บทนำ

 

 

ถึงแม้ชาวพุทธทราบกันดีว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้านำมาสอนชาวโลกนั้นเป็นเพียง”ใบไม้กำมือเดียว”ก็ตาม  แต่ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงนั้นจะทราบดีทีเดียวว่าใบไม้กำมือเดียวนี้ก็เปรียบเสมือนกับป่าทั้งป่า ธรรมะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจเลย ทุกคนรู้ว่าการมีโอกาสได้รู้จักพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่โชคดีอย่างยิ่งยวด และไม่อาจจะแลกสิ่งที่รู้นั้นกับสิ่งอื่นใดที่มีอยู่ในโลกนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติทุกคนพอเดินมาถึงจุดที่ต้องต่อสู้กับกิเลสตนเองแล้วจะรู้สึกอีกเช่นกันว่าหากไม่รู้จักศาสนาพุทธเสียเลยก็คงจะดีเหมือนกัน เพราะการไม่รู้อะไรเลย(มีอวิชชา)นั้น อย่างน้อยก็ไม่มีความรู้สึกตะขิดตะขวงใจเมื่ออยากจะทำตามใจกิเลสขึ้นมาบ้าง นึกอยากกินก็กิน อยากสูบอยากดื่มก็เอาเลย อยากไปเที่ยวไปลุยที่ไหนก็ไป การทำตามใจชอบได้นั้น มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง และสุขชนิดที่เห็น ๆ กันอยู่ แต่พอมารู้เรื่องการปฏิบัติธรรมเข้าแล้ว จึงรู้ว่าการทำตามใจตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าติเตียน จำเป็นที่จะต้องฝืนความรู้สึกอยากของตนเองถ้าต้องการให้มีความก้าวหน้าในทางธรรม การรู้เช่นนี้ เท่ากับเป็นการทรมานกิเลส และทำให้รู้สึกทุกข์มากกว่าเดิมที่ไม่สามารถอ่อนข้อให้กิเลสได้เหมือนกับที่เคยทำมาก่อน     ฉะนั้น ในขั้นตอนแรกที่การปฏิบัติก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะห้ำหั่นกิเลสได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันนั้น จึงเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทุกคนที่ก้าวมาสู่วงการธรรมะ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมในสมัยนี้ที่อยู่ในเงื้อมมือของลัทธิบริโภคนิยมนั้นยิ่งไม่ได้เอื้ออำนวยหรือช่วยให้การปฏิบัติธรรมของคนที่อยากจะปฏิบัติง่ายขึ้นเลย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นฆราวาสและยังต้องจุ่มอยู่ในสังคมที่มีกิเลสเดินหน้าซึ่งมีแต่การแข่งขันชิงดีชิงเด่นเลียแข้งปัดขา และถูกแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่พูดแต่เรื่องได้และเรื่องเสียนั้น การปฏิบัติธรรมของคนกลุ่มนี้จะยากที่สุดโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเอาจริงแต่ไม่สามารถบวชเป็นเพศบรรพชิตได้ จะไปรอดได้ก็ต่อเมื่อมีการเกาะกลุ่มกับกัลยาณมิตรและสร้างความเพียรอย่างต่อเนื่องเท่านั้น  นักปฏิบัติในกลุ่มนี้จะมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันคือ ตอนเช้าอาจจะขึ้นสวรรค์ ตอนเย็นอาจจะตกนรก ตอนเช้าอาจจะตื่นมาทำสมาธิแล้วจะเป็นสุขและสงบมาก ตกบ่ายเดินไปเจอเพื่อนเก่าที่เรียนมาด้วยกันเคยสนิทสนมกินนอนด้วยกันแต่ขาดการติดต่อหลังจากเรียนจบแล้ว หลังจากที่คุยกันเพียงสิบกว่านาทีเท่านั้น ความสงบใจหายไปอย่างฉับพลันเมื่อรู้ว่าเพื่อนประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน มีเงินมีทองมากมายในขณะที่เราก็ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ สิ่งที่ตามมาคือความอิจฉาฟุ้งซ่านและหดหู่ใจ ใจหนึ่งก็รู้ดีว่าไม่ควรอิจฉาเพื่อนที่เขาได้ดีกว่าเรา ควรจะดีใจกับเขาที่เขาได้ดีตามหลักพรหมวิหารสี่ที่จำได้จนขึ้นใจ แต่อีกใจหนึ่งหรือก็ช่างดำเหลือร้ายเพราะไม่ยอมให้คิดเป็นฝ่ายกุศล หัวหน้ากิเลสที่ชื่อว่า ความหลง ทำให้คิดวนอยู่เรื่อยว่าทำไมนะเราถึงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเพื่อนทั้ง ๆ ที่สมัยเรียนหนังสือเราก็เรียนเก่งกว่าเขา แล้วก็คิดฟุ้งไปในเรื่องต่าง ๆ นา ๆ จนหาความสงบไม่ได้ ต้องกลับลงมาคลุกเคล้าอยู่กับกลิ่นอายและรสชาดอันแสบเผ็ดของนรกเพราะจิตซัดส่ายกวัดแกว่งจนแทบตั้งตัวไม่อยู่ สับสนวุ่นวาย แต่พอถูกความทุกข์กัดเข้าไปเช่นนั้น ปัญญาก็เกิด รู้ว่ากำลังถูกหลอก เมื่อยังเอาชนะมันทันทีไม่ได้ก็ต้องมุ่งเข้าหาสมาธิอีก และแล้วจิตก็หยุดส่าย ความสงบก็กลับคืนมาพักหนึ่งจนกระทั่งไปเจอปัญหาอื่นอีก ประสบการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อยมากกับคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีภาระหน้าที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะเดียวกันก็อยากปฏิบัติธรรมด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนกลุ่มนี้จะล้มลุกคลุกคลานสักเพียงใด ประสบการณ์ของชีวิตซึ่งเป็นตัวธรรมะอยู่แล้วจะสอนให้เขาฉลาดและมีปัญญามากขึ้นและสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองและของคนรอบข้าง ในที่สุดเขาก็จะเอาตัวรอดเพราะการเกาะเกี่ยวอยู่กับธรรมะและการปฏิบัติของเขานั้นเองถึงแม้จะเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ และจะใช้เวลานานสักเพียงใดก็ตาม คนเหล่านี้ต้องนับว่ายังเป็นกลุ่มคนที่โชคดีมากกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้ธรรมะเอาเสียเลย

 

ในสังคมทุกวันนี้ คนหมู่มากยังไม่ประสีประสาต่อศาสนธรรมและหน้าที่ที่มีต่อตนเองในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดิฉันเชื่อแน่ว่าคนที่อยากจะปฏิบัติธรรมนั้นมีมาก แต่คนเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ควรจะเข้าหาครูบาอาจารย์คนใดจึงจะรียกว่าเดินถูกทาง  ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันสงฆ์ที่มักจะมีพระชื่อเสียงโด่งดังมาทำลายศรัทธาของผู้คนนับแสนนับล้านนั้นยิ่งเพิ่มความสับสนวุ่นวายและความยากยิ่งต่อการที่คนจะเข้ามาพึ่งใบบุญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่นแท้ของศาสนาคือพระนิพพานก็ถูกเปลือกของศาสนาคือประเพณีพิธีรีตรองต่าง ๆ ปกคลุมไว้อย่างมิดชิดจนคนที่แม้อยากจะปฏิบัติก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรเป็นแก่นและอะไรเป็นกระพี้ นี่คือปัญหาที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากปฏิบัติแต่ยังไม่พบกัลยาณมิตร คนกลุ่มนี้จะไม่เข้าใจว่าศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เคยทุกข์อะไรมากมายมาก่อน บางคนเมื่อตรวจสอบความประพฤติของตนเองแล้วก็สรุปได้ว่าเขาไม่เคยทำอะไรชั่วร้ายถึงแม้จะไม่เข้าวัด ไม่ได้ทำบุญใส่บาตรก็ตาม แต่เขาก็ไม่เคยคิดอะไรไม่ดีกับใครและช่วยเหลือผู้ใกล้ชิดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งความประพฤติของเขาก็ยังดีกว่าชาววัดบางคนหรือพระบางองค์เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงสรุปว่าไม่จำเป็นต้องเข้าวัดและพระก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้เพราะพระสงฆ์กันเองก็ยังสร้างปัญหามากกว่าฆราวาสเสียอีก จะให้คลานเข้าไปกราบพระได้อย่างไร  ดิฉันเชื่อแน่ว่านี่เป็นสิ่งที่คนไทยเราโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสามารถเข้าใจได้ดี

 

 การที่ดิฉันได้ผ่านขั้นตอนตั้งแต่การกอดรัดอยู่กับความเสน่หาของกิเลส ถึงการแสวงหาจนกระทั่งได้พบครูบาอาจารย์และปลุกปล้ำล้มลุกคลุกคลานกับการปฏิบัติธรรมจนมาถึงบัดนี้พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วนั้น ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ดิฉันเข้าใจถึงสภาวะของความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายกาจที่สร้างปัญหาและความสับสนให้แก่คนไม่ว่าจะเกิดมาในยุคไหนก็ตาม ความร้ายกาจของความไม่รู้ก็คือการไม่รู้ในตัวมันเอง คนที่ยังอยู่ในความมืดมิดของอวิชชาและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น การตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด คือไม่รู้ว่าจะถามอย่างไร ครูบาอาจารย์ถึงแม้จะรู้คำตอบก็ตอบให้ไม่ได้ ความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นสิ่งยากที่สุดที่จะทำลาย เพราะนอกจากความไม่รู้ในตัวมันเองซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมหันต์แล้ว ความไม่รู้ยังสร้างอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ผูกมัดตนเองเข้าไปอีก นั่นคือคนที่ไม่รู้นั้นมักจะมีนิสัยดื้อรั้นหยิ่งยโสโอหังที่มักจะคิดเสมอว่าตนเองรู้แล้วแถมรู้มากกว่าหรือดีกว่าคนอื่นอยู่ร่ำไป ยิ่งถ้าไปอวดเก่งกับผู้รู้จริงซึ่งมักเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว โอกาสที่จะพบแสงสว่างแห่งธรรมแทบจะหมดไปเลยเว้นเสียแต่ว่ากัลยาณมิตรนั้นมีเมตตาอย่างสูง ความดื้อรั้นเช่นนี้ภาษาพระเรียกว่า อัสมิมานะ เกิดขึ้นได้ทั้งกับพระและฆราวาส ถ้าเกิดขึ้นกับพระแล้วจะแก้ยากกว่า สิ่งนี้ทำให้ม่านแห่งอวิชชาหนามากขึ้นโดยไม่จำเป็น  เหมือนกับการอยู่ในห้องมืดที่มีความมืดเป็นทุนอยู่แล้ว ยังเอาแว่นตาดำมาใส่อีก แถมมีคนพยายามจะเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้แสงสว่างเข้ามาได้บ้าง แต่คนที่ยังเป็นเกลอกับอวิชชานั้นกลับไม่ยอมให้เปิด บอกว่าอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว นี่คือความร้ายกาจของอวิชชา อย่างไรก็ตาม การที่คน ๆ หนึ่งจะช่วยแหวกม่านอวิชชาให้อีกคนหนึ่งนั้น การรู้จริงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่รู้จริงแล้วจะเขวและเสียหลักได้ง่ายเมื่อถูกผู้ไม่รู้แต่อวดเก่งถามรุก

 

ฉะนั้น วิธีการชี้แนะและบอกทางของดิฉันนั้น ที่จริงแล้วคือสิ่งที่ตนเองอยากรู้ มาบัดนี้ดิฉันรู้แล้วว่าดิฉันควรต้องถามคำถามอย่างไรเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการอย่างแท้จริงเพื่อว่าดิฉันจะสามารถเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ดิฉันอยากให้ครูบาอาจารย์สอนและพูดกับดิฉันในขณะที่ดิฉันยังสับสนอยู่เพราะมีกำแพงอวิชชาเป็นสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า

 

สิ่งเดียวที่สามารถทำลายความไม่รู้ (อวิชชา)ได้ คือความรู้ (วิชชา) ความรู้นี้คือรู้อะไร คำตอบที่เถรตรงที่สุดคือรู้เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรื่องอริยสัจสี่ นี่เป็นความรู้เรื่องเดียวในโลกที่จะทำลายความไม่รู้ (อวิชชา) ได้ และนี่คือเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้  (พูดเพียงเท่านี้ ผู้ที่ยังเป็นสหายรักของอวิชชาบางท่านจะส่ายหน้าทันที ไม่เห็นด้วยไม่อยากฟังและไม่อยากอ่านต่อ ดิฉันต้องขอร้องให้ท่านกลับไปอ่านย่อหน้าที่ดิฉันพูดเรื่องอัสมิมานะเมื่อครู่นี้และพยายามทำใจให้อ่อนโยนเข้าไว้)  ฉะนั้น เมื่อพูดเรื่องความรู้หรือวิชชาแล้ว มีอยู่เรื่องเดียวที่ต้องรู้คือเรื่องอริยสัจสี่เท่านั้น ความรู้ที่เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาและออกมาทำมาหากินนั้นไม่เกี่ยวเลยแม้แต่น้อยนิด คนที่มีปริญญาทางโลกแม้จะยาวเป็นหางว่าวสักเพียงใด และแม้คนนั้นจะสอนเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ หรือสอนศาสนาพุทธตามตำราในมหาวิทยาลัยก็ตามแต่   หากไม่มีการปฏิบัติศาสนธรรมตามองค์มรรคแล้วไซร้ ก็ยังถือว่าเป็นคนไม่รู้อยู่นั่นเอง 

 

แล้วความรู้เรื่องอริยสัจสี่ในยุคสมัยนี้จะมาได้อย่างไร คำตอบคือจะต้องมาจากผู้รู้เท่านั้น จากการชี้แนะและการสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฏกนั้นก็มีผู้ปฏิบัติตามการชี้แนะของท่านมาโดยตลอด จนมีผู้รู้ตามและเป็นครูบาอาจารย์ถ่ายทอดวิชาของพระพุทธเจ้าจนถึงสังคมทุกวันนี้ ผู้รู้ที่แท้จริงคือผู้ที่ผ่านการปฏิบัติจนสามารถเห็นตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าเห็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเห็นหมดก็ได้ หากความรู้ที่พระพุทธเจ้าสอนเปรียบกับตึกสิบชั้น ผู้ที่ผ่านขึ้นมาเพียงชั้นที่หนึ่งก็สามารถแจกความรู้ของชั้นที่หนึ่งให้กับคนที่อยู่ชั้นใต้ถุนได้แล้ว ใครปีนได้สูงกว่านั้นก็สามารถช่วยบอกทางได้มากขึ้นตามลำดับ  ผู้รู้ก็สามารถสอนได้เท่าที่ตนเองรู้เท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าเห็นมากหรือเห็นน้อย รู้มากหรือรู้น้อย จะสอนมากกว่าที่รู้ที่เห็นก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาสอน ถ้าหากสอนออกไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าตามตำราแล้ว หากไปเจอผู้รู้จริงมากกว่า ก็จะขายหน้าเสียเปล่าถึงแม้ผู้รู้จริงและรู้มากกว่าจะไม่เป็นคนชอบจับผิดใครก็ตาม คนรู้ไม่จริงจะเขินไปเอง ผู้รู้ที่ความรู้เกิดในป่าก็จะถนัดสอนคนอยู่ป่า ในขณะที่ผู้รู้ที่ความรู้เกิดในเมืองก็จะสามารถช่วยคนในเมืองได้ดีกว่า[1] 

 

ในความเห็นของดิฉันแล้ว การที่จะเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ดีที่สุดนั้น ควรจะ เปรียบเทียบกับการต่อรูปภาพที่ตัดออกมาเป็นชิ้น ๆ และให้ต่อเล่นซึ่งเป็นของเล่นอย่างหนึ่งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ฝรั่งเรียก jigsaw puzzle ถ้าเป็นเด็กเขาก็จะตัดเป็นชิ้นใหญ่หน่อยและมีน้อยชิ้นเพื่อให้ต่อง่าย ถ้าเป็นผู้ใหญ่เล่นเพื่อความเพลิดเพลินและผ่อนคลายสมองละก็ เขาจะตัดเป็นชิ้นเล็กหน่อยและมีมากชิ้นซึ่งจะต่อยากขึ้น ฉะนั้น จากรูปที่เขาตัดออกเป็น ๑๐ ชิ้นบ้าง ๑๐๐ ชิ้นบ้าง ที่เห็นขายกันอยู่นั้น มีบางรูปที่เขาตัดออกถึงห้าพันชิ้นซึ่งการต่อจะยากขึ้นมาก  การจะต่อกองรูปภาพตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆเหล่านี้ได้นั้น ผู้ต่อจะต้องเห็นภาพทั้งหมดบนหน้ากล่องเสียก่อน จึงจะรู้ว่าเป้าหมายของการต่อคืออะไร หน้าตาของรูปสำเร็จเป็นอย่างไร การเห็นรูปสำเร็จหมายความว่าจะรู้ตำแหน่งแห่งหนของทุกอย่างในภาพพร้อมสีสรร รู้ว่าภูเขาอยู่ซ้ายมือ ป่าสีเขียวอยู่ขวามือ กระต๊อบอยู่ตีนเขา แม่น้ำไหลจากไหล่เขาผ่านกระต๊อบและเข้าไปในป่า ท้องฟ้าอยู่ข้างบน นกบินอยู่มุมนี้บ้าง มุมนั้นบ้าง พื้นดินมีสีน้ำตาล เป็นต้น การเห็นภาพสำเร็จของรูปที่จะต่อนั้นทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งหากพูดใหม่ว่าเป็นการรู้แจ้งก็ได้  พอรู้แจ้งแล้ว ผู้เล่นก็สามารถจัดระบบการต่อภาพได้อย่างง่ายดาย

 

การเปรียบเทียบดังกล่าวนั้น ที่จริงแล้วเหมือนกับชีวิตของคนเรามากที่สุด ชีวิตทีมีร่างกายและจิตใจที่ยืนบนพื้นโลกและอยู่ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ สามารถเปรียบได้กับรูปภาพสำเร็จรูปหนึ่งนั่นเอง แต่รูปภาพนี้ถูกตัดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จำนวนมากแค่ไหนนั้นก็นับเอาจากสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาทุกอย่าง รวมเข้ากับสิ่งที่ได้ยินด้วยหูทุกเสียง รวมเข้ากับสิ่งที่ชิมได้ด้วยลิ้นทุกรส รวมเข้ากับสิ่งที่ดมได้ด้วยจมูกทุกกลิ่น และรวมเข้ากับสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยผิวหนังทุกสัมผัส บวกกับนามธรรมทุกอย่างที่เข้ามาในรูปของความคิด จินตนาการ ซึ่งหมายถึงความรู้ทุกอย่างที่มนุษย์มี บวกกับความรู้สึกทั้งของกายและใจ ซึ่งรวมถึงปัญหาต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้คือจำนวนของภาพต่อแต่ละชิ้นซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ พระพุทธเจ้าได้บัญญัติศัพท์คำเดียวที่สามารถใช้เรียกสิ่งทั้งหมดเหล่านี้คือคำว่า ธรรม ซึ่งรวมทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ทั้งที่สัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้   เช่น แค่มองไปรอบ ๆ ห้องที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ วัตถุแต่ละชิ้นที่เห็นสมมุติว่าจัดเป็นภาพต่อหนึ่งภาพ เช่น โต๊ะทำงานของดิฉันในขณะนี้มีของไม่ตำกว่า ๑๐๐ ชิ้นก็ต้องจัดเป็นภาพต่อ ๑๐๐ ภาพ และสมมุติต่อว่าหากวัตถุทั้งหมดในโลกนี้มีโกฏชิ้น ก็นับภาพที่ต้องต่อเป็นโกฏชิ้น เช่นเดียวกับเสียงแต่ละเสียงที่ได้ยินก็จัดเป็นภาพต่อแต่ละภาพ ความคิดทุกความคิดที่เข้ามาในหัวก็จัดเป็นภาพต่อแต่ละภาพ หนึ่งความคิดก็หนึ่งภาพ ล้านความคิดก็ล้านภาพ เช่นเดียวกับความรู้สึกทุกความรู้สึกก็จัดเป็นภาพต่อแต่ละภาพ เป็นต้น เมื่อรวมแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพต่อเล่นที่ขายกันตามร้านอันมีถึง ๕๐๐๐ ชิ้นหรือ แม้กระทั่ง ๕๐,๐๐๐ ชิ้นนั้นต้องจัดว่าง่ายกว่าภาพต่อของชีวิตมากนัก เพราะภาพต่อของชีวิตจะมีมากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน เป็นกองมหึมาที่กองอยู่ทั่วไปในจักรวาลนี้ ตัวมนุษย์ก็คือภาพต่อเพียงหนึ่งชิ้นในท่ามกลางภาพต่ออันมากมายก่ายกองของจักรวาลนี้ และในตัวมนุษย์เองก็ได้สร้างภาพต่อของชีวิตอีกจำนวนนับไม่ถ้วนคือ ความคิดและความรู้สึก ฉะนั้น ภาพต่อของชีวิตมีมากแค่ไหนนั้น ทุกคนสามารถหลับตาและนึกเอาเอง

 

ข้อเปรียบเทียบในจุดนี้เองที่คนบางคนอาจจะเข้าใจความสับสนและพิษสงของอวิชชาได้ไม่ยากนัก พูดไปแล้ว คนเราเกิดขึ้นมาในจำนวนภาพต่อของชีวิตกองมหึมานี้โดยที่ไม่รู้ว่าภาพสำเร็จของชีวิตคืออะไร  ความสับสนวุ่นวายของชีวิตที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นก็เปรียบเสมือนกับคนที่อยากต่อภาพเล่นห้าหมื่นชิ้นที่อยู่เบื้องหน้า แต่เผอิญไปทำฝากล่องหาย จึงไม่รู้ว่าภาพสำเร็จที่ตนเองต้องบรรลุเป้าหมายนั้นมีหน้าตาอย่างไร เมื่อไม่รู้แล้ว พยายามที่จะต่อยังไงก็ทำไม่ได้ จึงเกิดความสับสนวุ่นวาย ฉันใดก็ฉันนั้น ความรู้สึกของคนเราที่สับสนวุ่นวายและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นเป็นผลของการไม่เข้าใจชีวิตหรือไม่รู้แจ้งนั่นเอง เพราะไม่รู้ว่าภาพสำเร็จของชีวิตควรจะเป็นอย่างไร ส่วนไหนของชีวิตควรจะต่อกับอะไร

 

 เมื่อมองไปยังสังคมโลกแล้ว จะเห็นปรากฏการณ์หลากหลายที่แตกซ่านและขาดเหตุผล  คนฉลาดขึ้น มีความรู้มากมาย จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี่ที่ก้าวหน้าจนสามารถเดินทางไปในอวกาศ ฯลฯ  ความก้าวหน้าเหล่านี้กลับเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติที่โอบอุ้มมนุษย์ให้อยู่รอดบนพื้นโลกได้ แผ่นดิน ป่า น้ำ และอากาศ ซึ่งดูแล้วมันยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะไปทำลายมันได้ แต่มนุษย์ก็ได้ทำลายมันแล้วด้วยความฉลาดของมนุษย์นั่นเอง เมื่อหันกลับมามองสภาวะจิตใจของคนแล้ว ก็ยิ่งตกใจมากขึ้น การแพทย์เจริญมากอย่างน่าใจหายจนสามารถชะลออายุการตายของมนุษย์ลงได้มากเมื่อเทียบกับอายุของคนเมื่อเพียงหกสิบปีก่อนโน้น แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถชะลออายุการตายลง คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับอดตายกันนับจำนวนล้าน และคนบางกลุ่มก็ถูกฆ่าตายกันเป็นจำนวนล้านเช่นกัน การกระทำของฮิตเลอร์ สตาลิน เมาเซตุง พอลพต คนเพียงสี่คนนี้ได้รับผิดชอบต่อการตายของคนไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านคนในโลกนี้ในระยะเวลาเพียงแค่ ๕๐ ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง นี่ยังไม่รวมถึงผู้นำบ้าอำนาจเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ใช้อำนาจเผด็จการฆ่าคนบริสุทธิ์ตายอย่างเงียบ ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวียระหว่างพวกเซริ์บกับชาวอาลเบเนียก็กำลังเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยที่ทำให้คนตายและเป็นทุกข์กันอย่างมหันต์ น่าสงสัยเหลือเกินว่าทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความระส่ำระสายของสังคมในทุกหน่วยงานนั้นได้สั่นคลอนสภาวะจิตของปัจเจกบุคคลไปตาม ๆ กัน  คนเราหาความสงบใจได้ยากขึ้นทั้ง ๆ ที่วัตถุเจริญขึ้น อยากกินอยากเสพอะไรก็ได้ แต่คนก็ไม่มีความสุขใจ สังคมเต็มไปด้วยผู้ป่วยทางจิตจนยาระงับประสาทขายดีเป็นเทน้ำเทท่า คนฆ่าตัวตายก็มีมากขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้แหละคือ ปรากฏการณ์ที่สับสน โกลาหน วุ่นวาย คือสภาวะของการที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีใครสามารถจับต้นชนปลายได้ถูกว่าอะไรมันคืออะไร ปัญหาทุกเรื่องพันกันยุ่งจนเหมือนกับกลุ่มด้ายก้อนใหญ่ที่เต็มไปด้วยปม เพียงแค่เห็นเท่านั้นก็รู้สึกเข่าอ่อน หมดกำลังใจที่จะมานั่งแก้  คนที่พยายามแก้ปมปัญหาอยู่นั้น ส่วนมากก็ทำไปอย่างซังกะตาย ไร้ชีวิตขาดชีวา เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าขืนทำไปก็แค่นั้นเอง เพราะปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่จะมานั่งสางกันได้ มันไม่ได้ให้ผลอะไรอย่างแท้จริง ทำไปเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น จะไปคิดทำไมให้ยุ่งยากใจ คนที่คิดมากก็ทำไม่ได้ การแก้ปัญหานั้น เมื่อหลุดจากปมปัญหานี้ก็ไปเจออีกปมหนึ่งอยู่ร่ำไป  นี่แหละคือสภาวะของคนที่ตกอยู่ในอวิชชา หรือความไม่รู้ คือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางคนก็ยอมรับว่าตนเองไม่รู้อะไรจริง ๆ แต่บางคนก็พูดเหมือนเป็นนักปรัชญาว่า โลกนี้มันก็วุ่นวายอย่างนี้แหละ จะเอาอะไรกับมัน คือพูดเหมือนกับรู้แต่ในใจลึก ๆ ก็ยังกลัวความตาย กลัวความไม่แน่นอนที่จะเกิดกับตนเองและครอบครัว หากบุคคลนั้นไม่ได้รู้เรื่องพระนิพพานอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่มีวันเข้าใจเป็นอันขาดว่าอะไรคืออะไร 

 

การจะนำภาพต่อของชีวิตเหล่านี้มาใส่ให้มันถูกที่เหมือนกับที่ทำกับภาพเล่นนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก เหตุผลที่สำคัญคือ เพราะคนเราไม่รู้ว่าภาพสำเร็จของชีวิตควรจะเป็นอย่างไร เพราะภาพสำเร็จของชีวิตไม่ได้ติดมากับฝากล่องที่ซื้อหากันได้ตามห้างสรรพสินค้า ไม่มีใครรู้ว่าภาพสำเร็จของชีวิตควรเป็นอย่างไรจนกระทั่งคืนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คืนที่ท่านตรัสรู้ที่ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ในคืนเพ็ญของเดือนหก ๒๕๘๗ ปีที่ผ่านมานั้น คือคืนที่ท่านสามารถเห็นภาพสำเร็จของชีวิตมนุษย์ที่กำลังยืนอยู่ท่ามกลางจักรวาลอันไพศาลและลี้ลับนี้  พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลแรกที่สามารถต่อภาพต่อของชีวิตจนเห็นภาพสำเร็จได้ ซึ่งภาพสำเร็จที่ท่านเห็นนั้นมันมากกว่าจักรวาลที่เราเห็นมากนักคือท่านเห็นไกลไปถึงเรื่องของสังสารวัฏที่ใหญ่ยิ่งกว่าจักรวาลอันเป็นท้องฟ้าและแกแลกซี่อีกมากมายจนไม่สามารถจะหาคำพูดอะไรมาใช้ได้ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์มีคำที่ใช้วัดแบบใหญ่ ๆ เช่น ปีแสง light year หรือ กิ๊กกาไบท์ gigabyte ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์นั้น พระพุทธเจ้าได้ใช้คำว่า กัป มหากัป ความยิ่งใหญ่และความยาวนานของสังสารวัฏนั้นท่านจะวัดกันเป็นกัป ๆ ซึ่งเป็นความยาวนานที่แม้คนปฏิบัติธรรมก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง จะเอาอะไรกับคนที่ไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธเลยซึ่งจะเห็นเป็นเรื่องตลกไปเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นแหละคือการที่ท่านสามารถต่อภาพของชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วนได้สำเร็จ ท่านจึงสามารถอ้างได้ว่า ท่านเป็นผู้รู้แจ้ง ท่านเป็นผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง เพราะการเห็นภาพทั้งหมดของชีวิต ความรู้ของท่านจึงสามารถแทงทะลุจากขั้วหนึ่งไปสุดอีกขั้วหนึ่ง หรือที่เรียกว่า รู้แจ้งแทงตลอด เหมือนกับการเห็นภาพสำเร็จบนฝากล่อง สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ภูเขา กระท่อม ป่า ลำธาร นก ท้องฟ้า มันประสานกันอย่างไร แม้คนที่เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ยังทำกิจภายในไม่หมดจด ก็ยังไม่สามารถเห็นภาพทั้งหมดได้ ยังต้องรับฟังการบอกทางจากผู้รู้มากกว่าตน

 

การต่อภาพของชีวิตที่เป็นกองมหึมาอยู่ทั่วจักรวาลนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง และมิใช่เป็นวิสัยของมนุษย์ธรรมดาจะทำได้เองโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้รู้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ผู้ยังไม่รู้ต้องยอมรับด้วยจิตใจที่อ่อนโยนปราศจากความแข็งกระด้าง เพราะจะช่วยทำให้เรื่องทุกอย่างง่ายขึ้นหากมีการยอมรับ ฉะนั้น การรับฟัง(ปรโตโฆสะ)ผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่จะทำให้เข้าใจชีวิตได้ เพราะปัญหาท้ายสุดอยู่ที่ว่า ตัวมนุษย์เองก็เป็นภาพต่อชิ้นหนึ่งเหมือนกัน การต่อภาพจะต้องมีผู้วางภาพกับภาพที่ถูกวางลงไป หากตัวเราเองเป็นภาพที่ต้องถูกวางแล้วไซร้ ใครจะมาวางภาพของตัวเราลงไป ฉะนั้น ตัวมนุษย์เองคือภาพสุดท้ายที่จะต้องถูกวางลงไป นี่คือความยากที่สุดของการเข้าใจภาพทั้งหมดของชีวิต หากมนุษย์ยังไม่สามารถวางภาพของตนเองลงในจอภาพแล้ว เราจะไม่มีวันเข้าใจชีวิตได้เลย ฉะนั้น คนที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้าและปฏิเสธศาสนาก็จะไม่รู้เทคนิคหรือวิธีการที่สำคัญและลัดสั้นที่สามารถทำให้เข้าใจชีวิตได้อย่างถ่องแท้ แต่จะมัววุ่นอยู่กับการต่อภาพกระจุกเล็ก ๆ มุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น นั่นคือเรียนรู้ทางโลก ทำมาหากิน อยู่ไปวัน ๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง แก่เจ็บแล้วก็ตายไป นี่คือลักษณะของคนที่ไม่รู้ภาพทั้งหมดของชีวิต รู้แต่เรื่องทำมาหากินเอาร่างกายรอดก็พอแล้ว

 

หากปราศจากความเมตตากรุณาอย่างท่วมท้นของพระพุทธองค์ผู้เปี่ยมไปด้วยทศพลญาณที่ดำริจะช่วยสัตว์โลกแล้วไซร้ คนเรายังต้องอยู่อย่างมืดมิดต่อไปอีกนานแสนนาน หรือที่เรียกว่านานชั่วกัปชั่วกัลย์ซึ่งเป็นความยาวนานที่ไม่สามารถคิดคำนวนได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ติดหรือเป็นหนี้เป็นสินอะไรใคร ท่านพ้นแล้วและไม่จำเป็นต้องสอนเราก็ได้  แต่ท่านก็ไม่ทำ  ด้วยความเมตตาอย่างเปี่ยมล้นต่อสัตว์โลกที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงทุกข์ของสังสารวัฏ พระพุทธเจ้าจึงออกมาสอนเทคนิคของการต่อภาพที่เร็วที่สุดให้แก่มนุษย์[2]เพื่อเราจะได้พบความสว่างอย่างแท้จริง นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องตระหนักให้ถ่องแท้ถึงความโชคดีอย่างมหันต์ของตนเองโดยเฉพาะผู้ที่ได้เกิดมาในดินแดนของพุทธศาสนาอย่างเช่นคนไทยเรา และต้องไม่ดูหมิ่นสถาบันศาสนาถึงแม้ว่าสถาบันนี้จะมีความถดถอยมากเพียงไรก็ตาม นอกจากนั้น ต้องพยายามเข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ช่วยกันสืบทอดเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้แจ้งนี้ให้แก่ลูกหลานไทยให้นานที่สุดจนกว่าพุทธศาสนาจะหมดยุคของมันไปเองตามกฏแห่งอนิจจัง

 

 

ด้วยเหตุผลที่ท่านสามารถเห็นภาพทั้งหมดของชีวิตได้ พระพุทธองค์จึงสามารถตรัสได้ว่า ความรู้ของท่านนั้นมีมากกมายเปรียบเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่ท่านสอนนั้นคือใบไม้กำมือเดียว ซึ่งคนส่วนมากมาตีความเอาว่า ท่านสอนเพียงส่วนนิดเดียวที่จำเป็นต้องรู้คือเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น  ในความเห็นของดิฉันแล้ว ใบไม้กำมือเดียวของพระพุทธเจ้านั้นมิใช่สอนเพียงนิดเดียวหรือส่วนเดียว  แต่ท่านสอนจุดที่สำคัญที่จะสามารถทำให้คนเห็นใบไม้ในป่าได้มากขึ้นต่างหาก เปรียบเหมือนกับคนที่กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง และลังเลสงสัยว่าจะไปทางไหนดี ใบไม้กำมือเดียวของพระพุทธเจ้าเท่ากับบอกว่า เลือกเดินทางขวามือสิ พอคนรู้ว่าเดินทางขวาได้แล้ว เมื่อเดินไปก็จะเจออะไรมากมายเอง ฉันใดก็ฉันนั้น หากคนสามารถจับเรื่องอริยสัจสี่ได้แล้ว ก็จะเจอความรู้อีกมากมายที่มิได้จำกัดอยู่แค่การดับทุกข์เท่านั้น เรื่องการดับทุกข์เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งของความรู้ทั้งหมดเท่านั้น ความรู้ทั้งหมดคือ การสามารถประสานปรากฏการณ์หลากหลายของจักรวาลอันลึกลับนี้ที่มีตัวเราอยู่ด้วยต่างหาก คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

 

