บทนำ[1]

A Handful of Leaves

 

เมื่อสามเดือนที่ผ่านมา ดิฉันต้องต่อสู้กับเมฆหมอกแห่งความทุกข์อยู่นานถึง ๑๘ ชั่วโมง แต่รู้สึกเหมือนกับชั่วชีวิต ความทุกข์นั้นไม่เพียงแต่กัดกินหัวใจของดิฉันเท่านั้น ความเจ็บปวดยังแผ่ซ่านออกไปเกาะกินเซลส์ทุกส่วนในร่างกายของดิฉันอย่างเห็นได้ชัด มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกมากจนกระทั่งดิฉันต้องคิดว่ามันมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยแน่แท้ เพราะทันทีที่ดิฉันสามารถสลัดหลุดออกจากเมฆหมอกแห่งความทุกข์อันสาหัสนั้นได้แล้ว ดิฉันกลับได้กำลังใจอย่างมหันต์ที่อยากจะช่วยเหลือให้คนพ้นทุกข์มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยผู้เป็นเพื่อนร่วมชาติของดิฉัน มันอาจจะฟังแปลกมาก แต่นี่คือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ ใบไม้กำมือเดียว เล่มนี้ก่อกำเนิดออกมาได้

 

สาเหตุที่ดิฉันอยากจะช่วยเหลือคนไทยเพราะตั้งแต่ที่ดิฉันสามารถเข้าใจธรรมะได้ดีขึ้นนั้น ดิฉันก็ได้แต่แบ่งปันความรู้ให้กับนักศึกษาในอังกฤษ งานเขียนทั้งหมดของดิฉันล้วนเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น และไม่เคยมีโอกาสเขียนเป็นภาษาไทยเลย  ครั้งนี้ดิฉันอยากจะแบ่งปันความรู้ของดิฉันให้แก่คนไทยบ้างเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สั่งสอนดิฉันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่าทวดไทยที่ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมอันดีงามจนสามารถอบรมบ่มนิสัยและประคบประหงมให้ดิฉันได้พบกับพระธรรมอันประเสริฐ์ของพระพุทธเจ้าได้ในที่สุด นี่เป็นบุญคุณที่ดิฉันจะลืมไม่ได้และรู้สึกโชคดีอย่างมหันต์ที่สามารถเกิดมาบนแผ่นดินไทยอันเป็นดินแดนของพระพุทธศาสนา

 

หนังสือเล่มนี้จึงเล็งไปที่ชาวพุทธไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ถนัดจะคิดด้วยวิถีทางของวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เขาติดอยู่กึ่งกลางของสองโลก คือ โลกแห่งวิทยาศาสตร์และโลกแห่งศาสนา ความปั่นป่วนของสถาบันศาสนาในเมืองไทยขณะนี้ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ลังเลสงสัยต่อคำสอนของพระพุทธเจ้ามาก และไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร ในแปดบทแรกซึ่งดิฉันพยายามเขียนให้สั้นนั้นเป็นการพูดถึงเนื้อหาหลักของศาสนาพุทธ เช่นเรื่องพระนิพพาน สัจธรรมอันสูงสุด โดยที่ดิฉันพยายามพูดจากแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป ดิฉันคิดว่า ผู้อ่านจะสามารถเชื่อมโยงและเข้าใจได้ว่าโครงสร้างชีวิตนั้นคืออะไรและควรจะเดินอย่างไร และในที่สุด ดิฉันก็โยงเข้าสู่เรื่องสติปัฏฐานสี่อันเป็นหัวใจการปฏิบัติของศาสนาพุทธซึ่งดิฉันได้ใช้เวลาเขียนมากขึ้นเพื่อว่าหากใครมีความพร้อมที่จะปฏิบัติก็สามารถทำได้เลย หลังจากที่ได้พูดในส่วนจิตใจหรือการเดินทางทางจิต mind journey อันเป็นระดับนามธรรมแล้ว ดิฉันก็ได้พูดเรื่องวัฒนธรรมสติปัฏฐานเพื่อผู้อ่านจะเข้าใจได้ว่าย่าทวดไทยสามารถเอาเรื่องนามธรรมที่ลึกซึ้งและดูเล็กน้อย micro มาสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมในวงที่กว้างใหญ่ macro ได้อย่างไร ซึ่งเป็นบทที่สามารถทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ขึ้นในด้านเนื้อหา และเพื่ออนุชนไทยจะได้ช่วยกันรักษาดูแลวัฒนธรรมไทยกันต่อไป

 

