การฝึกงานวิศวกรรม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้การฝึกงานทางด้านวิศวกรรมของนิสิต เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต โดยนิสิตชั้นปีที่ 3 ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชา 2100301 การฝึกงานวิศวกรรม (ENGINEERING PRACTICE) จำนวน 2 หน่วยกิต ในภาคการศึกษาฤดูร้อน ทั้งนี้ เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสฝึกหัดและประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับในชั้นเรียน สร้างความคุ้นเคยกับการปฏิบัติงานทางด้านวิศวกรรม ตลอดจนเสริมสร้างให้นิสิตรู้จักมีมนุษยสัมพันธ์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรมต่อไป โดยการประเมินผลจะอยู่ในรูปแบบ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” (ระดับอักษรคะแนน S หรือ U)
ทั้งนี้ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะต้องฝึกงานในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภายใต้การดูแลของวิศวกรที่มีประสบการณ์ในบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานราชการ
การฝึกงาน และ การจัดหางาน
(https://www.eng.chula.ac.th/th/student-affairs)
อนึ่ง ในการดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกงานวิศวกรรมนั้น นิสิตจำเป็นต้องใช้งาน เว็บไซต์ระบบฝึกงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ (https://student.eng.chula.ac.th/) เพื่อกรอกข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกงานในขั้นตอนต่างๆ ทั้งนี้ นิสิตสามารถศึกษาการใช้งานเว็บไซต์ระบบฝึกงานได้โดยศึกษาจากคู่มือระบบซึ่งมีให้ในระบบ
ลำดับกระบวนการฝึกงานสำหรับนิสิต
- ติดต่อหาสถานที่ฝึกงาน
- ลงทะเบียนเรียนวิชา 2100301 การฝึกงานวิศวกรรม ในระบบลงทะเบียนเรียนของมหาวิทยาลัย โดยต้องลงทะเบียนเรียนใน Section ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (รหัส CP)
- เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศการฝึกงานตามวันเวลาที่คณะกำหนด นิสิตต้องเข้าร่วมทุกคน หากไม่เข้าร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าไม่ผ่านการฝึกงาน (ได้เกรด U)
- ฝึกงานกับสถานที่ฝึกงานตามวัน – เวลาที่ได้ตกลงไว้กับบริษัท
- กรอกรายละเอียดวันเริ่มต้น – สิ้นสุด วิศวกรผู้ควบคุมการฝึกงาน และที่ตั้งสถานที่ฝึกงานในเว็บไซต์ระบบฝึกงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ (https://student.eng.chula.ac.th/) ภายในสัปดาห์แรกของการฝึกงาน
- ส่งรายงานการฝึกงานทุกสองสัปดาห์ในเว็บไซต์ระบบฝึกงาน
- เมื่อการฝึกงานใกล้เสร็จสิ้น นิสิตต้องแจ้งให้วิศวกรผู้ควบคุมการฝึกงานกรอกแบบประเมินฝึกงานเพื่อส่งศูนย์บริการจัดหางานต่อไป
- เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกงาน นิสิตต้องจัดทำรายงานการฝึกงานเพื่อส่งขึ้นระบบฝึกงาน
- สำหรับนิสิตที่ไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงฝึกงาน มีสิทธิขอรับเงินค่าช่วยเหลือฝึกงานจากคณะตามหลักเกณฑ์ที่คณะกำหนด
ขั้นตอนการติดต่อหาสถานที่ฝึกงาน
1. กรณีนิสิตหาที่ฝึกงานเอง
- นิสิตติดต่อกับบริษัทหรือหน่วยงานที่นิสิตต้องการไปฝึกงานด้วยตนเอง
- เมื่อติดต่อเสร็จแล้ว นิสิตต้องเข้าใช้งาน เว็บไซต์ระบบฝึกงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ (https://student.eng.chula.ac.th/) เพื่อดำเนินการขอให้ศูนย์บริการจัดหางาน ออกหนังสือขอความอนุเคราะห์รับนิสิตฝึกงาน ให้กับบริษัทหรือหน่วยงานที่นิสิตติดต่อไว้ในข้อ 1 โดยให้นิสิตตรวจสอบบริษัทหรือหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลในระบบ หากไม่มีบริษัทดังกล่าว นิสิตจะต้องกรอกชื่อบริษัท รายละเอียด และตำแหน่งของบริษัทให้ถูกต้อง เพราะหากกรอกข้อมูลผิดแล้ว ทางศูนย์บริการจัดหางานจะไม่แก้ไขหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้
- ทางศูนย์บริการจัดหางาน จะดำเนินการออกหนังสือขอความอนุเคราะห์รับนิสิตฝึกงาน ภายใน 3 วัน หลังจากกรอกข้อมูลในระบบเรียบร้อยแล้ว โดยสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ศูนย์บริการจัดหางาน ฝ่ายกิจการนิสิต
