สัมภาษณ์ start up หน้าใหม่มาแรง (1) – 1001

June 26, 2014   1001

726756

สวัสดีครับ วันนี้จะขอพูดถึงบริษัท start up ร้อนแรงเจ้าหนึ่งของไทยครับ

คำว่า start up นั้นหมายถึงบริษัทเกิดใหม่ทางด้านเทคโนโลยี โดยเน้นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมา โดยมีวงจรชีวิตคือเริ่มต้นก่อตั้งเป็นบริษัทขนาดเล็กและสามารถสร้างฐานลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รับเงินสนับสนุนจนบริษัทใหญ่โตขึ้นมา อย่าง เฟซบุ๊ก เองนั้นก็เริ่มต้นด้วยการเป็น start up และผ่านการระดมทุนหลายรอบกว่าจะกลายมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ดังปัจจุบัน

คุณ รวิวร มะหะสิทธิ์ และคุณกิตติพงษ์ ลิ้มผู้บริหารบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัท start up แห่งหนึ่งของไทยที่มีผลิตภัณฑ์เป็น Apps สำหรับอ่าน ebook ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ MEB พร้อมตลาดหนังสือออนไลน์ www.mebmarket.com สำหรับนักอ่านนักเขียนคนไทย โดย บ. เมพ คอร์ปอเรชั่นนั้นพึ่งจะได้รับการเข้าร่วมลงทุนจากทาง B2S ที่ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 75% ไปในราคา 52 ล้านบาทเมื่อเร็ว ๆ นี้เองครับ

ก่อนอื่นเลยช่วยแนะนำตัวเอง, บ. เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ App MEB หน่อยครับ

ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ  เพื่อนๆ ที่วิศวฯ ก็มีความคิดอยากจะเปิดบริษัท Start up ของตัวเองขึ้นมา (สมัยนั้นหนังสือพ่อรวยสอนลูกกำลังดัง)  หลังทำงานกันไปได้สักระยะเราจึงออกมาร่วมกันเปิดบริษัทเอเอสเค มีเดีย โดยมีงานหลักคือทำซอฟต์แวร์ ทั้งรับจ้างทำและทำ Retail software ขายเอง  โดยควบไปกับการพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์เป็นงานอดิเรก

ระหว่างนั้นเราก็ได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ของวงการหนังสือ  ทำให้ได้รู้เรื่องหลายๆ อย่างรวมถึงความลำเค็ญของคนทำหนังสือ ด้วยความที่เราเป็นบริษัทของวิศวกร  เลยเลือกแก้ปัญหาที่เจอด้วยการสร้างเครื่องมือมาช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น ออกมาเป็นซอฟต์แวร์ช่วยจัดหน้าหนังสือ ASK Square และซอฟต์แวร์ช่วยตรวจคำผิด ASK Proof (ซึ่งอันหลังนี่ตั้งแต่วันที่เปิดตัวจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำมาขายแข่ง)

จนกระทั่งถึงยุคที่ Apple คลอด iPad ออกมา เราก็รู้ว่าถึงเวลาที่จะแก้ปัญหาใหญ่ในวงการนี้อีกอย่าง นั่นก็คือปัญหาการกระจายหนังสือ,  หนังสือหลุดแผงหลังวางแผงไวมาก หรือปัญหาสต็อกล้นโกดัง (ที่เอเอสเคเคยเผชิญ เพราะดันพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์ด้วยความบ้าส่วนตัว) เพราะ e-book จะช่วยตอบโจทย์สำหรับคนทำหนังสือ แม้หนังสือที่ไม่ใช่แนวตลาดก็ขายไปได้ตลอด  หนังสือที่เคยขาดตลาดไปนานแล้วก็สามารถนำกลับมาขายได้ นักอยากเขียนก็มีที่ขายของ และตอบโจทย์นักอ่านที่ซื้อง่ายพกสะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องที่เก็บ รวมถึงนักอ่านที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถหาซื้อได้ง่าย  เราจึงสร้างระบบ MEB ขึ้นมา จนสุดท้ายเมื่อ MEB ไปได้ดี เราจึงตัดสินใจเปิดเป็นบริษัทใหม่ที่ดูแลธุรกิจส่วนนี้โดยตรง คือ บจก. เมพ คอร์ปอเรชั่น นี่แหละครับ

ตลาด e-book reader มีคู่แข่งเยอะมาก ช่วยเล่าถึงวิสัยทัศน์หน่อยว่าทำไมถึงกระโดดเข้ามาทำ app นี้ และมีแนวทางกับจุดแข็งเป็นอย่างไร อย่างที่บอกว่าเราอยู่วงการหนังสือมานาน เราเริ่มทำน่าจะเวลาใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่เราตั้งใจวางระบบไว้เป็น eco-system ที่ครบวงจรแต่แรก มีทั้งคนอ่าน คนขาย และนักเขียน  จึงวางตลาดช้าไปนิด  (ดังนั้นตอนที่เราเริ่มทำ คู่แข่งยังไม่เยอะ แต่ตอนเราออกแอปก็มีคู่แข่งออกมาพอควรแล้ว) และเป้าหมายที่เราตั้งใจคือ ตลาด e-book ซึ่งต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ที่เน้น e-magazine   เมื่อ MEB ออกมา เราจึงมีที่ยืนในตลาดชัดเจนและเติบโตมาได้อย่างดีแม้ไม่มี Operator หรือมีผู้เล่นรายใหญ่ในวงการหนุนหลัง โดยมี eco-system ที่ครบวงจรสำหรับทั้งนักอ่าน นักเขียน/สำนักพิมพ์ แอปของเรามีหลากหลาย platform และเน้นการใช้งานได้จริง  จึงทำให้ถูกใจทั้งนักอ่านและนักเขียน  จนมาถึงตอนนี้เรากลายเป็นผู้ให้บริการ e-book อันดับต้นๆ ของเมืองไทย และอยู่เบื้องหลังของร้าน e-book หลายๆ ร้าน

สัปดาห์หน้า มาต่อกันที่บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บน e-book

นัทที นิภานันท์

(nattee.n@chula.ac.th)

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย