คำนำ

เขียนโดย ด๊อกเตอร์ไมเคิล ทอมมัส

แปลโดย ศุภวรรณ กรีน

 

ผมได้พบคุณศุภวรรณครั้งแรกเมื่อปี ๑๙๙๑/๒๕๓๔ ตอนนั้น ผมกำลังศึกษาปริญญาโทในสาขาความรู้ศาสตร์ Cognitive Science ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ผมมีความสนใจในปรัชญาตะวันออกอยู่แล้ว ผมคิดว่าปรัชญาตะวันออกเป็นความเข้าใจที่แตกต่างออกไปจากความรู้ของชาวตะวันตก (รวมทั้งวิธีการชงชาที่แสนจะเจ็บปวดด้วย!) วันหนึ่ง ผมพยายามหาอะไรบางอย่างที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการสะสมของความรู้ในวิชาที่ผมเรียนอยู่ และแล้ว ผมก็มาอยู่ในชั้นไท้เก็กของคุณศุภวรรณ เรียนรู้ท่ารำที่เชื่องช้าอย่างละเอียดลออ และถูกคะยั้นคะยอให้เฝ้าดูอาการของจิต มันช่างเป็นงานที่ยากเย็นแสนเข็ญเสียนี่กระไร! ผมคงจะมีจิตที่สามารถกระโดดไปโน่นนี่ได้เร็วกว่าใครอื่นเป็นแน่ แค่เฝ้าดูมันเท่านั้นผมก็เหนื่อยแทบจะขาดใจเพราะมันเคลื่อนเร็วเหลือเกิน ผมได้ใช้เวลามากมายพยายามที่จะให้จิตของผมกระโดดไปในแนวทางที่ถูกต้อง

 

หลังจากปีหนึ่งที่เบอร์มิ่งแฮม ผมได้ย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอรด์ ซึ่งผมได้ทำปริญญาเอกในสาขาจิตวิทยาทดลอง Experimental Psychology หลังจากที่ผมได้ทำงานสอนวิชาจิตวิทยาอยู่พักหนึ่ง ขณะนี้ผมได้เป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และกำลังค้นคว้าเรื่องความผิดปกติในด้านการพัฒนาของเด็ก ในช่วงนี้เองที่คุณศุภวรรณได้ขอร้องให้ผมเขียนคำนำให้แก่หนังสือของเธอ ซึ่งเธอได้เน้นให้ผมเขียนจากแง่มุมคิดของนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษา ผมยินดีตอบรับในฐานะที่เธอได้ทำให้ผมเข้ามาอยู่ในวิถีทางที่ผมสามารถเฝ้าดูความคิดของตนเองได้

 

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมยอมรับว่าอดที่จะปกป้องวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะมันเป็นวิธีการที่สามารถทำให้เราค้นพบเพนนิซิลินไปจนถึงการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ณ.จุดนี้เองที่ผมคิดว่ามันจะต้องมีเส้นแบ่งเขตดังที่คุณศุภวรรณได้เขียนบอกไว้ในหนังสือของเธอ เธอบอกว่าเราไม่ควรทำสมาธิโดยไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรมและปัญญา ในทำนองเดียวกัน ผมคิดว่าเราไม่ควรเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรมเช่นกัน คุณศุภวรรณอาจจะแปลกใจก็ได้ เมื่อผมพูดว่าที่จริงแล้วเธอได้ถ่ายทอดความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในงานเขียนของเธอ ผมเชื่อว่าหากพระนิพพานสามารถไปถึงได้ด้วยการปฏิบัติโดยใช้เทคนิคทางร่างกายและจิตใจแล้วไซร้ วิธีการดังกล่าวไม่ได้อยู่นอกขอบข่ายของวิทยาศาสตร์เลย นั่นคือ วิทยาศาสตร์อาจจะเป็นสิ่งที่เข้ากันได้และเป็นสิ่งเกื้อหนุนต่อการที่จะเข้าถึงการตรัสรู้

 

ก่อนอื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ เป้าหมายของวิทยาศาสตร์คือความสามารถที่จะอธิบายถึงโครงสร้างของโลกโดยที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น วิทยาศาสตร์ได้เล่นแต่บทบาทของการทำนาย และควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อว่ามนุษย์สามารถจะอยู่กันได้ง่ายขึ้น  จิตวิทยายุคใหม่เป็นวิทยาศาสตร์ของชีวิตในส่วนจิตใจ เป็นที่น่าสนใจว่าจุดกำเนิดของการศึกษาวิชานี้เน้นไปที่ประสบการณ์ภายใน internal experience เป็นอย่างมาก ในปัจจุบันนี้เรียกว่า  ศาสตร์แห่งการคิดใคร่ครวญ Introspectionism ซึ่งเป็นความคิดที่เริ่มเบ่งบานเมื่อราวต้นศตวรรษที่แล้ว (๑๙๐๐) จุดประสงค์ของวิชานี้คือต้องการสร้างวิทยาศาสตร์ของจิตใจ a science of the mind ที่สามารถเรียนรู้ได้ในวิธีการเดียวกันกับการศึกษาวิชาเคมี นั่นคือ จำเป็นต้องหาโครงสร้างของชีวิตภายใน แทนที่จะหาโครงสร้างของสสารที่เป็นวัตถุ นั่นคือ นักจิตศาสตร์ต้องการค้นหาธาตุพื้นฐานที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ เช่น การรู้รสของมะนาว การเห็นสีของดอกกุหลาบ เป็นต้น นอกจากนั้น เขายังต้องการค้นหาว่าจะมีกฏธรรมชาติอะไรหรือไม่ที่สามารถทำให้ธาตุเหล่านี้รวมตัวกันได้และสร้างประสบการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามวิชานี้ (Introspectionism) จำเป็นต้องล้มพับไปเพียงยี่สิบปีหลังจากนั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เหตุผลนั้นมีอยู่ข้อเดียวคือ เพราะไม่มีทางที่จะตกลงกันได้ว่าประสบการณ์นั้น ๆ เป็นอย่างไร เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนก็เป็นของคน ๆ นั้น มันไม่สามารถที่จะนำออกมาพิสูจน์ได้อย่างเปิดเผย ฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะตัดสินได้ว่า การอธิบายประสบการณ์ของใครที่ถูกต้องอย่างแท้จริง หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์แห่งจิตใจจึงตกลงกันว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่จะเอามาใช้ในทฤษฎีของเขานั้นจะต้องเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทุกคนเท่านั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิชาจิตวิทยาจึงหันมาเน้นเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีการค้นพบเทคโนโลยี่ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นการทำงานของสมองในขณะที่กำลังใช้ความคิดอยู่ วิยาการนี้จึงได้กลายเป็นแหล่งที่นักจิตวิทยาสามารถหาหลักฐานมายืนยันกันได้

 

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมองดูจิตใจด้วยการคิดจากภายนอก ทุกวันนี้ เราจึงดูสมองเป็นเสมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง และจิตใจเป็นเหมือนกับโปรแกรมที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ทำงาน และแล้ว เราก็ตั้งคำถามในทำนองว่า โปรแกรม (จิตใจ) นี้ได้ทำให้คนประพฤติอย่างไรในแง่ของกายภาพและสังคมที่เขากำลังประสบอยู่ และ การวิวัฒนาการ evolution สามารถสร้างคอมพิเตอร์ (สมอง) ได้อย่างไร เป็นต้น เมื่อผมได้อ่านเรื่องสติปัฏฐานสี่นั้น ความคิดสองอย่างที่น่าสนใจได้เกิดขึ้นในจิตใจของผม คือ ๑) ถึงแม้ว่าการรู้แจ้งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ที่จริงแล้วมันสามารถพิสูจน์ได้ในแง่ที่ว่าหากทุกคนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้วไซร้ เขาก็จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นเหมือนกันหมด ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ฉะนั้น ถ้าพูดกันในแง่นี้แล้ว การรู้แจ้งเห็นจริงหรือการตรัสรู้ enlightenment จึงเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ๒) เรื่องสติปัฏฐานสี่ชี้ให้ผมเห็นถึงความแตกต่างในเป้าประสงค์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับการปฏิบัติของชาวพุทธ มันอาจจะชัดมากขึ้นหากผมพูดเสียใหม่ว่า วิทยาศาสตร์จะบอกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นี้มีกลไกการทำงานได้อย่างไร ในขณะที่คำสอนของศาสนาพุทธจะบอกว่าเราควรจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ให้เป็นไปเพื่อความถูกต้องได้อย่างไร

 

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผมสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าการตรัสรู้หรือการรู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยมองในแง่การทำงานของสมอง วิทยาศาสตร์สามารถยอมรับความคิดที่ว่า ความรู้นั้นสามารถมาในรูปของทักษะ skill แทนที่จะเป็นเพียงข้อเท็จจริงของคำพูด และเราก็พอใจที่รู้ว่า ทักษะนั้นสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จากความรู้ที่อ้างอิงอยู่กับข้อเท็จจริง ตลอดจนถึงการปฏิบัติที่ถูกถ่ายทอดกันต่อมา เมื่อพิจารณาในแง่ของการฝึกสมาธิแล้ว เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของการปฏิบัติก็คือการฝึกความตั้งใจมั่นเพื่อการรู้และการควบคุมไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน คำพูดที่ว่า “ความคิดเป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึก” นั้น ที่จริงวิทยาศาสตร์ก็ได้พยายามแยกแยะออกมาแล้วว่า มันเป็นปฏิกิริยาของสมองระหว่างส่วนที่เจนจัดที่สามารถผลิตเหตุผลกับส่วนพื้นฐานที่สร้างประสบการณ์แห่งอารมณ์ความรู้สึก

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากสถานะที่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายถึงการทำงานของสมองเหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผมใช้จิตใจและสมองของผมให้ดีที่สุดได้อย่างไร  ข้อมูลที่ซับซ้อนเหล่านั้นไม่สามารถบอกผมได้ว่าเป้าหมายของชีวิตควรเป็นอะไร นี่แหละ คือจุดที่คุณศุภวรรณสามารถหยิบยื่นสิ่งที่สำคัญมากให้แก่เรา เธอได้แนะแนวทางที่ไขความลับและบอกให้เรารู้ว่าเราจะใช้จิตใจของเราได้อย่างไรและเพื่ออะไร บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกท้อใจต่องานเขียนทางพุทธศาสนาที่มักจะใช้คำศัพท์ที่ผมรู้สึกว่าเข้าถึงไม่ได้ นอกจากนั้น ผมยังประสบความยุ่งยากในการแยกแยะระหว่างแก่นแท้ของศาสนาพุทธกับพิธีกรรมต่าง ๆ ที่แฝงเร้นอยู่ในกระแสวัฒนธรรม ในหนังสือเล่มนี้ ผมสามารถจับแก่นแท้ของศาสนาพุทธได้ตลอดจนถึงการเปรียบเทียบที่เป็นประโยชน์ที่สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมสามารถสรุปได้ว่าเป้าหมายของชีวิตคือการทำจิตให้นิ่ง (จิตว่าง) และวิธีการทำจิตให้หยุดนิ่งโดยไม่ซัดส่ายนั้น ๕๐%เป็นเรื่องของศีลธรรม และอีก ๕๐%เป็นเรื่องของสมาธิ ผมได้คำตอบอีกว่าสติปัฏฐานสี่คือวิธีการที่จะทำจิตให้หยุดนิ่ง นั่นคือ

๑) ต้องมีสติอยู่กับประสบการณ์อันเกิดจากผัสสะ

๒) ต้องมีสติอยู่กับประสบการณ์ทางจิต (อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ –ผู้แปล)

๓) ต้องเฝ้าดูความคิดโดยที่ไม่ตามมัน

๔) ต้องเฝ้าดูความว่างที่เกิดขึ้นระหว่างความคิด (แต่ต้องไม่ใช่ความคิดที่เกี่ยวกับความว่าง!)

 

การปฏิบัติที่วางไว้อย่างชัดเจนนี้จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงหรือการตรัสรู้ แต่ภาคปฏิบัติช่างยากเหลือเกิน เพราะว่าความคิดกับความรู้สึกนั้นมันเกิดต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วมาก เร็วจนกระทั่งมันสามารถสร้างภาพลวงให้เกิดในจิตใจโดยที่ไม่สามารถจะหักมันได้เหมือนกับสายริบบิ้นที่ยาวออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด และแล้ว คุณศุภวรรณก็ได้หยิบยื่นกรรไกนั้นให้แก่เรา!

 

หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรอื่นอีกมากมาย เช่น ได้รู้ถึงอันตรายของขบวนการศาสนายุคใหม่ และองค์คุณจากวิธีการทักทายที่แตกต่างกัน รวมถึงภาระที่ชาวตะวันตกผู้มีขายาวจะต้องแบกรับ!

 

ใบไม้กำมือเดียว เล่มนี้ คุณศุภวรรณได้บอกให้พวกเราทราบถึงความฝันของเธอที่ต้องการจะสร้างหลักการปฏิบัติอันไม่ต้องอิงศาสนา อันเป็นวิธีการสากลที่สามารถช่วยให้คนรู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างทั่วถึงกัน ซึ่งผมให้การสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ และหวังว่า สักวันหนึ่งวิทยาศาสตร์คงจะสามารถช่วยเหลือให้เธอบรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้

 

ไมเคิล ทอมมัส, BSc, MSc, D.Phil (Oxford).[1]



[1] ในจำนวนนักศึกษาที่มาเรียนไท้เก็กกับดิฉันนั้น มีน้อยคนมากที่ยังติดต่อกับดิฉันเป็นส่วนตัวหลังจากที่จบออกไปแล้ว ไมเคิลเป็นคนหนึ่งที่ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะยังคงติดต่อกับดิฉันอยู่หลังจากที่จบไปแล้วเป็นเวลา ๙ ปี ในปีที่ไมเคิลมาเรียนไท้เก็กกับดิฉันนั้น เป็นปีที่ดิฉันได้พานักศึกษากลุ่มหนึ่งราว ๑๘ คนไปปฏิบัติธรรมที่วัดอมราวดีหลังจากการสอบในภาคฤดูร้อนก่อนที่จะแยกย้ายกันไป ซึ่งไมเคิลก็เป็นหนึ่งในจำนวนนักศึกษากลุ่มนั้น จึงทำให้ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับเขามากขึ้น ตอนนั้น ดิฉันได้เริ่มเขียนงานภาษาอังกฤษแล้ว และทยอยส่งให้นักศึกษาอ่านกันเป็นบท ๆ ไปโดยการถ่ายเอกสารให้เขา ก่อนที่พวกเราจะแยกย้ายกันไปหลังจากการปฏิบัติธรรมได้เสร็จสิ้นลงที่วัดอมราวดีนั้น ไมเคิลได้บอกดิฉันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า เขากำลังอ่านงานเขียนของดิฉันอยู่ เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเขาสัญญาว่าจะเขียนบอกดิฉันว่ามันน่าสนใจอย่างไร พร้อมกับสำทับว่าเขายินดีจะแก้ภาษาอังกฤษให้หากดิฉันต้องการความช่วยเหลือ ดิฉันดีใจมากที่ไมเคิลเสนอเช่นนั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำงานนี้ หลังจากนั้น ไมเคิลก็ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และเขาก็ได้ช่วยแก้ไขงานเขียนภาษาอังกฤษของดิฉันตลอดจนให้แง่คิดจากมุมมองของปัญญาชนชาวตะวันตกซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่องานเขียนของดิฉันมาก ไมเคิลได้ทำให้ดิฉันเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์คิดอย่างไรต่อจุดต่างๆ ที่ดิฉันเขียน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ดิฉันต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง หนังสือเล่มแรกของดิฉันที่ชื่อ Dear Colin…What is the Meaning of Life? นั้นคงจะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือของไมเคิล เมื่อดิฉันเขียน A Handful of Leaves เสร็จ ก็เป็นช่วงที่ไมเคิลได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยแล้ว ดิฉันเห็นว่า หากเขาสามารถเขียนคำนำให้แก่หนังสือเล่มนี้ได้โดยพูดจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อปัญญาชนชาวตะวันตกไม่น้อย ซึ่งเขาก็ตอบรับคำขอร้องของดิฉันด้วยความยินดี

 

ดิฉันจึงถือโอกาสนี้ขอบคุณด๊อกเตอร์ไมเคิล ทอมมัส ที่ให้การสนับสนุนงานของดิฉันมาตลอด