- นิสิตจะต้องนำหนังสือขอความอนุเคราะห์ข้างต้น ไปยื่นให้กับทางบริษัทด้วยตนเอง และต้องตกลงกับทางบริษัทว่าจะตอบรับฝึกงาน และจะเริ่มฝึกงานได้เมื่อไร โดยบริษัทต้องรับนิสิตฝึกงานได้ไม่น้อยกว่า 280 ชั่วโมงทำการ และไม่น้อยกว่า 35 วันทำการ และไม่น้อยกว่า 7 สัปดาห์ทำการ
อนึ่ง หากบริษัทที่นิสิตติดต่อไว้ ไม่ตอบรับนิสิตเข้าฝึกงาน นิสิตควรรีบติดต่อบริษัทอื่นทันที - ศูนย์บริการจัดหางานจะออกหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ 1 ฉบับก่อน รอจนกว่าบริษัทแรกตอบปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ จึงจะออกฉบับต่อไปสำหรับบริษัทที่สอง
- นิสิตต้องเข้ามาตรวจสอบเอกสารแบบตอบรับนิสิตเข้าฝึกงานที่ศูนย์บริการจัดหางานของคณะก่อน เพื่อให้ทราบว่ามีเอกสารตอบกลับมาแล้วหรือไม่ เพราะหากบริษัทยังไม่ส่งเอกสารแบบตอบรับนิสิตเข้าฝึกงานมา นิสิตจะได้รีบสอบถามหรือแจ้งไปยังบริษัทต่อไป
- นิสิตต้องหาที่ฝึกงานให้ได้ภายในระยะเวลาที่คณะออกประกาศกำหนดตามแต่ปีการศึกษา หากยังไม่สามารถหาสถานที่ฝึกงานได้ ต้องแจ้งผู้ประสานงานการฝึกงานของภาควิชาทราบต่อไป
2. กรณีผู้ประสานงานการฝึกงานภาควิชาติดต่อให้
ให้นิสิตติดตามขั้นตอนจากประกาศของผู้ประสานงานการฝึกงานภาควิชา และดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับกรณีนิสิตหาที่ฝึกงานเอง อันได้แก่ การเข้าเว็บไซต์ระบบฝึกงานเพื่อกรอกข้อมูล รับหนังสือขอความอนุเคราะห์และนำไปยื่นให้กับทางบริษัท ตลอดจนการตรวจสอบเอกสารแบบตอบรับนิสิต
เอกสารสำคัญในการฝึกงาน
- “นิสิตสามารถ download เอกสารสำคัญในการฝึกงานได้ในระบบฝึกงาน https://student.eng.chula.ac.th/”
เกณฑ์การประเมินผลการฝึกงาน
คะแนนแผนที่ตั้งของหน่วยงาน (สถานที่ฝึกงาน) | 10 คะแนน |
คะแนนรายงานทุก 2 สัปดาห์ | 20 คะแนน |
คะแนนรายงานฉบับสมบูรณ์ และคะแนนการตรวจเยี่ยม (ถ้ามี) | 30 คะแนน |
คะแนนใบประเมินผลการฝึกงาน | 40 คะแนน |
รวม | 100 คะแนน |
- นิสิตต้องระบุแผนที่ตั้งของหน่วยงานในระบบฝึกงาน ภายใน 7 วันนับจากวันเริ่มต้นฝึกงาน หากส่งช้าถูกหักคะแนนวันละ 1 คะแนน
- นิสิตต้องส่งรายงานทุก 2 สัปดาห์ตามเวลาที่กำหนด หากส่งช้าถูกหักคะแนนวันละ 1 คะแนน
- นิสิตต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ ภายใน 7 วันหลังจากการฝึกงานวันสุดท้าย หากส่งช้ากว่ากำหนดถูกหักคะแนนวันละ 2 คะแนน
- เป็นการให้คะแนนโดยวิศวกรผู้ควบคุมการฝึกงาน และทางหน่วยงานนำส่งใบประเมินมายังศูนย์บริการจัดหางานภาควิชา ถ้าบริษัทส่งใบประเมินผลมาล่าช้าตามประกาศคณะในแต่ละปี การให้คะแนนส่วนนี้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการจัดหางานประจำภาควิชา
นิสิตจะไม่ผ่านการฝึกงาน (ได้เกรด U) ในกรณีดังต่อไปนี้
- ลงทะเบียนเรียนวิชา 2100301 ผิด Section (นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ต้องลงทะเบียนเรียนใน Section ที่ระบุรหัส CP)
- ไม่เข้าร่วมการปฐมนิเทศฝึกงาน โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- บริษัทหรือหน่วยงานที่นิสิตเข้าฝึกงาน ประเมินผลให้นิสิตได้ 0 คะแนนในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ความตั้งใจในการทำงาน
- การรักษาระเบียบวินัย
- การตรงต่อเวลา
- คะแนนรายงานฉบับสมบูรณ์ ได้น้อยกว่าร้อยละ 60 (ได้ต่ำกว่า 18 คะแนน)
- คะแนนรวมทั้งหมด ได้น้อยกว่าร้อยละ 60 (รวมทุกหัวข้อแล้วได้ต่ำกว่า 60 คะแนน)
การให้เงินช่วยเหลือนิสิตฝึกงาน
หลักเกณฑ์ในการให้เงินช่วยเหลือ มีดังต่อไปนี้
- นิสิต ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทหรือหน่วยงานที่ไปฝึกงาน
- บริษัทหรือหน่วยงานที่ไปฝึกงาน รับรองในใบประเมินผลการฝึกงานว่า นิสิตไม่ได้รับค่าตอบแทน
- นิสิต ต้องลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือฝึกงาน ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากส่งรายงานฝึกงาน มิเช่นนั้น ถือว่าสละสิทธิ์
เกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือ มีดังต่อไปนี้
“เกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือเป็นไปตามประกาศของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ https://www.eng.chula.ac.th/th/student-affairs หัวข้อ “ การฝึกงาน และ การจัดหางาน”