ห้องเรียนในยุควิดีโอครองโลก – 1001

October 24, 2014   1001

การแพร่หลายของยูทูบทำให้การชมวิดีโอคลิปกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกแล้ว แม้กระทั่งเด็กอายุสองหรือสามขวบก็เปิดยูทูบเพื่อชมการ์ตูนเป็นแล้วครับ ดังนั้นการศึกษายุคใหม่ก็ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีหรือการใช้ชีวิตของนักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่เช่นกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม 2557 ผมได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเรื่อง Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับทาง ในงาน EDUCA 2014 ซึ่งเป็นงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูที่อิมแพ็คครับ วิทยากรของเวิร์กช็อปเรื่องนี้ชื่อคุณ Aaron Sams ซึ่งผมขอเรียกสั้น ๆว่า ครูแซม เพราะครูแซมเป็นครูสอนวิชาเคมีในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา และครูแซมใช้ห้องเรียนกลับทางมาใช้ในการสอนวิชาเคมี จนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงเขียนหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับห้องเรียนกลับทางและได้รับรางวัลมากมาย ดังนั้นผมขอเล่าเกร็ดความรู้จากเวิร์กช็อปนี้ให้ผู้อ่านฟังครับ

หลักการคร่าว ๆ ของห้องเรียนกลับทางคือ ครูเตรียมวิดีโอการสอนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้นักเรียนชมที่บ้าน จากนั้นนักเรียนมาทำกิจกรรมหรือการบ้านในห้องเรียนแทน ครูแซมได้สาธิตว่า การชมวิดีโอคลิปมีข้อดีกว่าการสอนสดในห้องเรียนบางครั้งคือ ครูแซมเปิดวิดีโอคลิปเรื่องการพับกระดาษญี่ปุ่นเป็นรูปกบกระโดดให้ทุกคนดูและทำตามพร้อมกัน ซึ่งบางคนทำไม่เสร็จ เพราะดูบางขั้นตอนไม่ทัน จึงทำขั้นตอนที่เหลือไม่ได้ ครูแซมบอกว่า วิธีนี้คือการสอนแบบดั้งเดิมซึ่งเวลาเป็นเส้นตรงและผ่านไปเรื่อย ๆ ถ้านักเรียนบางคนติดตามบทเรียนไม่ทัน ก็จะไม่เข้าใจส่วนที่เหลือและเบื่อหน่ายการเรียน แต่ถ้าชมวิดีโอแทน ก็หยุดวิดีโอเพื่อดูเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ และดูซ้ำจนกว่าจะเข้าใจ

ผู้อ่านลองทำกิจกรรมนี้ก็ได้ครับ คือค้นหาคลิปในยูทูบเรื่อง Origami Jumping Frog ซึ่งมีมากมาย จากนั้นเลือกหนึ่งคลิปที่ถูกใจ แล้วพับกระดาษทำตามคลิปโดยไม่หยุดคลิปเพื่อดูว่า พับเป็นกบกระโดดได้สำเร็จหรือไม่ จากนั้นเปิดคลิปเดิม และพับกระดาษเป็นกบอีกครั้ง แต่หยุดคลิปในช่วงที่ไม่เข้าใจหรือทำตามไม่ทันและดูซ้ำได้จนกว่าจะพับกระดาษสำเร็จ

ปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่ทำให้ครูยุคใหม่สร้างบทเรียนทางวิดีโอได้อย่างสะดวก โดยใช้อุปกรณ์เช่น โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด และซอฟต์แวร์หรือแอพที่มีจำนวนมาก ซึ่งผู้อ่านดูข้อมูลเหล่านี้ได้ที่ Bit.ly/dvsflip ดังนั้น ในช่วงบ่าย ครูแซมจึงให้ทุกคนลองสร้างบทเรียนทางวิดีโอความยาว 1 นาที ด้วยตนเอง โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีรูปขบวนการนินจาเต่าและพริกอยู่ในบทเรียนนั้น และให้เวลาพวกเราหนึ่งชั่วโมงในการทำกิจกรรมนี้ครับ ความสนุกสนานก็บังเกิดขึ้น เพราะแต่ละกลุ่มจะต้องสร้างบทเรียนให้เชื่อมโยงกับภาพนินจาเต่าและพริก!

ครูแซมสาธิตเทคนิคการสอนอีกอย่างหนึ่งคือ peer in struc-tion หรือการสอนกันระหว่างเพื่อน ครูแซมเปิดวิดีโอคลิปเรื่องแรงโน้มถ่วงในยูทูบความยาวประมาณ5นาทีเรื่อง “How to thinkabout grav- ity-Jon Bergmann”จากนั้นมีโจทย์ปรนัยถามว่า “ถ้าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงจันทร์จะเป็นอย่างไร” มีคำตอบให้เลือกคือ เพิ่มขึ้น ลดลงสองเท่า ลดลงสี่เท่า เท่าเดิม ไม่ทราบ และให้ทุกคนยกมือเลือกคำตอบที่คิดว่าถูกต้อง จากนั้นแต่ละคนอธิบายให้เพื่อนในโต๊ะฟังว่า ทำไมจึงเลือกตอบข้อนั้น และให้ทุกคนยกมือเลือกคำตอบที่ถูกต้องอีกครั้ง

ถ้าผู้อ่านที่เป็นครู อาจารย์ วิทยากรต้องการนำวิดีโอคลิปมาใช้ประกอบการเรียน การสอน ก็มีเว็บไซต์ระดับโลกมากมายครับ เช่น www.KhanAcademy.com,Ed.TED.com และแหล่งวิดีโอคลิปที่รวบรวมองค์ความรู้ระดับสุดยอดของโลกคือ www.TED.com ซึ่งผมได้นำวิดีโอคลิป TED Talk หลายเรื่องมาใช้ประกอบการสอน เช่น วิชาการคิดเชิงนวัตกรรม วิชาการรักษาความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ แต่ครูแซมบอกว่า วิดีโอบทเรียนที่ดีที่สุดคือ วิดีโอคลิปที่เราสร้างเองครับ เพราะทำให้ผู้เรียนรู้สึกผูกพันกับครูผู้สอนมากกว่าการชมวิดีโอคลิปของคนอื่นที่ไม่รู้จัก

หลังจากที่อ่านบทความนี้แล้ว ถ้าผู้อ่านอยากทดลองสร้างบทเรียนทางวิดีโอบ้าง ผมขอแนะนำแอพชื่อ ExplainEverything (www.explainevery thing.com) ซึ่งทำงานได้ทั้งบนไอโอเอส แอนดรอยด์ และวินโดวส์ ครับ ถึงแม้ว่าผู้อ่านจะไม่ได้เป็นครู อาจารย์ วิทยากร แต่การถ่ายทอดความรู้ทางวิดีโอก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ครับ ลองสร้างบทเรียนสั้น ๆ หรือถ่ายทอดความรู้ ทักษะหนึ่งเรื่องความยาว 1นาที เพื่อหาประสบการณ์ก่อน แล้วค่อย ๆ พัฒนา ใครจะไปทราบได้ว่า สักวันหนึ่ง อาจมีผู้ติดตามชมบทเรียนวิดีโอคลิปของเราเป็นล้านคนก็ได้ครับ!

อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Thongchai.R@chula.ac.th