ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหน่วยงานการศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ (Computer Science) ในสังกัดบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการด้านคอมพิวเตอร์ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขณะเดียวกัน ยังได้เปิดสอนวิชาด้านคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร และระดับปริญญาโทอีกด้วย ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ ก็ได้กลายสภาพไปเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังประวัติที่จะได้บรรยายต่อไปนี้
หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ (พ.ศ.2512 – 2518)
การจัดตั้ง และวัตถุประสงค์การจัดตั้ง
เมื่อราวปี พ.ศ. 2512 ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยในขณะนั้น ได้เสนอโครงการจัดตั้ง “หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์” (Computer Science) ขึ้นในบัณฑิตวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์และภารกิจในหลายด้าน พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
- เพื่ออบรมอาจารย์และข้าราชการของมหาวิทยาลัยในการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้กับงานด้านต่างๆ อันจะช่วยให้การสอนและการวิจัยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- เพื่อสร้างโปรแกรมโดยใช้ระบบ Time sharing (คือ การใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียว แต่รองรับงานจากผู้ใช้หลายๆ แห่งได้ โดยไม่ต้องเข้ามาใช้เครื่องด้วยตนเอง) ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ด้วย โดยการส่งข้อมูลผ่านเครื่องเทอร์มินัลที่พ่วงผ่านสายโทรศัพท์หรือระบบ microwave แทนการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เอง ซึ่งจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก (อนึ่ง คอมพิวเตอร์ในขณะนั้น คือ คอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรม)
- เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบการใช้งานภาษาไทยที่ติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้เครื่องโทรพิมพ์ (Teletype)
- ออกแบบสร้าง General Database
- มีส่วนร่วมในการออกแบบภาษาไทยบนเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าแบบหัวลูกกอล์ฟ (Golf ball) ของไอบีเอ็ม
- จัดสร้างระบบ Roman Thai Characters เพื่อให้ทหารอเมริกันสามารถอ่านออกเสียงชื่อถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด บนแผนที่หรือป้ายชื่อได้
- เพื่อเปิดสอนวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์ในคณะต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตวิทยาลัย
- เพื่อช่วยงานวิจัยด้านการป้องกันประเทศ และให้การอบรมแก่นายทหารเกี่ยวกับความรู้ในด้านคอมพิวเตอร์
- เพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนหน่วยราชการและองค์กรในภาคเอกชน
- เพื่อจัดอบรมวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ในระดับทั่วไป
ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
(ในขณะนั้น)
การเริ่มดำเนินงาน และผู้ดำเนินงานยุคบุกเบิก
หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ บัณฑิตวิทยาลัย เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2512 โดยใช้สถานที่ทำการ คือ อาคารวิศวกรรมไฟฟ้า ชั้น 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ คณาจารย์ผู้เริ่มดำเนินงานหน่วยนี้ในระยะเริ่มต้น มี 10 – 15 คน อาทิเช่น
- ศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล ผดุงชีวิต
- อาจารย์ (ต่อมาเป็นรองศาสตราจารย์) สมชาย ทยานยง
- อาจารย์รจิต วัฒนสินธุ์
- อาจารย์ปกรณ์ อดุลพันธ์
- อาจารย์ นพ.ชัยเวศ นุชประยูร
นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์จากต่างประเทศอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นทั้งผู้บรรยายพิเศษ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ที่ปรึกษาด้านการศึกษา และที่ปรึกษาด้านการวิจัย (ประมาณ 7-8 คน)
อนึ่ง ในช่วงเวลานั้น มูลนิธิฟุลไบรท์ ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมักจัดส่งศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสัมมนา หรือจัดการประชุมทางวิชาการที่หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์จัดขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร ซึ่งเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 1800 มาติดตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มักส่งผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาช่วยสอนและอบรมนิสิตให้ด้วยในระยะแรก อีกทั้งยังได้ขอให้บริษัท System Development Computer มาดำเนินการสร้างระบบ Time Sharing และโครงการภาษาไทยให้อีกด้วย
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ใช้ดำเนินงานอยู่ในขณะนั้น มี 2 ระบบ คือ
- คอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 1800I ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาทหารนำมาติดตั้งไว้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน คอมพิวเตอร์เครื่องแรกนี้มีหน่วยความจำขนาด 32 K word (16 KB) มีจานแม่เหล็ก 2 x 2 MB หน้าปัด (console) เป็น Teletype แบบกอล์ฟบอล (Golf ball) นอกจากนั้น ไอบีเอ็ม 1800I ยังประกอบด้วยเครื่องพิมพ์ความเร็ว 1,200 LPM (บรรทัดต่อนาที – Line Per Minute) เครื่องอ่านบัตรความเร็ว 600 CPM (บัตรต่อนาที – Card Per Minute) และเครื่องเจาะบัตรความเร็ว 200 CPM
- คอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 1620II ซึ่งบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัดมอบให้หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา มีหน่วยความจำขนาด 20 K เครื่องแบบ Shrinko 6 เครื่อง เครื่องพิมพ์ความเร็ว 600 LPM เครื่องอ่านบัตรความเร็ว 600 CPM และเครื่องเจาะบัตรความเร็ว 200 CPM
นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่าจากบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด และก็มีบางชิ้นที่ได้รับมอบจากบริษัท คอนโทรลดาต้า จำกัด
การจัดการเรียนการสอน
หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ได้จัดสอนวิชาด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่นิสิตปริญญาตรีในคณะต่างๆ เป็นต้นว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดหลักสูตรการศึกษาชั้นประกาศนียบัตรทางด้านคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ (ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ให้การรับรอง) ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ซึ่งมีผู้สนใจเข้าเรียนจนจบ และได้รับประกาศนียบัตรไปเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเนื่องจากหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์อยู่ในสังกัดของบัณฑิตวิทยาลัย จึงได้เปิดหลักสูตร ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ศาสตร์ (วท.ม.) ขึ้นในปี พ.ศ. 2514 โดยรับนิสิตปริญญาโทจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่างๆ เกือบทุกสาขาวิชา และยังพิจารณาที่จะช่วยเหลือการศึกษาด้านนี้แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกด้วย
การบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น
เครื่องคอมพิวเตอร์ NEAC รุ่น 2200 model 200
การดำเนินงานของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และในเวลาต่อมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอให้ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ในฐานะกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบัน คือ กระทรวงพาณิชย์) ในขณะนั้น ดำเนินการติดต่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบหมายให้บริษัทนิปปอนอิเล็กทรอนิกส์ ให้ความช่วยเหลือโดยบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ NEAC 2200/200 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดกลางให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ได้มาติดตั้งแล้วเสร็จที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2514 โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ทำพิธีเปิด
ระบบคอมพิวเตอร์ใหม่นี้ มีขนาดหน่วยความจำ 32 K มีหน่วยอ่านบัตรด้วยความเร็ว 1,200 บัตรต่อนาที หน่วยเจาะบัตรความเร็ว 200 บัตรต่อนาที และเครื่องพิมพ์ 600 บรรทัดต่อนาที มีตู้แถบบันทึก (เทป) 4 ตู้ ความเร็ว 20 กิโลไบต์ต่อวินาที (KBPS) และผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือจนโครงการสำเร็จเรียนร้อย ก็คือ Dr.Kenji Kobayashi ประธานกรรมการบริษัท เอ็นอีซี ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยากรณ์ชั้นประถมาภรณ์ มงกุฎไทยให้เป็นการแสดงความขอบคุณ
อาคารนีละนิธิ ที่ทำการหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ และ
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (พ.ศ.2515 – 2540)
ปัจจุบัน คือ อาคารจามจุรี 8 (หอศิลป์จามจุรีแห่งจุฬาฯ)
การก่อสร้างอาคารที่ทำการของหน่วย
เนื่องด้วยรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของวิชาการด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น จึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยใช้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514 ซึ่งต่อมาได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 4 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2515 ทั้งนี้ เมื่อสร้างเสร็จ อาคารนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า อาคารนีละนิธิ และใช้เป็นที่ทำการของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ แม้ต่อมาหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์จะได้เปลี่ยนมาเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม ก็ยังคงใช้อาคารนีละนิธีเป็นที่ทำการมาโดยตลอดจนถึงปี พ.ศ.2540 จึงย้ายมายังที่ทำการปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ชั้น 17 – 20 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 4 (เจริญวิศวกรรม) ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนอาคารนีละนิธิในปัจจุบัน คือ อาคารจามจุรี 8 ใช้เป็นที่ตั้งของ หอศิลป์จามจุรีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกเหนือจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ.2514 ได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ไซแอนส์ ปรากฎในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย โดยจะทำหน้าที่ให้บริการด้านการศึกษาและวิจัยแก่นิสิตในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ส่วนหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ของบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นมาก่อนแล้ว ก็จะมีหน้าที่ดำเนินงานทางวิชาการ โดยเฉพาะการสอนในระดับปริญญาโททางคอมพิวเตอร์ไซแอนส์
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (พ.ศ.2518 – ปัจจุบัน)
ศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล ผดุงชีวิต
หัวหน้าหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์
(ตั้งแต่ 2 มีนาคม 2512)
การก่อตั้ง
ราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล ผดุงชีวิต หัวหน้าหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ในขณะนั้น ได้ทำเรื่องเสนอขอจัดตั้งหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์เป็นแผนกอิสระ (เทียบเท่าภาควิชาในปัจจุบัน) ซึ่งศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยคณะกรรมการทั้งสองชุดเห็นควรให้เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณบดี ซึ่งต่อมา ที่ประชุมคณบดีได้มีมติให้จัดการดำเนินงานของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ใหม่ดังนี้
- ให้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีวิชาคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ขึ้นในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยจัดทำในรูปของแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ไม่ขัดข้อง โดยจะสนับสนุนให้ยกฐานะขึ้นเป็นภาควิชา หรือคณะต่อไปเมื่อมีความพร้อมมากกว่านี้
- ให้ดำเนินการหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้แทนเครื่อง NEAC 2200/200 ของญี่ปุ่นซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2517 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา ที่ประชุมคณบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปลี่ยนแปลงมติเดิม ดังต่อไปนี้
- ให้ยุบหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์
- ให้จัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้นในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นภาควิชาที่ 9 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์
- ให้จัดตั้งศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำงานขึ้นตรงกับอธิการบดี เพื่อให้บริการด้านการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งในด้านการบริหาร และการเรียนการสอน และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาอนุมัติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2521
ด้วยเหตุนี้ ในที่สุด ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยได้รับอนุมัติจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ซึ่งวันดังกล่าวถือเป็นวันก่อตั้งภาควิชา สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ อาคารนีละนิธิ ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์นั่นเอง
อนึ่ง โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีการสอบถามความสมัครใจ เพื่อโอนย้ายบุคลากรทั้งหมดจากหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์มายังภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เปิดขึ้นใหม่นี้แทน ซึ่งคณาจารย์และบุคลากรทั้งหมด ได้ตกลงที่จะย้ายสังกัดตามมาด้วย และต่อมาทางภาควิชาก็ได้ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก และดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยคณบดี ดูแลงานด้านคอมพิวเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย
การดำเนินงานของภาควิชา
เมื่อได้ก่อตั้งภาควิชาแล้ว ก็ได้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2518 โดยรับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ซึ่งกำลังจะขึ้นชั้นปี 2 มาศึกษาต่อในภาควิชาอีก 3 ปี โดนในระยะแรก สามารถรับนิสิตได้รุ่นละประมาณ 20 คน ต่อมาได้เพิ่มเป็น 40 คนในรุ่นที่ 8 (CP’8) ปีการศึกษา 2524 และ 100 คนในรุ่นที่ 22 (CP’22) ปีการศึกษา 2538 มาจนถึงปัจจุบัน โดยหลักสูตรนี้ จะเน้นเรียนทางด้านฮาร์ดแวร์ 40% และซอฟต์แวร์ (60%) อย่างไรก็ดี เนื่องจากความต้องการของนิสิตที่จะเข้าเรียนมีมากกว่าที่ภาควิชาจะรับได้ ดังนั้น นิสิตที่เลือกเรียนในภาควิชานี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับต้นของคณะ
ต่อมาในปีการศึกษา 2535 ภาควิชาได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) ในระดับปริญญาโท โดยรับนิสิตที่สำเร็จหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) ในทุกสาขาเข้าศึกษาต่อ และเน้นที่การทำวิทยานิพนธ์เป็นหลัก และนอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2541 ภาควิชาก็ได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) ในระดับปริญญาเอกอีกด้วย
สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) นั้น ภาควิชาได้รับโอนมาดำเนินการสอนต่อจากหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ที่ยุบไป โดยเปิดรับสมัครและมีการสอบเข้า ซึ่งหลักสูตรนี้ต่อมาได้เปิดสอนในภาคนอกเวลาราชการเพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากภาคปกติด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ในปีการศึกษา 2545 ทางภาควิชาได้เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมซอฟต์แวร์) ขึ้น เพื่อรองรับความสนใจและขยายตัวทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ด้วย อนึ่ง ในส่วนหลักสูตรประกาศนียบัตรคอมพิวเตอร์ไซแอนส์นั้น ภาควิชาได้ปิดรับไปตั้งแต่มีการจัดตั้งเป็นภาควิชาในปี พ.ศ. 2518 แต่ยังคงสอนนิสิตที่รับเข้ามาแล้วจนจบหลักสูตร