บทที่สาม

พระนิพพานอยู่ที่ไหน ?

 

สมัยเด็ก ๆ เมื่อดิฉันได้ยินคำว่าพระนิพพาน มักจะนึกภาพของสวรรค์ที่สวยสดงดงามเต็มไปด้วยนางฟ้าและเทวดา และเป็นสถานที่ที่คนธรรมดาสามัญอย่างเรา ๆ ไม่สามารถไปถึงได้เพราะมันไกลเหลือเกิน ผู้ที่ไปได้คือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์องค์เจ้าแก่ ๆ เท่านั้น ดิฉันเชื่อว่าชาวพุทธส่วนมากมักจะคิดเช่นนี้ ดิฉันมาเข้าใจว่าพระนิพพานหมายถึงธาตุเย็นเมื่อได้พบคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกข์ ตอนนั้นดิฉันอายุ ๒๐ ปีเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มาสด ๆ ร้อน ๆ ในหัวใจจึงเต็มไปด้วยคำถามที่ใคร่อยากรู้ความหมายที่แท้จริงของชีวิต อยากจะรู้เหลือเกินว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไรกันแน่ ทำไมคนดี ๆ และยังหนุ่ม ๆ สาว ๆ จู่ ๆ จึงมาถูกคนเลวยิงตายทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหนและวัดกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิฉันอยากจะทราบว่าอะไรคือสัจธรรมอันสูงสุด การมาพบสวนโมกข์กับท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้ดิฉันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่าได้เข้าใกล้สัจจธรรมมากขึ้น แต่สิ่งนั้นคืออะไรแน่นอน ก็ยังไม่เข้าใจได้อย่างแน่ชัด ความทุกข์ใจอันเนื่องจากความปั่นป่วนทางการเมืองในยุคนั้นจนเพื่อนสหายต้องเสียชีวิตหรือไม่ก็หนีเข้าป่าหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พร้อมกับการเผชิญปัญหาชีวิตส่วนตัวทำให้ดิฉันอดทนและพยายามปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อคลายความทุกข์ใจของตนเอง การทำสมาธิดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวในขณะนั้นที่สามารถเอาก้อนทุกข์ออกจากจิตใจของดิฉันได้สักช่วงหนึ่ง ดิฉันฝึกสมาธิไปอย่างล้มลุกคลุกคลาน จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาก็ได้ล่วงพ้นไปแล้ว ๒๕ ปี

 

คำถามต่าง ๆ ที่ดิฉันอยากรู้อยากเห็น ก็ได้รู้ได้เห็นแล้วส่วนหนึ่ง ถึงแม้จะไม่หมดทุกอย่างก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ดิฉันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยมสมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์และโชคดีที่ได้พบพระพุทธศาสนา การตอบแทนบุญคุณของครูบาอาจารย์โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การแจกธรรมให้แก่ผู้ใคร่รู้

 

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสามารถเชื่อมโยงได้อย่างเด่นชัดในขณะนี้คือ ดิฉันรู้ว่าสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาลกับพระนิพพานนั้นที่จริงคือสิ่งเดียวกัน นอกจากนั้น ดิฉันยังสามารถเข้าใจได้ว่า พระนิพพานไม่ใช่เป็นเมืองแก้วเมืองสวรรค์อันสวยสดงดงามและสงวนไว้แต่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์แก่ ๆ อย่างที่เคยคิด ที่จริงแล้ว พระนิพพานอยู่ตรงหน้าของคนทุกคนนี่เอง เพียงแต่มองไม่เห็นกันเท่านั้น และเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเห็นได้มิใช่เป็นของสงวนไว้แต่ผู้วิเศษเท่านั้น  นี่คือสิ่งที่ดิฉันนึกไม่ถึงและไม่กล้าคิดนึกมาก่อนว่าพระนิพพานจะอยู่ใกล้ตัวมากถึงเพียงนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าผู้ที่มีธุลีในดวงตาแต่น้อยจะเห็นแต่คนมีมากจะไม่เห็น ตัวอย่างที่ดิฉันจะยกขึ้นมาอาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

บางท่านอาจจะเคยเห็นภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิติ ฝรั่งบางทีเขาเรียก magic eye ภาพสามมิตินั้นที่จริงแล้วก็อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง แต่เรามองไม่เห็น การจะมองให้เห็นนั้นจะต้องมีเทคนิคในการมอง เทคนิคอย่างหนึ่งคือ การเอาภาพมาจ่อติดหน้าก่อน แล้วค่อย ๆ เคลื่อนภาพนั้นออกไป ทำสายตาเลื่อนลอยเหมือนกับไม่มองเน้นอะไร และแล้วภาพสามมิติอันสวยงามก็จะปรากฏแก่สายตาของผู้มอง ผู้ที่ยังไม่ชำนาญก็อาจจะมองเห็นแป๊บเดียว พอเคลื่อนสายตาหน่อย ภาพสามมิติอันสวยสดงดงามก็จะหายไป เหลือแต่ภาพแบน ๆ สองมิติที่ไม่มีความสวยงามแต่อย่างใด ผู้ที่ชำนาญซึ่งมักจะเป็นเด็ก ๆ อาจจะไม่ต้องทำเช่นนี้เลย แค่ขยับสายตาให้เหมาะ ๆ ก็จะเห็น และจะสามารถเห็นได้นานกว่าผู้ที่ไม่ชำนาญ บางคนทำยังไงก็ไม่เห็นเพราะไม่สามารถเรียนรู้เทคนิคการมองนั้นได้

 

การยกตัวอย่างของภาพสามมิตินี้เพราะเป็นตัวอย่างที่สมจริงกับเรื่องการเห็นพระนิพพานหรือไม่ เรื่องพระนิพพานไม่ใช่เป็นเรื่องการพยายามเข้าใจด้วยความคิดเรียบเคียงหรืออนุมานเอาว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ว่าภาพสามมิติของดอกทิวลิป ๑๐ ดอกควรจะเป็นอย่างไร เราสามารถคิดได้ร้อยแปดพันอย่าง แต่เมื่อเห็นของจริงแล้วจึงรู้ว่าไอ้ที่นึกคิดนั้นมันไม่เหมือนกับของจริงสักอย่างเดียว ของที่คิดกับของจริงที่เห็นกับตานั้นเทียบกันไม่ได้เลย พระนิพพานจึงเป็นเรื่องของการเห็น เพื่อความเด่นชัดและง่ายแก่การเข้าใจของผู้อ่าน ดิฉันจะเน้นในที่นี้ก่อนว่าทุกคนสามารถจะเห็นพระนิพพานได้ด้วยตาเนื้อนี่แหละเช่นเดียวกับการเห็นภาพสามมิติ[1] ข้อแตกต่างระหว่างการเห็นภาพสามมิติกับเห็นพระนิพพานคือ ภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิตินั้นเป็นคนละภาพกัน แต่พระนิพพานนั้นเป็นภาพซ่อนที่มีลักษณะเหมือนกับภาพที่เราเห็น ๆ อยู่ และไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เช่น หากให้บุคคลสองคนมานั่งดูแจกันดอกไม้อันเดียวกัน คนหนึ่งยังเป็นปุถุชนธรรมดา อีกคนหนึ่งเป็นพระอริยบุคคลในระดับพระอนาคามีหรือพระอรหันต์แล้ว  คนที่เป็นปุถุชนจะไม่เห็นพระนิพพานในขณะที่มองแจกันดอกไม้นั้น ในขณะที่พระอริยบุคคลจะเห็นพระนิพพานในขณะที่มองแจกันดอกไม้อันเดียวกันนั้น  ความแตกต่างระหว่างการมองแจกันดอกไม้ของพระอนาคามีกับพระอรหันต์คือ พระอนาคามีอาจจะเห็นพระนิพพานอยู่สักระยะหนึ่ง และก็หายไปเหมือนกับผู้ที่ยังไม่ชำนาญพอที่จะเห็นภาพสามมิติได้นาน ๆ ในขณะที่พระอรหันต์สามารถเห็นพระนิพพานได้อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดาโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 จะเห็นได้ว่า การเห็นพระนิพพานจะพูดว่าเป็นเรื่องง่ายที่สุดก็ได้หรือจะพูดว่าเป็นเรื่องยากที่สุดก็ได้เช่นกัน ง่ายที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา  ยากที่สุดเพราะ หากเป็นเรื่องที่อยู่ตรงหน้าแค่นี้และเรามองไม่เห็นแล้ว มันจะมีอะไรยากกว่านี้อีกเล่า คนที่สันทัดเรื่องตอบปัญหาเชาว์ละก็ จะรู้ว่าเรื่องเส้นผมบังภูเขานี่ยากที่สุด เพราะไม่มีใครนึกถึง เรื่องเส้นผมบังภูเขานี่แหละ หากใครไปคิดมากเข้าจะไม่มีทางได้เห็นเลย คนที่เห็นพระนิพพานแล้วย่อมเห็นเป็นเรื่องง่าย และกลายเป็นเรื่องธรรมดา พระอรหันต์จึงเป็นบุคคลที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาอย่างถึงที่สุด คนที่ยังไม่เห็นจึงคิดไม่ออกว่าพระนิพพานเป็นธรรมดาอย่างไร และมักจะพูดเกินและยกย่องจนเกินไป (over glorify) จนคนธรรมดาที่มีสิทธิ์จะเห็นกลับไม่เห็น ดังที่ดิฉันเคยคิดว่ามันอยู่ไกลแสนไกลจนไปไม่ถึง สำหรับคนที่ยังไม่เห็นนั้นจึงเป็นเรื่องยากแสนยาก ยากถึงขณะที่จะต้องสร้างบารมีกันเป็นหลายภพหลายชาติชั่วกัปชั่วกัลย์เพื่อว่าสักชาติหนึ่งในอนาคต บารมีจะเปี่ยมล้นและเพียงพอที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นพระนิพพานที่อยู่ตรงหน้าเราได้  ความเป็นธรรมดาอย่างหาที่ติไม่ได้นี่แหละคือความโดดเด่นของพระนิพพาน

