บทที่สิบสาม
ในขณะที่การรักษาศีลเป็นการเอาความหยาบกระด้างของจิตออกไปนั้น
การทำสมาธิก็เท่ากับการทำให้จิตของคนละเอียดมากขึ้น ทำไมจึงต้องทำจิตให้ละเอียด
คำตอบคือเพื่อให้เกิดปัญญา สามารถเห็นธรรมได้ และนำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด
การทำสมาธิที่ไม่มีปัญญาแห่งการหลุดพ้นควบคุมอยู่นั้นจะทำให้หลงทางได้ง่าย
ถ้าเปรียบการรักษาศีลเหมือนกับเรือ การทำสมาธิจะเปรียบเหมือนการแจวเรือเป็น
เมื่อมีทั้งเรือและรู้วิธีการแจวเรือแล้ว ผู้แจวยังต้องรู้ว่า จะแจวเรือลำนี้ไปไหน
การรู้ที่ไปอย่างถูกต้องนี่แหละคือ ปัญญาเรื่องการหลุดพ้น หรือ มีสัมมาทิฏฐิ
ถ้าขาดเป้าหมายที่ถูกต้องแล้ว เรือลำนี้จะไปไหนก็ได้ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่
(สังสารวัฏ) ซึ่งยังเป็นเรื่องการหลงทางอยู่
ฉะนั้น
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาธิแล้วนั้น จะต้องหมายถึงสัมมาสมาธิแห่งองค์มรรคที่มีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบนำหน้าอยู่
มิได้หมายถึงการทำสมาธิที่นำไปสู่เรื่องไสยศาสตร์
สามารถอ่านใจคนหรือทำอิธิปาฏิหารย์ได้ หรือแม้แต่สมาธิที่เน้นการผ่อนคลายจิตใจ relaxation
ซึ่งทำกันอย่างเกลื่อนกลาดในสังคมตะวันตก
สมาธิเหล่านี้มิได้จัดเป็นสมาธิในองค์มรรค ยังเป็นสมาธิที่หลงทางอยู่
ชาวพุทธต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า
การฝึกสมาธิหรือสมถะภาวนานั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่อย่างแพร่หลายก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
แม้ท่านเองในขณะที่แสวงหาทางหลุดพ้นอยู่นั้น ท่านก็เข้าไปสู่กระแสของวัฒนธรรมแห่งสมถะภาวนาจนสามารถทำได้หมดทุกอย่าง
แต่นั่นก็มิใช่เป็นทางแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง
เพราะสมถะภาวนาเมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้วจะพบทางตัน
ไม่สามารถทำให้หลุดจากการกงล้อของสังสารวัฏได้
การปฏิบัติที่ใหม่เอี่ยมที่เกิดขึ้นหลังจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือ
วิปัสนาภาวนาหรือเรื่องสติปัฏฐานสี่นั่นเอง
แต่การจะเข้าสู่วิปัสนาภาวนาโดยไม่มีพื้นฐานของสมถภาวนานั้นก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่
นอกจากผู้มีอินทรีย์แก่กล้าเท่านั้นที่สามารถข้ามขั้นตอนการปฏิบัติเข้าสู่วิปัสนาญานและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ทันที
ซึ่งก็มีแต่พุทธสาวกในครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น เช่น
ยสกุลบุตร พระองคุลีมาร ท่านพาหิยะ เป็นต้น
บุคคลเหลานี้ล้วนแต่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีที่ฟังธรรมของพระพุทธองค์จบโดยที่ไม่ต้องฝึกอะไรทั้งนั้น
แต่โดยส่วนมากแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านขั้นตอนการฝึกสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบลงเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าสู่วิปัสนาได้
ฉะนั้น