จะเข้าใจให้ดีและเข้าใจถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แล้วต้องกลับมาดูการต่อภาพต่อชิ้นเล็ก ๆ อีกครั้งหนึ่ง หากเป็นภาพที่ตัดออกถึง ๕๐๐๐ ชิ้น ผู้ต่อที่ชำนาญจะเริ่มแยกชิ้นต่อแต่ละชิ้นเป็นกลุ่ม เป็นระบบ กลุ่มที่สำคัญที่สุดที่ผู้ต่อจะแยกออกมาก่อนคือ ชิ้นทุกชิ้นที่มีขอบตรง เพราะนั้นหมายถึงกรอบของรูป หลังจากแยกชิ้นที่มีขอบตรงแล้ว ก็จะแยกสี กลุ่มที่มีสีเดียวกันหรือคล้ายกันจะรวมเข้าหากัน หลังจากนั้น จะต้องหาชิ้นที่อยู่ตรงมุมของทั้งสี่ด้าน เมื่อได้ชิ้นหลักและกลุ่มหลักนี้แล้ว นักต่อก็จะเริ่มจากขอบของภาพและจะสามารถต่อได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ของการต่อภาพเล่นเหล่านี้ เขาจะไม่รู้ว่าควรจัดกลุ่มอย่างไร และอาจจะพยายามปลุกปล้ำกับการต่อกระจุกเล็กๆ ของมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น

 

เมื่อเข้าใจเทคนิคหรือวิธีการของการต่อภาพแล้ว ชาวพุทธจะเริ่มเข้าใจถึงเทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นความรู้เรื่องใบไม้กำมือเดียวของท่านนั้นแหละเปรียบเหมือนกับการต่อภาพของคนที่ชำนาญและรู้จักแยกเอาขอบตรงของภาพและแยกกกลุ่มสีออกมาก่อน คือ ท่านให้คนจับเรื่องอริยสัจสี่ก่อน ต้องรู้ว่าชีวิตนั้นมีเป้าหมายอันสูงสุดคือพระนิพพาน และต้องรู้ว่าจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร จะเดินอย่างไรก็ด้วยหนทางของศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง ถ้าจะให้เด่นชัดลงไปจริง ๆ แล้ว ใบไม้กำมือเดียวของพระพุทธเจ้านั้นคือเรื่องสติปัฏฐานสี่อันเปรียบเสมือนต่อรูปจากส่วนขอบ ในขณะที่เรื่องพระนิพพาน อนัตตา การหมดตัวตน นั้นเป็นภาพต่อชิ้นสุดท้ายในส่วนกลางสุดที่เป็นตัวประสานให้กับภาพที่เหลือทุกชิ้น ฉะนั้น โครงสร้างของศาสนาพุทธ จะมีเรื่องสติปัฏฐานเป็นจุดเริ่มต้น และจบลงที่พระนิพพานหรือการหมดตัวตนในส่วนกลางสุด  

 

เมื่อคนสามารถจับเรื่องใบไม้กำมือเดียวหรือเรื่องสติปัฏฐานสี่ของพระพุทธเจ้าได้แล้ว การต่อภาพชีวิตจากขอบตรงก็จะเกิดขึ้น และจะต่อได้เร็วกว่าคนที่ไม่รู้เทคนิคหรือคนที่ไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธเอาเสียเลย จากใบไม้กำมือเดียวหรือเรื่องสติปัฏฐานสี่นี่แหละ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตก็ค่อย ๆ ชัดมากขึ้นเหมือนกับการสามารถต่อภาพเล่นฉันนั้น ยิ่งต่อได้มากชิ้น ความชัดของภาพก็มีมากขึ้น คนที่เริ่มฝึกสติฐานที่หนึ่งและที่สอง เช่น หัดเดินจงกรมหรือฝึกดูลมหายใจนั้น ก็เปรียบเหมือนการเริ่มต่อขอบที่ตรงของภาพ จะเริ่มเห็นภาพลาง ๆ ว่า อ๋อ ชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง จะเริ่มได้รับรสของพระธรรม และเริ่มเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า พอการปฏิบัติเข้าสู่ฐานที่สาม ก็หมายความว่าสามารถต่อภาพเข้าสู่ส่วนกลางได้มากขึ้น จะเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้นและรู้ว่าอะไรเป็นอะไรมากขึ้นกว่าเดิม การเข้าใจฐานที่สี่หรือธรรมานุปัสนาสติปัฏฐานนั้น คือการที่สามารถค้นพบภาพต่อชิ้นสุดท้ายตรงกลาง และสามารถหาที่ลงของมันได้อย่างเหมาะเจาะ พอสามารถเอาภาพสุดท้ายนี้ลงถูกที่ได้แล้ว ภาพทั้งหมดก็จะสำเร็จและความเข้าใจชีวิตทั้งหมดก็จะสมบูรณ์เหมือนกับได้เห็นภาพของฝากล่องรูปตัวต่อ เมื่อความรู้สึกแห่งความมีตัวตนหายไป ตัวมนุษย์ก็กลายเป็นส่วนประกอบของภาพทั้งหมดของจักรวาลอันกลมกลืนและธรรมดาที่ดูเรียบง่าย   

 

ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ถึงแม้จะเริ่มที่ใบไม้กำมือเดียวก็จริงอยู่ แต่เมื่อเข้าใจฐานที่สามและสี่แล้วจะเริ่มรู้ใบไม้ที่เหลือของป่า มันคือเรื่องของโลก จักรวาล ชีวิตและปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเราและจักรวาลทั้งหมดรวมทั้งเรื่องลึกลับทั้งหลาย เช่น กฏแห่งกรรม สังสารวัฏ บารมี ภพ ภูมิต่างๆ ซึ่งก่อนปฏิบัติก็ยังสงสัยอยู่ แต่พอมาฝึกสติอย่างมีฐานแล้ว ความสงสัยก็จะหมดไป ส่วนจะเห็นหรือไม่เห็นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง[3]ที่จริงอยากจะใช้คำว่า ใบไม้ทั้งป่า แทนที่จะเป็นใบไม้ที่เหลือของป่า เพราะเมื่อพูดโดยการเปรียบเทียบกับรูปภาพตามเหตุผลแล้ว ในขณะที่ส่วนขอบคือใบไม้กำมือเดียว การต่อภาพเสร็จก็น่าจะหมายถึงเห็นใบไม้ทั้งป่า แต่ดิฉันไม่กล้าและไม่บังอาจที่จะคิดแม้เพียงน้อยนิดว่าสามารถรู้เห็นทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าได้รู้ได้เห็น เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ดิฉันไม่อาจรู้ได้ว่าใบไม้ทั้งป่าของพระพุทธเจ้าหมายถึงอะไรแน่นอนและมีอะไรอีก  ฉะนั้น จึงขอใช้แต่คำว่าใบไม้ที่เหลือของป่า ในแง่ที่ให้เข้ากันกับหลักเหตุผลที่ยกขึ้นมาเท่านั้น หวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจและไม่คิดว่าดิฉันกล้าบังอาจที่จะเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า สาวกที่ดีนั้นจะไม่ตีตนเสมอเทียบเท่าครูบาอาจารย์ของตนเป็นอันขาด ซึ่งอย่าพูดถึงการตีเสมอพระพุทธเจ้าเลย แม้การตีเสมอครูบาอาจารย์อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส หลวงพ่อเทียน หรืออาจารย์เขมานันทะแล้ว ลูกศิษย์คนนี้ก็ไม่กล้าบังอาจแม้แต่จะคิด   อย่างไรก็ตาม จากข้อเปรียบเทียบข้างต้นนั้น เมื่อใครเข้ามารู้เรื่องพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว เขาจะกลายเป็นคนที่กว้างขวางมากในแง่ที่สามารถประสานเรื่องราวของชีวิตกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นอยู่ในจักรวาลได้ถึงแม้คนเหล่านั้นจะไม่รู้เรื่องทางโลกและไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม  ฉะนั้น คำว่า รู้แจ้งแทงตลอด ก็คงจะมีความหมายในแง่ที่สามารถเห็นภาพทั้งหมดของชีวิตนั่นเอง

 

หากผู้อ่านสามารถเข้าใจในสิ่งที่ดิฉันได้พูดมาทั้งหมดแล้ว ก็จะสามารถเข้าใจจุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ว่า ได้เน้นไปที่ใบไม้กำมือเดียวของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเรื่องหลักอยู่เพียงสองเรื่องเท่านั้น คือ รู้เรื่องเป้าหมายของชีวิต และต้องรู้ว่าจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร โลกนี้กำลังเต็มไปด้วยคนที่มีความทุกข์ และเวลาของการแสวงหาของแต่ละคนก็มีน้อยมาก ฉะนั้น  ดิฉันจะเน้นเพียงแค่สองเรื่องเท่านั้น คือ เรื่องสติปัฏฐานสี่ กับ พระนิพพาน ซึ่งไม่ว่าจะพูดจากแง่มุมไหนของชีวิตก็ตาม การเห็นภาพทั้งหมดของชีวิตได้นั้นจะทำให้สามารถโยงเข้าสู่เรื่องเดียวกันหมด ฉะนั้น บทสรุปของทุกบทจะวกเข้ามาสู่เรื่องสติปัฏฐานสี่อันเป็นหนทางเอกและเป็นทางลัดที่จะช่วยให้คนเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตคือ พระนิพพาน   การที่คนยอมรับเรื่องพระนิพพานในฐานะที่เป็นเป้าหมายของชีวิตและพยายามเดินตามทางแห่งสติปัฏฐานสี่ได้นั้น จะช่วยทุ่นเวลาแห่งการไปเสียเวลาแสวงหาในเรื่องอื่นซึ่งมีความสำคัญรองลองมาและจะสามารถลดความสับสนวุ่นวายใจให้กับชีวิตส่วนหนึ่งได้ทันที ความทุกข์ส่วนที่เหลือนั้นจะชนะได้ก็โดยการค่อย ๆ เกาะหลักธรรมเท่าที่ตนเองรู้ไปก่อน ล้มลุกคลุกคลานเหมือนนักปฏิบัติธรรมทั่วไปจนกว่าจะรู้สึกง่ายขึ้นเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป

 

 

ด้วยเหตุผลที่ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่าพระนิพพานเป็นสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่เป็นสากล เป็นอพยากฤต neutral state อันไม่มีภาษาใดของมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ ฉะนั้น สภาวะนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตสามารถเข้าถึงได้ ดิฉันจึงตั้งใจจะเผื่อแผ่ความคิดเหล่านี้ให้เป็นธรรมทานแก่มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นชนชาติอะไร ผิวสีอะไรและนับถือศาสนาอะไร ประจวบกับดิฉันก็พอจะมีความสามารถทำได้ถึงแม้จะไม่ดีนักก็ตาม  ดิฉันจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ออกเป็นภาษาอังกฤษด้วย ฉะนั้น ดิฉันจึงจำเป็นต้องพูดในสิ่งที่ศาสนิกอื่นก็สามารถประสานได้ด้วย นั่นคือเรื่องพระเจ้าโดยเฉพาะคริสตศาสนา

 

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถช่วยจุดประกายแห่งความรู้แจ้งให้แก่คนหมู่มากได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมอันดีงามเพื่อความอยู่รอดและความผาสุขของมนุษยชาติ

 

ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน

๙ เมษายน ๒๕๔๒

 

 Supawan P. Panawong Green

236 Ryde Park Rd.

Rednal

Birmingham

B45 8RJ

UK



[1] พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสไว้ แต่รับฟังมาจากอาจารย์เขมานันทะอีกต่อหนึ่ง

[2] ที่จริงรวมทั้งเทวดา พรหม มาร ด้วย แต่เพื่อไม่ให้คนสับสนมากก็เอาแค่มนุษย์ไว้ก่อน

[3] ในที่นี้หมายถึงการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ การรู้ใจคน การระลึกชาติได้ ผู้รู้บางท่านในระดับพระอรหันต์ก็ไม่สามารถมีคุณสมบัติเหล่านี้ เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับบารมีที่สั่งสมมาในอดีตชาติ ในความหมายข้างต้นนั้น เพียงแค่ให้หมดสงสัยก็พอแล้ว ถึงแม้ผู้รู้นั้นจะไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ก็ตามแต่