ดิฉันไม่สามารถที่จะละเลยผู้คนที่ดิฉันกำลังอยู่อาศัยด้วยในอังกฤษขณะนี้ จึงตัดสินใจว่าจะเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษด้วยเพื่อประโยชน์แก่คนที่นี่ ใบไม้กำมือเดียว และ A Handful of Leaves จึงเขียนเสร็จภายในสามเดือน (สิ้นเดือนเมษายน ๒๕๔๒) ซึ่งดิฉันได้พยายามทำให้ฉบับไทยกับอังกฤษให้เหมือนกันมากที่สุดในตอนต้นโดยเขียนฉบับภาษาไทยก่อนและอังกฤษทีหลัง เนื่องจากภาษาอังกฤษของดิฉันยังไม่ดีพอ จึงต้องมีการขัดเกลาภาษา  เมื่อดิฉันได้ตัดสินใจว่าจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือการสอนไท้เก็กของดิฉันที่อังกฤษและจะแจกให้นักศึกษาทุกคนเป็นธรรมทาน จึงมาแก้ไขต้นฉบับ A Handful of Leaves สามเดือนหลังจากที่เขียนเสร็จครั้งแรกเพื่อพิมพ์จำนวน ๑๐๐๐ เล่ม ดิฉันจำเป็นต้องเขียนพิ่มเติมและขยายความบางตอนเพื่อให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้ดีขึ้น รายละเอียดของฉบับภาษาอังกฤษจึงเริ่มต่างจากฉบับภาษาไทยออกไปบ้าง แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม เมื่อดิฉันทำฉบับภาษาอังกฤษเสร็จแล้ว จึงกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับภาษาไทยอีกเพื่อเตรียมต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์สุขภาพใจ การแก้ไขครั้งหลังนี้ได้ทำให้เนื้อหาในฉบับภาษาไทยต่างออกไปจากภาษาอังกฤษอีก ดิฉันเห็นว่าคงจะไม่มีทางที่จะเขียนทั้งสองฉบับให้เหมือนกันทุกอย่างได้เพราะความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอในระหว่างที่เขียน  ดิฉันจึงใคร่เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า หากใครมีความสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ก็น่าจะอ่าน A Handful of Leaves ด้วย ดิฉันได้เขียนด้วยภาษาที่เรียบง่ายและไม่ยากจนเกินไป

 

การที่ดิฉันได้ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติจากจุดที่เคยกอดแน่นอยู่กับอวิชชาอันมืดมิดและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง ถึงจุดที่พยายามจะไขว่คว้าหาหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับตนเอง จนมาถึงบัดนี้ที่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ทำให้ดิฉันสามารถเข้าใจแผนที่ชีวิตหรือการเดินทางทางจิตใจได้ชัดขึ้น และ สามารถบอกทางที่ลัดสั้นเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตได้เร็วขึ้น วิธีการถ่ายทอดและพูดคุยกับผู้อ่านในหนังสือเล่มนี้นั้น ที่จริงแล้วมันคือสิ่งที่ดิฉันต้องการที่จะถูกสอน ดิฉันคิดว่านี่คือสิ่งที่ดิฉันต้องการฟังจากครูบาอาจารย์เพื่อดิฉันจะสามารถเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เร็วขึ้น เพราะดิฉันเข้าใจดีถึงสภาวะจิตที่สับสน วุ่นวาย ในขณะที่การปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้าจนถึงจุดที่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร การช่วยเหลือให้นักปฏิบัติมีความสับสนน้อยลงนั้นหมายความว่าดิฉันต้องเน้นเรื่องเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจนก่อน และพยายามทำให้คนหมดสงสัยในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเห็นธรรมหรือเห็นพระนิพพานนั้นเป็นหน้าที่แรกที่คนทุกคนจะต้องทำในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถที่จะเสียเวลาให้กับสิ่งอื่นที่สำคัญน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับความยาวนานของสังสารวัฏแล้ว ชั่วอายุของคนช่างสั้นมากเหลือเกิน สั้นเกินกว่าที่จะไปเสียเวลาไล่ตามสิ่งที่ไม่สามารถให้อิสระภาพทางใจอย่างแท้จริง คนไทยเราควรจะใช้ชีวิตให้สมกับที่ย่าทวดไทยได้กล่าวไว้ว่า เป็นผู้โชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา

 

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถช่วยให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน และช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจเริ่มเดินก้าวแรกอันจะนำไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิต ขอให้มีความอดทนและพยายามทำอย่างดีที่สุด

 

ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน

 

วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2543

 

 



[1] บทนำของ ใบไม้กำมือเดียว และ A Handful of Leaves นั้น ดิฉันเขียนไม่เหมือนกัน ซึ่งดิฉันได้เขียนสาเหตุที่แท้จริงที่ให้กำเนิดหนังสือเล่มนี้ จึงถือโอกาสแปลออกมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน วันที่ท้ายบทนี้เป็นวันที่ดิฉันแปลเสร็จ ฉะนั้น รายละเอียดในบทนำนี้อาจจะต่างจากฉบับภาษาอังกฤษเล็กน้อย