 

ในลักษณะเดียวกับที่เราจะต้องฝึกเทคนิคการดูภาพสามมิติที่ซ่อนอยู่ในภาพสองมิติ ผู้ที่อยากจะเห็นพระนิพพานจึงจำเป็นต้องฝึกเทคนิคการดูพระนิพพานให้เห็น เทคนิคโดยตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้คือเรื่องวิปัสสนาภาวนา หรือเรื่องสติปัฏฐานสี่ ผู้ฝึกจะต้องมีความพยายามทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ครูบาอาจารย์สอน ผู้ที่เคยฝึกเรื่องสติปัฏฐานแล้วจะรู้ว่าเป็นเรื่องการฝึกเทคนิคต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับจริตนิสัยของตนเอง เช่น การฝึกดูลมหายใจเข้าออก การฝึกดูสภาวะของท้องที่พองยุบเมื่อหายใจ การฝึกให้มีสติอยู่กับการเดินหรือที่เรียกว่าเดินจงกรม การกำหนดสติในอิริยาบทต่าง ๆ การดูความเจ็บปวดของร่างกาย การดูอารมณ์ความรู้สึกในจิตใจ หรือ แม้แต่การเฝ้าดูการเกิดดับของความคิด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการฝึกเทคนิคทั้งสิ้นเหมือนกับการเรียนขับรถ หรือ ฝึกการดูภาพสามมิติ การฝึกเทคนิคเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการใช้ความคิดวิเคราะห์แต่เป็นการฝึกนิสัยใหม่ ความเคยชินใหม่ ๆ เช่น เคยเดินไปคิดไป กินไปคิดไป เมื่อมาฝึกสติปัฏฐานแล้ว ก็จะเดินเฉย ๆ กินเฉย ๆ ไม่คิดไปด้วย อย่างนี้เป็นต้น

 

ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันอยากจะให้กำลังใจแก่ทุกคนว่า พระนิพพานมิได้อยู่ไกลจนเอื้อมไม่ถึง สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือ การฝึกเทคนิค การสร้างนิสัยใหม่ให้แก่ตนเองโดยแนวทางแห่งสติปัฏฐานสี่ที่พระพุทธเจ้าได้ปูทางไว้แก่ทุกชีวิตในสังสารวัฏนี้ ท่านได้เน้นนักหนาว่าสติปัฏฐานสี่เป็นทางเอกสายเดียวที่จะยังสัตว์โลกให้ถึงพระนิพพานได้ ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องการฝึกสติปัฏฐานก็ควรเร่งรีบหาผู้รู้สอนให้  เช่นพระสงฆ์องค์เจ้า ไม่จำเป็นต้องไปรู้มากมายหลายเทคนิค เอาวิธีการเดียวที่เหมาะสมกับนิสัยเรา และก็อดทนมุ่งมั่นทำไป ฝึกไป จะต้องมีวันหนึ่งที่เห็นพระนิพพานได้เอง หากไม่เห็นชาตินี้ ผลบุญบารมีที่สร้างไว้ก็จะเป็นปัจจัยให้เราเห็นได้ในชาติหน้าหรือชาติต่อไป การเห็นพระนิพพานก็คือการเห็นสัจจธรรมอันสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง.

 

 



[1] จำเป็นที่จะต้องพูดว่าเห็นด้วยตาเนื้อก่อน ในบทหลังจึงจะเปิดเผยว่า การเห็นพระนิพพานจะต้องเห็นด้วย “อายตนะนั้น” อันเป็นอายตนะเดียวที่ไม่แบ่งแยก ขอผู้อ่านพยายามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ตามแต่ละขั้นตอนที่วางไว้ให้ก่อน ไม่ควรรีบร้อน