บทที่ห้า

 

โครงสร้างของชีวิต

 

ในสี่บทที่แล้วดิฉันได้พยายามทำให้ผู้อ่านเห็นและเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรและสอนอะไร หากผู้อ่านยังมีความสงสัยและไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ค้นพบสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว เป็นการยากยิ่งที่จะเข้าใจในสิ่งที่ดิฉันจะพูดต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่มีความสงสัยในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะหันมาดูโครงสร้างของชีวิตมนุษย์ว่าควรจะเป็นอย่างไร นักการศึกษามักชำนาญที่จะพูดเรื่องโครงสร้างของอะไรต่อมิอะไรจนเกลื่อนไปหมด แต่โครงสร้างของชีวิตที่มีร่างกายและจิตใจนี้มักจะไม่ค่อยมีคนพูดถึง คงเป็นเพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร

 

โครงสร้างของชีวิตจะต้องเริ่มต้นตรงการรู้จุดหมายปลายทางของชีวิตที่แท้จริง ความรู้นี้เป็นผลโดยตรงจากการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ปราศจากจุดนี้แล้วเราจะไม่รู้ว่าชีวิตควรจะไปเหนือหรือไปใต้ ออกหรือตก เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้อ่าน ดิฉันจะรวบรวมคำพูดและคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตมาเขียนไว้เพื่อจะได้ทราบว่าสิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วมันหมายถึงสิ่งเดียวกัน เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตคือ การเห็นสัจธรรมอันสูงสุดของธรรมชาติทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับ การเห็นหรือการเข้าถึงพระนิพพานอย่างถาวร ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับการเป็นพระอรหันต์ผู้เข้าถึงสภาวะแห่งการหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีความหมายเดียวกับการเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติธรรมดา (ตถตา) อย่างถาวร คำพูด เหล่านี้ล้วนแต่หมายถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตทุกชีวิตทั้งสิ้น

 

เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สัตว์โลกทั้งหลายจึงมีโอกาสได้รู้ถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต หากไม่รู้จุดนี้แล้วเราจะไม่สามารถสานตะข่ายของชีวิตต่อได้  เพื่อให้ง่ายต่อการเห็นภาพและการอธิบาย ดิฉันจะแปรรูปโครงสร้างของชีวิตออกเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า

 

          

 

 

 

 

     เห็นสัจธรรมอันสูงสุด เข้าถึงพระนิพพาน หมดทุกข์สิ้นเชิง เป็นพระอรหันต์ เป็นตถตา


                    

                         ศีล                               ปัญญา                                 สมาธิ

                    

 

 

 ส่วนยอดสุดของสามเหลี่ยมนี้คือ เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตคือความเป็นพระอรหันต์หรือการเข้าสู่พระนิพพานอย่างถาวร ฐานของสามเหลี่ยมจะเป็นวิธีการเข้าถึงเป้าหมายอันสูงสุดนั้นซึ่งที่จริงแล้วคือ เรื่องอริยสัจข้อที่สี่หรืออริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง  ถ้าจะแบ่งโดยการรวมกลุ่มจะได้เป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มศีล สมาธิ และ ปัญญา ดิฉันจะเอาปัญญาไว้ส่วนกลางของฐาน ในขณะที่ศีลอยู่ซ้ายมือ และสมาธิอยู่ขวามือของฐาน

 

ในที่สุด เราจะได้รูปสามเหลี่ยมที่สามารถอธิบายถึงโครงสร้างของชีวิตได้อย่างชัดเจน ลูกศรกลางชี้จากปัญญาขึ้นสู่ส่วนบนของรูปสามเหลี่ยม หมายความว่าคนเราจะต้องมีปัญญาอย่างน้อยที่สุดก็ในขั้นพื้นฐานที่บอกให้รู้ว่า ชีวิตนี้ต้องมีเป้าหมายคือให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรซึ่งเป็นวลีที่กินความลึกและครอบคลุมความหมายในส่วนกว้างสุดของชีวิต ผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างหมดจดคือพระอรห้นต์เพราะสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดได้ เมื่อรู้ว่าจะต้องแสวงหาอะไรอันเป็นเป้าหมายของชีวิตแล้ว จะต้องรู้ต่อไปว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถถึงจุดหมายอันสูงสุดนั้น หรือจะทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งวิธีการหลักมีสองอย่างคือ ต้องรักษาศีล และต้องทำสมาธิ ฉะนั้น ปัญญาคือเรื่องต้องรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนศีลกับสมาธิคือเรื่องต้องทำ