จึงขอให้ชาวพุทธเข้าใจให้ถูกต้องว่าวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาธินั้นหมายถึงสมาธิที่มีเป้าหมายของพระนิพพานเป็นหลักเท่านั้น
มิเช่นนั้นแล้วจะสับสนกับสมาธิที่เน้นเรื่องอื่นดังที่ได้กล่าวแล้ว
ชาวพุทธบางคนอาจจะได้ยินคำว่า มุทรา มาก่อนแล้ว
ดิฉันได้ยินคำ ๆ นี้จากอาจารย์โกวิทเป็นครั้งแรก แต่ไม่สามารถประสานอะไรได้มากนัก
มาบัดนี้ความเข้าใจเริ่มชัดมากขึ้น ที่จริงแล้ว ผู้ที่ฝึกสมาธิจนกลายเป็น นิสัย
บุคคลเหล่านั้นจะมีท่าทางอากัปกิริยาเป็นมุทรา คือ เดินเหินเคลื่อนไหวด้วยอาการที่เชื่องช้า
เนิบนาบ อ่อนนุ่ม มีสติ ในขณะเดียวกันจะหนักแน่น มั่นคง และมั่นใจ
เพราะนี่เป็นอาการของคนมีสติสัมปชัญญะ ตัวสัมปชัญญะนี่แหละที่กำหนดอาการมุทรา
การเคลื่อนไหวเช่นนี้คืออากัปกิริยาของพระพุทธเจ้าและสาวกของท่านคือพระสงฆ์ผู้รักษาศีลและฝึกสมาธิ ศีล ๒๒๗
ข้อนั้นเป็นสิ่งที่พยายามจะตะล่อมให้บุคคลนั้นมีสติสัมปัชัญญะเพื่อเกิดสมาธิและปัญญา
สติ-สมาธิ-ปัญญา จะเกิดต่อกันเป็นลูกโซ่ ฉะนั้นผู้ที่ฝึกสติและมีสมาธิแล้ว
การเคลื่อนไหวของผู้นั้นจะตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ฝึกซึ่งมักจะมีอาการเร่งรีบ หยาบ
กระโดกกระเดกนอกจากคนที่มีอาการสงบตามธรรมชาติหรือโดยนิสัยเท่านั้น
เมื่อเข้าใจว่าท่ามุทรามาได้อย่างไรแล้ว
คนไทยโบราณก็ได้นำสิ่งนี้เข้ามาสู่กระแสวัฒนธรรมแล้วโดยการฝึกบุตรหลานให้เดินเหินด้วยท่าทางมุทรา
คืออ่อนช้อย เชื่องช้า เนิบนาบ และบวกกับความเคารพยำเกรง โดยการต้องก้มโค้ง
หรือเดินบนเข่าเมื่อผ่านผู้ใหญ่ หากขึ้นบนเรือนแล้ว ผู้ใหญ่กำลังนอนอยู่เด็ก ๆ
ก็ต้องหัดเดินให้เงียบที่สุด การฟ้อนรำแบบไทยเดิมต่างๆ
ก็ยังอยู่บนหลักของการฝึกท่ามุทรา
สิ่งเหล่านี้จึงได้ซ่อนองค์คุณที่สำคัญมากที่สุดไว้ คือมีทั้งเรื่องศีล
เรื่องการฝึกสติเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิ
การที่สิ่งเหล่านี้อยู่ในกระแสวัฒนธรรมนั้นทำให้เด็ก ๆ
ตกเข้าไปในร่องทางของการฝึกสติโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว
แต่ทุกครั้งที่เด็กจำเป็นต้องเดินด้วยอาการที่เชื่องช้าต่อหน้าผู้ใหญ่นั้น
เขาจำเป็นต้องมีสติ ไม่เช่นนั้นเขาจะทำไม่ได้ ฉะนั้น จิตที่วุ่นวายจะได้รับการรวบให้สงบลงทุกครั้ง
สิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการฝึกสติปัฏฐานไปในตัว
ในอนาคตหากเขาสนใจเรื่องศาสนธรรมแล้วไซร้
เด็กเหล่านี้ก็เหมือนกับได้ถูกเตรียมตัวมาแล้วครึ่งทาง
อีกครึ่งทางก็อยู่ที่ความวิริยะอุตสาหะ ท่าทางมุทราเหล่านี้
พูดไปแล้วเป็นลักษณะของหญิงไทยโบราณ
อาการมุทราเหล่านี้กำลังหายไปจากคนไทยโดยเฉพาะหญิงไทยด้วยความเร็วที่น่าใจหาย
เพราะการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเต็มที่
ในบรรดาวัฒนธรรมที่พบปะกันทั้งหลาย
การยกมือขึ้นพนมไว้ที่อกนั้นเป็นสัญญลักษณ์ที่ทำกันอยู๋หลายชาติในหมู่ชาวพุทธรวมทั้งชาวอินเดีย
แต่ดิฉันต้องยอมรับว่าคนไทยเราสามารถทำอาการไหว้ได้สวยงามกว่าชาติ อื่น ๆ
ที่ทำกัน การไหว้ที่ถูกต้องนั้น
ควรจะต้องทำด้วยอาการที่เนิบนาบ เชื่องช้า ไม่รีบร้อน
หากเป็นผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ก็ต้องมีการก้มศรีษะลงตามลำดับของความอาวุโส
หากทำได้อย่างถูกต้องเช่นนี้แล้ว
การกระทำนั้นจะได้รับคุณค่าที่ซ่อนเร้นอยู่อันเนื่องกับการเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายชีวิตคือ
การทำลายมานะทิฏฐิของตนเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนที่มีความหยิ่งยโสนั้น
ไม่สามารถจะก้มหัวให้ใครได้ง่าย ๆ ฉะนั้น การก้มหัวให้คนทุกครั้งที่มีการพบปะกันถึงแม้จะไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมโดยตรง
แต่เป็นการทำโดยอ้อม ก้มหัวไปบ่อย ๆ
จิตใจก็จะอ่อนโยนซึ่งเป็นองค์คุณที่สำคัญต่อการเข้าถึงธรรม
ชาวญี่ปุ่นก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ต้อนรับกันโดยการต้องก้มหัวให้แก่กันซึ่งแฝงเร้นคุณค่าแห่งการทำลายตัวตนเช่นกัน
เด็ก ๆ สมัยใหม่ มักจะไหว้ผู้ใหญ่ด้วยความเร่งรีบ ไม่ก้มหัว และแบบขอไปที
ซึ่งทำให้องค์คุณที่ควรจะมีด้อยลงไปมากจนอาจจะไม่เหลืออะไรเลย
เมื่อเปรียบเทียบกับการพบปะด้วยการจับมือกันซึ่งเป็นวัฒนธรรมสากลที่คนทำกันมากกว่าครึ่งโลกนั้น
จะมีคุณค่าน้อยกว่ามาก การสัมผัสมือกันสามารถแสดงออกถึงความจริงใจและไมตรีจิต
ในขณะที่การกอดกันหรือจูบกันเมื่อพบปะนั้นแสดงออกถึงความอบอุ่นที่ฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่ง
แต่จะไม่มีคุณค่าของการทำลายมานะทิฏฐิซ่อนอยู่ คือ
ไม่สามารถเอาความรู้สึกแห่งความมีตัวตนออกจากจิตใจเหมือนอย่างการไหว้ด้วยท่าทางมุทรา
การไหว้เมื่อพบปะกันนั้นเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยตรง
เพราะเป็นการกระทำที่แปรรูปมาจากการกราบพระพุทธรูปและกราบพระอันเป็นวัฒนธรรมสติปัฏฐานโดยตรง
การกราบไหว้พระพุทธรูปด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์แบบไทยหรือแบบธิเบตนั้นเป็นองค์คุณที่สำคัญมาก
แน่นอน การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากครั้งพุทธกาล
เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดแก่มนุษยชาติมาก่อนแลย
จึงเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากอย่างใหญ่หลวง
อันเป็นผลให้พุทธสาวกก้มลงกราบพระพุทธองค์ด้วยความหมดสงสัยในตัวท่าน
เป็นการแสดงออกถึงการยอมให้ท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญานเพื่อท่านจะได้นำเราไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตที่ท่านได้ค้นพบแล้ว
ความหมดสงสัยในตัวพระพุทธเจ้าและการยอมให้ท่านนำชีวิตนี่แหละคือองค์คุณที่ซ่อนเร้นอยู่ในการกราบพระพุทธรูปทุกครั้ง
ผู้ที่สามารถกราบพระพุทธรูปได้อย่างงดงามด้วยท่าทางมุทรา และกราบไหว้บุคคลที่ควรกราบไหว้นั้น
ชาวพุทธเราถือว่าเป็นมงคลอันสูงส่ง เพราะเป็นการค่อย ๆ
สะสมองค์คุณที่สำคัญอันจะเกื้อกูลให้บุคคลนั้นเห็นธรรมได้ง่ายขึ้นในกาลข้างหน้า
ในพระสุตตนตปิฏก ขุทฑกนิกาย วิมานวัตถุ
ได้บันทึกเรื่องราวของหญิงชราคนหนึ่งชื่อ จัณฑาลี
ผู้ได้ไปถึงสวรรค์เพราะการกราบไหว้ เรื่องมีอยู่ว่า[1]
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ.
พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์
ครั้นใกล้รุ่งอรุณพระพุทธองค์ได้ทรงเล็งพระญานเห็นหญิงชราผู้หนึ่งชื่อว่า จัณฑาลี
อยู่ในหมู่บ้านจันฑาละ กำลังจะสิ้นอายุขัยไปจุติในนรก จึงทรงดำริว่า เราจะให้หญิงชรานี้ทำบุญเพื่อจะได้ไปจุติในสวรรค์
พอรุ่งเช้าพระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากเสด็จเข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์
ขณะนั้น ยายจันฑาลีเดินถือไม้เท้าออกมาสู่นอกเมือง
พบพระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์กำลังเสด็จดำเนินมา
ยายจัณฑาลีจึงหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ ลำดับนั้น
พระโมคคัลลานะรู้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาเพื่อโปรดหญิงชราผู้นี้โดยเฉพาะ
จึงกล่าวกับหญิงชราว่า
ดูก่อน ยายจัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระบาทยุคลของพระโคดมผู้มีพระเกียรติยศเถิด
พระโคดมผู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ ประทับยืนเพื่ออนุเคราะห์ท่านคนเดียว
ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสยิ่งในพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้คงที่แล้ว
จงรีบประคองอัญชลีถวายบังคมเถิด ชีวิตของท่านน้อยเต็มที
ยายจันฑาลีเมื่อรับฟังพระเถระกล่าวดังนี้แล้วเกิดสลดใจว่า
ตนเองกำลังจะสิ้นอายุแล้ว
นางจึงได้ก้มลงกราบถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์
พร้อมจิตใจที่เต็มไปด้วยปีติเลื่อมใสในพระพุทธองค์
ส่วนพระพุทธองค์นั้นเมื่อเห็นยายจันฑาลีได้ทำเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จผ่านไป
เพราะทรงเห็นว่าเท่านี้เป็นอันสมควรแล้วแก่หญิงชรา ขณะที่ยายจันฑาลีกำลังยืนอยู่ด้วยใจที่อิ่มเอิบผ่องใสในพระพุทธคุณนั่นเอง
มีโคแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่ง
ได้วิ่งมาขวิดยายจันฑทลีถึงแก่ความตายทันทีแล้วไปจุติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มีนางอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร
ครั้นไปจุติในสวรรค์แล้ว จัณฑทลีเทพธิดาได้ลงจากสวรรค์พร้อมทั้งวิมานมาหาพระโมคคัลลานะ
แล้วลงจากวิมานเข้าไปกราบพระเถระแล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้มีอานุภาพมาก
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ท่าน พระเถระจึงถามว่า ดูก่อนเทพธิดา ! ท่านเป็นใคร ทำบุญอะไรไว้ถึงได้มีอานุภาพมาก ? จัณฑาลีเทพธิดาตอบพระเถระว่า ข้าพเจ้าคือยายจัณฑาลี หญิงชราที่พระผู้เป็นเจ้าได้แนะนำให้กราบไหว้พระพุทธองค์
ครั้นข้าพเจ้าได้กราบไหว้พระพุทธองค์แล้วก็ตายจากกำเนิดคนจัณฑาล
ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดีงส์มีนางอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร
ข้าพเจ้ามาในเวลานี้ เพื่อประสงค์จะกราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อได้กล่าวดังนี้แล้ว
นางได้กราบลาพระเถระกลับคืนสู่สวรรค์ดังเดิม
เช้าวันรุ่งขึ้นพระเถระจึงเข้าไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงยกขึ้นมาแสดงให้แก่สาธุชนทั้งหลายฟังว่า การกราบไหว้แสดงความเคารพผู้ที่ควรกราบไหว้
มีพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ตลอดถึงบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ผู้มีพระคุณ
ผู้มีอุปการะคุณนั้น ย่อมให้ผลเป็นอัศจรรย์
ดังได้ทรงพระคาถาไว้ว่า คาระโว จะ นิวาโต จะ การเคารพนบนอบเป็นมงคลอันสูงส่ง คือเป็นความเจริญอย่างสูง
จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมที่มีการกราบไหว้นั้นจะได้เปรียบกว่าวัฒนธรรมที่ไม่มีการกราบไหว้อย่างลิบลับ
นี่คือวัฒนธรรมสติปัฏฐานที่ควรต้องดูแลรักษาไว้ให้ดีโดยการสอนให้เยวชนทำอย่างถูกต้อง
ท่านั่งขัดสมาธินั้นต้องจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสติปัฏฐานโดยตรง
การนั่งสมาธิเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการเข้าถึงธรรมและเห็นธรรม
การนั่งสมาธิที่จะได้ผลนั้น หากสามารถนั่งขัดสมาธิได้อย่างสบายโดยไม่เจ็บปวดมากนัก
ก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อมีสมาธิก็จะมีปัญญา คนตะวันออกจะถูกฝึกให้นั่งท่านี้มาตั้งแต่เด็ก
ในขณะที่คนตะวันตกจะไม่ชินกับการนั่งท่าเช่นนี้เลย เมื่อมาถึงจุดที่สนใจศาสนธรรมและต้องฝึกสมาธิ
ถึงแม้จะสนใจมากแค่ไหน แต่หากนั่งแล้วไม่สบายเพราะความเจ็บปวดละก็
สมาธิย่อมเกิดยากและปัญญาจะไม่เกิด
วัดในสังคมตะวันตกมักจะต้องมีหมอนรองนั่งหรือเก้าอี้ทรงประหลาดที่จะให้ฝรั่งผู้มีขายาวนั่งได้สบาย
หลายคนอาจจะเลิกล้มความตั้งใจเพราะนั่งนานไม่ได้ เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว
จะรู้ว่าคนตะวันออกได้เปรียบกว่ามากเพราะมีวัฒนธรรมการนั่งกับพื้น
หากการนั่งกับพื้นถูกแทนที่ด้วยการนั่งบนเก้าอี้แล้ว
องค์คุณที่สำคัญเพื่อให้คนเข้าถึงธรรมก็จะค่อย ๆ หายไป
การออกกำลังกายแบบไท้เก็กและโยคะนั้นก็จัดเป็นวัฒนธรรมสติปัฏฐานได้โดยตรง
หากครูผู้สอนเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้วไซร้
จะสามารถโยงการออกกำลังกายทั้งสองชนิดนี้เข้าสู่การฝึกสติได้อย่างง่ายดายและจะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก
โยคะนั้นที่จริงแล้วก็คือเรื่องอานาปานสติโดยตรงที่เพิ่มเรื่องการบริหารกายเข้าไปด้วย
ส่วนความหมายของไท้เก็กคุ้ง tai chi chuan นั้น ที่จริงแล้วเชื่อมโยงกับเรื่องของจิตวิญญานโดยตรง คำว่า ไท้เก็ก
คือสภาวะที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งที่ไม่มีสิ่งใดสามารถไปเหนือกว่านั้นได้อีกแล้ว
จะเรียกว่า เต๋า ก็ไม่ผิด คำว่าคุ้ง คือ อาการเคลื่อนไหว เมื่อรวมความหมายเข้าแล้ว คือ
การเคลื่อนไหวที่นำบุคคลให้เข้าถึงสภาวะสูงสุดนั้น ฉะนั้น การเคลื่อนไหวแบบไท้เก้กคือ
การเคลื่อนอย่างมีสติสัมปชัญญะนั่นเองจึงจะสามารถเข้าสู่สภาวะสูงสุดได้
การที่คนไม่เข้าใจความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญานและไม่มีความรู้เรื่องสมาธิ
การสอนไท้เก็กจึงไม่สามารถโยงเข้าสู่เรื่องสติปัฏฐานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อวิชานี้มาถึงสังคมตะวันตก ไท้เก็กถูกเน้นไปที่การเดินพลังหรือขี่ Qi เพื่อผลประโยชน์แก่ร่างกาย
ครูที่ถนัดเรื่องวิชาป้องกันตัวด้วยก็โยงเรื่องไท้เก็กกับขี่ไปในรูปแบบของการป้องกันตัว
martial art ครูที่ไม่สนใจเรื่องป้องกันตัวก็โยงเรื่องพลังขี่เพื่อความแข็งแรงของร่างกายและเน้นเพียงตื้น
ๆ ว่าเป็นการพักผ่อนทางจิตใจ relaxation เท่านั้น
นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้พยายามปลุกปล้ำอยู่คนเดียวเป็นเวลาถึง ๑๐
ปีที่จะทำให้ไท้เก็กเป็นเรื่องของสติปัฏฐานโดยการเปิดเผยความหมายของไท้เก็กว่าเป็นสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดซึ่งจะเข้าถึงได้โดยการเคลื่อนไหวอย่างมีสติ
ความคิดนี้เพิ่งจะมาชัดเจนในช่วงเกือบสามปีนี่เองหลังจากที่เข้าใจเรื่องธรรมานุปัสนาอย่างถ่องแท้
ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นทำให้ความคิดความเข้าใจต่าง ๆ
ชัดขึ้นมากและสามารถโยงเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น
และความชัดก็มีมากยิ่งขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป เมื่อความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานชัดมากเท่าไร
ย่อมหมายความว่าดิฉันสามารถเกณฑ์ให้คนมาฝึกสติปัฏฐานได้โดยที่ไม่ต้องพูดเรื่องศาสนาพุทธก็ได้
มันเป็นผลดีต่อดิฉันเพราะเป็นสิ่งที่ดิฉันจำเป็นต้องทำเสียด้วย เพราะถึงแม้ดิฉันจะเข้าใจศาสนาพุทธมากพอที่จะสอนฝรั่งได้
แต่รูปแบบของดิฉันไม่อำนวย เพราะไม่ได้อยู่ในเพศนักบวช
และทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จ้างดิฉันไปสอนศาสนาพุทธ แต่จ้างดิฉันไปสอนไท้เก็ก Tai
chi ฉะนั้น
คนที่เข้ามาเรียนไท้เก็กกับดิฉันนั้นเขามาเพื่อต้องการออกกำลังกาย
ไม่ใช่มาเพื่อเรียนศาสนาพุทธกับดิฉัน พูดง่าย ๆ
ว่าดิฉันต้องแอบสอนหรือสอนแบบที่ไม่ให้เขารู้ว่ากำลังสอนศาสนาพุทธ
ก็เป็นเหมือนการหลอกล่อให้คนหนุ่มสาวที่นี่มาฝึกสติปัฏฐาน
แต่เป็นการหลอกล่อด้วยความหวังดีและมีเจตนาดีที่อยากให้เขาได้เห็นธรรม
จึงเกิดความคิดที่พยายามจะโยงไท้เก็กเข้าสู่เรื่องสติปัฏฐาน ในช่วงปีแรก ๆ
ก็ขลุกขลักมากเพราะปัญญามีแต่ไม่ชัด มาทำได้ดีขึ้นก็ในช่วงสองสามปีหลังนี่เอง
จนเดี๋ยวนี้นักศึกษาของดิฉันมองไท้เก็กว่าเป็นเรื่องที่สามารถช่วยแก้ปัญหาทางจิตใจของเขาได้
ที่แก้ได้เป็นเพราะนักศึกษาเหล่านั้นมีส่วนในการฝึกสติปัฏฐานกับดิฉันทุกครั้งที่เขาเข้ามาเรียนไท้เก็กกับดิฉัน
การพยายามผลิตงานเขียนออกมาให้นักศึกษาของดิฉันก็เท่ากับบอกความจริงกับเขาว่า
สิ่งที่ช่วยเขาจริง ๆ นั้น คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ไท้เก็กเป็นเพียงเครื่องมือที่ดิฉันปรับเอามาใช้ให้เหมาะสมกับจริตและความต้องการของเขาเท่านั้น
ฉะนั้น ไท้เก้ก และ
โยคะจึงสามารถจัดเป็นวัฒนธรรมสติปัฏฐานได้โดยตรงหากครูผู้สอนเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเพียงพอและพยายามโยงเข้าหาเรื่องสมาธิวิปัสสนา
เพราะมันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเตรียมคนให้เข้าถึงธรรมอันสูงสุดได้ เป็นวัฒนธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่มิได้มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
หากสังคมใดสามารถทำให้คนฝึกไท้เก็กได้มาก
คนกลุ่มใหญ่ก็จะได้รับเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้แจ้งโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ถ้าได้ครูที่สามารถเข้าใจศาสนาพุทธได้อย่างถึงแก่นและเปิดเผยเรื่องอิสระภาพของจิตวิญญานได้แล้วไซร้
โยคะและไท้เก็กจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งต่อการแพร่เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้แจ้งให้แก่มวลมนุษย์โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ผู้คนส่วนมากในสังคมตะวันตกปฏิเสธศาสนา
เพราะเป็นวิธีการที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องอิงศาสนา a non-religious
method. จากการปลุกปล้ำทำงานนี้อยู่คนเดียวถึง
๑๒ ปี ดิฉันเริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างว่ามันทำได้จริง คือ
สามารถทำให้คนรู้แจ้งได้โดยไม่ต้องเข้าวัดหรือมีส่วนร่วมในศาสนพิธี
หากนี่เป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำ
วัฒนธรรมการดูพระ
เรื่องนี้ได้ยินจากอาจารย์เขมานันทะเล่าว่า
สมัยก่อนคนทางใต้จะมีประเพณีเดินทางไปดูพระที่นครศรีธรรมราช
โดยที่ชาวบ้านจะพากันพกข้าวห่อไปเพื่อจะได้ปักหลักกันนั่งชมพระ
นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันไม่เคยเห็นมากับตาตนเอง
แต่ครั้นได้ยินอาจารย์พูดถึงแล้วก็ทำให้เกิดปีติขึ้นมาได้ทันที
ดิฉันไม่แน่ใจว่าประเพณีนี้ยังทำสืบทอดกันอยู่หรือไม่ในปัจจุบันนี้
การได้มีโอกาสนั่งดูพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์โปรดนั้นเป็นการเจริญพุทธานุสติที่สามารถก่อให้เกิดปีติและจิตเป็นสมาธิได้ง่าย
ที่จริงแล้ว
คนไทยเราหรือชาวพุทธโดยทั่วไปก็มักทำกิจนี้เป็นส่วนตัวกันอยู่ไม่น้อย
ใครที่รู้สึกไม่สบายใจ หากมีโอกาสได้ไปทำบุญหรือนั่งต่อหน้าพระพุทธรูปองค์โปรดแล้ว
ความทุกข์ใจก็จะคลายไป
ดิฉันยังจำวันที่ตนเองเดินเข้าไปในวัดพระแก้วเมื่อ ๒๖ ปีที่ผ่านมาได้แม่นยำ
มันเป็นช่วงปลายปีของ ๒๕๑๖ ดิฉันเป็นนักศึกษาปีที่หนึ่งและได้ผ่านเหตการณ์ ๑๖
ตุลาคม มาหยก ๆ หัวใจเต็มไปด้วยความทุกข์อันเนื่องจากมีคำถามมากมายเกี่ยวกับชีวิตที่ดิฉันตอบตนเองไม่ได้
ครูบาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็ช่วยดิฉันไม่ได้ ไม่มีใครช่วยดิฉันได้
ดิฉันทราบแต่ว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถช่วยดิฉันได้ จึงเดินเข้าวัด
แต่เมื่อไปนั่งในโบสถ์ของวัดพระแก้วและเฝ้ามององค์พระแก้วมรกตแล้ว
ดิฉันก็ยังไม่ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะช่วยดิฉันได้อย่างไร ดิฉันรู้สึกมืดแปดด้าน
แต่นั่น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดิฉันเริ่มอ่านหนังสือศาสนาพุทธ
จนกระทั่งมีรุ่นพี่แนะนำหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสให้
จึงสามารถเข้าใจได้ในที่สุด การเข้าถึงธรรมได้ของดิฉันนั้นต้องนับว่าเป็นผลจากการที่ได้เกิดและเติบโตขึ้นมาในกระแสของวัฒนธรรมชาวพุทธอย่างแท้จริง
วัฒนธรรมการชงชา การจัดดอกไม้
และจัดสวนแบบญี่ปุ่นนั้น สามารถจัดเข้าเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับฝ่ายสมาธิ
เป็นวัฒนธรรมที่พระในนิกายเซ็นได้นำเข้ามาจากประเทศจีน เชื่อกันว่า
ก่อนทำสมาธิหรือทำซาเซ็นนั้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติง่วงนอน
อาจารย์เซ็นจะชงชาสดที่บดจนเป็นผงสีเขียวอ่อนให้กับลูกศิษย์ได้ดื่ม
สารคาเฟอินในชาจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกตื่นและไม่ง่วงนอน
แต่พิธีการชงชานั้นก็กระทำอย่างเป็นระบบทำด้วยอาการที่เปี่ยมไปด้วยสติและสัมปชัญญะมีสมาธิจิตควบคุมอย่างเต็มที่
จัดเป็นอาการมุทราแบบญี่ปุ่น
การมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้
ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ถึงแม้พิธีการชงชาจะเป็นเรื่องของสมาธิก็ตาม
แต่มิใช่เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นในยุคนี้ทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน
มันได้กลายเป็นเรื่องการเสริมสถานะของคนในสังคมชั้นสูงมากกว่า
มิได้เป็นเรื่องของชาวบ้านธรรมดาแต่อย่างใด
เป็นเรื่องของหญิงที่กำลังจะเป็นเจ้าสาวต้องเรียนรู้เอาไว้เหมือนการเรียนทำกับข้าวให้เป็น
แต่เมื่อแต่งแล้วอาจจะไม่ได้ใช้เลย เด็กสาวสมัยใหม่ให้ความสนใจน้อยมากทั้ง ๆ
ที่มีสอนกันตามโรงเรียน
การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นอาจจะมีการทำกันมากกว่าในหมู่หญิงชาวญี่ปุ่น
เพราะไม่เป็นเรื่องยุ่งยากเท่ากับการชงชา
การจัดสวนแบบญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่เขาคำนึงถึงความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
สรุป
ดิฉันยกตัวอย่างวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสมาธิไว้ในที่นี้น้อยมาก
ดังที่บอกแล้วว่าความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมไทยของดิฉันยังแคบมากไม่กว้างขวางเพราะขาดประสบการณ์
แต่ที่เขียนมานี้เพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาธิว่ามีเหตุผลเบื้องหลังอย่างไร
[1] คัดจากนิตยสารธรรมะสว่างใจ
ฉบับที่ ๒๘ / กรกฏาคม-กันยายน ๒๕๔๑ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน