บทที่แปด

 

 

ทำอย่างไรจึงไม่คิดมาก ?

 

ปัญหาของโลกในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม หากวิเคราะห์ให้ดีแล้วจะสาวไปสู่เรื่องเดียวกันหมดคือ การคิดมากของปัจเจกบุคคลและการที่ไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้ กิเลสสำคัญสามตัวที่ชาวพุทธได้ยินกันจนชินหู คือ โลภ โกรธ หลง นั้น เวลาที่มันจะเกิด มันต้องอาศัยเกิดมากับความคิด มันจะไม่สามารถเกิดขึ้นมาลอย ๆ ได้

 

ฉะนั้น ความคิดใดที่มีความโลภติดมาด้วย และไม่สามารถหยุดคิดได้ เจ้าของความคิดนั้นก็จะถูกบีบคั้นจากหัวใจตนเองให้กระทำในสิ่งที่ความคิดสั่งการซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าจะโลภอะไร มากน้อยแค่ไหน คนที่มีความโลภน้อยก็จะปฏิบัติการตอบสนองความโลภของตนอย่างน้อย ๆ ในขณะที่คนโลภมากก็จะตอบสนองความโลภมากขึ้นไปตามลำดับ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกส่วนมากสามารถสาวกลับมาสู่ความโลภของคนได้ ท่านมหาตมะ คานธี บอกว่า ทรัพยากรในโลกนี้มีเพียงพอที่จะเลี้ยงมนุษย์ทุกคนได้ แต่จะไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความโลภของคนเพียงคนเดียว แค่มองปัญหาของโลก ก็จะรู้ว่าคำกล่าวของท่านคานธีนั้นเป็นจริงที่สุด ปัญหาความยากจนของคนหมู่มากเกิดจากความโลภของกลุ่มคนที่มีโอกาสมากกว่าหรือมีมือยาวกว่านั่นเอง ความคิดใดที่มีความโกรธติดมาด้วย เมื่อไม่สามารถหยุดคิดก็ไม่สามารถหยุดโกรธได้ เจ้าของความคิดจึงถูกบีบคั้นให้กระทำในสิ่งที่อารมณ์โกรธบังคับให้ทำ ถึงแม้อารมณ์โกรธจะอยู่กับคนไม่นาน แต่ผลของการกระทำอันเนื่องจากอารมณ์โกรธนั้นมักจะเป็นการทำลายซึ่งกว่าจะรู้สึกตัวก็มักจะสายเสียแล้ว ผลของการกระทำที่เกิดจากความโกรธนั้น จากโกรธน้อยที่อาจจะทำให้คนสองคนทะเลาะเบาะแว้งกันจนขั้นโกรธมากจนอาจถึงขั้นต้องฆ่าฟันกันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เห็นกันอยู่บ่อยมาก หากเป็นความโกรธของกลุ่มคนทั้งชาติรวมกันแล้ว ผลคือ การทำสงครามห้ำหั่นกันจนคนต้องล้มตายกันมากมาย ความคิดโลภกับความคิดโกรธนั้นเกี่ยวเนื่องกันในแง่ที่ว่าเมื่ออยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจหวังก็จะโกรธ

 

ความคิดที่มีความหลงติดมาด้วยคือ ความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับความกลัว ความอาย สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ทุกคนมี ไม่จำเป็นว่าคนนั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ดีก็ตาม ไม่สำคัญ ความคิดที่มีความกลัวติดมานั้นมีสารพัดอย่าง ตั้งแต่กลัวเสียหน้า กลัวผี กลัวจน กลัวเป็นโรคมะเร็งจนถึงกลัวตาย

 

คนทุกคนรู้อีกเช่นกันว่า หากเขาไม่คิดมากแล้ว ก็จะไม่มีปัญหา ที่เป็นปัญหาเพราะตนเองไม่ยอมหยุดคิด ผู้คนจึงหาทางออกด้วยวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้ตนเองหยุดคิดมาก หากเป็นปัญหาธรรมดาที่ไม่เลวร้ายนัก คนก็อาจจะ กิน ดื่ม เสพกาม เที่ยวสนุกสนานและก็จะลืมปัญหาไป หากความคิดที่คุกคามเป็นปัญหาที่ใหญ่และหนักอึ้งแล้ว เจ้าของความคิดนั้นอาจจะต้องพึ่งหมอและยา จากยานอนหลับจนถึงยาระงับประสาทที่มีความแรงในระดับต่าง ๆ   ปี ๆ หนึ่งบริษัทยาในอังกฤษขายยาระงับประสาทที่สามารถทำเงินได้อย่างมากมายมหาศาล คนอีกกลุ่มหนึ่งที่โชคร้ายเพราะคิดว่าไม่มีทางออกสำหรับชีวิตนี้อีกแล้วจึงเลือกทางออกสุดท้ายคือการฆ่าตัวตาย และสถิติของการฆ่าตัวตายก็มีมากขึ้นเสมอ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องการคิดมากของคนเรานั้นมิใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว  องค์การอนามัยโลก (the World Health organization) ได้คาดการณ์ว่าในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า โรคซึมเศร้าหรือจิตใจห่อเหี่ยว (depression) นั้นจะกลายเป็นโรคที่สังคมโลกต้องรับภาระมากเป็นอันดับสองซึ่งรองจากโรคอะไรนั้นเขาก็ไม่ได้บอก อย่างไรก็ตามโรคนี้ได้กระทบคนอังกฤษหนึ่งคนในทุกสี่คน และทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องใช้เงินราว ๘๐๐ ล้านปอนด์ต่อปี เพื่อเป็นค่ารักษารวมถึงการสูญเสียเงินในแง่การผลิตอันเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้[1]

 

ในชีวิตของคนทุกคน จะได้ยินประโยคว่า “อย่าคิดมากเลย” อยู่เสมอ บางครั้งเราเป็นฝ่ายให้คำแนะนำคนอื่น แต่บางครั้งคนอื่นจะให้คำแนะนำเรา เวลาที่เราให้คำแนะนำคนอื่น เรามักจะคิดว่ามันทำได้ง่ายมาก แต่เวลาที่คนอื่นให้คำแนะนำเรา และหากเป็นปัญหาใหญ่ละก็ เราจะรู้เองว่ามันไม่ง่ายเหมือนที่คิด ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่าตนเองก็ไม่อยากคิด แต่ดูเหมือนว่าคนเราจะไม่มีอำนาจอะไรเหนือการบุกรุกของความคิดในหัวเราได้เลย  ทุกคนสามารถเข้าใจได้ดีถึงขบวนการคิดย้ำและคิดซ้ำซากวกไปเวียนมาอยู่ในหัวจนบางคนถึงกับต้องปลิดชีวิตตนเองเพราะทนไม่ได้ต่อการบุกรุกของความคิดและความรู้สึกในหัวใจ  สภาวะเช่นนี้แหละที่พระพุทธเจ้าเปรียบชีวิตมนุษย์เหมือนกับฝุ่นเม็ดหนึ่งที่ติดเข้าไปอยู่ในกงล้อเกวียน หมดความสามารถที่จะหลุดออกมาจากกงล้อนั้นเพื่อหาอิสรภาพแห่งชีวิตได้ หากไม่มีการช่วยเหลือของพระพุทธเจ้าแล้วไซร้ มนุษย์เราก็จะเป็นเม็ดฝุ่นที่ติดในกงล้อเกวียนอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ

 

ผู้ที่ไม่ใช่เป็นชาววัดมักจะพูดเหน็บแนมค่อนขอดคนเข้าวัดว่า คนเหล่านั้นมีปัญหาชีวิตหรือไม่ก็หลงงมงาย  จะมีน้อยคนมากในสังคมที่สามารถเชื่อมโยงปัญหาเรื่องการคิดมากกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริง  ที่จริงแล้ว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องการแก้ปัญหาคิดมากโดยตรง และตรงอย่างที่คนคาดไม่ถึงเลย  การเห็นสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานนั้นคือ สภาวะที่ความคิดทุกอย่างจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบและสิ้นเชิง เรื่องวิปัสสนาภาวนาหรือสติปัฏฐานสี่อันเป็นทางสายตรงที่จะช่วยให้คนเข้าถึงสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดนั้น  หากจะเรียบเรียงคำพูดใหม่ก็คือเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่จะทำให้คนทุกคนสามารถหยุดคิดมากได้ เมื่อไม่คิดมากแล้ว ก็ไม่มีปัญหา พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ เป็นเรื่องการสร้างนิสัยใหม่ให้จิต คือให้จิตคิดน้อยแทนที่จะคิดมากนั่นเอง

 

คนเรามักจะคิดไม่ถึงว่า การคิดมากนั้นเป็นเรื่องของนิสัยแห่งจิต (mental habit) เป็นจิตที่มีนิสัยเสียนั่นเอง การคิดเรื่อยเปื่อย เพ้อฝัน เหม่อลอย และปล่อยให้ความคิดลากไปโดยไม่คิดจะฝืนนั้น นาน ๆ เข้าจะติดและกลายเป็นนิสัยที่กำจัดยาก อะไรก็ตามที่เมื่อติดเป็นนิสัยแล้วจะกำจัดได้ยากมาก หากเป็นนิสัยดีก็เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่นขยัน ตื่นเช้า มักน้อย แต่หากเป็นนิสัยไม่ดีแล้วก็จะเป็นอันตรายกับตนเอง เช่น การสูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นการพนัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นิสัยของกายนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย เช่นใครมีนิสัยชอบกัดเล็บ หรือสั่นเท้า หากสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นว่า ผู้ที่มีนิสัยเสียเหล่านี้มักจะทำไปโดยไม่รู้ตัว การแก้ปัญหาก็คือการทำให้เขารู้ตัวนั่นเอง แล้วเขาจะหยุดเอง  หากเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ก็จะเตือนและเริ่มขบวนการดัดนิสัยให้ได้ ทุกครั้งที่เด็กเริ่มเอานิ้วมือมาจ่อที่ปาก หากผู้ใหญ่เห็นเข้าก็จะรีบเตือนหรือไม่ก็ตีมือเด็ก การทำเช่นนี้คือ การเรียกสติของเด็กกลับมา ให้เด็กรู้ตัว เมื่อรู้ตัวแล้ว เขาก็จะไม่ทำและเอามือลงทันที เมื่อเด็กถูกเตือนบ่อย ๆ เข้า นิสัยเขาจะเริ่มเปลี่ยนและจะมีความรู้ตัวมากขึ้นจนสามารถหยุดกัดเล็บตนเองได้ในที่สุด

 

 การทำอะไรโดยไม่รู้ตัวนั้นได้ทำให้คนเป็นอันมากต้องกลายเป็นอาชญากรไป ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติในการทำผิดกฏหมายมาก่อน เมื่อความโกรธหรือความโลภครอบงำจิตใจแล้ว เขาจะทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัวและสามารถฆ่าบุคคลที่ใกล้ชิตอันเป็นที่รักของตนเองด้วยซ้ำ เช่น สามีฆ่าภรรยา ลูกฆ่าพ่อแม่ หรือในทางกลับกัน เมื่อมีการสัมภาษณ์หรือซักถามขึ้นมาแล้ว คนเหล่านี้จะตอบไม่ได้ว่าทำไม จู่ ๆ เขาจึงทำในสิ่งที่สยดสยองเช่นนี้ได้ลงคอ อาชญกรรมเหล่านี้ปรากฏว่ามีมากขึ้นในสังคมปัจจุบันที่คนมีความเครียดมากขึ้น พระสงฆ์องค์เจ้ามักจะบอกว่าคนเหล่านี้ทำไปด้วยความขาดสติ แต่คนฟังมักจะฟังจนเฝือโดยเฉพาะปัญญาชน และไม่ได้คิดว่าการพูดเช่นนั้นของพระจะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้ ที่จริงแล้ว พระท่านก็พูดตามพระพุทธเจ้า และพูดเรื่องการแก้ปัญหาโดยตรง คือ การดัดนิสัยแห่งจิตเพื่อทำให้คนรู้ตัวมากขึ้น เมื่อรู้ตัวมากขึ้น ความผิดพลาดจากการกระทำก็น้อยลง ก่อนอื่น ขอให้ผู้อ่านเข้าใจเสียก่อนว่า ดิฉันหมายครอบคลุมถึงคนปกติโดยทั่วไปที่ไม่มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับโรคทางสมองอันเป็นปัญหากายภาพ เช่น คนที่เป็นโรคซกีโสฟรีเนีย (schizophrenia) หรือภาษาแพทย์เรียกว่าโรคจิตเสื่อม

