี่เป็นเรื่องของการเห็นสภาวะ
ผู้ที่จะเห็นอริยสัจสี่ได้ชัดเจนนั้นจะต้องฝึกมาถึงขั้นที่สามนี้จึงจะสามารถเห็นอริยสัจสี่ได้อย่างแท้จริง
ผู้ฝึกถึงขั้นนี้จะเห็นอริยสัจของทุกข์ที่ละเอียดมากถึงระดับที่ว่าทุกครั้งที่จิตเคลื่อนออกจากความเป็นปกติของมัน
ก็จะเห็นทุกข์
ทุกข์ตัวนี้ไม่ได้หมายความแค่ ความโศรกเศร้าร่ำไรรำพันจนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้
จิตอาจจะเคลื่อนออกไปในลักษณะที่ให้ความรู้สึกที่ดีก็ได้
การเคลื่อนของจิตไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน จะเป็นการเคลื่อนขึ้น(ดี) หรือเคลื่อนลง (ชั่ว
ไม่ดี) ก็ตาม
ผู้ฝึกถึงขั้นนี้จะมีปัญญาบอกว่านั้นคือทุกข์ในความหมายที่ลึกซึ้ง
เมื่อเห็นทุกข์เพราะจิตเคลื่อนแล้วก็จะเห็นอริยสัจข้อที่สองโดยอัตโนมัติ
คือรู้ว่าถ้าไม่เห็นทันมันแล้วไซร้
เจ้าของความคิดนั้นจะถูกพาขึ้นรถไฟของความคิดแน่
การขึ้นรถไฟของความคิดหรือการตามความคิดเป็นอริยสัจข้อที่สอง เพราะถ้าตามไปนาน ๆ
ก็ไม่วายที่จะถูกความคิดหลอกเอา
อริยสัจข้อที่สามคือการที่สามารถลงจากรถไฟของความคิดได้
หรือการสามารถนั่งอยู่บนชานชาลาของสถานีและนั่งดูรถไฟผ่านเข้าออกโดยไม่ต้องขึ้นไปนั่งบนรถไฟ
คือสามารถเห็นสภาวะที่หลุดพ้นจากความคิดซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เมื่อเห็นสภาวะที่หลุดพ้นแล้ว จึงรู้ถึงวิธีการที่จะทำให้หลุดออกมาได้อีก
นั่นคือองค์มรรคซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่สี่ ฉะนั้น
เรื่องของอริยสัจสี่นั้นเป็นเรื่องของประสบการณ์ในจิตใจโดยตรง
ผู้เห็นอริยสัจสี่ในจิตใจตนเองเช่นนี้
ธรรมะก็จะหลั่งไหลออกมาเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคัมภีร์มากนัก
เพราะพระคัมภีร์ที่แท้จริงได้ย้ายมาอยู่ที่จิตที่ใจตนเองแล้ว หากปราศจากการปฏิบัติตามองค์มรรคหรือสติปัฏฐานสี่แล้ว
อริยสัจสี่ก็จะเป็นแค่ตัวหนังสือเท่านั้นเอง
[1] ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกคำสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็นโลกียธรรมและโลกุตระรรม
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมุ่งไปสู่เรื่องเดียวคือการดับทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิง