สองสัปดาห์กับนาฬิกาที่ต้องชาร์จไฟ – 1001

November 21, 2014   1001

ผมพูดถึงเรื่องนาฬิกาฉลาดมาหลายตอนแล้ว ทั้งในแง่ประวัติความเป็นมา เทคโนโลยีภายใน คุณสมบัติการทำงาน และกลุ่มสินค้าที่มีในท้องตลาดในปัจจุบัน สุดท้ายผมก็ไปซื้อ (ลดราคา) มาหนึ่งเรือน ลองใส่ดู สัปดาห์นี้ก็จะเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ผมจะไม่พูดถึงสิ่งที่เจาะจงกับนาฬิกาที่ผมซื้อมาจะพยายามวาดภาพว่า ใส่นาฬิกาฉลาด แล้วถูกใจอะไร ไม่ถูกใจอะไร

อย่างแรก หลังจากแกะกล่องออกมา คือ ต้องชาร์จไฟ (รอประมาณหนึ่งชั่วโมง เร็วกว่าชาร์จมือถือ) และจับคู่นาฬิกากับโทรศัพท์มือถือโดยใช้บลูทูธ ต้องเข้าใจก่อนว่า นาฬิกาฉลาดไม่ได้ทำงานเดี่ยว ๆ นะครับ ถ้าจะมีประโยชน์ นอกจากแค่ดูเวลา นาฬิกาฉลาดต้องใช้งานคู่กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลายยี่ห้อก็เจาะจงด้วยว่า โทรศัพท์มือถือต้องเป็นยี่ห้อหรือซอฟต์แวร์รุ่นอะไร ของผมโชคดีหน่อยที่ไม่เจาะจงมากนัก

ประสบการณ์ผมไม่ค่อยดีนัก เพราะต้องปล้ำกับมันหลายชั่วโมง อย่างแรก คือ ซอฟต์แวร์ในโทรศัพท์ผมไม่ทันสมัย ต้องอัพเดท และลงโปรแกรมติดต่อกับนาฬิกาจาก Play Store ก่อน อย่างที่สอง การจับคู่ไม่สำเร็จ แล้วก็ไม่รู้ว่า ผิดพลาดตรงไหน เพราะไม่มีคำอธิบายหรือคู่มือให้ ผมใช้ประสบการณ์ล้วน ๆ (คือ มั่วนั่นเอง) ลองถูกลองผิดอยู่นาน สาเหตุ คือ นาฬิกามันต้องอัพเดทซอฟต์แวร์ตัวเองด้วย กล่าวคือ โทรศัพท์ต้องลงโปรแกรมพิเศษ เพื่อติดต่อนาฬิกามาก่อนแล้ว พอนาฬิกาต่อบลูทูธกับโทรศัพท์สำเร็จ พอเจอกันครั้งแรก นาฬิกาจะขอให้โทรศัพท์โหลดโปรแกรมอัพเดทซอฟต์แวร์ของนาฬิกามา ถ้าลำดับถูกต้องตามนี้ จะใช้เวลาราว ๆ สิบห้านาที นาฬิกาจะ “บูต” (เริ่มทำงาน) ขึ้นมา ให้เห็นจอเป็นนาฬิกา ก่อนหน้านั้น จอนาฬิกาจะดำมืด ผมว่า นาฬิกาพอแกะกล่องปั๊บ น่าจะเห็นหน้าปัดนาฬิกาได้เลยนะครับ ไม่ต้องชาร์จไฟ อัพเดทซอฟต์แวร์ มาทีหลังเถอะครับ และไม่ควรเจาะจง ยี่ห้อ หรือรุ่นโทรศัพท์มือถือด้วย แค่เจาะจงรุ่นซอฟต์แวร์ของโทรศัพท์ก็ปวดหัวแล้ว และควรจะใช้ได้หลายรุ่นหน่อย ไม่ใช่ต้องรุ่นล่าสุด

พอหน้าปัดนาฬิกาปรากฏขึ้น ผมดีใจราวกับขึ้นสวรรค์ (ไม่ขนาดนั้นนะครับ แต่โล่งใจมากกว่า) โปรแกรมพิเศษบนโทรศัพท์มือถือก็แนะนำให้ผมเลือกลงแอพของนาฬิกา เป็นตัวเล็ก ๆ เช่น ปฏิทิน, การแจ้งเตือน, นับก้าวเดิน, อ่านเมล, นาฬิกาปลุก, ควบคุมการเล่นเพลง ฯลฯ แอพทุกตัวใช้ร่วมกับโทรศัพท์มือถือครับ ผมเลือกลงไปห้าหกตัวใส่ติดข้อมือราวสองสัปดาห์ มีข้อดีดังนี้ครับ อย่างแรกเลย คือ เป็นนาฬิกา ดูเวลาง่าย ไม่ต้องควักโทรศัพท์ขึ้นมาดู การแจ้งเตือนดีมาก ผมให้แจ้งเตือน เมื่อมีข้อความ หรืออีเมลเข้า อ่านข้อความจากนาฬิกาได้เลย แต่เนื่องจากจอเล็ก ผมดูแค่หัวเรื่อง อันนี้เร็วและสะดวกกว่าควักโทรศัพท์ขึ้นมามาก แต่ถ้าจะตอบต้องใช้โทรศัพท์อยู่ดี และที่สำคัญกับผมที่สุด คือ แจ้งเตือนนัดหมาย (ผูกกับโทรศัพท์มือถืออีกนั่นแหละ) เมื่อถึงเวลามีนัดกับใครที่ไหน โดยไม่พลาด การแจ้งเตือนเหล่านี้ ตั้งให้เป็นสั่น จะรู้สึกได้บนข้อมือ ไม่เหมือนโทรศัพท์ที่ใส่กระเป๋าไว้ และไม่ต้องใช้เสียง ทำให้สุภาพมากขึ้นในขณะที่ประชุมอยู่กับคนอื่น ปฏิเสธไม่รับสายก็ง่ายมาก ไม่ต้องหยิบโทรศัพท์เลย เหล่านี้เป็นจุดเด่นที่ดีมาก ๆ สำหรับชีวิตประจำวันของผม

จุดอ่อนของนาฬิกาฉลาดล่ะ ในแง่ความเป็นนาฬิกา หรือเครื่องประดับ ผมว่าทั้งรูปร่าง วัสดุ และการออกแบบ ยังต้องวิวัฒนาการอีกหลายรุ่น ถึงจะมาเทียบกับนาฬิกาข้อมือไม่ฉลาดในปัจจุบันได้ ผมไม่ได้พูดถึงนาฬิกาแพง ๆ นะครับ เทียบกับเรือนละไม่ถึงพันบาทก็ได้ แต่นาฬิกาฉลาด ก็เปลี่ยนหน้าจอได้ตามใจชอบ อันนี้เหนือว่าบรรพบุรุษ คุณสมบัติในการกันน้ำยังไม่ดี ผมไม่กล้าใส่ตอนอาบน้ำ ล้างมือก็คอยระวัง อีกอย่างหนึ่งที่ดูไม่สวย คือ นาฬิกาฉลาดจะจอดำมืดตลอดเวลาเพื่อประหยัดไฟ (ยกเว้นรุ่นที่จอเป็น e-ink) เมื่อจะดู จะต้องแตะ, กด, เคาะ, หรือสะบัดข้อมือ ให้หน้าจอสว่าง นาฬิกาปกติเหลือบดูเวลาได้เลย รุ่นที่ผมใช้อยู่มีจอแบบลูกครึ่ง หรือมองเห็นหน้าปัดตลอดเวลา แต่ไม่สว่าง เมื่อเคาะหรือสะบัดข้อมือจะสว่างสดใส อีกอย่างหนึ่งที่ต้องคอยดูแล คือ การชาร์จไฟ ดีกว่าโทรศัพท์มือถือหน่อย นาฬิกาของผมชาร์จทุก ๆ สามวัน แต่ก็เป็นภาระแหละครับ

ข้อควรคำนึงของการเลือกใช้ คือ ด้วยขนาดที่เล็กเพราะเป็นนาฬิกาข้อมือ จะถูกจำกัดการทำงานด้วยแบตเตอร่ี แม้แต่ซีพียูก็เร็วมากไม่ได้ เพราะเปลืองไฟ หน้าจอต้องคอยดับไฟไว้เกือบตลอดเวลา ไม่สามารถมาแทนที่โทรศัพท์มือถือนะครับ (บางรุ่นก็พยายามลองบินเดี่ยวอยู่เหมือนกัน) การที่เป็นแฟชั่น เครื่องประดับ ควรเลือกรุ่นที่สายนาฬิกาเปลี่ยนสายรัดแบบนาฬิกาทั่ว ๆ ไปได้ เช่น เบื่อก็เปลี่ยนเป็นสายหนัง, สายโลหะ, สายพลาสติกหลากสี จะดีมาก เรื่องของซอฟต์แวร์ ว่านาฬิกาฉลาดจะต้องมีแอพเยอะๆ ใช้งานหลายหลากนั้น ผมคิดว่า ขอให้ทำเรื่องพื้น ๆ ให้เก่ง ๆ จะดีกว่า เช่น การแจ้งเตือน, การเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกา (ออกแบบเองเลยได้ยิ่งดี) เพราะขนาดที่จำกัดจะทำอะไรวุ่นวายบนหน้าปัดยาก

อนาคต คงจะเห็นการ “ทดลอง” ผลิตภัณฑ์ฉลาดสวมใส่บนข้อมือมากขึ้น การจะรวมการวัดสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นหัวใจ การวัดก้าวการเดิน หรือกระตุ้นให้เราขยับตัว สนับสนุนให้รู้จักออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น คงจะกลายเป็นสายหลักของนาฬิกาฉลาด และอย่าลืมนะครับว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ นาฬิกาฉลาดตอนนี้จะตกรุ่นเร็ว อย่าซื้อแพงเกินไปนะครับ.

ศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย