บทที่สอง 

ทำไมผลจึงมาก่อนเหตุ?

 

บทที่แล้ว ดิฉันได้เล่านิทานเพื่อให้เห็นภาพพจน์ที่ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้ามาบอกข่าวดีกับมนุษย์ว่าที่จริงแล้วพวกเราไม่ได้เป็นเสือ แต่เป็นคนที่ถูกฤาษีแปลงร่างมาเป็นเสือ ฉะนั้นเป้าหมายของมนุษย์เราคือการแสวงหาทางที่จะกลับกลายไปสู่ความเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิต หรือความเป็นพระอรหันต์

 

ในบทนี้ ดิฉันจะเน้นเรื่องเป้าหมาย (ผล) กับหนทาง (มรรค) การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น หมายความว่า ท่านได้ เห็นผลก่อนที่จะเห็นทางหรือมรรค  นี่เป็นจุดสำคัญมากที่ปัญญาชนควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพื่อจะได้เห็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธมากขึ้น 

 

นิทานเรื่องนี้อาจจะทำให้เห็นภาพพจน์ชัดขึ้น ชายคนหนึ่งหลงทางในป่า ด้วยความบังเอิญ จู่ ๆ ก็พลัดมาเจอสระน้ำอมฤตดื่มแล้วสามารถมีชีวิตอมตะ เมื่อรู้ว่าน้ำนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์ จึงค่อย ๆ ออกมาสำรวจทางเข้าสระน้ำอมฤตว่าพอมีทางไหนเข้าไปได้บ้าง  เขาทำแผนที่เอาไว้อย่างเด่นชัดและถี่ยิบ เมื่อออกจากป่าได้แล้ว เขาก็เริ่มบอกคนอื่นเกี่ยวกับสระน้ำอมฤตนี้ และแจกแผนที่บอกทางให้กับผู้ที่อยากไป    

 

ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น สังคมมนุษย์อยู่อย่างมืดบอด ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป้าหมายของชีวิตคืออะไร สัจธรรมคืออะไร การหมดทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าเกิดมาในยุคที่สังคมอินเดียกำลังค้นหาสัจธรรมกันอย่างสะเปะสะปะ เสพกามบ้าง ทรมานตัวเองบ้าง ติดในความสงบขององค์ฌานบ้าง แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป้าหมายของชีวิตจริง ๆ คือ อะไรแน่นอน เจ้าชายสิทธัตถะก็เข้าร่วมวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาสัจธรรมนั้นด้วยเป็นเวลาถึงหกปี ลองผิดลองถูกตามวิธีการที่มีอยู่ในยุคนั้นจนตนเองเกือบเอาชีวิตไม่รอด ปรากฏการณ์ของสังคม (social landscape) อินเดียในยุคนั้นเปรียบเทียบเหมือนกับชายหลงป่าที่หาทางออกจากป่าไม่ได้ จะด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่[1] การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นก็เปรียบเหมือนกับชายหลงป่าเจอสระน้ำอมฤตด้วยความบังเอิญ  หรือค้นพบความจริงว่า ที่แท้เสือตัวนี้ไม่ได้เป็นเสือแต่เป็นคนธรรมดาดี ๆ นี่เอง

 

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหมายความว่า ท่านได้พบสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติ เป็นธรรมที่เด็ดขาด (absolute หรือ ultimate) อันไม่มีสิ่งใดไปพ้นจากนั้นได้ ซึ่งท่านเรียกว่า พระนิพพาน และธรรมนี้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่ที่ว่ามันเป็นเป้าหมายของชีวิตทุกชีวิตในสังสารวัฏนี้ด้วย เป้าหมายนี้เป็นเรื่องเดียวกับการหมดความทุกข์อย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้ว่าตนเองเป็นเสือที่ถูกฤาษีแปลงร่างมาจากคน สภาวะแห่งพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดนี้เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดมาหรือไม่ก็ตาม มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นและจะอยู่ตลอดไปอย่างนั้น เพียงแต่ไม่มีใครเห็น เปรียบเหมือนกับสระน้ำอมฤตที่มีอยู่แล้วในป่าแต่ไม่มีใครพบ  นี่แหละคือความโดดเด่นของพระพุทธเจ้าที่เข้าไปเจอสิ่ง ๆ หนึ่งที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน จุดนี้เป็นสิ่งที่ปัญญาชนต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นมิใช่หมายความว่าท่านมาสร้างแนวความคิดใหม่ที่แตกต่างจากนักคิดคนอื่น การเห็นสภาวะของพระนิพพานนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคิดนึกแต่อย่างใดทั้งสิ้น การใช้ความคิดของท่านนั้นมาทีหลังเมื่อท่านเริ่มสอน ในขณะนั้นมีแต่เพียง ธรรมนิยาม หมายความว่า การรับรู้(acknowledgement)ต่อสภาวะนั้นของธรรมชาติที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ว่ามันมีอยู่ คำว่า พระนิพพาน อาจจะยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ในขณะที่ท่านกำลังเสวยวิมุติสุขอยู่เพราะท่านยังไม่ได้สอนใคร 

 

 หลังจากที่พระพุทธองค์เห็นสภาวะแห่งพระนิพพานและได้เสวยวิมุติสุขเป็นเวลา ๔๙ วันแล้ว ท่านก็เริ่มคิดว่าควรจะบอกให้คนรู้ในสิ่งที่ท่านเห็นหรือไม่ ตอนแรกท่านดำริที่จะไม่สอนเพราะเห็นว่ามันยากมากมิใช่เป็นวิสัยของคนธรรมดาสามัญจะเข้าใจได้ แต่หลังจากที่ครุ่นคิดแล้วจึงเห็นว่าคนเรานั้นมีปัญญาที่แตกต่างกัน คนที่มีธุลีในดวงตาแต่น้อยอาจจะเห็นได้ ด้วยความเมตตากรุณาอย่างมหันต์ ท่านจึงดำริที่จะสอน หลังจากที่รู้ด้วยญานว่าอาจารย์ทั้งสองท่านเพิ่งเสียชีวิตไป จึงคิดจะโปรดปัญจวัคคีย์ ในขณะที่ท่านเดินทางจากต้นพระศรีมหาโพธิ์มุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น พระพุทธองค์ได้เดินผ่านอาชีวกคนหนึ่งชื่อ อุปกะ เขาเห็นผิวพรรณของนักพรตผู้ที่เพิ่งเดินผ่านไปผ่องใสนัก อาการเยื้องย่างของท่านก็ดูสงบและสง่างามผิดจากนักพรตส่วนมากที่เขาเห็นมา ด้วยความอยากรู้จึงเดินกลับไปถามนักบวชหนุ่มผู้นั้นว่า

ท่านนักพรต ฉวีวรรณของท่านหมดจด ขาวผ่อง อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน ? หรือว่าท่านนิยมคำสอนของใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอาชีวกผู้นั้นอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาตามที่เป็นจริงว่า

เราคือสยัมภู เป็นผู้ครอบงำได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นใหญ่ในตนเองเต็มที่ เราเป็นผู้รู้จบหมด ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งทั้งหลาย ละได้แล้วซึ่งสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา เราหักกงกรรมแห่งสังสารจักรอันเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดด้วยตนเองแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงอ้างใครเล่าว่าเป็นศาสดา อาจารย์ของเราไม่มี ผู้ที่เป็นเหมือนเราไม่มี ผู้จะเปรียบกับเราก็ไม่มี เราเป็นอรหันต์ในโลก เราเป็นครูไม่มีใครยิ่งกว่า เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ดับแล้วเย็นสนิท จะไปสู่เมืองแห่งชาวกาสีเพื่อแผ่พระธรรมจักร จะไปตีกลองแห่งอมตธรรมให้กึกก้องขึ้น[2]

อุปกะชีวกฟังพระพุทธเจ้าตรัสด้วยสายตาที่มิได้แสดงความยกย่องแต่อย่างใดและกล่าวว่า

อาวุโส ท่านเป็นผู้ชนะอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและใหญ่โตปานนั้นเชียวหรือ

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เราพูดตามความเป็นจริง

คงเป็นไปได้นะ อาวุโส คนที่รู้อะไร ๆ ได้เองโดยไม่มีครูอาจารย์ ท่านวิเศษเกินไปเสียแล้ว

อุปกะชีวกพูดอย่างเย้ยหยัน แลบลิ้น ส่ายศรีษะ แล้วก็เดินหลีกไปด้วยความคิดว่าท่านโอ้อวดตัวเอง 

ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอะไรเกินความจริงเลย สยัมภู หมายถึง พระผู้เป็นเอง คือ ตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสั่งสอน คำว่าพุทธะก็คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งก็เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติที่แท้จริงของท่าน อย่างไรก็ตาม การบอกเล่าของพระพุทธองค์อันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ท่านรู้ในครั้งนั้นต้องนับว่าเป็นสิ่งที่ขาดประสบการณ์มากกว่าจะเรียกว่าล้มเหลว

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นคงจะทำให้พระพุทธเจ้าต้องคิดถึงวิธีการสอนที่จะให้คนรู้ตามท่านได้ นี่แหละจึงมาถึงขั้นตอนที่ท่านเริ่มใช้ความคิดว่าควรจะพูดอย่างไร และใช้วิธีการอะไรอย่างไรจึงจะสามารถทำให้คนเห็นสภาวะนั้นในธรรมชาติได้ หากไม่ได้พบอุปกะชีวกก่อน ท่านอาจจะไม่ได้คิดวางแผนอะไรทั้งสิ้น ท่านอาจจะตรัสกับปัญจวัคคีย์เหมือนที่ท่านตรัสกับอุปกชีวกก็ได้ อย่างไรก็ตาม ท่านเริ่มเรียนรู้จากความผิดพลาดทันที  การวางแผนการสอนของท่านนั้น ฝรั่งจะเรียกว่าเป็นการสร้าง strategy  นี่เหมือนกับขั้นตอนที่ชายในป่าออกมาเขียนแผนที่ที่จะให้คนเข้าไปถึงสระน้ำอมฤตได้  ฉะนั้น คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าก็คือแผนที่บอกทางที่จะให้คนเห็นสภาวะของพระนิพพานหรือสัจธรรมอันสูงสุดตามท่านนั่นเอง จะต่างกันหน่อยก็คือ นี่เป็นแผนที่ชีวิต และแผนที่ฉบับแรกของท่านคือ ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร ซึ่งท่านจะต้องคิดวางแผนและเรียบเรียงการพูดหลังจากที่แยกทางกับอุปกะชีวกและก่อนที่จะพบกับปัญจวัคคีย์  

 

การรู้สภาวะแห่งการหลุดพ้นซึ่งเหมือนกับรู้ว่าสระน้ำอมฤตอยู่ที่ไหนนั้น การจะบอกทางผู้อื่นให้รู้ตามนั้นจำเป็นต้องบอกบริเวณกว้างก่อนแล้วค่อย ๆ แคบลงมา เหมือนกับบอกคนว่าถ้าจะไปวัดธารน้ำไหลแล้ว ต้องไปทิศใต้ก่อน จังหวัดสุราษฏ์ธานี ไปให้ถึงอำเภอไชยา จากไชยาก็ไปตามถนนสายตะวันออกอีกหกกิโลก็จะเห็นวัดธารน้ำไหลอยู่ขวามือ หรือ เหมือนกับชายคนนั้นต้องบอกให้คนรู้ว่าสระน้ำอมฤตอยู่ทางทิศตะวันออกของป่า ฉะนั้น อย่าเดินไปทางทิศตะวันตก เหนือ หรือใต้ เพราะถ้าหลงทิศแล้วละก็จะเสียเวลามากถึงแม้จะวกกลับมาได้ทีหลังก็ตาม ฉะนั้น ในบทธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้น ก่อนที่ท่านจะเข้าสู่เรื่องอริยสัจสี่นั้น ท่านเริ่มเตือนก่อนว่า ทางแห่งความสุดโต่งทั้งสองทางนั้นไม่ถูกต้อง คือการทรมานตนกับการเสพที่เกินความจำเป็น นี่เท่ากับบอกทิศก่อน ว่าพระนิพพานอยู่ทิศไหน และบอกต่อว่าทางที่ถูกต้องต้องเป็นทางสายกลาง ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าเดินตรงกลาง แต่หมายถึงทางแห่งอริยมรรคมีองค์แปดประการที่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิและจบลงด้วยสัมมาสมาธิ พอท่านพูดเรื่องกว้างแล้ว ท่านจึงเข้าสู่เรื่องอริยสัจสี่ ซึ่งเป็นขั้นตอนการบอกทางที่เริ่มแคบเข้ามาอีกหน่อยหนึ่ง เพราะว่าคนในยุคนั้นต่างต้องการรู้ว่าจะเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้น เรื่องอริยสัจสี่ จึงเป็นขั้นตอนของการเรียกความสนใจในสิ่งที่คนอยากรู้จริง ๆ ในยุคนั้น เพราะท่านได้เรียนรู้จากอุปกชีวกแล้วว่า หากไม่พูดเรื่องในสิ่งที่คนสนใจแล้ว เขาอาจจะเดินหนีอีกก็ได้ ท่านจึงเอาจุดที่คนสนใจขึ้นมาพูด  ฉะนั้น เรื่องทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์นั้น เท่ากับเป็นการเกริ่นเรียกความสนใจ ซึ่งรายละเอียดนั้นท่านก็เริ่มจากวงกว้างอีกคือพูดเรื่องเกิด แก่เจ็บตายเป็นทุกข์ จนในที่สุดพูดเรื่องอุปาทานขันธ์ทั้งห้าก็เป็นทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมากขึ้น   พอมาถึงอริยสัจข้อที่สามหรือนิโรธสัจนั้นพระพุทธองค์ก็นำเข้าเรื่องสัจธรรมที่ท่านพบทันที การเห็นสัจธรรมอันสูงสุดนั้นหมายถึงการสามารถประสานกับเรื่องทุกเรื่องของจักรวาล ฉะนั้น ท่านจึงสามารถพูดให้สอดคล้องกับเรื่องทุกข์ที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้น โดยบอกว่าสภาวะแห่งการดับทุกข์นั้นมีอยู่ซึ่งก็เป็นสภาวะเดียวกับสัจธรรมอันสูงสุดนั่นเอง หลังจากนั้นก็ย้ำเรื่องวิถีทางที่จะให้ถึงการดับทุกข์นั้นอีกครั้งหนึ่งอันเป็นอริยสัจข้อที่สี่ คืออริยมรรคมีองค์แปด

 

 ในอริยสัจสี่นั้น จะเห็นชัดว่าท่านวางผลมาก่อนเหตุ อริยสัจข้อที่สามคือนิโรธมาก่อนอริยสัจข้อที่สี่คือ มรรค ซึ่งดูแล้วเหมือนกับผิดหลักวิทยาศาสตร์ที่เหตุจะต้องมาก่อนผล มันจะผิดไม่ได้เพราะนี่เป็นประสบการณ์ของคน ๆ แรก (ชายหลงป่าพบสระน้ำอมฤต) เพราะถ้าไม่มีคนแรกที่ไปรู้ความจริงว่าเรามิใช่เป็นเสือแล้ว การบอกทางจะไม่มี  เราก็อยู่อย่างเสือ ๆและโง่ ๆ มืด ๆ ต่อไปตราบนานเท่านาน ท่านเห็นผลก่อน การบอกทางที่จะไปสู่ผลจึงเกิดตามมา  ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนแรกที่บอกความจริงกับเราว่าเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตคืออะไรกันแน่  และพระพุทธเจ้าคือบุคคลแรกที่มาบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตไม่เพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้นแต่คลุมไปถึงชีวิตที่เกิดในภพภูมอื่นในสังสารวัฏนี้ด้วย การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงกระเทือนไปทั่วสามโลก คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และ ยมโลก ฉะนั้น บทธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้นนับว่าเป็นแผนการ strategy หรือแผนที่ชีวิตฉบับแรกที่เริ่มวางหลักบอกทางให้คนรู้และเข้าถึงสิ่งที่ท่านได้พบ นี่เป็นขั้นตอนที่ท่านต้องใช้ความคิด ความสามารถของนักปราชญ์ คือจะต้องรู้ว่าคนต้องการอะไร จะรับได้อย่างไร หลังจากแผนที่ฉบับแรกนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็เขียนแผนที่ของท่านเรื่อยมาจนในช่วงหลังนั้นท่านสามารถสร้างแผนที่ที่ละเอียดถี่ยิบเพื่อกันให้คนหลงทางได้น้อยที่สุด แผนที่ชีวิตที่นับว่ามีความละเอียดมากที่สุดคือเรื่องมหาสติปัฏฐานสี่

 

ฉะนั้น เมื่อยอมรับการตรัสรู้ของพระพุทธองค์แล้ว ขั้นตอนของผู้รู้ตามจะต้องสาวจากเหตุไปหาผล เปรียบเสมือนการเดินตามแผนที่ที่ชายหลงป่าบอกเพื่อไปให้ถึงสระน้ำอมฤต ชาวพุทธจึงต้องเดินตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์แปดซึ่งเป็นแผนที่ชีวิตเพื่อไปให้ถึงพระนิพพาน ฉะนั้น สำหรับสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องเป็นเรื่องของ มรรค ผล นิพพาน คือ เดินตามองค์มรรค เพื่อไปสู่ผล 

 

ผู้ที่มีปัญญาและมีธุลีในดวงตาเพียงเล็กน้อยจะเข้าใจทันทีว่าการเกิดมาของพระพุทธเจ้านั้นมีความสำคัญต่อชีวิตทุกชีวิตมากเพียงไหน หากไม่ใช่เป็นความเมตตากรุณาอย่างมหันต์ของพระพุทธองค์ที่ดำริจะสอนแล้วไชร้   ชีวิตทุกชีวิตในสังสารวัฏนี้ก็ต้องอยู่อย่างมืดมนต่อไปอีกนานแสนนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสำหรับคนเข้าใจเพราะเราจะต้องทนทุกข์ต่อไปอีกนานมาก  มีคำพูดที่คนไทยมักจะฟังจนเฝือและไม่เข้าใจคือ พระมักจะบอกว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานั้นมันยากแสนยาก หากไม่สนใจการปฏิบัติธรรมแล้วก็จะเสียชาติเกิด  ซึ่งเป็นความจริงอย่างมาก แต่คนส่วนมากก็ไม่เข้าใจว่าทำไม

 

การจะเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างไรนั้น ในอริยมรรคมีองค์แปดเริ่มต้นด้วยความเห็นชอบคือต้องเห็นและยอมรับว่าพระพุทธเจ้าพบสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น และจำเป็นที่จะต้องฟังคำแนะนำของท่านว่าต้องเดินทางอย่างไรจึงจะถึงเป้าหมายนั้น ถ้าหากไม่ยอมรับในเรื่องที่พระพุทธเจ้าค้นพบแล้วก็เป็นอันหมดเรื่องพูด เหมือนกับคนที่ไม่ยอมเชื่อว่าเราไม่ใช่เป็นเสือนะแต่เป็นคน ถ้าไม่เชื่อก็ยินดีในความเป็นเสือต่อไป  คนฉลาดฟังแล้วจะรีบขวนขวายหาความรู้ ผู้ที่อยากถึงเป้าหมายจริง ๆ ต้องสนใจเรื่องสมาธิวิปัสสนาภาวนาให้มากโดยเฉพาะเรื่องสติปัฏฐานสี่ ซึ่งเป็นแผนที่บอกทางที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้นในระยะหลัง หลังจากที่มีประสบการณ์ในการสอนมากขึ้น จึงสามารถบอกทางที่ลัดสั้นที่สุดได้ สติปัฏฐานสี่คือทางลัดและเป็นทางเอกที่จะไปถึงพระนิพพานได้เร็ว ในช่วงหลังของพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าจะเน้นเรื่องสติปัฏฐานสี่มากกว่าเรื่องอื่น ๆ  ผู้ที่มีบุญบารมีอยู่บ้างจะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมตนเองจึงโชคดีที่ได้มาพบพระพุทธศาสนา  ควรจะเร่งรีบหาพระหรือผู้ที่สามารถสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่ให้ได้และพยายามเร่งรีบปฏิบัติจนบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดโดยเร็ว

 ผู้ที่ยังนิ่งนอนใจและคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องศึกษาพุทธศาสนาเพราะไม่มีปัญหาชีวิต ก็ต้องจัดอยู่ในประเภทที่น่าสมเพทและน่าสงสาร พระพุทธองค์เรียกสังสารวัฏนี้ว่าวัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิดนี้มันเป็นสิ่งที่น่าสงสารมาก  เพราะคนเหล่านี้ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ถูกความทุกข์รบกวน ที่จริงถูกความทุกข์รบกวนแล้วแต่ด้วยความโง่จึงไม่รู้ จึงใช้ชีวิตอย่างมืดมนดิ้นรนหาเลี้ยงชีพเหมือนความเป็นอยู่อย่างเสือ ไร้สาระ ขาดแก่นสาร เป็นบุคคลที่เรียกว่า เสียชาติเกิด เพราะชาติหน้าอาจจะไม่โชคดีมาเจอศาสนาพุทธอีกก็ได้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างไม่จบไม่สิ้น 

 

ผู้ที่พอเข้าใจเรื่องนี้ได้จึงไม่ควรประมาท ควรเร่งรีบศึกษาและปฏิบัติทันที หากไม่เข้าใจสัจธรรมที่พระพุทธองค์ค้นพบแล้ว คนเราจะไม่มีวันเข้าใจอะไรได้เลยถึงแม้จะได้ปริญญาทางโลกมากมาย

 

 

 

 



[1] เหตุผลที่แท้จริงแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือ การที่ท่านได้สั่งสมบารมีที่ปราถนาจะเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้ามาแล้วอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งชาติสุดท้ายได้เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ บารมีที่ปราถนาพุทธภูมิได้ถึงความสุกงอมจนเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

[2] คัดลอกจากนิยายธรรมะเรื่อง พุทธจริยา ของวศิน อินทศระ