บทที่สิบเอ็ด

ธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานคืออะไร

 

ในที่สุด ก็มาถึงธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานซึ่งเป็นฐานที่สี่หรือฐานสุดท้ายของการปฏิบัติ ดิฉันมีความสงสัยมานานแล้วว่าฐานที่สี่นี้ควรจะต้องกำหนดอะไรที่แน่นอน ในขณะที่สามฐานแรกนั้น มีตัวกำหนดหรือสิ่งที่ถูกมองที่ชัดเจน นั่นคือ ฐานที่หนึ่งมีลมหายใจ หรือ อิริยาบท เป็นต้น ฐานที่สองก็มีความรู้สึกของร่างกายและจิตใจ ฐานที่สามก็มีตัวความคิดอันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยธาตุรู้หรือวิญญานธาตุ ดิฉันสงสัยเสมอว่าอะไรคือ ”ธรรม” ตัวนั้นที่ต้องกำหนดในฐานที่สี่ ดิฉันเคยถามอาจารย์หลายท่านเกี่ยวกับตัวกำหนดของฐานที่สี่ คำตอบที่ได้นั้นก็ไม่เคยเหมือนกันเลย ส่วนมากกำกวม และ พูดตามตำรามากกว่าจึงไม่ชัดเจนเหมือนกับการชี้แนะของฐานแรก

 

ในบทสติปัฏฐานสูตรนั้น ได้อธิบายธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานว่า คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น ๆ[1] ดิฉันเชื่อมั่นว่าคำพูดเหล่านี้ได้บันทึกอยู่ในพระไตรปิฏกจริง และเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าจริง แต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในเบื้องต้นที่ผู้ปฏิบัติจะทำได้เท่านั้น การปฏิบัติที่แท้จริงนั้นมีอะไรมากมายที่พูดและอธิบายกันไม่ได้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เพราะไม่รู้จะพูดจะเขียนอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงต้องบอกให้คนมาทำดูเอาเอง จะได้รู้เอง เห็นเอง (ปัจจัตตัง) ฉะนั้น ก่อนที่ดิฉันจะพูดอะไรลงไปที่อาจจะดูเหมือนว่าขัดกับพระไตรปิฎกนั้น ขอให้ผู้อ่านทำใจให้ถูกว่าที่จริงแล้ว ดิฉันไม่ได้พูดขัด เพราะถ้าหากผู้อ่านเสียความรู้สึกในจุดนี้แล้ว มันจะเป็นอุปสรรค จิตของผู้อ่านจะสร้างกำแพงขึ้นมาขวางกั้นปัญญาที่อาจจะเกิดได้จากสิ่งที่ดิฉันจะเขียนต่อไป ขอให้เข้าใจว่าดิฉันรักเคารพและบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสุดหัวใจ ปราศจากภูมิปัญญาของท่านแล้ว ชาวโลกจะยังคงอยู่อย่างมืดมนซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ดิฉันพยายามทำอยู่นี้ก็เพื่อให้ชาวโลกสามารถเข้าใจคำสอนของพระบรมศาสดาให้มากขึ้นเท่านั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคนทั้งหลาย 

 

     ฉะนั้น คำอธิบายของธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานดังกล่าวในเบื้องต้นนั้น ดิฉันคิดว่ามันเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น พระพุทธเจ้าจำเป็นที่จะต้องวางแนวทางให้คนคิดตามไปก่อน หากการปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นที่จะเห็นสภาวะที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ฉะนั้น การจะเอาคำพูดเหล่านั้นมาเป็นกฏตายตัวเลยย่อมไม่ได้ จากประสบการณ์การปฏิบัติของดิฉันนั้น   ดิฉันแน่ใจว่าธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานมีอีกขั้นตอนหนึ่งอันไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดเพื่อพิจารณาธรรมเลย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สื่อกันด้วยภาษาไม่ได้ ที่จริงแล้วดิฉันอยากจะบอกว่าเรื่องสติปัฏฐานตั้งแต่ฐานแรกเป็นต้นมานั้นไม่เกี่ยวอะไรกับการคิดใคร่ครวญหัวข้อธรรมเลย การคิดหัวข้อธรรมนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในแง่ที่สร้างครรลองการคิดที่ถูกต้อง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของสุตตะมยปัญญาคือรับรู้ว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างนี้ กับจินตามยปัญญาคือคิดตามครรลองที่พระพุทธเจ้าได้แผ้วถางทางให้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก มิเช่นนั้น การคิดของคนเราจะแตกซ่าน ไร้แก่นสาร ปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนต่อชีวิต การคิดใคร่ครวญธรรมเช่นนี้จะทำได้ดีเมื่อจิตมีสมาธิ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่สอนสมาธิจึงมักบอกให้พิจารณาธรรมเมื่อจิตสงบ ซึ่งดิฉันก็ได้ทำมาแล้วและเห็นว่าการคิดใคร่ครวญธรรมเช่นนั้นไม่ใช่เป็นการภาวนา การภาวนานั้นเป็นเรื่องของการหยั่งธาตุรู้หรือวิญญานธาตุ (knowing nature) ให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกายยาววาหนาศอกนี้เพื่อให้เห็นสภาวะธรรมจริง ๆ โดยไม่ต้องมานั่งคิดใคร่ครวญ  จึงเป็นเรื่องของการมอง การเห็น การเฝ้าดู ฉะนั้น คำพูดที่ว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม ดิฉันคิดว่ามีความถูกต้องมากกว่าเมื่อมาถึงระดับของการภาวนา เพราะเป็นการเห็นล้วน ๆ และถ้าเห็นแล้วการคิดในทำนองใคร่ครวญ (ธรรม) จะไม่เกิด  เมื่อตัวความคิดเองก็ถูกเห็น สายโซ่ของความคิดก็จะถูกทำลายไป จิตจะมีแต่ความเงียบหรือความว่างหรือสูญญตา ดิฉันจึงแน่ใจมากว่า การคิดในทำนองใคร่ครวญจะเกิดไม่ได้หากธาตุรู้เห็นตัวความคิดเสียแล้ว ถึงแม้จะเป็นการใคร่ครวญธรรมก็ตามแต่

 

จุดที่ว่างจากความคิดนี้เองที่ดิฉันเห็นว่ามันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของผู้ปฏิบัติ ที่จริงแล้ว เป็นจุดที่ผู้ฝึกสามารถเห็นสัจธรรมอันสูงสุดได้ แต่เมื่อปราศจากการแนะนำที่ถูกต้อง เมื่อครูผู้สอนสอนตามตำราและไม่ใช่จากประสบการณ์แล้วไซร้ ผู้ฝึกก็จะพลาดเป้าหมายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไปโน้มเอาข้อธรรมมาคิดใคร่ครวญแทนที่จะหยั่งเข้าสู่สภาวะของสุญญตาและเข้าใจสภาวะนั้นให้เด่นชัดมากขึ้น การโน้มเอาข้อธรรมมาคิดนั้นทำให้จิตเคลื่อนออกจากความเป็นประภัสสรแทนที่จะเห็นและหยั่งเข้าสู่ความเป็นประภัสสรนั้นเสียเอง นี่เป็นจุดที่สำคัญมากว่าทำไมผู้รู้ที่แท้จริงเฝ้าบอกให้คนต้องทิ้งตำราซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนบางคน เพราะถ้าหากทิ้งพระคัมภีร์ไม่ลงแล้ว ข้อธรรมต่าง ๆ จะก้องอยู่ในโสตประสาทและละมันไม่ได้จนกลายเป็นอุปสรรคในตัวมันเอง   

 

อะไรคือ”ธรรม”ตัวนั้น

 

ดิฉันจะขอวกกลับมาถามอีกว่า อะไรคือ ธรรม ตัวนั้นที่ต้องกำหนดให้เห็น ผู้ที่ฝึกฐานที่สามจนถึงจุดของความเป็นอัตโนมัตินั้น ผู้ฝึกจะรู้เองว่ามันเหมือนกับว่าหมดเรื่องที่ต้องทำ เพราะเห็นทั้งมรรคและทั้งผล ผลนี้คือตัววิมุตติสุข (นิโรธะ) หลังจากที่ทำลายความคิดปรุงแต่งไปแล้ว เมื่อการปฏิบัติมีมรรคและมีผลแล้ว  เรื่องการเข้าถึงพระนิพพานอย่างสิ้นเชิงจะเป็นเรื่องที่ไหลไปเองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและต้องไปตกทางทิศตะวันตกฉันใด ผู้ปฏิบัติตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์แปดก็จะเดินทางเข้าสู่พระนิพพานเองฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีการเดิน การถึงเป้าหมายก็จะเกิดขึ้นเอง ฉะนั้น การเข้าถึงพระนิพพานนั้นมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติจะทำอะไรได้มากไปกว่าที่กำลังทำอยู่แล้ว นั่นคือเดินไปตามทางที่ควรเดิน ฉะนั้น หลังจากที่ฝึกดูความคิดจนถึงระดับที่ความเป็นอัตโนมัติเกิดขึ้นแล้ว   ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกหรือ

 

วันที่เกิดญาน

 

ความเข้าใจต่อฐานที่สี่นี้เพิ่งมาชัดเจนแก่ดิฉันเมื่อราวปลายปี ๒๕๔๐ ในขณะที่ดิฉันกำลังสอนนักศึกษาในภาคฤดูใบไม้ร่วงอยู่ วันนั้น ดิฉันสอนนักศึกษาชั้นก้าวหน้า advanced class และกำลังติดพันอยู่กับการอธิบายเรื่องสติปัฏฐานสี่โดยที่ดิฉันได้เขียนชื่อของฐานทั้งสี่บนกระดาน ในขณะที่เขียนชื่อของฐานที่สี่อยู่นั้น ดิฉันก็เห็นจิตตนเองว่า มีความไม่มั่นใจ เพราะไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรจึงจะให้นักศึกษาเข้าใจได้อย่างชัดเจน (นี่คือนิสัยส่วนตัวของดิฉัน คือเป็นคนที่ชอบเหตุผลและการอธิบายที่ชัดเจนเสมอ ฉะนั้น สิ่งไหนที่ตัวเองเข้าใจได้ ก็จะพยายามอธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายที่สุด การเข้าใจอะไรได้ดีทะลุปรุโปร่งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นจะสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อธิบายโดยการใช้คำพูดง่าย ๆ แต่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยาก คนไม่รู้จริงจะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ในขณะที่คนรู้จริงจะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย) เพราะดิฉันรู้ว่าตัวเองก็ไม่เข้าใจฐานที่สี่เพียงพอ จึงคิดอยู่ว่าจะต้องบอกความจริงกับนักศึกษาว่าฐานนี้อธิบายมากไม่ได้เพราะไม่รู้จริง ถ้าจะอธิบายก็คงต้องอธิบายไปตามตำรา อย่างไรก็ตาม เมื่อดิฉันเดินออกจากกระดานสักห้าถึงหกก้าวและมองกลับไปในสิ่งที่ตนเองเขียนไว้ ในขณะนั้นเอง ญานหรือความรู้ก็เกิดโพล่งขึ้นมาในจิตและรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน สิ่งที่สว่างโพล่งเข้ามาในจิตในขณะนั้นทำให้ดิฉันสามารถเข้าใจฐานที่สี่ได้อย่างถ่องแท้จนดิฉันต้องอุทานออกมาต่อหน้านักศึกษาเบา ๆ ว่า My god! I know it. และความปีติก็หลั่งไหลออกมาในหัวใจอย่างท่วมท้น เป็นประสบการณ์ที่ดิฉันจะลืมไม่ได้ตลอดชีวิตนี้ และดิฉันถือว่าประสบการณ์นั้นเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ก่อนหน้านั้น ประสบการณ์ของความเป็นอัตโนมัติคือก้าวที่สำคัญที่สุดที่ได้ก้าวถึงแต่ก็เป็นลองลงไปเสียแล้ว ความรู้ที่เกิดในใจของดิฉันในวันนั้นได้ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างอันเนื่องกับการปฏิบัติชัดมากขึ้นทุกวันและสร้างความมั่นใจให้ดิฉันมากพอที่จะเขียนและเล่าสู่กันฟังได้อย่างไม่ประหม่าอีกต่อไป หนังสือเล่มนี้เป็นผลโดยตรงจากประสบการณ์ในวันนั้น

 

ญานคือความรู้

 

 แต่ก่อนอื่น ดิฉันไม่อยากให้คนเข้าใจผิดหรือคิดอะไรมากจนเกินเลยในสิ่งที่ดิฉันรู้ ดิฉันไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จึงขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เมื่อพูดคำว่า ญาน คนส่วนมากมักจะคิดเลยเถิดไปไกลว่าเป็นเรื่องของความอัศจรรย์วิเศษวิโสที่สามารถอ่านใจคนได้หรือระลึกชาติได้ทำนองนั้น ดิฉันไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้นเลย จึงพูดไม่ได้ ญานที่ดิฉันพูดถึงคือ ความรู้ที่ยังคงมาในรูปลักษณะของความคิด แต่เป็นความคิดที่โพล่งเข้ามาในหัวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เป็นความคิดที่เป็นคำตอบในเรื่องที่สงสัยอยู่โดยที่ไม่มีใครบอก จะเรียกว่ารู้เองก็ได้ หรือไม่ก็เป็นความตระหนัก realisation  หรือ ความเข้าใจ understanding อะไรบางอย่าง แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีจุดหมาย บางครั้งเรียกปัญญาก็ได้ ผู้ที่ฝึกสติปัฏฐานจะมีประสบการณ์ของญาน ความรู้ หรือปัญญา มาโดยตลอด จึงสามารถเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น

 

ปัญญาชนล้วนมีประสบการณ์ของญาน

 

 พูดไปแล้ว นี่คือประสบการณ์ที่เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์มีกัน เช่น ชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ อาคีมีดีส Archimedes กำลังอาบน้ำอยู่ในอ่าง จู่ ๆ ก็ได้คำตอบเกี่ยวกับการหาน้ำหนักของวัตถุ คือ น้ำหนักของวัตถุที่จมลงไปในน้ำย่อมเท่ากับขนาดของน้ำที่ถูกวัตถุนั้นแทนที่ เขาจึงร้องขึ้นมาอย่างดีอกดีใจว่า ยูรีก้า ซึ่งแปลว่า ฉันรู้แล้ว และวิ่งออกมานอกบ้านทั้ง ๆ ที่ยังโป๊อยู่ อีกคนหนึ่งคือนิวตัน เขากำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ลูกแอปเปิ้ลตกลงมาลูกหนึ่ง ขนะนั้นเอง เขาก็ได้คำตอบเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก gravity  ประสบการณ์ของคนเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าเขาเกิดญานเช่นกัน คือ รู้เองโดยไม่มีใครบอก เป็นลักษณะการทำงานของจิตที่เกิดขึ้นเอง ปัญญาชนมากมายจะเข้าใจประสบการณ์เช่นนี้ได้ เพราะได้เกิดกับตนเองมาก่อน แต่ญานของคนเหล่านี้เนื่องอยู่กับความรู้ทางโลก ดิฉันจึงไม่อยากให้ผู้อ่านมองดิฉันในลักษณะประหลาดมหัศจรรย์ เพราะไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย นี่เป็นประสบการณ์ธรรมดาที่จะเกิดกับใครก็ได้หากมีเหตุปัจจัยพร้อม เพียงแต่ของดิฉันเป็นประสบการณ์ทางธรรมเท่านั้นเอง

 

เหตุผลที่ต้องการพูดเรื่องของญานวันนั้นเป็นพิเศษเพราะว่า เป็นความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ในขณะที่ปัญญาหรือญานก่อนหน้านั้น เป็นการย้ำสิ่งที่ครูบาอาจารย์หรือพระพุทธเจ้าได้พูดมาแล้วเป็นส่วนมาก คือเข้าใจในแง่เป็นการคิดตามก่อน เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดปัญญาจึงรู้ตาม เป็นต้น ญานที่เกิดในวันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดมาก่อน  แต่ก็เกิดความเข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้อันเนื่องกับฐานที่สี่

 

ญานนั้นทำให้รู้อะไรบ้าง

 

 สิ่งแรกที่รู้และเข้าใจคือ เข้าใจได้ว่า ขั้นตอนของสติปัฏฐานสี่ที่พระพุทธเจ้าเรียงไว้นั้นเป็นความก้าวหน้าตามธรรมชาติของการปฏิบัติจากการรู้เรื่องหยาบ(ง่าย)ไปสู่การรู้เรื่องละเอียด(ยาก) อีกสิ่งหนึ่งที่รู้เองในขณะนั้นคือ เข้าใจในตัวธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานอย่างแท้จริง “ธรรม” ตัวนี้ก็คือ ทุกอย่างนั้นเอง เป็นความหมายที่ชาวพุทธทุกคนรู้ดี แต่ทำยังไงจึงจะให้”ธรรม” ตัวนี้เป็นฐานของการกำหนดนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่ชัดและไม่สามารถเข้าใจได้ก่อนเกิดปรากฏการณ์ ที่จริงแล้ว ประสบการณ์ที่เข้าใจฐานที่สี่นี้เหมือนกับการเข้าใจฐานที่สามหลังจากที่ปลุกปล้ำกับมันมาแล้วหลายปี เหมือนกับว่าจะดูวิวของกรุงเทพ หากกำลังยืนอยู่ตึกชั้นที่สอง ก็เห็นวิวเหมือนกัน แต่ไม่ชัดเท่ากับชั้นสูงขึ้นไป ทุกครั้งที่ขึ้นสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และหันกลับมามองจะเห็นว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง การฝึกสติก็เป็นเช่นนั้น  ตอนที่เริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ ราว ๒๕ ปีก่อนตามการสอนของครูบาอาจารย์ ก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังฝึกสติปัฏฐาน เรียกกันแต่ว่าฝึกสมาธิ แต่ช่วงนั้นก็เริ่มเผชิญหน้ากับความคิดของตนเองแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่านั้นคือเรื่องจิตตานุปัสนาสติปัฏฐานหรือฐานที่สามซึ่งเหมือนกับการดูวิวของกรุงเทพในขณะที่ยืนอยู่บนตึกชั้นที่สอง คือเห็นเหมือนกัน แต่เห็นแบบไม่ชัด ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าถนนไหนต่อกับถนนไหนอย่างชัดเจน มารู้เอาก็เมื่อเวลาผ่านไปราว ๑๐ ปีแล้ว ถึงจุดที่เกิดความเป็นอัตโนมัติขึ้นมาถึงรู้ชัดว่าสิบปีเศษที่ผ่านมานั้นเป็นการปลุกปล้ำอยู่กับฐานที่สามนั่นเอง ซึ่งเปรียบเหมือนว่าได้มายืนอยู่บนตึกชั้นที่สี่หรือที่ห้าแล้ว จึงเริ่มเห็นความชัดเจนของการเชื่อมโยงของถนนแต่ละสาย

 

เปรียบเหมือนกับการลอดช่องแคบและออกมาสู่ทุ่งกว้าง

 

การมาเข้าใจฐานที่สี่ก็เช่นเดียวกับขบวนการเข้าใจฐานที่สาม ในขณะที่กำลังปลุกปล้ำกับฐานที่สามนี่แหละ  ที่จริงก็ได้เห็นสิ่งที่ควรจะเห็นในฐานที่สี่แล้ว แต่เป็นการเห็นที่ไม่ชัดเพราะยังไม่เกิดญานหรือความรู้ที่มาย้ำว่ามันคือสิ่งนั้น เหมือนกับว่าเราเดินไปโรงเรียนทุกวัน ในระหว่างทางนั้น ต้องผ่านบ้าน ๆ หนึ่งอยู่เสมอ แต่บ้านก็ดูธรรมดา ไม่มีอะไรเด่นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเราก็เห็นอยู่ทุกวันที่เดินไปโรงเรียน แต่ก็ไม่เคยให้ความสนใจ เพราะไม่รู้ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร การเห็นลักษณะเช่นนี้คือ เห็นสิ่งที่ควรเห็นอันเนื่องกับฐานที่สี่ แต่ไม่รู้ว่ามันคือสิ่งนั้น และไม่รู้ว่ามันสำคัญอย่างไร

 

 ฐานที่สามกับฐานที่สี่นั้นมันเกี่ยวเนื่องกันชนิดที่พิงกันอยู่  ทุกครั้งที่จิตสามารถหลุดจากความคิดได้นั้นผู้ปฏิบัติจะเห็นความว่างของจิตก่อนที่ความคิดต่อไปจะเข้ามา ความว่างช่วงนั้นแหละคือฐานที่สี่  ซึ่งเป็นผลโดยตรงของฐานที่สาม หากจะเปรียบฐานที่สามเหมือนกับการลอดช่องแคบ ๆ ช่องหนึ่งที่มีความกว้างเพียงพอสำหรับบุคคลคนเดียวเท่านั้น ผู้ลอดต้องเบียดตนเองมาก แต่เมื่อผ่านการเบียดเสียดของช่องแคบออกมาได้แล้ว ก็จะเจอทุ่งโล่งอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาและไม่มีขอบเขต การเบียดเสียดผ่านช่องแคบคือการดูความคิดอันเป็นการปฏิบัติของขั้นที่สาม เมื่อออกจากช่องแคบมาได้ก็จะเจอทุ่งกว้างอันเป็นฐานที่สี่ จะเห็นได้ว่าสองขั้นตอนนี้เป็นอิทัปปัจยตาที่เนื่องกัน เป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน สิ่งหนึ่งพาไปให้ถึงอีกสิ่งหนึ่ง  ทุกครั้งที่จิตหลุดจากความคิดได้ ก็จะเห็นความว่างเสมอ คือเห็นฐานที่สี่เสมอ แต่เป็นการเห็นที่ผู้ปฏิบัติที่ยังเป็นเสขะบุคคลจะมีความรู้สึกกึ่ง ๆ  จะเรียกว่ารู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ คือ เหมือนกับรู้ว่านี่แหละคือความว่างหรืออนัตตาหรือสภาวะที่หมดทุกข์ที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ได้พูดถึง แต่เหมือนกับไม่รู้เพราะยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ชัด เปรียบเหมือนกับที่เดินไปโรงเรียน และเห็นบ้านหลังหนึ่งทุกวัน แต่ด้วยความที่บ้านนั้นดูธรรมดาเหลือเกินจากภายนอก จึงไม่รู้ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร เหตุผลที่ไม่รู้อีกข้อหนึ่งคือ การที่มัวแต่จะจ้องจับความคิดที่กำลังจะเข้ามาอีกจนไม่ทันสังเกตเห็นถึงความว่างที่อยู่ตรงหน้า หากพูดเรื่องการนั่งบนชานชาลาแล้ว จะมัวคอยสังเกตรถไฟที่วิ่งเข้ามาในสถานี และไม่สนใจต่อช่วงเวลาที่สถานีกำลังปลอดรถไฟ

 

จุดนี้เองที่ดิฉันเคยสงสัยต่อคำพูดของครูบาอาจารย์ที่ว่า  เอาความว่างหรือเอานิพพานเป็นอารมณ์ ดิฉันมานั่งนึกด้วยเหตุผลว่าจะเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้อย่างไรหากคนเรายังไม่ถึงนิพพาน หรือไม่เห็นนิพพาน และไม่รู้ว่านิพพานมีหน้าตาอย่างไร ถ้านิพพานเห็นกันได้ง่าย ๆ โลกนี้ไม่เต็มไปด้วยพระอรหันต์ดอกหรือ คำพูดเหล่านี้จึงกำกวมมากและข้ามขั้นตอน บัดนี้ถึงมาเข้าใจด้วยการปฏิบัติว่า การเอาความว่างหรือเอานิพพานเป็นอารมณ์นั้นที่จริงก็คือความหมายเดียวกับธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน  การที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถเอาความว่างหรือนิพพานเป็นอารมณ์ได้นั้น จะต้องผ่านการเบียดเสียดช่องแคบมาก่อน คือ จะต้องผ่านการดูความคิดอันเป็นฐานที่สามซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากและเจ็บปวดมาก่อน เมื่อหลุดจากฐานที่สามแล้วจึงจะสามารถเห็นความว่างหรือนิพพานหรือตัวธรรมที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้อย่างแท้จริง พูดไปแล้ว คนที่เริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ จะโดยวิธีใดก็ตาม หากเป็นคนที่มีสมาธิดี เขาก็สามารถเข้าสู่ความว่างของจิตได้ทันที แต่ยังไม่รู้ว่านั่นคือ ตัวธรรม

     สภาวะที่ว่างจากความคิดหรือธรรมนี่แหละคือตัวเพ่งของฐานที่สี่ซึ่งดิฉันมารู้ได้อย่างแน่ชัดก็เพราะญานที่เกิดขึ้นในวันนั้นนั่นเอง ก่อนหน้านั้น ก็เห็นแต่ไม่รู้ จึงไม่มีการสอนย้ำแต่อย่างใด แต่มาบัดนี้ ดิฉันสามารถสอนเน้นให้กับนักศึกษาได้ชัดมากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ตัวธรรมหรือสภาวะที่ว่างจากความคิดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการเพ่งของฐานที่สี่นี้ ที่จริงแล้วเป็นการเพ่งที่ไม่ต้องเพ่ง เป็นการทำที่ไม่ต้องทำอะไร เป็นการเดินที่ไม่ต้องเดิน เพราะเป็นสภาวะที่อยู่กับธรรมอยู่กับความว่างหรืออยู่กับนิพพานแล้ว เป็นสภาวะที่ความรู้สึกแห่งความมีตัวตนหายไปแล้ว จึงไม่มีผู้เดิน ผู้ทำ ผู้เพ่งแต่อย่างใด แต่ยังต้องรู้ในลักษณะของอารมณ์แห่งการเพ่งในขณะที่ผู้ปฏิบัติยังเป็นเสขะบุคคลอยู่  ต่อเมื่อเป็นอเสขะบุคคลแล้วนั่นแหละ ความว่างหรือนิพพานหรือธรรมตัวเดียวกันนั้นจึงจะกลายเป็นธรรมชาติอย่างถาวรและไม่ต้องเป็นฐานแห่งการเพ่งหรือวิปัสนาอีกต่อไป

 

 

พระศาสดาที่สาวกควรภูมิใจยิ่ง

 

มาถึงจุดนี้ดิฉันจึงเข้าใจและซาบซึ้งในความหลักแหลมและความเป็นอัจฉริยะของพระพุทธเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจและมีความภูมิใจในองค์พระศาสดาของชาวพุทธเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านสามารถวางขั้นตอนการปฏิบัติให้สาวกของท่านได้รู้ตามอย่างถี่ยิบจริง ๆ เพราะที่จริงแล้ว ท่านจะละฐานที่สี่ออกไปเสียก็ได้ เพราะเมื่อใครทำฐานที่สามได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันจนถึงขั้นอัตโนมัติแล้ว ผู้นั้นก็จะเห็นความว่างหรือพระนิพพานเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องวางหลักเกณฑ์ของฐานที่สี่เลย แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทำ เพราะหากผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงความเป็นอเสขะบุคคลแล้วไซร้ หน้าที่ที่จะต้องทำกับตนเองเพื่อการหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงยังไม่หมด ท่านจึงเขียนแผนที่ชีวิตต่อออกไปอีกและมีความถี่ยิบมากขึ้น พระพุทธองค์ต้องการให้แน่ใจว่า หากใครยังไม่หลุดพ้นอย่างแท้จริงละก็ จะหยุดการปฏิบัติไม่ได้เด็ดขาด ท่านไม่ต้องการให้สาวกของท่านมีความประมาท ถึงแม้ว่าการปฏิบัติได้มาถึงขั้นตอนที่เหมือนกับว่าไม่ต้องเดินก็ตามคือเมื่อถึงจุดอัตโนมัติแล้ว ท่านจึงได้วางกฏเกณฑ์ของฐานที่สี่ลงไป

 

  ดังที่ดิฉันได้บอกแล้วว่า สติปัฏฐานสี่เป็นความก้าวหน้าตามธรรมชาติ ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกดูความคิดหรือปลุกปล้ำกับฐานที่สามนั้น  จู่ ๆ จะมาเอาความว่างหรือเอานิพพานเป็นอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถึงแม้ผู้ฝึกจะเห็นความว่างหรือพระนิพพานแต่เป็นการเห็นแบบไม่ชัดและไม่แน่ใจว่ามันคือธรรมตัวนั้น เมื่อไม่ชัดและไม่แน่ใจแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติสร้างความว่างอันธพาลขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย คือมานั่งคิดแบบสุ่มสี่สุ่มห้าว่าตัวเองกำลังว่างอยู่ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งผู้สอนและผู้ปฏิบัติต้องระวังให้ดี การสอนธรรมะในระดับนี้ไม่สามารถสอนแบบเหวี่ยงร่างแหได้ เพราะความสามารถของคนแตกต่างกันมาก ครูผู้สอนต้องเข้าใจถึงระดับจิตของผู้ปฏิบัติ และให้คำแนะนำที่ถูกขั้นตอน การสอนสมาธิในวัฒนธรรมของชาวพุทธนั้น ครูจึงต้องมีการสอบอารมณ์ลูกศิษย์ แต่การสอบอารมณ์สมัยนี้ก็ทำกันเป็นประเพณีจนไม่มีอะไรชัด เช่น ต้องให้รู้ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม นั้น บางครั้งทั้งครูทั้งศิษย์ก็ไม่แน่ใจทั้งคู่ แต่ทำไปตามประเพณี

 

เปรียบเหมือนการต่อภาพต่อของชีวิต

 

  ข้อเปรียบเทียบที่ชัดอีกอันหนึ่งคือ เปรียบทุกสิ่ง (ธรรม) ตั้งแต่นามธรรมที่เป็นความคิดของคนเรารวมทุกอย่างในสากลจักรวาลเป็นภาพต่อแต่ละชิ้น ฝรั่งเรียก jigsaw puzzle การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหมายถึงสภาวะที่ท่านสามารถนำภาพต่อทุกตัวของจักรวาลมาใส่เข้าที่ได้จนได้ภาพรวมชัดและรู้ว่าจุดยืนของมนุษย์อยู่ที่ไหนแน่นอนในสากลจักรวาลนี้ อันนี้พูดให้กับคนในโลกนี้ฟังในฐานะที่บางคนยังไม่เชื่อเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ที่จริงแล้วญานของพระพุทธเจ้าไปไกลกว่านั้นมากนัก เพราะท่านสามารถเห็นเรื่องสังสารวัฏที่สัตว์ทั้งหลายต้องวนเวียนอยู่ การตรัสรู้ของท่านคือการเห็นที่สุดของสังสารวัฏนี้ ผู้ที่ไม่ได้ฝึกสมาธิเลยและไม่รู้เรื่องพระนิพพานว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตแล้ว เปรียบเหมือนกับยืนอยู่ในท่ามกลางตัวต่อของชีวิตกองมหึมา จะต่อได้ก็แต่มุมเล็ก ๆ เช่นเรื่องทำมาหากินหรือแสวงหาความรู้แบบโลก ๆ  แต่จะต่อไม่ได้มากกว่านั้น  ชีวิตจึงสับสนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเป็นอาการของคนที่ไม่รู้เรื่องเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อมาเริ่มสนใจศาสนาพุทธและฝึกสติปัฏฐานแล้ว ก็จะสามารถเริ่มเอาตัวต่อของชีวิตแต่ละตัวมาใส่เข้าที่ของมันได้อย่างถูกต้องและเหมาะเจาะ คือ สามารถเชื่อมโยงได้ว่าชีวิตมีเป้าหมายอะไรและควรเดินอย่างไร  และเริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อฝึกมาจนถึงฐานที่สาม ความสามารถในการต่อตัวต่อของชีวิตก็มีมากขึ้นทุกที

 

 ขบวนการของการต่อตัวต่อนั้น ๑) เริ่มจากเห็นตัวต่อที่อยู่ตรงหน้า แต่ไม่รู้ว่าอันไหนควรไปที่ไหน คือ เป็นการเห็นแบบผ่าน ๆ ไม่เน้นอะไร ขั้นตอนนี้เหมือนกับเห็นบ้านธรรมดาหลังหนึ่งทุกครั้งที่เดินไปโรงเรียน เห็นเฉย ๆ แต่ไม่ได้สนใจอะไร เหมือนกับเห็นสภาวะแห่งพระนิพพานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจอะไรมากเพราะมันธรรมดาเหลือเกิน คนที่เริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ ก็เห็นได้ แต่เป็นการเห็นแบบไม่มีความหมายอะไรมาก   ๒) เมื่อมีคนมาแนะว่า หยิบตัวต่อตัวนี้ขึ้นมาสิ เพราะมันเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวกุญแจที่จะทำให้ภาพชัดได้ทั้งหมด เราจึงหยิบตัวต่อตัวนั้นขึ้นมาพิจารณาเพื่อดูหน้าตาให้ชัดว่ามันมีหน้าตาอย่างไรก่อน เพื่อว่าจะได้หาที่ลงให้มันได้อย่างถูกต้อง เปรียบเหมือนกับมีคนมาบอกว่า ขอให้สังเกตบ้านธรรมดาที่เดินผ่านทุกวันให้ดีนะ ที่จริงมันมีความสำคัญไม่น้อยเพราะมีขุมทรัพย์อยู่ในบ้าน เราจึงเริ่มสังเกตดูบ้านธรรมดานั้นมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้น เห็นแต่ไม่สนใจ แต่ตอนนี้เริ่มสนใจแล้ว ซึ่งเหมือนกับเริ่มเห็นสภาวะแห่งความว่างหรือพระนิพพานชัดมากขึ้นทุกครั้งที่ความคิดหายไป การฝึกฐานที่สามจนสังเกตเห็นสภาวะแห่งความว่างหรืออนัตตานั้นเท่ากับพบตัวต่อที่สำคัญชิ้นหนึ่งของชีวิต ผู้ฝึกจะถือตัวต่อชิ้นนี้อยู่ในมืออยู่ช่วงหนึ่ง  เหมือนกับเริ่มสังเกตเห็นช่องว่างระหว่างรถไฟสองขบวนอย่างชัดเจนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเห็นความเป็นอนัตตาหรือพระนิพพาน แต่ก็ยังเป็นการเห็นที่อยู่ในลักษณะกึ่ง ๆ จะว่ารู้ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่รู้ก็ไม่เชิง เพราะเห็นแล้วว่าอนัตตามันเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้เพราะยังหาที่ลงให้กับตัวต่อนี้ไม่ได้ ฉะนั้น การเห็นในขั้นตอนนี้จะชัดมากกว่าขั้นตอนแรก แต่ก็ยังไม่ชัดถึงที่สุดเพราะยังหาที่ลงให้ตัวต่อนี้ไม่ได้

๓) เมื่อพิจารณารูปลักษณะของตัวต่อที่สำคัญนั้นแล้ว งานยังไม่หมดเพราะต้องพยายามหาตำแหน่งแห่งที่อันถูกต้องให้กับมัน คือควรจะเอาตัวต่อนั้นวางลงที่ไหนจึงจะเหมาะเจาะและถูกที่ วันที่เกิดญานนั้นแหละคือวันที่ดิฉันสามารถหาที่ลงให้กับตัวต่อที่สำคัญตัวนี้ได้ ตัวต่อตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายตรงกลางสุดที่ทำให้ภาพของจักรวาลทั้งหมดชัดเจนจนสามารถรู้จุดยืนของตนเองอย่างแน่ชัดไม่สงสัยอีกต่อไป สามารถจะพูดประสานชีวิตในส่วนละเอียดกับส่วนกว้างได้อย่างไม่หลงทาง  ผู้ที่เกิดญานนี้จะไม่สงสัยในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จะรู้ว่าสังสารวัฏนี้มีแน่ หากยังไม่หมดกรรมแล้วละก็ การเกิดต้องมีอีกอย่างไม่ต้องสงสัย ขั้นตอนนี้เปรียบเหมือนกับว่าเมื่อได้เริ่มสังเกตเห็นบ้านธรรมดาหลังนั้นแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่เดินเข้าไปในบ้านหลังนั้นเพื่อดูให้ชัดว่ามันสำคัญอย่างไร ต่อเมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้วจึงพบขุมทรัพย์กองเต็มอยู่ในบ้านฉันใดก็ฉันนั้น

 

ดิฉันไม่คิดว่าขั้นตอนนี้จะสอนกันได้ ญานนี้จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดเองกับผู้ปฏิบัติ อย่างน้อยการพูดถึงเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการบอกทางว่า นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติหากผู้ปฏิบัติทำไปตามขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าวางไว้ในหลักแห่งสติปัฏฐานสี่

 

อิสระจากพระคัมภีร์

 

หากผู้ปฏบัติถึงขั้นที่เห็นพระนิพพานหรืออนัตตาหรือสภาวะที่ว่างจากความคิดได้ซึ่งเปรียบได้กับการถือตัวต่อที่สำคัญตัวนี้ได้และกำลังพิจารณามันอย่างถี่ถ้วน แต่ไม่สามารถหาที่ลงให้กับมันได้คือญานยังไม่เกิด และเสขะบุคคลนั้นเป็นครูบาอาจารย์หรือเป็นผู้สอนศาสนาพุทธแล้วไซร้ จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ยังไม่สามารถเป็นอิสระจากพระคัมภีร์ได้อย่างสิ้นเชิง ยังต้องอ้างคำสอนจากพระไตรปิฏกและพูดเรื่องหัวข้อธรรมต่าง ๆ อย่างแยกแยะและอาจจะแตกซ่าน ยังไม่สามารถเห็นโครงสร้างหรือความกลมกลืนของข้อธรรมทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้ หากพูดเรื่องการปฏิบัติแล้วไซร้ ผู้สอนก็สามารถสอนได้เท่าที่ตนเองรู้เห็น  จะพูดในส่วนรายละเอียดที่ตนเองทำอยู่เสียมากกว่า และจะไม่เห็นโครงสร้างใหญ่ที่ต่อเนื่องจากส่วนละเอียดนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดกับตัวดิฉันเอง จนกระทั่งถึงวันที่เกิดญาน ความชัดเจนต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นและชัดมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป

 

ควรบริกรรมหรือไม่

 

จุดนี้เองจะขอวกกลับมาพูดเรื่องการฝึกฐานที่หนึ่งที่ได้ติดเอาไว้ การเข้าใจฐานที่สี่อย่างถ่องแท้นี้ทำให้รู้ว่า การบริกรรมในฐานที่หนึ่งนั้นอาจจะเป็นเครื่องถ่วงที่ทำให้การปฏิบัติล่าช้าก็ได้ ทุกครั้งที่บริกรรมไม่ว่าจะเป็นการคิดในใจหรือเปล่งเสียงออกมา เสียงที่เปล่งออกมาเป็นผลโดยตรงของความคิด เหตุผลคือ ฐานที่สามนั้นเป็นเรื่องการทำลายความคิด หรือเสียงที่กระหึ่มอยู่ในใจนั้นเอง พอหยุดเสียงในใจได้ ก็จะเห็นฐานที่สี่ ฐานที่สี่จะไม่เห็นร่องรอยของความคิดหรือเสียงอะไรทั้งสิ้น ความเงียบกับเสียงนั้นไม่สามารถนั่งที่เดียวกันได้เหมือนกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี ถ้าความเงียบได้ที่นั่ง เสียงจะนั่งไม่ได้ ถ้าเสียงได้เก้าอี้ ความเงียบจะหายไป แม้จะเป็นเพียงเสียงค่อย ๆ ก็ตามแต่ เมื่อเกิดแล้วความเงียบจะหายไปทันที ความเงียบ (ว่าง) ของจิตซึ่งเป็นฐานที่สี่นั้นจะเกิดได้ก็เพราะความคิดทุกความคิดหายไป   ฉะนั้น ถึงแม้ว่าการบริกรรมพุทธโธหรือบยุบหนอ พองหนอ ซึ่งไม่ใช่ความคิดเลวร้ายแต่อย่างใด แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความเงียบของจิตหายไป เป็นการสร้างความคิดขึ้นมาทับจิตที่เงียบหรือสร้างสิ่งกีดขวางให้กับจิตที่ว่าง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเห็นฐานที่สี่ นี่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถเข้าถึงสภาวะธรรมที่เป็นอพยากฤตหรือพระนิพพานได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเลี้ยวผิดก็จะพลาดไปเลย และจะติดวนอยู่อีกนาน ออกได้ยาก ครูที่เห็นและเข้าใจฐานที่สี่อย่างแท้จริงแล้ว จะไม่สนับสนุนการฝึกฐานที่หนึ่งโดยวิธีการบริกรรม เพราะจะทำให้เชื่องช้าต่อความก้าวหน้า แต่ดิฉันไม่ได้พูดว่าการบริกรรมเป็นสิ่งที่ผิด เพราะจริตนิสัยของคนบางคนต้องบริกรรมจึงจะทำได้ดี มิเช่นนั้น จิตจะฟุ้งไปกับความคิดได้ง่าย แต่นี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกที่จิตยังเปลียวหรือยังดิ้นเหมือนลิงอยู่  ในความเห็นของดิฉันนั้น เห็นว่าการฝึกสติแบบดูเฉย ๆ เช่นดูลมหายใจเฉย ๆ ดูการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เฉย ๆ โดยไม่ต้องคิดคำบริกรรมหรือท่องคำบริกรรมออกมาดัง ๆ จะทำให้ก้าวหน้าได้เร็วกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของผู้ฝึกแต่ละคน ที่สำคัญคือ ครูที่สอนต้องสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าได้ ดังที่ได้บอกแล้วว่า สติปัฏฐานสี่เป็นความก้าวหน้าตามธรรมชาติ ฉะนั้น ถ้าเดินถูกทางแล้ว ความก้าวหน้าจะเกิดเอง ถ้าความก้าวหน้าไม่เกิด ผู้ปฏิบัติต้องสำรวจทั้งตนเองและครูผู้สอน

 

 

 เมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าสถานีพระนิพพานอยู่ที่นี่เอง

 

กลับมาเรื่องการสมมุติของเรื่องการนั่งดูรถไฟบนชานชาลาที่พูดมาแล้วแต่ต้น ฐานที่สามคือการสามารถเห็นรถไฟที่ผ่านเข้าออกจากสถานีโดยที่ตนเองไม่ต้องขึ้นไปนั่งบนรถไฟด้วย ฐานที่สี่ที่จริงแล้วคือ การเห็นสถานีรถไฟในช่วงที่ยังไม่มีรถไฟเข้าออกนั่นเอง คือช่วงที่สถานีว่างจากรถไฟซึ่งอาจจะเป็นช่วงสั้นมากก็ได้ แต่ความไวของสติที่ฝึกมาจะทำให้สังเกตเห็น นี่คือสภาวะของพระนิพพานหรือความว่างจากความมีตัวตน ซึ่งผู้นั่งบนชานชาลาก็เห็น ๆ อยู่ในขณะที่สังเกตการเข้าออกของรถไฟอยู่ ความชัดเจนหรือญานจะมาเกิดเมื่อผู้นั่งบนชานชาลาได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่เดินผ่านมาว่า หากจะไปสถานีพระนิพพานนั้นควรขึ้นสายไหนและลงที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็บอกสำทับว่า ถ้าจะไปสถานีพระนิพพานละก็ไม่ต้องขึ้นลงสายไหนให้เสียเวลา เพราะสถานีนี้แหละคือสถานีพระนิพพาน ผู้นั่งบนชานชาลาจึงรู้ว่า อ๋อ ก็สถานีบ้านเรานี่เองคือสถานีพระนิพพาน นั่งอยู่ซะนานเพิ่งจะมารู้ชัดเดี๋ยวนี้เอง  พระนิพพานก็อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง เปรียบเสมือนบ้านที่เราได้อยู่และได้รับประโยชน์จากมันมานาน แต่เราไม่รู้ การเกิดญานก็คือเกิดปัญญาที่มาย้ำความชัดเจนของสิ่งที่มีอยู่เห็นอยู่แล้ว เมื่อเกิดการย้ำเช่นนั้น ทุกอย่างก็จะชัดมากขึ้น  

 

ญานที่เกิดขึ้นกับดิฉันในวันนั้นมาย้ำความชัดเจนของสิ่งที่ได้เห็นมาก่อนหน้าแล้ว ถึงมาตระหนักชัดว่าดิฉันได้ถือภาพตัวต่อที่สำคัญตัวนี้อยู่ในมือถึง ๒๓ ปี คือได้เห็นสภาวะของความว่างหรือพระนิพพานตั้งแต่เริ่มไปสวนโมกข์ในตอนที่เป็นนักศึกษาแล้ว แต่ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้นั่นแหละ ดิฉันก็ได้รับประโยชน์จากมันแล้ว  และดิฉันก็ถือภาพต่อนั้นเรื่อยมาจนถึงวันที่เกิดญานคือวันที่สามารถวางตัวต่อนี้ลงในที่อันถูกต้องของมันได้  ถึงมาเข้าใจอย่างแน่ชัดว่าแท้ที่จริง ธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน คือ  ตัวสภาวะที่ว่างและหลุดพ้นจากการครอบงำของความคิดหรือสังขารนั่นเอง เป็นสภาวะแห่งความไม่มีตัวตนหรือพระนิพพาน เป็นการเห็นด้วยสติที่เต็มเปี่ยม และรู้ชัดว่านี่คือสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาตินั่นเอง เป็นสภาวะที่แม้พระพุทธเจ้าเองก็ไม่มีคำพูดจะอธิบาย

 

หากผู้อ่านต้องการทราบอย่างเด่นชัดว่า ธรรม อันเป็นตัวเพ่งของฐานที่สี่นี้มีหน้าตาอย่างไร ขอให้วกกลับไปอ่านบทที่สามและที่สี่ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ในสองบทนี้ดิฉันได้พยายามอธิบายถึงสภาวะแห่งพระนิพพานและสภาวะของสัจธรรมอันสูงสุดไว้อย่างเด่นชัด หากผู้อ่านเข้าใจได้แล้วละก็ สิ่งนั้นแหละคือ ตัวธรรม อันเป็นตัวเพ่งของฐานที่สี่ ซึ่งเพ่งอย่างไม่ต้องเพ่ง เห็นอย่างไม่ต้องเห็น หรือ เดินอย่างไม่ต้องเดิน ในขณะนั้น ตัวเราได้กลายเป็นเพียงภาพหนึ่งอันเป็นส่วนประกอบย่อยของภาพทั้งหมดในจักรวาล สิ่งสำคัญคือ ต้องอย่าลืมเรื่องเส้นผมบังภูเขา

 

คิดอย่างไม่มีหลัก จะหลงทางและสร้างหายนะภัย

 

เรื่องจิตว่างนี้เป็นจุดที่นักการศึกษาไม่เข้าใจและสับสนมากที่สุดเพราะกลัวว่าเมื่อความคิดไม่มีก็เหมือนกับเป็นหัวผักกาดทำนองนั้น โดยเฉพาะชาวตะวันตกจะกลัวมากต่อคำว่า emptiness และไม่เข้าใจว่าจะไปนิพพานกันทำไมหากมีแต่ความว่าง ในขณะที่กำลังพูดเรื่องการขึ้นรถไฟของความคิดนั้น จึงถือโอกาสพูดเรื่องการใช้ความคิด ซึ่งคนส่วนมากมักจะสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นเหมือนกับคนไม่มีสมองหรือยังไง คนที่ไม่เคยฝึกสติปัฏฐานและไม่รู้เรื่องเป้าหมายของชีวิตเลยนั้น การใช้ความคิดของเขานั้นเปรียบเหมือนกับการยืนอยู่บนชานชาลาของสถานีแล้ว แต่ไม่รู้ไม่สนใจอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้นนอกจากการจับรถไฟและขึ้นรถไฟอย่างเดียว  เขาจะไม่สนใจว่านี่คือสถานีอะไร ตนเองจะขึ้นรถขบวนอะไรเพื่อจะไปลงที่ไหน คำถามหลัก ๆ เหล่านี้ไม่เคยถาม รู้อยู่อย่างเดียวว่า รถไฟมาเมื่อไหร่ ก็จะขึ้นเมื่อนั้น ฉะนั้น ทุกครั้งที่รถไฟเข้าสถานี คน ๆ นั้นก็จะรีบวิ่งขึ้นรถไฟทันที และก็นั่งไปเรื่อยจนสุดทางของมัน เมื่อลงจากขบวนหนึ่งแล้วก็ขึ้นอีกขบวนหนึ่งเป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป ไม่เคยหยุดดูอย่างอื่น หรือ ถามสิ่งที่ควรถาม

 

นี่คือลักษณะของคนส่วนมากในโลกนี้ที่ไม่รู้เรื่องเป้าหมายของชีวิตเลย เขาไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไรและมีหน้าที่ต่อชีวิตอย่างไร จะใช้ชีวิตไปตามครรลองที่สังคมปูทางให้คือหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้น เขาจะตามความคิดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นนักศึกษาแล้ว จะยิ่งตามความคิดเก่งมาก ความรู้อะไรที่ตนเองอยากรู้ก็จะคิดอยู่แต่เรื่องนั้นและจะคิดลึกเจาะลึกเข้าไปเรื่อย ๆ  ที่จริงโดยธรรมชาติของความคิดและการใช้ความคิดนั้นเป็นสิ่งที่พัฒนาไปได้เรื่อยๆ แต่ต้องเข้าใจคำว่า “พัฒนา” ให้ดี มันแปลว่า ทำให้ดีขึ้น ความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบันนี้เป็นการพัฒนาหรือทำให้ดีขึ้นอันเนื่องกับวัตถุและเทคโนโลยี่ คือ วัตถุกับเทคโนโลยี่สมัยนี้ดีขึ้นแน่ และดีขึ้นเพราะการสามารถเจาะลึกเข้าไปในความคิด แต่ยังไม่ดีถึงที่สุดเพราะในที่สุด คนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความรู้เหล่านั้นมันเกี่ยวข้องกับชีวิตในแง่ที่จะแก้ทุกข์ตนเองได้อย่างไร  นี่คือความตีบตันของการตามความคิด

 

ความคิดและการใช้ความคิดนั้นเป็นนามธรรมอย่างมากที่สุด ถ้าไม่รู้เป้าหมายของชีวิตและไม่มีความรู้เรื่องสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานแล้วไซร้ การคิดจะไม่มีหลักและจะหลงทางได้ง่ายที่สุด แต่หลงในลักษณะที่ตนเองก็ไม่รู้ว่าหลง นี่แหละคือความร้ายกาจของอวิชชา การศึกษาในแผนปัจจุบันของโลกส่วนใหญ่ที่มุ่งเสริมเรื่องการทำมาหากินและพัฒนาให้วัตถุเจริญนั้นเป็นเรื่องการคิดที่หลงทางทั้งสิ้น นักการศึกษาสามารถพูดได้เก่งและคล่องเหมือนกับรู้อะไรต่ออะไรหมด แต่ที่จริงแล้วเขาไม่รู้อะไรเลย เขาสามารถเชื่อมต่อภาพอันเป็นกระจุกเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอันเป็นเรื่องทำมาหากินและความรู้ทางโลกเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่โครงสร้างใหญ่ของชีวิตจะไม่รู้เลย คือไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เป้าหมายอันสูงสุดคืออะไร 

 

ที่สำคัญคือ เขาไม่สามารถจะหยุดคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดต่อ นี่คืออันตรายของการศึกษาฝ่ายโลกที่ยังขาดองค์คุณของศีล สมาธิ ปัญญา ความวุ่นวายของโลกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหยุดคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด เมื่อหยุดไม่ได้ เขาจึงแปรความคิดออกเป็นรูปธรรมและกลายเป็นอาวุธเข่นฆ่ากันเอง หากนักชีวะวิทยาไม่สามารถหยุดความคิดในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ในห้องทดลองของเขาได้แล้ว การค้นพบการทำงานของDNAอย่างเดียวสามารถที่จะสร้างหายนะแก่มวลมนุษยชาติได้  ปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ไขได้เลยหากไม่นำเรื่องเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตเข้ามาสู่ระบบการศึกษาของโลก

 

พระพุทธเจ้าก็เป็นนักคิด

 

ผู้ที่รู้เป้าหมายของชีวิตและฝึกสติปัฏฐานแล้วนั้น ไม่ใช่ว่าจะคิดไม่เป็นเลย แต่จะสามารถคิดอย่างเป็นระบบได้เก่งกว่า และคิดได้ดีกว่าเพราะรู้เป้าหมายของการคิด เมื่อหันกลับมาดูพระพุทธเจ้าแล้ว จะเห็นว่าท่านมีจิตว่างก็จริง แต่ท่านสามารถสร้างระบบความคิดที่เป็นระเบียบที่สุดที่ศาสดาพระองค์อื่นไม่สามารถทำได้มาก่อน สิ่งที่ท่านต้องการให้คนเห็นตามนั้น ที่จริงแล้วมีเพียงสิ่งเดียวคือสภาวะแห่งพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุด แต่ท่านรู้ว่ามันยาก ท่านจึงออกมาวางแผนการโดยการเขียนแผนที่อย่างเป็นระบบและละเอียดเพื่อให้คนเข้าไปถึงสระน้ำอมฤตนั้นจนได้ จากเรื่องเดียว ท่านสามารถแบ่งแยกข้อธรรมออกถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อรองรับความสามารถที่ต่างระดับกันของมนุษย์  ฉะนั้น การรู้เป้าหมายของชีวิตและการฝึกสติปัฏฐานนั้น ที่จริงทำให้คนใช้ความคิดได้อย่างมีหลักและมีกฏเกณฑ์ สามารถคิดไกลหรือใกล้ก็ได้ จะคิดสั้นหรือคิดลึกก็ได้ จะไม่เสียหลักในการคิดและจะไม่หลงทาง   เมื่อผู้ขึ้นรถไฟรู้แน่ชัดว่าสถานีบ้านของตนหรือสถานีพระนิพพานอยู่ตรงนี้แล้ว  ต่อไปนี้หากเขาจะขึ้นรถไฟขบวนไหนเพื่อไปเที่ยวหรือทำธุระอะไร เขาก็สามารถไปได้โดยไม่ต้องกลัวหลงทาง ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟขบวนไหน เขาก็สามารถกลับมาสถานีบ้านของตนได้ถูกอีกเสมอไป  คนที่ฝึกสติปัฏฐานแล้ว เมื่อคิดก็คิดได้ลึกและเป็นระบบ เมื่อหยุดคิดก็หยุดได้ทันที สามารถกลับบ้านหรือกลับสู่ฐานที่ปลอดภัยได้ ฐานนั้นคือพระนิพพานหรือความว่างของจิต นี่เป็นความสามารถที่คนธรรมดาไม่มี จิตจึงวุ่นและทุกข์

 

อายตนะนั้นมีอยู่

 

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ.เชตวันมหาวิหารของท่านอนาถปิณฑกเศรษฐี ท่านได้เปล่งอุทานเพื่อให้ภิกษุผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลายได้ฟังว่า

 

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะนั้น ไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า ไม่ใช่พระจันทร์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ ไม่ใช่การมา ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การตั้งอยู่ ไม่ใช่การจุติ ไม่ใช่การเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความเป็นไป ไม่ใช่อารมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นคือ ที่สุดแห่งทุกข์”  

 

สภาวะนี้แหละคือตัวธรรมที่เป็นกลาง ๆ หรืออพยากฤต neutral state in nature ความว่าง พระนิพพาน การสิ้นทุกข์ สัจธรรมอันสูงสุด พระเจ้า เต๋า สุดแล้วแต่จะเรียกว่าอะไร เพราะชื่อเหล่านั้นไม่ใช่เป็นตัวสภาวะที่แท้จริงแต่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดยสมมุติเท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังยอมแพ้ต่อสภาวะที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้นี้ ได้แต่บอกอ้อม ๆ ว่ามันไม่ใช่โน่นและไม่ใช่นี่นะ 

 

อย่างไรก็ตาม สภาวะที่พระพุทธเจ้าพยายามอธิบายนี้แหละคือ ตัวธรรมอันเป็นวัตถุแห่งการเพ่งของฐานที่สี่  ในคำพูดเหล่านั้นดิฉันเคยสงสัยว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงใช้คำว่า “อายตนะนั้น”  ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ดิฉันก็เพิ่งมาเข้าใจในช่วงหลังนี่เอง และเห็นว่าเป็นคำที่ถูกต้องที่สุด สัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานนั้นเป็นสภาวะที่ไม่อาจสัมผัสด้วยหกอายตนะอย่างแบ่งแยกได้ แต่จะเป็น”อายตนะเดียว” ที่กลมกลืนที่ไม่มีทั้งผู้มองและผู้ถูกมอง และไม่มีการบอกว่าสัมผัสด้วยอายตนะไหน ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสัมผัสด้วย “อายตนะเดียว” นั้น สำหรับเสขะบุคคลแล้ว สภาวะที่พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานนั้นแหละคือ จุดกำหนดของฐานที่สี่ หรือ ธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นฐานเดียวที่สามารถสัมผัสทุกอย่าง หรือ ธรรม ได้อย่างแท้จริง

 

 นิโรธสมาบัติ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันมาเข้าใจคือคำว่า นิโรธสมาบัติ หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสมาบัติที่สามารถดับทั้งสัญญาและเวทนา เป็นสมาบัติในขั้นสูงสุดที่ดิฉันเคยคิดเสมอว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดิฉันเลย อ่านชื่อแล้วเห็นว่ายากและไม่เข้าใจจึงไม่เคยไปสนใจ และคิดว่าชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีวันสามารถทำสมาบัติในระดับสูงสุดนั้นได้   หากคิดก็คิดตามที่เคยอ่านพบตามที่เกจิอาจารย์บางท่านได้ถ่ายทอดเอาไว้ว่าเป็นสภาวะของการนั่งหลับตาและจิตถอดร่างไปเที่ยวโน่นนี่ได้หลายวันแล้วค่อยกลับมาเข้าร่าง โดยการสั่งให้ลูกศิษย์เฝ้าร่างกายนี้ไว้ อย่านำไปเผาด้วยความเข้าใจผิดว่าตายแล้ว เพราะเมื่อวิญญานกลับมาจะไม่มีร่างเข้าทำนองนั้น ในพระไตรปิฏกก็มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติเช่นกัน ดิฉันไม่สามารถพูดและอธิบายอะไรได้มากไปกว่าที่ตนเองรู้และเข้าใจ นิโรธสมาบัติอาจจะมีอะไรมากกว่าที่ดิฉันเข้าใจในบัดนี้ก็ได้ ความเข้าใจของดิฉันขณะนี้เห็นว่า การเข้านิโรธสมาบัติไม่ใช่เป็นเรื่องหลับตาและวิญญานถอดร่าง สัญญาเวทยิตนิโรธกับธรรมานุปัสนาสติปัฏฐานนั้น ที่จริงแล้วน่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน นี่เป็นสภาวะที่สังขารหรือการปรุงแต่งหมดลง ฉะนั้น ความคิดและความทรงจำ(สัญญา)ในเรื่องต่าง ๆ ก็หมดลงด้วยเช่นกัน ผู้ที่กำลังเพ่งเอานิพพานเป็นอารมณ์นั้น สัญญาคือความทรงจำจะหมดลงในช่วงนั้น ๆ เวทนาทางจิตเป็นสิ่งที่ไม่มีแล้วเมื่อจิตเข้าถึงความว่างและมีนิพพานเป็นอารมณ์ สิ่งที่ดิฉันยังไม่แน่ใจคือ นิโรธสมาบัติหมายรวมถึงการหมดเวทนา (ความรู้สึก) ทางกายด้วยหรือไม่ ถ้าไม่รวมการหมดเวทนาทางกายแล้วไซร้[2] นิโรธสมาบัติกับธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน สภาวะนั่นแหละที่ดิฉันเข้าใจว่าอาจจะเป็นการเข้านิโรธสมาบัติแล้วทั้ง ๆ ที่ยังลืมตาอยู่ เป็นสภาวะของการมีเพียงอายตนะเดียวเท่านั้น การเห็นสิ่งสูงสุดเหล่านี้ ผู้ที่เป็นเสขะบุคคลก็สามารถเห็นได้ การเห็นในช่วงนั้นจะสั้นหรือยาวก็แล้วแต่บุคคลและสถานการณ์ ผู้ที่อยู่ในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมาก ก็อาจจะสามารถอยู่กับ “อายตนะนั้น” ได้นานกว่าผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นมาก สิ่งแวดล้อมของเมืองกับของป่าเขาลำเนาไพรก็สามารถกำหนดการอยู่นานหรือไม่นานของอายตนะนั้นด้วย นอกจากนั้น ความเป็นบรรพชิตในเพศนักบวชและอยู่ในวัฒนธรรมของชาวพุทธก็จะเป็นองค์คุณที่สำคัญมากต่อการเห็น “อายตนะนั้น” ได้นานกว่าผู้ที่เป็นฆราวาสและไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่เกื้อหนุน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญอันจะทำให้เสขะบุคคลผู้นั้นเห็น “อายตนะนั้น” ได้นานหรือไม่  แต่องค์คุณที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่ประมาท

 

สติปัฏฐานสี่เป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร

 

ความชัดเจนอีกอย่างหนึ่งที่ค่อย ๆ เห็นได้ชัดขึ้นหลังจากที่เกิดญานนั้นแล้วคือ เห็นได้ว่า เรื่องสติปัฏฐานสี่เป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร วงจรนี้เริ่มจากจุดที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร (เห็นโลกข้างหน้าเป็นโลกที่เต็มไปด้วยชื่อสมมุติและคุณค่าแห่งตัวตนอันมีเรามีเขา) แต่เป็นเพราะการได้พบกัลยาณมิตร หรือ การมีคนบอก (ปรโตโฆสะ) การเดินทางของจิตจึงเกิดขึ้น คือเริ่มจับเรื่องสติปัฏฐานสี่ตั้งแต่ฐานที่หนึ่งเป็นต้นมา ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเริ่มมีโยนิโสมนสิการ เป็นการสร้างปัจจัยภายในที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือการกลับมารู้จักตัวเอง ฐานที่หนึ่งจึงเป็นการฝึกสติที่จะรู้กายอย่างหยาบ ๆ ก่อน [3] เช่นดูลมหายใจ ดูการเคลื่อนไหว และค่อยเคลื่อนมาดูความรู้สึกที่มีความละเอียดมากขึ้นอันเป็นฐานที่สอง หลังจากนั้นจึงค่อยเคลื่อนมาสู่สภาวะที่สามารถเห็นการเกิดดับของความคิดอย่างเป็นอัตโนมัตซึ่งเป็นการเห็นที่ละเอียดมากขึ้นไปอีก ทั้งสามขั้นตอนนี้เป็นการเห็นตนเองจากหยาบไปสู่ละเอียด จากกายไปสู่จิต หลังจากที่เห็นความละเอียดของชีวิตในภายในแล้ว จึงสามารถเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้ เมื่อรู้อย่างถ่องแท้ในจิตใจแล้วจึงกลับมารู้จักโลกและจักรวาลภายนอกอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นฐานที่สี่ซึ่งเป็นฐานที่อายตนะทั้งหกหายไปหมดและเหลือเพียงอายตนะเดียวเท่านั้น ฉะนั้น การกลับมาเห็นโลกและจักรวาลที่อยู่ข้างหน้าในฐานะที่เป็นฐานที่สี่นี้ ทุกอย่างที่เห็นสัมผัสได้ข้างหน้ายังคงเหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้ฝึกสติปัฏฐาน แต่ทุกอย่างไม่เหมือนกัน เพราะ ตอนยังไม่ได้ฝึกยังมองทุกอย่างด้วยหกอายตนะ แต่เมื่อฝึกแล้วเห็นธรรมแล้ว จะเห็นโลกและจักรวาลด้วยอายตนะเดียวเท่านั้น หรือจะเปรียบเทียบกับการใส่แว่นตาดำก็จะเห็นชัดเช่นกัน ก่อนปฏิบัติสติปัฏฐานสี่นั้นยังใส่แว่นตาดำอยู่ ก็เห็นโลกและทุกอย่างมีสีคล้ำไปหมด การเห็นฐานที่สี่ก็ยังเห็นโลกเดิมนั้นแหละ เพียงแต่เห็นด้วยตาเปล่าโดยไม่ได้ใส่แว่นดำเท่านั้น นี่คือความแตกต่างระหว่างคนฝึกกับคนไม่ได้ฝึก คนไม่เห็นธรรมกับคนเห็นธรรม  จึงเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร จากจุดที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมาสู่จุดเดิมแต่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถ่องแท้  ฉะนั้น สติปัฏฐานที่สี่หรือธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานนั้น ผู้ฝึกจะไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น อยู่เฉย ๆ แต่ด้วยความเป็นเสขะบุคคล สภาวะนั้นจึงหายไปบ้าง แต่ผู้ฝึกยังคงไม่ละทิ้งการฝึกสามฐานแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานที่หนึ่งซึ่งมาถึงบัดนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมชาติมากขึ้น

 

ฐานที่หนึ่งเป็นฐานที่ทิ้งไม่ได้

 

แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ซึ่งหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงแล้วยังทำอานาปานสติซึ่งเป็นฐานที่หนึ่งอยู่ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่าใด ที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีสิ่งควรทำอันได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีประโยชน์ส่วนตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นกิเลสเป็นเหตุมัดไว้ในภพแล้ว พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเหล่านั้น เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ “ สังยุตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๔๑๓[4]

 

ตอนแรกดิฉันก็สงสัยว่าทำไมพระอรหันต์ซึ่งอยู่จบพรหมจรรย์แล้วยังคงต้องทำอานาปานสติ สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น แสดงให้เห็นถึงกลไกอย่างหนึ่งของธรรมชาติ นั่นคือเมื่อมีสติอยู่กับลมหายใจได้เมื่อใด ความสุขของร่างกายและจิตใจก็จะเกิดขึ้น ความมีสติสัมปชัญญะก็จะชัดมากขึ้น เมื่อสร้างเหตุอย่างนี้ ก็จะมีผลอย่างนี้อันเป็นหลักสากลของวิทยาศาสตร์ เหมือนกับว่า เมื่อหิวน้ำและได้ดื่มน้ำก็จะรู้สึกดีขึ้น ความไม่สบายกายและไม่สบายใจนั้นก็เปรียบเหมือนสภาวะของการหิวน้ำ การทำอานาปานสติหรือมีสติอยู่กับลมหายใจก็เปรียบเหมือนการได้ดื่มน้ำ เมื่อทำแล้วก็จะรู้สึกสบายทั้งกายและใจในทันทีที่ทำนั่นเอง เมื่อพูดถึงภาวะของการหิวน้ำและดื่มน้ำแล้วเป็นธรรมชาติของร่างกาย แม้ผู้ที่เป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลสแล้วก็ยังหิวน้ำและยังต้องดื่มน้ำอยู่ ยังต้องมีการขับถ่ายเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ฉะนั้น ท่านจึงยังทำอานาปานสติอยู่เพื่อความสุขในปัจจุบัน สิ่งที่จะแตกต่างระหว่างคนที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ คือ เสขะบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) จะต้องใช้คำว่าฝึกอานาปานสติ เพราะยังเป็นเรื่องที่ต้องฝึกอยู่ ในขณะที่อเสขะบุคคล (พระอรหันต์) จะใช้คำว่า ทำอานาปานสติ จะถูกกว่า เพราะท่านไม่ต้องฝึกแล้ว การดูลมหายใจของท่านเป็นธรรมชาติแล้ว

 

การนำเอาพระสูตรนี้ขึ้นมาพูดก็เพื่อต้องการเน้นว่า สติปัฏฐานที่หนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งอย่าว่าแต่ผู้ฝึกจนเห็นธรรมในฐานที่สี่เลย แม้แต่พระอรหันต์แล้วพระพุทธเจ้ายังคงให้ทำอานาปนสติอยู่ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ยังไม่จบพรหมจรรย์จะประมาทไม่ได้เป็นอันขาด

 

การสร้างศัพท์ที่ร่วมสมัย

 

หลังจากที่ดิฉันเข้าใจได้เช่นนี้แล้ว ดิฉันจึงได้ตั้งชื่อเรียกใหม่ ๆ  ขึ้นมาเพื่อง่ายต่อการถ่ายทอดให้กับนักศึกษาชาวตะวันตก ดิฉันได้เรียกจิตประภัสสร อันเป็นจิตดั้งเดิมว่า host mind หรือสภาวะที่จิตหลุดจากความคิดว่า จิตบริสุทธิ์ innocent mind  จิตบริสุทธิ์นี้ทำให้เกิดการสัมผัสที่บริสุทธิ์ innocent perception และการสัมผัสที่บริสุทธิ์ทำให้เห็นโลกแห่งความบริสุทธิ์ innocent world ซึ่งเป็นสภาวะแห่งพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุด ฉะนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจฐานที่สี่ ดิฉันจะให้นักศึกษากำหนดที่ innocent perception หรือ innocent world ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกัน การชี้แนะแนวทางการฝึกสติปัฏฐานสี่ได้ดีจนสามารถที่จะให้ผู้ฝึกกำหนดฐานที่สี่ตามได้นั้นจะต้องเกิดจากประสบการณ์ของครูที่เกิดญานดังกล่าวแล้วเท่านั้น  

 

จับสติปัฏฐานเรื่องเดียวก่อน

 

ดิฉันยังจำความรู้สึกสับสนที่ตนเองได้ประสบเมื่อตอนเริ่มศึกษาศาสนาพุทธใหม่ ๆ มีความรู้สึกว่าสิ่งที่จะต้องอ่านให้เข้าใจมีมากมายเหลือเกิน ได้อ่านหนังสือธรรมะมากมาย จนจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรจะต้องทำอะไรบ้าง อะไรก่อน อะไรหลัง ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งสงสัยมากโดยเฉพาะเรื่องนรกสวรรค์ ครั้นจะไม่อ่านก็กลัวไม่รู้ ทำสมาธิก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรก้าวหน้าเพราะเห็นแต่ความคิดและกิเลสคลานยั้วเยี้ยไปหมด มันจึงเกิดภาวะลักลั่นและสับสนมากในบางขณะ จะก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ครั้นจะถอยหลังและแกล้งไม่รู้ไม่ชี้ต่อสิ่งที่รู้ไปแล้วก็ไม่ได้ หากผู้อ่านเกิดภาวะเช่นนี้ละก็ ดิฉันแนะนำได้แต่เพียงว่า ขอให้อดทนให้มาก ๆ และขอให้จับเรื่องสติปัฏฐานเรื่องเดียวให้จริงจังเท่านั้นก็พอ ถ้าอ่านมากและสับสนก็ไม่ต้องอ่าน เก็บไว้ก่อน พอการปฏิบัติก้าวหน้าแล้ว มาอ่านทีหลังจะได้สาระดีกว่ามาก หนังสือเล่มนี้จึงพยายามตอบคำถามที่สำคัญหลัก ๆ เพื่อให้ผู้เริ่มสนใจจับโครงสร้างใหญ่ของศาสนาพุทธให้ได้ก่อน และพาเข้าสู่เรื่องสติปัฏฐานทันที

 

สรุป

          สติปัฏฐานสี่คือ แผนที่ชีวิตที่บอกทางให้ถึงเป้าหมายปลายทางของชีวิตได้อย่างละเอียดถี่ยิบ มันเป็นแผนที่การบอกทางของพระพุทธเจ้าที่พยายามจะโอบอุ้มสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นบ่วงแห่งวัฏฏะอันน่าสงสารเพื่อให้เข้าถึงภูมิปัญญาที่ล้ำลึกที่สุดของจักรวาล นั่นคือสัจธรรมอันสูงสุดอันเป็นสภาวะที่เป็นกลาง ๆ (อพยากฤต) ของธรรมชาติและเป็นสิ่งเดียวกับเรื่องการหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง แผนที่ชีวิตฉบับนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นความสามารถที่มิได้เกิดกับศาสดาพระองค์อื่นของโลก  ถึงแม้คนหมู่มากจะไม่เห็น แต่ ”อายตนะนั้น” ก็อยู่เบื้องหน้าของคนทุกคนไม่ว่างเว้น และคนก็ได้รับประโยชน์จากมันแล้วแต่ไม่รู้  ฉะนั้น คงจะไม่มีอะไรยากไปกว่าการไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง   แต่พระพุทธองค์ก็สามารถบอกทางลัดที่ตรงที่สุดให้สัตว์โลกทุกคนสามารถเดินตามจนได้ นั่นคือ ทางแห่งสติปัฏฐานสี่ 

 

ดังนั้น  ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินหรือฝึกเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ควรจะเร่งรีบหาผู้รู้เพื่อเรียนจากท่านเสียโดยเร็วให้สมกับว่าเป็นผู้โชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           

 

 

 

 

 

 



[1] หน้า ๑๖๔ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต)

[2] ดิฉันขอฝากข้อสงสัยนี้ให้กับครูบาอาจารย์ที่สามารถจะให้คำตอบแก่ดิฉันได้

[3] คำว่าหยาบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่ได้ฝึกสมาธิเลยนั้น ที่จริงเป็นความละเอียดมาก แต่ใช้คำว่าหยาบมาบรรยายฐานที่หนึ่งเพื่อเทียบกับฐานที่สามซึ่งละเอียดกว่ามากซึ่งผู้ไม่ได้ฝึกหรือยังไม่ถึงขั้นตอนจะไม่เข้าใจเลย

 

[4] คัดจากพระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน จัดทำโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ มหามกุฏราชวิยาลัย จัดจำหน่าย