 

คนส่วนมากมักจะสงสัยว่าศีลกับสมาธิอันไหนสำคัญกว่ากัน บางกลุ่มก็เน้นที่ศีลมากแต่บางกลุ่มก็เน้นที่สมาธิมากกว่า การจะเข้าใจได้อย่างเด่นชัดว่าอันไหนสำคัญมากน้อยกว่ากัน เราต้องหันกลับมาดูที่เป้าหมายคือส่วนบนของสามเหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง หากดิฉันจะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า ความเป็นพระอรหันต์คือความที่มีจิตนิ่งสนิทไม่ซัดส่ายไปทางไหนเลยแม้แต่น้อยนิด จะทำให้เข้าใจเรื่องศีลกับสมาธิได้ชัดขึ้น การรักษาศีลกับการทำสมาธิภาวนานั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งในแง่ที่ว่า การรักษาศีลอย่างไม่ด่างพร้อยนั้นจะสามารถตรึงจิตไม่ให้ซัดส่ายไปมาได้ถึงห้าสิบเปอร์เซนต์ จิตจะสามารถอยู่นิ่งได้ส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องมานั่งคิดมากว่าไปทำอะไรผิดมา ธรรมชาติของจิตของปุถุชนสามัญนั้น พอทำอะไรผิดศีลแล้ว จิตจะว๊อกแว่ก วิตกกังวลเพราะกลัวคนจับผิดได้ จิตใจจึงซัดส่ายไปมายากที่จะทำให้หยุดส่ายได้ ฉะนั้น หากเปรียบเป็นเรื่องการทำงาน การมีศีลก็เท่ากับว่าทำงานเสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่าจิตจะสงบอย่างไร การซัดส่ายของจิตในบางครั้งไม่ได้เกิดจากการผิดศีลแต่อย่างใด คนมากมายอาจจะสามารถรักษาศีลได้โดยไม่ด่างพร้อย แต่เขาเหล่านั้นก็ยังไม่มีความสงบสุขเสมอไป ความไม่สงบของจิตอีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการคิดมาก และไม่สามารถหยุดการคิดมากได้ บางคนอาจจะรักษาศีลเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีความกลัว เช่น กลัวคนหัวเราะเยาะเมื่อทำอะไรเปิ่น ๆ ออกไป กลัวจน กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต กลัวถูกปล้น กลัวเป็นมะเร็ง กลัวตาย กลัวความมืด ความกลัวของคนเรานั้นมีสารพัดอย่างที่แจกแจงได้ไม่ถ้วน ความกลัวเหล่านี้เนื่องมาจากการคิดมาก  คนที่รักษาศีลได้เก่ง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะโกรธ เกลียด หรือ อิจฉาคนไม่เป็น ความรู้สึกเหล่านี้นอกจากพระอรหันต์แล้วมีกันทั้งนั้น จะต่างกันก็แต่มีมากมีน้อย ถึงแม้จะโกรธง่ายหายเร็ว แต่ในช่วงโกรธนั้น จิตของคนเราจะซัดส่ายไปมามากที่สุดจนกระทั่งกลายเป็นความเร่าร้อนในจิตใจอันสุดแสนจะทรมาน คนที่รักษาศีลเก่งก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความอยาก ถึงแม้จะไม่อยากได้ของๆ คนอื่น แต่ก็ยังมีความอยากที่จะมีโน่นมีนี่เป็นของตนเองหรืออาจจะอยากมีชื่อเสียงในทางหนึ่งทางใด อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราก็มีความสำคัญบ้างเหมือนกัน ความอยากเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องผิดศีล แต่เมื่อไม่ได้สมอยากก็สามารถทำให้จิตใจซัดส่ายและกลายเป็นความทุกข์ได้เหมือนกัน

 

ฉะนั้น การซัดส่ายไปมาของจิตในอีกห้าสิบเปอร์เซนต์ที่เหลือนั้นจะสามารถหยุดมันได้ก็ด้วยการฝึกสมาธิภาวนา ซึ่งมีสองวิธีการหลัก คือสมถะภาวนากับวิปัสสนาภาวนา การฝึกภาวนานั้นหากไม่สามารถเจาะลึกเข้าไปถึงจุดที่จับการเกิดดับของความคิดได้แล้ว จิตก็จะไม่ยอมหยุดส่ายอยู่ดี  เพราะการซัดส่ายของจิตอันเกิดจากการคิดมากด้งที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเนื่องกับ“นิสัยแห่งจิต” (mental habit) หรือธรรมชาติของจิตที่ขาดการฝึกหัด พูดให้ฟังเข้าใจง่ายกว่านั้น คือ จิตของคนที่ไม่ได้ฝึกนั้นจะมีนิสัยเสีย ชอบวิ่งตามไปกับความคิดโดยไม่จำเป็น พอวิ่งตามความคิดหรือซัดส่ายมันก็เป็นทุกข์  ฉะนั้นการเน้นเรื่องสมถะภาวนาอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องจิตหยุดส่ายได้ เพราะว่าผู้ฝึกอาจจะสงบจิตตนเองได้ในขณะที่อยู่ในสมาธิ แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังต้องมาอยู่ใช้ชีวิตกับชาวโลกและสภาพแวดล้อมอย่างในปัจจุบันที่มีแต่การปลุกเร้าเรื่องผัสสะเพื่อให้จิตคนซัดส่ายตลอดเวลานั้น เมื่อพลังของสมาธิเสื่อม จิตก็จะชัดส่ายอีกและความสงบก็จะหายไป ฉะนั้น คนที่เน้นการฝึกสมาถะภาวนาแต่อย่างเดียวนั้นมักจะโน้มไปสู่การติดสงบ และจะพาลเกลียดสังคมมนุษย์ที่วุ่นวาย ชอบหลีกเล้นหาความสงบขององค์ฌาน

 

การฝึกวิปัสสนาภาวนาหรือเรื่องสติปัฏฐานสี่นั้นจะสามารถเข้าใกล้การแก้ปัญหาคิดมากที่จะทำให้จิตหยุดซัดส่ายได้อย่างสิ้นเชิงอันเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของชีวิต เพราะเป็นเรื่องของการดัดนิสัยจิตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม สมถะภาวนานั้นจะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการฝึกวิปัสสนาภาวนา

 

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของชีวิตนี้เป็นผลผลิตโดยตรงของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าซึ่งมีความเรียบง่ายและเถรตรง มีเพียงสองคำถามหลักเท่านั้นสำหรับชีวิต คือ อะไร และ อย่างไร คือ ชีวิตนี้ควรจะรู้ว่าอะไรเป็นเป้าหมาย และรู้ว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร หากเป้าหมายยังไม่ชัดหรือปัญญายังรู้ไม่ชัดแล้ว การรักษาศีลและการฝึกสมาธิจะหลงทางได้ง่ายมาก หากเปรียบเทียบส่วนบนสุดของสามเหลี่ยมเป็นเกาะ ๆ หนึ่งในมหาสมุทรที่ยิ่งใหญ่และเวิ้งว้าง ปัญญาในส่วนที่เป็นฐานเท่ากับบอกว่ามีเกาะหนึ่งอยู่ทิศไหนของมหาสมุทร ฉะนั้น การมีปัญญาเบื้องต้น หรือมีสัมมาทิฏฐิขององค์มรรคนั้นเท่ากับเป็นการบอกทิศว่าชีวิตมีเป้าหมายคือพระนิพพาน หลังจากรู้ว่ามีเกาะหนึ่งที่ต้องไปให้ถึงแล้ว ศีลกับสมาธิเหมือนกับการแจวเรือเพื่อไปให้ถึงเกาะนั้นหรือให้ถึงพระนิพพาน หากคนแจวเรือโดยที่ไม่มีความรู้เรื่องเกาะที่จะไปถึงแล้ว เรือลำนี้จะแจวไปไหนก็ได้ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้

 

การรักษาศีลและทำสมาธิโดยที่ขาดปัญญาในเรื่องเป้าหมายชีวิตหรือพระนิพพานแล้ว จะทำให้หลงทิศ ทำไปแล้วอาจจะไม่รู้ว่าเพื่ออะไร คนรักษาศีลเก่งอาจจะหลงตัวเองว่าดีกว่าคนอื่น คนทำสมาธิเก่งก็อาจจะเอาแต่สงบและไปติดในสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป การหลงทิศอันเนื่องจากการทำสมาธินั้นจะแก้ไขได้ยากมาก คนที่หลงและติดยึดในวัตถุจะเห็นได้ชัดกว่าการหลงและติดยึดในเรื่องสมาธิ เพราะส่วนที่ติดนั้นเป็นนามธรรม เห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้ จะแก้ให้แก่กันก็ยาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่าเรื่องศีลกับสมถะภาวนานั้นมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ สังคมอินเดียในยุคก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้นเต็มไปด้วยนักพรตที่เก่งในเรื่องการรักษาศีลตามแบบของเขา และการทำสมถะภาวนาก็พัฒนาอย่างเต็มที่เช่นกัน เปรียบเหมือนกับว่าทุกคนพายเรือเป็น แต่เรือนั้นได้แต่วนไปเวียนมาอยู่ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะพายไปไหน ขาดเป้าหมายที่ถูกต้องของการเดินทาง การตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้นเท่ากับทำให้ทุกอย่างชัดมากขึ้น เพราะท่านได้ไปเห็นจุดหมายปลายทางของชีวิตแล้ว จึงสามารถกลับมาบอกทางที่เด่นชัดให้กับผู้เดินทางได้ คนเข้าถึงธรรมได้มากและง่ายในครั้งพุทธกาลเพราะ ผู้คนพายเรือกันอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธองค์ชี้ทิศบอกทางเท่านั้น คนพายเรือเก่งอยู่แล้วแจวทีเดียวก็ถึง เพราะนี่คือเรื่องการเดินทางของจิตใจที่ไม่ต้องใช้เวลามากเท่ากับการเดินทางทางกาย

 

อย่างไรก็ตาม ศีลกับสมถะภาวนาก็ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการเข้าถึงพระนิพพานเป็นอย่างมาก แผนที่บอกทางสายใหม่อันเป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือ เรื่องวิปัสสนาภาวนาหรือสติปัฏฐานสี่ เปรียบเหมือนกับชาวเขาหรือชาวป่าที่ชำนาญลู่ทางในถิ่นของตนเองเป็นอย่างยิ่ง เขาย่อมรู้ทางลัดที่จะพาเขาเดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง หากมีใครเดินหลงป่ามาและสามารถเจอเจ้าของถิ่นและถามทางที่จะนำเขาไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง เจ้าของถิ่นผู้ชำนาญย่อมสามารถบอกทางลัดสั้นที่สุดให้แก่ผู้หลงป่านั้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ได้ทำให้ท่านเป็นผู้ชำนาญในเรื่องชีวิต และสามารถบอกทางลัดสั้นที่สุดเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตได้เร็วที่สุด สติปัฏฐานสี่เป็นการปฏิบัติอันเป็นทางลัดให้คนถึงเกาะแห่งพระนิพพานได้เร็วที่สุด เมื่อใครรู้แล้ว ก็ควรรีบเดินเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้นโดยเร็วสมกับที่โชคดีเกิดมาเป็นมนุษย์และเจอพระพุทธศาสนา เพราะผู้ที่โชคไม่ดีในโลกนี้มีมากมายเหลือคณานับ.