 

ความสับสนของการมองปัญหานี้อยู่ที่การให้คำจำกัดความของคำว่า จิต การศึกษาของคนยุคใหม่ซึ่งตามรอยของคนตะวันตกนั้น จิต คือเรื่องของสมองโดยตรง การทำงานของจิตคือการทำงานของสมอง ฝรั่งจะวิเคราะห์ว่า คนคิดมากจนมีปัญหาทางประสาทนั้นสาเหตุหนึ่งเนื่องจากสารเคมีในสมองไม่สมดุลย์กัน ฉะนั้น ทางแก้คือ ต้องใช้ยาที่สามารถปรับให้สารเคมีเหล่านี้เกิดความสมดุลย์กัน ผลคือยาระงับประสาทต่าง ๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนพ่อค้ายาร่ำรวยกันมากมายมหาศาล แต่คนจะหายจากโรคคิดมากหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าดูให้ดีแล้ว หากยานั้นรักษาโรคได้ถูกต้องแล้ว คนจะไม่ต้องการยามากนักหรอก กินงวดเดียวหายแล้วก็แล้วกัน ไม่ต้องซื้อยามากินอีก เหตุที่ยาขายดีเพราะมันใช้ไม่ได้ผลต่างหาก รักษาได้ไม่ถูกโรค แต่ที่ยังขายได้ดีอยู่เพราะคนไม่มีทางเลือกอย่างอื่น  และการขาดความรู้เรื่องจิต จึงต้องพึ่งหมอยากันอยู่ร่ำไป

 

สำหรับพระพุทธองค์นั้น เวลาที่ท่านตรัสถึง จิต นั้น ท่านมิได้มองไปที่สมองเพียงอย่างเดียว ที่จริงท่านไม่ได้มองที่สมองเอาเลยก็ว่าได้เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นยังไม่เหมือนกับยุคนี้ สำหรับพระพุทธเจ้าแล้วส่วนของสมองคือส่วนของรูปอันเป็นเพียงส่วนเดียวในห้าส่วนที่สร้างตัวตนนี้ขึ้นมา คำว่าจิตของพระพุทธเจ้านั้นคือส่วนที่เป็นนาม ๔ ส่วน คือ เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (คือสภาวะของการปรุงแต่ง) วิญญาณ (การรับรู้) เมื่อมีความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นพื้นฐานแล้ว ตัวสังขารอันเป็นนามธรรมก็จะปรุงแต่งจิตขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ฟังแล้วเป็นภาษาพระที่คนรุ่นใหม่รู้สึกเข้าใจได้ยากมาก แต่ที่จริงแล้ว ตัวสังขารนี้สามารถสร้างนิสัยแห่งจิตที่ดีหรือเลวก็ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวปัจจัยก่อนสังขาร นั่นคือ หากเป็นอวิชชาก็สร้างนิสัยเลวให้จิต และที่สุดของมันคือความทุกข์โศรก ร่ำไรรำพัน หากเป็นวิชาก็จะสร้างนิสัยดีให้จิตและที่สุดของมันคือความสุขและนิพพาน[2] ฉะนั้น เรื่องนิสัยแห่งจิตจึงเป็นเรื่องที่สามารถสร้างเหตปัจจัยที่สมควรให้กับมันได้และดัดหรือแก้นิสัยกันได้เหมือนกับการกัดเล็บโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งยาระงับประสาทแต่อย่างใด

 

ความยุ่งยากและซับซ้อนนั้นเป็นเพราะว่านิสัยแห่งจิตนั้นเป็นเรื่องที่คนมองไม่เห็น อย่าว่าแต่คนอื่นมองไม่เห็นเลย แม้เจ้าของความคิดเองก็มองไม่เห็นเช่นกัน  เราอาจจะบอกว่าเรารู้เราเห็นสิ ถึงรู้ได้ว่าเราคิดมากและกลุ้มใจมาก นั้นมิใช่เป็นการรู้การเห็น  ถ้ารู้เห็นจริงแล้วจะต้องมีการเตือนและหยุดมันได้เหมือนกับที่ผู้ใหญ่เห็นเด็กกัดเล็บจึงสามารถเตือนสติและบอกให้เด็กหยุดได้[3]  ฉะนั้น หากไม่สามารถบอกให้ความคิดหยุดตามที่ต้องการได้แล้ว แสดงว่ายังไม่รู้ไม่เห็น การเห็นความเสียนิสัยในเรื่องติดคิดของจิตหรือไม่นั้น สามารถจะเปรียบเทียบได้กับตัวเราซึ่งเป็นเจ้าของความคิดกับรถไฟ  หากรถไฟคือตัวความคิด การที่เรามองไม่เห็นความคิดมากของตนเองเปรียบเหมือนกับการนั่งอยู่ในขบวนรถไฟ ผู้นั่งในรถไฟจะไม่เห็นการเคลื่อนไหวของตัวรถไฟ จะรู้แต่การเคลื่อนไหวของตนเองที่เนื่องไปกับรถไฟ จุดนี้แหละที่ทำให้รู้สึกเหมือนรู้ว่าตัวเองกำลังคิด  รถไฟพาเราไปไหน เราก็ไปถึงที่นั่น การเปรียบเทียบเช่นนี้คือการที่ตัวเราเคลื่อนไปกับความคิดอันเป็นนิสัยเสียแห่งจิต ความคิดจะพาไปถึงไหน เราก็ถึงที่นั่นกับมัน ไม่มีการหยุดยั้ง ฉะนั้น หากเรื่องที่คิดมากมีความโลภ หรือโกรธติดมาด้วย เมื่อหยุดคิดไม่ได้ มันก็จะถึงขั้นที่ต้องลงมือกระทำเพื่อตอบสนองต่อการบีบคั้นของความคิดนั้น อันมีแต่เสียกับเสียเท่านั้น

 

การเห็นความคิดของตนเองจนสามารถที่จะเตือนและหยุดความคิดได้นั้น เปรียบเหมือนกับการออกจากขบวนรถไฟและมานั่งบนสถานีแทน นั่งเฉย ๆ และนั่งดูขบวนรถไฟเข้า ๆ ออก ๆ จากสถานี อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเห็นความคิดอย่างแท้จริง การนั่งเฉย ๆ บนชานชาลาเพื่อดูขบวนรถไฟนี้ ยังสามารถอธิบายให้ต่อเนื่องกับโครงสร้างของชีวิตอันเป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้อีก คือ ผู้นั่งบนชานชาลาจะสามารถตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ของสถานีได้ว่ารถรถไฟขบวนไหนจะไปไหน เมื่อเรารู้เป้าหมายการเดินทางของเราแล้ว ก็จะสามารถจับรถไฟขบวนที่เราต้องการได้ โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาลองขึ้นรถไฟทุกขบวนจนหลงทางชนิดที่กู่ไม่กลับ อันนี้หมายความว่า ความคิดไหนที่เป็นขยะมูลฝอย ไม่มีประโยชน์ต่อการคิดแล้ว เราก็ไม่ต้องขึ้น ปล่อยให้ขบวนรถไฟนั้นผ่านเลยสถานีไปโดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ความคิดไหนพาเอาความโลภ โกรธ หลงติดมาก็ไม่ต้องขึ้นเช่นกัน ปล่อยให้มันผ่านเลย แต่ความคิดไหนที่มีประโยชน์ในการสร้างสรร เช่นคิดช่วยเหลือคนหรือสัตว์ เป็นต้น ความคิดเช่นนี้เราสามารถติดตามมันไปได้ หรือขึ้นไปนั่งบนรถไฟขบวนนั้นได้ และให้มันพาเราไปไกลแค่ไหนก็ได้ อย่างเช่น สิ่งที่ดิฉันทำอยู่ในขณะนี้ การจะนั่งเขียนบทความเหล่านี้ให้สำเร็จได้ จำเป็นที่จะต้องจับรถไฟขบวนที่ต้องการ ถ้าไม่เข้าไปในกระแสความคิดแล้วไซร้ ผลงานเหล่านี้จะออกมาได้อย่างไรกัน  การกระทำเช่นนี้จึงจะเรียกว่าเห็นความคิดอย่างแท้จริง คือ       สามารถเลือกสรรได้ว่า ความคิดไหนที่เราต้องการจะเข้า และความคิดไหนที่ไม่ต้องการเข้า ซึ่งถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว ผู้เป็นเจ้าของความคิดจะทุ่นเวลาเป็นอย่างมากให้กับชีวิต จะไม่เสียเวลากับความคิดขยะที่ไร้สาระ การอธิบายเช่นนี้อาจจะตอบข้อสงสัยของนักการศึกษาบางท่านที่รู้สึกกลัวคำพูดที่จะให้หยุดคิดเสียเหลือเกินเมื่อถึงจุดที่พูดเรื่องสมาธิ และมักจะวาดภาพว่าเป็นลักษณะของคนที่สมองไม่ทำงาน (brain dead) อันเป็นภาพที่นักการศึกษาที่ชอบคิดนั้นกลัวมาก

      

 

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า มนุษย์นั้นจะอยู่รอดได้ยากมากหากปราศจากความช่วยเหลือในทางภูมิปัญญาของท่าน[4] ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่คนเราต้องรับฟังคำของท่านผู้รู้ ดิฉันก็จะวกเข้ามาสู่เรื่องสำคัญเรื่องเดิมว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรู้จักความคิดจนสามารถเลือกสรรได้ว่าจะคิดหรือไม่คิดเรื่องไหน วิปัสนาภาวนาหรือสติปัฏฐานสี่ที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์นั้นเป็นเรื่องการสร้างนิสัยใหม่ให้กับวิถีแห่งจิตและขจัดเอานิสัยเก่า ๆ ที่เสียออกไป เช่นการคิดมาก คิดขยะ คิดโลภ คิดโกรธ จนกระทั่งสามารถมีอิสระภาพที่จะเลือกคิดหรือไม่คิดก็ได้ อันเป็นนิสัยที่ผู้ไม่ฝึกวิปัสนาจะทำไม่ได้ อิสระภาพแห่งจิตนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งยาของหมอแผนปัจจุบันเลย การฝึกสติปัฏฐานสี่คือการสร้างนิสัยใหม่ให้รู้สึกตัวต่ออิริยาบททั้งสี่คือ เดิน ยืน นั่ง นอน รวมทั้งให้มีความรู้สึกตัวต่ออิริยาบทส่วนย่อย ผู้ฝึกเรื่องสติปัฏฐานจะเข้าใจเรื่องการสร้างนิสัยใหม่ ๆ ให้ตนเองดังที่ดิฉันได้กล่าวมานี้ สิ่งเดียวที่คนต้องมีคือความอดทน และพยายาม ผู้ที่สนใจควรจะหาผู้รู้และรีบฝึกเรื่องสติปัฏฐานสี่เสียโดยเร็ว.

 

 

 

 



[1] จากหนังสือพิมพ์เดลี่เมล์พิมพ์ในอังกฤษฉบับวันพฤหัสที่ ๒๒ เมษายน ๑๙๙๙ หน้า ๑๕

[2] นี่คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท อวิชชาทำให้เกิดสังขารและต่อเนื่องจนถึงปัจจยการสุดท้ายคือ ภพ ชาติ ทุกข์ ชรา มรณะ ดิฉันจะอธิบายเรื่องนี้ในรายละเอียดในงานเขียนเล่มต่อไป หากผู้ใดสนใจขอให้ติดตาม

[3] ได้อธิบายไว้ชัดในบทที่พูดถึงจิตตานุปัสสนา ความแตกต่างระหว่างการนั่งในรถไฟกับการนั่งบนชานชาลาและดูรถไฟนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันมาก นี่คือความแตกต่างระหว่างคนที่คิดว่าตนเองรู้กับคนที่รู้จริง

[4] ได้ฟังประโยคนี้จากการฟังเทปธรรมะของอาจารย์เขมานันทะ