ในแปดบทที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะพูดจากแง่มุมไหนก็ตาม
ดิฉันได้โยงเข้าสู่เรื่องเดียวกันหมดคือ การฝึกสติปัฎฐานสี่หรือวิปัสสนาภาวนา
เพื่อผู้อ่านจะสามารถประสานเรื่องหลัก ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ
และสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่ามันเกี่ยวโยงกันอย่างไร ฉะนั้น
ในบทนี้จะเป็นการพูดถึงการฝึกสติปัฏฐานสี่ซึ่งดิฉันจะเขียนจากประสบการณ์การฝึกฝนของตนเอง
เมื่อพูดถึงเรื่องการฝึกสมาธินั้น
หลายคนอาจจะบอกว่าตนเองมีสมาธิจิตดีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องฝึกก็ได้
และเช่นเดียวกับการฝึกสติ หลายคนอาจจะค้านว่าตนเองก็ไม่ได้ขาดสติแต่อย่างใด
เพราะยังมีความตื่นและก็รู้เห็นอะไรต่อมิอะไรเหมือนคนธรรมดาทั่วไป
จะต้องฝึกอะไรกันอีกเล่า ฉะนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า
การมีสติของคนธรรมดาสามัญนั้นยังไม่ได้จัดเข้าเป็นสัมมาสติที่อยู่ในองค์มรรค
สติและสมาธิของคนหมู่มากในโลกนี้มีอยู่ก็จริงแต่เป็นสติที่แนบสนิทอยู่กับการแสวงหาวัตถุ
material awareness เกียรติยศ ชื่อเสียง
เรื่องได้เรื่องเสีย และทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น
หากไม่ใช่เป็นสติที่เป็นไปเพื่อการแสวงหาวัตถุแล้ว คนยุคนี้ก็มีการทำสมาธิเพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย
relaxation เป็นวิธีการรักษาโรคทางกายและจิตอย่างหนึ่ง
ซึ่งคนตะวันตกทำกันมากและแม้คนตะวันออกในขณะนี้ก็นิยมเช่นกัน
เช่นพูดเรื่องพลังจักรวาล เรื่องโยเร เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ก็แนบเนื่องกับการฝึกสติเพื่อให้มีสมาธิจิตเช่นกัน
คนบางคนอาจจะคิดว่านี่ก็คงเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธกระมัง
จุดนี้เองที่ดิฉันได้กล่าวไว้ในบทที่ห้าของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องการหลงทาง
หากเป้าหมายของชีวิตไม่ชัดเจนในระดับต้นแล้ว วิธีการ(การรักษาศีลและการฝึกสมาธิ)
หรือการแจวเรือเพื่อให้ถึงเกาะนั้นจะหลงทางได้ง่าย เป็นสิ่งที่ต้องระวังให้ดี[1]
การฝึกสติเพื่อให้ได้สมาธิจิตที่อิงกับเรื่องของโลกเช่นนี้
พระพุทธเจ้าเรียกว่า มิจฉาสติ กับ มิจฉาสมาธิ คำว่า มิจฉา
ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องร้ายเสมอไป คนที่ทำงานใช้สมอง นักเขียน นักแสดง
หมอผ่าตัด นักกีฬาที่ต้องฝึกฝนเตรียมตนเองเป็นปีเพื่อเข้าแข่งขันในเหตุการณ์ใหญ่ ๆ
เช่นโอลิมปิค ทหารที่เฝ้าประตูพระราชวังที่ต้องยืนนิ่ง ๆ
คนเหล่านี้ต้องมีสติและมีสมาธิจิตเป็นยอดเยี่ยม
แต่ก็ยังจัดเป็นมิจฉาสติและมิจฉาสมาธิ
นอกเสียจากว่าคนเหล่านี้กำลังฝึกสติในองค์มรรคก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ใช้คำว่ามิจฉาเพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงการเดินผิดทิศทางเท่านั้น
ในขณะที่สัมมาสติกับสัมมาสมาธิในองค์มรรคจะต้องมีความเห็นชอบเป็นเบื้องต้นกำกับอยู่ด้วยเสมอ
คือมีทิศทางไปที่แน่นอน เป็นการฝึกสติที่มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
คือการหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง เข้าสู่พระนิพพาน
หรือเข้าสู่ความเป็นธรรมดาของชีวิต
ดังคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า
หนทางเป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เพื่อก้าวล่วงความโศก
ความคร่ำครวญ เพื่อให้ความทุกข์กายทุกข์ใจตั้งอยู่ไม่ได้ เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือการตั้งสติสี่อย่าง
.อันจะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ บรรลุอรหัตผลในปัจจุบัน
ถ้ายังมีเชื้อเหลือ ก็จะได้บรรลุความเป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก)
ภายใน ๗ ปี หรือลดลงมาโดยลำดับถึงภายใน ๗ วัน
ฉะนั้น ผู้ที่พร้อมจะฝึกสติปัฏฐานสี่แล้วไซร้
อย่างน้อยจะต้องมีศรัทธาที่ไม่คลอนแคลนและไม่สงสัยในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อนถึงแม้จะเป็นเพียงการคิดตามก็ตาม
สิ่งนี้จะเป็นองค์คุณที่สำคัญมากที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติหมดสงสัยโดยการเห็นจริงตามพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม
ผู้ที่เคยฝึกสติและสมาธิเพื่อผลประโยชน์ต่อร่างกายหรือผู้ที่มีสมาธิจิตดีโดยธรรมชาตินั้น
หากมาฝึกสติปัฏฐานแล้วไซร้
จะมีความก้าวหน้าได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่ประสีประสาต่อเรื่องสมาธิเลย
เพราะมีนิสัยแห่งจิตที่เอื้ออำนวยอยู่แล้ว
ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่า
ความคิดนั้นวิ่งเข้ามาในหัวเราด้วยอัตราความเร็วสูงมากจนไม่มีเครื่องมือไหนวัดได้นอกจากปัญญาของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น การที่จู่ ๆ
จะมานั่งดูความคิดตนเองเหมือนกับการนั่งดูรถไฟเข้าออกบนชานชาลานั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก
และผิดวิสัยของปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะทำกันได้
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนทำได้ คนที่ทำได้ในครั้งพุทธกาลมีมาแล้ว เช่น พระยสะ
พาหิยะ องคุลีมาร ปฏจารา และอำมาตย์ผู้ยังไม่สร่างเมา
บุคคลเหล่านี้เมื่อพระพุทธเจ้าบอกทางให้แล้วก็สามารถนั่งบนชานชาลาและเห็นการเข้าออกของรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงได้ทันที
คือสามารถที่จะหลุดออกจากการครอบงำของความคิดได้ทันทีทันใด
ด้วยความเมตตาของพระพุทธเจ้าที่พยายามจะโปรดสัตว์โลกผู้มีความสามารถในระดับที่แตกต่างกันและโอบอุ้มจนถึงผู้ที่มีความสามารถน้อยที่สุด ท่านจึงวางขั้นตอนให้คนได้ไต่เต้าจากเรื่องง่ายไปหายาก
การคิดฟุ้งและเหม่อลอยไปกับความคิดนั้นในทางศาสนาพุทธแล้วถือว่าเป็นลักษณะของการขาดสติอย่างยิ่ง
นี่คือความเสียนิสัยของจิตที่จะต้องดัดและฝึกกันใหม่
และนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ จะอธิบายอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า
การเหม่อลอยของจิตนั้นเกิดจากการที่ความคิดแล่นเข้ามาในจิตด้วยอัตราความเร็วที่สูงมากจนเจ้าของความคิดเห็นไม่ทัน เมื่อเปรียบเทียบกับการวิ่งของรถไฟแล้ว
คงจะไม่ใช่เป็นแค่สายด่วนธรรมดา แต่เป็นสายด่วนจี๋แบบจรวดมากกว่า เมื่อจับมันไม่ทันก็ไม่สามารถที่จะบอกให้มันหยุดได้
การจับต้นตอของความคิดไม่ทันคือตัวอวิชชาชึ่งเป็นเหตุให้เกิดสังขาร
คือลักษณะอาการที่ความคิดถูกปรุงขึ้นมาจนเกิดอาการเหม่อลอยและฟุ้งซ่าน
(อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร) ฉะนั้นการจะเห็นความคิดได้นั้น
จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือที่เหมาะสมที่มีความสามารถในการจับความคิดที่วิ่งด้วยอัตราความเร็วสูงนั้นได้
หรือพยายามตัดช่วงการปรุงแต่งของสังขารให้สั้นลง
การสร้างเครื่องมือให้เหมาะสมนั้นแหละคือเรื่องเดียวกับการฝึกนิสัยใหม่ที่ดีให้กับจิต
นั่นคือ การฝึกสติปัฏฐานสี่
สติปัฏฐานที่หนึ่งหรือการยานุปัสนาสติปัฏฐานนั้นเป็นขั้นตอนของการเรียกสัมมาสติพื้นฐานที่ง่าย
ๆ กลับคืนมาเหมือนกับที่ผู้ใหญ่เตือนสติเด็กไม่ให้กัดนิ้ว เช่น
หัดให้รู้ตัวอยู่กับ ลมหายใจ หรือเรียกว่าการฝึกอานาปานสติ หัดให้รู้สึกตัวในขณะที่เดิน
หรือเรียกว่าเดินจงกรม และการฝึกให้รู้สึกตัวในอิริยาบทย่อยในขณะที่เคลื่อนไหวไปมา
เช่น การก้ม เงย เหยียด คู้ ยื่น หดแขน และมืออกไปจับโน่นถือนี่
หากรู้สึกตัวได้เฉย ๆ ก็จัดอยู่ในฐานนี้เช่นกัน
การออกกำลังกายไท้เก้กก็สามารถจัดเข้าเป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่หนึ่งนี้หากผู้สอนเข้าใจเรื่องการฝึกสติและรู้จักเน้นให้ถูกจุด
สิ่งที่สำคัญในขั้นตอนนี้คือ ผู้ฝึกจะต้องหาวิธีการที่เหมาะกับจริตนิสัยของตนเอง
บางคนนั่งหลับตาดูลมหายใจแล้วจะฟุ้งซ่านหรือง่วงนอนง่าย
แต่เมื่อเดินจงกรมแล้วจะทำได้ดีขึ้น
แต่ถึงแม้ผู้ฝึกจะให้เวลากับการนั่งหลับตาหรือเดินจงกรมวันละหนึ่งชั่วโมงก็ตามแต่
ผู้ฝึกก็ควรพยายามฝึกสติในอิริยาบทย่อยในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันไปด้วย
โดยเฉพาะการทำงานบ้านที่ไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก
แทนที่จะปล่อยให้ความคิดเหม่อลอยเป็นการสร้างนิสัยเสียให้จิต
ผู้ปฏิบัติก็ควรฝึกสติคือให้รู้ตัวกับอาการเคลื่อนไหวของตนเองไป เมื่อทำได้เช่นนี้
จะมีความก้าวหน้าเร็วขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการสร้างนิสัยใหม่ให้กับจิตซึ่งจัดเป็นขั้นตอนที่ง่ายอยู่
แต่ผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ จะรู้สึกว่ายากมากเพราะความคิดยังเข้ามารังควานและพาเอาจิตร่องรอยไปกับมันด้วยเสมอ
กว่าจะรู้ตัวก็เหมือนกับว่าสายเสียแล้ว จุดนี้
ผู้ฝึกไม่ควรตำหนิตนเองและรู้สึกท้อถอย เพราะที่จริงแล้ว
แม้ผู้ฝึกใหม่จะเหม่อลอยบ้าง
บางครั้งอาจจะเหม่อลอยกับความคิดนานเกินไปในความเห็นของตนเอง
แต่ที่จริงการดัดนิสัยเริ่มเกิดแล้ว สิ่งสำคัญคือทุกครั้งที่รู้ตัวว่าเหม่อลอย
จะต้องหยุดกระแสความคิดนั้นทันที เมื่อทำเช่นนี้บ่อยเข้า
การดัดนิสัยของจิตจะได้ผลเร็ว
เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ฝึกและไม่รู้เรื่องสติปัฏฐานเลย
คนเหล่านั้นจะไม่รู้ตัวเอาเลย เปรียบเหมือนกับการนั่งรถไฟไปจนสุดสาย
ในขณะที่ผู้ฝึกใหม่อาจจะนั่งเลยไปหลายสถานีหน่อย แต่พอรู้ตัวก็รีบลงจากรถไฟทันที เมื่อฝึกไปนาน ๆ เข้า
การนั่งเลยไปหลายสถานีจะเริ่มน้อยลง คือ การเหม่อลอยจะสั้นลง ปัจจัยที่สำคัญคือ
ผู้ฝึกต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ตนเองทำอยู่คือเชื่อว่าจะต้องได้ผลตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้
เมื่อมีศรัทธาหรือมีกำลังใจแล้ว ความอุตสาหะ วิริยะ ก็จะเกิดตามมาเอง
จะมีความพยายามมากขึ้น ไม่เหยาะแหยะ และแล้วความมีสติก็จะตามมาเองเป็นลูกโซ่
เมื่อมีสติก็จะมีสมาธิ และเกิดปัญญา
การถกเถียงในหมู่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้นมักจะเนื่องกับฐานที่หนึ่งนี้
เพราะเป็นฐานที่มีการสอนอย่างเป็นหลักแหล่งตามวัดวาต่าง ๆ แล้วแต่ว่าผู้สอนนั้นได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากอาจารย์คนไหน
วิธีการที่เด่น ๆ และมีคนทำกันมากคือ วิธีการแบบอานาปานสติคือการดูลมหายใจ
ซึ่งก็ยังมีส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ครูบางคนก็บอกให้นับตัวเลข หนึ่ง สอง สาม
ในขณะที่หายใจเข้าออก ครูบางคนก็ให้ท่องบริกรรม พุทธโธ เช่น หายใจเข้า ก็ท่องพุทธ
หายใจออกก็ท่องโธ เป็นต้น
อีกวิธีการหนึ่งที่แพร่หลายคือ การดูเข้าไปที่ท้องในขณะที่หายใจ
ซึ่งจะเห็นอาการพองยุบของท้อง วิธีการนี้ ครูผู้สอนมักจะเน้นให้บริกรรมไปด้วย
โดยท่องว่ายุบหนอ พองหนอ ตามอาการที่เห็นการเคลื่อนไหวของท้อง การเดินจงกรมก็เช่นกัน บางกลุ่มก็เดินเฉย
ๆ เงียบ ๆ บางกลุ่มก็ต้องบริกรรม ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นต้น
เป็นการยากยิ่งที่จะบอกว่า วิธีการไหนดีที่สุด
เพราะผู้สอนก็ต้องสอนในสิ่งที่ตนรู้และถนัดเท่านั้น
และจริตนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกัน สิ่งที่จะพูดได้ในขณะนี้คือ
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม
ฐานที่หนึ่งนี้เป็นเพียงบันไดที่จะก้าวไปสู่ฐานที่สูงขึ้นไป หากการปฏิบัติไม่มีความก้าวหน้าแล้ว คือ
ทำหลายปีแต่ก็ยังสับสน สงสัยอยู่ อาจจะเป็นไปได้ว่า
ฐานที่หนึ่งที่ผู้ฝึกกำลังทำอยู่นั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับจริตนิสัยก็ได้
ดิฉันจะวกกลับมาพูดเรื่องนี้อีกเมื่อเข้าสู่การพูดถึงฐานที่สามหรือสี่
เพราะจะเป็นเครื่องกำหนดว่า วิธีการไหนที่เหมาะสมกว่า
ฐานที่สองหรือเวทนานุปัสนาสติปัฏฐานจะเริ่มละเอียดขึ้น
นั่นคือผู้ฝึกจะเริ่มสังเกตความรู้สึกของกายและใจซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว คือไม่สามารถเห็นได้แต่รู้สึกได้
ความรู้สึกของกายนั้นก็เกี่ยวเนื่องกับ ร้อน เย็น หนาว อ่อน แข็ง เจ็บ ปวด เป็นต้น
นอกจากนั้น เรายังมีความรู้สึกของใจ[2] ซึ่งแบ่งลักษณะกว้าง ๆ เป็นความรู้สึก สุข
ทุกข์ และเฉย ๆ ดังที่เรามักได้ยินเสมอ แต่เมื่อผู้ฝึกหัดมองจริง ๆแล้ว ความรู้สึกในจิตใจนั้นมีหน้าตามากมายซึ่งยากที่จะอธิบายให้คนรู้และเข้าใจได้ลึกซึ้งและเป็นเรื่องส่วนตัวของใครก็ของเขาอย่างแท้จริง ฉะนั้น
ถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกเหล่านี้โดยการฝึกสติแล้วละก็ เป็นการยากมากที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเราได้เมื่อมีปัญหา
การฝึกมองความรู้สึกของใจนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเพราะผู้ฝึกจะเริ่มเห็นความกระวนกระวาย
ความเจ็บปวดและการดิ้นรนของจิตในลักษณะที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเห็นว่าความรู้สึกเหล่านี้มันไป ๆ มา
ๆ เมื่อไปทำอะไรที่สนุกตื่นเต้น
ความรู้สึกก็จะฟูขึ้น หากไปพบหรือพูดกับใครที่เขาเก่งกว่าดีกว่า
ก็จะเห็นความรู้สึกหดหู่ อิจฉา เป็นต้น
มันเป็นการเห็นหรือมองในลักษณะที่เหมือนกับมองดูแผลในมือตนเองเช่นนั้น คือ
เริ่มมีผู้มอง (observer) กับผู้ถูกมอง (observed)
แต่แผลที่ดูเป็นแผลในใจ ซึ่งไม่สามารถจะเอายาแดงหรือทิงเจอร์ใส่เหมือนกับแผลในมือ
อย่างไรก็ตาม ความอดทนที่จะดูแผลสดของใจนั้น ที่จริงแล้วคือวิธีการเยียวยานั่นเอง
ซึ่งในตอนแรกผู้ฝึกจะไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย
เพราะยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความทุกข์และเห็นกิเลสตนเองมากขึ้นจนเหมือนกับว่าตนเองล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
นี่เป็นขั้นตอนที่ผู้ฝึกจะต้องเดินผ่านและมิใช่เป็นความล้มเหลวแต่อย่างใด
แต่เป็นความก้าวหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบจนเมื่อผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว
ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอดทนและเชื่อมั่นว่าวิธีการพระพุทธเจ้าต้องช่วยเราได้แน่
เมื่อผู้ฝึกสามารถสังเกตความรู้สึกของกายและใจได้มากขึ้นแสดงว่ามีความก้าวหน้าในการฝึกฐานที่หนึ่ง
ซึ่งถึงแม้กำลังฝึกฐานที่สองอยู่
ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองได้ละทิ้งฐานที่หนึ่งอย่างสิ้นเชิง
เพียงแต่ว่าผู้ฝึกมีความไวมากขึ้นที่จะทำทั้งสองฐานแล้วแต่ความเหมาะสมของโอกาสและเหตุการณ์
เช่น กำลังนั่งดูลมหายใจตนเองอยู่ แต่ยุงมากัด รู้สึกคัน
ก็ย้ายจิตมากำหนดที่ความคัน เมื่อคันหายไปแล้ว จึงหันมากำหนดที่ลมหายใจอีกทันที
เป็นต้น
สองฐานแรกนี้สำคัญมากเพราะเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ฐานที่สาม
ใครทำได้แสดงว่าจิตเริ่มละเอียดขึ้นหรือการดัดนิสัยใหม่ให้กับจิตประสบความสำเร็จมากขึ้นแต่ก็ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก
หลังจากที่ฝึกสองฐานแรกอย่างขะมักเขม้นและเอาจริงเอาจังแล้ว
ด้วยความที่จิตละเอียดมากขึ้นจึงสามารถกำหนดฐานที่หนึ่งและสองได้เป็นธรรมชาติมากขึ้นจนไม่รู้สึกเหมือนกับว่าต้องฝืนมาก
เพราะอะไรก็ตามที่ทำจนเป็นนิสัยแล้วจะกลายเป็นเรื่องง่าย เปรียบเหมือนกับการเรียนภาษา ฝึกพูดบ่อย
ๆก็จะพูดได้เป็นธรรมชาติเอง ฉะนั้น
ขอให้เข้าใจว่าแม้ผู้ฝึกกำลังจะเข้าสู่ฐานที่สามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าได้ทิ้งฐานที่หนึ่งและสองไปแต่อย่างใด
ความยุ่งยากของการฝึกฐานที่สองนี้เนื่องมาจากว่าสิ่งที่ต้องกำหนดนั้นอยู่ภายในร่างกายและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ปฏิบัติที่เป็นปัญญาชน
ดิฉันจะขอสมมุติให้ความรู้สึก (feelings and emotion) เป็น ขบวนรถไฟ และ
ตัวเรา อันเป็นผู้มอง (observer) ซึ่งที่จริงแล้วคือธาตุรู้ หรือวิญญานธาตุ (consciousness or knowing nature) อันเป็นขันธ์หนึ่งในห้าขันธ์ที่ประกอบเป็นคน ๆหนึ่ง
คนที่ไม่เคยปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น เขาอาจจะบอกว่าเขารู้เห็นความรู้สึกของตนเอง
แต่ที่จริงการรู้เห็นของเขานั้นเปรียบเหมือนกับการขึ้นไปนั่งบนขบวนรถไฟ
และเดินทางไปกับมัน มันเหมือนกับว่าเขารู้ แต่เป็นการรู้แบบมืด ๆ
เหมือนนั่งในขบวนรถไฟอย่างไรก็อย่างนั้น แต่การรู้ของนักปฏิบัตินั้นจะต่างกัน คือ
ผู้ฝึกจะหัดนั่งอยู่บนชานชาลาของสถานีและเฝ้าดูรถไฟวิ่งเข้าออกจากชานชาลา ฉะนั้น
การรู้เห็นของนักปฏิบัตินั้นจะรู้เห็นในลักษณะที่มีผู้มอง (ธาตุรู้หรือวิญญานธาตุทำหน้าที่เป็นผู้มอง)
กับ ผู้ถูกมอง (เวทนาธาตุ หรือ ความรู้สึก)
การรู้เห็นของนักปฏบัติจะก่อให้เกิดปัญญาในภายหลัง
เพราะมีการเห็นธรรมชาติที่เกิดดับของความรู้สึก
เหมือนกับการเห็นรถไฟที่วิ่งเข้าออกจากสถานี
การเห็นเช่นนี้จะสามารถทำให้เข้าใจชีวิตภายในอันเกี่ยวเนื่องกับความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย.
[1] ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ควรฝึกสิ่งเหล่านั้น
หากโยเรมีประโยชน์ในแง่การรักษาโรคทางกายโดยไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันก็น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
[2] เมื่อพูดถึงการมองความรู้สึกจำเป็นที่จะต้องดูความรู้สึกของกายและใจควบคู่กันไป
ที่จริงแล้ว ในความเห็นของดิฉันนั้น
การดูความรู้สึกของใจนั้นอยากจะจัดเข้าเป็นฐานที่สามมากกว่า
เพราะสถานที่ดูนั้นเป็นที่เดียวกับความคิดคือ จิตหรือใจเรานั่นเอง อย่างไรก็ตาม
การเริ่มสังเกตเห็นความรู้สึกอย่าง หยาบ ๆ ของใจก็น่าจะจัดอยู่ในฐานนี้ได้เช่นกัน