จุฬาสุดปัง กับ นวัตกรรมชิ้นใหม่ล่าสุด “ระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI – Deep Technology for Gastrointestinal Tracts) ตรวจลำไส้ใหญ่ก่อนกลายเป็นมะเร็ง “ ขึ้นเวทีระดับโลกในงาน ENDO 2024 ที่อิตตาลี
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ชั้น 10 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมชิ้นใหม่ล่าสุด ระบบปัญญาประดิษฐ์ “AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร” (DeepGI – Deep Technology for Gastrointestinal Tracts)
ซึ่ง รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาร่วมกับ ศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร จากคณะแพทยศาสตร์ และ คณะศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร รพ.จุฬาฯ โดยได้รับความร่วมมือกับ บริษัท อีเอสเอ็ม โซลูชั่น จำกัด ในการร่วมสนับสนุนนวัตกรรม และเป็นตัวแทนจำหน่าย
ทั้งนี้ ศ.นพ.รังสรรค์ ยังเปิดเผยถึงการที่คณะมีโอกาสเข้าร่วมประชุมของ “แพทย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารนานาชาติ ENDO 2024” ที่ประเทศเกาหลีใต้ จัดโดย the World Endoscopy Organization (WEO) ร่วมด้วย the Korean Society of Gastrointestinal Endoscopy (KSGE) มีผู้เข้าร่วมประชุม 3,200 คน
โดยถ่ายทอดสัญญาณสดจากโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้รับชมการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร ของสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 3 ของศูนย์ส่องกล้องจากทั่วโลก ให้ทำการส่องกล้องแบบ live transmission ไปยังผู้เข้าร่วมประชุม ENDO 2024 ซึ่งนับเป็นการนำนวัตกรรมชิ้นใหม่ล่าสุดที่พัฒนาโดยคนไทยไปปรากฏในสายตาแพทย์จากทั่วโลก
ศ.นพ.รังสรรค์เผยว่า ในการประชุมดังกล่าวได้นำเสนอการส่องกล้องในผู้ป่วย 4 ราย ซึ่ง 1 ใน 4 รายเป็นการนำเสนอการส่องกล้องโดยการใช้เทคโนโลยี DeepGI ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ เกิดจากความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อช่วยแพทย์ในการตรวจหาเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติก่อนเป็นมะเร็ง
ศ.นพ.รังสรรค์กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้มีความยากกว่าเทคนิคการตรวจส่องกล้องที่อื่น เนื่องจากลักษณะของเยื่อบุที่ผิดปกติ จะมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนและมีลักษณะแบนราบ
“ทำให้การส่องกล้องหาโดยแพทย์ทั่วไป ทำได้ยาก และการตีกรอบของตำแหน่งที่ผิดปกติจะต้องตีกรอบให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดปกติของเยื่อบุ ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมเหมือนเช่นที่ทำในติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้” ศ.นพ.รังสรรค์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้จัดงาน ENDO 2024 ระบุว่า การส่องกล้องด้วยเทคโนโลยี DeepGI จากสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี มีผู้ร่วมงานสนใจจะร่วมทำงานวิจัยกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดการต่อยอดในต่างประเทศ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศอินเดียและอิตาลีให้ความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าว
ด้าน รศ.ดร.พีรพล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงพัฒนานวัตกรรม ‘DeepGI’ AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยตรวจจับติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติ ในลำไส้ใหญ่และโรคในระบบทางเดินอาหาร อื่นๆ ด้วย AI ปัจจุบันได้ให้บริการตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทดสอบใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งแล้วนั้น
โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้ทีมแพทย์ (AI-Assisted Solution) สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดความผิดพลาด เนื่องจาก DeepGI จะประมวลวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิดีโอระหว่างการส่องกล้อง แล้ววิเคราะห์ความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้เทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งโมเดลจะตีกรอบบริเวณที่มีความผิดปกติ แล้วแจ้งเตือนให้กับแพทย์แบบทันที (real-time)
มีความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมให้การวินิจฉัย (characterization) ชนิดของติ่งเนื้อว่าเป็นชิ้นเนื้อที่เป็นอันตราย (Neoplastic) หรือไม่เป็นอันตราย (Hyperplastic) อย่างแม่นยำ ความสามารถด้านนี้จะช่วยเพิ่มให้แพทย์มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น
จากผลการวิจัยพบว่า DeepGI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาติ่งเนื้อถึง 16% การตรวจพบติ่งเนื้อเพิ่มขึ้น 1% และจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ถึง 3%” รศ.ดร.พีรพลเผย
CR: ขอบคุณที่มา>> https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4678021
ขอบคุณที่มา : matichon
ข่าว